การปลูกฝ้าย

GOSSYPIUM SPP.
ฝ้ายเป็นพืชที่ให้วัตถุดิบ สำหรับผลิตปัจจัยในการดำรงชีวิตประเภทเครื่องนุ่งหุ่ม และเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวของประเทศไทยที่กำลังผลิตมีแนวโน้มไปทางตรงกันข้ามกับความต้องการของตลาดภายใน และต่างประเทศอยู่เกือบตลอดเวลา ฝ้ายที่ถูกปลูกในประเทศไทยเดิมเป็นฝ้ายพื้นเมือง มีลักษณะลำต้นผอมสูงไม่แตกพุ่ม ปุยสั้นหยาบไม่เหมาะกับการอุตสาหกรรม เมื่องทางราชการเริ่มสนใจการส่งเสริมฝ้ายก็ได้แสวงหาพันธุ์ฝ้ายต่างๆ มาทดลองปลูก ปรากฎว่าฝ้ายที่ได้จากประเทศเขมรเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ และได้ผลดีดังที่เคยได้ยินกันมาเป็นเวลานานว่า ต่อมาได้มีการศึกษาวิจัยด้วยวิธีการคัดเลือกพันธุ์ ผสมพันธุ์ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่มีคุณสมบัติดียิ่งขึ้น
การเลือกที่ดิน
แม้ว่าฝ้ายจะขึ้นได้ในดินทรายทุกชนิด แต่ฝ้ายจะไม่งอกงามดีในดินที่เป็นทรายจัดและดินเหนียวจัด หรือดินลูกรัง ฝ้ายชอบขึ้นในดินร่วนปนทราย หรือดินเหนียวปนทรายเป็นที่ลาดเขา น้ำไม่ขัง ถ้าเป็นที่ราบจะต้องมีทางระบายน้ำ ดินที่เปิดป่าใหม่และดินที่มีความสมบูรณ์ มีอาหารพืชสูง จะทำให้ต้นฝ้ายงามเกินควรอาจเป็นเหตุให้เกิดมีสมอร่วง ติดสมอน้อย ผลผลิตต่ำ และทำให้ต้นฝ้ายล้มได้ง่าย ดินที่เคยใส่ปุ๋ย เช่น ปุ๋ยคอกกับพืชอื่นมาก่อนแล้วปลูกฝ้ายตาม นับว่าเป็นดินที่เหมาะแก่การปลูกฝ้าย ถ้าปลูกฝ้ายตามหลังในไร่ที่เคยปลูกข้าวโพดและอ้อยที่ใช้ปุ๋ยมาก่อน ฝ้ายจะให้ผลดีเป็นสองเท่า โดยทั่วไปฝ้ายจะให้ผลดีเมื่อปลูกตามหลังในไร่ที่เคย ปลูกข้าวโพด หรือไร่ที่เคยปลูกพืชตระกูลถั่วมาก่อน ฝ้ายขึ้นได้ดีในดินที่มีลักษณะเป็นกรดอ่อนปานกลางจนถึงด่างอ่อนๆ คือมี PH. อยู่ในระหว่าง 5.2-8.0
การเตรียมดิน
การเตรียมดินปลูกฝ้ายนั้น ควรไถแล้วพรวนย่อยดินให้ละเอียด เกลี่ยให้เรียบสม่ำเสมอ เตรียมไว้ก่อนปลูก 10 ถึง 15 วัน ถ้าเป็นดินเหนียว ควรไถ 2 ครั้ง และพรวน 2 ครั้ง ถ้าไถเพียงครึ่งเดียวแล้วหยอดเมล็ดปลูกเลย มักจะมีวัชพืชมากเป็นการเพิ่มภาระในการกำจัดวัชพืชในภายหลัง ดังนั้นการเตรียมดินจึงควรไถ 2 ครั้ง และพรวน 2 ครั้งเตรียมดินเสร็จแล้ว รอให้ฝนตกดินยุบ แล้วจึงไถเปิดร่อง หรือเปิดหลุมปลูก หากเตรียมดินแล้วหยอดเมล็ดเลยก่อนฝนตก เมื่อฝนตกภายหลังจะทำให้กินกลบเมล็ดลึกเกินไป เมล็ดฝ้ายถูกดินทับมากเกินควร จะทำให้ฝ้ายออกน้อย
พันธุ์ที่ใช้ปลูก
ฝ้ายที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องการ มีอยู่ 2 พันธุ์ คือ พันธุ์รีบา บีทีเค 12 สำหรับปลูกในเขตที่มีโรคระบาด เช่น โรคใบหงิก และพันธุ์ เควต้าไพนีสมูทลีฟ สำหรับปลูกในเขตที่มีโรคใบหงิก
ฤดูปลูก
ฤดูปลูกของฝ้ายจำกัดมาก คือต้องปลูกให้ฝ้ายสมอแก่แตกในฤดูแล้ง ฉะนั้นเวลาที่เหมาะแก่การปลูกฝ้ายจึงอยู่ในระหว่างเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนสิงหาคม ซึ่งจะช่วยให้ต้นฝ้ายได้รับฝนดีเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน คือเดือนสิงหาคม กันยายน ตุลาคม สมอจะเริ่มแตก และต้นฝ้ายมีอายุประมาณ 110-120 วัน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม ดังนั้นการปลูกฝ้ายจะกำหนดว่าควรปลูกฝ้ายในเดือนใดนั้น ต้องคำนึงถึงการเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ เพราะช่วงเวลาที่ฝ้ายแตกสมอจะต้องทันฤดูฝน แล้วเวลาการปลูกฝ้ายในแต่ละท้องถิ่น จึงขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ ดังนั้นการปลูกฝ้ายของแต่ละภาคแต่ละท้องถิ่นจึงไม่เหมือนกัน คือ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปลูกปลายเดือนมิถุนายน ถึงต้นเดือนกรกฎาคม
ภาคกลางและภาคเหนือ ปลูกตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนกรกฎาคม
ภาคกลางตอนใต้ปลูกตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม จนถึงต้นเดือนสิงหาคม
การวางแถวปลูกฝ้าย
การปลูกฝ้ายจะต้องปลูกเป็นแถว การปลูกเป็นแถว จะช่วยให้การปฏิบัติงาน เช่นดายหญ้า พรวนดิน การพ่นยา ฆ่าแมลงตลอดจนการเก็บเกี่ยวสะดวกขึ้น การวางแถวปลูกต้องวางไปตามลำดับ เพราะจะช่วยป้องกันการชะล้างดินโดยน้ำฝนได้ นอกจากนั้นยังจะช่วยให้การเดินพ่นยาฆ่าแมลงสะดวกยิ่งขึ้น
ระยะปลูก
ให้ปลูกระยะระหว่างหลุม 50 ซม. หรือ 1 ศอก ระยะระหว่างแถวห่างกัน 100-125 ซม. หรือประมาณ 2 ศอก แต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยถือหลักว่าดินเลวปลูกถี่ ดินดีปลูกห่าง ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะมีฝ้ายรวมทั้งสิ้น 2,460- 3,200 หลุม ในเนื้อที่ 2 ไร่ จะใช้เมล็ดพันธุ์ฝ้าย 1.5-2.00 กิลิกรัม

วิธีปลูก
ใช้จอบขุดดินเปิดหลุมให้ลึกราว 2 นิ้วฟุต หรือไถเปิดร่อง แล้วหยอดเมล็ดฝ้ายลงในหลุม โดยไถเปิดร่องให้เป็นเส้นตรง ตามระยะแถวที่กำหนดไว้ การที่ต้องปลูกเป็นแถวก็เพื่อให้สะดวกต่อการพ่นยาเมื่อฝ้ายโตแล้ว การหยอดเมล็ดฝ้ายควรหยอดหลุมละ 5-6 เมล็ด แล้วกลบดินทับเมล็ดให้หนาราว 2 นิ้ว ไม่ควรปลูกโดยใช้วิธีหว่านเมล็ดเป็นอันขาด เพราะฝ้ายจะขึ้นไม่เป็นแถว พ่นยาไม่สะดวก จะทำให้ผลผลิตต่ำ ถ้าที่ดินเป็นที่ลาดเขา ควรปลูกให้แถวขวางพื้นที่ ไม่ควรวางแถวปลูกไปตามพื้นที่ลาดเท เพราะเวลาฝนตกน้ำจะเซาะพังทลาย ทำให้ต้นฝ้ายล้มได้ง่าย เวลาพ่นยาผู้พ่นยาจะเหนื่อยเร็วขึ้น เพราะต้องเดินขึ้นลงตามแถวที่ปลูก
การปลูกซ่อม
เพื่อให้ผลผลิตที่แน่นอนตามจำนวนที่กำหนดไว้ จึงได้กำหนดระยะปลูกและจำนวนต้นไว้ดังกล่าวแล้ว ในเนื้อที่ต่อไร่ ฉะนั้นเมื่อฝ้ายออกขึ้นทั่วไปแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ให้ตรวจดูหลุมใดไม่ขึ้นให้รีบหยอดเมล็ดซ่อมใหม่ทันทีภายในไม่เกิน 7-10 วัน เพื่อให้ต้นฝ้ายโตได้ขนาดทันกันโดยเร็ว
เมื่อฝ้ายมีอายุได้ 15 วัน หรือ 2 สัปดาห์ ต้องทำการดายหญ้ากำจัดวัชพืชเป็นครั้งแรก แล้วเกลี่ยดินกลบเข้าหาโคนต้นฝ้ายเสียด้วย เมื่อดายหญ้ากลบโคนต้นเสร็จแล้วให้พ่นยากำจัดแมลงศัตรูฝ้ายตามที่กำหนดไว้เป็นครั้งที่หนึ่ง เมื่อฝ้ายมีอายุได้ 4 สัปดาห์ ให้ถอนต้นฝ้ายที่เป็นโรคและไม่งอกงาม โดยให้เหลือหลุมละ 2 ต้น ต่อไปอีกราว 2 สัปดาห์ คือ ขณะที่ฝ้ายมีอายุได้ 6 สัปดาห์ ให้ถอนเหลือหลุมละ 1 ต้น โดยพิจารณาถอนต้นที่เป็นโรคและไม่งอกงามเช่นกัน วิธีนี้จะช่วยทำให้เปอร์เซ็นต์การเป็นโรคน้อยลง นอกจากนี้การเหลือฝ้ายไว้เกินหลุมละ 1 ต้น จะทำให้ฝ้ายเมื่อโตขึ้นจะแตกกิ่งก้านแน่นเกินไป ทำให้พ่นยายาก และเป็นโรคง่าย ติดสมอ น้อย และได้ผลผลิตต่ำอีกด้วย
การดายหญ้าและกำจัดวัชพืช ต้องทำให้ทันกับความเจริญเติบโตของฝ้าย มีฉะนั้นต้นฝ้ายจะลีบเล็กแตกกิ่งก้านน้อย ถ้าได้เตรียมดินก่อนปลูกไว้เรียบร้อยดี จะมีวัชพืชขึ้นเพียงเล็กน้อย การดายหญ้าอาจทำเพียง 2 ครั้งก็พอ แต่ถ้าเตรียมดินก่อนปลูกไม่ดีมีวัชพืชขึ้นมากอาจต้องทำการดายหญ้าถึง 3 ครั้งดังนี้
ครั้งที่หนึ่ง ดายหญ้าเมื่อฝ้ายมีอายุ 15 วัน
ครั้งที่สอง ดายหญ้าเมื่อฝ้ายมีอายุ 42 วัน
ครั้งที่สาม ดายหญ้าเมื่อฝ้ายมีอายุ 63 วัน
การดายหญ้านี้มีความสำคัญมาก เพราะนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้วัชพืชมาแย่งอาหารและแสงแดดต้นฝ้ายแล้ว ยังจะช่วยให้การพ่นยากำจัดแมลงศัตรูได้ผลดีขึ้น เพราะไม่มีหญ้ามาเกะกะขวางทางเดิน และแมลงศัตรูก็ไม่มีที่อาศัย เพื่อหลบหนีการพ่นฉีดยา
โรคฝ้ายที่สำคัญ ได้แก่
1. โรคเมล็ดเน่า เกิดจากเชื้อราบางชนิด ทำให้เมล็ดเน่า
2. โรคเน่าคอดินของกล้า เกิดจากเชื้อราเช่นกัน กล้าเจริญเติบโต แต่ที่โคนต้นโดยรอบกลับเน่า และหักล้มในเวลาต่อมา
3. โรคใบจุดเหลี่ยม  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่น อากาศไม่ร้อนจัดและมีฝนตกชุก เหล่านี้จะขยายรวมไปทั่วแม้กระทั่งเส้นใบ ทำให้ปริมาณการสังเคราะห์แสงถูกตัดไปเป็นอันมาก ฝ้ายจะไม่งาม การเจริญเติบโตอาจถึงหยุดชงักไป
4. โรคกิ่งดำ  เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเช่นเดียวกันกับที่ทำให้เกิดใบจุดเหลี่ยม ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะแก่การเจริญเติบโตของโรค เช่นมีฝนชุก จะเห็นกิ่งบางกิ่งมีสีดำบิดเบี้ยวและหักง่าย นอกจากนี้ยังเกิดขึ้นกับก้านสมอทำให้หักง่ายอีกด้วย
5. โรคใบหงิก เกิดจากเชื้อวิสาชนิดหนึ่ง โดยมีเพลี้ยอ่อนเป็นพาหนะ ทำให้การระบาดของโรคเป็นไปได้มากและรวดเร็ว
6. โรคสมอเน่า มูลเหตุเกิดจากเชื้อชนิดเดียวกับโรคใบจุดเหลี่ยมและกิ่งดำ ทำให้สมอเน่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่อากาศมีความชื้นสูงมากๆ หรือมีฝนตกติดต่อกันเป็นเวลานานๆ
การใช้ยาป้องกันกำจัดโรคฝ้าย
โรคเมล็ดเน่า ใช้ยาคลุกเมล็ด P.C.N.B 75% หรือ ไวตาแว็กซ์ 75% ในอัตรา 15 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
โรคโคนต้นอ่อนเน่า ใช้ยา P.C.N.B. 75% หรือไวตาแว๊กซ์ 75% หรือไวตาแว๊กซ์ 75% คลุกเมล็ดป้องกันไว้ก่อนในอัตรา 1.5 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม
โรคใบจุดเหลี่ยม ใช้ยาออโธไซด์ในอัตรา 6.7 กรัมต่อเมล็ด 1 กิโลกรัมคลุกเมล็ด ยานี้สามารถคลุกเข้ากันได้กับยา P.C.N.B. 75% ซึ่งเป็นยาป้องกันเมล็ดเน่าและโรคโคนต้นอ่อนเน่า  แต่ถ้าใช้พันธุ์ต้านทานสูง เช่นรีบาบี 50 หรือรีบาดับเบิลยู 296 แล้วก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาออโธไซด์คลุก
โรคกิ่งดำ  ใช้ยาออโธไซด์ในอัตรา 6.7 กรัม ฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ด หรืออยู่ในดินเสียก่อน จะทำให้ปริมาณการเกิดโรคนี้ลดน้อยลง แต่ถ้าใช้พันธุ์รีบาบี 50 หรือรีบาดับเบิลยู 296 แล้ว ยานี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้
โรคสมอเน่า ใช้ยาชนิดเดียวและอัตราเดียวกับโรคใบจุดเหลี่ยม ฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดหรืออยู่ในดินเสียก่อน จะทำให้เชื้อที่เกิดสมอเน่า ในภายหน้ามีปริมาณลดน้อยลง การใช้ฝ้ายที่มีความต้านทานสูง ก็เป็นทางหนึ่งที่จะช่วยให้โรคนี้ลดน้อยลงได้  อย่างไรก็ตามทั้งโรคใบจุดเหลี่ยม โรคกิ่งดำและโรคสมอเน่านั้น เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ต้นฝ้ายได้ตลอดเวลาของการเจริญเติบโต  โดยเชื้อที่ปลิวมากับลมหรือเม็ดฝน ฉะนั้นการป้องกันโรคนี้ด้วยวิธีใช้ยาดังกล่าวนั้น จึงเป็นการป้องกันเมล็ดยังอยู่ในดิน หรือระยะที่ยังเป็นต้นกล้าอยู่เท่านั้น
โรคใบหงิก เนื่องจากเป็นเพลี้ยอ่อนเป็นพาหะและการติดโรคอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การคลุกเมล็ดด้วยยาฆ่าแมลงประเภทดูดซึม และเข้าไปอยู่ในต้นฝ้ายได้นานจะช่วยในการป้องกันกำจัดเพลี้ยอ่อนได้เป็นอย่างดี ยาที่ใช้ได้ผลดีทั้งชนิดคลุกเมล็ด ชนิดเม็ดสำหรับหยอดก้นหลุมและชนิดผง ยาเม็ดชนิดหยอดก้นหลุมได้แก่เทมมิค 10% ไดซิสตอน 10% ใช้ในอัตรา 0.25 กรัม หรือประมาณ 1 ช้อนชาต่อ 2 หลุม ส่วนชนิดที่คลุกเมล็ดเป็นผง ใช้ได้ผลคือ ฟลูมิน 10 แอล 50% โดยใช้ในอัตรา 50 กรัมต่อเมล็ดฝ้าย 1 กิโลกรัม นอกจากนี้เมื่อฝ้ายโตขึ้นและมีอายุได้ 45 วัน จะต้องใช้ยาไดเมทโธเอท 40% ชนิดน้ำมันผสมน้ำในอัตรา 80 C.C. ต่อน้ำ 20 ลิตร  เพราะเพลี้ยอ่อนมีโอกาสนำโรคมาสู่ฝ้ายได้เสมอ การป้องกันโดยวิธีนี้ทำให้เพลี้ยอ่อนที่เป็นพาหะ มีปริมาณน้อยลง และการเกิดโรคย่อมเกิดน้อยลงไปด้วย จากการทดลองพบว่ายาคลุกเมล็ดฟลูมิน 10 แอล ให้ผลดีที่สุด  โดยเฉพาะในแหล่งที่ไม่มีฝนตกในระยะ 3-4 วัน หลังจากการปลูกแล้ว
แมลงศัตรูฝ้าย
ฝ้ายเป็นพืชที่มีแมลงศัตรูมาก เท่าที่สำรวจพบมีมากกว่า 20 ชนิด แต่ชนิดที่เป็นศัตรูสำคัญๆ มีอยู่ราว 10 ชนิดคือ
1. เพลี้ยอ่อน ดูดกินน้ำเลี้ยงและยอดอ่อน
2. เพลี้ยจั๊กจั่น ดูดกินน้ำเลี้ยงและยอดอ่อน
3. หนอนม้วนใบ กัดกินใบและม้วนใบทำรังอาศัย
4. หนอนเจาะยอดและสมอ และเข้าไปกินในยอดทำให้ยอดเหี่ยว และเจาะกินบี้ดอก ตาอ่อนและสมอทุกขนาด
5. หนอนคืบฝ้าย กัดกินใบ มักเกิดขึ้นในระหว่างฝ้ายออกดอกและมีสมออ่อน
6. หนอนเจาะสมออเมริกัน กินใบ บี้ ดอก และสมอ
7. หนอนเจาะสมอสีชมพู กินเกษรดอก และเจาะเข้าไปกัดกินในสมอและเมล็ด ทำให้ปุยฝ้ายสกปรก ราคาต่ำ หีบเอาปุยไม่ได้
8. หนอนเจาะโคนต้น เจาะกินภายในลำต้นตอนใกล้พื้นดิน ทำให้ฝ้ายตายทั้งต้น
9. มวนแดงฝ้าย ดูดกินยอดและสมอ รวมทั้งเมล็ดฝ้ายที่อยู่ในไร่ ทำให้ปุยฝ้ายสกปรก ราคาตกต่ำและเมล็ดปลูกไม่ขึ้น
10. มวนฝ้ายดำ ดูดกินเมล็ดฝ้ายในไร่ เมื่อสมอแตกแล้ว ทำให้ปุยฝ้ายสกปรก ราคาตกต่ำ เมล็ดปลูกไม่ขึ้น
การใช้ยาปราบแมลงศัตรูฝ้าย
ยาสำหรับปราบเพลี้ยฝ้าย เป็นยาประเภทดูดซึมชนิดต่าๆ มีดังนี้
ก. ยาพ่นน้ำ อัตราการผสมน้ำยาต่อน้ำ 20 ลิตร
1. ยาไดเมทโอเอท 40% = 80 c.c.
2. ยาเมตาซิสท๊อกอาริ 28% = 40 c.c.
3. ยาโพลิแมท 50% = 20 c.c.
4. ยาคิลวอล 40% = 80 c.c.
5. ยาแอนสิโอ 25% = 100 c.c
ข. ยาคลุกเมล็ดฝ้าย ใช้ยา 50 กรัม หรือประมาณ 5 ช้อนแกง คลุกเมล็ดฝ้าย 1 กิโลกรัม ก่อนนำเมล็ดฝ้ายไปปลูก คือยาฟลูมิน เอ.แอล. 50% และยาบิวราดาน 75%
ค. ยาชนิดเม็ดหยอดก้นหลุมฝ้าย หยอดหลุมละ 0.25 ถึง 2.50 กรัมต่อไร่ 640-1,280 กรัม หรือประมาณ 64-128 ช้อนแกงต่อไร่ คือยาไดซิสตอน 10% ยาเทมมิค 10% ยาฟลูมิน 10 แอล 10% ยาไดเมท 10% ส่วนยาบิวราดาน 3% หยอดหลุมละกรัม หรือไร่ละ 2.5 กิโลกรัม
อันตรายจากยาพ่นฝ้าย
เนื่องจากเมทิลพาราไธออนและยาไดเมทโซเอท เป็นยาที่มีพิษแรง เมื่อถูกร่างกายและทางอากาศที่หายใจ ผู้ที่ใช้ยาพ่นฝ้ายทั้งสองชนิดดังกล่าว จะต้องระมัดระวังปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในระหว่างการพ่นยาควรปฏิบัติดังนี้
1. สวมหน้ากากและถุงมือยาง ใส่เสื้อปกปิดร่างกายให้มิดชิด ระวังละอองยามิให้เข้าปาก จมูก และถูกร่างกาย
2. เวลาพ่นยา ผู้พ่นต้องอยู่เหนือลม
3. ห้ามสูบบุหรี่ในขณะที่พ่นยา และไม่ควรกินอาหารและเครื่องดื่ม เมื่อพ่นยายังไม่เสร็จ ยังมิได้ล้างมือ
4. เมื่อหัวฉีดอุดตันห้ามใช้ปากเป่า ควรถอดออกใช้น้ำล้าง
5. เมื่อพ่นยาเสร็จแล้ว ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าอาบน้ำชำระร่างกาย ฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้ง เสื้อผ้าที่ใช้ควรซักให้สะอาดด้วย
6. ควรมีน้ำสะอาดและสบู่เตรียมไว้ให้เพียงพอใกล้ๆ ที่พ่นยาเพื่อชำระล้างได้ทันที เมื่อร่างกายถูกน้ำยาเข้มข้น
เมื่อมีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หรือมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นในระหว่างการพ่นยา หรือหลังพ่นยา ให้หยุดพ่นยาเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ที่อยู่ใกล้ที่สุด
7. ภาชนะบรรจุยา เมื่อหมดแล้วให้ทำลายเสีย ห้ามมิให้นำไปใช้บรรจุสิ่งอื่นต่อไป
การเก็บฝ้าย
การเก็บฝ้ายควรลงมือเก็บเมื่อเห็นว่าฝ้ายแตกสมอ ปุยฝ้ายฟูเต็มที่แล้ว ฝ้ายที่แตกสมอดีเก็บง่ายกว่าฝ้ายที่สมอยังแตกไม่เต็มที่ เวลาเก็บควรเลือกเก็บแต่ปุยฝ้ายที่สะอาด ระวังอย่าให้มีเศษใบไม้แห้งติดปนมาด้วย จงเก็บแต่ปุยใบสมอที่แตกมีปุยฟูดีเท่านั้น วิธีเก็บคือ ดึงเอาเฉพาะปุยฝ้ายออกจากกลีบสมอใส่ถุงผ้าหรือผ้าขาวม้าพับตามยาว คล้องไหล่ทำเป็นถุง ฝ้ายที่ปุยสกปรกหรือสมอแตกไม่เต็มที่ ควรเก็บไว้จำหน่ายต่างหาก ไม่ควรรวมกับฝ้ายดี ควรเก็บฝ้ายเมื่อแดดจัดน้ำค้างแห้งแล้ว ไม่ควรเก็บฝ้ายเมื่อปุยยังชื้นอยู่ แต่ถ้าจำเป็นจะต้องเก็บฝ้ายที่ปุยยังเปียกชื้นอยู่จะต้องนำมาผึ่งแดดให้แห้งสนิทเสียก่อนที่จะบรรจุกระสอบเก็บไว้ในยุ้งฉาง
หลังจากเก็บปุยฝ้ายจากต้นหมดทั้งไร่แล้ว จะต้องรีบตัดฟันต้นฝ้ายให้ชิดพื้นดินรวบรวมกองเผาทันที เพื่อทำลายโรคและแมลงที่อาจเล็ดลอดเหลืออยู่ตามต้นฝ้ายเสียให้หมด ไม่ให้มีโอกาสไข่ขยายพันธุ์ต่อไปอีก หากไม่ปฏิบัติดังนี้ แมลงศัตรูฝ้ายจะขยายพันธุ์ต่อไปจนถึงฤดูฝ้ายคราวหน้า และจะระบาดมากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคแก่การปลูกฝ้ายอย่างยิ่ง