การปลูกและการขยายพันธุ์เฟื่องฟ้า

เฟื่องฟ้า

สันติ  สันติธรรมสุนทร

ถ้าจะถามว่าในวงการไม้ประดับนั้น ไม้ประดับชนิดไหนที่ได้รับความนิยมอย่างสูงสุดอยู่ในขณะนี้ คำตอบก็เห็นทีจะหนีไม่พ้น “เฟื่องฟ้า” ที่ครองแชมป์ยอดฮิตติดอันดับ  โดยที่ยังไม่มีไม้ประดับชนิดใดสามารถชิงแชมป์ไปได้เลยตลอดระยะเวลา 4-5 ปีมานี้  ทั้งนี้เพราะว่าเฟื่องฟ้าเป็นไม้ประดับที่มีคุณสมบัติพิเศษที่น่าสนใจอยู่หลายอย่างเช่น

สีสัน มีมากมายหลายหลากสี และสีก็ล้วนแล้วแต่ค่อนข้างจะสวยสดงดงามบาดตาบาดใจเป็นส่วนใหญ่ ทรงพุ่มของลำต้นและกิ่งก้านก็อ่อนช้อย มีใบสีเขียวสด ไปช่วยแต้มแต่งให้สีดอกสวยเด่นยิ่งขึ้น ลักษณะสีสันตลอดจนรูปแบบของใบก็มีให้เลือกมากมายตามใจชอบ  สามารถตัดแต่ง ดัดโน้มรูปทรงได้ตามความพอใจ

การกลายพันธุ์ เฟื่องฟ้าสามารถกลายพันธุ์ทำให้เกิดพันธุ์ใหม่ขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งการกลายพันธุ์จากตาหรือบัดมิวเทชั่น (bud mutation) ซึ่งมีผลให้ตาที่เกิดขึ้นมาใหม่นั้นมีลักษณะผิดแปลกแตกต่างไปจากต้นเดิม  ทำให้เกิดเป็นพันธุ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา  และกลายพันธุ์จากการเพาะเมล็ด  จึงเป็นที่น่าสนใจของบรรดาผู้เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ไม้ประดับทั่ว ๆ ไป ทั้งที่เป็นมืออาชีพและมือสมัครเล่น

รูปแบบของการฟอร์มต้นและการปลูกเพื่อเป็นการค้า  เฟื่องฟ้ามีฟอร์มการเล่นหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น การจัดเป็นเฟื่องฟ้าตอใหญ่ เฟื่องฟ้ากระถาง ส่วนมากผู้ซื้อนิยมนำไปปลูกเพื่อเป็นต้นไม้จัดสวน ตกแต่งภายในบริเวณบ้าน เช่น ระเบียง หน้ามุกดาดฟ้า หัวสนาม ซุ้มประตูทางเข้าบ้าน หรือตามซอกตามหลืบตรงมุมสวน หรือไม่ก็ปลูกคลุมพื้นที่ให้เกาะกันเป็นกลุ่ม ๆ ปลูกประดับเพื่อความสดใสตามสถานที่ทำงาน โรงแรม หรือแม้แต่สถานที่ราชการ ตามริมถนนหลวงภายในกรุง หรือ ทางหลวงสายต่าง ๆ ตลอดจนปลูกเป็นแถวเป็นแนวตามเกาะกลางถนน  นอกจากนี้แล้วเฟื่องฟ้ายังสามารถที่จะเปลี่ยนยอดให้มีสีสันต่าง ๆ ตามที่ต้องการได้ต้นหนึ่งอาจจะมีสีสันหลากหลายงดงามตระการตา ตามแต่ความประสงค์ของผู้ปลูก และผู้ซื้อ

ด้วยความสวยงามในรูปแบบที่หลากหลายนั้น ได้แพร่ขยายแผ่กระจายไปตามสถานที่ต่าง ๆ นี้เองทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดความรู้สึกติดตาตรึงใจ  ซึ่งมีผลให้เกิดแรงบันดาลใจให้เกิดกิเลสและตัณหาอยากจะปลูกเฟื่องฟ้าประดับประดาบ้านเรือนของตนเองให้เหมือนกับสวนสวรรค์ไม่น้อยหน้าใคร

เฟื่องฟ้าปลูกเลี้ยงได้ตั้งแต่คนจนไปจนถึงเศรษฐีหรืออภิมหาเศรษฐี  เฟื่องฟ้าเป็นไม้ประดับที่มีราคาต่ำสุดตั้งแต่กระถางละ 20 บาทขึ้นไปจนถึงโคตรแพงราคาต้นละเป็นหมื่นบาทขึ้นไปเรียกว่าใครมีเงินน้อยก็ลงทุนน้อย ใครมีเงินหนาก็ลงทุนเยอะหน่อย  พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นไม้ที่คนจนก็มีสิทธิที่จะปลูกได้

ส่วนใครจะซื้อแบบกระถางเล็กหรือซื้อประเภทต้นตอเฟื่องฟ้าขนาดใหญ่ฟอร์มดี ๆ ก็ขึ้นอยู่กับฐานะทางเศรษฐกิจในกระเป๋าของแต่ละคนว่า กระเป๋าใบโต ๆ หรือใบเล็กกระจิ๊ดริด และก็อย่างเพิ่งไปดูถูกดูแคลนพวกกระเป๋าใบจิ๋ว ๆ ก็แล้วกัน เพราะเผลอ ๆ เขาอาจจะดวงดีได้เป็นเจ้าของเงินแสนเงินล้านเพราะขายเฟื่องฟ้าให้คุณก็ได้  เรื่องอย่างนี้แล้วแต่ดวงใครดวงมัน ลงมีดวงเศรษฐีซะอย่างยังไง ๆ ก็ต้องเป็นเศรษฐีเข้าจนได้

เฟื่องฟ้าขยายพันธุ์ได้ง่าย  เฟื่องฟ้าสามารถที่จะขยายพันธุ์ได้หลายรูปแบบ เช่น การปักชำ การตอน การเสียบยอด การติดตา  และขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด  ซึ่งเกษตรกรและบุคคลที่สนใจทั่วไปก็สามารถที่จะปฏิบัติได้โดยไม่สู้จะยากเย็นมากนัก

เฟื่องฟ้าปลูกง่ายเลี้ยงดูรักษาง่ายโรคแมลงศัตรูน้อย เฟื่องฟ้าเป็นไม้ประดับไม่ต้องเลี้ยงดูเอาใจใส่มากนัก  เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ประดับและไม้ดอกชนิดอื่น ๆ คือ เลี้ยงง่าย ตายยาก ขยายพันธุ์ง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม คือ ทนน้ำ ทนแล้ง สามารถปลูกขึ้นได้ในดินทั่วประเทศ เช่น ดินทราย ดินเหนียว ดินร่วน ดินร่วนปนทราย ดินลูกรัง ไม่มีโรค และแมลงศัตรูพืชรบกวน สามารถนำไปปลูกเลี้ยงในกระถางได้เป็นอย่างดี

จากปัจจัยและเหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้นนั้น  ทำให้เฟื่องฟ้าเป็นไม้ประดับที่ยืนหยัดครองความนิยมเหนือไม้ดอกไม้ประดับชนิดอื่น ๆ จนตราบเท่าทุกวันนี้

ประวัติและถิ่นกำเนิดของเฟื่องฟ้า

เฟื่องฟ้าเป็นไม้เลื้อยมีหนาม มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในทวีปอเมริกาใต้  ได้มีผู้นำเข้าไปยังทวีปยุโรป  หลังจากนั้นก็ได้มีผู้นำเฟื่องฟ้าเข้าไปในทวีปเอเซีย เช่น ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ สำหรับในประเทศไทยนั้นเชื่อกันว่ามีการสั่งพันธุ์เฟื่องฟ้าเข้ามาครั้งแรกจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2423  ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5 และเนื่องจากเฟื่องฟ้านั้นส่วนใหญ่จะออกดอกบานสะพรั่งช่วงเดือนกุมภาพันธ์  ซึ่งตรงกับเทศกาลตรุษจีนพอดี ชาวบ้านในระยะนั้นจึงนิยมเรียกกันว่า “ดอกตรุษจีน”

ความนิยม “เฟื่องฟ้า” ในประเทศไทยนั้นบางครั้งก็โด่งดังเป็นพลุ บางครั้งก็ซบเซาเงียบเหงาเช่นเดียวกับไม้ประดับชนิดอื่น ๆ เช่น โกสน บอนสี ขึ้นอยู่กับยุคสมัย  ซึ่งต่อมาในช่วงระยะหลัง ๆ นี้ ก็ได้มีผู้นำพันธุ์เฟื่องฟ้าจากต่างประเทศเข้ามามากมายหลายพันธุ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของเฟื่องฟ้า

เฟื่องฟ้าเป็นไม้ประดับใบที่ถูกจัดให้อยู่ในวงศ์หรือแฟมมีลี่ (Family) ไนทาจีเนซีอี้ (Nyctaginaceae) สกุลหรือจีนัส (Genus) บูเกนวิลเลีย (Bougainvillea)

ลำต้น เฟื่องฟ้าเป็นไม้ประเภทรอเลื้อยมีหนามสำหรับการเกาะเกี่ยว  และป้องกันอันตรายให้แก่ ทรงพุ่ม ลำต้นกลม เปลือกบาง เนื้อไม้แข็งและเหนียว

ใบ เป็นลักษณะของใบเดี่ยว มีทั้งลักษณะเป็นรูปไข่ และกลมรี ยาวรี แผ่นใบกว้างประมาณ 2-3 ซม. ยาว 3-6 ซม. มีทั้งสีเขียวเข้มจนกระทั่งเขียวอ่อนและใบด่าง นอกจากนี้ยังมีใบประดับ  มีสีสันต่าง ๆ มากมายซึ่งคนทั่วไปมักจะเข้าใจว่าคือดอกของเฟื่องฟ้าจะรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 ใบ

ดอก มีขนาดเล็กติดอยู่กับใบประดับ  ไม่มีกลีบดอกมีแต่กลีบเลี้ยงเป็นรูป 5 แฉก ติดกันเป็นหลอด

ผล จะมี 5 เหลี่ยม เมล็ดติดแน่นกับเปลือกผล  เฟื่องฟ้าบางพันธุ์ก็ให้ผลและเมล็ดมากมายจึงมีโอกาสกลายพันธุ์ได้ง่าย แต่บางพันธุ์ก็มีผลและเมล็ดน้อย โอกาสที่จะกลายพันธุ์เนื่องจากการเพาะเมล็ดจึงยาก

พันธุ์เฟื่องฟ้าในเมืองไทย

ในวงการค้าขายเฟื่องฟ้าในปัจจุบันนี้มีการสั่งพันธุ์จากต่างประเทศเข้ามาใจประเทศไทยเพิ่มขึ้น  นอกจากนี้ก็ยังได้เฟื่องฟ้าพันธุ์ใหม่ ๆ ที่เกิดจากการผสมพันธุ์และกลายพันธุ์จากเฟื่องฟ้าที่มีอยู่ในเมืองไทย  แต่ในบางครั้งก็มีการตั้งชื่อซ้ำซ้อนสับสนกันบ้าง เพราะไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนหรือจดทะเบียนเป็นชื่อพันธุ์ไม่ให้ตั้งซ้ำซ้อนกัน  นับว่าเป็นจุดบกพร่องที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขแต่อย่างไร  ชื่อพันธุ์ที่ตั้งขึ้นมาจึงเป็นชื่อเพื่อการค้าและธุรกิจเสียมากกว่าที่จะให้เป็นชื่อที่มีระบบ และหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อ

เท่าที่ค้นคว้าและสำรวจได้  ปัจจุบันนี้มีพันธุ์เฟื่องฟ้าในเมืองไทยมีอยู่ประมาณพันธุ์เช่น สุมาลีสยาม สุวรรณี ขาวสุมาลี ม่วงประเสริฐศรี ขาวน้ำผึ้ง พรสุมาลี ทิพมาลี สุมาลีสีทอง สุวรรณีสีทอง สุวรรณีดอกขาว ม่วงประเสริฐ ศรีจินดา ชมพูประเสริฐศรี ม่วงประเสริฐศรีด่างขาว ม่วงประเสริฐศรีด่างเหลือง ม่วงประเสริฐศรีด่างภายใน ทัศมาลีดอกขาว ทัศมาลีด่างมาก ชมพูประเสริฐศรีด่าง ม่วงประเสริฐศรีด่างมาก ด่างส้มเข้ม ศศิวิมล ด่างส้มอ่อน วาสิฎฐี วาสินี วิลาสินี แดงจินดา แดงรัตนา ชมพูนุช ชมพูทิพย์ ส้มมยุรี ส้มอุไรรัตน์ ส้มจินดา เหลืองไพล ไต้หวันแสงสำราญ ส้มจ่า แดงจ่า แดงสมประสงค์ ชมพูจินดา ชมพูทิพย์ใบเขียว ส้มมยุรีใบเขียว เหลืองอรทัย ชมพูทิพย์จินดา สาวิตรีใบเงิน  สาวิตรีศรีสยาม สาวิตรีด่างขอบเหลือง สาวิตรีด่างขอบขาว สาวิตรีศรีสยามด่างขอบขาว สาวิตรีศรีสยามด่างประ แดงมะนิลา ส้มซ้อน ชมพูซ้อน ขาวซ้อน ม่วงซ้อน

ข้อมูลจากการศึกษาและค้นคว้าของ ดร.ณรงค์  โฉมเฉลา

ปัจจุบันนี้ก็มีพันธุ์ใหม่ ๆ ออกสู่ท้องตลาดหลายพันธุ์ด้วยกันเช่น  ม่วงเบญจวรรณ แดงธงชัย ม่วงกุสุมา ใบด่าง ม่วงกุสุมาใบเขียว มุจรินทร์

การขยายพันธุ์เฟื่องฟ้าเพื่อการค้า

การขยายพันธุ์เฟื่องฟ้าเพื่อการค้านั้นนิยมทำกันอยู่ 2 ลักษณะ คือ การปักชำกิ่งและการเสียบยอด

การปักชำกิ่งแบ่งเป็น 3 ลักษณะ

1.  ปักชำกิ่งขนาดเล็กเท่ากับปลายตะเกียบไปจนถึงนิ้วมือ เพื่อปลูกเฟื่องฟ้ากระถางขาย

2.  การปักชำกิ่งใหญ่ หรือกิ่งเฟื่องฟ้าที่เป็นกิ่งแก่ กิ่งติดกับลำต้น ทั้งนี้เพราะว่าเฟื่องฟ้าตอนั้นหายากขึ้น  และมีปริมาณลดน้อยลง ประกอบกับกิ่งเฟื่องฟ้าบางกิ่งนั้นมีลักษณะที่จะจัดเป็นฟอร์มต้นที่สวยงามได้ ก็นำมาปักชำทดแทนต้นตอแท้ ๆ ที่หายาก

3.  การปักชำต้นตอซึ่งเป็นต้นตอเฟื่องฟ้าที่ขุดเอามาจากตามบ้านนอกที่ชาวบ้านปลูกเอาไว้นาน ๆ หลาย ๆ ปี บางต้นมีอายุร่วม 100 ปี ก็มี เมื่อเฟื่องฟ้าแตกยอดแตกกิ่งดีแล้วก็นำมาเสียบยอดเพื่อเปลี่ยนพันธุ์และสีสันต่อไป

การปักชำ

วัสดุ  ขี้เถ้าแกลบหรือแกลบดำจากโรงสี

ดินละเอียด  ส่วนมากเป็นดินจากท้องนาที่ทุบละเอียดดีแล้ว

อัตราส่วนการผสม  ขี้เถ้าแกลบ 5 ส่วน ใช้ดิน 1 ส่วน

วิธีการปักชำนั้น  เท่าที่นิยมปฏิบัติกันอยู่ในขณะนี้นั้น คือ

1.  ปักชำในถุงพลาสติกขนาด 3×5 นิ้วฟุต เจาะรูที่ก้นถึง 2 รู ให้สูงจากก้นถุงมา 1 นิ้วฟุต

2.  การปักชำในกระถางขนาดปากกว้าง 6 นิ้วฟุต  แล้วปักกิ่งชำกระถางละ 3-4 กิ่ง ตามแต่ขนาดของกิ่ง

3.  ปักชำในกะบะชำมีขนาดไม่แน่นอนแล้วแต่สภาพพื้นที่  หรือความต้อการของเกษตรกร

4.  เกษตรกรบางรายมีเงินทุนสูงก็จะมีเครื่องพ่นหมอกหรือเรือนเพาะชำโดยเฉพาะ

วิธีปักชำ ตัดกิ่งเฟื่องฟ้าขนาดเท่ากับตะเกียบหรือประมาณขนาดนิ้วก้อยให้ยาวประมาณ 20 ซม. แล้วจุ่มในฮอร์โมนเร่งรากและนำมาปักชำลงไปในขี้เถ้าแกลบผสมดิน ตามอัตราส่วนที่กล่าวมาแล้ว  จากนั้นก็นำไปเข้าตู้อบเพื่อเก็บความชื้น  ซึ่งเกษตรกรโดยทั่วๆ ไป นิยมทำเป็นเรือนโรงพลาสติกใสคลุมหมดทุกด้าน อาจจะเป็นทรงหลังคาโค้งทรงหน้าจั่ว ซึ่งขึ้นอยู่กับความถนัดและความต้องการของเกษตรกร  ส่วนความกว้าง ความยาวนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็นในการใช้สอย หรือปริมาณกิ่งที่จะปักชำ แต่ความสูงส่วนมากจะประมาณ 1.00 เมตร ถึง 1.50 เมตร หลังจากปักชำและอบไว้ในตู้อบพลาสติกประมาณ 18-30 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดและพันธุ์ของเฟื่องฟ้า หลังจากนั้นก็นำมาย้ายลงกระถาง ตู้พลาสติกนั้นไม่ควรอยู่กลางที่โล่งแจ้งหรือแดดร้อนจัดจนเกินไปควรจะอยู่ในที่ที่มีแสงแดดรำไร

เมื่อเฟื่องฟ้าแตกยอดแตกรากแล้ว ถ้าหากยังไม่ย้ายลงกระถางก็ให้นำมาพักไว้ในเพิงพักที่มุงหลังคาพลาสติก และคลุมด้วยตาข่ายสีดำเพื่อพรางแสงรดน้ำให้ชุ่ม  แต่อย่าให้แฉะเพราะเฟื่องฟ้าจะรากเน่า

การปลูกเฟื่องฟ้า

โดยปกติแล้วเฟื่องฟ้าเป็นต้นไม้ที่ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดีและค่อนข้างจะทนแล้ง  ปัจจุบันนี้เกษตรกรนิยมปลูกเฟื่องฟ้าลงกระถางมากกว่าวิธีอื่น ๆ เมื่อเฟื่องฟ้าที่ปักชำจนงอกรากดีแล้ว  เกษตรกรก็จะนำมาลงกระถาง  ขนาดปานกลาง 8 นิ้ว โดยใช้ส่วนผสมของดินดังต่อไปนี้

กาบมะพร้าวสับ                          4          ส่วน

ดิน                                            2          ส่วน

แกลบ                                        1          ส่วน

ปุ๋ยคอก                                      1          ส่วน

หญ้าคาสับ                                2          ส่วน

การผสมดินสำหรับปลูกนั้นนิยมนำกาบมะพร้าวทั้ง 4 ส่วนมากองเกลี่ยลงบนลานดินหรือลานซิเมนต์ก่อนแล้วเทหญ้าคาที่สับแล้วทับลงไปเป็นชั้นที่ 2  จากนั้นก็เทแกลบ ปุ๋ยคอก และดินทับลงไปตามลำดับชั้น  วิธีนี้จะช่วยให้ประหยัดเวลาในการคลุกเคล้าผสมดินปลูกเฟื่องฟ้าได้มากขึ้น

สำหรับสูตรผสมดินปลูกเฟื่องฟ้านั้น เกษตรกรบางราย  จะใช้กาบมะพร้าวสับ 4 ส่วน ดิน 1 ส่วน  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเทคนิคของแต่ละบุคคล  เมื่อย้ายเฟื่องฟ้าลงปลูกในกระถาง 8 นิ้วเรียบร้อยแล้วก็นำต้นเฟื่องฟ้าไปพักไว้ในที่ร่ม รำไร หรือบังไพร ก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เฟื่องฟ้าคายน้ำมากเกินไป เพราะจะเหี่ยวเฉาตายได้ง่ายถ้าถูกแดดราดมากเกินไป  หลังจากพักฟื้นเฟื่องฟ้าไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ก็นำเฟื่องฟ้าออกมาวางกลางแดดต่อไป

การรดน้ำและใส่ปุ๋ย

เฟื่องฟ้า  เป็นไม้ประดับที่ไม่ชอบสภาพดินที่ชื้นแฉะเกินไป  ฉะนั้นการรดน้ำพึงควรระมัดระวังอย่าให้แฉะเกินไปและควรวางกระถางเฟื่องฟ้าให้สามารถระบายน้ำได้สะดวก  ส่วนมากเกษตรกรจะรดน้ำเพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น  สำหรับการให้ปุ๋ยนั้นจะใช้สูตรเสมอ 16-16-16 โรยรอบโคนต้นประมาณ 1 ช้อนแกงทุก ๆ 15 วัน และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณขึ้นตามขนาดของต้นเฟื่องฟ้า  ซึ่งจะสังเกตุได้จากความสมบูรณ์ของต้น ใบ และดอกเฟื่องฟ้า

การปลูกเฟื่องฟ้าโดยใช้ตอแขน

กิ่งของเฟื่องฟ้าที่เกษตรกรตัดมาจากต้นตอใหญ่ก็นำมาปักชำในขี้เถ้าแกลบ รดน้ำให้ชุ่มวันละ 1 ครั้งทิ้งไว้ในที่ร่มประมาณ 2 เดือน ก็จะแตกรากออกมา เกษตรกรจะใช้ฮอร์โมนเร่งรากหรือไม่ใช้ก็ได้ หลังจากนั้นย้ายลงกระถาง  โดยใช้ดินผสมเช่นเดียวกับการปลูกเฟื่องฟ้ากิ่งเล็กและนำมาเสียบยอด จัดแต่งทรงพุ่มกันต่อไป

การปลูกเฟื่องฟ้าโดยใช้ “ต้นตอ”

ต้นตอเฟื่องฟ้าที่มีขนาดใหญ่นั้น ปัจจุบันนับวันก็จะหายากยิ่งขึ้นทุกที ซึ่งมีผลให้ราคาค่อนข้างจะสูง  ส่วนมากแล้วจะเป็นต้นตอที่ขุดมาจากต่างจังหวัด ขนใส่รถบรรทุก 10 ล้อ มาขายให้กับบรรดาร้านขายไม้ดอกไม้ไม้ประดับอีกทอดหนึ่ง การปลูกเฟื่องฟ้าโดยใช้ตอใหญ่นั้นเกษตรกรนิยมตัดรากของต้นตอออกให้เหลือเพียงแต่โคนรากแล้วปลูกในกระถาง  โอ่งมังกรขนาดใหญ่  อัดด้วยขุยมะพร้าวให้แน่นรดน้ำให้ชุ่ม  แล้วนำไปวางไว้กลางแดด ถ้าหากเป็นต้นตอที่มีขนาดใหญ่ ใช้กระสอบป่านหุ้มพันกิ่ง  แล้วรดน้ำให้ชุ่มเพื่อป้องกันไม่ให้กิ่งและต้นแห้งตาย  รดน้ำตอนเช้าให้ชุ่มแต่อย่าให้ถึงกับแฉะและควรจะรดน้ำที่กระสอบป่านให้กระสอบชุ่มอยู่เสมอ หลังจากนั้นประมาณ 2 เดือน หรือ 2 เดือนกว่า ๆ เฟื่องฟ้าก็จะแตกกิ่งแล้วเราก็เลือกกิ่งที่จะเสียบยอดเพื่อจัดแต่งทรงพุ่มต่อไป

เมื่อขุยมะพร้าวยุบตัวก็ใช้ดินผสมชุดใหม่เติมลงไปให้เต็มกระถางอยู่เสมอและใช้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 ใส่ต้นละ 1-2 กำมือทุก ๆ 15 วัน

ธุรกิจการค้าขายเฟื่องฟ้า

การขยายพันธุ์เฟื่องฟ้าเพื่อการค้าในปัจจุบันนี้แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ

1.  การขยายพันธุ์เพื่อเป็นเฟื่องฟ้ากระถาง ตั้งแต่กระถางขนาด 8 นิ้วขึ้นไป จนถึงกระถางมังกร แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นเฟื่องฟ้ากิ่งเล็ก  ซึ่งอาศัยการปักชำเป็นส่วนใหญ่

2.  การขยายพันธุ์เฟื่องฟ้าประเภทติดตากับกิ่งที่แตกออกจากตอที่ปักชำในกระถางใหญ่และในขณะเดียวกันก็ทำมาค้าขายเฟื่องฟ้ากระถางดังข้อ 1 ไปด้วย

การขยายพันธุ์เฟื่องฟ้าตามข้อ 1 นั้นลงทุนน้อยกว่าการขยายพันธุ์เฟื่องฟ้าในลักษณะติดตาจากกิ่งที่แตกจากตอเฟื่องฟ้า ซึ่งจำเป็นที่จะต้องลงทุนในการซื้อตอค่อนข้างจะสูง  ฉะนั้นผู้ที่จะค้าขายเฟื่องฟ้าในลักษณะเช่นนี้จะต้องมีเงินทุนสูงกว่าลักษณะข้อ 1

ปัจจุบันนี้ตอเฟื่องฟ้าที่ขุดมาจากตามชนบทในเมืองไทยนั้นมีจำนวนลดลงไปมากจนถึงกับต้องมีการสั่งเข้ามาจากประเทศเขมร ทำให้ราคาของต้นตอเพิ่มขึ้น  ส่วนใหญ่แล้วจะมีพ่อค้าไปรับเหมาซื้อบรรทุกรถสิบล้อมาขายต่ออีกทอดหนึ่ง บางต้นหรือบางตอราคาสูงถึง 3,000 -4,000 บาท ก็เคยมี  แต่ถ้าหากติดตาและจัดรูปแบบให้สวยงามแล้ว อาจจะขายได้ในราคา 10,000 บาทขึ้นไปก็ได้  กำไรน่าดูชมเลย

ตอที่เป็นต้นนั้นเรียกว่า “ต้นตอ” ส่วนกิ่งเฟื่องฟ้าก็สามารถนำมาทำตอได้เรียกกันว่า “ตอแขน” เกษตรกรจะซื้อแล้วนำมาปักชำจนแตกกิ่งแล้วก็ติดตาขายได้ ราคากระถางละ 200-1,000 บาทขึ้นไป

ทิศทางของตลาดเฟื่องฟ้าและอนาคต

แหล่งผลิตกิ่งเฟื่องฟ้าเพื่อการค้ามากที่สุดก็ได้แก่ แถบริมเส้นทางสายกรุงเทพฯ-สุพรรณบุรี สายใหญ่ ช่วงอำเภอบางใหญ่ อำเภอบางกรวย  จังหวัดนนทบุรี อำเภอกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร เส้นทาง อ.กระทุ่มแบน ต.ท่าเสา เส้นทางพุทธมณฑล สาย 2 เส้นทางพุทธมณฑล สาย 4

เกษตรกรจากแหล่งดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันนี้อาชีพการผลิตเฟื่องฟ้าเพื่อการค้านั้นยังคงทำตลาดได้ดีตลอดมาถึงแม้ว่าระยะหลังการปฏิวัตเศรษฐกิจจะซบเซาลงไปบ้าง ทำให้บรรดาบ้านจัดสรรหมู่บ้านต่าง ๆ สร้างน้อยลงและที่สร้างไว้แล้วก็ขายไม่ค่อยจะได้  ก็มีผลกระทบต่อตลาดไม้ดอกไม้ประดับแทบทุกชนิด  โดยเฉพาะบรรดาไม้ประดับที่ใช้ในการจัดสวน

แต่อย่างไรก็ดี ช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เป็นช่วงที่เฟื่องฟ้าออกดอกบานสะพรั่งและสวยงามมากก็ยังคงเป็นที่ดึงดูดใจลูกค้าได้พอสมควร  แต่พอถึงช่วงฤดูฝนดอกเฟื่องฟ้าจะโทรมและร่วงโรยทำให้ความสวยงามลดลง ยอดขายก็จะลดลงด้วย

ฉะนั้นเกษตรกรที่ประกอบอาชีพปลูกไม้ดอกไม้ประดับจึงมักจะมีไม้ดอกไม้ประดับหลากหลายชนิดผสมผสานกันเพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี  แต่ก็จะมีไม้หลัก ของแต่ละร้าน เพื่อเป็นแหล่งใหญ่ในการจัดซื้อของลูกค้า เช่น เกษตรที่ปลูกเฟื่องฟ้าเป็นไม้หลัก ก็จะมีพวกสน ปาล์ม ตะโก ข่อย เป็นไม้รอง

การลงทุนและผลกำไร

ถ้าจะมองกันเพียงผิวเผินแล้วบางท่านอาจจะคิดว่าอาชีพการปลูกไม้ดอกไม้ประดับนั้นจะต้องร่ำรวยเสมอไป  แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว  เกษตรกรนั้นต้องลงทุนในขั้นต้นค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าดิน ค่ากระถาง ค่าปุ๋ย ค่าสารพิษฆ่าแมลงศัตรูพืช ค่าแรงงาน

ถ้าหากเป็นเกษตรกรที่ปลูกเฟื่องฟ้ากระถางนั้นจะลงทุนน้อยกว่า เกษตรกรที่ปลูกเฟื่องฟ้าตอใหญ่ขาย ซึ่งจะต้องลงทุนค่าซื้อตอ ๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า 2,000-3,000 บาท ถึงแม้ว่าจะขายได้ราคาตอละ 5,000 – 10,000 บาทขึ้นไปก็ตามแต่ต้องใช้ระยะเวลาการเลี้ยงดูนานนับเป็นปี  อีกทั้งยังต้องรอลูกค้ามาซื้ออีกด้วย มิได้หมายความว่า เมื่อผลิตออกมาแล้วจะขายได้ทันที

สรุปแล้วเฟื่องฟ้ากระถางที่ถ่ายใส่กระถางมังกรแล้ว  ใช้เวลาในการดูแลประมาณ 1 ปี ราคาขายกระถาง 120- 200 บาทขึ้นอยู่กับสีสันและความสวยงาม ต้นทุนในการผลิตทั้งค่าดิน ค่าแรงงาน ค่าปุ๋ย ค่าน้ำ ค่ากระถางรวมแล้วประมาณ 80-90 บาท ฉะนั้นจึงต้องอาศัยการขายให้ได้จำนวนมากกันเข้าไว้ซึ่งเกษตรกรก็ต้องอาศัยลูกค้าประจำลูกค้าจรที่เป็นนักจัดสวน หรือร้านค้าไม้ดอกไม้ประดับในต่างจังหวัด  หรือร้านค้าไม้ดอกไม้ประดับในต่างจังหวัด  ตัวอย่างเช่นขณะนี้จังหวัดสุพรรณบุรีก็กำลังนิยมเฟื่องฟ้ากัน ก็จะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้ามากว้านซื้อไปขายต่ออีกทอดหนึ่ง

เมื่อเปรียบเทียบกับไม้ดอกไม้ประดับชนิดอื่นเฟื่องฟ้าก็ยังคงเป็นดาวค้างฟ้าอีกต่อไป และคาดการณ์เอาไว้ว่า ถ้าหากหลังมีการเลือกตั้งแล้ว เศรษฐกินดีขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ ดำเนินไปโดยไม่ชะงักงันก็ตั้งความหวังไว้ว่า การค้าขาย คงจะดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้