การปลูกและการบำรุงรักษาไผ่

ไผ่เป็นพืชชนิดหนึ่งที่ใช้ประโยชน์ได้สารพัด ขึ้นได้ทุกภาคของประเทศการดูแลรักษาก็ไม่ลำบากนัก บางครั้งปล่อยให้เจริญเติบโตตามธรรมชาติก็ยังให้ผลผลิตดี ไม่ค่อยมีโรคแมลงรบกวนเช่นพืชอื่น ๆ เกือบทุกส่วนนำไปจำหน่ายได้ ตลาดรับซื้อในบ้านเราก็ยังหาง่ายอีกด้วย

การเตรียมดินปลูก

เตรียมดินปลูกในช่วงก่อนฤดูฝน โดยไถพรวน 2 ครั้ง ตากดินไว้อย่างน้อย 2 อาทิตย์แล้วย่อยดิน เว้นระยะปลูกระหว่างต้นและระหว่างแถวให้พอเหมาะ ถ้าปลูกไผ่ตงใช้ระยะ 8×8 เมตร ขุดหลุมขนาด 50x50x50 หรือ 100x100x100 ซม.  แล้วแยกดินชั้นบนและดินชั้นล่าง  ทำดินชั้นบนผสมกับปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกประมาณ 1 ปี๊บต่อหลุม หรือใช้ปุ๋ยคอก 1 ปี๊บผสมกับปุ๋ยเคมีสูตร 15-15-15 อัตรา 20-30 กรัม (2-3 ช้อนแกง) ต่อหลุมและควรผสมหินฟอสเฟตด้วย อัตรา 300 กรัม (1 กระป๋อง) ต่อหลุม ควรผสมสารเคมีพวกคาร์โบฟูแรน เช่น ฟูราดานหรือคูราแทร์ ประมาณ 5-10 กรัม (1/2 – 1 ช้อนแกง) ต่อหลุมด้วย คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากันแล้วใส่ลงในหลุม ทิ้งหลุมไว้ประมาณ 2-4 อาทิตย์ จึงปลูกไผ่

การปลูก

1.  นำกิ่งพันธุ์ที่เตรียมไว้ปลูกในหลุม  โดยวางให้กิ่งเอียงทำมุม 45 องศากับผิวดิน เพื่อให้มีการแทงหน่อได้เร็ว

2.  กลบดินแล้วเหยียบให้แน่น

3.  ปักไม้ค้ำเพื่อยึดต้นพันธุ์ไม่ให้ล้มหรือโยก เมื่อโดนลม

4.  อาจคลุมดินด้วยฟ่างข้าวหรือหญ้าแห้ง  เพื่อรักษาความชื้นของดินบริเวณโคนต้น

การปฏิบัติดูแลรักษา

เมื่อทำการปลูกไผ่ตงแล้ว จะต้องใช้เวลานานประมาณ 1-2 เดือนหลังจากปลูก  ไผ่ตงจะตั้งตัวได้พร้อมทั้งแตกใบใหม่ และหลังจากที่ต้นไผ่เจริญเติบโตสมบูรณ์แข็งแรงดีในระยะปีต่อ ๆ มาก็ให้ทำการไถพรวนเพื่อกำจัดวัชพืช  ซึ่งจะนิยมทำกันในช่วงก่อนที่ดินจะแห้ง  คือประมาณช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน เพราะสภาพที่ดินแห้งจะทำให้ไถพรวนยากลำบาก นอกจากนี้ในช่วงฤดูแล้งที่มีฝนทิ้งช่วงจะประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ก็จำเป็นต้องให้น้ำช่วยด้วย  โดยเฉพาะปีแรกของการย้ายปลูกลงแปลง ส่วนการให้ปุ๋ยนั้น  จะมีการให้ปุ๋ยระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายน  ซึ่งอาจจะใช้แต่เพียงปุ๋ยคอกอย่างเดียวก็ได้ โดยใช้ในอัตรา 1-1.5 ตันต่อไร่ (ประมาณ 40-50 กก. หรือ 4-5 ปุ้งกี๋ต่อกอ) หรือจะใช้ปุ๋ยคอกร่วมกับปุ๋ยเคมีด้วยก็ได้ วิธีการก็โดยใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-8 หรือสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยหินฟอสเฟตในอัตรา 50-100 กก.ต่อไร่ หรือในอัตรา 2-4 กก.ต่อกอ โดยใส่หลังจากให้ปุ๋ยคอกแล้ว

ช่วงที่มีการเร่งการออกหน่อนั้นก็ให้เพิ่มปุ๋ยในช่วงระยะที่มีการแทงหน่อ  โดยการใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตหรือปุ๋ยสูตร 16-20-0 ในอัตราส่วน 2 กก.ต่อกอ เพิ่มใส่ให้หลังจากใส่ปุ๋ยตามที่กล่าวมาแล้ว  ปุ๋ยที่เพิ่มให้นี้จะช่วยกระตุ้นให้มีการแทงหน่อออกมาเร็ว นั่นคือ หน่อจะยืดตัวได้เร็ว และมีคุณภาพดีเพิ่มขึ้นด้วย ในบางครั้งก็มีการใช้ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟตหรือยูเรีย ผสมกับปุ๋ยสูตร 13-13-21 โดยให้พร้อมกันในอัตรา 1 กก. ต่อกอก็ได้

ข้อเสียการให้ปุ๋ยเร่งหน่อ

1.  หน่อที่ได้จะมีลักษณะอวบน้ำ ทำให้จำหน่ายไม่ได้ราคา เพราะเมื่อนำไปทำหน่อไม้อัดปี๊บแล้วจะมีน้ำหนักลดลงกว่าปกติมาก

2.  เมื่อทำการเก็บเกี่ยวหน่อเรียบร้อยแล้ว ต้องมีการบำรุงรักษาอย่างดีในปีถัดไป ทั้งนี้เพราะหากไม่มีการบำรุงรักษาที่ดีพอกอไผ่ตงจะทรุดโทรมได้ง่าย และเร็วกว่าปกติ