การปลูกปาล์มน้ำมัน


ปาล์มน้ำมันมีพื้นเพดั้งเดิมอยู่ในอาฟริกาแถบริมฝั่งทะเลตะวันตก ระหว่างเส้นขนาน 15 องศาเหนือและเส้นขนาน 10 องศาใต้ ปลูกกันแพร่หลายในแถบโซนร้อนของอาฟริกา อเมริกาและเอเซีย มนุษย์รู้จักและนำน้ำมันปาล์มมาใช้ประโยชน์เป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว แต่เพิ่มจะนำมาใช้ในวงการอุตสาหกรรมเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนนี้จนกลายเป็นน้ำมันที่มีความสำคัญทางอุตสาหกรรมหลายประเทศ ประเทศที่เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งน้ำมันปาล์มออกรายใหญ่ที่สุดของโลก คือ ประเทศมาเลเซีย และเนื่องจากทางภาคใต้ของประเทศไทยมีลักษณะดินฟ้าอากาศที่คล้ายคลึงกับประเทศมาเลเซียมาก ประกอบความต้องการน้ำมันปาล์มภายในประเทศ และตลาดโลก มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันให้เพียงพอใช้ภายในประเทศและเป็นสินค้าออกที่สำคัญต่อไป
สิ่งแวดล้อม
ปาล์มน้ำมันชอบอากาศในเขตร้อนฝนตกชุก ด้วยเหตุนี้การเพาะปลูกปาล์มน้ำมันของโลกจึงจำกัดอยู่ในเขตที่ราบต่ำของภูมิภาคแถบศูนย์สูตรที่มีความชื้นสูง เป็นที่ราบใกล้ฝั่งทะเล เนื้อดินสมบูรณ์และลึกน้ำไม่ขัง เช่น ดินเหนียวปนทราย ดินจะต้องมีความสามารถดูดซึมน้ำได้ดี มีอากาศถ่ายเทได้ดี และมีปริมาณความเป็นกรด (pH) ประมาณ 4.0-5.0
ปาล์มน้ำมันปลูกได้ผลดีในที่ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ย 23-29 องศาเซลเซียส ความชื้น 79-80 เปอร์เซ็นต์ และต้องการแสงแดดอย่างน้อย 1500-1900 ชั่วโมงต่อปี
จำนวนน้ำฝนต่ำสุดที่จะให้การปลูกปาล์มน้ำมันได้ผล ต้องอยู่ในอัตราเฉลี่ย 60 นิ้วต่อปี โดยมีฝนตกสมํ่าเสมอตลอดปี เดือนแล้งอย่างมากที่สุด 2-3 เดือน โดยทั่วไปพื้นที่ที่มีจำนวนน้ำฝนเกิน 80 นิ้วต่อปี เป็นพื้นที่ที่เหมาะต่อการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันอย่างยิ่ง
พันธุ์
พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่สำคัญและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
ได้แก่
1. พันธุ์ดูรา เป็นพันธุ์ดั้งเดิม ซึ่งปลูกกันมาก ตามสวนขนาดใหญ่ ให้ผลที่มีเปลือกนอกและใบหนา แต่ไม่ค่อยนิยมปลูกกันมากนัก เพราะให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ
2. พันธุ์พิสิเปอรา เป็นพันธุ์ที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ผลมีเนื้อนอกหนาและเนื้อในบาง ไม่ค่อยนิยมปลูก เพราะยุ่งยากในการสกัดน้ำมันออกจากเมล็ด
3. พันธุ์เทเรนา เป็นปาล์มพันธุ์ผสมระหว่าง พันธุ์ดูรากับพันธุ์พิสิเปอรา เนื้อนอกหนาและให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง มีเนื้อในน้อยและเปลือกบางกว่าพันธุ์ดูรา ให้น้ำมันประมาณ 23-26 เปอร์เซ็นต์ ในสวนหนึ่งๆ ควรปลูกพันธุ์ปาล์มน้ำมันพันธุ์ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนต้น ปัจจุบันได้รับความนิยมโดยปลูกกันอย่างแพร่หลายในสวนขนาดใหญ่และในโครงการพัฒนาที่ดินใหม่ๆ
4. ปาล์มพันธุ์ผสมระหว่างพันธุ์ดูรากับพันธุ์เทเรนา ปาล์มพันธุ์ผสมนี้ให้น้ำมันมากกว่าพันธุ์ดูรา และมีกะลาบางกว่า แต่ยังหนากว่าพันธุ์เทเรนา ในสวนหนึ่งๆ ควรปลูกปาล์มพันธุ์นี้ประมาณ 20 เปอร์เซนต์ของจำนวนต้นเพื่อให้มีกะลาเพียงพอสำหรับเป็นเชื้อเพลิงใช้ในโรงงานสะกัดน้ำมันปาล์ม


การเพาะชำเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันโดยนำเมล็ดที่เริ่มออกเป็นตุ่มเล็กเข้าชำในกะบะชำบรรจุทรายขนาด 3X10 ฟุต และสูง 1 ฟุต กะบะทรายขนาดนี้จะชำเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ได้ประมาณ 1,000-1,400 เมล็ดระยะเวลาที่ทำการเพาะ ในกะบะทรายประมาณ 4-6 อาทิตย์แล้วจึงแยกไปชำต่อในถุงพลาสติคสีดำอย่างหนา ขนาด 8X12 นิ้ว เจาะรูทางก้นถุง ดินที่บรรจุในถุงเพาะชำนั้นควรเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์และควรผสมปุ๋ยร็อคฟอสเฟตหรือมูลสัตว์รดน้ำให้ชุ่มทุกๆ วัน ในระยะแรกนำถุงเพาะชำไว้ในร่มสักระยะหนึ่งค่อยๆ ให้ได้รับแสงแดดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณอาทิตย์ที่แปดจึงนำมาวางเรียงที่แปลงเพาะชำกลางแจ้งระยะห่างกัน 1 เมตร เมื่อต้นปาล์มในถุงอายุได้ 12-14 เดือน จึงย้ายไปปลูกในไร่ ซึ่งได้เตรียมดินและระยะปลูกไว้เรียบร้อยแล้ว
การเตรียมที่สำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน
เริ่มตั้งแต่ทำที่ให้เตียน ปรับพื้นที่และตัดถนนสำหรับการทำงานในไร่และขนส่งผลผลิตได้สะดวก ก่อนปลูกควรไถพรวนดินอย่างน้อย 2 ครั้ง วางแนวปลูกให้ตั้งได้ฉากกับถนนใหญ่ ปักหลักวางระยะปลูก ส่วนมากนิยมปลูกเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่าระยะ 29X29X29 ฟุต ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 20-22 ต้น เมื่อวางแนวปลูกแล้วจึงขุดหลุมขนาด 10X10X10 ซม. เสร็จแล้วหาเศษไม้และใบไม้ไปเผาในหลุม หรือใช้ยาเฮบตาคลอโรยก้นหลุมประมาณ 100-200 กรัม ต่อหลุม อาจใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกแทนก็ได้ ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 วัน จึงทำการปลูกปาล์มน้ำมัน
การปลูก
การปลูกปาล์มน้ำมันควรเริ่มปลูกระหว่างเดือนพฤษภาคม -กรกฎาคมอายุต้นปาล์มน้ำมันที่เพาะชำในถุงพลาสติค ประมาณ 12-14 เดือน นับจากวันเริ่มงอก เหมาะในการปลูก ในแปลงที่ได้เตรียมและขุดหลุมปลูกเรียบร้อยแล้ว วิธีปลูกใช้มีดตัดถุงพลาสติคออก วางโคนต้นปาล์มน้ำมันให้ลึกจากผิวดิน ประมาณ 1 นิ้ว ไม่ควรปลูกลึกเกินไปเพราะจะทำให้ส่วนยอดเน่าได้ การปลูกต้นปาล์มในที่ 1 ไร่ ปลูก 20-22 ต้น ระยะ 29X29X29 ฟุต จะได้ผลมากที่สุด การปลูกให้ปลูกห่างกัน เป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า ต้นปาล์มน้ำมันที่มีลักษณะไม่สมประกอบ เช่นใบเล็กติดกัน ใบตก หรือยอดแจ้ควรคัดทิ้ง ต้นปาล์มที่ใช้ปลูกซ่อมควรมีไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนดินที่ปลูกในสวนครั้งแรก การปลูกซ่อมควรทำในฤดูฝน
การปลูกพืชคลุม
หลังจากที่ทำให้เตียน ปรับระดับพื้นที่และเตรียมดิน เพื่อปลูกปาล์มน้ำมันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ควรปลูกพืชคลุมทันที โดยปลูกเป็นแถวระยะห่างจากแถวปาล์ม 3 ฟุต ใช้เมล็ดพันธุ์พืชคลุมในอัตรา 3 กก. ต่อไร่ พืชคลุมที่ใช้ปลูกควรเป็นพืชตระกูลถั่ว เช่น คาโลโปโกเนี่ยม เซ็นโตรซีมา เพอราเรีย และถั่วกระด้างเป็นต้น เมื่อปลูกต้นปาล์มน้ำมันแล้วต้องคอยดู แลอย่าให้พืชคลุมเลื้อยเข้าไปรอบต้นปาล์มน้ำมัน
การกำจัดวัชพืช
โดยมากนิยมกำจัดวัชพืชหมดทั้งสวน แต่เปลืองค่าใช้จ่ายและเสียเวลามาก จึงหันมาใช้วิธีกำจัดวัชพืชรอบๆ ต้น โดยเมื่อแรกปลูกดายหญ้ารอบๆ ต้นอ่อนเป็นวงมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 เมตร ต่อไปเมื่อต้นปาล์มน้ำมัน เริ่มออกผลจึงขยายเขตออกไปเป็นวงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3-4 เมตร การกำจัดวัชพืช ควรทำอย่างน้อย 2-3 เดือน ต่อครั้ง เมื่อปลูก ต้นปาล์มน้ำมันในสวนได้ประมาณ 15-18 เดือน ควรตัดใบปาล์มชั้นล่าง 3-4 ใบออก ดอกปาล์มน้ำมันที่ออกก่อนต้นปาล์มน้ำมันอายุได้ 25 เดือน ควรตัดออกเมื่อยังอ่อน โดยใช้ถุงมือจับกิ่งออกหรือใช้เสียมด้ามยาวและคมเซาะออก เมื่อต้นปาล์มน้ำมันอายุ 25 เดือน ขึ้นไปจึงปล่อยให้ติดผล

การให้น้ำ
ในขณะที่เพาะเมล็ดปาล์มอยู่ในกะบะทรายควรรดน้ำให้เปียกชุ่มทุกๆ วันที่ฝนไม่ตกเช้า-เย็น เมื่อต้นปาล์มอยู่ในถุงเพาะชำ ให้น้ำวันละครั้ง และเมื่อปาล์มอายุ 10 เดือนขึ้นไป ให้นํ้า 3 วันต่อครั้งก็เพียงพอ
สำหรับต้นปาล์มที่ย้ายไปปลูกในไร่แล้ว ควรให้น้ำในระยะแรกที่ฝนไม่ตก จนกว่าปาล์มตั้งตัวได้แล้ว  การให้น้ำก็ไม่มีความจำเป็น เพราะในระยะนี้ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในที่ที่เหมาะแก่การปลูกปาล์มน้ำมัน จะมีฝนตกโดยสม่ำเสมอ ประมาณปีละ 1,800-2,200 มิลลิเมตรต่อปีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตของต้นปาล์มในไร่
การใส่ปุ๋ย
ในขณะที่ต้นปาล์มย่งอ่อนอยู่ในถุงเพาะชำ อายุ 1-6 เดือน ใช้ปุ๋ยยูเรีย 15 กรัม หรือ 1 ช้อนแกง และปุ๋ยผสมสูตร 15-15-6-4 ประมาณครึ่งช้อนแกงต่อต้น โดยใส่เดือนละครั้ง ต้นปาล์มอายุ 6-12 เดือน ใส่ปุ๋ยผสมสูตร 12-12- 17-2 ประมาณ 1 ช้อนแกงต่อต้น
เมื่อย้ายปลูกในไร่ ใส่ปุ๋ยผสมสูตร 15-15-16-4 ประมาณ 150 กรัม หรือ 10 ช้อนแกงต่อต้น โดยใส่ 3-4 เดือนต่อครั้ง หรือจากกำจัดวัชพืชแล้ว และเมื่อต้นปาล์มอายุ 18 เดือนขึ้นไป ใส่ปุ๋ยผสมสูตร 12-12-17-2 อัตราครึ่งกิโลกรัมต่อต้น โดยใส่ 3 เดือนต่อครั้ง หลังกำจัดวัชพืชแล้ว
ต้นปาล์มอายุ 3 ปีขึ้นไป ใช้ปุ๋ยสูตร 13-13-21 อัตรา 1 กิโลกรัมต่อต้น สลับด้วยปุ๋ยโปรเกส 1 กก.ต่อต้น โดยใส่ประมาณ 3 เดือนต่อครั้งหลังกำจัดวัชพืซ
การใส่ปุ๋ยโดยหว่านรอบต้นในรัศมีปลายใบ พร้อมกับ กลบปุ๋ย ในการใช้ปุ๋ยพวกโปรเกสแต่เพียงอย่างเดียว ควรใช้ปุ๋ยมูลสัตว์ช่วยด้วย
การช่วยผสมเกสร
แม้ว่าต้นปาล์มจะมีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียอยู่บนต้นเดียวกัน แต่จั่นที่เป็นดอกตัวผู้กับดอกตัวเมียทยอยกันออกไม่พร้อมกัน มีดอกจั่นตัวผู้ราว 3 จั่นต่อต้นในปีหนึ่งๆ นอกนั้น เป็นจั่นดอกตัวเมีย ดังนั้นการผสมเกสรจึงไม่ทั่วถึง ทำให้ได้ผลผลิตต่ำ การช่วยผสมเกสรจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมัน
วิธีง่ายๆ โดยตัดเอาเกสรตัวผู้ที่บานเต็มที่ ซึ่งจะมีสีเหลืองแก่ เคาะให้เกสรตัวผู้ร่วงอยู่ในถุงพลาสติก ถ้าต้องการใช้เกสรตัวผู้ผสมในวันนั้นก็ไม่ต้องทำให้แห้งเสียก่อน โดยใช้กระดาษรองเกสรและผึ่งแดดไว้ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แล้วจึงกรองผ่านตาข่ายเอาแค่ละอองเกสรตัวผู้จริงๆ เก็บไว้ใน ภาชนะแห้งกันความชื้น จะเก็บไว้ได้นานประมาณ 1-2 เดือน สำหรับดอกตัวเมียที่แก่และบานเต็มที่ สังเกตยอดเกสรจะมีสีขาว ดอกตัวเมียที่บานเต็มที่จะรับเกสรอยู่ได้ 3 วัน แล้วยอดเกสรจะเหี่ยว และดอกจะเปลี่ยนเป็นสีม่วง ดังนั้นเมื่อดอกเริ่มบานก็ควรทำการผสมเกสรได้ ในกรณีที่มีกาบหุ้มจั่น ก็ต้องตัดกาบหุ้มจั่นออกเสียก่อน การช่วยผสมเกสรโดยบรรจุละอองเกสรตัวผู้ลงในลูกยาง นำไปฉีดพ่นบนยอดเกสรดอกตัวเมียที่บานเต็มที่ ถ้าหากใช้มือเอื้อมไม่ถึงก็ใช้ไม้ไผ่ช่วย สำหรับสวนเล็กๆ ก็อาจใช้ช่อดอกเกสรตัวผู้ไปเกาะใส่ดอกตัวเมียที่บานเต็มที่ก็ได้ การช่วยผสมเกสรนี้จะช่วยให้ผลผลิตสูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์
การเก็บเกี่ยว
ต้นปาล์มน้ำมันจะทยอยให้ผลผลิตเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยหลังจากที่เกสรได้รับการผสมแล้วประมาณ 5-6 เดือน ผลปาล์มจะแก่มีสีส้มปานกลาง และผลจะเริ่มล่วงลงใต้ต้น มีข้อสังเกตว่าถ้าผลร่วง 2 ผลต่อน้ำหนักทะลาย 1 กก. ผลปาล์มทะลายนั้นก็สมควรจะตัดได้ ฉะนั้นถ้าทะลายหนัก 20 กก. ควรมีผลร่วงประมาณ 40 ผล ทะลายใหญ่ๆ อาจมีผลถึง 1,500 ผล ซึ่งหนักประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักทะลาย ถ้าเก็บผลได้ในลักษณะที่กล่าวแล้ว จะได้น้ำมันมากที่สุด และคุณภาพเป็นกรดไม่เกิน 3i ½  เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สะกัดน้ำมันออก คุณภาพน้ำมันมีกรดน้อย ในอัตรานี้จะได้น้ำมันมีกรด ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อส่งไปถึงมือผู้รับยังต่างประเทศ
การตัดผลปาล์มนั้นเมื่อต้นปาล์มยังเตี้ย ใช้เครื่องมือลักษณะคล้ายเสียมที่ลับให้คม ด้ามยาวตามความสูงของต้น แทงให้ทะลายหลุดจากขั้ว ต้นที่สูงใช้เสียมแทงไม่ถึงก็ใช้มีดโค้งติดปลายไม้ไผ่ สำหรับตัดทั้งทางใบและทะลายลงมายังพื้นดิน อนึ่ง ในการตัดผลปาล์ม ถ้าตัดเร็วเกินไปยังไม่แก่เต็มที่ แม้แต่จะมีกรดน้อย แต่ก็จะได้น้ำมันน้อยเช่นกัน ผลปาล์มแก่จัดเมื่อยังอยู่บนต้นจะมีกรดน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อตัดทะลายลงมา ผลปาล์มได้รับความกระทบกระเทือนชอกช้ำ เป็นผลให้เปอร์เซ็นต์ของกรดเพิ่มขึ้น และเมื่อเก็บผลไว้นานเกินกว่า 1 วัน ก็ยิ่งมีกรดมากขึ้นทุกที ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อ ดังนั้นเมื่อตัดผลปาล์มลงมาจากต้นแล้วต้องรีบส่งไปยังโรงงานหรือผู้รับซื้อโดยเร็วไม่เกิน 24-36 ชั่วโมง จึงจะเป็นที่เชื่อถือของผู้รับซื้อ และได้ราคาตามที่กำหนดไว้
ผลผลิต
ปาล์มน้ำมันที่สมบูรณ์ จะให้ผลปาล์มเป็นทะลายประมาณ 18-24 ทะลายต่อต้นต่อปี ผลผลิตต่อไร่ขึ้นอยู่กับอายุของปาล์มตลอดจนดินฟ้าอากาศเป็นไปตามปกติ ผลผลิตในปีแรก ตามสถิติของผู้ผลิตรายสำคัญๆ เช่น มาเลเซีย ได้ผลผลิตประมาณ 3-4 เมตริกตันต่อไร่ ในระยะให้ผลผลิตเต็มที่จะให้ผลผลิตประมาณ 3-4 เมตริกตันโดยเฉลี่ย ปาล์มน้ำมันจะให้ ผลผลิตในระหว่างปีที่ 9-25 ประมาณไร่ละ 3.2-4 เมตริกตัน การที่ผลผลิตปาล์มน้ำมันจะได้สูงนั้น ผู้ปลูกจะต้องมีความรู้ ความชำนาญเกี่ยวกับปาล์มน้ำมัน และมีการปฏิบัติบำรุงรักษา ตามหลักวิชาอย่างแท้จริง
แมลงศัตรูของปาล์มน้ำมัน
1. ด้วง ซึ่งเป็นศัตรูที่สำคัญของมะพร้าวเช่นเดียวกัน ด้วงชนิดนี้ทำลายต้นปาล์มน้ำมันในทุกช่วงอายุที่ต้นปาล์มเจริญเติบโต แต่ช่วงที่ทำลายรุนแรง คือ ระยะต้นปาล์มอ่อนมีรอยแผลหลังจากเพิ่งย้ายปลูกใหม่ๆ ตัวแก่ของด้วงจะบินออกหากิน ในเวลากลางคืนระหว่างฝนตกและหลังฝนตก ตัวด้วงจะเจาะกัดกินทำลายภายในบริเวณโคนต้นและตาที่อยู่บนส่วนยอดต้นปาล์มที่อายุยังน้อยเมื่อด้วงเข้าทำลาย จะทำให้ต้นปาล์มดังกล่าวตายได้ สำหรับต้นปาล์มที่โตแล้วจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต
วิธีป้องกันและกำจัด เนื่องจากด้วงชอบวางไข่ในกองปุ๋ย กองขยะ กองเศษไม้และตอผุ ดังนั้นจึงควรกำจัดที่ที่ด้วงจะไปวางไข่ โดยหมั่นทำความสะอาดสวนและเผาสิ่งดังกล่าวเสีย สำหรับกองปุ๋ยควรหมั่นพลิกหรือกลบและร่อนเอาตัวหนอนมาทำลาย ควรตรวจดูตัวด้วงตามยอดต้นที่ยังเตี้ยอยู่ แถวบริเวณโคนต้น เมึ่อพบก็ใช้เหล็กแหลมแทงให้ตาย ในที่ซึ่งด้วงระบาดทำลายจำนวนมาก ควรใช้ยาเคมี เช่น ดีลดริน ฉีดพ่นยอดอ่อน และอาจใช้ยาเคมีแอกโกรไซด์ 25 กก. ผสมกับสารช่วยให้เคลือบติด ทีแนก 45 ลิตร ทาบางๆ ที่โคนต้นปาล์มที่อายุยังน้อย ปริมาณยาขนานนี้จะใช้ทาได้ประมาณ 900-1,000 ต้น
2. หนอนกินใบ ซึ่งมีอยู่หลายชนิดที่เป็นศัตรูของปาล์มน้ำมัน ตัวอ่อนจะมีสีน้ำตาลถึงน้ำตาลแก่ ซึ่งระบาดมาก ในช่วงที่มีความแห้งแล้ง และกัดกินใบทำความเสียหายอย่างหนักแก่ปาล์มน้ำมัน
วิธีป้องกันและกำจัด โดยใช้ยาเคมีลีดอาซีเนท อัตรา 2 กก. ต่อน้ำ 20 ลิตร ซึ่งเป็นยาที่เป็นพิษต่อกระเพาะอาหาร ยาจะออกฤทธิ์อย่างช้าๆ ใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์ จึงเกิดปฏิกิริยาทำอันตรายต่อตัวหนอน ยาเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ได้ผล คือ ยาดิพเทอเร็กส์ ยาทั้งสองชนิดที่ได้กล่าวมาเป็นยาที่มีพิษต่อกระเพาะอาหาร และมีพิษตกค้างระยะสั้น
3. หนอนศัตรูทำลายผลปาล์ม เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน ลักษณะตัวหนอนมีสีน้ำตาลดำ ความยาวประมาณ 4 ซม. ส่วนมากผีเสื้อจะวางไข่บนช่อดอกปาล์มน้ำมัน หรือบนทะลายผลปาล์มสด โดยเฉพาะทะลายผลปาล์มที่เน่าหรือสุกแก่เกินไป ช่อดอกปาล์มน้ำมันที่มีตัวหนอนชนิดนี้เข้าทำลาย จะสังเกตผลมูลที่ตัวหนอนชนิดนี้ถ่ายออกมา เมื่อช่อดอกไม้รับการผสม ตัวหนอนจะเจริญเติบโตภายในผลปาล์ม กัดกินทำลายเนื้อเยื่อ ภายในผล ทำความเสียหายแก่ผลผลิตปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก
วิธีป้องกันกำจัด โดยใช้ยาเคมีพวก เอ็นโดซันแฟน หรือธีไอแดน ในอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 15 ลิตร ยาเคมีชนิดนี้มีพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงต้องระมัดระวังในการใช้ยา นอกจากนี้ควรตัดทะลายผลปาล์มที่เน่าหรือเสียออก รวมทั้งช่อดอกเกสรตัวผู้ซึ่งได้เคาะเอาละอองเกสรออกแล้ว นำไปเผาทิ้งเสีย เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นที่เพาะขยายพันธุ์ของ หนอนชนิดนี้ต่อไป
5. หนอนพาราซ่า หนอนชนิดนี้จะเข้าทำลายใบของต้นปาล์มเช่นเดียวกับใบของมะพร้าว โดยตัวอ่อนของหนอนนี้จะเริ่มกัดกินผิวใบของปาล์มหรือมะพร้าว จนกระทั่งเป็นตัวแก่ หนอนจะกัดกินใบของปาล์มหรือมะพร้าวในเวลากลางคืน ตอนเช้าจะหยุดกินและหลบอยู่ใต้ใบ เมื่อตัวหนอนแก่ตัวเต็มที่จะหยุดกินแล้วจะเข้าดักแด้ ดักแด้ของหนอนนี้จะมีเกราะแข็งป้องกัน และมีขนสีขาวหุ้มอยู่ข้างนอกอีกชั้นหนึ่ง หนอนจะฟัก ตัวเป็นดักแด้ประมาณ 1-1 ½  เดือน แล้วจะออกตัวเป็นผีเสื้อต่อไป ลักษณะของหนอนมีสีเหลืองและมีแถบสีม่วง พาดริมหลังตามยาว 2 ข้าง ที่หัวจะมีจุกสีแดงเป็นหนาม  ลำตัวมีขนเต็มถ้าถูกตัวจะมีอาการคัน
การป้องกันและกำจัด ใช้ยาเซวิน 85 % ( ชนิดผง ละลายน้ำ อัตรา 3-4 ช้อนแกงต่อน้ำ 1 ปี๊บ พ่นบริเวณใต้ใบปาล์มหรือมะพร้าว
โรคของปาล์มน้ำมัน
1. โรคทะลายเน่า โรคนี้เกิดจากเชื้อราซึ่งจะพบมากในช่วงฤดูฝน และในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง ในระยะแรกความเสียหายจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ถ้าไม่พ่นยากำจัด การทำลายโรคนี้จะมากยิ่งขึ้น ส่วนเปลือกนอกของผลปาล์มที่ถูกทำลายจะอ่อนตัวมีสีน้ำตาลและกลายเป็นสีดำในที่สุด ส่วนเนื้อในจะเน่ามีสีน้ำตาลอ่อนเห็นได้ชัด ส่วนที่ถูกทำลายจะเต็มไปด้วยเส้นใยเชื้อรา โรคนี้จะทำให้ปริมาณกรดเพิ่มขึ้น ทำให้ผลปาล์มด้อยคุณภาพในการสกัดน้ำมัน
วิธีป้องกันกำจัด ทำลายแหล่งที่อาศัยแพร่เชื้อต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียง เช่น มะพร้าว สับปะรด กล้วย ช่อดอกตัวเมีย ที่ได้รับการผสมไม่ทั่วถึง ช่อดอกตัวผู้เกาะเอาละอองเกสรออกแล้ว กองขยะ ตอผุ และเศษใบไม้กิ่งไม้ต่างๆ นำไปเผาทิ้งเสีย และใช้ยาฆ่าเชื้อราที่มีสารประกอบพวกทองแดง เช่น บอร์โดมิคส์เจอร์ หรือยาที่มีสารประกอบพวกปรอท โดยเฉพาะยาแอนตี้มูซิน ดับบลิว บีอาร์ 1.12 เปอร์เซ็นต์
2. โรคโคนเน่า เชื้อโรคโคนเน่าจะเข้าสู่โคนต้นโดยทางราก ทำให้โคนต้นเน่าและตายในที่สุด ในที่ที่โรคนี้ระบาดมาก ต้นปาล์มจะตายประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ในที่ซึ่งปลูกต้นมะพร้าวมาก่อน หรือในที่ซึ่งปลูกแทนมะพร้าวด้วยปาล์มน้ำมัน จะพบต้นปาล์มน้ำมันเป็นโรคโคนเน่ามาก สำหรับการปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพารา จะไม่ทำให้เกิดโรคนี้หรือเกิดเพียงส่วนน้อย ต้นปาล์มที่เป็นโรคโคนเน่า ใบจะเหี่ยวแห้งตายหรือหักล้ม หลังจากเกิดอาการขึ้นที่ใบประมาณ 6-12 เดือน
วิธีป้องกันกำจัด โดยขุดถอนโคนต้นมะพร้าว ปาล์มน้ำมันเก่า รวมทั้งส่วนรากที่เหลืออยู่ในแปลงและซากกิ่งไม้ เศษขยะต่างๆ นำไปเผาทิ้งเสีย และเนื่องจากโรคนี้จะเกิดมากขึ้นตามอายุของต้นปาล์ม จึงควรโค่นปลู่กใหม่เมื่อต้นปาล์มน้ำมันมีอายุ 20-23 ปี โดยเฉพาะในที่ซึ่งมีโรคนี้ระบาดมาก
3. โรคใบไหม้ จะพบโรคนี้ทั้งในช่วงที่ฝนตกและในช่วงที่แห้งแล้ง ต้นกล้าที่ย้ายลงในแปลงเพาะชำใหม่ๆ รวมทั้งที่ย้ายจากแปลงเพาะชำลงปลูกในไร่ จะอ่อนแอต่อโรคนี้เป็นอย่างมาก และเมื่อต้นปาล์มมีอายุมากขึ้นจะมีความต้านทานต่อโรคนี้เพิ่มขึ้นด้วยอาการระยะแรกสุดจะพบจุดเล็กๆ กลมสีเหลืองโปร่งแสงทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ จุดเหล่านี้จะ ขยายตัวใหญ่ขึ้นมีสีน้ำตาลอ่อน และเป็นสีน้ำตาลดำในที่สุด เมื่อโรคนี้เกิดขึ้นมากใบที่อยู่ส่วนล่างสุดและส่วนยอดสุดจะตายก่อน ลักษณะของใบจะม้วนแห้งและกรอบ
วิธีป้องกันกำจัด เมื่อโรคระบาดมากควรเด็ดใบที่ตายออกและทำลายทิ้งเสีย เพื่อป้องกันเชื้อระบาดมากยิ่งขึ้นต่อไปอีก และเมื่อสังเกตพบจุดแผลที่เกิดจากโรคนี้ทั้งใบ ให้ฉีดพ่นด้วยยาป้องกันเชื้อราพวกไทแรม หรือแคปแทน ผสมด้วยสารช่วยให้ยาเคลือบใบทุก 5-7 วัน โดยพ่นยาให้ทั่วทั้งด้านบนและด้านล่างของใบ
ศัตรูอื่นๆ
1. หนู ซึ่งนับเป็นศัตรูที่สำคัญ ทำความเสียหายแก่ปาล์มน้ำมันเป็นอย่างมาก หนูจะทำลายทั้งต้นกล้าปาล์มน้ำมัน และต้นปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้ว นอกจากกัดกินผลปาล์มแล้ว หนูยังกัดกินช่อดอก ส่วนโคนลำต้นและใบด้านล่างที่อยู่ใกล้พื้นดินด้วย
วิธีป้องกันกำจัด โดยเลี้ยงแมวไว้ล่าหนู ใช้กับดักหนู ใช้ยาเบื่อหนู เช่น ซิงค์ฟอสไฟต์ โซเดี่ยมอาร์ซีไนด์ แบ¬เรียมคาร์บอเนทเป็นต้น ยาประเภทนี้เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง จึงนิยมใช้สลับกับยาเบื่อหนู ชนิดที่สองได้แก่ วอร์ฟารินและดูมาคลอ ซึ่งหนูที่กินยาเบื่อชนิดที่สองนี้แล้ว จะจายอย่างช้าๆ หรือกลับไปตายรัง
2. เม่น เม่นส่วนมากจะทำลายต้นปาล์มที่เพิ่งย้ายปลูกใหม่ๆ อายุประมาณ 1 – 1 ½  ปี สำหรับต้นปาล์มน้ำมันที่มีอายุมากกว่านี้ก็ปรากฎว่ามีการทำลายเช่นกัน เม่นจะกัดกินใบที่อยู่ด้านล่างและที่สำคัญ คือ กัดกินเนื้อเยื่อส่วนโคนต้น ในที่สุดต้นปาล์มจะตาย ส่วนมากเม่นจะเข้าทำลายหลังเวลา 21.00 น. ซึ่งยากต่อการกำจัด
วิธีป้องกันกำจัด ใช้อาวุธปืนดักยิงหรือใช้กับดัก และใช้ยาเคมี เช่น ซิงค์ฟอสไฟต์ผสมน้ำมันมะพร้าวและอาหารล่อ วางดักไว้ตามทางผ่านของเม่น และวางไว้บริเวณโคนต้นปาล์มน้ำมัน