การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม:แง่คิดพิจารณาก่อนตัดสินใจเลี้ยงไหม

ณรงค์ฤทธิ์  วิจิตรจันทร์

สถาบันวิจัยหม่อนไหม

กรมวิชาการเกษตร

การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมีในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาเป็นเวลาประมาณ ๗๐-๘๐ ปี แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังนัก จนกระทั่งระยะหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผ้าไหมไทยเริ่มเป็นที่สนใจของชาวต่างประเทศมาก ในปี พ.ศ.๒๕๑๖-๑๗ กระทรวงเกษตรฯ ได้ให้ความสำคัญกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมาก และได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ตั้งศูนย์วิจัยและอบรมหม่อนไหมขึ้นเป็นแห่งแรกที่จังหวัดนครราชสีมา และเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับหม่อนไหมในปัจจุบันเทคโนโลยีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมก้าวหน้าไปได้มาก ขณะนี้มีพันธุ์ไหมที่รับรองพันธุ์แล้วคือ นครราชสีมา ๖๐-๑ และนครราชสีมา ๖๐-๒ พันธุ์หม่อนนครราชสีมา ๖๐ และบุรีรัมย์ ๖๐

ปัจจุบันกสิกรรายย่อยและรายใหญ่ ๆ ให้ความสนใจการเลี้ยงไหม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นที่ยอมรับของกสิกรมากขึ้น กสิกรบางท่านอาจคิดว่าการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนี้ใช้เวลาสั้น ความต้องการของตลาดมีมากและยาวนาน จึงได้หันมาสนใจ

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะลงมือหรือตัดสินใจยึดการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพหลัก ก็มีข้อที่น่าจะต้องทราบและศึกษา เตรียมตัวให้พร้อมก่อน ดังนี้

๑.  การจัดการส่วนหม่อน เป็นหัวใจสำคัญอันดับแรก เพราะเป็นอาหารชนิดเดียวของตัวไหม หม่อนเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขยายพันธุ์ได้เร็ว เพียงนำไปปักชำลงในแปลงปลูกก็ขึ้นได้ดี แต่จะทำอย่างไรให้ได้ใบหม่อนที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางอาหารสูง และปริมาณผลผลิตต่อไร่สูง จะตัดแต่งและเก็บเกี่ยวอย่างไรให้พอเพียงพอเหมาะ พอดีกับการเลี้ยงไหม แต่ละวัยแต่ละครั้ง

การเลี้ยงไหม ๑ แม่ (ไหมลูกผสมผลิตในประเทศ) ต้องใช้ใบหม่อนที่ดี ๑๒-๑๕ กก. จะได้รังไหม ๓๐๐-๔๐๐ รัง รังสด ๑ กก. หากเลี้ยงได้ดีจะมีรังประมาณ ๘๐๐-๘๕๐ รัง ถ้าเลี้ยงไหมครั้งละ ๔-๖ กล่อง จะได้รังสด ๑๐๐-๑๕๐ กก. หรือสาวเป็นเส้นได้ ๑๒-๑๘ กก. ซึ่งจะใช้ใบหม่อนครั้งละ ๒,๔๐๐-๓,๖๐๐ กก. ถ้าจะคิดเป็นเนื้อที่ปลูกหม่อนที่ดินดีปานกลางก็ประมาณ ๒-๓ ไร่ ดังนั้นแต่ละปีเลี้ยงไหม ๖-๗ ครั้ง จะต้องมีสวนหม่อน ๒๐-๓๐ ไร่ ใช้เวลาไม่เกิน ๒๕๐ วันต่อปี ก็จะมีรายได้สูงถึง ๘๐,๐๐๐-๙๐,๐๐๐ บาท เป็นตัวเลขที่น่าจะทำให้ผู้หันความสนใจมาปลูกหม่อนเลี้ยงไหม พอใจไม่ใช่น้อย ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดสวนหม่อน การบำรุงรักษา การตัดแต่ง และการเก็บเกี่ยวที่ดี ซึ่งผู้จะเริ่มต้นปลูกหม่อนเลี้ยงไหมต้องสนใจถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดด้วย

๒.  ศึกษาว่าช่วงเดือนใดเหมาะกับการเลี้ยงไหม และมีอุปสรรคหรือเลี้ยงง่าย จากสถิติจะเห็นว่าช่วงตั้งแต่ปลายเดือนกันยายน-ธันวาคม เป็นช่วงที่มีใบหม่อนสมบูรณ์ปริมาณมาก เนื่องจากหม่อนจะได้รับน้ำฝนจากเดือนเมษายนครั้งหนึ่ง พอมาสิงหาคมก็จะได้น้ำฝนอีกระยะปลายเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว อุณหภูมิและความชื้นเหมาะกับการเลี้ยงไหมมากที่สุด ไหมจะเจริญเติบโตดีผลผลิตสูง ตลอดจนคุณภาพของเส้นใยและการสาวเส้นไหมดีด้วย สิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสมกับการเกิดโรคต่าง ๆ อีกด้วย ฉะนั้น การเลี้ยงไหมช่วงนี้จะดีที่สุด  ผู้เลี้ยงไหมควรจะเลี้ยงให้มากในช่วงเดือนดังกล่าว นอกจากช่วงเดือนกันยายน-กุมภาพันธ์ ควรลดจำนวนการเลี้ยงให้น้อยลงและหันไปบำรุงรักษา ตัดแต่งหรือเตรียมสวนหม่อนไว้สำหรับเดือนที่เหมาะสมในครั้งต่อไป หากจัดการให้ดีจะสามารถเลี้ยงได้ ๕-๖ รุ่น ทั้งนี้ ต้องมีอาคาร และอุปกรณ์ ให้พร้อม

๓. การดูงานและศึกาตามศูนย์วิจัยฯ สถานีทดลองต่าง ๆ และกสิกรหรือเอกชนที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงไหมมาแล้ว หัวข้อใหญ่ ๆ ที่น่าจะศึกษา

ก.  การปลูก บำรุงรักษา ตัดแต่งทำอย่างไร เมื่อไร

ข.  เก็บเกี่ยวอย่างไร มากน้อยเพียงใด จะพอเหมาะกับการเลี้ยงแต่ละครั้ง

ค.  อุปกรณ์ในการเลี้ยงไหมมีอะไรบ้าง เขาใช้กันอย่างไร เมื่อใด

หากได้ศึกษาจากผู้ที่รู้และทำอยู่ก่อนแล้วจะสะดวกในการเริ่มต้น ในด้านสวนหม่อน อาจไม่ต้องปลูกครั้งละ ๕๐ หรือ ๑๐๐ ไร่ เพื่อจะเลี้ยงไหมครั้งละ ๒-๓ กล่อง อาจปลูกเริ่มต้นเพียง ๖-๑๐ ไร่ และทะยอยปลูกไปเรื่อย ๆ จะทำให้ภาระในการดูแลรักษาน้อยลงอย่างมาก สำหรับผุ้เลี้ยงไหมไทย ๑ แม่จะใช้ใบหม่อน ๓-๕ กก. หนึ่งแผ่นจะวางไข่ ๕๐-๖๐ แม่ จะเลี้ยงได้รังสด ๑๐ กก. สาวเป็นเส้นได้ ๑ กก. (รังสด ๑,๕๐๐ รัง ชั่งได้ประมาณ ๑ กก.)จะใช้ใบหม่อนเพียง ๓๐๐ กก. หรือประมาณ ๑-๒ ไร่เท่านั้น

๔.  การจัดการเวลาเลี้ยงให้เหมาะหรือตรงตามความต้องการของตลาดหรือความต้องการของโรงอบแห้งรังไหม หรือโรงสาวไหม การเลี้ยงไหมเพื่อขายรังสดจะดีกว่า เนื่องจากโรงอบแห้งรังไหมจะอบครั้งละประมาณ ๙-๑๒ ตัน ผู้เลี้ยงจะต้องส่งรังไหมจำหน่ายให้พร้อมกันและพอเพียงสำหรับการอบแต่ละครั้ง เพราะโรงอบก็มีค่าใช้จ่ายสูง อบครั้งละน้อยไม่ได้ ค่าอบนั้นประมาณ ๔-๕ บาท ต่อ ๑ กก. สำหรับการอบครั้งละ ๙-๑๒ ตันต่อครั้ง ถ้าอบครั้งละน้อย ค่าอบต่อ กก.จะสูง

๕.  อาคารและอุปกรณ์ ในระยะเริ่มต้นการลงทุนจะสูงมาก เพราะอาคารต่าง ๆ ต้องแยกกันตามความจำเป็นกล่าวคือ อาคารเลี้ยงไหมวัยเล็ก(วัย ๑-๓) อาคารเลี้ยงไหมวัยใหญ่ (วัย ๔-๕) อาคารเข้าจ่อ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็น อุปกรณ์ของแต่ละโรงจะนำมาใช้รวมกันไม่ได้อย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ การเลี้ยงไหมที่ไม่ประสบผลสำเร็จนั้นเกิดจากโรค ฉะนั้นหากป้องกันไม่ให้เกิดโรคได้ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้ว

๖.  ไข่ไหมที่จะเลี้ยง จะใช้ไข่พันธุ์อะไร พอจะเป็นแนวทางได้บ้าง เท่าที่ใช้กันคือ

ก.  ไข่ไหมลูกผสมจากต่างประเทศ ไม่แข็งแรงกินใบหม่อน ๑๕-๑๗ กก. รังสดประมาณ ๖.๓ กก. จะสาวได้เส้นไหม ๑ กก.

ข. ไข่ไหมลูกผสมผลิตในประเทศ แข็งแรง กินใบหม่อน ๑๒-๑๕ กก. รังสด ๘.๕ กก. จะสาวได้เส้นไหม ๑ กก. หรือพูดให้เข้าใจง่ายขึ้นใบหม่อน ๑๐๐-๑๒๐ กก. ควรจะเลี้ยงไหมได้รังสด ๘.๕ กก. สาวได้เส้นไหม ๑ กก. นั่นเอง

ค.  ไข่ไหมพันธุ์ไทยปรับปรุง แข็งแรงมากทนโรคได้ดีกว่าข้อ ก. และข. กินใบหม่อน ๓-๕ กก. รังสด ๑๐ กก. จะสาวเส้นไหมได้ ๑ กก.

๗.  เทคโนโลยี ผู้จะประกอบการเลี้ยงไหมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีความรู้เกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอย่างดี และนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย

๘.  การตลาด การประกอบการเลี้ยงไหม จะต้องมีการตกลงกันระหว่างผู้เลี้ยง ซึ่งอาจเลี้ยงขายรัง หรือเลี้ยงเพื่อขายเส้นไหม ฉะนั้น โรงงานกับผู้เลี้ยงไหมจะต้องมีข้อตกลงกันเป็นอย่างดี เรื่องนี้ต้องถือเป็นเรื่องนโยบายที่สำคัญยิ่ง

๙.  การวางเป้าหมาย ก็เป็นเรื่องสำคัญ การเริ่มประกอบอาชีพนั้นต้องวางเป้าหมายให้มีรายได้สูงกว่าพืชเศรษฐกิจอย่างอื่น เพื่อชักจูงให้มีสมาชิกหรือจำนวนผู้เลี้ยงเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบอาชีพและโรงงานก็จะมีฐานะมั่นคงด้วย

๑๐.  การเลี้ยงไหมใช้ระยะเวลาสั้น และมีรายได้สูง ปีหนึ่ง ๆ สามารถเลี้ยงได้หลายครั้ง ผิดกับพืชอื่นซึ่งจะปลูกได้เพียง ๑ หรือ ๒ ครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ดี การเลี้ยงไหมมีความยุ่งยากและวิธีการสลับซับซ้อนกว่าการปลูกพืชอื่นมาก นอกจากนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยแรงงานคนเป็นสำคัญอาจใช้เครื่องจักรช่วยได้บ้างไม่มากนัก การเลี้ยงไหมเป็นงานเบา ทำได้ตั้งแต่คนสูงอายุลงมาถึงเด็ก การเลี้ยงไหมปีละ ๖-๗ ครั้ง จะสิ้นเปลืองเวลาเพียง ๒๐๐-๒๕๐ วันเท่านั้น ขายได้ราคาสูงเทียบกับพืชอย่างอื่นในจำนวน ๑ กก.เท่ากัน

๑๑.  การเลี้ยงไหมจะต้องใช้ความเอาใจใส่ละเอียดมีความสังเกตอาการผิดปกติของตัวไหมพิถีพิถัน จะปล่อยปละละเลยดูแลเป็นครั้งเป็นคราวแล้วไปทำงานอื่นไม่ได้ จะต้องอยู่ดูแลตลอดจนกว่าจะเก็บไหมเข้าจ่อ จึงต้องเหน็ดเหนื่อยมาก แต่ได้รับผลตอบสนองที่คุ้มค่า