การปลูกแตง:โรคราแป้งขาว

(powdery mildew)

ราแป้งขาวเป็นโรคที่ระบาดแพร่หลายมากที่สุดโรคหนึ่ง จะพบได้ในทุกท้องถิ่นที่มีการปลูกแตง และเกือบทุกสภาพอากาศ ผิดกับโรครานํ้าค้างคือต้องการอุณหภูมิที่สูงกว่าและความชื้นเพียงเล็กน้อยในระดับปกติก็เกิดและเจริญเติบโตสร้างความเสียหายได้

อาการโรค

เชื้อราจะเข้าทำลายและเจริญเติบโตได้บนทุกส่วนของต้นแตงที่อยู่เหนือดินโดยจะเกิดอาการเป็นผงหรือฝุ่นแป้งสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไปตรงจุดที่เกิดโรค ในระยะแรกเนื้อเยื่อตรงที่เกิดอาการขึ้นนี้จะไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ จนกระทั่งเป็นมากเชื้อราขึ้นคลุมไปหมด สีของต้นเถาหรือใบจะค่อยๆ ซีดเหลืองแล้วแห้งในเวลาต่อมา โดยเฉพาะถ้าเป็นส่วนที่ยังอ่อนอยู่อาจจะตายได้ สำหรับลูกหรือผลแตงอาการโรคจะเกิดขึ้นน้อยกว่าบนต้นและใบนอกจากพวกที่ติดโรคง่าย เช่น แตงโม แคนทาลูป และแตงร้าน ในรายที่เกิดโรครุนแรง และสิ่งแวดล้อมเหมาะสม ก็จะเกิดโรคขึ้นที่ลูกได้เช่นกัน และอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ ถ้าเป็นในระยะที่ลูกยังเล็ก หรืออ่อนอยู่โดยจะทำให้เกิดอาการแกร็น บิดเบี้ยว เสียรูปทรงผิวขรุขระ เป็นตุ่มหรือแผลขึ้นที่เปลือก ส่วนในลูกที่เจริญเติบโตเต็มที่ เมื่อเป็นโรคก็จะทำให้เกิดความไม่น่าดู ขายไม่ได้ราคา

สาเหตุโรค : Erysiphe cichoracearum แล: Sphaerotheca fuliginea

เชื้อสาเหตุโรคราแป้งขาวของแตงมีอยู่ด้วยกันถึง 2 ชนิด นอกจากแตงแล้วพบว่าเชื้อสองชนิดนี้ยังเข้าทำลายพืชผักอื่นๆ ได้อีกหลายชนิด สำหรับที่พบบนแตงนั้น เป็น race หนึ่งเฉพาะ ความแตกต่างระหว่าง Erysiphe และ Sphaerotheca คือ Erysiphe มีสีของสปอร์และเส้นใยที่ค่อนข้างขาว cleistothecium ที่เกิดจากการผสมทางเพศ ภายในจะมีถุงบรรจุสปอร์ (ascus) หลายอัน ส่วน Sphaerotheca เส้นใยและสปอร์มีสีออกนํ้าตาลอ่อนๆ และภายใน cleisto thecium ที่เกิดจากการผสมทางเพศจะมีถุงบรรจุสปอร์เพียง 1 อัน

ในการเข้าทำลายพืชของราพวกนี้ เกิดขึ้นหลังจากสปอร์ หรือโคนีเดียตกลงบนพืช ได้รับสิ่งแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกออกมาเป็นเส้นใยเจริญอยู่บนผิวพืชเส้นใย ดังกล่าวจะส่งเฉพาะส่วนที่เรียกว่า haustoria ซึ่งทำหน้าที่คล้ายๆ รากเข้าไปดูดอาหารจากเซลล์พืชที่อยู่ใต้ชั้น epidermis เมื่อแก่ก็จะสร้างโคนีเดีย ลักษณะรูปไข่เกาะติดกันเป็นสายบนก้าน coniophores ขึ้นเป็นจำนวนมากบนผิวพืชที่เชื้อเจริญอยู่ ทำให้เห็นเป็นกลุ่มหรือผงสีขาวดังกล่าว โคนีเดียพวกนี้จะหลุดจากก้านปลิวตามลมไปได้เป็นระยะทางไกล เพราะมีขนาดเล็กและนํ้าหนักเบา นอกจากนั้นก็อาจถูกนำพาไปโดยแมลง เครื่องมือกสิกรรม เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มและตัวกสิกรเองทำให้ระบาดแพร่กระจายออกไปได้กว้างขวางขึ้น

การอยู่ข้ามฤดูของเชื้อส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่กับวัชพืช หรือพืชถาวรบางชนิดในตระกูลแตงด้วยกัน เนื่องจากเป็น obligate parasite จึงไม่สามารถอาศัยกินอยู่กับเศษซากพืชที่ตายแล้วได้ นอกจากนั้นก็อาจอยู่ในลักษณะของ sexaul spore คือ cleistothecium แต่ก็พบว่ามีการสร้างไม่บ่อยนัก

ระยะฟักตัวของเชื้อหลังจากสปอร์งอกส่ง haustoria เข้าไปดูดกินอาหารจากพืชจนเกิดอาการแล้วสร้างโคนีเดียขึ้นได้ใหม่ กินเวลานานราว 3-7 วัน หรือนานกว่าเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมขณะนั้น

สำหรับความรุนแรงของโรคนอกจากสิ่งแวดล้อมแล้วยังขึ้นอยู่กับอายุของพืชเป็นสำคัญ ใบพืชอ่อนที่เพิ่งเริ่มคลี่จะมีความต้านทานโรคได้ดีกว่าใบแก่ ราพวกนี้ไม่ต้องการความชื้นสูงนักในการเข้าทำลายพืช แม้ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ 50% ก็ยังระบาดได้ ในการงอกหรือการเจริญเติบโตไม่ต้องการนํ้าหรือหยดน้ำเคลือบใบพืชเลย ส่วนอุณหภูมิทั้งในการเจริญเติบโตและการทำให้เกิดโรคอยู่ระหว่าง 32.2 ∘ซ. แต่จะดีที่สุดที่ 27 – 28 ∘ซ.

การป้องกันกำจัด

1. กำจัดวัชพืชหรือพวกพืชถาวรในตระกูลแตงในบริเวณแปลงปลูกให้หมด

2. เมื่อปรากฏมีโรคเกิดขึ้นให้ใช้สารเคมีต่อไปนี้

ก. คาราเทน (karathane) หรือมิลเด็กซ์ (mildex) ใช้ได้ดีกับแตงไทยและแตงแคนทาลูปโดยเฉพาะกับเชื้อ Sphaerotheca โดยใช้สารเคมีดังกล่าว 125 – 180 กรัมละลายนํ้า 1 ปี๊บ ฉีดทุก 3 – 5 วัน

ข. โอวาแทรน (ovatran) ปกติสารเคมีนี้ใช้ป้องกันกำจัดพวกไรหรือแมงมุมแดง แต่ก็ปรากฏว่าใช้ได้ผลดีในการป้องกันกำจัดโรคราแป้งขาวบนแตงโดยเฉพาะแตงกวา และแตงร้าน

ค. คูปราวิทหรือค็อปปิไซด์ในอัตราส่วน 30-40 กรัมต่อน้ำ 1 ปี๊บทุกๆ 7 – 10 วัน

ง. เบนเลทในอัตราส่วน 125 – 180 กรัม ต่อนํ้า 1 ปี๊บ ทุก 2 อาทิตย์

3. เลือกปลูกแตงโดยใช้พันธ์ที่มีความต้านทาน

ต่อโรค