การปลูกมะระจีน


มะระจีนเป็นผักที่มีราคา ถ้าพิจารณาถึงคุณค่าทางอาหาร มะระจีนมีวิตามินเออยู่ ถึงแม้จะต้มสุกแล้วก็ยังหลงเหลืออยู่มาก วิตามินเอ มีประโยชน์กับร่างกายมนุษย์ในด้านช่วยให้เติบโต ป้องกันโรคต่างๆ ที่จะเกิดกับตา และป้องกันการติดเชื้อจากโรคต่างๆ ด้วย
มะระมีลำต้นเป็นเถา เมื่อปลูกจึงต้องทำค้าง ชอบดินร่วนซุย น้ำไม่ขัง เป็นพืชผักที่ต้องการความเอาใจใส่มาก เพราะมีแมลงหลายชนิดคอยรบกวนทำลายผล ทำให้ผลร่วง แคระแกร็น เสียหายมาก หากขาดความเอาใจใส่ในเรื่องการป้องกันกำจัดแมลง การปลูกมะระจะไม่ได้ผล ไม่คุ้มกับทุนและแรงงานที่ลงไป
พันธุ์
มะระมีหลายพันธุ์


1.มะระขี้นก ผลป้อม เล็ก มีรสขมมาก ผิวขรุขระ เป็นหนามแหลม เนื้อบาง ปลูกง่าย ผลดก


2. มะระย่างกุ้ง เป็นพันธุ์ที่ได้จากประเทศพม่า ผลเล็ก ยาว ผิวขรุขระ เป็นหนามแหลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 ซม. เป็นมะระที่มีรสดี
3. มะระจีน มีผู้นำพันธุ์จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้ามาเผยแพร่ผลมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-8 ซม. เนื้อหนา ผลสีเขียวอ่อน รสดี ขมเพียงเล็กน้อย
มะระสองพี่น้อง เป็นมะระที่กลายพันธุ์ไปจากมะระจีน ผลมีลักษณะเช่นเดียวกับมะระจีน มีปลูกในจังหวัดสุพรรณบุรี
ฤดูการปลูก
ปลูกได้ตลอดปี ปลูกได้ผลดีที่สุดในฤดูหนาว ถ้าปลูกในช่วงที่มีฝนตกชุก ต้องทำทางระบายน้ำอย่าให้น้ำขังแปลงปลูก มิฉะนั้นต้นจะเน่าตาย
การเตรียมดิน
ไถ พรวน เก็บหญ้าออกให้หมด ในขณะพรวนใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ เช่น มูลเป็ด ไก่ นกกระทา วัว ควาย หรือกากถั่วลิสง คลุกเคล้าลงในดิน แล้วยกเป็นร่องเล็กๆ ยาวไปตามพื้นที่ ในระยะระหว่างร่องห่างกันพอเป็นทางเดิน หรือระยะเมื่อปลูกแล้วให้หลุมห่างกัน 50 ซม. ระยะแถวห่างกันประมาณ 1 เมตร
การเพาะกล้า
1. บนแปลงเพาะกล้า การเพาะกล้าด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องเตรียมดินอย่างดี พรวนดินให้ร่วนซุย ผสมปุ๋ยมูลสัตว์ จะช่วยให้ดินร่วนซุยยิ่งขึ้น การถอนกล้าจะทำได้ง่าย เมื่อเตรียมดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว นำเมล็ดมะระมาวางเรียงบนแปลงเพาะกล้า ให้แต่ละเมล็ดห่างกันประมาณ 3 ซม. กลบ ด้วยดินละเอียดหนาประมาณ 2-3 ซม. เอาฟางคลุม รดน้ำ 3-4 วันเมล็ดมะระจะงอกหมด รอจนต้นโตมีใบจริง 2 ใบ หรืออายุประมาณ 8-10 วัน ก็ย้ายไปปลูกในแปลงปลูกได้ ปลุกหลุมละ 2 ต้น ก่อนถอนกล้าควรรดน้ำแปลงกล้าให้ชุ่มเสียก่อน ทำให้ถอนง่าย ต้นกล้าจะไม่ชอกช้ำมาก
2. เพาะกล้างอก วิธีนี้นำเมล็ดมะระมาเพาะให้งอกเสียก่อน โดยนำเมล็ดมาแช่น้ำไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำขึ้นมาห่อไว้ด้วยผ้าชื้นอีกประมาณ 2-3 วัน เมื่อเปิดดูจะเห็นรากเริ่มโผล่ออกมาจากเมล็ด เลือกเอาแต่เมล็ดที่มีรากงอกออกมาแล้ววางเรียงในหลุมปลูก หลุมละ 2-3 เมล็ด แล้วจึงเกลี่ยดินกลบและรดน้ำให้ชุ่ม
3. เพาะกล้าในกระทงใบตองหรือถุงกระดาษ นำดินผสมปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยมูลสัตว์ ใส่ในกระทงใบตองแห้ง หรือถุงกระดาษ ขนาดกว้างประมาณ 7 ซม. ยาว 7 ซม. นำเมล็ดแช่น้ำไว้ประมาณ 1 ซม. แล้วนำเมล็ดลงเพาะในกระทง หรือในถุงๆ ละ 1 เมล็ด รดน้ำพอชุ่ม เมื่อต้นกล้ามีใบจริง 2 ใบ หรืออายุประมาณ 8-10 วัน ก็ย้ายไปปลูกในหลุมปลูก หลุมละ 2 ต้น กล้าที่เพาะในกระทงใบตองควรเอากระทงออกก่อนนำลงปลูกในหลุม ส่วนกล้าที่เพาะโดยใช้ถุงกระดาษ นำไปปลูกได้ทั้งถุง
วิธีปลูก
ขุดหลุมบนร่องปลูกให้กว้าง และลึกประมาณ 1 ศอก ใส่ปุ๋ยคอกรองก้นหลุมๆ ละ 1 กระป๋องนมข้น เอาผิวดินใส่ลงไปก้นหลุมก่อนจนหลุมตื้น แล้วจึงนำกล้ามะระลงปลูก กลบดินแต่เบาๆ การปลูกควรทำในตอนเย็น ปลูกเสร็จใช้ฟางคลุม สัก 2-3 วัน รดน้ำให้ชุ่ม หลังจากนั้นรดน้ำเช้าและเย็น ต้นมะระยิ่งโตยิ่งต้องการน้ำมาก การรดน้ำต้องทำอย่างสม่ำเสมอ คอยระวังอย่าให้หญ้าขึ้นรกแปลงด้วย หมั่นถอนหญ้า และพรวนดินกลบโคน จนกว่าต้นมะระจะโตทอดยอดเลื้อยขึ้นค้าง ก็ไม่จำเป็นต้องพรวนอีกต่อไป
การทำค้าง ถ้าใช้ไม้ไผ่ต้องนำมาผ่าเป็นซีกเล็กๆ กว้างประมาณ 2-3 ซม. ยาวประมาณ 2 เมตร การผ่าไม้ทำให้เสียเวลาและแรงงานมาก แต่ไม้ไผ่และไม้รวกมีความทนทาน ใช้ทำค้างได้นานราว 3 ปี ถ้าใช้ต้นแขมทำค้างเพียงปีเดียวก็ผุพังหมด แต่ราคาถูก ในหนึ่งไร่ใช้ไม้ทำค้างประมาณ 1 หมื่นอัน
การห่อผล
เมื่อมะระออกดอก และติดลูกจนผลโตขนาดนิ้วก้อย เกษตรกรชาวสวนจะใช้กระดาษทำเป็นถุง ขนาดกว้างประมาณ 15 ซม. ยาว 20 ซม. ปากถุงเปิดทั้งสองด้าน นำปากถุงด้านหนึ่งสวมผลมะระ แล้วใช้ไม้กลัดๆ ปากถุงให้แขวนอยู่บนก้านของผล การห่อผลไว้นี้ช่วยให้ผลมะระไม่ถูกรบกวนจากแมลงศัตรูพืชมากนัก และยังทำให้มีผลสีเขียวอ่อน
การใส่ปุ๋ย
พืชทุกชนิดต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโต อาหารพืชหรือปุ๋ยเป็นสิ่งจำเป็น ต้นมะระจีนก็ต้องการปุ๋ยเช่นเดียวกับพืชอื่นๆ การใส่ปุ๋ยมะระแบ่งใส่เป็นระยะดังนี้
1. ในขณะที่เตรียมดิน ควรใส่ปุ๋ยมูลสัตว์คลุกเคล้าลงไปในดินด้วย เพื่อช่วยให้ดินร่วน อุ้มน้ำให้อยู่ในดินได้นาน และช่วยรักษาสภาพความเป็นกรดเป็นด่างของดินให้อยู่ในระดับเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืช
2. ใส่หลังจากย้ายกล้าไปปลูกในแปลงปลูกแล้ว 7 วัน หรือเมื่อกล้ามะระเริ่มตั้งตัวได้แล้ว ถ้าใส่ปุ๋ยมูลสัตว์ควรใส่ต้นละ 1 กำมือ โรยรอบๆ ต้น และใส่หลังจากนั้นทุก 3 หรือ 7 วัน ถ้าใส่ปุ๋ยเคมี เช่น ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปุ๋ยยูเรีย ใส่ต้นละประมาณ 1 ช้อนสังกะสี ระวังอย่าโรยให้ถูกต้นเป็นอันขาด แล้วพรวนดิน รดน้ำ
3. ใส่เมื่อต้นมะระอายุได้ 30 วัน ระยะนี้ควรใส่ปุ๋ย รวมเป็นปุ๋ยเคมีที่มีส่วนผสมของธาตุอาหารพืชที่จำเป็น 3 ธาตุ คือไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซี่ยม เพื่อบำรุงต้น ใบ ดอกและผล การใส่ปุ๋ยรวมนี้จะช่วยให้ต้นมะระเจริญงอกงามมีดอกดกและติดผลดี เกษตรกรสามารถซื้อปุ๋ยรวมได้ตามร้านขายโดยทั่วไป และในการซื้อควรสังเกตด้วยว่าปุ๋ยรวมนั้น มีธาตุอาหารพืชที่จำเป็นครบถ้วนทั้ง 3 ธาตุหรือไม่ โดยดูจากตัวเลขที่พิมพ์ไว้ในกระสอบ
การป้องกันและกำจัดศัตรูของมะระ
มะระจีนเป็นพืชผักที่มีแมลงรบกวนมาก
1. แมลงวันทอง จะเจาะและวางไข่ในผล ทำให้มีหนอนไชผล ผลจะเล็กแกร็นและเน่าเสีย ควรป้องกันด้วยการฉีดพ่นด้วยมาลาไธออน ไดเมดธอน หรือไดเมทโทเอท ใช้ยาในอัตราส่วน ยา 1 ส่วนผสมกับน้ำ 600 ส่วน หรือใช้ยาประมาณ 2-3 ช้อนสังกะสี ผสมกับน้ำ 1 ปี๊บ
2. หนอนเจาะเถาเกิดจากยุงกลางวันชนิดหนึ่งวางไข่ที่เถา แล้วตัวหนอนของยุงกลางวันชนิดนี้จะเข้าไปอาศัยอยู่ภายในเถามะระ ทำให้เถาโปร่งออกมองเห็นได้ชัด ต้นมะระ เมื่อเกิดอาการโรคนี้จะหยุดชะงักการเจริญเติบโต ไม่แตกตา ดอก ไม่ออกดอกออกผล ป้องกันและกำจัดได้โดยใช้ยามาลาไธออน ไดเมครอน หรือไดเมทไธเอท ผสมในอัตราส่วน 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 600 ส่วน หรือใช้ยาประมาณ 2-3 ช้อนสังกะสี ผสมกับน้ำ 1 ปี๊บ
3. หนอนเจาะยอด ทำให้ยอดตาย ต้นมะระเจริญเติบโตช้า ควรใช้ยามาลาไธออน ไดเมครอน หรือไดเมทไทเอฑ ใช้ยาอย่างใดอย่างหนึ่งฉีดพ่นในอัตราส่วนยา 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 600 ส่วน หรือยา 2- 3 ช้อนสังกะสี ผสมกับน้ำ 1 ปี๊บ
4. เพลี้ย ถ้ายอดมะระถูกเพลี้ยไฟ ซึ่งมีลักษณะตัวเล็กๆ สีดำ ปีกเป็นฝอยคล้ายขนนก เคลื่อนไหวว่องไว เกาะอาศัยดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้ยอดหงิกเจริญเติบโตช้า ไม่มีดอก ไม่มีผล หรือถูกเพลี้ยอ่อนที่มีหัวใส สีค่อนข้างคล้ำ เกาะเป็นกระจุกตามยอด ขับถ่ายสิ่งขับถ่ายสีดำออกมา ทำให้มองเห็นยอดมะระมีสีดำ เพลี้ยชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ช้า เพลี้ยอ่อนจะดูดน้ำเลี้ยงที่ยอด ทำให้มะระเติบโตช้าเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเห็นมีเพลี้ยไฟเข้าทำลายยอดของมะระ ให้ใช้ยาเซวินหรือมาลาไธออน ฉีดพ่นในอัตราส่วนยา 1 ส่วน ผสมกับน้ำ 800 ส่วน หรือใช้ยาประมาณ 1-2 ช้อนสังกะสี ผสมกับน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่น เพลี้ยจะตายหมด
ข้อควรระวังในการใช้ยากำจัดศัตรูพืช
จากการสังเกต ยากำจัดศัตรูพืชของชาวสวนมะระบางแห่งพบว่า เกษตรกรใช้ยาแบบครอบจักรวาล คือน้ำยากำจัดโรคและแมลง ศัตรูพืชหลายๆ ชนิดมาผสมกัน ฉีดพ่นต้นมะระทุกๆ 3 วัน หรือฉีดวันเว้นวัน เมื่อมะระเริ่มติดผล ซึ่งเป็นการสิ้นเปลืองเงินมากโดยไม่จำเป็น เพราะศัตรูส่วน ใหญ่ของมะระคือ เพลี้ยและแมลงต่างๆ ที่วางไข่ตามเถาและผลอ่อน หากไม่ปรากฎอาการของโรคอื่น เมื่อมะระเริ่มผลิดอกตูมก็ฉีดยาป้องกันกำจัดแมลงพวกมาลาไธออน ไดเมครอน หรือไดเมทโธเอท ตามอัตราส่วนดังกล่าวข้างต้น และปกติยาพวกนี้มีฤทธิ์ตกค้างอยู่ในต้นพืชประมาณ 10-15 วัน เพราะฉะนั้นควรฉีดยาป้องกันไว้ทุกๆ 10-15 วัน และต้องหยุดพ่นยาฆ่าแมลงพวกดูดซึมนี้ก่อนเก็บผลมะระขายอย่างน้อย 15 วัน เนื่องจากยามีฤทธิ์ตกค้างอยู่ในผลได้หลายวัน หากเก็บผลมะระไปขายในขณะที่ยังไม่หมดฤทธิ์ จะเป็นอันตรายต่อผู้ซื้อไปรับประทานอาจถึงตายได้
การเก็บผล
เมื่อต้นมะระจีนอายุได้ประมาณ 40 วัน มะระรุ่นแรก จะแก่เก็บผลได้ มะระรุ่นแรกนี้เกษตรกรเรียกว่า “มะระตีนดิน” ผลมีลักษณะอ้วน ป้อม สั้น ผลจะอยู่บริเวณโคนเถาเกือบติดดิน เก็บผลวันเว้นวัน เมื่อเก็บไปแล้ว 3 ครั้ง เก็บมะระรุ่นใหญ่ 3 ครั้งก็จะถึงมะระรุ่นเล็ก ซึ่งเป็นมะระปลายเถา ผลจะมีขนาดเล็กลง ในการเก็บระวังอย่าปล่อยให้มะระแก่จัด จนมีสีจาง เพราะเนื้อและรสจะไน่น่ารับประทาน และมะระจะสุกด้วย พ่อค้าอาจไม่รับซื้อ ในการตัดมะระ เมื่อตัดมะระแล้วควรบรรจุเข่งนำไปส่งตลาดทันที่

การเก็บเมล็ดไว้ทำพันธุ์
เนื่องจากเมล็ดพันธุ์มะระจีนมีราคาค่อนข้างแพงมาก เกษตรกรที่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าในท้องถิ่นไปปลูก มักไม่ค่อยได้เมล็ดพันธุ์ที่แท้ จะมี เมล็ดมะระจีนที่กลายพันธุ์ปนอยู่มาก ทั้งยังหาซื้อเมล็ดพันธุ์แท้จริงๆ ได้ยากอีกด้วย ดังนั้น เกษตรกรควรรักษาพันธุ์และเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกเอง เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตให้น้อยลง
การเก็บและคัดเลือกเมล็ดไว้ทำพันธุ์ ควรเริ่มด้วยการคัดเลือกต้นมะระจีนในแปลงปลูกก่อน โดยเลือกต้นที่เจริญงอกงาม แข็งแรงให้ผลรุ่นแรกมีลักษษะดีตรงตามพันธุ์ไว้หลายๆ ต้น กะให้ได้เมล็ดพันธุ์พอปลูกในปีหน้าต่อไป เมื่อดอกตัวเมียและตัวผู้ของต้นที่เลือกไว้ เป็นต้นแม่พันธุ์ใกล้จะบาน หาถุงกระดาษบางขนาดโตกว่าดอกเล็กน้อยมาสวมไว้ รุ่งเช้าดอกจะบาน เด็ดดอกตัวผู้มาครอบดอกตัวเมีย แล้วเคาะเบาๆ ให้ละอองเกสรหล่นลงไปบนดอกตัวเมีย แล้วเอาถุงกระดาษสวมไว้ตามเดิม หาเชือกสีมาผูกไว้ที่ขั้วเพื่อเป็นเครื่องหมายว่าจะเก็บไว้ทำพันธุ์ แล้วทิ้งให้ผลสุกจึงไปผ่าเอาเมล็ดออกล้างน้ำตากแดดจนแห้งสนิท ใส่กระป๋องที่มีฝาปิดมิดชิด เก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไป