การปลูกโสกระย้า

แอมเฮิรส์ทผู้เลอโฉม(The Noble Amherstia)

คำว่านักเกษตรในที่นี้หมายถึงคนของรัฐที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาการเกษตรของชาติ  ตั้งแต่นักวิชาการระดับล่างจนถึงอธิบดี อธิการบดีของกรม ของมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง  จากการที่ผ่านงานมากว่า 30 ปี ผู้เขียนสามารถกล่าวได้ว่า  นอกจากงานของกรมป่าไม้ที่ต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับไม้ยืนต้นแล้วผู้เขียนไม่เคยได้ยิน ไม่เคยเห็นข้อเขียนผ่านตาเกี่ยวกับการเชิญชวนนักวิชาการให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของไม้ยืนต้นที่ไม่ใช่ผลไม้และสมุนไพรจากผู้ใหญ่ของกรมฯ ต่าง ๆ เหล่านี้เลย  คงจะเป็นด้วยเห็นว่าไม้เหล่านี้ไม่ส่งผลให้ร่ำรวยและก้าวหน้าในหน้าที่การงาน  อีกทั้งลืมเสียสนิทว่า  การอนุรักษ์และเสริมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีส่วนใหญ่ได้จากไม้ยืนต้น เป็นหน้าที่ของหน่วยงานตน เมื่อผู้ใหญ่ให้ความสนใจน้อย เยาวชนของชาติย่อมสูญเสียโอกาสไปด้วย  โปรดใครครวญดู

เมื่อประมาณกว่า 20 ปีมาแล้วผู้เขียนเคยเข้าเวรฟังสวดพระศพของสมเด็จพระสังฆราช  ขณะนั่งพนมมือฟังพระสวดอยู่นั้น  สายตาก็สำตรวจไปตามดอกจำปาที่ประดับอยู่รอบปริมณฑลอยู่มากมาย  ทำให้ใจนึกไปถึงศพเพื่อนบ้านในชนบทที่ผู้เขียนเคยวิ่งเล่นอยู่ ในงานได้กลิ่นหอมของดอกจำปาจำปีที่เอามาใช้ประดับในงานศพ  แต่ในพระราชพิธีนี้ ทำไมไม่ได้กลิ่นจำปาเลย  ทั้ง ๆ ที่เห็นอยู่มากมาย  เมื่อเสร็จพิธีผู้เขียนจึงต้องขอแตกแถวเดินเข้าไปใกล้ช่อดอกจำปาที่ทำเป็นอุบะห้อยอยู่ เมื่อเข้าใกล้ก็เกิดความสงสัยว่าจะไม่ใช่จำปาแท้ และเพื่อให้แน่ใจก็ลงทุนยอมเสียมารยาทยื่นมือไปสัมผัสดู โอ้..อนิจจา จำปากระดาษทั้งนั้น ! นี่มันอะไรกันงานพระศพของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าอันเป็นประมุขสูงสุดของพุทธศาสนา ยังต้องใช้ดอกจำปากระดาษ (เมื่อ 20 ปีเศษ) ถ้าอย่างนั้นงานศพผู้เขียนอีก 20-30 ปีข้างหน้า กล้วยไม้ พลับพลึง คงเป็นพลาสติกหมด แม้กระทั่งโลงศพ!

ถ้าถามว่าดอกจำปาหายไปไหนหมด?  ตอบเพราะคนไม่นิยมปลูก…ทำไมคนไม่ปลูก?  ไม่ปลูกเพราะการปลูกจำปาได้กำไรน้อยเมื่อเทียบกับพืชอื่น..เคยมีการทดลองปลูกจำปาเป็นการค้าหรือไม่?…ไม่เคย? ทำไม? คำตอบสุดท้ายคือจำปาไม่ใช่พืชเศรษฐกิจเป็นพืชอายุยืนนาน ผลงานออกมาช้าทำให้ซี (การเลื่อนขั้น) พลอยช้าไปด้วย! ที่เขียนมานี้มิใช่เห็นจำปาเป็นไม้ดอกยืนต้นสำคัญที่ต้องเร่งรัด แต่เขียนมาเพียงเพื่อสะกิดให้ท่านผู้มีหน้าที่ มีอำนาจวาสนาชำเลืองดูไม้ยืนต้นอื่น ๆ ที่มีอยู่มากมาย เพื่อหาคุณสมบัติเก็บเป็นข้อมูลเพื่อรอการใช้ประโยชน์ในโลกโลกาภิวัฒน์ที่กำลังคืบคลานเข้ามาเท่านั้นเอง  มิใช่พอถึงเวลาต้องการใช้ต้องศึกษาหาข้อมูลกันอีก 10-20 ปี

ผู้เขียนอยากจะเชิญชวนท่านผู้อ่านหันมาเพิ่มความรัก ความสนใจไม้ดอกไม้ประดับยืนต้นกันให้มากขึ้น เพราะไม้ยืนต้นเหล่านี้มีคุณสมบัติเอนกประการ  ให้ดอกที่สวยงามตามฤดูกาล โครงสร้างของลำต้น ของกิ่งก้าน ใบ ให้ทั้งความสง่างามและร่มรื่น ให้ไม้ใช้สอย เสริมสภาพแวดล้อมและความสุขกายสบายใจที่ยั่งยืนดังเรื่องของแอมเฮิรส์ทผู้เลอโฉมที่จะกล่าวถึงนี้

คำว่า “แอมเฮิรส์ท” (Amherst) เป็นชื่อของสุภาพสตรีชาวอังกฤษสองท่าน ท่านหนึ่งเป็นแม่ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นเคาน์เตสส์ (Countess Amherst) อีกท่านหนึ่งเป็นลูกสาวมีบรรดาศักดิ์เป็นเลดี้ (Lady Amherst หรือ Lady Sara Elizabeth) ทั้ง 2 ท่านนี้เคยเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของการค้นคว้าพืชพรรณไม้ในอินเดีย  ฉะนั้นเมื่อมีการค้นพบไม้ดอกยืนต้นที่งดงามต้นนี้  นักพฤกษศาสตร์จึงพร้อมใจกันให้ชื่อสกุล (Genus) ไม้ต้นนี้ว่า Amherstia ให้เป็นเกียรติแก่เธอทั้งสอง และด้วยความงดงามอย่างยากที่จะหาไม้อื่นเทียมทานได้ นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ชื่อชนิด (species) ว่า “nobilis” เป็นภาษาลาตินแปลว่า “สูงศักดิ์, เลิศเลอ, ดีเยี่ยม ฯลฯ” ชื่อทางพฤกษศาสตร์ของไม้ต้นนี้ จึงเป็น Amherstia nobilis Wall ผู้เขียนจึงให้ชื่อเรื่องว่า “แอมเฮิรส์ทผู้เลอโฉม” เป็นการจูงใจให้ท่านผู้อ่านสนใจ และเห็นเธองามมากขึ้นเท่านั้นเอง ไม้ต้นนี้มีชื่อภาษาไทยที่ไพเราะอยู่แล้วว่า “โสกระย้า” บ้าง “อโศกระย้า” บ้าง ผู้เขียนเข้าใจเอาเองว่า ท่านที่ตั้งชื่อ (ไม่ว่าชื่อใดก็ตาม) นี้คงเอาความงามของช่อใบอ่อนที่ละม้ายกับช่อใบอ่อนของต้นอโศกขาวมารวมเข้ากับความงามของช่อดอกของไม้ต้นนี้ที่ห้อยเป็นพวงระย้า  ส่วนชื่อภาษาฝรั่งก็มีอยู่หลายเหมือนกัน เช่น Amherstia, Orchid Flower, Noble Amberstia และ Pride of Burma หรือพม่ากระหยิ่ม  ถ้าให้ทันสมัยต้องว่า “พม่าเต๊ะ หรือบุเรงนองผงาดอะไรทำนองนั้น” ก็สมควรให้พม่ากระหยิ่มอิ่มใจหรอกครับ  เพราะไม้ดอกยืนต้น ๆ นี้ทั้งโลกมีเพียงชนิด (species) เดียว และก็มีเฉพาะในพม่าเท่านั้น

ความงามของโสกระย้า

ความงามของไม้ต้นนี้ได้รับการกล่าวขานจากนักพฤกษศาสตร์ตะวันตกไว้มากมายในที่ต่าง ๆ กัน และเมื่อประมวลการเยินยอความงามของไม้ต้นนี้จากนักพฤกษศาสตร์ทั้งหลายมารวมเข้าด้วยกันแล้ว ก็จะได้ความว่า “โสกระย้าดูเหมือนจะเป็นไม้ที่สวยงามที่สุดในบรรดาไม้ดอกยืนต้นทั้งปวงที่มีอยู่ในโลกนี้” ความงามของช่อดอกสีแดงสดแซมเหลืองที่ห้อยระย้าอยู่ตามปลายกิ่งย่อยที่มีอยู่มากมายรอบทรงพุ่มอันสง่างาม ท่ามกลางใบที่เขียวสด ก่อให้เกิดความงามอย่างน่าพิศวง  จนยากที่จะหาไม้ดอกยืนต้นชนิดใดในโลกเสมอเหมือน  ที่น่าประทับใจและสะดุดตาที่สุดก็คือ  ใบอ่อนสีแดงหรือบางทีก็สีชมพูอมม่วงที่ห้อยเป็นช่อยาวลงมาดูคล้ายช่อใบของต้นอโศกหรือโสกอินเดีย (Saraca indica)

ความเลอเลิศที่กล่าวถึงข้างต้นนี้เป็นการพรรณาความงามเมื่อยามสมบูรณ์ที่สุดคือ มีช่อใบอ่อนยาวฟุตถึงฟุตครึ่ง มีช่อดอกห้อยระย้ายาวถึง 2-3 ฟุต  มีดอกงามราวหงส์เหินมากถึงกว่า 20 ดอกต่อช่อ แต่ความงามเช่นนี้โสกระย้าที่เรือนเพาะชำของกองพฤกษศาสตร์บางเขนที่มีอายุกว่า 20 ปีแล้ว ยังไม่เคยปรากฎให้เห็น คงจะเป็นเพราะถูกกักขังและขาดความรัก โสกระย้าต้นนี้จึงซ่อนความงามที่แท้จริงไว้ราวสังข์ทองในร่างเงาะป่า  เธอจึงมิได้รับการกล่าวถึงในหมู่นักรักไม้สมดังเสียงลือเสียงเล่าอ้าง

โสกระย้าหน้าตาเป็นอย่างไร?

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกระทัดรัดสูง 10-15 เมตร เรือนร่างตอนที่ยังไม่ออกดอกดูคล้ายต้นอโศกมาก ลำต้นดูม่อต้อ เปลือกต้นเป็นสะเก็ดหยาบ กิ่งก้านที่แพร่กระจายทั่วทุกทิศปกคลุมไปด้วยแผ่นใบสีเขียวเข้มมากมาย  กิ่งที่ออกใหม่จะโน้มลง ส่วนใบจะห้อยลงดูงามตา ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกยาว 30-40 ซม. มีใบย่อย 6-8 คู่ ใบย่อยยาว 15-30 ซม. กว้าง 2-3 ซม. แต่ละคู่เว้นระยะห่างกันพองาม ใบย่อยเป็นรูปของขนานถึงรุปไข่แกมขอบขนาน  โคนใบป้านปลายใบแหลม ผิวใบด้านบนเรียบและเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างสีจาง นิ่มด้วยขนอ่อนที่ปกคลุมอยู่

ดอกออกที่โคนก้านใบ เป็นช่อรูปกรวยคว่ำยาวประมาณ 60 ซม.(หากต้นสมบูรณ์ช่อจะยาว 90 ซม.) ก้านช่อสีเขียวอมแดง  ก้านดอกสีแดงเข้มในช่อหนึ่ง ๆ มี 10-14 ดอก แต่ในถิ่นกำเนิดหรือต้นที่งาม ๆ ช่อหนึ่ง ๆจะมีดอกงาม ๆ ได้ถึง 20-26 ดอก เป็นเรื่องธรรมดา ๆ ก้านดอกและใบประดับที่มีขนาดใหญ่มีสีแดงจัด กลีบเลี้ยง 4 กลีบ เชื่อมกันเป็นหลอดแล้วแยกที่ปลาย  ส่วนตัวดอกประกอบด้วยกลีบดอก (petal) 5 กลีบขนาดไม่เท่ากัน กลีบกลางมีขนาดใหญ่ยาวถึง 3 นิ้ว กว้าง (ส่วนกว้างสุด) 2 นิ้ว รูปแตรผ่าครึ่ง ขอบมนปลายจัก สีแดง ที่ปลายกลางกลีบเป็นสีเหลืองขนาด 1 ตร.ซม. ประทับ ด้วยอักษาวี (V) สีแดงตรงกลาง กลีบ ดอก 2 กลีบที่ขนาบกลีบกลาง  ลักษณะคล้ายกลีบกลางแต่เรียวเล็กกว่ามาก กลีบดอก 3 กลีบ(รวมกลีบกลาง) ชูตั้งดูสง่างามสะดุดตา ส่วนอีก 2 กลีบเป็นกลีบเล็ก ๆ ยาวราว 2 มม. อยู่ชิดด้านหลังของก้านเกสรตัวผู้เกสรตัวผู้แบ่งได้เป็น 2 ชุด ชุดแรกประกอบด้วย 5 ก้านเกสรเชื่อมกัน จากโคนขึ้นมาประมาณ 3-4 ซม. แล้วมาแยกเป็น 5 ก้านยาว 3-4 ซม. เช่นกัน ส่วนชุดที่ 2 ก้านเกสรสั้นประมาณ 2-3 มม. จึงมองเห็นยากอีก 4 ก้าน เกสรตัวผู้นั้นในหลายตำราเขียนว่ามี 10 ก้าน แต่คุณวัชรี  ประชาศรัยสรเดช กับผุ้เขียนได้ตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแล้ว พบเพียง 9 เท่านั้น ซึ่งก็ตรงกับในฟลอร่าออฟจาวา (Flora of Java) เกสรตัวผู้ชุดแรกงอนรับเกสรตัวเมียที่อยู่ด้านในทั้งหมดดูงามอ่อนช้อย  ช่วยเสริมให้โสกระย้าทั้งเด่นและงามขึ้น เกสรตัวเมียยาวเรียวเล็กสีแดง ปลายแหลม มีรังไข่สีครีมอยู่เหนือจานดอก คงจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมังที่โสกระย้าติดเมล็ดยาก ฝักหนึ่ง ๆ มี 4-6 เมล็ด ออกดอกมกราคม-กุมภาพันธ์  แต่ปีนี้โสกระย้าออกดอกเร็ว คือออกเมื่อปลายพฤศจิกายนต้นธันวาคม เมื่อปลายเดือนธันวาคมมีดอกบานอยู่หลายช่อ

ธรรมชาติของโสกระย้า

เพราะเป็นไม้งามจึงมีนิสัยค่อนข้างหวงตัว ต้องเอาใจมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในวัยเด็กและวัยสาว ดินต้องมีความอุดมสมบูรณ์สูง  ระบายน้ำได้ดีอากาศชุ่มชื้น ไม่ชอบลมแรงและแดดตอนบ่าย ไม่ชอบโดนแดดโดยตรง โดยเฉพาะตอนที่ออกใบใหม่ ๆ นอกจากหวงตัวแล้วยังหวงพันธุ์อีกด้วย  แม้ในฝักจะมีเมล็ดแต่ก็ยากที่จะเพาะขึ้นเป็นต้น คนที่อาศัยอยู่ในพม่านานนับสิบปีบอกว่าเห็นออกดอกออกฝักดกทุกปี  แต่ไม่เคยเห็นกล้าขึ้นอยู่ใต้ต้นเลย  ผู้เขียนเคยไปยืนชมความงามของไม้ต้นนี้ที่ศรีลังกา เห็นมีฝักอยู่บนต้น อยากได้เมล็ดมาเพาะ  แต่ทางเจ้าหน้าที่บอกว่ามีฝักทุกปีแต่หาเมล็ดแก่ที่จะใช้ทำพันธุ์ยาก ในพม่าเองเมล็ดโลกระย้าก็หายาก  การขยายพันธุ์ส่วนใหญ่จึงใช้การตอน “ไม้นี้ตอนออกรากง่าย แต่การประคบประหงมให้กิ่งตอนรอดชีวิตนั้นแสนยากเย็น  มีคนขอให้ผมตอนให้หลายคนแล้วและส่วนมากเอาไปชำแล้วตาย” นี่เป็นคำพูดของคุณประดิษฐ์  รัตนานุพงศ์ เจ้าหน้าที่ดูแลต้นไม้ของสวนพฤกษศาสตร์บางเขน

นับเป็นโชคดีที่กิ่งตอนรากเต็มของโสกระย้าที่คุณประดิษฐ์ตัดให้มาหนึ่งกิ่งเมื่อ 28 สิงหาคม 38 นั้น ผู้เขียนนำมาชำรอดชีวิตจนทุกวันนี้ ที่ทำได้ใช่ว่าเก่งกว่าคนอื่นก็หาไม่  เคล็ดลับจริง ๆ มีอยู่ว่า ผู้เขียนเป็นข้าราชการเกษียณอายุ  มีเวลาอยู่บ้านวันละ 24 ชั่วโมง ปีละกว่า 300 วัน จึงมีเวลาแวะเยี่ยมเยียนเธอ แอมเฮิรส์ทผู้เลอโฉมวันละ 5 ครั้ง เช้า-ใบตื่นนอนหรือยัง สาย-แดดสาดเพียงพอหรือไม่ เที่ยง,บ่าย-แดดกล้าเกินไปหรือเปล่า เย็น-ดินมีความชื้นพอเหมาะหรือไม่ ใบกร้านสากหรือนุ่มนวล ตลอดระยะเวลา 2 เดือนเต็ม ย้ายที่อยู่ให้เธอถึง 3 ครั้ง ตามความเหมาะสม

โสกระย้าเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่

จากหนังสือ “พรรณไม้ในสวนหลวง ร.9” บอกไว้ว่าเธอเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกโดยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสพม่าในปี พ.ศ.2415 ผู้เขียนรู้จักไม้นี้ครั้งแรกจากต้นที่นำเข้ามาโดยอาจารย์กสิน  สุวตะพันธุ์  นำมาปลูกไว้ที่เรือนเพาะชำครูวงศ์  (ครูวงศ์  บุณโยรส)  หรือที่สวนพฤกษศาสตร์บางเขน ปัจจุบัน

นักเกษตรกับไม้ดอกยืนต้น