การปลูกผักกาดหอม

ผักกาดหอมเป็นผักจำพวกผักสลัด เป็นที่นิยมรับประทานเป็นผักสดกัน อย่างกว้างขวาง คนไทยเรานิยมใช้กินกับอาหารจำพวกยำที่รสจัด ๆ สาคูไส้หมูหรือข้าวเกรียบปากหม้อ ก็จะขาดผักกาดหอมไม่ได้ ประโยชน์ของผักกาดหอมนอกจากใช้กินเป็นผักสดที่มีคุณค่าทางอาหารสูงแล้ว ยังจัดเป็นอาหารทางตาด้วยโดยการใช้แต่งอาหารให้สีสันสวยงามน่ากินขึ้นอีกด้วยความต้องการใช้ผักกาดหอมของผู้บริโภคมีอยู่ตลอดทั้งปี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีเทศกาลงานฉลอง เช่น งานปีใหม่ จะขายดีเป็นพิเศษ จึงนับได้ว่าผักกาดหอมเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มากชนิดหนึ่ง

ผักกาดหอม (IETTUCE) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Lactuca Sativa Linn. จัดอยู่ในตระกูล Compositae คนจีนเรียกว่าพังฉ่าย ส่วนทางภาคเหนือเรียกว่า ผักกาดยี

พันธุ

ผักกาดหอมสามารถแบ่งเป็น 4 พวกใหญ่ ๆ ตามรูปร่างลักษณะ แต่ในบ้านเรานิยมปลูกกันอยู่เพียง 2 ประเภทนี้เท่านั้นคือ

1.พวกคริพเฮด (Crisp head) หรือไอซ์เบิร์ก (Iceburg)

คือผักกาดหอมห่อหัว หรือผักกาดแก้วของบ้านเรานั่นเอง พวกคริพเฮดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าแลคทูคา แซททิวา วาไรตี้ แคปปิตาคา (Lacttuca sativa var.capitaca) มีลักษณะใบบาง กรอบและขอบใบหยักไม่เรียบ ปลูกได้ในระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม แต่ปลูกได้ดีที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ช่วงเดือนมิถุนายน-กันยายน พอปลูกได้บ้างในบริเวณที่สูงทางภาคเหนือบางเขต แต่ช่วงที่ปลูกไม่ได้เลยคือช่วง เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ต้องการอุณหภูมิในการเจริญเติบโตระหว่าง 15.5-21° C

พันธุ์คริพเฮด ได้แก่

1. พันธุ์เกรท เลค 659 (Great lake 659 TARII) เป็นพันธุ์หนักปานกลาง ใบสีเขียวเข้ม หยักพันธุ์นี้ไม่ค่อยมีปัญหาใบไหม้ (Sun burn)

2.พันธุ์เกรท เลค 366 (Great Lake 366 TAHn) เป็นพันธุ์ค่อนข้าง เบาหัวห่อกลมมีใบสีเขียวรอบนอก ใบหยัก มีความต้านทานโรคใบแห้งทิพเบิร์น (Tip burn)

3.พันธุ์ซัมเมอร์ เลค (Summer Lake) เป็นพันธุ์เบา หัวห่อกลมสีเขียวอ่อนใบหยัก

4.ลิ้ฟ (Leaf) หรือลูสลี้ฟ (Loose Leaf) หรือพันธุ์ใบ ซึ่งเราจะเรียกว่า ผักกาดหอมใบหยิก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า แลคทูคา แซททิวา วาไรตี้ คริสปา (Lactuca sativavar.crispa) นิยมปลูกและนิยมกินกันมากในบ้านเรา พบเห็นกันได้ทั่วไป ใบมีลักษณะหยิกเป็นคลื่น สีของใบ มีตั้งแต่สีเขียวอ่อนจนถึงสีแดง แต่เราจะพบเห็นใบสีเขียวอ่อนมากกว่า พันธุ์นี้สามารถปลูกได้ตลอดปี และจะปลูกได้ดีที่สุด ในช่วงเดือนตุลาคม-เมษายน ชอบอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 21-26.6 °C พันธุ์ผักกาดหอมใบหยิก ที่นิยมปลูกในบ้านเรา ได้แก่

ก.พันธุ์แกรนด์ แรปปีด (Grand Rapid) มีใบสีเขียวอ่อน ใบม้วนและ หยักอัดกันแน่น ต้นใหญ่เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด เมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรใช้กันอยู่ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่มีความงอกดีไม่มีเมล็ดปลอมปน ชื่อพันธุ์ Grand Rapid RE 46 ราคาลิตรละประมาณ 100 บาท

ข. พันธุ์แบล็ค ซีดเดด ซิมสัน (Black Seeded Simpson) เมล็ดมีสีดำ มีต้นใหญ่ ใบหยักฝอยยู่ยี่อัดกันแน่นมาก

การเตรียมดิน

ผักกาดหอมเจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิดทั้งดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทราย แต่ที่ชอบมากคือดินร่วน ดินที่ระบายน้ำดี มีค่าพีเอชดิน 6.57

การเตรียมดินสำหรับปลูกผักกาดหอมใบหยิกเป็นการเตรียมดินเพื่อหว่านเมล็ดโดยตรง คือขุดพลิกดินลึกสัก 18-20 เซนติเมตร ตากดินไว้ประมาณ 7-10 วัน แล้วย่อยพรวนดิน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน สำหรับพันธุ์ห่อหัว จะต้องเตรียมแปลงสำหรับเพาะกล้าก่อน โดยขุดพลิกดินลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ตากดินสัก 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ลงผสมในดิน ถ้าต้องการปลูกในเนื้อที่ 1 ไร่ แปลงเพาะกล้าเตรียมขนาดประมาณ 2 -2.5 ตารางเมตร ส่วนแปลงปลูกก็เตรียมเช่นเดียวกับแปลงผักกาดหอมใบหยิก

การเตรียมดินปลูกผักกาดหอม 1 ครั้ง ใช้ปลูกได้ 2 ฤดู โดยการปลูกครั้งใหม่เพียงแต่ขุดผิวดินให้ร่วนซุยและเพิ่มปุ๋ยลงไปเล็กน้อยก็ใช้ปลูกได้

การปลูกผักกาดหอมใบหยิก

หว่านเมล็ดพันธุ์ลงบนแปลงที่เตรียมไว้ให้กระจายกันทั่ว ๆ แปลง ถ้าเป็นร่องแปลงขนาดใหญ่ 5-6 เมตร แบบร่องผักที่มีคูน้ำล้อมรอบ ก่อนหว่านเมล็ด ควรจะปูฟางข้าวคลุมหลังแปลงเสียก่อนจึงค่อยหว่านเมล็ดเพราะเมื่อหว่านเมล็ดแล้วจะไม่สามารถย่ำขึ้นไปเพื่อคลุมฟางได้ แต่ถ้าเป็นแบบยกร่องธรรมดาขนาดกว้าง ประมาณ 1 เมตร มีทางเดินเข้าร่อง เมื่อหว่านเมล็ดแล้วจึงคลุมด้วยฟางข้าวทีหลัง เมล็ดพันธุ์ที่ใช้หว่านในพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ประมาณ 1 -2 ลิตร แต่ถ้าใช้วิธีหยอดเมล็ดเรียงแถวโดยมีระยะห่างระหว่างแถวประมาณ 20 เซนติเมตร จะใช้เมล็ดพันธุ์ได้ประหยัดกว่า คือใช้ประมาณ 100-160 กรัม/ไร่

เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ ให้เริ่มถอนแยกต้นที่อ่อนแอทิ้ง และจัดระยะห่างระหว่างต้นให้พอเหมาะ ถ้าแน่นทึบเกินไป กล้าผักจะตายง่ายและทำการถอนแยกครั้งสุดท้ายเมื่ออายุได้ 3 สัปดาห์ จัดระยะห่างระหว่างต้น 20-30×20-30 เซนติเมตร

ถ้าปลูกในฤดูร้อนควรมีการคลุมแปลงผักกันแสงแดดจะทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น โดยการใช้ไม้ไผ่หรือไม้จริงปักป้องกันแดดแบบถาวรในแปลงผักที่ปลูกผักกาดหอม เป็นประจำ ปักสูง 2-2.5 เมตร อย่าให้เตี้ยเกินไปเพราะจะทำให้ต้นผักกาดหอมสูงชลูด แล้วใช้ไม้ไผ่พาดมุงด้วยทางมะพร้าว

การปลูกผักกาดหอมห่อ

เพาะกล้าในแปลงขนาด 2-2.5 ตารางเมตร สำหรับการปลูกในเนื้อที่ 1 ไร่ ใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 50 กรัม (4 หมื่นกว่าเมล็ด) โดยหว่านเมล็ดลงบนแปลงให้กระจายทั่ว ๆ แล้วใช้ดินผสมปุ๋ยคอกโรยทับบาง ๆ คลุมด้วยฟางข้าวแห้ง รดน้ำให้ชุ่ม หรือจะใช้วิธีโรยเมล็ดเป็นแถว แต่ละแถวห่างกันประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2-3 ใบ ให้ถอนแยกกล้าออกเสียบ้างอย่าให้เบียดกันแน่นเกินไป จะทำให้เกิดโรคโคนเน่าและต้นอ่อนแอ

เมื่อกล้ามีอายุประมาณ 25-30 วัน หรือมีใบจริง 3-4 ใบ จึงทำการย้ายกล้า การย้ายกล้าจะต้องทำอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะต้นกล้าค่อนข้างบอบชํ้าง่าย การย้ายกล้าอาจจะย้ายชำในถุงหรือกระทงให้ต้นแข็งแรงได้เร็วด้วยการใช้กรวยกระดาษหรือใบตองก็ได้คลุมต้นกล้าไว้ ระยะห่างที่เหมาะสมสำหรับปลูกผักกาดหอมห่อคือ 30×50 เซนติเมตร

การรดนํ้า

รดน้ำวันละ 2 เวลา เช้า -เย็น ให้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเพียงพอต่อการเจริญเติบโตโดยการฉีดพ่นฝอยด้วยเครื่องหรือใช้บัวฝอยรดน้ำ ในระยะผักกาดหอม เข้าปลีควรระวังเรื่องน้ำเข้าปลีด้วย

การใส่ปุ๋ย

มีการแบ่งการใส่ปุ๋ยเป็น 2 แบบ คือ การใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนปลูก และ การใส่ปุ๋ยบำรุงหลังปลูก

1.ปุ๋ยรองพื้น เท่าที่เกษตรกรหลายท้องที่ปฏิบัติกันอยู่ มีหลายแบบ คือ ใส่ปุ๋ยขี้เป็ด 750 กก./ไร่ ผสมกากถั่ว 130 กก./ไร่

ใส่ปุ๋ยขี้เป็ดผสมปุ๋ยกทม.และกากถั่วในอัตราส่วน 1:1:1ในอัตรา 1,300 กก./ไร่

ใส่ปุ๋ยขี้หมูผสมกากถั่ว 200 กก./ไร่

ใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 5-6 บุ้งกี๋ต่อแปลงขนาด 1×10 เมตร หรือปุ๋ยหมัก 25-50 กก./แปลง

จะเห็นได้ว่าปริมาณของปุ๋ยที่ใส่แต่ละแบบไม่เท่ากัน ทั้งนี้ก็เพราะว่า ดินในแต่ละท้องที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่างกัน ดังนั้นจะเลือกใส่ปุ๋ยในอัตราเท่าใดจึงดูเอาจากสภาพของดินที่จะปลูกเป็นสำคัญ

2.ปุ๋ยบำรุง ในระยะหลังจากปลูก 7 วันควรใส่ปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโต ในระยะแรกของพันธุ์ใบด้วยการใช้ปุ๋ยยูเรียละลายน้ำรดผักในอัตรา 1 ช้อนสังกะสี ต่อน้ำ 1 ปีบ ต่อเนื้อที่ 5 ตารางเมตรรดวันเว้นวันเพื่อเร่งให้โตเร็วพออายุได้ 15-20 วัน ควรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยสูตร ที่เหมาะสมสำหรับผักกาดหอม คือสูตรที่มีNPK=1:1:2 ได้แก่สูตร 13-13-21 ในอัตรา 30-50 กก./ไร่ ผักกาดหอมต้องการธาตุโปแตสเซียมมากกว่าธาตุไนโตรเจน ธาตุโปแตสเซียมทำให้ใบผักกาดบางกรอบ ไม่มีรอยจุดบนใบ ผักกาดหอมที่ได้ธาตุไนโตรเจนมากเกินไปจะทำให้ใบมีสีเขียวจัด รสไม่อร่อย

โรคและแมลง

ผักกาดหอมเป็นผักที่ไม่ค่อยมีแมลงศัตรูรบกวน จึงไม่จำเป็นต้องฉีดยา ฆ่าแมลง แมลงศัตรูที่พบบ้างก็มีเพลี้ย กับหนอนกระทู้หอม ซึ่งพบมากในฤดูหนาว แถวภาคกลางและภาคเหนือ

การเก็บเกี่ยว

อายุการเก็บเกี่ยวผักกาดหอมพันธุ์ใบหยิกประมาณ 40-50 วัน หลังจากหว่านเมล็ดลงแปลงแล้ว การเก็บเลือกเก็บขณะใบยังอ่อนอยู่ กรอบ ไม่เหนียวกระด้าง ต้นแก่จะมีรสขม ต้นจะสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ใช้มีดตัดตรงโคนต้น ตัดแต่งใบเสียทิ้ง ชุบน้ำเพื่อล้างยางสีขาวออกสลัดน้ำให้หมดมิฉะนั้นจะเน่าเสียได้ง่าย ถ้ามีน้ำขังอยู่แล้วจัดเรียงใส่เข่งที่รองก้นด้วยใบตองหรือใบไม้อื่น ๆ ผลผลิตต่อไร่จะได้ประมาณ 1,100-3,000 กว่ากิโลกรัม

ผักกาดหอมห่อหัว มีอายุ 60-75 วัน ควรเก็บขณะที่หัวห่อแน่นไม่หลวม รูปร่างค่อนข้างกลมแบน ไม่ควรปล่อยให้แก่เกินไป หัวจะยืดตัวไปในทางตั้งและจะ แทงช่อดอก ทำให้เสียคุณภาพ ใช้มีดตัดโคนต้น ตัดแต่งใบรอบนอกออกเล็กน้อย ใช้ปูนแดงทาตรงรอยถูกตัด วางผึ่งในที่ร่มที่ลมถ่ายเทดี ให้แผลที่ตัดแห้งเพื่อลดการเน่าเสียขณะขนส่ง