การปลูกพืชเพื่อรักษาหน้าดินและสงวนน้ำ

เกษตรอินทรีย์

ชมรมศิษย์เก่าบูรณชนบทและเพื่อน

ระบบการปลูกพืช มีส่วนสำคัญมาก ในการอนุรักษ์รักษาหน้าดินและน้ำ โดยเฉพาะประเทศที่อยู่ในเขตร้อนและฝนตกชุกอย่างประเทศไทย มีการย่อยสลายของอินทรียสารมาก และมีการกัดเซาะชะล้างของน้ำฝนสูง พบว่า การปลูกพืชแบบเปิดหน้าดินมีการไถพรวนและปลูกพืชเป็นแถวเป็นแนวและใส่ปุ๋ยเคมีต่าง ๆ ทำให้คุณสมบัติทางกายภาพและเคมีของดินเสียหายมาก ดินจะมีการเป็นกรดสูงและพังทลายได้ง่าย การปลูกพืชเพื่อรักษาหน้าดินและสงวนน้ำ สามารถทำได้ คือ

1.  ลดการไถพรวนดินและการปลูกพืชคลุมดิน (Mulching)

ลดการไถพรวนดินอย่างละเอียดโดยเครื่องจักร เพราะจะทำให้เกิดแผ่นแข็งบนผิวหน้าดิน เมื่อมีฝนตกลงมาและมีน้ำขังเป็นอุปสรรคในการงอกของพืช และยังทำให้เกิดชั้นดินดานในดินชั้นล่าง ซึ่งทำให้รากพืชไม่สามารถชอนไชหาอาหารไปยังดินชั้นล่างได้

การทำให้ดินร่วนซุย จะใช้การปลูกพืชคลุมดินตลอดปี เช่น ปลูกพืชหัว เช่น มันเทศคลุมดิน รากมันเทศ (หัว) จะชอนไชลงไปในดิน ใบมันเทศก็จะคลุมดิน หรือปลูกผักประเภทหัว เช่น หัวไชเท้าก่อนปลูกผักชนิดอื่น เป็นต้น

2.  การปลูกพืชแซม (Intercropping)

เป็นการปลูกพืชสองชนิด หรือมากกว่าสองชนิดพร้อมกัน หรือปลูกในเวลาใกล้เคียงกัน เป็นแถวสลับแถว ระบบการปลูกพืชเช่นนี้ต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของพืชในแง่ระบบราก ความต้องการธาตุอาหารศัตรูพืช ความสูง และการเกิดร่มเงา หน้าดินส่วนใหญ่มีพืชคลุม ทำให้ลดการชะล้างพังทลายของดิน น้ำฝนซึมลงไปในดินได้มากขึ้น และลดความเสี่ยงต่อผลเสียหายของพืชหลักเนื่องจากศัตรูพืช ตัวอย่างเช่น การปลูกถั่วลิสงแซมมันสำปะหลัง เป็นต้น สำหรับในดินทราย ถั่วมะแฮะพันธุ์เบากับข้างฟ่าง เป็นพืชที่ปลูกแซมกันได้ดีที่สุด ส่วนในสวนผลไม้และสวนยางพารา ก็นิยมปลูกสับปะรดแซมขณะต้นยังเล็กอยู่

3.  การปลูกพืชแบบผสม (Mixed Cropping)

จะปลูกพืชสองชนิดหรือมากกว่าสองชนิดในแปลงเดียวกัน โดยไม่ต้องปลูกเป็นแถวเป็นแนว ซึ่งเป็นวิธีการปลูกแบบดั้งเดิมของเกษตรกรเมื่อครั้งที่ดินยังอุดมสมบูรณ์อยู่ โดยนำเอาเมล็ดพันธุ์ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมารวมกัน แล้วหว่านลงในแปลง  โดยจะแบ่งจำนวนเมล็ดพืชให้พืชหลักจะมีจำนวนมากกว่าพืชรอง พืชที่ปลูกควรจะมีคุณสมบัติที่เกื้อกูลกัน เช่น ช่วยลดการทำลายของศัตรูพืช ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช

4.  การปลูกพืชหมุนเวียน (Crop Rotation)

การปลูกพืชสองชนิดหรือมากกว่าลงบนพื้นที่เดียวกัน แต่ว่าจะปลูกไม่พร้อมกัน คือ จะมีการจัดลำดับพืชที่ปลูกก่อนหลังกันอย่างมีความเหมาะสม เช่น จะปลูกถั่วคุดซู ซึ่งมีระบบรากกระจายและลึกก่อนการปลูกข้าวโพด ถั่วคุดซูจะช่วยพรวนดินและดูดธาตุอาหารจากดินชั้นล่างขึ้นมาไว้ในดินชั้นบน เพราะเป็นถั่วที่มีระบบรากลึก นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณไนโตรเจนให้แก่ดิน เมื่อปลูกข้าวโพดเป็นพืชต่อมา รากข้าวโพดจะชอนไชหาอาหารลงไปในดินตามรูพรุนที่รากถั่วนำลงไป จึงหาอาหารในดินได้มากขึ้น ผลผลิตก็จะสูงขึ้น กล่าวคือ จะมีประสิทธิภาพเท่ากับ 75 เปอร์เซ็นต์ของการใช้ปุ๋ย

5.  การปลูกพืชเหลื่อมฤดู (Relay Cropping)

การจัดระบบพืชโดยการปลูกพืชที่สอง ขณะที่พืชแรกยังไม่ทันเก็บเกี่ยว เหมาะกับพื้นที่น้อย ต้องการใช้พื้นที่ดินและน้ำอย่างคุ้มค่า หรืออยู่ในเขตที่มีน้ำฝนในการเพาะปลูกค่อนข้างจำกัด หรือในปีที่ฝนมาล่าช้า ปลูกพืชแรกล่าช้า ทำให้การเก็บเกี่ยวล่าช้า ทำให้การปลูกพืชที่สองต้องล่าช้าออกไป และไม่ได้ผล เพราะขาดน้ำ เกษตรกรสามารถปลูกพืชที่สองลงไปในขณะที่ข้าวโพดมีอายุได้ประมาณ 80 วัน ซึ่งขณะนั้นใบข้าวโพดเริ่มแห้ง ทำให้การบังแสงต่อพืชที่สองลดลง พืชที่สองก็จะได้อาศัยความชื้นที่เหลืออยู่ในดิน เจริญเติบโตขึ้นมาได้ หรือปลูกพืชที่สองเมื่อข้าวโพดมีอายุได้ 70 วัน โดยตัดยอดข้าวโพดเหนือระดับฝักเพื่อลดการบังแสง แล้วนำยอดข้าวโพดนั้นมาคลุมดินเพื่อลดการระเหยของน้ำในดิน หรือนำไปใช้เลี้ยงวัวได้อีกระบบการปลูกพืชแบบนี้ ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวโพดเหลื่อมกับมันเทศหรือมันแกว หรือปลูกฝ้ายเหลื่อมฤดูกับข้าวโพดหรือถั่วเหลือง การปลูกข้าวเหลื่อมกับถั่วเขียวในนาธรรมชาติ เป็นต้น

6.  การปลูกพืชแบบผสมผสานต่างระดับ (Multistorey Tree-crop Garden)

การปลูกพืชในระบบวนเกษตร โดยจะมีไม้ยืนต้นที่เป็นไม้ใช้สอย หรือไม้ผลโดยให้ลักษณะของพืชที่ปลูกนั้นแบ่งเป็น 3-5 ระดับ ตามความสูงและความลึกของรากชั้นบน จะเป็นต้นที่ต้องการแสงมาก พุ่มใบไม่หนาทึบ เช่น มะพร้าว ตาล หมาก รองลงมาก็จะเป็นต้นไม้ที่มีพุ่มหนา เช่น ลำใย มะม่วง ลิ้นจี่ รองลงมาอีกก็จะเป็นกล้วย กาแฟ โกโก้ ชา แคบ้าน แคฝรั่ง ชะอม ถั่วแปบ ฯลฯ หรือปลูกพืชไร่ ที่ต้องการแสง เช่น ข้าวโพด ข้าวไร่ ส่วนที่รองลงมาใต้ต้นไม้ก็จะเป็นไม้เลื้อย เช่น พลู พริกไทย หรือรอบ ๆ ร่มไม้ผล ซึ่งมีแสงแดดไม่มากก็ปลูกขิง ข่า กระชาย ขมิ้น เผือก ว่าน หรือสมุนไพรต่าง ๆ การปลูกพืชลักษณะนี้จะช่วยให้ธาตุอาหารในดินหมุนเวียนและถูกใช้ไปอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ดินจะถูกปกคลุมตลอดเวลาและได้รับอินทรีย์วัตถุอย่างสม่ำเสมอ จากใบไม้ที่ร่วงหล่น ลดความแรงของการตกกระทบโดยตรงของเม็ดฝน เพราะเรือนยอดของต้นไม้และไม้พืชล่างที่ขึ้นคลุมดินอยู่จะช่วยรองรับน้ำฝนลงมาเป็นชั้น ๆ โรคและแมลงก็มีน้อยลง ไม่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืช จึงเป็นการปรับปรุงบำรุงดินที่ใช้ทำการเกษตรได้อย่างยั่งยืนที่สุด

7.  การปลูกพืชพี่เลี้ยง (Nursing Crop)

ในการฟื้นฟูอนุรักษ์ดินที่ถูกทำลายจนล้านโล่งนั้น การปลูกพืชพี่เลี้ยง โดยนำพืชโตเร็วมาปลูกร่วมกับพืชหลัก เพื่อให้เป็นร่มเงาพืชหลักให้ความชุ่มชื้นเป็นที่เกาะยึดและใบช่วยบำรุงหรือเป็นรายได้ในระยะแรก การปลูกก้วยเป็นร่มเงา ไม้ผลที่เพิ่งปลูกใหม่ กล้วยจะช่วยยังร่มเวาให้ความชุ่มชื้นไม้ผลในฤดูแล้ง และยังให้ปลี ผล ใบขายเป็นรายได้ในช่วงที่ไม้ผลยังไม่มีผลผลิต หรือการปลูกทองหลางหรือสะตอ ควบคู่กับทุเรียน เพื่อใช้เป็นร่มเงาให้ทุเรียน ขณะที่ยังต้นเล็กใบที่ร่วงหล่นลงมาจะช่วยเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้กับทุเรียน บำรุงดิน และรักษาความชุ่มชิ้นในดินปลูกกระถินยักษ์เป็นค้างพริกไทยปลูกมะแฮะ แทนไม้รวก เพื่อเชือกทำราวให้หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น แต่ในทั้งสองกรณีหลังนี้ ต้องหมั่นตัดยอดพืชพี่เลี้ยงเพื่อไม่ให้เกิดร่มเงามากเกินไปและนำกิ่งใบมาคลุมดิน หรือสุมโคนต้นไม้พืชหลัก เพื่อเก็บรักษาความชื้นในดิน และปรับปรุงบำรุงดินไปด้วยในตัว จะสังเกตว่าที่เป็นพืชพี่เลี้ยงส่วนใหญ่ จะเป็นต้นไม้ตระกูลถั่ว ดังนั้นจึงมีความสามารถในการตรึงไนโตรเจนในดินด้วย

8.  การปลูกพืชบังลม (Wind Break)

โดยการนำไม้ยืนต้นโตเร็วกิ่งก้านเหนียว แตกทรงพุ่มหนา เช่น ไผ่สนประดิพัทธ์ กระถินณรงค์ สะเดา แคฝรั่ง ปลูกเป็นแนวขวางทิศทางลมในแปลงพืชโดยปลูกเป็นระยะ ๆ โดยระยะห่างพอสมควรขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่ และพืชที่ปลูกแนวพืชที่ขวางทางลมในไม้ผล จะช่วยลดความเสียหายจากการฉีกหักของกิ่ง เพราะแรงลม  โดยเฉพาะในขณะที่กำลังติดผล พืชบังลมจะช่วยลดความเสียหายจากการล้มต้นของพืชไร่ลดการคายระเหยของน้ำ (evapotranspiration) อันเนื่องมาจากการเคลื่อนตัวของอากาศเหนือดินและลดปริมาณการใช้น้ำของพืช (crop water use)ลดปริมาณน้ำไหล่บ่าดิน (runoff)และป้องกันการสูญเสียหน้าดินอันเนื่องจากลม (wind erosion)

9.  ปลูกต้นไม้เป็นแนวกันไฟ (Fire Break)

ในเขตภูเขาซึ่งมีเหตุไฟป่าในฤดูแล้งเป็นประจำ มีวิธีป้องกันไฟป่าไม่ให้ลามเข้ามาในแปลง โดยการถางหญ้าทำแนวกันไฟ 1-2 เมตร และปลูกต้นไม้ที่ทนไฟเป็นแนวกันไฟไม่ให้ลามเลียลามไม้ผลให้เสียหาย เช่น ปลูกต้นแคฝรั่ง ซึ่งมีลำต้นเหนียว และสามารถแตกกิ่งก้านได้ทันทีหลังถูกไฟเผาเป็นแนวกันไฟ

10.  ปลูกต้นไม้เป็นแนวระดับขวางทางลาดชัน (Alley croping)

ในเขตภูเขาหรือที่ที่มีความลาดชันนั้น จะมีการปลูกแนวไม้พุ่มขวางทางลาดชันเป็นแนวระดับ โดยจะปลูกไม้พุ่มให้เป็นแนวชิดติดกันเป็นแถวคู่ ระหว่างแนวระดับก็ปลูกพืชไร่และต้นไม้ แนวไม้พุ่มจะช่วยดักอินทรีย์วัตถุและหน้าดินที่ถูกน้ำพัดพาลงมา เพื่อลดการพังทลายของหน้าดิน ส่วนใหญ่แนวไม้พุ่ม ไม้ที่ดึงไนโตรเจน เช่น ถั่วมะแฮะ กระถิน เมื่อต้นสูงก็จะจัดกิ่งใบมาคลุมดินเพิ่มอินทรีย์วัตถุให้ดิน รักษาความชื้นและเพิ่มธาตุอาหารให้แก่ดิน