การปลูกฝรั่ง


PSIDIUM GUAJAVA
ฝรั่ง เป็นผลไม้ที่คนไทยชอบรับประทานเป็นอาหารว่าง โดยรับประทานผลดิบจิ้มพริกกับเกลือส่วนผลสุกนั้น เหมาะสำหรับผู้สูงอายุรับประทาน เพราะฝรั่งสุกจะมีรสหวานเนื้อนุ่ม ในต่างประเทศเขาใช้คั้นน้ำรับประทาน เรียกว่า “น้ำฝรั่งคั้น” Guava Juice” ฝรั่งมีปลูกกันทั่วไปในประเทศเพราะเป็นต้นไม้ผลที่ปลูกง่าย เจริญเติบโตและขึ้นได้ในดินทุกๆ สภาพทนทานต่อความแห้งแล้วได้ดี ฝรั่งมีชื่อสามัญเรียกว่า “Guava” ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Psidium guajava Linn” เป็นต้นไม้ที่อยู่ในวงศ์ “Myrtacceae” คนไทยเราเรียกชื่อฝรั่งแตกต่างกันไปตามภูมิภาคของประเทศดังนี้
-ภาคเหนือเรียกว่า “มะก้วย”
-ภาคกลางเรียกว่า “ฝรั่ง”
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า “บักสีดา”
-ภาคใต้เรียกว่า “ยาหมู” หรือ “ย่าหมู”
ประวัติของฝรั่ง
ฝรั่งเป็นพืชเมืองร้อน ทนทานความแห้งแล้งไดดี มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล (Brazil) ทวีปอเมริกา และต่อมาภายหลังได้ขยายพันธุ์ไปปลูกแถวมลรัฐฟลอริดา มลรัฐ แคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา ประเทศอินเดีย ลังกา พิลิปปินส์ และไทย ฝรั่งที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยเวลานี้ ใครจะเป็นผู้นำเข้ามาในประเทศไทย จากประเทศใด เมื่อไร เพราะเหตุใดจึงเรียกผลไม้นี้ว่า ‘’ฝรั่ง” ไม่มีใครทราบ แต่สันนิษฐานว่า “ฝรั่ง” ที่เข้ามาในประเทศไทยมาจาก 2 ทาง ด้วยกันคือ จากประเทศอินเดียทางหนึ่ง และมาจากทางประเทศจีนทางหนึ่ง ซึ่งเรียกกันตามชื่อของประเทศที่นำมา เช่น นำมาจากอินเดียก็เรียก “ฝรั่งอินเดีย” และนำมาจากจีนก็เรียก “ฝรั่งจีน” เป็นต้น แต่คำว่า “ฝรั่ง” นั้น คงจะหมายถึงผลไม้ที่นำมาจากเมืองฝรั่งก็อาจเป็นได้ ฝรั่งที่นำมาปลูกในประเทศไทยมีรสอร่อย จนถึงกับมีคำพังเพยว่า “อ้อยบางเชือกหนัง ฝรั่งบางเสาธง” จากคำพังเพยนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าจะรับประทานอ้อยให้อร่อยต้องรับประทานอ้อยที่บางเชือกหนัง แต่ถ้าจะรับประทานฝรั่งที่มีรสอร่อย ต้องรับประทานฝรั่งตำบลบางเสาธง และฝรั่งที่ปลูกที่ตำบลบางเสาธงนั้น ความจริงเป็นฝรั่งที่นำมาจากประเทศจีนเข้ามาปลูกในเมืองไทย และฝรั่งพันธุ์นี้หลวงตั้งสื่อ (หลวงท่องสื่อ) เป็นผู้นำมาจากประเทศจีน และต่อมาได้ขยายพันธุ์ไปปลูกกันในที่อื่นๆ อีกมาก ในปัจจุบัน ฝรั่งที่ปลูกเป็นส่วนใหญ่ ก็มีอยู่แถวฝั่งธนบุรี และตามชานเมืองฝั่งพระนครและจังหวัดปทุมธานี เช่น แถวท้องที่อำเภอ บางเขนและอำเภอธัญญบุรี เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีการปลูกฝรั่งในจังหวัดต่างๆ อีกมากเหมือนกัน และนอกจากสวนใหญ่ๆ ดังกล่าวแล้ว ฝรั่งยังเป็นต้นไม้ผลที่ปลูกหลังบ้านกันบ้านละต้นสองต้นทั่วๆ ไป ส่วนฝรั่งพันธุ์อินเดียนั้นเข้ามาในประเทศไทยซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์ด้วยกัน แต่เท่าที่นิยมกันอยู่มี 2-4 พันธุ์เท่านั้น คือฝรั่งอินเดียธรรมดา-ฝรั่งอินเดียไม่มี เมล็ดหรืออีแห้ว และพันธึฝรั่งอินเดียค่อม เป็นต้น
ลักษณะทางพฤษศาสตร์
ฝรั่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง มีลำต้นสูงประมาณ 2-3 เมตร และกิ่งก้านสาขากว้าง และมักจะแตกกิ่งเล็กๆ ตาม บริเวณโคนต้น ลำต้นมีผิวเรียบปนสีแดง เปลือกลอกได้เป็นแผ่นๆ บางๆ ใบจะยาวประมาณ 5-15 เซ็นติเมตร กว้าง 2- 6.5 เซ็นติเมตร ปลายมน ดอกฝรั่งเป็นดอกสมบูรณ์เพศ คือมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน มีลักษณะเป็นช่อ ซึ่งผลิจากตาที่อยู่โคนใบของกิ่งอ่อนประมาณ 2-3 ดอก หรือดอกเดียว มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ ลักษณะของผล ค่อนข้างกลมแล้วจะค่อยๆ สอบไปทางปลายผล ผลยาวประมาณ 5-12 เซ็นติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 5-7 เซ็นติเมตร เมื่อผลยังดิบอยู่จะมีสีเขียวเข้ม ผลขรุขระเล็กน้อย ผลแก่จัดแต่ยังไม่สุก ผิวของผลจะมีสีเขียวอ่อน และมีรสหวานอมเปรี้ยวบ้างเล็กน้อย และกรอบ เมื่อสุกเนื้อในที่หุ้มเมล็ดอยู่มีสีเนื้อจนถึงสีชมพู เมล็ดเล็กและแข็ง มีสีเหลืองอมน้ำตาล เมล็ดจะกว้าง 0.2-0.3 เซ็นติเมตร ยาว 0.3-0.5 เซ็นติเมตร เนื้อนอกขาวนุ่ม ผิวของผลสุกจะมีสี เหลืองอ่อนเป็นมันและมีกลิ่นหอม ฝรั่งให้ผลอยู่ได้ประมาณถึง 40 ปี แต่การที่จะให้ผลดกนั้นจะไม่เกิน 15-25 ปี จากนั้นผลผลิตก็จะลดลงตามลำดับอายุที่สูงขึ้น


ชนิดของพันธุ์ฝรั่ง
พันธุ์ฝรั่งชนิดต่างๆ ที่ปลูกอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ มีอยู่มากมายหลายพันธุ์ด้วยกัน แต่เฉพาะพันธุ์ที่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคนั้นมีไม่กี่พันธุ์
1.  ฝรั่งพันธุ์จีน การที่เรียกว่าฝรั่งพันธุ์นี้เป็นฝรั่งพันธุ์จีนนั้น ก็เพราะว่า ฝรั่งพันธุ์นี้เป็นฝรั่งที่นำมาจากประเทศจีน โดยหลวงตั้งสื่อ (หลวงท่องสื่อ) เป็นผู้นำมาปลูกที่ตำบลบางเสาธง จังหวัดธนบุรี ฝรั่งพันธุ์นี้เป็นฝรั่งพันธุ์ดี มีรสอร่อย ผลค่อนข้างกลมแล้วจะค่อยๆ สอบไปทางขั้วผลเล็กน้อย ผิวสีเขียวจัด เมื่อสุกมีสีนวล เนื้อขาวนวลหนา เมล็ดมาก รสหวานอมเปรี้ยว อร่อยมากและให้ผลดก นิยมปลูก และรับประทานกันมาก ฝรั่งพันธุ์นี้จะให้ผลตั้งแต่อายุได้ 2 ปี 6 เดือนขึ้นไป ถ้าปลูกด้วยกิ่งตอนแล้วต้นจะสูงปานกลาง ผิวเปลือกของลำต้นจะมีสีน้ำตาลปนแดง ใบบางปลายมน ช่อดอกมีช่อเดียว ผลดก ลักษณะของผลมีสองชนิดด้วยกันคือ
-ผลมีขนาดกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางของผลประมาณ 5-7 เซ็นติเมตร รูปลักษณะของผลตอนปลายค่อนข้างกลม แล้วจะค่อยๆ เรียวไปหาขั้ว เนื้อหนา มีเมล็ดพอประมาณ เมล็ดเล็กมีเนื้อหุ้มเมล็ดมาก จึงทำให้มีรสหวานอมเปรี้ยวอร่อยกว่าพันธุ์อื่นๆ
-ผลกลมป้อม เนื้อจะบางกว่าชนิดแรกเล็กน้อย แต่มีเมล็ดมากกว่า มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-7 เซ็นติเมตร ผลมีผิวเรียบเป็นมัน เมื่อแก่ยังไม่สุกจะมีสีเขียวอ่อน มีรสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย เมื่อสุกมีสีเหลืองอ่อนมีกลิ่นหอม
2. ฝรั่งพันธุ์อินเดียไม่มีเมล็ด เป็นฝรั่งที่คนไทยรู้จักกันดี บางคนเรียกว่า “อีแห้ว” เป็นพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ด ลักษณะต้นสูงใหญ่กว่าฝรั่งจีน ใบหนากว้างใหญ่ ใต้ใบที่มีขนอ่อนทั่วๆ ไปทั่วใบ ปลายใบมน ช่อดอกมี 2-3 ดอก แต่ไม่ค่อยจะดก ลักษณะผลป้อมเป็นพูเล็กน้อย เส้นผ่าศูนย์กลาง 5-7 เซ็นติเมตร ผิวขรุขระบ้างเล็กน้อยมีสีเขียวอ่อน รสหวานอมเปรี้ยวนิดหน่อยและกรอบ เป็นพันธุ์ที่ไม่มีเมล็ด หรือจะมีบ้างก็เพยง 4-5 เมล็ด ข้างในตรงกลางเป็นโพรงบ้างเล็กน้อย เมื่อสุกมีสีเหลืองอ่อนและมีกลิ่นหอม
3. ฝรั่งพันธุ์อินเดียค่อม เป็นพันธุ์ฝรั่งที่นำมาจากอินเดียและเป็นฝรั่งพันธุ์เบา ลักษณะต้นเตี้ยเป็นพุ่มและมีกิ่งยาว ลำต้นมีสีน้ำตาลคล้ำ มีผลดก ผลเล็ก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4-6 เซ็นติเมตร ผลไม่ค่อยขรุขระ ผลแก่จะมีสีเขียวอ่อน เนื้อสีชมพูรสอร่อยเนื้อกรอบ เมล็ดเล็ก ไม่แข็ง เคี้ยวได้ง่าย ผลสุกเนื้อในสีชมพู มีกลิ่นหอม ฝรั่งพันธุ์นี้ นับแต่วันปลูกจะเกิดผลได้ อายุเพียง 7-9 เดือนเท่านั้น เป็นพันธุ์ที่ให้ผลตอบแทนแก่ผู้ปลูกได้รวดเร็วกว่าฝรั่งพันธุ์อื่นๆ
4. ฝรั่งพันธุ์อินเดียธรรมดา เป็นฝรั่งอีกพันธุ์หนึ่งที่นำมาจากอินเดียเข้ามาปลูกในประเทศไทย มีลักษณะต้นสูงใหญ่กว่าฝรั่งพันธุ์อื่นๆ ใบกว้างพอประมาณแต่ยาว ปลายใบแหลม ลักษณะดอกเป็นช่อๆ มีดอก 2-3 ดอก ไม่สู้จะดกนัก ลักษณะของผลคล้ายรูปไข่แต่เบี้ยวๆ รูปร่างไม่สม่ำเสมอ เป็นพูบ้างเล็กน้อย ผลขรุขระมาก เส้นผ่าศูนย์กลางของผล 5-8 เซ็นติเมตร ผลแก่จัดมีสีเขียว เนื้อหอมกรอบ รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีเมล็ดมากพอประมาณ
5. ฝรั่งขี้นก เป็นฝรั่งที่มีต้นขนาดเดียวกันกับฝรั่งพันธุ์จีน แต่ใบเล็กและแคบกว่า ปลายใบมนแหลมเล็กน้อย ผลเล็กกว่าฝรั่งพันธุ์อินเดียค่อม ค่อนข้างกลม เนื้อบาง เมล็ดมากและแข็ง เนื้อในมีสีชมพูอ่อน มีรสหวานอมเปรี้ยว เมื่อแก่จัดผลสีเขียว เมื่อสุกมีสีเหลืองอ่อน การที่เรียกว่าฝรั่งขี้นก เข้าใจว่านกคงจะกินเมล็ดฝรั่งแล้วมาถ่ายมูลออกมามีเมล็ดฝรั่งออกมาด้วย เมื่อมาอยู่ในดินได้รับความชุ่มชื้นพอเหมาะก็งอกขึ้นมาเอง โดยมนุษย์ไม่ได้เพาะขึ้นมา จึงเรียกว่า “ฝรั่งขี้นก”


ดินฟ้าอากาศที่เหมาะแก่การปลูกฝรั่ง
ฝรั่งเป็นต้นไม้ผลที่มีความทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ฝรั่งจะเจริญเติบโตและให้ผลเต็มที่ในที่ๆ มีฝนตกมากไป จนถึงในที่แห้งแล้ง แต่จะเจริญเติบโตได้ง่ายรวดเร็วและให้ผลดีในที่ๆ มีฝนตกมากกว่าในที่ๆ มีฝนตกน้อย แต่ในที่ๆ มีฝนตกมากและมีความชื้นสูง ฝรั่งจะได้ผลน้อยและนอกจากนั้น ยังเป็นสื่อช่วยทำให้เกิดโรคและแมลงอีกด้วย ฝรั่งจะปลูกได้ ผลดีนั้นต้องเป็นที่มีความหนาวน้อยและมีการชลประทานดี ก็ปลูกฝรั่งได้ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่าทุกๆ ภาคของไทยสามารถปลูกฝรั่งได้ผลดี
ทำเลที่ปลูก
ได้กล่าวมาแล้วว่า ฝรั่งเป็นต้นไม้ผลที่เกิดขึ้นและให้ผลดีในดินเกือบทุกชนิด แต่ถ้าจะปลุกให้ได้ผลดีจริงๆ แล้ว ดินที่ปลูกนั้นจะต้องเป็นดินร่วนซุย และมีอินทรีย์วัตถุมาก ฝรั่งเป็นพืชที่ต้องการน้ำมาก แต่น้ำต้องไม่ขังจนแฉะ และสามารถทนน้ำท่วมได้บ้าง แต่ไม่นานนัก ต้นฝรั่งจะเจริญงอกงามดีในดินที่มีความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) 6.5-7.00 ฉะนั้นการที่จะเลือกที่ดินปลูกฝรั่งให้ได้ผลดีนั้น ควรจะได้มีการแก้ไขและปรับปรุงสภาพของดินให้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของฝรั่งเสียก่อน ตามธรรมดาแล้วทำเลและสถานที่ปลูกนั้น ผู้ปลูกไม่สามารถที่จะกำหนดลงไปได้ เพราะสภาพและทำเลนั้นมีสภาพต่างๆ กัน และสภาพของดินแต่ละแห่งก็ไม่เหมือน กัน เว้นแต่จะปรับปรุงแก้ไขสภาพของที่นั้นๆ ให้เหมาะแก่การปลูกฝรั่งได้ ซึ่งสภาพของที่ดินนั้นๆ อาจเป็นที่ทำเลอยู่ในป่าทึบ หรือมีทำเลเป็นป่าละเมาะ ซึ่งเคยถูกหักล้างถางพงมาแล้ว หรือเป็นทำเลที่อยู่หัวไร่ปลายนา หรือเป็นที่ราบลุ่มน้ำขังในฤดูฝนก็ตาม สภาพที่ดินต่างๆ เหล่านี้อาจปรับปรุงแก้ไข ให้ปลูกฝรั่งได้ ทำเลที่ดินดังที่ได้กล่าวมานี้รู้สึกว่ามีทำเลที่ดินเป็นที่ลุ่มน้ำขังในฤดูฝนหรือเป็นที่นาเท่านั้น ที่จะต้องแก้ไขกันมาก
เพราะในที่ดินชนิดนี้ส่วนมาก มักจะเป็นดินเหนียว เมื่อถูกน้ำจะแข็ง และเปราะเมื่อขาดน้ำ ดินชนิดนี้ถ้าจะกล่าวโดยทั่วๆ ไปแล้ว ไม่เหมาะแก่การปลูกฝรั่ง อย่างไรก็ตามถ้าจะใช้ดินชนิดนี้เพื่อทำสวนฝรั่งก็สามารถแก้ไขได้ โดยทำการยกร่องให้สูงเพื่อมิให้น้ำท่วมถึงสามารถระบายน้ำได้ ดินบนหลังร่องก็จะมีสภาพร่วนขึ้น และเมื่อได้มีการปรับปรุงโดยการใส่ปุ๋ย ก็จะทำให้ดินนั้นมีสภาพเหมาะแก่การจะทำสวนฝรั่งได้ แต่การยกร่องนั้นควรจะให้หลังร่องกว้าง 6 เมตร และร่องน้ำควรกว้าง 1.50 เมตร ลึก 1 เมตร ก้นร่องกว้าง 75 เซ็นติเมตร เมื่อยกร่องแล้วระดับน้ำในร่องควรจะอยู่ต่ำ กว่าหลังร่องประมาณ 75 เซ็นติเมตร จึงจะเหมาะแก่การปลูกฝรั่ง และน้ำในท้องร่องนี้ควรจะทดนาและระบายน้ำเข้าออกได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้ ในที่มีน้ำขังในฤดูฝนก็มีการยกร่องปลูกฝรั่งกันมาก เช่นตำบลบางเขน และรังสิต เป็นต้น ซึ่งการปลูกฝรั่งเป็นร่องก็ได้ผลดีเหมือนกัน เสียอยู่อย่างเดียวก็คือลงทุนสูง เนื่องจากต้องเสียค่ายกร่อง ส่วนทำเลที่ดินอย่าง อื่นนั้น ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะสภาพที่ดินเป็นสภาพเรียบร้อยอยู่แล้ว เพียงแต่หักร้างถางพงออกมาแล้วก็ทำการไถคราดเสีย ก็ทำการปลูกฝรั่งได้เลย ในประเทศไทยส่วนมาก ไม่ใคร่มีปลูกกันเป็นส่วนใหญ่ มักจะมีปลูกกันตามหลังบ้านๆ ละ 3-4 ต้นเสียเป็นส่วนมาก
การขยายพันธุ์
การขยายพันธุ์ที่นิยมทำกันมาก คือ การตอน ข้อดีของการขยายพันธุ์โดยวิธีการตอนมีดังต่อไปนี้
1. ทำให้ต้นฝรั่งมีทรงพุ่มเตี้ย สวยงาม
2. เมื่อต้นฝรั่งมีทรงพุ่มเตี้ยแล้ว ทำให้การเก็บผลได้ง่าย ป้องกันกำจัดโรคและศัตรูง่ายสะดวก
3. ออกผลเร็วกว่าปลูกด้วยการเพาะเมล็ด
4. ได้พันธุ์แท้เหมือนกันกับต้นเดิมที่ตอนมา
การตอนกิ่งฝรั่งนั้น เริ่มตอนตั้งแต่ต้นฤดูฝนหรือประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นเหมาะกว่าฤดูอื่น เพราะฤดูฝนเป็นระยะที่ต้นไม้กิ่งไม้กำลังเจริญงอกงาม เมื่อตอนจะออกรากง่าย และอีกประการหนึ่งไม่ต้องรดน้ำกิ่งตอนเพราะเป็นฤดูฝนอยู่แล้ว การตอนกิ่งไม้ควรทำการคัดเลือกต้นแม่พันธุ์เสียก่อน แล้วจึงมาทำการคัดเลือกกิ่งพันธุ์ทีหลัง การคัดเลือกต้นแม่ พันธุ์นั้นก็ยึดหลักทั่วไปๆ ไปว่า
1. ต้นสมบูรณ์ปราศจากโรคแมลง
2. ให้ผลดกสม่ำเสมอทุกๆ ปี
3. มีรสเป็นที่นิยมของประชาชน
4. ราคาดีและตลาดต้องการ
กิ่งฝรั่งที่จะใช้ตอนนั้นจะต้องเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ปราศจากโรค และแมลงทำอันตราย และเป็นเพสลาด กิ่งจะต้องยาวประมาณ 60-90 เซ็นติเมตร แต่อาจสั้นหรือยาวกว่าเท่าที่กล่าวมาแล้วก็ได้ อย่าตอนกิ่งที่มียอดเป็นใบอ่อนอยู่ เนื่องจากเป็นกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ เพราะยอดของกิ่งกำลังเจริญเติบโต และต้องการอาหารไปเลี้ยงยอดอ่อน และการตอนเป็นการตัดทางอาหารซึ่งทำให้กิ่งยอดที่อ่อนอยู่ขาดอาหารยอดจะเหี่ยวเฉา และตายไป
ฤดูที่เหมาะแก่การตอนกิ่งฝรั่งนั้นคือฤดูฝน เพราะฤดูฝนที่เป็นฤดูต้นไม้กำลังเจริญเติบโต และขยายตัวเปลือกลอกง่ายเมื่อตอนแล้วออกรากง่ายกว่าฤดูอื่น เดือนที่เหมาะแก่การตอนนั้นก็คือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคม
เครื่องมือสำหรับใช้ในการตอน
1. มีดคมๆ สำหรับใช้ตอน ควรเป็นมีดสำหรับไว้ใช้ตอนโดยเฉพาะต้องสะอาดและคมอยู่เสมอ
2. กาบมะพร้าวไว้สำหรับหุ้มกิ่งฝรั่งนั้น จะต้องแช่น้ำทั้งเปลือกไว้ประมาณ 6 เดือน หรือจนเปลือกมะพร้าวอ่อนตัว และอุ้มน้ำได้ดี จึงเอากาบมะพร้าวมาตัดหัวและท้ายออกลอกเอาเปลือกแข็งออกเสียก่อน แล้วทุบกาบมะพร้าวให้แผ่เตรียมไว้สำหรับใช้หุ้มดินที่จะหุ้มกิ่งตอนอีกทีหนึ่ง กาบมะพร้าวที่แช่ไว้นานๆ จะอุ้มน้ำรักษาความชุ่มชื้นได้ดี
3. ดินสำหรับหุ้มกิ่งฝรั่ง ที่จะตอนควรเป็นดินบริเวณท้องร่องสวน เพราะเป็นดินดี มีอินทรีย์วัตถุที่เป็นอาหารพืชสะสมอยู่ด้วย เหมาะสำหรับใช้หุ้มกิ่งตอน
4. ตอก สำหรับไว้มัดกาบมะพร้าวที่ใช้มัดหุ้มกิ่งตอน ควรใช้ตอกของไม้ไผ่สีสุกเพราะเหนียว และทนดี ตอกควรให้ยาวประมาณ 50 เซ็นติเมตร ถ้าไม่มีตอกจะใช้เชือกพลาส¬ติกแทนก็ได้
5. ใบตองแห้ง ใช้ใบตองกล้วยฉีกให้กว้างประมาณ 8-10 นิ้ว เอาพันหัวท้ายเข้ามานิดหน่อย เพื่อให้กว้างเสมอกันไว้สำหรับหุ้มกิ่งตอนอีกทีหนึ่ง เพื่อให้บังแดดและช่วยสงวนความชุ่มชื้นไว้ในหุ้มได้นาน
วิธีตอน
การตอนกิ่งฝรั่ง เมื่อได้เลือกกิ่งตอนและเตรียมเครื่องอุปกรณ์การตอนพร้อมแล้ว ควรจะตอนกิ่งกระโดงหรือกิ่งตรั้งตรงไม่ใช่มีปลายกิ่งชี้ลงดิน เพราะถ้าตอนกิ่งชนิดนี้ เมื่อออกรากแล้วรากจะงอกออกไปทางปลายกิ่ง ซึ่งจะลำบากตอนนำไปปลูกเพราะต้องเสียเวลา ให้รากกลับตัวตามปกติเสียอีกทีหนึ่ง เป็นการเสียเวลาโดยใช่เหตุ จึงไม่ควรตอนกิ่งชนิดนี้ วิธีตอน ขั้นแรกควรขวั้นกิ่งตอนให้ข้อของกิ่งที่เราเลือกแล้วให้รอบๆ กิ่ง แล้วขวั้นรอยแผลที่สองให้ห่างจากรอยแผลแรกเท่ากับความยาวของเส้นรอบวงของกิ่งตอน เมื่อขวั้นเสร็จแล้ว ให้เอามีดกรีดจากรอยแผลที่ 1 ให้ขนานกับกิ่งลงมาหารอยแผลที่ 2 แล้วใช้มีดตอนแงะเปลือกที่ขวั้นออก ถ้าลอกเปลือกออกง่าย เมื่อตอนแล้วรากก็ออกง่ายเหมือนกัน แล้วใช้สันมีดขูดเยื่อเจริญออกเสียให้หมดเสร็จแล้วใช้สำลีหรือผ้าสะอาดๆ เช็ดให้รอยแผลแห้งอีกที เมื่อขวั้นเสร็จก็เอาดินที่เตรียมไว้หุ้มถึงตรงรอยแผลที่ขวั้นไว้ให้มิด และให้หุ้มเหนือรอยขวั้นนิดหน่อย การเอาดินหุ้มให้ทำค่อยๆ เพราะถ้าหุ้มแรงๆ กิ่งอาจหักได้ แล้วเอากาบมะพร้าวหุ้มทับดินอีกที เอาดอกหรือเชือกมัดกาบมะพร้าวให้แน่นติดกับดิน เพราะจะทำให้ดินชุ่มชื้นอยู่ เสมอ เสร็จแล้วหุ้มด้วยใบตองแห้งเพื่อช่วยให้หุ้มชุ่มชื้นอยู่เสมอ เมื่อตอนเสร็จแล้วควรปฏิบัติดังนี้
1. ถ้าฝนไม่ตกหลายวัน ต้องรดน้ำเพื่อให้กิ่งตอนชุ่มชื้นอยู่เสมอ
2. ควรฉีดยาที่มีสารผสมของ Copper Oxychloride เช่น คูปราวิทและยาคาบาริล หรือเซริน เพื่อป้องกันโรค และแมลงที่จะทำอันตรายกิ่งตอนทุกๆ 15 วัน เพราะเท่าที่ปรากฎกิ่งตอนมักมีมดคำ มดง่าม เข้ามาทำรังในหุ้มทำให้รากไม่งอกได้
3. ถ้าหุ้มกิ่งตอนคลอนได้ ควรจะรีบมัดเสียใหม่ให้แน่น มิฉะนั้นรากจะไม่งอก
การตัดกิ่งตอน
การตัดกิ่งฝรั่งที่ตอนมาชำหรือมาปลูกนั้นจะกำหนดว่า กี่วันจะตัดได้นั้น ไม่ค่อยแน่นอน ทั้งนี้เป็นเพราะกิ่งที่ใช้ตอนั้น คือ
1. กิ่งที่ตอนนั้นจะมีขนาดโตหรือเล็กกว่ากัน
2. กิ่งแก่อ่อนไม่เท่ากัน
3. กิ่งมีความสมบูรณ์ไม่เท่ากัน
กิ่งฝรั่งที่รากจะออกง่ายหรือออกเร็วก็คือกิ่งที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป และเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ดี แต่การที่จะตัดกิ่งฝรั่งที่ตอนออกควรจะสังเกตราก แต่รากกิ่งฝรั่งที่ตอนออกเป็นสีน้ำตาล และจากสีน้ำตาลมีรากฝอยเกิดออกมาจากรากแขนงอีกทีหนึ่งเป็นสีขาวจึงตัดได้ แต่ถ้ากิ่งที่กำลังจะตัดแตกใบอ่อนก็อย่าเพิ่งตัด เพราะจะทำให้ยอดเฉาและตายได้ เมื่อตัดกิ่งฝรั่ง ไปจากต้นแล้ว ควรเอาไปแช่ไว้ในน้ำให้มิดหุ้มประมาณ 2-3 ชั่วโมง จึงค่อยนำไปชำหรือไปปลูก และการตัดกิ่งฝรั่งที่ตอนออกนั้นควรตัดในเวลาเย็น เพราะเป็นขณะที่ไปหยุดการคายน้ำ หรือตอนเช้าก็ได้เพราะกิ่งตอนที่ตัดจะไม่เหี่ยวเฉาได้ง่าย ก่อนที่จะชำหรือปลูกนั้นควรแก้ใบตองออกเสียก่อน เพราะถ้าปลูกทั้งๆ ที่ใบตองหุ้มอยู่รากจะเจริญออกไปได้ช้า เพราะถูกใบตองหุ้มอยู่
การปลูกฝรั่ง
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในเรื่องการเลือกทำเลสำหรับปลูกฝรั่งแล้วว่า ทำเลที่ดินจะใช้ทำการปลูกฝรั่งนั้น มีอยู่หลายแบบด้วยกัน ทำเลที่ดินเป็นป่าทึบ ป่าละเมาะ หัวไร่ปลายนาหรือที่ๆ เป็นที่ราบต่ำ เมื่อได้ทำการหักล้างถางพงในที่ดินสำหรับปลูกดังกล่าวมาแล้ว ต่อไปถึงขั้นเตรียมดิน และกะระยะปลูก การเตรียมในที่เป็นป่าทึบ ป่าละเมาะ และหัวไร่ปลายนานั้น เมื่อได้หักร้างถางพงเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทำการไถดินตากแดดไว้ประมาณ 10 ว*น แล้วจึงพรวนดิน เมื่อพรวนดินเสร็จแล้วจึงกะระยะปลูก ซึ่งอาจจะปลูกแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส สี่เหลี่ยมผืนผ้า หรือสามเหลี่ยมด้านเท่าก็ได้ ตามความต้องการของผู้ปลูก แต่ถ้าจะปลูกแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส ต้องกะระยะระหว่างต้น ระหว่างแถวให้กว้างเท่าๆ กัน เช่นระยะระหว่างต้น 6 เมตร ระยะระหว่างแถวยาว 7 เมตร เป็นต้น
แต่ถ้าจะปลูกฝรั่งแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า จะได้จำนวนต้นต่อไร่ มากกว่าปลูกแบบสี่เหลี่ยมจตุรัส หรือสี่เหลี่ยมผืนผ้าในระยะปลูกเท่าๆ กัน เพราะฉะนั้นการปลูกจะปลูกแบบไหนก็ดีเป็นเรื่องของผู้ปลูกจะพิจารณาเอาเอง ตามธรรมดาแล้วการปลูกฝรั่งควรจะมีระยะปลูก 6X6 เมตร สำหรับดินทั่วๆ ไป ถ้าดินดีควรจะห่างกัน 7X7 เมตร ซึ่งระยะปลูกนี้ก็ให้อยู่ในดุลพินิจของผู้ปลูกว่าควรจะใช้ปลูกแบบไหนระยะเท่าไรจึงจะดี ตามเหตุที่ได้กล่าวมาแล้ว
การขุดหลุมปลูก
ตามที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการปลูกฝรั่งนั้นควรมีระยะปลูก 6X6 เมตร หรือ 7X7 เมตรนั้น เมื่อได้เตรียมที่ดินไว้แล้วก็ควรกะระยะหลุมปลูกได้เลย เมื่อกะระยะหลุมปลูกแล้ว ควรให้ขนาดของหลุมปลูกกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร การขุดหลุมปลูกให้กว้างและลึกนั้น เปลี่ยนสภาพของดินในหลุมปลูกได้ดีขึ้นเพื่อให้เหมาะแก่การหาอาหารของรากต้นไม้ แต่สำหรับที่ยกร่องนั้น ควรขุดหลุมปลูกให้กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และลึก 50 เซนติเมตรก็พอแล้ว เท่าที่ให้ลึก 50 เซ็นติเมตรนั้น ก็เพราะระดับน้ำในร่องต่ำกว่าระดับหลังร่อง เพียง 75 เซ็นติเมตรเท่านั้น ถ้าจะให้ลึก 1 เมตร ก็จะถึงระดับน้ำในดิน ฉะนั้นจึงให้ขุดลึกเพียง 50 เซ็นติเมตร การขุดหลุมมักไม่ค่อยระมัดระวัง มักขุดดินมารวมเป็นกองเดียวกัน เพียงแต่ให้ได้ขุดหลุมกว้าง 1 เมตรยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร ก็แล้วกันเท่านั้น ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง เพราะตามธรรมดาแล้ว ดินที่อยู่ตอนหน้านั้นเป็นดินที่มีอาหารพืชมากกว่าดินตอนล่าง ฉะนั้นการขุดดินควรขุดดินออกเป็นสองกอง คือขุดเอาดินตอนบนไว้กองหนึ่ง และดินล่างไว้อีกกองหนึ่ง และตากหลุมไว้ประมาณ 10-15 วัน เพื่อให้แสงแดดฆ่าเชื้อโรคและแมลงในหลุม แล้วจึงผสมดินล่างกับปุ๋ยคอก เช่น มูลกระบือ โค ประมาณหลุมละ 3 บุ้งกี๋ กับดินที่ขุดมาจากหลุม ตากแดดไว้จนเข้ากันดีแล้วเอาดินบนใส่ลงไปในหลุม จนหมด แล้วจึงเอาดินล่างที่ผสมกับปุ๋ยคอกแล้วใส่ลงในหลุมอีก ใส่ดินในหลุมจนหมดแล้วให้เสยปากหลุมสัก 25 เซ็นติเมตร เพราะต่อไปเมื่อปลูกต้นฝรั่งและรดน้ำแล้วดินจะยุบลงไปอีก การปลูกฝรั่งแบบวิธียกร่องนั้น ควรปลูกแบบยกโคกด้วย เพราะระดับน้ำในดินอยู่สูงมาก ถ้าไม่ปลูกแบบยกโคก รากจะหยั่งลงไปถึงระดับน้ำในดินจะทำให้รากเน่าตายได้
การปลูกฝรั่งด้วยกิ่งตอนชำ
ตามธรรมดาฝรั่งที่ขยายพันธุ์ โดยการตอนกิ่งนั้นมัก จะมีกิ่งระเกะระกะมากมาย บางทีบางกิ่งก็มีกิ่งเล็กๆ ตั้ง 4-5 กิ่งและส่วนมากเกษตรกรรมักจะเสียดายกิ่งและไม่อยากตัดกิ่งออกทิ้งก็มีแต่กิ่งไม่มีลำต้น ดังนั้น เมื่อฝรั่งให้ผล กิ่งมักจะโน้มลงดินจะต้องใช้ไม้ค้ำไว้ แต่ถ้าหากได้มีการตัดแต่งกิ่งฝรั่งที่อยู่โคนๆ ออกเสียบ้างเหลือกิ่งที่อยู่ตอนบนยอดเพียง 2-3 กิ่ง ก็จะทำให้ต้นฝรั่งมีลำต้น เมื่อฝรั่งออกผล ก็ไม่ต้องใช้ไม้ค้ำกิ่งดังกล่าวมาแล้ว เป็นการทุ่นค่าแรงและค่าใช้จ่ายอีกด้วย
การปฏิบัติบำรุงรักษา
1. การรดน้ำ เมื่อหลังจากปลูกต้นฝรั่งแล้ว ถ้าฝนตกก็ไม่ต้องรดน้ำ และถ้ามีฝนตกหนักก็ควรจะทำการระบายน้ำออกเสีย ถ้าฝนไม่ตก 5-7 วัน ถึงแม้จะเป็นฤดูฝนก็ควร รดน้ำ 3-4 วัน ต่อครั้งหนึ่ง การรดน้ำว่าจะพอแก่ความต้องการของต้นฝรั่งหรือไม่ ให้สังเกตความชุ่มชื้นของดินประกอบ
ด้วย เมื่อฝรั่งโตจนออกดอกออกผลแล้ว ในระยะนี้ควรให้น้ำตลอดไป เว้นไว้ตอนที่ก่อนฝรั่งจะออกดอกจนถึงติดผลประมาณ 1-2 เดือน เพราะถ้าให้น้ำต้นฝรั่งตอนนี้จะทำให้ฝรั่งแตกใบอ่อน กว่าใบอ่อนจะแก่กินเวลา 1 เดือนบางทีก็เลย ไม่ออกดอกเลยก็มี การรดน้ำหลังจากที่ฝรั่งให้ผลแล้ว จึงให้น้ำและค่อยๆ ทวีขึ้นตามความต้องการของต้นฝรั่ง
2. การกำจัดวัชพืช ตามธรรมดาวัชพืชมักเกิดขึ้นมา คอยแย่งอาหารของต้นฝรั่งอยู่เสมอ ควรจะหาทางป้องกันและกำจัดวัชพืชที่จะเกิดขึ้นมาคอยแย่งอาหารเสีย โดย
-หมั่นทำการถางวัชพืชที่เกิดขึ้นมาอยู่เสมอๆ
-พ่นยาป้องกันกำจัดวัชพืช
-ปลูกพืชแซม เพื่อจะได้ใช้ที่ดินที่ว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์เป็นการช่วยมิให้วัชพืชเกิดขึ้นด้วย และยิ่งกว่านั้นแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการปลูกพืชแซมก็คือ เมื่อมีการปลูกพืชก็มีการพรวนดินใส่ปุ๋ยและรดน้ำต้นฝรั่งก็จะได้ผลพลอยได้จากการปลูกพืชแซมด้วย
-ปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดิน เช่น เซนโทรีซีมาเพอราเรีย คลุมดินไว้ จะเป็นการช่วยป้องกันมิให้เกิดวัชพืชขึ้นได้ และยิ่งกว่านั้นปมของพืชตระกูลถั่วยังสามารถดึงเอาธาตุไนโตรเจนจากอากาศมาไว้ในปมของพืชตระกูลถั่วในดินด้วย
3. การพรวนดิน เมื่อได้ปลูกฝรั่งลงในดินแล้ว ควรหมั่นพรวนดินอยู่เสมอ เพราะการพรวนดินนอกจากจะทำให้ดินร่วนโปร่ง อากาศเข้าไปในดินแล้ว ยังเป็นการช่วยทำลายวัชพืชอีกด้วย แต่การพรวนดินนั้น จะต้องคอยระวังอย่าพรวนให้ลึกลงไปติดรากของฝรั่งขาดได้ เพราะจะทำให้ต้นฝรั่งชะงักงัน ฉะนั้นทางที่ดีควรพรวนดินให้ห่างๆ ต้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้รากของต้นฝรั่งขาด เมื่อพรวนดินแล้วควรจะรีบใส่ปุ๋ยเสียด้วย
4. การใส่ปุ๋ยนั้นควรใส่ทุกๆ ปี และควรจะเริ่มใส่ตั้งแต่เริ่มปลูกเลยทีเดียว การใส่ปุ๋ยนั้นควรจะทำดังนี้
-ควรใส่ปุ๋ยในระยะที่ยังไม่ได้ผล ได้ปีละ 3 ครั้งและให้ผลแล้วปีละ 2 ครั้ง
-ควรใส่ปุ๋ยคอกและปุ๋ยเคมีควบคู่กันไป เพื่อดินจะได้มีสภาพดีอยู่เสมอ
-ใช้พืชตระกูลถั่วฝังรอบๆ ทรงพุ่มของดินแล้วกลบดิน เพื่อให้พืชตระกูลถั่วเน่าเปื่อยผุพัง แล้วกลายเป็นอาหารของต้นฝรั่ง
การใส่ปุ๋ยในปีที่ 1 ใส่ครั้งแรกเมื่อเริ่มปลูกใส่ปุ๋ยคอก 1 ½ 7 บุ้งกี๋ และปุ๋ยเคมี 200 กรัม ใส่ครั้งที่  2 เมื่อปลูกได้ 4 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี 200 กรัม ใส่ครั้งที่ 3 เมื่อปลูกได้ 8 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี 200 กรัม
การใส่ปุ๋ยในปีที่ 2 ใส่ครั้งแรกเมื่อได้ปลูกได้ 12 เดือน ใส่ปุ๋ยคอก 1 ½ บุ้งกี๋ ปุ๋ยเคมี 400 กรัม ใส่ครั้งที่สองเมื่อปลูกได้ 16 เดือน ใสปุ๋ยเคมี 400 กรัม ครั้งที่ 3 เมื่อปลูกได้ 20 เดือน ใส่ปุ๋ยเคมี 400 กรัม
การใส่ปุ๋ยในปีที่ 3 ใส่ปุ๋ยคอก 3 บุ้งกี๋ แล้วใส่ปุ๋ยเคมี 3 ครั้งๆ ละ 800 กรัม
การใส่ปุ๋ยในปีที่ 4 ใส่ปุ๋ยคอก 4 บุ้งกี๋ แล้วใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้งๆ ละ 2 กิโลกรัม
การใส่ปุ๋ยในปีที่ 5 ใส่ปุ๋ยคอก 5 บุ้งกี๋ แล้วใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้งๆ ละ 2.5 กิโลกรัม
การใส่ปุ๋ยเคมีในปีที่ 4-5-6 และปีต่อๆ ไปนั้น ให้ใส่เมื่อเก็บผลแล้วและตกแต่งกิ่งแล้ว 1 ครั้ง และใส่ตอนติดผลแล้วอีก 1 ครั้ง ถ้าอายุของต้นฝรั่งมากขึ้น ก็ให้ใส่ปุ๋ยเพิ่มขึ้นปีละ 1 กิโลกรัม เรื่อยๆ ไป และใส่ครั้งละครึ่งหนึ่งของจำนวนที่ใส่เต็มปี และในทำนองเดียวกันปุ๋ยคอกก็ต้องใส่เช่น เดียวกับปุ๋ยเคมี ชนิดของปุ๋ยเคมีที่จะใส่ให้ดินฝรั่งควรใช้สูตร 5-7-8
การดูแลและบำรุงรักษา
ฝรั่งเป็นผลไม้ที่เจริญเติบโตเร็ว เพราะฉะนั้นเมื่อเริ่มปลูกควรใส่ปุ๋ยและรดน้ำให้ต้นฝรั่งชุ่มชื้นอยู่เสมอ อย่างน้อย 3- 4 วันต่อครั้ง เว้นไว้เสียแต่วันฝนตก เพราะเป็นการช่วยให้ต้นฝรั่งโตเร็วขึ้น และในระยะนี้ควรจะได้ฉีดยาป้องกัน และกำจัดโรคแมลงไว้เสียทุกๆ 10 วัน จะช่วยป้องกันโรค และแมลงได้ ยาที่ใช้ฉีดนั้นควรเป็นยาชนิดที่เป็นอันตรายแก่ผู้ใช้น้อย เช่นใช้ดีลดริน 50 % W.P. หรือยาคาบาริล 85 % โดยใช้ยาดีลดรินหรือยาคาบาริล 2 ช้อนแกง ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดเพื่อป้องกันแมลง และใช้ยาคูปราวิท 2 ช้อนแกง ผสมน้ำ 1 ปี๊บฉีดเพื่อป้องกัน และในฤดูแล้งคลุมโคนดินด้วยหญ้าและฟางแห้ง เพื่อสงวนความชุ่มชื้นไว้ในดิน แต่การคลุมดินนั้น อย่าคลุมให้ชิดโคนต้นมากนัก เพราะจะทำให้แมลงเข้าไปอาศัยที่โคนต้นและทำอันตรายโคนต้น ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดโรคขึ้นมาภายหลังได้ ฟางหรือหญ้าที่ใช้คลุมให้ห่างโคนต้นประมาณ 09-50 เซ็นติเมตร การคลุมโคนนี้ควรให้เลยทรงพุ่มของต้น เพราะรากของพืชที่ดูดน้ำและอาหารไปเลี้ยงลำต้นนั้นอยู่ที่ปลายทรงพุ่ม
การตัดแต่งกิ่ง
การตัดแต่งกิ่งฝรั่งนั้น ควรตัดแต่งกิ่งตั้งแต่เริ่มปลูกทีเดียว เพราะฝรั่งที่นำปลูกนั้นส่วนมากเขาใช้กิ่งตอนมาจำหน่าย และกิ่งที่ตอนนั้นก็มักจะมีหลายๆ กิ่งอยู่ในกิ่งเดียวกัน และเมื่อนำไปปลูกทั้งๆ ที่มีกิ่งมากๆ มิได้มีการตกแต่งกิ่งกันเลย พอต้นฝรั่งโตขึ้นก็มีแต่กิ่งไม่มีลำต้น ฉะนั้น เมื่อฝรั่ง ออกผลกิ่งจะโน้มลงมาถึงดิน บางครั้งทำให้ผลติดกันและทำให้ผลเน่าเสียได้ และบางครั้งทำให้กิ่งหักและฉีกได้ ฉะนั้น ควรทำการตัดแต่งกิ่งเสียก่อนเริ่มปลูกโดยตัดแต่งกิ่งที่อยู่ตอนล่างออกเสียให้หมด ให้เหลือกิ่งล่างที่สุดอยู่ห่างจากโคนต้น ประมาณ 18 นิ้ว การตัดแต่งกิ่งในระยะแรกเป็นการช่วยสร้างร่างให้ต้นฝรั่งได้รูปได้ทรง แต่การตัดแต่งกิ่งนี้ควรทำทุกๆ ปีๆ ละ 1 ครั้ง เป็นอย่างน้อย ถ้าเป็นต้นฝรั่งที่ยังไม่ให้ผล ควรทำการตัดแต่งกิ่งก่อนจะถึงฤดูแล้ง ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยป้องกันการระเหยของน้ำจากใบไปด้วย แต่การตัดแต่งกิ่งอาจทำได้ตลอดปี ก็คือกิ่งที่เป็นโรค กิ่งตาย กิ่งงอ กิ่งฉีก กิ่งหัก  และกิ่งไขว้กัน การตัดแต่งกิ่งนั้น เมื่อตัดแล้วควรใช้สีทาบ้าน หรือปูนกินกับหมาก หรือยาคูปราวิท ละลายน้ำให้ข้น ทารอย แผลที่ตัดไว้ เพื่อป้องกันโรคที่จะเข้ามาทางแผล ส่วนการตัดแต่งกิ่งฝรั่งที่ให้ผลแล้วนั้น ควรตัดแต่งกิ่งเมื่อเก็บผลหมดแล้ว และเมื่อตัดแต่งกิ่งแล้ว ควรจะพรวนดินใส่ปุ๋ย และฉีดยาป้องกันโรคและแมลงไว้ด้วย
โรคและแมลง
ฝรั่งมีโรครบกวนเพียง 2-3 ชนิดเท่านั้น คือ
1. โรคราดำ (sooty mold) ปกติราดำเกิดขึ้นทั่วๆ ไป เนื่องจากแมลงจำพวกเพลี้ยต่างๆ เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยหอย ราดำนี้จะอาศัยมูลของแมลงต่างๆ เป็นอาหารและอาศัยอยู่ตามผิว  มิได้หยั่งรากลงไปดูดแย่งอาหารจากต้นฝรั่งแม้แต่ประการใด ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า ราดำมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายให้แก่พืชโดยตรง นอกจากในกรณีที่ขึ้นอยู่หนาแน่นอาจทำให้พืชปรุงอาหารไม่ได้เต็มที่เพราะแสงสว่างจะผ่านเข้าไปไม่ได้ เพราะราดำกำบังไว้เป็นการถ่วงความเจริญของต้นฝรั่ง หรือทำให้ต้นฝรั่งออกดอกออกผลน้อย ผลสุกช้า สีไมค่อยสมํ่าเสมอ ผิวไม่สวยขายไม่ได้ราคา ฝรั่งที่มีราดำขึ้นจะสังเกตเห็นได้ชัดเจนจากดอกหรือแผ่นของเชื้อราสีดำๆ ตามผล กิ่งและใบฝรั่ง เนื่องจากราชนิดนี้เจริญอยู่เพียงผิวๆ มิได้เจาะไชเข้าไปในเนื้อ ใช้ฝ่ามือลูบก็อาจหลุดได้ง่าย ในที่อากาศแห้งแล้งหรือหมดอาหาร รานี้จะหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ ราดำอาจเกิดจากเชื้อราหลายชนิดด้วยกัน
การป้องกันกำจัดราดำ ควรทำการกำจัดแมลงที่จะถ่ายมูลออกมาให้เป็นอาหารของรานี้ก่อนแล้วจึงใช้คูปราวิทฉีดก็จะช่วยป้องกันโรคราดำนี้คูปราวิทที่จะใช้ฉีดควรใช้ 2-3 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ
2. โรคใบจุด (Leat Spot) โรคนี้เกิดจากเชื้อราจำพวก Cercospora sp. ใบจะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ เป็นหย่อมๆ ตามใบฝรั่ง เมื่อนานเข้าจุดสีน้ำตาลเล็กๆ นี้จะเป็นจุดสีน้ำตาลขนาดใหญ่ แล้วจะทำให้ใบหลุดร่วงไป โรคนี้ใช้ยาป้องกันโรคพืชบางชนิดฉีดป้องกันไว้ เช่นคูปราวิทและออโทไซด์ ฯลฯ เป็นต้น
แมลง (insect) แมลงที่ทำอันตรายให้แก่ต้นฝรั่งมีมากมาย จำนวนหลายชนิดด้วยกัน คือ
1. เพลี้ยแป้ง (Mealy bug) ตัวเป็นปุยสีขาวเวลาบี้ จะมีสีเลือด แมลงชนิดนี้มักจะเกาะอยู่ตามขั้วผล ยอดอ่อน และตามก้านใบ เพื่อดูดน้ำเลี้ยง ซึ่งทำให้ผลฝรั่งร่วงได้ และใบจะเหี่ยวเฉากำจัดได้โดยใช้ยามาลาไธออน (Malathion) 2 ชนิดต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดให้ถูกตัว
2. เพลี้ยหอย (scale insects) แมลงจำพวกนี้มักจะเกาะตามผล ใบและกิ่ง ถ้าเกาะตามใบและกิ่งอาจทำให้ใบแห้งตายได้ กำจัดด้วยมาลาไธออน (Malathion)
3. เพลี้ยอ่อน (Aphids) โดยมากมักชอบอาศัยเกาะ และดูดน้ำเลี้ยงตามยอดอ่อนและใบอ่อนของฝรั่งที่เริ่มผลิตออกมาใหม่ๆ ซึ่งอาจทำให้ยอดเหี่ยวเฉาและใบหงิกงอไม่เจริญเติบโต กำจัดด้วยยาออลดรินคลอเรน ลินเดน และคาบาริล
4. แมลงค่อมทอง (Gveen Weevil) เป็นพวกแมลงปีกแข็ง แมลงจำพวกนี้มักทำลายใบอ่อนของฝรั่ง กำจัดโดยใช้ยาออลดรินคลอเรน ลินเดน และคาบาริล
5. หนอนกินใบฝรั่ง (Leaf eatting caterpillar) เกิดจากผีเสื้อวางไข่ตามใบฝรั่ง เมื่อไข่เจริญตัวออกมาเป็นตัวหนอนแล้วก็จะกัดกินใบฝรั่งเป็นอาหาร การกำจัดใช้ออลดรินคลอเรน มาลาไธออนหรือคาบาริล
6. หนอนเจาะกิ่ง (stem borer) หนอนจำพวกนี้มีลักษณะตัวสีชมพู มีตัวดำๆ เจาะกิ่งฝรั่งทำให้กิ่งฝรั่งหักและห้อยอยู่ตามต้นฝรั่งทั่วๆ ไป หนอนชนิดนี้เกิดจากผีเสื้อกลางคืนชนิดหนึ่งมาวางไข่ไว้ตามกิ่งฝรั่ง วิธีป้องกัน ตัดกิ่งที่ถูกทำลายเผาเสียและฉีดยากำจัดด้วยดีลดริน ป้องกันไว้ทุก 10 วัน
7. หนอนชอนใบ (Leaf miner) หนอนชนิดนี้เป็นหนอนของผีเสื้อชนิดหนึ่ง จะวางไข่ใต้ผิวของใบอ่อน แล้วไข่จะเจริญเป็นตัวหนอนกัดกินใบเป็นทางขาวๆ มองดูเป็นทาง คราบเป็นมัน ใบอ่อนที่ถูกหนอนชอนไชทำลายจะหงิกงอไม่น่าดู รอยแผลที่หนอนชอนไชทำลาย ต่อมาจะกลายเป็นสีน้ำตาล ในขณะที่หนอนอยู่ใต้ผิวใบ การกำจัดทำได้ยากมาก ทางที่ดีควรใช้พวกยามาลาไธออน ฉีดป้องกันเสียก่อน ตอนที่ใบอ่อนแตกใบอ่อนทุกครั้งไป
8. หนอนไชผลฝรั่ง (Frait Fly) เกิดจากแมลงวันผลไม้ชนิดหนึ่งมีหลอดวางไข่พิเศษ มาวางไข่บริเวณผลฝรั่งนั้น ขณะที่ผลฝรั่งยังเล็กอยู่ ไข่จะฟักตัวเป็นหนอนสีขาว ไม่มีขา อาศัยอยู่ในแผลฝรั่ง แล้วจะทำให้ฝรั่งหล่นลง
การเก็บผลฝรั่ง
ฝรั่งที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าบางชนิดอายุ 8-9 เดือน ก็ให้ผล บางชนิดอายุ 2 ½  ก็ให้ผล แต่การให้ผลในระยะแรกนั้นจะให้ผลน้อย จะได้ผลเต็มที่เมื่ออายุได้ 8 ปี จะได้ผลปริมาณ 1,000-1,500 ผลต่อต้น ตามธรรมดาฝรั่งจะให้ผลปีละ 2 ครั้ง โดยจะออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์และ มีนาคม และเก็บผลได้ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม และถ้าออกดอกในเดือนเมษายน พฤษภาคม จะเก็บผลได้ในเดือนสิงหาคมและกันยายน รวมระยะของการเป็นผลของฝรั่งแต่ละภาคนั้นอาจช้าหรือเร็วกว่าในเดือนที่ได้กล่าวมาแล้วก็ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะดินฟ้าอากาศไม่เหมือนกัน
การเก็บผลนั้น เมื่อผลแก่จัดเต็มที่แล้ว ฝรั่งที่ยังอ่อน ผิวเขียว เมื่อเริ่มแก่สีเขียวจะจางลงไป ถ้าปล่อยไว้ให้สุกจนมีผิวสีเหลือง สุกคาต้นอาจมี มด ค้างคาวมาเจาะกิน การเก็บควรใช้บันไดชนิดมีขาตั้งหรือจะใช้พะองพากกิ่งแล้วขึ้น พะองใช้กรรไกรตัดใต้ขั้วผล จะทำให้น่ารับประทานขึ้นกว่าที่จะเด็ดหรือสอยเอามาโดยไม่มีขั้วติดมาด้วย
ประโยชน์ของฝรั่ง
ใช้เป็นอาหารว่างรับประทานกับพริกกับเกลือ เมื่อฝรั่งแก่จัดเต็มที่แต่ยังไม่สุก นอกจากนั้นใช้ทำแยมและคั้น ในต่างประเทศเขาใช้ฝรั่งที่สุกแล้วเอามาคั้นเอาน้ำ เรียกกันว่า น้ำฝรั่งคั้น (Guavajuice) ใช้สำหรับเป็นเครื่องดื่ม