การปลูกมันสำปะหลัง


MANIHOT CSCULENTA
มันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกกันในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่เพิ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจในระยะ 4-5 ปีมานี้เอง ทั้งนี้คงเนื่องจากว่านำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง อาทิ ใช้เป็นอาหารมนุษย์ อาหารสัตว์ ผงชูรส เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีต่างๆ ได้แก่ทำแอลกอฮอล์ ยีสต์ สีอาหาร กาวพลาสติค ฉะนั้นผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังผลิตจำหน่ายมีหลายชนิด เช่น แป้ง มันสำปะหลังแห้ง หรือมันเส้น มันสำปะหลังแท่งหรือมันอัดเป็นเม็ด ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ส่งเป็นสินค้าออกในปัจจุบันนี้ เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทมันสำปะหลังแท่ง และมันสำปะหลังแห้ง เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ประมาณร้อยละ 85 อีกประมาณร้อยละ 15 ส่งในรูปแป้งและรูปอื่นๆ สันนิษฐานว่าพืชมันสำปะหลังนี้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย โดยผ่านทางอินโดนีเซีย หรืออินเดีย และมาเลเซีย เพราะเริ่มมีปลูกกันในแถบจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทยก่อนภาคอื่น แล้วจึงขยายไปปลูกตามภูมิภาคต่างๆ เกือบทั่วประเทศ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่เป็นผู้ผลิตมันสำปะหลังมากที่สุดในโลก แต่เป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด เพราะ การใช้ภายในประเทศมีเพียงร้อยละ 10 ของผลผลิตทั้งหมด ผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกส่วนใหญ่ เป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์
พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังของประเทศไทย มีแน้วโน้มมากขึ้นตามลำดับ สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการขยายเนื้อที่เพาะปลูกกันอย่างรวดเร็ว ก็เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้ง ไม่พิถีพิถันกับสภาพแวดล้อม มีศัตรูน้อย ต้นทุนการผลิตต่ำ และประกอบกับกลุ่มประเทศภาคพื้นตะวัน
ตกและญี่ปุ่นมีการพัฒนาการเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้น ทำให้มีความต้องการอาหารสัตว์จำนวนมากด้วย ในอนาคตปัญหาการขยายพื้นที่ปลูกกำลังจะถูกจำกัดเข้า เพราะความสำคัญของพืชอื่นๆ มีมากขึ้น และพื้นที่ที่เหมาะสมก็หายากขึ้น
สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะแก่การปลูกมันสำปะหลัง
มันสำปะหลังเป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในอากาศค่อนข้างร้อนและทนทานต่อความแห้งแล้งได้พอสมควร แต่ก็ต้องการฝนตกในต้นฤดูปลูก และมีการกระจายของฝนอย่างสม่ำเสมอตลอดฤดูเช่นเดียวกับพืชอื่น เพื่อช่วยให้มีผลผลิตมากและคุณภาพดี หากลมฟ้าอากาศมีช่วงแห้งแล้งนาน เกินไป หัวมันจะเป็นเสี้ยน ส่วนสภาพของดินมันสำปะหลังเป็นพืชที่ไม่ค่อยพิถีพิถันในเรื่องสมรรถนะของดินมากนัก เพียงแต่ป็นดินที่มีความร่วนซุย และระบายน้ำได้ดี เพราะส่วนที่ใช้ประโยชน์อยู่ที่หัวหรือราก ถ้าดินเหนียวเกินไปหัวมันจะไม่ค่อยเจริญเติบโต และเก็บเกี่ยวยาก
โดยปกติมันสำปะหลังไม่ค่อยมีโรคศัตรูระบาดทำลายเสียหาย แหล่งปลูกที่เหมาะสมแต่ดั้งเดิม คือที่จังหวัดชลบุรี ระยอง แต่ในปัจจุบันนั้นได้มีการขยายพันธุ์ปลูกกันอย่างกว้างขวางในภาตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดร อุบลราชธานี มหาสารคาม กาฬสินธุ์ เข้าใจว่า หากแนวโน้มของมันสำปะหลังยังเป็นไปเช่นนี้ต่อไป การขยายพื้นที่ปลูกก็คงกระจายทั่วไปทั้งประเทศ และจะเป็นพืชตัวการสำคัญในการทำลายป่าอีกพืชหนึ่ง เช่นเดียวกับข้าวโพด ข้าวไร่ ปอ
มันสำปะหลังที่ใช้ปลูกกันในประเทศไทยขณะนี้ มีอยู่หลายพันธุ์ แต่ไม่ค่อยมีคุณสมบัติดีเด่น ที่แตกต่างกันชัดเจนนัก พันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ยอดขาว บางคนเรียกว่าพันธุ์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีความนิยมสูง เพราะเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศของประเทศไทย และมีปริมาณแป้งสูงเฉลี่ยประมาณ 15-40 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงพอจะแบ่งพันธุ์มันสำปะหลังทั้งพันธุ์หนักและพันธุ์เบา แต่อาจแบ่งตามลักษณะที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ 2 ชนิดคือ
1. ชนิดใช้หัวรับประทาน ชนิดนี้มีเนื้อละเอียด และมีรสหวานมากกว่าขม นำมาใช้เป็นอาหารสำหรับบริโภคโดยตรง เช่น ทำมันสำปะหลังปิ้ง และของหวานอื่นๆ
2. ชนิดที่ใช้หัวสำหรับทำแป้งมันและอาหารสัตว์ มันชนิดนี้มีเนื้อหยาบ ไม่เหนียวและมีรสค่อนข้างขม สาเหตุที่ทำให้มีรสขม เพราะมีกรดไซยานิค (cyanic acid) ซึ่งเป็นสารมีพิษ กรดชนิดนี้พบในเปลือกมากกว่าเนื้อของหัวมันที่ยังสดอยู่
การเตรียมดินปลูก
ก่อนจะปลูกมันสำปะหลังควรไถพรวนดิน เช่นเดียวกับการปลูกพืชไร่อื่นๆ เพื่อให้ดินร่วนและปราศจากวัชพืช ควรไถดินให้ลึกประมาณ 8-10 นิ้ว เว้นระยะระหว่างร่องประมาณ 1 เมตร ระหว่างต้นประมาณ 75-100 เซ็นติเมตร ความถี่ห่างต้องพิจารณาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าดินมี
ความอุดมสมบูรณ์สูงให้ปลูกห่าง ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ให้ปลูกถี่ การปลูกใช้ท่อนพันธุ์ 1 ท่อนต่อ 1 หลุม ท่อนพันธุ์ที่ดีควรเป็นส่วนกลางของลำต้นค่อนข้างไปทางโคน มีอายุประมาณ 1 ปี ตัดเป็นท่อนยาวประมาณ 25 ซม.
วิธีการปลูกมีหลายวิธี คือ การปักตรง ปักเอียง หรือ วางนอนราบในร่องแล้วกลบดินบาง ๆ ผลจากการทดลองพบว่าปลูกแบบปักตรงหรือเอียงได้ผลดีกว่าแบบนอนราบ การจะปลูกแบบไหนควรพิจารณาถึงความชุ่มชื้นของดิน ถ้าดินที่มีความชุ่มชื้นสูงก็ปักแบบตรงได้ ถ้าดินมีความชุ่มชื้นปานกลาง ควรปลูกเอียงประมาณ 45 องศา แต่ถ้าผิวดินมีความชุ่มชื้นน้อยควรปลูกแบบนอนราบ หรือขนานกับพื้นดินแล้วกลบดินบางๆ โดยทั่วไปเกษตรกรนิยมปลูกแบบปักตรง และแบบเอียง เพราะเจริญเติบโตได้เร็วกว่า และถ้าปลูกในหน้าแล้ง จะทนแล้งได้ดี และแตกใบก่อนแบบนอนราบ หรือหัวมันที่เกิดจะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม สะดวกแก่การเก็บเกี่ยว ท่อนพันธุ์ที่ต้องนำมาจากที่ไกลๆ หรือจำเป็นต้องเก็บไว้นานวันก่อนปลูก ควรตัดเป็นท่อนยาวๆ ทารอยตัดด้วยน้ำมันดิน หรือปูนแดง แล้วมัดเก็บไว้ในร่มที่มีอากาศชื้น เมื่อจะปลูกจึงตัดเป็นท่อนๆ ตามความต้องการ โดยทั่วไปหลังจากปลูกแล้วประมาณ 7-15 วัน มันสำปะหลังจะงอก
การบำรุงรักษา
1. การพรวนดินและการดายหญ้า การพรวนดินและการดายหญ้าเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะเมื่อมันมีอายุประมาณ 1 เดือน จะต้องทำการพรวนดินและดายหญ้าเสียครั้งหนึ่งก่อน ต่อไปหากรู้สึกว่าดินแน่นและมีหญ้าขึ้นรบกวนมาก ก็ควรจะต้องพรวนดินและดายหญ้าอีก 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นของหญ้า และอายุของมันสำปะหลัง ไม่ควรจะปล่อยให้ดินแน่นและหญ้ารกมาก เพราะจะทำให้ต้นมันแคระแกร็นไม่เจริญงอกงามและลงหัวน้อย เมื่อต้นมันสำปะหลังสูงประมาณ 1 เมตร เวลาดายหญ้าพรวนดินควรพูนโคนต้นให้บ้าง ทั้งนี้เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่มีราก 2 ชนิด คือรากสะสมหรือส่วนที่เป็นหัว รากชนิดนี้จะเจริญไปตามด้านข้างไม่ลึกจากผิวดินนัก และรากจริงทำหน้าที่หาอาหารและยึดเหนี่ยวพื้นดิน รากชนิดนี้จะเจริญไปในทางดิ่งมากกว่าด้านข้าง ฉะนั้นการพูนดินจะมีส่วนช่วยให้รากสะสมเจริญงอกงามดี ซึ่งหมายความว่าเป็นการเพิ่มผลผลิตของหัวมันโดยตรง ข้อควรระวังในการพรวนดินและดายหญ้าก็คือ พยายามอย่าให้กระทบกระเทือนรากของต้นมันมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะที่มันกำลังลงหัว จะทำให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของต้นมันได้
2. การใส่ปุ๋ย นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินทรายซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ เพราะเกิดการสูญเสียธาตุอาหารต่างๆ เร็วกว่าดินชนิดอื่น และมันสำปะหลังเป็นพืชหัวซึ่งมีความต้องการปุ๋ยฟอสฟอรัส และโปแตสเซี่ยม มากเป็นพิเศษ ผลจากการทดลองปุ๋ยผสมสูตร 8-8-4 อัตรา 65-100 กิโลกรัมต่อไร่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน ถ้าหากเป็นดินที่ใช้ปลูกมันสำปะหลังมานานและมีความอุดมสมบูรณ์พอประมาณ ควรใส่ไร่ละ 65 กิโลกรัม ถ้าดินมีความอุดมสมบูรณ์น้อยอาจต้องใส่ถึงไร่ละ 100 กิโลกรัม ในการใส่ปุ๋ยนั้น จะได้ผลดีทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิตและรายได้ โดยแบ่งใส่ครั้งแรกหลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้ว 1 เดือน ด้วยการหว่านรอบๆห่างลำต้นประมาณ 5-6 นิ้ว และใส่ครั้งที่สองเมื่อต้นมันมีอายุ 3 เดือน วิธีใส่เหมือนครั้งแรก แต่ให้ห่างออกจากต้นไปประมาณ 10-12 นิ้ว อย่างไรก็ดีเนื่องจากดินที่ปลูกมันสำปะหลังส่วนมากเป็นดินร่วนปนทราย ความจำเป็นที่ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด ก็มีความจำเป็นอยู่มาก เพราะจะช่วยให้สภาพของดินร่วนซุย มันสำปะหลังลงหัวได้ง่ายระบายน้ำดี แต่ต้องใส่เป็นจำนวนมาก ตามที่กล่าวกันว่า การปลูกมันสำปะหลังทำให้ดินสูญเสียธาตุมากกว่าปลูกพืชชนิดอื่นนั้นอาจสรุปได้ดังนี้คือ
1. เนื่องจากมันสำปะหลัง เป็นส่วนที่ใช้รากหรือหัวทำประโยชน์ จำเป็นต้องปลูกในดินที่มีลักษณะร่วนปนทราย ซึ่งตามปกติดินประเภทนี้มีอาหารธาตุน้อยอยู่แล้ว และการที่รากหรือหัวจะเจริญเติบโตและมีคุณภาพดีนั้น จำเป็นต้องใช้อาหารธาตุในดินมากกว่าปกติ เมื่อปลูกซ้ำที่บ่อยๆ โดยไม่มีการบำรุงดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินย่อมจะลดลงเรื่อยๆ
2. พืชหัวทุกชนิด ต้องการอาหารธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซี่ยมมากเป็นพิเศษ แต่ธรรมชาติดินโดยทั่วๆ ไปมีอาหารประเภทนี้น้อยมาก หากไม่หามาเพิ่มเติม รากหรือหัวมันสำปะหลังก็ย่อมจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร
3. ตามปกติการปลูกพืชทุกชนิด เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วนั้น จะทิ้งส่วนต่างๆ ซึ่งไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยตรงได้ เช่น ราก ลำต้น กาบใบและใบแห้งไว้ในไร่ ส่วนต่างๆ เหล่านี้เมื่อไถกลบลงดินแล้วปล่อยให้เน่าเปื่อยผุพังจะกลายเป็นอินทรีย์วัตถุซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มอาหารธาตุ และปรับปรุงคุณภาพดินให้ดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อพืชในฤดูกาลต่อไป แต่ในการปลูกมันสำปะหลังไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง เป็นการเกี่ยวอย่างถอนรากถอนโคน ทั้งหัวทั้งลำต้นถูกนำออกไปจากไร่หมด ไม่เหลือเศษหรือส่วนใดของต้นมันสำปะหลังทิ้งไว้ให้พืชที่จะนำมา ปลูกใหม่ได้รับประโยชน์เลย ในสถานการณ์ปัจจุบันปุ๋ยมีราคาแพงและหาซื้อยาก การจะเพิ่มผลผลิตด้วยการใช้ปุ๋ยจึงเป็นปัญหาแก่เกษตรกรอย่างมาก
3. การปลูกพืชหมุนเวียน เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นพืชที่ใช้อาหารธาตุในดินมากเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงทำให้ดินเสื่อมคุณภาพได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นควรพยายามเปลี่ยนที่ปลูกอยู่เสมอ โดยการปลูกพืชหมุนเวียน กับพืชไร่ประเภทถั่วต่างๆ จะช่วยให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ขึ้นไม่มากก็น้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ผลผลิตลดต่ำลงจนขาดทุนได้
4. การป้องกันและกำจัดศัตรูของมันสำปะหลัง มันสำปะหลังเป็นพืชไร่ชนิดเดียวที่ยังไม่มีโรคและแมลงที่ทำอัน¬ตรายจนทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง แต่โรคและแมลงที่พบบ้างคือ
4.1 โรคใบจุด เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ลักษณะของโรคจะทำให้ใบมีรอยไหม้สีน้ำตาลเป็นจุดกลมๆ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับใบที่แก่แล้วทำให้ใบตอนล่างร่วงเร็วกว่าปกติ การป้องกันก็ควรเก็บใบที่เป็นโรคเผาเสีย หรือจะใช้ ยาออร์โธไซด์ 50% อัตรา 2 ส่วน ต่อน้ำ 100 ส่วนฉีดพ่นก็ได้
4.2 โรคหัวเน่า โรคนี้เกิดจากเชื้อรามักเป็นกับหัวมันที่ขุดขึ้นมาเก็บรวมกันเป็นเวลานานก่อนที่จะนำไปใช้ ทำให้หัวมันเน่าและเสียหาย การป้องกันและกำจัดโรคนี้ ทำได้โดยพยายามอย่าทำให้หัวมันเป็นแผล เพราะจะทำให้เชื้อโรคเข้าไปได้ง่าย และควรเก็บหัวมันไว้ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ควรกองทับถมกันไว้เป็นกองโตมากนัก นอกจากนั้นควรใช้สารละลาย เมอร์คิวริคคลอไรด์ 1 ส่วน ผสมน้ำ 1,000 ส่วน พ่นให้ทั่วก็สามารถฆ่าเชื้อโรคนี้ได้
4.3 ไรแดง เป็นสัตว์คล้ายแมลง ตัวเล็กมากมีขา 8 ขา ชอบอยู่ตามใต้ใบของมันสำปะหลัง คอยดูดน้ำเลี้ยงจากใบ ทำ ให้ใบเป็นจุดลายดูขาวซีด และแห้งตายไปในที่สุด และมักระบาดอย่างรวดเร็วในฤดูแล้ง เมื่อฝนตกก็หายไป การป้องกันและกำจัด ใช้ยาจำพวกอาราไมท์ 2 ช้อนสังกะสีผสมน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่น


การเก็บเกี่ยว
ตามปกติเราสามารถขุดเอาหัวมันสำปะหลังมาใช้ได้เมื่อมันมีอายุประมาณ 6 เดือน แต่ถ้าขุดในระยะนี้ผลผลิตต่อไร่จะต่ำมาก เพราะผิวของมันยังอ่อนอยู่ ยังอาจเกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องจากในหัวมันอ่อนมีเปอร์เซ็นต์กรดไซยานิคสูงควรเก็บเกี่ยวมันที่ดี เมื่อมีอายุ 10-13 เดือน ในระยะนี้หัวมันจะมีนํ้าหนักมาก มีปริมาณแป้งสูง และไม่มีเส้นใยมากนัก การเก็บเกี่ยวทำได้หลายวิธี เช่น ขุดด้วยจอบสามง่าม ใช้ไถเทียมสัตว์ หรือรถแทรกเตอร์ไถขุด และใช้ถอน การขุดหัวมันสำปะหลังต้องทำด้วยความระมัดระวัง มิฉะนั้น หัวมันจะเป็นแผลหรือขาดเป็นชิ้นทำให้เสียหรือเน่าได้ การเก็บด้วยวิธีขุดดินบริเวณโคนต้น แล้วใช้มือดึงขึ้นมา ถ้าเป็นดินทรายหรือดินร่วนขุดง่าย ถ้าเป็นดินเหนียวก็ขุดยากหน่อย และควรตัดลำต้นออกให้เหลือตอสั้น เพื่อไว้ใช้จับดึง หากจะใช้วิถีไถ ควรไถให้ห่างจากลำต้นอย่างน้อย 60 เซ็นติเมตร แล้วใช้จอบขุดและมือช่วยดึงหัวมัน
เนื่องจากผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือแปรรูปชนิดต่างๆ ตามความต้องการของตลาดทั้งภายใน และต่างประเทศ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่สำคัญๆ และที่ทำการผลิตกันในปัจจุบัน ได้แก่
1. มันสำปะหลังแห้งหรือมันเส้น (Tapioca chip) ผลิตจากหัวมันสำปะหลังสด ที่ล้างสะอาด โดยใช้เครื่องจักรหั่น หรือฝานเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปตากแดดบนลานซีเมนต์ หรืออาจทำให้แห้งโดยการใช้เตาอบ มีความชื้นไม่เกินร้อยละ 15
2. มันสำปะหลังอัดเม็ด หรือมันสำปะหลังแท่ง (pellets) ผลิตจากมันสำปะหลังแห้ง บางทีก็มีกากมันผสมอยู่ด้วย กรรมวิธีการผลิต คือนำเอาวัตถุดิบดังกล่าวผ่านเครื่องร่อน เมื่อแยกดินทรายออกแล้วนำมาเข้าเครื่องอัดเม็ด ผ่านจานอัดซึ่งมีลักษณะเป็นรูกลมจำนวนมาก มันสำปะหลังอัดเม็ดมีลักษณะเป็นแท่งกลม
3. แป้งมันสำปะหลัง (Tapioca Flour) ผลิตโดยการนำหัวมันสด ผ่านเข้าเครื่องร่อนเอาดินทรายออก แล้วผ่านเครื่องล้างและเครื่องขูด ต่อจากนั้นจะผ่านเครื่องบดหัวมันโดยใช้น้ำผสม เมื่อละเอียดแล้วจึงผ่านเครื่องกรองเพื่อแยกเอากากและน้ำแป้งออกจากกัน น้ำแป้งที่ได้ผ่านเข้าเครื่องฟอก และเครื่องแยกน้ำและแป้ง เอาแป้งไปตากให้แห้งหรือทำให้แห้งด้วยเครื่องจักร อัตราการแปรรูปจากหัวมันสำปะหลังสด เป็นแป้งมันสำปะหลังขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์แป้งในหัวมันและฤดูกาลเก็บเกี่ยว