การปลูกเผือกหอม


เผือกหอมเป็นพืชล้มลุก ต้นมีลักษณะคล้ายต้นบอน เรารู้จักเผือกกันมานาน เพราะเป็นพืชอาหารและสามารถกินเผือกแทนข้าวได้ ในยามขาดแคลนอาหารจำพวกแป้ง แต่ที่นิยมคือนำหัวเผือกมาทำขนมหวาน ทำได้หลายรูปหลายแบบ ขนมที่ทำจากเผือกมีรสชาดดี จึงทำให้มีคนนิยมรับประทานเผือกกันมาก จนเกษตรกรสามารถยึดอาชีพปลูกพืชเป็นอาชีพหลักได้ และหารายได้ให้แก่ผู้ปลูกมากพอสมควร
สำหรับเผือกหอม เป็นเผือกที่มีหัวใหญ่ น้ำหนักมาก ก้านใบใหญ่และมีสีเขียว เมื่อต้มสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม เกษตรกรสนใจปลูกเผือกหอมมากกว่าชนิดอื่นๆ เพราะขายได้ราคาดี
ทำเลและฤดูปลูก
เผือกเป็นพืชต้องการน้ำมาก ถ้าขาดน้ำเผือกจะงันไม่เติบโต ชอบดินร่วนปนทราย เผือกที่ปลูกในดินเหนียวหัวจะผอมยาว ไม่อวบสวยเหมือนปลูกในดินร่วน ต้นเผือกชอบดินที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ มีการระบายน้ำดี น้ำไม่ขังเมื่อมีฝนตกชุก ถ้าปลูกเผือกเป็นพืชหลังนา ควรจะลงมือปลูกตั้งแต่เดือน 3 (กุมภาพันธ์) อาจปลูกล่ากว่านั้นได้เล็กน้อย แต่อย่างช้าต้องไม่เกินเดือน 5 (เมษายน) เพราะถ้าปลูกล่ากว่านี้ เมื่อเก็บเกี่ยวหมดแล้วจะปลูกข้าวไม่ทันฝน และระยะเผือกแก่ ฝนตกชุกน้ำจะขังนาทำให้หัวเผือกเน่าเสียหายอีกด้วย แต่สำหรับฤดูการปลูกเผือกโดยทั่วไปแล้ว เผือกที่ปลูกในฤดูแล้งก็จะต้องหมั่นรดน้ำอย่าให้ขาดน้ำได้
พันธุ์
เราใช้ลูกเผือกลูกซอ หรือตะเกียงที่แตกออกจากหัวเผือกไปใช้ทำพันธุ์ เกษตรกรจะหาซื้อพันธุ์เผือกหอมได้จากท้องที่ที่มีการปลูกกันมากๆ ได้แก่อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก และในจังหวัดอื่นๆ ในเขตภาคกลาง เช่น นครปฐม อยุธยา ปทุมธานี
วิธีชำ
เมื่อได้พันธุ์เผือกซึ่งชาวบ้านเรียกว่าลูกเผือก หรือลูกซอมาแล้วนำมาวางเป็นแถวๆ ในที่ร่ม บนดินที่เปียกชุ่มเอาฟางปิดคลุมรดน้ำให้ชุ่มทุกวันประมาณ 5-6 วัน ลูกเผือกจะเริ่มผลิหน่อแล้วค่อยๆ เติบโตเป็นต้นอ่อน สูงประมาณ10-12 ซม. ก็ย้ายปลูกได้ ถ้าลูกเผือกแตกหน่อหรือยอดหลายยอด เมื่อนำไปปลูกควรเด็ดให้เหลือเพียงยอดเดียว
การเตรียมดินแปลงปลูก
ไถ พรวน เก็บหญ้าออกให้หมดแล้วยกร่องทำแปลงปลูกกว่างประมาณ 5 ม. ยาวไปตามพื้นที่ดิน ให้แต่ละร่องอยู่ห่างกันประมาณ 1 ม. ถึง 1 ½  ม. เพื่อให้เป็นทางระบายน้ำเมื่อฝนตกหนัก น้ำจะได้ไม่ขังบนแปลงปลูก เสร็จแล้วขุดหลุมปลูก หลุมหนึ่งๆ มีความกว้าง 50 ซม. แต่เนื่องจากดินในท้องที่เป็นดินเปรี้ยว หรือดินที่มีสภาพเป็นกรดสูง เช่นดินในจังหวัดนครนายก เกษตรกรจึงควรแก้ความเป็นกรดด้วยการใส่หินปูน หรือปูนขาว คลุกเคล้าลงในดิน ขณะทำการไถพรวน ประมาณไร่ละ 500 กก. หรือคลุกกับดินในหลุมปลูกหลุมละประมาณ 1 กระป๋องนมข้น เพราะดินที่มีสภาพเป็นกรดสูง ทำให้ต้นพืชไม่สามารถดูดอาหารและแร่ธาตุในดินไปหล่อเลี้ยงลำต้นได้ ถ้าปลูกไม่มากจะใช้ขี้เถ้าแทนปูนขาวก็ได้
วิธีปลูก
ถอนต้นอ่อนที่ชำไว้ปลูกลงในหลุมให้ต้นอ่อนตั้งตรง กลบดินเล็กน้อยพอมิดหัวเผือก การปลูกควรทำในตอนเย็น หลังจากปลูกในระยะแรกๆ ต้องหมั่นรดน้ำเช้าเย็นให้ดินชุ่มอยู่เสมอ เมื่อเผือกตั้งตัวได้ก็เว้นระยะรดน้ำให้ห่างออกไปได้อีก การรดน้ำอาจใช้เครื่องสูบน้ำช่วยทุ่นแรงในการรดน้ำได้ และสายยางที่ต่อจากเครื่องสูบตรงปลาย ใช้ฝักบัวสวมไว้น้ำจะพุ่งออกเป็นฝอย ทำให้สะดวกในการให้น้ำต้นเผือกมาก
หลังจาก ต้นเผือกฟื้นตัวดีแล้ว ไม่นานจะแตกหน่อขึ้นเป็นกอ ควรตอนหรือใช้เสียมคมๆ ปาดหน่อที่แตกออกทิ้งเสีย เหลือต้นเผือกไว้ในหลุมเพืยงต้นเดียว เพราะถ้าปล่อยให้แตกเป็นกอใหญ่จะได้เผือกที่มีหัวเล็กๆ ขายไม่ได้ราคา
เมื่อเผือกอายุได้ 4-5 เดือน จะเริ่มมีหัวและโตขึ้นเรื่อยๆ ระยะนี้ใช้จอบพูนดินคลุมโคนเผือก การคลุมโคนจะทำให้เผือกมีหัวป้อมใหญ่ และมีน้ำหนักดี เพราะรากที่แตกออกรอบๆ หัวเผือกดูดอาหารจากดิน่คลุมโคนอยู่ได้ง่ายขึ้น
การใส่ปุ๋ย
ต้นเผือกเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยมาก ดินที่ปลูกเผือกได้ผลดีก็ต้องเป็นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีธาตุอาหารพืชอยู่ในดินสูง ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงเป็นสิ่งจำเป็นและควรทำดังนี้
1. ใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว ควาย เป็ด ไก่ ที่หมักแล้วรองก้นหลุม หรือคลุกกับดินในหลุมปลูกหลุมละ 2-3 กำมือ แล้วจึงทำการปลูกเผือก
2. ใส่หลังจากปลูกเผือกแล้วเดือนละ 1 ครั้ง ควรใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์และปุ๋ยคอกรวมกัน ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่ใส่ในระยะนี้ควรเป็นปุ๋ยทีมีธาตุไนโตรเจนอยู่สูง เช่น ปุ๋ยน้ำ เป็นต้น ใส่ประมาณต้นละ 1 ช้อนแกง ปุ๋ยคอกก็ต้นละ 1 กำมือ โดยผสมปุ๋ยคอก และปุ๋ยวิทยาศาสตร์ให้เข้ากันแล้วขุดร่องรอบต้น ห่างต้นประมาณ 1 ผ่ามือ โรยปุ๋ยผสมลงในร่องหรือจะโรยปุ๋ยคอกลงครึ่งหนึ่งก่อน โรยปุ๋ยวิทยาศาสตร์ตาม แล้วจึงโรยปุ๋ยคอกที่เหลือทับลงไปก็ได้ ใส่ปุ๋ยแล้ว กลบดินให้เรียบร้อยจึงรดน้ำให้ชุ่มหลังจากใส่ปุ๋ยแล้วต้องรดน้ำทุกครั้ง
3. ใส่ปุ๋ยบำรุงหัวเมื่ออายุ 2-4 เดือน ปุ๋ยที่ใส่ต้องมีส่วนผสมของธาตุโปแตสเซียมอยู่ด้วย วิธีสังเกตอย่างง่ายในการซื้อปุ๋ยรวมหรือปุ๋ยผสม ว่าจะมีธาตุโปแตสเซี่ยมบำรุงหัวเผือกด้วยหรือเปล่า โดยดูจากตัวเลขที่พิมพ์ ไว้บนกระสอบปุ๋ย ดังนี้ เช่น บนกระสอบพิมพ์ไว้ 8-10-12 ตัวเลข 12 ที่อยู่ ข้างท้าย คือปุ๋ยโปแตสเซี่ยมใช้บำรุงหัว แต่ถ้าเขียนไว้ว่า 16-20-0 ตัวเลขสุดท้ายเป็น 0 แสดงว่าไม่มีปุ๋ยโปแตสเซี่ยมบำรุงหัวอยู่เลย ดังนั้นถ้าท่านซื้อปุ๋ยรวมหรือปุ๋ยผสมไปใช้ ต้องสังเกตให้ดี แต่ถ้าตามร้านขายปุ๋ยมีปุ๋ยโปแตสเซี่ยมขายโดยเฉพาะ จะเป็นโปแตสเซี่ยมคลอไรด์ หรือปุ๋ยโปแตสเซี่ยมซัลเฟตก็ใช้ได้ นำมาโรยรอบต้นเผือกต้นละ 1 ช้อนแกง พร้อมกับพูนดินกลบคลุมโคนระยะนี้เลย แล้วรดน้ำทุกครั้ง หลังจากใส่ปุ๋ย
ศัตรูของเผือก
1. เพลี้ยอ่อน ใบเผือกมักจะถูกเพลี้ยอ่อนรบกวนเสมอ ทำให้ต้นเผือกแคระแกร็น ไม่ค่อยเจริญเติบโต การป้องกันกำจัดควรใช้ยาไดเมทโธเอท ไดเมครอน หรือมาลาไธออน อย่างใดอย่างหนึ่งประมาณ 2-4 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ ฉีดพ่นใบให้ทั่ว
2. หนอนกัดกินใบ ต้นเผือกมักจะถูกหนอนคอยกัดกินใบเสมอ ทำให้ใบฉีกขาดเว้าแหว่ง ต้นเผือกจะชะงักการ เจริญเติบโตได้ จึงควรใช้ยาเซฟวิน 85 หรือมาลาไธออนอย่างใดอย่างหนึ่งในอัตราส่วนยา 2 ถึง 4 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ
3.โรคหัวเน่า ซึ่งเกิดจากเชื้อราเข้าทำลายหัว คว ใช้ยาเธอราคลอ หรือไดโพลาแทน อย่างใดอย่างหนึ่งในอัตราส่วนยา 1-2 ช้อนสังกะสีต่อน้ำ 1 ปี๊บ หยอดโคนต้น กำจัดเชื้อราและป้องกันการลุกลามของโรค
ข้อควรระวัง
ในการป้องกันโรคหัวเน่าของเผือก ไม่ควรใช้ยาชนิคเม็ดหยอดบริเวณหัวเผือก เช่น ยาพวกเทมมิค 10 จี ไทเมค 10 จี และ บี.เอส.ซี เพราะยาเหล่านี้มีฤทธิ์ตกค้างอยู่ในหัวเผือกนานมากถึง 120 วันหรือกว่านั้น ถ้าเกษตรกรใช้ยาเม็ดเหล่านี้กับเผือก และเก็บเผือกขายขณะที่ยายังไม่หมดฤทธิ์ จะเป็นอันตรายสำหรับผู้ที่ซื้อเผือกไปรับประทาน อาจถึงตายได้ ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้ยาชนิดเม็ดพวกนี้ ต้องใช้ก่อนวันเก็บเกี่ยวเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 120 วันขึ้นไป
การเก็บเกี่ยว
เผือกหอมมีอายุนับจากวันปลูกถึงวันเก็บเกี่ยวประมาณ 7 เดือน เมื่อเผือกอายุใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ใบจะค่อยๆ เป็นสีเหลืองตั้งแต่ใบล่างขึ้นไปจนหลือใบตรงส่วนยอด 2-3 ใบ ก็แสดงว่าหัวเผือกแก่จัดชุดยอดขึ้นได้แล้ว    ถ้าปล่อยทิ้งไว้ในดินนานกว่านี้น้ำหนักของหัวเผือกจะลดลง วิธีขุดใช้จอบฟันดิน หรือใช้เสียมขุดใกล้ต้นเผือกแล้วงัดต้นเผือกขุดกองรวมกันไว้ เมื่อขุดหมดแล้วจึงตามเก็บลูกเผือกหรือลูกซอที่หักออกจากหัวเผือกติดอยู่ในดิน ในบางท้องที่ที่ไม่มีการทำนา เกษตรกรที่ปลูกเผือกเพียงอย่างเดียวจะปล่อยลูกเผือกไว้ในดินก็ได้แล้วหาฟางหรือหญ้าคลุมดินไว้กันความร้อนจากแดด ซึ่งสามารถจะเก็บปลูกไว้ในดินได้นาน สำหรับทำพันธุ์ในการปลูกคราวต่อไป แต่ถ้ามีฝนตกลงมามากต้องเก็บลูกเผือกขึ้นจากดิน มิฉะนั้นจะเน่า และนำไปไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทได้สะดวก
ต้นเผือกที่ขุดมาได้แล้วนี้ต้องนำมาลอกกาบแห้งๆ ออกตัดลูกเผือกไว้ต่างหาก ตัดรากและส่วนยอดทิ้งเหลือแต่หัวเผือก สำหรับลูกเผือกจะขายหรือเก็บไว้ทำพันธุ์ต่อไปก็ได้ ในเนื่อที่ 1 ไร่จะได้ผลผลิตเผือกประมาณ 1,400 ถึง 2,000 กก. เผือกหอมจึงเป็นพืชหลังนาที่ทำรายได้ดีให้กับเกษตรกรอีกพืชหนึ่ง