การปลูกพริก

ในการปรุงอาหารประจำวันของคนไทย พริกเป็นส่วนประกอบชนิดหนึ่ง ซึ่งจะขาดไม่ได้เลย เพราะพริกช่วยทำให้อาหารมีรสเผ็ด มีสีสันสวยงาม และถูกปากคนไทยมานาน พริกไม่เพียงแต่เป็นที่นิยมบริโภคในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งไปขาย ต่างประเทศนำเงินเข้ามาให้บ้านเมืองเราปีละมาก ๆ จึงจัดได้ว่าพริกเป็นพืชผักที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจพืชหนึ่ง

พริกเป็นพืชในตระกูลเดียวกับมะเขือชนิดต่าง ๆ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกา ต่อมาได้แพร่กระจายไปยังประเทศต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ส่วนในประเทศไทยไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าพริกเข้ามาตั้งแต่เมื่อไหร่

พริกสามารถปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิดที่มีความชื้นพอเหมาะ ไม่แฉะ หรือแห้งเกินไป มีการระบายน้ำดี มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์และต้องแสงแดดตลอดวัน

การแบ่งประเภทของพริก

พริกที่เราพูดถึงรวม ๆ นั้น มีทั้งชนิดที่เผ็ดน้อย เผ็ดมาก ไปจนถึงไม่เผ็ดเลยและมีทั้งพริกเม็ดเล็ก ขนาดกลาง และพริกใหญ่ เช่น พริกยักษ์ พริกหยวก การจัดหมวดหมู่พริกในปัจจุบันนั้นยังค่อนข้างสับสน แต่วิธีที่นิยมใช้กันคือการแบ่งประเภทของพริกตามลักษณะลำต้นได้เป็น 2 พวกดือ

1.พวกยืนต้น เป็นพริกที่มีอายุได้ 2-3 ปี ลักษณะต้นเป็นไม้ถึงพุ่ม ผลเกิดเป็นหมู่หรือเป็นกลุ่ม ขนาดผลเล็ก ลักษณะโคนใหญ่ แล้วเรียวเล็กไปทางปลาย ปลายผลชี้ขึ้น ส่วนใหญ่ผลจะมีสีแดงหรือเหลืองและค่อนข้างเผ็ดมาก เช่น พริกขี้หนูสวน พริกตาบาสโก (Tabasco) เป็นต้น

2.พวกต้นล้มลุก เป็นพริกที่มีอายุสั้น ผลเกิดแบบเดี่ยว ๆ มีทั้งชนิดที่ปลายชี้ขึ้นและปลายขี้ลง และยังแบ่งออกได้เป็นอีกหลายชนิด ซึ่งแตกต่างกันในเรื่องขนาดรูปร่าง และสีผล มีทั้งรสเผ็ดมากเผ็ดน้อย และไม่เผ็ดเลย ส่วนใหญ่พบว่า ขณะที่ผลยังอ่อนอยู่มักมีสีซีด เขียว หรือม่วง เมื่อเวลาผลแก่จัด มักมีสีแดงจัด เหลืองอมส้ม ม่วง หรือสีขาวนวล เช่น พริกยักษ์ พริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู พริกมัน เป็นต้น

การเตรียมดิน

ในแปลงเพาะกล้าควรขุดไถดินให้ลึกประมาณ 15 เซนติเมตร ตากดิน ไว้ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว คลุกเคล้าลงในดิน พรวนย่อยผิวหน้าดินให้ละเอียดแล้วใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 100-200 กรัม/1 ตารางเมตร พรวนกลบลงในดินเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินในแปลงเพาะ

ในแปลงปลูก พริกเป็นพืชที่มีระบบรากลึกปานกลาง ควรขุดไถดินให้ลึกประมาณ 20-25 เซนติเมตร แล้วตากดินไว้ 5-7 วัน ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักที่สลายดีแล้วประมาณ 3-4 ตัน/ไร่ พรวนย่อยชั้นผิวหน้าดิน ถ้าดินเป็นกรดก็ใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพของดินให้พอเหมาะ (PH ประมาณ 6-6.8)

พันธุ์พริก

พริกที่นิยมปลูกในบ้านเรามีทั้งพริกชี้ฟ้า พริกขี้หนู พริกมัน พริกเหลืองฯลฯ ซึ่งเป็นพริกที่เหมาะจะปลูกกับสภาพแวดล้อมในบ้านเรา

1. พันธุ์ห้วยสีทน เป็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่ ผลชี้ขึ้น ผลอ่อนสีเขียวเมื่อ แก่มีสีแดงจัด ทรงต้นตั้งเป็นพุ่มรูปตัววี (V) เมื่อโตเต็มที่สูงประมาณ 1.5 เมตร พริกพันธุ์นี้มีรสเผ็ดมาก และให้ผลดกดี โดยเฉลี่ยพริกสด 1 กก.มี 1,200 ผล ทำเป็นพริกแห้งได้ 0.35 กก. พริกพันธุ์นี้ปลูกได้ดีเกือบทุกสภาพแวดล้อมของประเทศไทย ทนต่อความแห้งแล้งได้ดีเป็นพิเศษ

2.พันธุ์หัวเรือ เป็นพริกขี้หนูเม็ดใหญ่เหมือนกัน ปลูกมากในจังหวัดอุบลฯ มีคุณสมบัติคือปลูกง่าย ให้ผลผลิตสูง มีกลิ่นหอมชวนกินและมีความเผ็ดดี ลักษณะ ผลชี้ขึ้น

3.พันธุ์บางช้าง พริกพันธุ์นี้มีผลใหญ่ยาวเรียวชี้ลงดิน ผิวขรุขระ เมื่อยังอ่อนอยู่มีสีเขียวอ่อน แต่ผลสุกมีสีแดงเข้มเมื่อนำไปตากแห้งผิวจะย่นมาก ลักษณะลำต้นค่อนข้างเตี้ย ใบหนาใหญ่ สีเขียวอ่อน

4.พันธุ์เจแปน (Japan) พันธุ์นี้มีลำต้นสูงโปร่ง ทรงพุ่มกว้าง ผลค่อนข้างใหญ่ชี้ลงดิน ผิวขุขระ ผลดิบสีเขียวอ่อน ผลสุกสีแดง เมื่อตากแห้งมีสีส้ม พันธุ์นี้อ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนสและเป็นโรคใบหงิกมาก

5.พันธุ์เคเยนลองสลิม (Cayenne Long Slim) เป็นพริกชี้ฟ้าพันธุ์หนึ่ง เมื่ออ่อนมีผลสีเขียวแก่ เมื่อผลแก่เปลี่ยนเป็นสีแดงจัด

6.พันธุ์พาสชั่น ไฮบรีด (Bell Boy Hybrid) เป็นพริกยักษ์พันธุ์หนึ่ง ผลมีสีเขียวเข้มถึงสีแดงเนื้อหนา ลำต้นเป็นทรงพุ่มขนาด 51-61 เซนติเมตร

7.พันธุ์บลูสตาร์ไฮบริด (Blue Star Hybrid) พันธุ์นี้เป็นพริกยักษ์ เหมือนกัน ผลมีสีเขียวเข้ม เป็นผลขนาดใหญ่มี 3-4 ลอน เนื้อหนาปานกลาง ต้นตั้งสูง

การเพาะกล้า

หว่านเมล็ดพันธุ์พริกลงในแปลงเพาะให้กระจายทั่วแปลง แล้วหว่าน กลบด้วยปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วให้หนา 0.6-1 ซ.ม.รดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุมด้วยฟาง เมื่อต้นกล้าเริ่มงอกมีใบจริง ควรถอนแยกต้นที่อ่อนแอ เป็นโรคหรือไม่สมบูรณ์ทิ้งไป ควรถอนแยกให้กล้ามีระยะห่างกันประมาณ 10 ชม.และควรให้ ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (KCL) รดเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรงขึ้น

การปลูก

เมื่อต้นกล้าอายุได้ 30-40 วัน ควรทำการย้ายไปปลูกในแปลงปลูกที่ เตรียมไว้ ควรทำการย้ายกล้าในเวลาบ่ายถึงเย็น และควรให้มีดินติดรากมากที่สุด เมื่อปลูกเสร็จแล้วต้องรดน้ำต้นกล้าที่ย้ายมาปลูกใหม่ทันที แล้วใช้ฟางคลุมดินเพื่อช่วยรักษาความชื้น และอาจช่วยพรางแสงให้ต้นกล้าตั้งตัวได้เร็วขึ้นด้วย

การให้น้ำ

การให้น้ำพริกต้องคำนึงอยู่เสมอว่าอย่าให้น้ำมากจนเปียกแฉะเกินไป จะทำให้พริกเหี่ยวตายได้ และก็อย่าปล่อยให้ดินแห้งมาก เพราะพริกจะชะงักการ เจริญเติบโต ในระยะแรกของการเจริญเติบโตควรให้น้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอ เพื่อให้ต้นโตแข็งแรง ส่วนในช่วงเก็บผล ควรลดการให้น้ำลง เพราะถ้าให้น้ำมาก คุณภาพของผลพริกจะไม่ดีเท่าที่ควร

การให้ปุ๋ย

พริกเป็นพืชที่บริโภคส่วนผล จึงควรใช้ปุ๋ยสูตรที่มีไนโตรเจน:ฟอสฟอรัส: โปตัสเซี่ยม เป็น 1:1:1-1.5 เช่น ปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือ 14-14-21 ประมาณ 50-100 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน และควรให้ปุ๋ยยูเรีย 10-20 กก./ไร่ เพื่อเร่งการเติบโตในระยะแรก

การใส่ปุ๋ยสูตรนี้ควรแบ่งใส่ 2 ครั้ง ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นแล้วพรวนกลบลงในดินเมื่อตอนปลูก ครั้งต่อมาใส่เมื่อต้นอายุ 30 วันหลังจากย้ายปลูก ให้ใส่แบบโรยข้างแล้วพรวนกลบลงในดิน ส่วนปุ๋ยยูเรียใส่แบบโรยข้างเมื่อต้นอายุ 10-14 วันหลังจากย้ายปลูก

การพรวนดิน

ในระยะที่ต้นพริกยังเล็กอยู่ควรพรวนดินบ่อย ๆ เพื่อให้ดินระบายน้ำ และถ่ายเทอากาศได้ดีและเพื่อเป็นการกำจัดวัชพืชด้วย เมื่อต้นพริกโตขึ้นทรงพุ่มคลุมปิดผิวดินหมดแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพรวนดินอีกต่อไป

การเก็บเกี่ยว

พริกโดยทั่วไปจะเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุ 60 วันหลังจากย้ายปลูก แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับลักษณะประจำพันธุ์ด้วย ในระยะแรกที่พริกเริ่มให้ผลจะมีผลไม่มากนัก แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆและเมื่อต้นเริ่มแก่ปริมาณผลที่ได้ก็จะลดลงอีก พริกขี้หนูและพริกชี้ฟ้ามีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 70-95 วัน พริกยักษ์มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 60-80 วัน โดยทั่วไปพริกจะให้ผลผลิตได้นาน 6-7 เดือน ถ้าดูแลดี ๆ ก็จะเก็บผล ได้นานถึง 1 ปี

โรคและแมลงศัตรู

โรคที่สำคัญของพริกได้แก่

1.โรคแอนแทรกโนส หรือโรคกุ้งแห้ง เกิดจากเชื้อรามักจะระบาดในระยะที่ผลพริกกำลังเติบโต โดยเฉพาะในที่ ๆ มีฝนตกชุก หรืออากาศชื้นมาก ๆ เชื้อราจะแพร่ได้รวดเร็วทำให้ผลพริกเน่าติดต่อกันเร็วมากกว่าในที่ ๆ มีฝนน้อยกว่า อาการเริ่มแรกของโรคนี้คือจะเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลช้ำและเนื้อเยื่อบนผลบุ๋มลงไปจากเดิม แล้วจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อย ๆ ป้องกันกำจัดได้โดยฉีดยาป้องกันเชื้อรา เช่น ไซเนป มาเนบ หรือเบนโนมิล ทุก 7-15 วัน หรือใช้พันธุ์ต้านทานโรคนี้

2.โรคเหี่ยวจากเชื้อรา หรือโรคหัวโกร๋น โรคนี้เกิดจากเชื้อรา จะเริ่ม จากใบล่างเหี่ยวไล่ขึ้นไปที่ใบบน จนต้นเหี่ยวตาย ถ้าพบต้นที่เป็นโรคนี้ให้ทำลายทิ้งเสีย แล้วใช้ยาเทอราคลอ ราดฆ่าเชื้อในดิน ปรับดินด้วยปูนขาวเพราะเชื้อราชอบดินเป็นกรด เมื่อใส่ปูนขาวแล้วเชื้อราจะไม่อาศัยอยู่

แมลงที่เป็นศัตรูสำคัญของพริกได้แก่

1.เพลี้ยไฟ ระบาดมากในฤดูแล้ง หรือเมื่อฝนต้นฤดูทิ้งช่วงไปนานเพลี้ยไฟจะทำลายยอดอ่อนตาดอก ทำให้แคระแกรน ใบจะห่อปิด ขอบใบม้วนขึ้นข้างบน ต้นไม่โตและผลพริกเสียหาย  ป้องกันกำจัดได้โดยใช้แลนเนท หรือมาซูโรส ฉีดพ่น

ให้ทั่วถึง

2.ไรขาว จะทำให้ยอดและใบพริกหงิกงอใบอ่อนจะหยาบย่นและเป็นคลื่นขอบใบม้วนลงทางด้านล่าง เมื่อพบต้นพริกที่เป็นโรคนี้ควรฉีดพ่นด้วยยากำจัดไรขาว โดยเฉพาะ เช่น เคลเทน ไดโพฟดอล หรือเลบโตฟอส

3.หนอนเจาะผลพริก จะระบาดช่วงปลายฤดูฝน และช่วงที่พริกใกล้จะสุก หนอนจะเจาะเข้าทำลายไส้กลางของผลพริก ทำให้พริกเป็นโพรง