การปลูกเงาะ


NEPHELUM LAPPACEUM LINN
เงาะเป็นผลไม้ยืนต้นที่นิยมปลูกและนิยมบริโภคกันอยู่อย่างแพร่หลายในขณะนี้ นับวันจะแพร่หลายยิ่งขึ้นทุกที เพราะปลูกได้ง่าย มีโรคร้ายแรงน้อย เมื่อเทียบกับไม้ผลอื่นๆ เงาะต้องการความชุ่มชื้นมากพอสมควร
พันธุ์ของเงาะ
ในปัจจุบันเงาะที่ปลูกกันทั่วไป มี 2 จำพวก คือ เงาะติดกับเงาะล่อน เงาะติด หมายถึงเงาะที่มีเนื้อติดกับเมล็ดไม่สามารถแยกจากกันได้ เงาะจำพวกนี้ส่วนมากมีรสเปรี้ยว เนื้อแฉะ แต่มักจะมีลำต้นใหญ่โต แข็งแรง ปลูกง่าย แต่ไม่อยู่ในความนิยมทั้งในด้านการซื้อขาย และคิดจะปลูกเพิ่ม เติมขึ้นอีก ส่วนเงาะอีกจำพวกหนึ่ง คือเงาะล่อน ซึ่งเนื้อเงาะภายในล่อน สามารถแยกออกจากเมล็ดได้ง่าย เงาะชนิดนี้ส่วนมากมีรสหวานดีและก็มีบางชนิดที่มีรสเปรี้ยว เนื้อแฉะจนไม่น่าจะรับประทาน บางชนิดก็มีรสหวานกรอบ เป็นที่นิยมทั้งในด้านการบริโภคซื้อขายและการปลูก
ลักษณะและคุณสมบัติของเงาะบางชนิด
-เงาะอากร ใบใหญ่ ปลูกง่าย ผลใหญ่ งามมาก สีแดงสด ขนงาม เนื้อหวานไม่แหลม เนื้อแฉะล่อนสนิท ผลไม่ค่อยดก ไม่อยู่ในความนิยมที่จะปลูกกัน
-เงาะบางยี่ขัน ใบขนาดกลาง ปลูกง่าย ผลขนาดกลาง สีแดงเหลืองไม่สวย ขนไม่งาม เนื้อหวานแหลม กรอบ ไม่แฉะ ล่อนสนิท ผลดก ไม่ค่อยนิยมปลูกกัน
-เงาะสีชมพู ใบขนาดกลาง ปลูกง่าย ผลขนาดกลาง สีชมพูสดขนงามมาก ผิวเป็นมันเลื่อม เนื้อหวาน กรอบแห้ง ไม่แฉะ ล่อนสนิท ผลดกนิยมปลูกกันมากในขณะนี้ ทางจังหวัดชายทะเลด้านตะวันออกของอ่าวไทย
-เงาะปีนังเบอร์ 4 ใบมีขนาดโต ปลูกง่าย ผลงามมาก เนื้อไม่หวานไม่กรอบ ไม่แฉะ ผลไม่ดก ไม่ค่อยนิยมปลูกกัน
-เงาะโรงเรียน ปลูกง่าย ผลดก เมื่อสุกปลายขนจะมีสีเขียว ไม่สวยเหมือนพันธุ์สีชมพู เปลือกบาง เนื้อหนา ล่อนสนิท กรอบ รสหวานแหลม เก็บไว้ได้ทน นิยมปลูกกันมาก โดยเฉพาะทางจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย
-เงาะตาวี ใบเล็ก ปลูกง่าย ผลงาม สีแดงดำ ขนไม่งาม ขนอ่อน เนื้อหวานอมเปรี้ยว เหนียวๆ ไม่แฉะ ผลดก ไม่นิยมปลูกกัน
-เงาะเจ๊ะมง ใบใหญ่ ปลูกยาก ผลงามมาก สีแดงสด ผลงาม เนื้อหวานกรอบไม่แฉะ ผลไม่ดก เป็นที่นิยมปลูกกันมากทางภาคใต้ของประเทศไทย


การขยายพันธุ์เงาะ
เงาะทุกชนิดสามารถขยายพันธุ์ ได้ด้วยการติดตาหรือการทาบกิ่ง แต่การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ก็เป็นวิธีขยายพันธุ์ที่นิยมแพร่หลายกันมาก ตั้งแต่สมัยโบราณ สำหรับเงาะปีนังนั้นร่วนมากทำการตอนไม่ใคร่ออกราก หรือบางชนิดออกรากบ้างแต่ก็เป็นส่วนน้อย การปลูกก็มักไม่ค่อยได้ผลดี
แต่อย่างไรก็ดี การขยายพันธุ์ด้วยการตอนกิ่ง ก็ยังเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับเงาะอีกหลายชนิด ซึ่งกำลังนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลายในขณะนี้
ทำเลที่เหมาะในการทำสวนเงาะ
เงาะโดยทั่วๆ ไปขึ้นได้งอกงามดีในที่ดินร่วนปนทราย และในที่ดินเหนียวที่จัดการระบายน้ำดี และควรเป็นที่ที่มีฝนตกระหว่างปีมาก เพราะเงาะต้องการที่ที่มีความชื้นในอากาศมากเป็นพิเศษ ซึ่งสามารถช่วยในเรื่องการออกดอกได้มากยิ่งกว่านี้ ความชุ่มชื้นในอากาศยังจะช่วยให้ต้นเงาะปลอดภัยจากโรคไหม้เกรียม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเสมอๆ ในฤดูแล้ง
วิธีการปลูกเงาะ
หลังจากที่ขุดดิน หรือไถพรวนที่ดินสำหรับปลูกเงาะเรียบร้อยแล้วก็กะระยะการปลูกเงาะได้ทันที ควรขุดหลุมเป็นวงกลมกว้างประมาณ 80 ซ.ม. ลึก 60 ซ.ม. ปล่อยให้หลุมตากแดดไว้ประมาณ 6-7 วัน แล้วใช้หญ้าแห้งรองก้นหลุมบ้างเล็กน้อยหากจะมีปุ๋ยคอก เช่น มูลโค กระบือ ฯ หรือปุ๋ยดินฟอสเฟตใส่ให้บ้างรองก้นหลุมก็จะดียิ่งขึ้น จากนั้นก็ทำการปลูกเงาะลงในหลุมได้ ระยะของการปลูกเงาะ การปลูกเงาะก็เพื่อต้องการผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปลูกให้มีระยะปลูกห่างกันอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ปล่อยโอกาสให้ทรวดทรงของต้นเงาะแผ่กิ่งก้านสาขาได้อย่างเต็มที่ระยะที่ปลูกเงาะที่เหมาะสมควรจะเป็น 16 เมตร ทั้งระหว่างต้นและระหว่างแถวหรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรเป็น 12 เมตร เป็นอย่างต่ำที่สุด ดังนี้ในเนื้อที่ 1 ไร่ ก็จะปลูกเงาะได้ราว 9-16 ต้นเป็นอย่างมาก


การปฏิบัติบำรุงรักษา
เงาะเมื่อปลูกในระยะแรกๆ ควรมีการรดน้ำเมื่อฝนไม่ตกและบังร่มให้หลังจากปลูกใหม่ๆ และตลอดฤดูแล้งแรกหลังจากวันปลูกจะต้องคอยระวังรักษามิให้หญ้าชอนขึ้นมาได้ และเมื่อเงาะมีอายุครบ 1 ปี ก็เริ่มใส่ปุ๋ยให้ได้ เริ่มจากต้นเงาะขนาดเล็ก โดยใส่ปุ๋ยให้จำนวนน้อยๆ ก่อน ปุ๋ยที่ใช้จะเป็นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยเคมีต่างๆ ซึ่งมีสัดส่วนอย่างสมบูรณ์ เมื่อต้นเงาะอายุครบ 1 ปี สำหรับปุ๋ยเคมีควรจะใส่ต้นละ 50 กรัม และควรใส่ให้ปีละ 2 ครั่ง เมื่ออายุของต้นเงาะมีอายุมากขึ้น ขนาดของต้นเงาะก็โตขึ้นตามลำดับ จำนวนปุ๋ยเคมี ก็จะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยถืออัตรา 2,3,4,5 ก.ก. ติดกันต่อปี เมื่อต้นเงาะอายุได้ 2,3,4, และ 5 ปีตามลำดับ เมื่อเมื่อต้นโตและให้ผลเต็มที่แล้ว อาจต้องเพิ่มปุ๋ยให้ต้นละต่อหนึ่งปี 5-10 กิโลกรัม โดยแบ่งใส่ 2-3 ครั้งต่อปี
การบำรุงรักษาสวนเงาะ
การบำรุงรักษาสวนเงาะที่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์งดงามอยู่เสมอ ย่อมเป็นประกันได้ว่า ต้นเงาะจะงดงามและตกผลให้ได้อย่างสม่ำเสมอทุกๆ ปี วิธีบำรุงรักษาสวนเงาะมีหลักที่พึงปฏิบัติดังนี้คือ
ก. การกำจัดหญ้าในสวนเงาะ การกำจัดหญ้าที่ขึ้นอยู่ตามโคนต้นเงาะและบริเวณทั่วๆ ไป ต้องคอยจัดทำอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะที่ขึ้นอยู่ตาม โคนต้นเงาะ จะต้องคอยกำจัดอยู่เป็นประจำจริงๆ เพื่อมิให้แย่งอาหารของต้นเงาะ ส่วนหญ้าที่ขึ้นนอกบริเวณโคนต้นเงาะก็ปล่อยให้ขึ้นได้บ้าง และควรใช้พืชคลุมปลูกเสียให้เต็มทั้งผืนดีกว่าที่จะปล่อยให้หญ้าขึ้นรก
ข. การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยเป็นอาหารของต้นไม้ ช่วยเสริมสร้างพลานามัยให้แก่ต้นเงาะได้ และช่วยซ่อมแซมในส่วนที่สูญเสียไปให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ดีต่อไป
การใส่ปุ๋ยนั้นจะได้พิจารณาถึงสภาพของท้องที่ เช่น ประมาณว่าควรจะใส่ปุ๋ยชนิดใดจึงจะเป็นการประหยัด ในบางท้องที่อาจทำปุ๋ยคอกได้มากมาย แต่ชาวสวนบางรายก็ยังนิยมใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ ดังนี้เป็นการไม่ถูกต้อง สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากการคมนาคมและหาปุ๋ยคอกไม่ได้ ดังนี้ก็ควรจะใส่ปุ๋ยเคมี เพราะจะเป็นการประหยัดค่าขนส่งได้ดีกว่าที่จะหาซื้อปุ๋ยอื่นๆ มาก
วิธีการใส่ปุ๋ยควรปฏิบัติดังนี้ ควรจะทำการใส่ปุ๋ยให้ปีละ 2 ครั้ง โดยถือกำหนดดังนี้
1. เมื่อเก็บผลเงาะเสร็จ และทำการตัดแต่งกิ่งและลำต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว การใส่ปุ๋ยครั้งนี้เนื่องจากเป็นฤดูฝน การใส่ควรใส่เป็นหลุมๆ คือให้หาหลุมลึกประมาณ 60 ซม. เอาปุ๋ยหยอดลงในหลุมแล้วกลบดินให้มิด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ปุ๋ยถูกน้ำพัดพาไปเมื่อฝนตกหนัก การใส่ปุ๋ยทั่วๆ ไป ตามบริเวณแนวพุ่มของต้นเงาะ
2. เมื่อต้นเงาะออกดอกแล้ว การใส่ปุ๋ยครั้งนี้เป็นฤดูแล้ง การใส่ปุ๋ยจึงกระทำเพียงหว่านลงทั่วบริเวณพุ่มของต้นเงาะ ใช้คราดๆ กลบปุ๋ยบางๆ แล้วระบายน้ำเข้าช่วยให้ปุ๋ยละลายและซึมลงใต้ดิน
ค. การบังคับน้ำ น้ำเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการปลูกเงาะ สวนเงาะที่มีน้ำขังแฉะในฤดูฝน หรือขาดน้ำในฤดูเเล้ง ล้วนเป็นสิ่งบั่นทอนความเจริญงอกงามแก่ต้นเงาะทั้งสิ้น สำหรับการบังคับน้ำควรจะปฏิบัติตามวิธีการดังนี้
ในฤดูแล้งควรทำดังนี้
1. ก่อนต้นเงาะออกดอก ไม่มีการระบายน้ำเข้าช่วย
2. เมื่อต้นเงาะจวนจะออกดอก ปล่อยน้ำเข้ารดทุกๆ 3-4 วันแล้วต้นเงาะออกดอกในระยะนี้ และต้องปล่อยนํ้าเข้ารดตลอดฤดูแล้ง จนกว่าจะมีฝนตกลงมา
การเก็บผลเงาะ
การเก็บเงาะต้องเก็บเมื่อผลเงาะสุกเต็มที่ อย่าเก็บผลเงาะที่ยังห่ามอยู่ ตามธรรมดาผลเงาะช่อหนึ่งๆ ย่อมมีผลสุกและผลห่าม และผลดิบปนกันอยู่ จำเป็นจะต้องเลือกเก็บเฉพาะผลที่สุกเต็มที่เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นสวนเงาะที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างดี เช่น สวนเงาะที่ไม่ได้ใช้ปุ๋ย สวนเงาะที่ไม่มีการระบายน้ำ หรือสวนเงาะที่ไม่ได้รับการตกแต่งกิ่งและลำต้น สวนเงาะเช่นนี้บางที่ก็ออกผลเป็น 2-3 รุ่นในต้นเดียวกัน ดังนี้การเก็บผลก็ยิ่งต้องลำบากขึ้นอีกมิใช่น้อย
การเก็บผลเงาะ ใช้ไม้ไผ่ปลายติดขอเหล็กมีคม กระชากให้ขั้วของผลเงาะขาดตกลงมายังพื้นดิน การกระทำเช่นนี้ ไม่ทำให้ผลเงาะช้ำ เพราะผลเงาะมีขนสามารถยืดหยุ่นตัวเองได้ดี ไม่เหมือนกับผลไม้ชนิดอื่นๆ เมื่อเก็บผลเงาะมาแล้ว ก็ต้องตัดและแต่งขั้วของผลเงาะให้มีขนาดสั้นลงอีกตามสมควร แล้วทำการคัดเลือกและใส่ภาชนะส่งไปจำหน่าย
การตัดแต่งกิ่งและต้นเงาะ
หลังจากเก็บผลประจำปีเสร็จสิ้นลงแล้ว ให้ทำการตัดแต่งกิ่งและลำต้น โดยตัดกิ่งที่ชอกช้ำเพราะการเก็บผล กิ่งที่สลับซับซ้อนกันหลายๆ กิ่งคัดออกเสียบ้าง นอกจากนี้ยังมีการแซมเล็กๆ ที่หลบซ่อนอยู่ตามกิ่งใหญ่ภายในพุ่มก็ให้ตัดออกเสียเช่นเดียวกัน เพราะกิ่งไม้ชนิดนี้ไม่มีทางตกผลให้เลย นอกจากจะทำให้พุ่มของต้นเงาะรกรุงรัง เป็นที่หลบซ่อนของ
แมลงต่างๆ ได้เท่านั้น นอกจากนี้กิ่งและลำต้นที่ถูกแมลงเจาะ ไชเป็นแผล โรคราต่างๆ และแผลธรรมดาทั่วๆ ไปก็ควรได้รับการตกแต่งไปพร้อมๆ กันด้วย รอยตัดและรอยแต่งแผลทุกๆ แห่งให้ตกแต่งให้เป็นรอยเรียบ แล้วใช้สีน้ำมันทาเสียทุกๆ แผล เป็นการรักษาอนามัยของต้นเงาะไปด้วย ถ้าหาก เกิดมีกิ่งหรือลำต้นได้รับความชอกช้ำเพราะเหตุใดๆ ก็ดี ก็ควรที่จะได้รับการตัดแต่งเช่นนี้ทันที
การกำจัดโรคแมลง
ตามปกติต้นเงาะไม่ค่อยมีแมลง และโรคต่างๆ มารบกวน เหมือนกับผลไม้อื่นๆ นอกจากปีใดเกิดฝนฟ้าวิปริต เช่น ฝนแล้งจัด ฝนมากเกินไป มักจะเกิดโรคและแมลงต่างๆ เกิดขึ้น สำหรับแมลงนั้นก็มักมีแมลงกินดอกเงาะ หนอนไชต้น แมลงปีกแข็งกินใบในเวลากลางคืน สำหรับโรคนั้นก็มีราขาวตามกิ่ง และมีโรคขอบใบไหม้เกรียมในฤดูแล้ง
โรคและแมลงที่เกิดขึ้นนี้ หากปรากฎขึ้นก็ควรได้จัดการกำจัดทันที ไม่ควรปล่อยให้โรคและแมลงทำลายเสียจนเกิดความเสียหาย แล้วจึงหาทางกำจัดในภายหลัง รายละเอียคในการป้องกันควรปรึกษาเกษตรอำเภอ หรือเกษตรจังหวัด