การปลูกหน้าวัว

ที่มา:วันดี ใจนิ่ม

สถานีทดลองพืชสวนบางกอกน้อย

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าหน้าวัวเป็นไม้ตัดดอกที่ตลาดต้องการมาก มีรูปทรงของดอกที่แปลกคือมีจานรองดอกเป็นรูปหัวใจ สีสวย บานทน มีอายุการใช้งานนานวัน ที่สำคัญคือออกดอกได้ตลอดปี ปลูกเลี้ยงง่าย ถึงแม้จะทิ้งไว้ในแปลงปลูก หรือในกระถางนานนับปี หากมีการให้นํ้า ให้ปุ๋ยอีก ต้นหน้าวัวก็ยังคงสภาพอยู่ได้

หน้าวัวต้นแรกนำเข้ามาปลูกในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2440 เป็นเวลานานถึง 91 ปีแล้ว แต่หน้าวัวยังไม่สามารถผลิตเป็นไม้ตัดดอกที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย หรือเป็นอุตสาหกรรมผลิตดอกดังเช่นที่มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนำไปปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2432 ก่อนประเทศไทยเพียง 8 ปี แต่สามารถพัฒนาเป็นไม้ตัดดอกเพื่อส่งไปจำหน่ายยังสหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมันและญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.2527 สามารถทำรายได้ให้สูงถึง 200 ล้านบาท ปัจจุบันที่ฮาวายได้ผลิตหน้าวัวที่มีรูปทรงแตกต่างกันออกไปอีก นอกจากนี้ใบหน้าวัวยังมีความเป็นมันสามารถตัดใบจำหน่ายได้อีกด้วย ซึ่งเป็นโอกาสอันดีที่เราจะหาหน้าวัวพันธุ์ใหม่ ๆ เหล่านี้มาปลูกในบ้านเราได้ เพราะประเทศไทยมีภูมิอากาศคล้ายคลึงกับมลรัฐฮาวาย และสามารถปลูกเลี้ยงได้ง่ายตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นอกจากนี้ปัจจุบันยังมีเทคโนโลยีในการขยายพันธุ์พืชให้ได้จำนวนมาก ในระยะเวลาอันสั้น โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ดังนั้นถ้ามีพันธุ์ที่เหมาะสมที่จะปลูกเป็นการค้า ก็สามารถที่จะทำการขยายพันธุ์ให้มีปริมาณเพียงพอเพื่อปลูกเป็นการค้าโดยไม่ต้องใช้เวลานานดังที่เป็นมาในอดีต ดังนั้นก่อนที่จะปลูกหน้าวัวเรามารู้จักต้นหน้าวัวกันเสียก่อน

หน้าวัวมีต้นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้ เป็นไม้ดอกไม้ประดับอยู่ในตระกูล Araceae หรือ Arum สกุล Anthurium มีชื่อสามัญหลายชื่อคือ Anthurium, Flamingo flower หรือ Piggy-tail flower พืชในตระกูล Araceae นี้มีอยู่ด้วยกันกว่า 100 สกุล ประมาณ 1,500 ชนิด ลักษณะทั่วไปเป็นไม้เนื้ออ่อน ลำต้นตั้งตรงค่อนไปทางไม้เลื้อย การเจริญเติบโตมีลักษณะเป็นกอ ต้นจะโตสูงขึ้นและทิ้งใบล่าง ข้อสั้น ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ปลายใบแหลม บริเวณใต้ใบเส้นใบนูนเป็นสันขึ้นมา ต้นหนึ่งจะมีใบประมาณ 4-8 ใบ เมื่อมีใบใหม่จะมีดอกเกิดขึ้นตามมาเสมอ ยกเว้นบางพันธุ์ ดอกหน้าวัวเกิดจากตาที่อยู่เหนือก้านใบ โดยทั่วไปเข้าใจว่าจานรองดอกคือตัวดอก ตัวดอกที่แท้จริงนั้นมีขนาดเล็กเรียงกันอยู่บนปลีซึ่งเป็นส่วน ของก้านดอก ดอกแต่ละดอกจะมีทั้งเกสรตัวผู้ และเกสรตัวเมีย แต่บานไม่พร้อมกัน เกสรตัวเมียจะบานก่อนเกสรตัวผู้

พันธุ์หน้าวัว

หน้าวัวที่จะปลูกเป็นไม้ตัดดอกนั้นควรมีการคัดเลือกลักษณะเป็นต้นที่มีการเจริญเติบโตและแตกหน่อได้ดี ผลิตดอกไม่ต่ำกว่า 6 ดอกต่อยอดต่อปี ช่วงปล้องสั้นซึ่งช่วยยืดระยะการย้ายปลูก จานรองดอกควรเป็นรูปหัวใจ หูดอกต้องชิดกันหรือซ้อนกันเล็กน้อย ไม่ตั้งขึ้น โคนของหูดอกควรแยกจากกันจนถึงปลาย ก้านดอก ปลีดอกควรจะเอนราบกับจานดอกและยาว ราว 2/3 หรือ 3/4 ของจานดอก สีดอกต้องสดใสและเป็นมัน นอกจากนี้ต้องมีความต้านทานหรือทนต่อโรค ดังนั้นการพัฒนาไม้ตัดดอกเพื่อการส่งออกนั้น เราจึงควรมีการสั่งพันธุ์การค้ามาจากมลรัฐฮาวาย ซึ่งได้รับการปรับปรุงพันธุ์และส่งหน้าวัวเป็นไม้ตัดดอก เพื่อการส่งออกอยู่แล้ว ซึ่งมีพันธุ์ที่น่าสนใจอยู่หลายพันธุ์ ด้วยกันดังนี้

พันธุ์จานรองดอกสีแดง

1. Ozaki เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกมากที่สุด จานรองดอกเป็นรูปหัวใจมีสีแดงสด ขนาดจานรองดอก 6 ½ -x 6 ¼  นิ้ว ปลีสีแดงอมม่วงความยาว 3 ½ นิ้ว ให้ผลผลิตสูง แตกกอดี ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส

2. Kansoko จานรองดอกรูปหัวใจสีแดง หูดอกชิดซ้อนกันเล็กน้อย ขนาดจานรองดอก 5 ¼ -X 4 ½  นิ้ว ปลีแนบไปกับจานรองดอก ยาว 3 ¾  นิ้ว ให้ผลผลิตสูง แต่อ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนส

3. Kaumana จานรองดอกรูปหัวใจสีแดงเข้ม หูดอกห่างเล็กน้อย ขนาดจานรองดอก 5 ¼ -x 4 ¼  นิ้ว ปลีสีขาวแนบไปกับจานรองดอก ยาว 3 ½  นิ้ว ให้ ผลผลิตสูง แตกหน่อมาก ขยายพันธุ์ได้เร็ว อ่อนแอต่อโรคแอนแทรคโนส

พันธุ์จานรองดอกสีส้ม

1. Nitta จานรองดอกรูปหัวใจกว้าง สีส้มสดใส หูดอกชิดซ้อนกันเล็กน้อย ขนาดจานรองดอก 6×5 นิ้ว ปลีสีขาวแนบไปกับจานรองดอก ความยาว 3 ¾  นิ้ว การเจริญเติบโตดี ให้ผลผลิตปานกลาง

2. Nagai จานรองดอกรูปหัวใจ สีส้ม หูดอกชิด ขนาดจานรองดอก 5×4 นิ้ว ปลีสีขาวแนบไปกับจานรองดอก ความยาว 3 ½  นิ้ว อายุการใช้งานดี การเจริญเติบโตดี

พันธุ์จานรองดอกสีชมพู

1. Marian Seefurth จานรองดอกรูปหัวใจสีชมพู เมื่อแก่สีจะซีดลง ขนาดจานรองดอก 6 ½ X 5 ½  นิ้ว หูดอกซ้อนกัน ปลีสีเหลืองปนเขียวนิดหน่อย ปลีนอน เมื่อยังอ่อนอยู่จะเปลี่ยนเป็นสีขาวและชี้ขึ้นเมื่อแก่ผลผลิตสูง การเจริญเติบโตดี ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส ข้อปล้องสั้น

2. Paradise Pink จานรองดอกรูปหัวใจสีชมพู ขนาดจานรองดอก 7 ¼  X 6 ¼  นิ้ว หูดอกชิดกันแต่ไม่ซ้อน ปลีสีเหลือง เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีขาว ยาว 4 นิ้ว ให้ผลผลิต 6 ดอก/ต้น/ปี การแตกกอไม่ดี ข้อปล้องสั้น ต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส

พันธุ์จานรองดอกสีขาว

1. Manoa Mist จานรองดอกรูปหัวใจสีขาว ขนาดจานรองดอก 7 X 5 ½  นิ้ว หูดอกซ้อนกันเล็กน้อย ปลีสีขาวเหลืองแนบไปกับจานรองดอก มีคุณภาพดี หลายอย่าง ก้านดอกยาว จานรองดอกหนา ข้อปล้องสั้น ให้ผลผลิตสูง และต้านทานต่อโรคแอนแทรคโนส

พันธุ์จานรองดอกสีอื่น ๆ และรูปทรงอื่น

หมายถึงหน้าวัว หน้าควาย เปลวเทียน ลูกผสมที่เกิดจากหน้าวัว หน้าควาย และเปลวเทียน ซึ่งมีสีต่าง ๆ ด้วยกัน เช่น สีชมพู สีขาว สีม่วง สีเขียว สีแดง และ สีส้ม ได้แก่ Dusty Rose มีสีชมพูอมแดง Tulip seedlings, Calypso, Amnicota, Hidden Treasure. Brown และ Flamingo ฯลฯ

หน้าวัวที่ปลูกเป็นการค้าของประเทศไทยนั้น มีพันธุ์ดวงสมร ซึ่งมีจานรองดอกสีแดง เป็นพันธุ์ที่นิยมปลูกกันมากที่สุด เนื่องจากสีสดใส ให้ผลผลิตสูง ปลูกเลี้ยงง่าย ขายได้ราคาดี รองลงมาได้แก่พันธุ์ จานรองดอกสีขาว ได้แก่ขาวนายหวานและจานรองดอกสีส้ม ได้แก่ พันธุ์ผกามาศ

การปลูกเลี้ยงหน้าวัวอาจกล่าวว่าทำได้ไม่ยาก เพียงแต่รู้นิสัยของหน้าวัว เช่น เป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูง เครื่องปลูกโปร่ง มีการระบายนํ้าดี ต้องการร่มมากกว่าแดด อุณหภูมิไม่ควรตํ่ากว่า 13 เซลเซียส และไม่ชอบลมโกรก เป็นต้น

การเริ่มเลี้ยงหน้าวัวเพื่อให้ได้ผลดีนั้น ควรมีการเตรียมงานเป็นขั้น ๆ เพื่อที่พืชจะได้ไม่ชะงักการเจริญเติบโต ทั้งนี้เพราะการขนย้ายและการนำไปเลี้ยงในที่ใหม่ ซึ่งมักจะมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันนั้น ย่อมจะทำให้ชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้น ถ้ามีการเตรียมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เรียบร้อยแล้ว ปัญหาเรื่องการชะงักการเจริญเติบโตของพืชก็จะลดลงไปได้มาก

โรงเรือน

เนื่องจากหน้าวัวเป็นพืชที่ต้องการร่มมากกว่าแดด และไม่ชอบลมโกรก ดังนั้นโรงเรือนจึงเป็นสิ่งจำเป็น ลักษณะของโรงเรือนควรเป็นเรือนไม้ระแนง ซึ่งขนาดไม้ระแนงที่ใช้กันโดยปกติก็คือ 1 X 1 นิ้ว หลังคาของโรงเรือนนับว่ามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการที่ไม้ระแนงจะต้องตีให้ไม้ระแนงขนานกันในแนวทิศ เหนือ – ใต้ เพื่อที่จะให้แสงแดดที่ลอดผ่านไม้ระแนงลงมา ก็จะมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา จึงไม่ทำให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของพืชได้รับแสงแดดโดยตรงตลอดทั้งวัน สำหรับระแนงด้านข้างหรือฝาด้านตั้งทางทิศตะวันออก และตะวันตกให้ตีตามนอน เพื่อให้ต้นหน้าวัวได้รับแสงแดดสมํ่าเสมอทั่วกัน ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตของต้น จำนวนดอก ขนาดดอกและความยาวก้าน ถ้าหน้าวัวได้รับแสงแดดมากจะทำให้ใบเหลือง ขอบใบไหม้ ต้นชะงักการเจริญเติบโต แต่ถ้าร่มเกินไปใบหน้าวัวจะมีการเจริญเติบโตดี ใบสีเขียวเข้ม หนา แต่ดอกไม่ดก

สำหรับโรงเรือนที่ต้องการประหยัด อาจใช้ไม้ไผ่ หรือไม้รวกซีกตีแทนไม้ระแนงก็ได้ แต่ควรจะตีหงายขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดการเจาะไชของมอด หรือถ้าให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ก็นำไม้ไผ่หรือไม้รวกไปแช่นํ้าไว้ 2-3 อาทิตย์เป็นอย่างน้อย แล้วจึงนำมาใช้ก็จะดียิ่งขึ้น

การตีระแนงด้านข้างของโรงเรือน ไม่จำเป็นต้องพิถีพิถันนัก อาจจะประหยัดได้โดยการปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่ง พอเป็นเครื่องบังไม่ให้แสงแดดลอดเข้ามามากเกินไป อีกทั้งเพื่อป้องกันกระแสลมแรง ๆ ด้วย เพราะกระแสลมจะช่วยพัดพาเอาความชื้นภายในโรงเรือนไป ความสูงของโรงเรือนไม่ควรต่ำกว่า 2.50 เมตร

ส่วนภายในโรงเรือนที่ใช้วางกระถางต้นหน้าวัว ควรให้ชื้นอยู่เสมอเพราะหน้าวัวต้องการความชื้นสูง จึงควรที่จะใช้ทรายหรือแกลบปูพื้นหนาอย่างน้อย 6 นิ้ว ทุบให้แน่นแล้วจึงปูด้วยอิฐมอญอีกชั้นหนึ่งก็ได้ ทำให้มีการระบายนํ้าสะดวก และทำให้โรงเรือนมีความชื้นสูง การปลูกหน้าวัวอาจไม่ต้องสร้างโรงเรือนไม้ ระแนงก็ได้ ซึ่งเป็นการประหยัดโดยอาศัยร่มเงา เป็นที่ปลูกหรือตั้งกระถางหน้าวัว แต่ไม่ควรเป็นที่ร่มทึบ ควรมีแสงส่องผ่านได้บ้าง เช่น ที่ภูเก็ต มีการปลูกหน้าวัว ซึ่งมีลักษณะเหมือนเปลวเทียนใต้ร่มเงาของต้นยาง ในสวนยาง ซึ่งสามารถให้ผลผลิตดอกสูง

การปลูก มีวิธีการปลูก 2 อย่าง คือ

1. การปลูกหน้าวัวในกระถาง โดยรองอิฐที่ระบายนํ้าก้นกระถาง แล้วใส่เครื่องปลูกประมาณ 1/5 ของความสูงกระถาง แล้วนำต้นหน้าวัวที่มีราก

อย่างน้อย 2-3 ราก แช่ในน้ำยาป้องกันราเรียบร้อยแล้ววางบนเครื่องปลูกให้ต้นอยู่ตรงกลางกระถางจัดรากให้แผ่กระจายแล้วค่อย ๆ เอาอิฐเติมลงไปรอบ ๆ โคนต้น โดยระวังอย่าให้รากหน้าวัวซํ้าและขาด ยึดลำต้นให้แน่น อย่าใส่เครื่องปลูกจนกระทั่งทับยอดหน้าวัว เพราะจะทำให้ยอดเน่า แล้วรดนํ้าให้ชุ่ม เมื่อต้นหน้าวัวเจริญเติบโตขึ้นค่อย ๆ เติมอิฐไปเรื่อย ๆ จนถึงปากกระถางจึงหยุด ขณะที่ต้นหน้าวัวเจริญเติบโตขึ้นมา ใบล่างจะร่วงหล่นไป ส่วนรากจะเกิดออกจากลำต้นใต้ใบเสมอ ทำให้รากเจริญเหนือเครื่องปลูกขึ้นเรื่อย ดังนั้นการค่อย ๆ เติมเครื่องปลูก ก็เป็นการช่วยให้รากจับยึดกับอิฐได้อย่างมั่นคง กระถางที่ใช้ปลูกต้นหน้าวัวควรเลือกใช้กระถางชนิดที่เก็บความชื้นได้ดี เช่นกระถางดินเผา และควรเลือกขนาดกระถางให้เหมาะกับขนาดของต้นหน้าวัว คือต้นเล็กควรให้กระถางเล็ก เมื่อโตก็เปลี่ยนกระถางให้ใหญ่ขึ้น ต้นที่ได้จากการตัดยอดชำหรือแยกหน่อ ก็ปลูกลงในกระถางขนาด 8-10 นิ้ว สำหรับต้นที่ปลูกเพื่อตัดดอกเป็นการค้าควรใช้กระถางขนาด 10-12 นิ้ว

2. การปลูกหน้าวัวในแปลง แปลงปลูกต้องอยู่ในโรงเรือน หรือใต้ร่มไม้ใหญ่ การทำแปลงปลูกโดยขุดดินลึกประมาณ 1 ฝ่ามือ ปรับพื้นให้เรียบ แล้วเอา ขี้เถ้าแกลบและทรายผสมกันแล้วใส่ลงไป (ขี้เถ้าแกลบ 2 ส่วน ผสมทราย 1 ส่วน) อัดให้แน่นทำเป็นแปลงกว้าง 1-2 เมตร ส่วนความยาวแปลงนั้นอยู่ที่ความพอใจ ระยะปลูก 30x 30 เซนติเมตร สามารถปลูกได้ 4 แถว ในระยะแรกให้ใช้หลักปักผูกกับต้นหน้าวัวได้ ทุบอิฐเป็นก้อนเล็ก ๆ วางรอบรากให้มิด แล้วใช้กาบมะพร้าว คลุมอีกที เพื่อป้องกันรากแห้งรดนํ้าวันละ 2-3 ครั้ง

การให้นํ้า

หน้าวัวต้องการความชื้นในอากาศสูง ถ้าเครื่องปลูกมีการระบายนํ้าดีแล้ว การให้น้ำวันละ 3 เวลา คือ เช้า กลางวัน และเย็น จะช่วยให้หน้าวัวได้รับความชุ่มชื้นเต็มที่ หรือให้อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ถ้ามีทุนสูง ควรใช้ระบบพ่นฝอยลงมาจากหลังคาโรงเรือน หรือ ติดหัวฉีดแบบฝอยเหนือพื้นดินประมาณ 2 เมตร จะช่วยให้บรรยากาศโดยรอบมีความชื้นสูง หน้าวัวจะเจริญเติบโตเร็วและให้ดอกมากในฤดูฝน ในวันที่มีอากาศร้อนจัดมาก ควรพรางแสงเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นใบและต้นหน้าวัวจะไหม้และชะงักการเจริญเติบโต นํ้าที่ใช้ควรเป็นนํ้าจืดและนํ้าที่สะอาด

การให้ปุ๋ย

สำหรับปุ๋ยที่ให้กับหน้าวัวได้แก่สูตร 5-10-10, 10-20-20, หรือ 16-16-16 หรือปุ๋ยสูตรเดียวกับกล้วยไม้ โดยละลายกับนํ้าให้ปุ๋ยละลายให้หมดแล้วโปรยหรือฉีดพ่นไปบนต้นและใบ หรืออาจให้ปุ๋ย Osmocote สูตร 14-14-14 ซึ่งละลายตัวปลดปล่อยธาตุอาหารอย่างช้า ๆทุกๆ 3-4 เดือน

การตัดดอก

การตัดดอก เพื่อส่งจำหน่ายนั้น ผู้ตัดควรจะเลือกเฉพาะดอกที่ปลีดอกเปลี่ยนสีแล้ว ½ – 2/3 ของทั้งหมด ปกติควรกระทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่ถ้าปลูกจำนวนมากอาจตัดดอก 2 ครั้งก็ได้ เมื่อตัดแล้วจะต้องจุ่มดอกในนํ้าละลายมาลาไธออน เพื่อกำจัดเพลี้ยไฟที่อาจติดมากับดอก จากนั้นผึ่งให้ดอกแห้ง แล้วบรรจุหีบห่อ หรือเก็บรักษา ณ อุณหภูมิ 12° เพื่อรอการบรรจุหีบห่อ

การบรรจุหีบห่อนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นกับผู้จำหน่าย เช่น ปักปลีดอกลงในฝอยกระดาษ แล้วโน้มให้ก้านดอกราบลง หรือโน้มปลีดอกให้ขนานกับก้านดอก โดยมีหรือไม่มีกระดาษไขกั้นก็ได้ แล้ววางราบบนฝอยกระดาษหรืออาจสอดดอกในถุงพลาสติก ซึ่งเจาะให้ปลีดอกผ่านออกมาได้ แล้วสอดปลีดอกลงในฝอย กระดาษและโน้มก้านดอกลง หลังจากวางดอกได้ 1 แถวแล้ว ผู้บรรจุหีบห่อจะฉีดนํ้าลงรอบ ๆ ดอกและก้านดอก เพื่อให้ความชื้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการผลิตดอกหน้าวัว เพื่อส่งไปจำหน่ายในต่างประเทศของมลรัฐฮาวาย

การขยายพันธุ์หน้าวัว

การขยายพันธุ์หน้าวัวนั้นมีด้วยกันหลายวิธี ได้แก่

1. การตัดชำยอด จะกระทำต่อต้นหน้าวัวค่อนข้างโต เพราะการตัดยอดไปปลูกนั้น จะต้องมีรากติดอย่างน้อย 2-3 ราก หน้าวัวที่สูงพอจะแตกรากออกมาจนตัดได้นั้น ก็ต้องมีอายุเกิน 1 ปีขึ้นไป และสูงขึ้นมาพ้นระดับเครื่องปลูก ควรตัดเมื่อใบยอดแก่ ถ้ามีดอกให้ตัดออก เพราะดอกติดอยู่ทำให้เหี่ยวและเน่าง่าย ทาแผลรอยตัดด้วยปูนแดง (ปูนกินกับหมาก) เพื่อป้องกันเชื้อโรคเข้าทางรอยแผล แล้วนำยอดที่รากติดมานั้นไปปลูกได้เลย ดังวิธีปลูกที่กล่าวมาแล้ว

2. การแยกหน่อ หลังจากที่ตัดส่วนยอดไปปลูกแล้ว ตอที่เหลืออยู่จะมีตาซึ่งเจริญเป็นต้นเล็ก ๆ เรียกว่าหน่อ ประมาณ 1-3 หน่อ เมื่อหน่อเหล่านี้โตพอควร คือ ประมาณ 3-4 เดือน แต่ละหน่อจะมีราก 1-3 ราก จึงจะสามารถแยกหน่อเหล่านี้ไปปลูกต่อได้

3. การชำต้น ถ้าต้นหน้าวัวสูงพ้นเครื่องปลูกมาก ๆ เมื่อตัดส่วนยอดไปชำแล้ว ต้นที่เหลือเป็นตออยู่ ถ้ามีขนาดยาวพอที่จะตัดเอาส่วนนี้ไปชำได้อีก ใช้มีดคมตัดลำต้นเป็นท่อน ๆ ให้แต่ละท่อนมีตาติด 2-3 ตา ทาแผลด้วยปูนแดงเพื่อป้องกันเชื้อรา นำไปชำในอิฐมอญก้อนเล็ก ๆ วางท่อนชำให้ตาอยู่ด้านบน จะวางนอนหรือเอียงเล็กน้อยก็ได้ กลบด้วยอิฐอีกประมาณหนึ่งในสาม วางกระบะชำไว้ในที่ร่มประมาณ 1 เดือน จะแตกเป็นต้นใหม่

4. การใช้เมล็ด ปกติการใช้เมล็ดจะนิยมกับผู้ต้องการปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ดีและพันธุ์ใหม่ เพราะว่าจะได้พันธุ์ที่มีลักษณะที่แตกต่างไปจากพ่อแม่เดิม นอกจากนี้โอกาสที่หน้าวัวจะติดเมล็ดเองก็มีน้อยมาก ต้องมีการผสมเกสรช่วยจึงจะให้เมล็ด ถึงแม้ว่าดอกหน้าวัวเป็นดอกสมบูรณ์เพศมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่เวลาการสุกของเกสรจะแตกต่างกัน คือเกสรตัวเมียจะสุกก่อน โดย เริ่มสุกจากโคนปลีมาหาปลาย เมื่อเกสรตัวเมียสุกหมดแล้ว เกสรตัวผู้จะเริ่มสุกจากโคนปลีมาหาปลายปลีเช่นเดียวกัน ดังนั้นโอกาสของการผสมตัวเองจึงเกิดขึ้นได้ยาก การผสมเกสรจึงต้องกระทำต่างดอกกัน ในภาคกลางจะพบเกสรตัวผู้เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น คือ อยู่ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ จะสังเกตเห็นผงสีขาวเป็นละอองอยู่บนปลี ส่วนดอกตัวเมียนั้นพร้อมที่จะรับเกสรตัวผู้หรือไม่ สังเกตได้จากการมองย้อนแสง ถ้าเห็นละอองใสคล้ายหยดนํ้าเล็ก ๆ และเอานิ้วแตะดูจะรู้สึกเหนียว ซึ่งแสดงว่าพร้อมที่จะผสมแล้ว การผสมอาจจะใช้นิ้วมือหรือพู่กันแตะละอองเกสรตัวผู้ แล้วนำมาแตะบนจุดเหนียว ๆ นี้ การผสมควรทำในตอนเช้า เพราะมองเห็นนํ้าเมือกของเกสรตัวเมียได้ชัดเจน และตอนสายเกสรตัวเมียจะแห้ง เนื่องจากดอกที่อยู่โคนปลีจะทยอยบานก่อน ดังนั้นจึงต้องเริ่มผสมตั้งแต่โคนปลีไล่ไปจนถึงปลายปลี อาจจะใช้เวลา 2-3 วันติดต่อกัน ให้เขียนชื่อพ่อแม่คู่ผสมไว้ด้วย โดยให้ชื่อต้นแม่นำ (ต้นที่ถูกผสม) ตามด้วยต้นคู่ผสม (ต้นพ่อ) และวันเดือนปีที่ผสม คลุมด้วยถุงพลาสติก หรือถุงกระดาษไขระยะเวลาหนึ่ง เพื่อป้องกันการผสมจากแมลงและไม่ให้เกสรตัวผู้หลุดไปเมื่อเวลารดนํ้า หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ ถ้าผสมติดจะสังเกตเห็นการ เปลี่ยนแปลงชัดเจน เนื่องจากรังไข่จะเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่วันผสมถึงเมล็ดแก่ ใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน ผลจะมีขนาดเท่าเมล็ดพริกไทยและเปลี่ยน จากสีเขียวเป็นสีเหลือง สำหรับหน้าควาย (หน้าวัวที่นำมาจากลำปาง) จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงเข้ม แต่ละผลประกอบด้วย 1-3 เมล็ดควรจะนำเมล็ดไปเพาะ ทันทีหลังเก็บเกี่ยว

วัสดุที่ใช้เพาะควรใช้อิฐมอญทุบเป็นก้อนเล็ก ๆ ร่อนเอาฝุ่นผงที่ละเอียดทิ้งไป นำอิฐไปแช่นํ้าสะอาด ทิ้งไว้ 4-5 ชั่วโมง หลังใส่ลงในกระถางขนาด 3-4 นิ้ว ประมาณครึ่งกระถาง ผ่าผลเอาเมล็ดออกมาล้างเมือกออกให้หมด แช่นํ้ายาป้องกันเชื้อรา แล้ววางเมล็ดตามซอกอิฐที่ละเมล็ดห่างกัน 1 ซม. กลบผงอิฐหยาบ ๆ อีกเล็กน้อย แล้วใช้กระจกใสปิดที่ปากกระถาง หรือใช้พลาสติกใสรัดปากกระถาง เพื่อรักษาความชื้นอยู่เสมอ และให้น้ำทางด้านล่างกระถาง เมล็ดจะเริ่มงอก หลังจากเพาะประมาณ 15-20 วัน เมื่อมีใบ 2-3 ใบ ให้แยกกระถางปลูกประมาณ 6 เดือนให้ย้ายลงกระถางปลูกครั้งที่ 2 เมื่ออายุประมาณ 1-1 ½  ปี หน้าวัวจะเริ่มออกดอก

5. การขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช เป็นวิธีการขยายพันธุ์ที่รวดเร็วและได้ปริมาณมากกว่าวิธีอื่น ๆ โดยใช้ส่วนต่าง ๆ ของพืชที่อยู่ในระยะการเจริญเติบโตมาทำการเลี้ยงด้วยอาหารสังเคราะห์ ในสภาพปลอดเชื้อ

โรคของหน้าวัว

1. ปลีเน่า (Spadix rot) ปลีที่อยู่บนจานรองดอก จะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลดำ และเน่าในที่สุด โรคนี้เกิดจากเชื้อรา ซึ่งชอบเจริญเติบโตในเขตอากาศอบอุ่นและ ความชื้นสูง ป้องกันกำจัดได้โดยใช้แมนเน็บ

2. โรคใบแห้ง เกิดจากเชื้อรา โดยจะเริ่มเป็นจุดชํ้าสีเขียวหม่น บนใบจุดนี้จะขยายออกเป็นแผลใหญ่ แผลนี้อาจจะเน่าหรือแห้งกรอบไป มักจะระบาดในฤดูฝน ยาที่ป้องกันกำจัดได้แก่ ยาไดโฟลาแทน 80

3. โรคแอนแทรคโนส มีอาการคล้ายคลึงกับโรคใบแห้งของหน้าวัว แต่มีขอบแผลสีนํ้าตาล และสีเหลืองเห็นชัดเจน แผลค่อนข้างกลม และขยายกว้างไปได้ช้ากว่าโรคใบแห้ง เนื้อเยื่อตรงกลางแผลเป็นสีนํ้าตาล ตรงกลางแผลมักมีเชื้อราเป็นจุดดำเล็ก ๆ เรียงกันเป็นวงซ้อนออกไป เวลาอากาศชื้นอาจมีสปอร์สีส้มอ่อน ๆ เกิดบนจุดเหล่านี้ การป้องกันกำจัดใช้ เบนเลทจะให้ผลดีที่สุด

4. โรครากเน่า เกิดจากเชื้อเห็ดราชนิดหนึ่ง เชื้อนี้เกาะตามก้อนอิฐที่ใช้ปลูกตลอดจนรากของหน้าวัว ทำให้โคนต้นและรากเน่า ควรกำจัดโดยแยกไปทำลาย ต้นและเครื่องปลูกโดยเผาไฟเสีย

5. ใบด่าง (Mosaic) เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้ ดอก-ใบด่างและเสียรูปร่าง ถ้าหน้าวัวเป็นโรคนี้แล้ว ให้ถอนทิ้ง แล้วนำไปเผาไฟ

ศัตรูหน้าวัว

1. เพลี้ยแป้ง และเพลี้ยต่าง ๆ เป็นพวกแมลงที่พบมากที่สุด โดยอาศัยอยู่ตามท้องใบหรือหลังใบ แล้วดูดกินนํ้าเลี้ยงจากใบ ต้น และยอดอ่อน การป้องกัน กำจัดโดยใช้เซฟวิน มาลาไธออน หรือบาซูดิน

2. หนอนกินใบ มีลำตัวสีนํ้าตาลดำ มีหัวใหญ่สีดำ จะทำลายโดยกัดกินใบให้แหว่งหายไปเกือบหมดใบในเวลาอันรวดเร็ว ป้องกันกำจัดโดยใช้ มาลาไธออน

3. ทากและหอยทาก เป็นศัตรูตัวสำคัญของหน้าวัว เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่ปลูกหน้าวัวเหมาะสำหรับการอยู่อาศัยของศัตรูชนิดนี้มาก ดังนั้นถ้าไม่ป้องกันกำจัดเสียตั้งแต่เริ่มระบาดแล้ว ศัตรูนี้จะกัดกินใบและดอกเสียหายหมดในเวลากลางคืน การป้องกันให้ใช้ปูนขาวโรยก้นกระถางและรอบ ๆ โรงเรือน

4. หนูและกระรอก กัดใบอ่อนและใบแก่ของหน้าวัว ทำให้ยอดขาด มักอยู่ใต้กระถางหรือระหว่างซอกทางเดิน ป้องกันกำจัดโดยทำลายโดยตรง หรือใช้ เหยื่อพิษ

อาการผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดกบหน้าวัว ที่ไม่ใช่สาเหตุจากโรคศัตรู

1. ขอบใบแห้ง แสดงว่าได้รับแสงแดดมากเกินไป ควรพรางแสงเพิ่ม และให้นํ้ามากกว่าเดิม

2. ดอกชํ้าและดอกเหี่ยว เกิดในฤดูร้อน แสดงว่าอุณหภูมิในโรงเรือนสูง ควรรีบรดนํ้าและเพิ่มจำนวนครั้งของการให้นํ้าต่อวันมากขึ้น

3. ดอกและใบอ่อนไม่ค่อยคลี่ เกิดจากโรงเรือนร่ม หน้าวัวได้รับแสงแดดน้อย ควรเพิ่มแสงในโรงเรือนให้มากขึ้น

โอกาสที่จะปลูกหน้าวัวเพื่อตัดดอกส่งจำหน่ายต่างประเทศของประเทศไทยนั้นยังมีอีกมาก นอกจากนี้การปลูกเลี้ยงก็ง่าย ขายได้ราคาดี เรามาปลูกหน้าวัว กันเถอะ