การปลูกละหุ่ง


RICIMUS COMMUNIS L
ละหุ่งเป็นพืชไร่ที่สำคัญชนิดหนึ่ง สามารถส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศคิดเป็นมูลค่าปีละหลายสิบล้านบาท และโดยที่ละหุ่งเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนทานต่อความแห้งแล้ง สามารถขึ้นได้เกือบทั่วทุกภาคของประเทสและกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมากทั้งราคาก็อยู่ในเกณฑ์สูงเมื่อเปรียบเทียบกับพืชไร่ชนิดอื่น
ประโยชน์ของละหุ่ง
เมล็ดของละหุ่งสามารถสกัดเอาน้ำมันเพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้หลายอย่าง เช่น สำหรับทำยารักษาโรค น้ำมันใส่ผม น้ำมันหล่อลื่นรถยนต์ สีย้อมผ้า สบู่ เครื่องสำอาง และใช้ในอุตสาหกรรมทำพลาสติคและไนลอน ส่วนกากที่เหลือจากการสกัดเอาน้ำมันแล้ว สามารถนำไปใช้ทำปุ๋ยได้เป็นอย่างดี
พันธุ์ละหุ่ง
ละหุ่งมีทั้งหมดหลายพันธุ์ด้วยกัน แต่พันธุ์ที่ควรปลูกเวลานี้คือ ละหุ่งพันธุ์ลายขาวดำ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ หลายอย่าง เช่น ทนทานต่อความแห้งแล้ง ถึงแม้เมล็ด จะค่อนข้างเล็กกว่าพันธุ์อื่นบ้างเล็กน้อย แต่ก็มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงไล่เลี่ยกับละหุ่งพันธุ์อื่นๆ อีกหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์ลายแดงเข้ม พันธุ์ลายดำใหญ่ แต่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์อื่นๆ มาก
นอกจากนั้นพันธุ์ลายขาวดำ ยังมีคุณสมบัติดีกว่าพันธุ์อื่นๆ คือ เปลือกหุ้มเมล็ดไม่แตกกระจายออกง่ายเมื่อแก่จัด ดังนั้นจึงสามารถรอให้เมล็ดแก่ทั้งช่อก่อนลงมือเก็บได้ เมื่อนำไปตากสองสามแดดแล้วนำมานวดเบาๆ เปลือกหุ้มเมล็ดก็จะแตก และเมล็ดจะหลุดออกจากเปลือกได้โดยง่าย จึงนับว่าสะดวกต่อการกระเทาะเมล็ดมาก
ดินที่เหมาะแก่การปลูกละหุ่ง
ละหุ่งเป็นพืชที่ขึ้นได้ในดินแทบทุกชนิด แต่จะเจริญงอกงามให้ผลผลิตสูง เมื่อปลูกในดินที่ร่วนซุย และมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร ละหุ่งไม่ชอบดินเหนียวที่มีน้ำขังหรือชื้นแฉะ ดังนั้นต้นที่ใช้ปลูกพืชไร่ สามารถจะใช้ปลูกละหุ่งได้เป็นอย่างดี
ฤดูปลูก
โดยทั่วไปควรจะเริ่มลงมือปลูกต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม ถ้าหากมีฝนเร็วกว่านี้ ก็อาจลงมือปลูกได้ในปลายเดือนมีนาคม แต่ทั้งนี้จะต้องกะให้เก็บผลได้ในระยะที่หมดฝนแล้ว เพราะถ้าเก็บในระยะที่มีฝนตกหนัก จะเกิดมีราสีดำขึ้นที่เปลือกหุ้มเมล็ด ทำให้เมล็ดเสียหายได้


การเตรียมดินปลูก
การเตรียมดินสำหรับปลูกละหุ่ง คือทำการไถให้ลึก ประมาณ 6-8 นิ้ว แล้วไถคราดอีกครั้ง เก็บวัชพืชออกให้หมดจึงลงมือปลูก ถ้าหากเป็นต้นที่เปิดป่าใหม่ เมื่อหักร้างถางพงเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถจะทำการปลูกละหุ่งได้ทันที ที่ต้นมีความชุ่มชื้นพอโดยไม่ต้องไถอีก ถ้าไถตื้นกว่า 6 นิ้ว ละหุ่งจะออกดอกช้า
การปลูก
การปลูกละหุ่งให้ได้ผลดี จะต้องปลูกเป็นแถว โดยเว้นระยะระหว่างต้น และระหว่างแถว ให้พอเหมาะกับสภาพของดินที่ปลูก กล่าวคือ
1. ถ้าดินที่ใช้ปลูกเป็นต้นเปิดป่าใหม่ มีความอุดมสมบูรณ์สูง และมีฝนตกมาก ควรปลูกให้มีระยะยาวระหว่างต้น 3 เมตร ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 130 หลุม
2. ถ้าดินที่ใช้ปลูกเป็นดินดี มีความอุดมสมบูรณ์พอประมาณ ควรปลูกระยะระหว่างแถวและระหว่างต้น 3 เมตร เหมือนกับในเนื้อที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 176 หลุม
3. ถ้าดินที่ปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ ควรปลูกให้มีระยะระหว่างแถว 3 เมตร และระยะระหว่างต้น 2 เมตรครึ่ง ในเนื้อที่ 1 ไร่จะปลูกได้ประมาณ 212 หลุม
วิธีปลูก ควรจะขุดหลุมให้กว้างประมาณ 1 คืบ ลึกประมาณ 2 นิ้ว แล้ววางเมล็ดลงไปในหลุม 2-3 เมล็ด โดยวางเมล็ดให้ห่างกันประมาณ 4 นิ้ว แล้วใช้ดินกลบหน้าประมาณ 2 นิ้ว เมล็ดละหุ่งจะใช้เวลางอกประมาณ 10 ถึง 12 วัน ดังนั้นการปลูกไม่ควรฝังเมล็ดให้ตื้นนัก เพราะถ้าไม่มีฝนตก หลังจากการปลูกไปแล้ว จะทำให้เมล็ดเสียหายได้ การปลูกโดยวิธีดังกล่าวนี้ในเนื้อที่ 1 ไร่ จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ประมาณ 1 กิโลกรัม เนื่องจากละหุ่งเป็นพืชที่มีลำต้นสูง การปลูกจึงควรเว้นระยะต้นและระยะระหว่างแถวให้ห่างดังกล่าว ดังนั้น ในระยะแรกที่ต้นยังเล็กอยู่ ควรจะปลูกพืชไร่ชนิดอื่นเป็นพืชแซมไปด้วยจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น พืชไร่ที่ควรปลูกเป็นพืชแซมกับละหุ่งได้แก่ ถั่วลิลง ถั่วเหลือง โดยโช้ระยะปลูกระหว่างแถวละหุ่ง
การบำรุงรักษา
การดายหญ้าและการพรวนดิน หลังจากละหุ่งงอกแล้ว 15-21 วัน ให้ถอนต้นที่ไม่งอกออกทิ้งเสีย เหลือไว้แต่ต้นที่แข็งแรงหลุมละ 1 ต้น พร้อมทั้งดายหญ้าและพรวนดินรอบๆ โคนต้นไปด้วย ถ้าหลุมใดไม่งอกก็ปลูกซ่อมเสียใหม่ การพรวนดินและดายหญ้า ควรทำอยู่เสมอตลอดอายุของละหุ่ง การปลูกพืชแซมเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยกำจัดวัชพืชต่างๆ ไปในตัวด้วย
การใส่ปุ๋ย สำหรับดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ต่ำ และได้ใช้ปลูกพืชติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ถ้าหากจะปลูกละหุ่งก็ควรใส่ปุ๋ยบ้าง ปุ๋ยที่ควรใช้คือปุ๋ยสูตร 10-10-10 อัตราส่วนไร่ละ 50 กิโลกรัม
การใส่ปุ๋ยควรแบ่งใส่ 2 ครั้งๆ ละเท่าๆ กัน คือเมื่อละหุ่งอายุ 15-21 วัน ครั้งหนึ่ง และส่วนที่เหลือใส่เมื่อละหุ่งอายุได้ 1 เดือนครึ่งถึง 2 เดือน วิธีใส่ปุ๋ยใช้หว่านรอบๆ ห่างจากต้นละหุ่งประมาณ 1 คืบ แล้วใช้จอบพรวนดินกลบ การใช้ปุ๋ยกับดินดังกล่าวอย่างถูกวิธีจะให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นไร่ละ 80-100 กิโลกรัม
การเด็ดยอด การปลูกละหุ่งให้ได้ผลผลิตสูง อาจทำได้อีกวิธีหนึ่งคือ เมื่อต้นละหุ่งสูงประมาณ 2 ศอก หรือครึ่งเมตร ควรทำการเด็ดยอดเสีย จะช่วยให้ต้นละหุ่งแตกกิ่งก้านสาขามากขึ้น และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น การเด็ดยอดนี้ ควรทำหลังจากมีฝนตกมากๆ อย่าเด็ดยอดในขณะที่ยังมีความแห้งแล้ง จะทำให้ต้นละหุ่งชะงักการเจริญเติบโต
การป้องกันและกำจัดศัตรูละหุ่ง ละหุ่งมีแมลงศัตรู ทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงอยู่ 2 ชนิดคือ
ก. หนอนคืบละหุ่ง เป็นหนอนของผีเสื้อกลางคืน มีการเจริญเติบโตเป็น 4 ระยะดังนี้ เป็นไข่ 2-3 วัน เป็นหนอน 15-21 วัน เป็นดักแด้ 7-9 วัน เป็นผีเสื้อ 15-20 วัน
ผีเสื้อตัวหนึ่งสามารถวางไข่ได้ประมาณ 400 ฟอง มักวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ สีเขียวอ่อนอยู่ตามริมใบตอนใต้ใบ หนอนเมื่อโตเต็มที่ยาวประมาณ 2-2 ½  ผิวหนังสีเทาม่วงดำ และแดงปนกัน ผีเสื้อสีน้ำตาลอ่อนปนเทา ปีกคู่ที่สองมีสีดำปนขาว ปีหนึ่งอาจระบาดได้ 2-3 รุ่น หนอนชนิดนี้เมื่อระบาดมากๆ จะกัดกินใบละหุ่งจนเหลือแต่ก้าน เป็นเหตุให้ต้นทรุดโทรม หากเกิดระยะที่ละหุ่งกำลังมีลูกอ่อน จะทำให้เหี่ยวแห้งเสียหายได้
การป้องกันกำจัด
1. ควรปลูกละหุ่งให้มีระยะพุ่มต้นห่างกันพอสมควร ไม่ควรปลูกชิดกันเกินไปจนกระทั่งปลายใบละหุ่งชิดกัน จะทำให้หนอนไต่ใบไปถึงกันได้
2. ควรปลูกละหุ่งเป็นแปลงเล็กสลับกับพืชอื่นๆ เป็นระยะๆ เพื่อป้องกันไม่ให้หนอนทำลายได้รวดเร็ว เมื่อเกิดการระบาดขึ้นและสามารถกำจัดได้ทัน
3. ควรตรวจไร่ละหุ่งอยู่เสมอ ถ้าพบหนอนควรรีบกำจัดทำลายเสีย เพื่อมิให้หนอนแพร่ระบาดต่อไป
4. ถ้าหากหนอนระบาดจำนวนมาก ต้องรีบกำจัดเพื่อมิให้เกิดความเสียหาย ควรพ่นยาอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
พ่นยาสารหนูตะกั่ว ในอัตรา 5-6 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ การพ่นยาสารหนูตะกั่วควรทำในระยะหนอนระบาด เพราะพิษของสารหนูตะกั่วไม่อาจกำจัดหนอนได้ทันที หากหนอนระบาดมากแล้วจะกำจัดไม่ทัน อาจทำให้ละหุ่งเสียหาย
พ่นด้วยยาเซวิน 50% ในอัตราส่วนยา 4 ช้อนสังกะสี ต่อน้ำ 1 ปี๊บ
การพ่นด้วยยาดังกล่าว จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะยาเหล่านี้เป็นยาอันตรายควรปฏิบัติตามสลากยาอย่างเคร่งครัดด้วยเพราะอาจจะเกิดอันตรายต่อผู้ใช้ได้
ข. เพลี้ยจั๊กจั่น แมลงชนิดนี้นอกจากจะเป็นศัตรูตัวสำคัญของละหุ่งแล้ว ยังเป็นศัตรูสำคัญของฝ้ายและถั่วลิสงด้วย รูปร่างของเพลี้ยจั๊กจั่นชนิดนี้ ตัวอ่อนสีเขียวแกมเหลืองเป็นสีซีดๆ ต่อไปจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว มีสีเหลืองอ่อนปนเล็กน้อย ตัวอ่อนลักษณะทั่วไปคล้ายตัวแก่แต่ยังไม่มีปีก เพลี้ยจั๊กจั่นจะเจริญจากไข่จนเป็นตัวแก่ประมาณ11-17 วัน เพลี้ยจั๊กจั่นตัวอ่อนและตัวแก่ดูดน้ำเลี้ยงจากใบละหุ่ง ทำให้ใบ ละหุ่งแห้งไหม้เป็นจุดๆ ริมใบแห้งกรอบ ใบจะหลุดลงและร่วงหล่นไปในที่สุด ในฤดูแล้งหรือระยะที่ขาดฝนนานๆ หากมีเพลี้ยจั๊กจั่นมากละหุ่งจะแสดงอาการเสียหายอย่างหนัก เห็นได้ชัด
การป้องกันและกำจัด
1. การล่อตัวแก่มาทำลาย จุดตะเกียงที่มีแสงสว่างมากๆ แล้วางอ่างใส่น้ำผสมน้ำมันก๊าด หรือน้ำมันขี้โล้วางไว้ใกล้ๆ เมื่อแมลงมาเล่นไฟจะได้ตกลงไปตาย
2. ใช้ยาต่างๆ พ่นคือ
-D.D.T. 25 % ชนิดน้ำในอัราส่วนน้ำยา 7-8 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ
-เซวิน 50 % ในอัตราส่วนยา 4 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ
-เมทาชีสท๊อก 25 % ชนิดน้ำ ในอัตราส่วนน้ำยา 2 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ
-ไดเมทโธเอท 20 % ชนิดน้ำ ในอัตราส่วน น้ำยา 2-3 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ
การพ่นยาดังกล่าวนี้ ควรใช้ประมาณ 7-15 วันต่อครั้ง จนกว่าเพลี้ยจะลดน้อยลง ไม่สามารถทำความเสียหายต่อไปได้
การเก็บเกี่ยว
ตามปกติละหุ่งจะเริ่มออกช่อแรกเมื่ออายุประมาณ 2-3 เดือน และเก็บผลรุ่นแรกได้เมื่ออายุประมาณ 4-5 เดือน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวนน้ำฝน ถ้าฝนแล้งละหุ่งจะออกช่อช้ากว่ากำหนดที่กล่าวแล้ว ผลละหุ่งจะเริ่มแก่ขึ้นไปจากส่วนล่างสุดของช่อ โดยจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาล และแก่ทยอยตามกันขึ้นไปจนถึงส่วนปลายช่อ การเก็บละหุ่งควรลงมือเก็บเมื่อแก่หมดแล้วทั้งช่อ เพราะการเก็บผลละหุ่งอ่อนจะทำให้ปริมาณน้ำมันในเมล็ดลงมาก และมีน้ำหนักน้อย
สำหรับในฤดูฝน มักปรากฎว่าผลละหุ่งจะลีบมาก  ในกรณีเช่นนี้เมื่อเก็บมาแล้ว ควรตัดเอาผลที่มีเมล็ดลีบออกทิ้งเสียก่อน เมื่อเก็บช่อละหุ่งมาแล้ว ให้เอาตากแดดสัก 2-3 แดด แล้วใช้ไม้เล็กๆ ตีลงไปบนกองละหุ่งนั้นเพียงเบาๆ เมล็ดก็จะแตกกระจายออกมา ใช้กระด้งฝัดเอาเปลือกและผงออกให้หมด เมล็ดละหุ่งจะสะอาดพร้อมที่จะส่งออกตลาดได้ การปลูกละหุ่งให้ได้ผลดี ควรปลูกใหม่ทุกๆ ปี