การปลูกไม้เพื่อค้ำยันต้นไม้

นานมาแล้ว ผู้เขียนได้เขียนบทความเรื่อง “ปัญหาเรื่องการปลูกค้ำยันต้นผลไม้” ลงในหนังสือ “กสิกร” ปีที่ 33 เล่มที่ 5 ประจำเดือนกันยายน-ตุลาคม พ.ศ.2503 หน้า 409-416 ในบทความได้นำเอาความเห็นของนักพืชสวนชั้นนำของอเมริกา  และความเห็นอิงวิชาการของผู้เขียนเองมาแสดงให้ปรากฎ  โดยมีวัตุประสงค์เพื่อให้นักวิชาการไม้ผลและชาวสวนได้รับทราบความเห็นของนักพืชสวนระดับอินเตอร์ที่มีต่อการใช้ต้นเพาะเมล็ดปลูกค้ำยันต้นส้มและทุเรียน ซึ่งนิยมกันมากในสมัยนั้น เพราะเชื่อว่าการค้ำยันเช่นนี้ทำให้ต้านลมได้ดี และโตเร็วกว่าต้นที่มิได้ถูกค้ำยัน  ความเชื่อเลยเถิดไปถึงว่า ยิ่งค้ำมากยิ่งดี จึงเห็นการค้ำยันด้วยต้นตอ 3-4 ต้นเป็นภาพธรรมดา ๆ

หลังจากบทความถูกตีพิมพ์ออกไปแล้ว  กระแสความสนใจการทำค้ำยันไม่สามารถวัดได้เด่นชัด ประโยชน์ของการทำการค้ำยันก็ยังมีการพูดถึงในหมู่นักส่งเสริม และการค้ำยันส้ม ทุเรียนก็ยังคงอยู่ ส่วนที่ล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำการค้ำยันก็คงมีอยู่บ้างแต่วัดไม่ได้  แม้เวลาผ่านมาถึง 35 ปีแล้ว  การปลูกไม้เพื่อค้ำยันต้นไม้ยังพอมีให้เห็นทั้งในสวนเอกชน และสถานีทดลองของราชการ นอกจากนั้นความคิดเรื่องประโยชน์ของการปลูกไม้ค้ำยันต้นไม้ก็ยังคงได้รับการสนับสนุนในหมู่นักวิชาการและนักส่งเสริมบางท่านเหมือนเดิม  ที่เป็นเช่นนี้อาจเพราะหลายสาเหตุ เช่น

1.  บทความไม่ผ่านสายตาท่านเหล่านี้

2.  บทความผ่านสายตา ท่านได้อ่าน แต่ท่านไม่เห็นด้วย จึงยังคงทำกันต่อไป

3.  ท่านอ่านและเห็นด้วยกับบทความ(หากไม่เห็นด้วย จำนวนสวนที่ทำค้ำยันอาจจมากกว่านี้ก็ได้)

จะอย่างไรก็ตามผู้เขียนเห้นว่า ผู้ที่อ่านบทความนี้ในสมัยนั้น ปัจจุบันได้กลายเป็น ปู่ ย่า ตา ยายไปหมดแล้ว ชาวสวนรุ่นลูกเป็นพวกรุ่นใหม่ไฟแรง  วิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถวิพากษ์วิจารณ์บทความได้ จึงน่าจะได้อ่านเรื่องนี้ (หากยังไม่เคยอ่าน) เพื่อไว้เป็นทางเลือก ผู้เขียนเองเชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่า บทความที่เขียนไปนั้น มีความเป็นกลาง มิได้เอียงไปทางใดทางหนึ่ง และมีเกร็ดความรู้พื้นฐานที่ชาวสวนควรทราบอยู่ด้วย  อีกทั้งหากเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ชาวสวนจะได้ประหยัดทั้งเวลาและเงินทอง  หาได้มีเจตนาที่จะยืนยันและยัดเยียดความเห็นของตนว่าถูกต้องแม้แต่ประการใดไม่ จึงขอนำบทความดังกล่าวมาลงไว้โดยไม่มีการตัดตอนแม้แต่น้อน ดังต่อไปนี้

ปัญหาเรื่องการปลูกค้ำยันต้นไม้

ในระหว่างปี 2499-2500 ข้าพเจ้าได้มีโอกาสร่วมทำงานกับ Mr.F.L.S. O’Rourke ผู้เชี่ยวชาญด้านสวนผลไม้จากสำนักงานยูซอม (USOM) เราได้ร่วมงานกันมากพอที่จะทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงท่านเมื่อท่านจากไป การเขียนเรื่องนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อ่านบ้างแล้ว  ในส่วนตัวข้าพเจ้าก็ยังพอใจอย่างมากที่ได้นำเอาเรื่องของผู้ที่ได้เคยร่วมงานกันมาถ่ายทอดให้แก่ผู้อ่าน

ความเห็นเรื่องการปลูกค้ำยันต้นผลไม้

เมื่อวันที่ 24 กรกฏาคม 2499  เราได้เดินทางไปชมสวนส้มกำนันจุล  คุ้นวงศ์ จ. เพชรบูรณ์ ที่นั่นเราได้พบส้มหลายต้นที่เจ้าของทำค้ำยันไว้ เมื่อกลับจากไร่กำนันจุลเราได้ไปชมสวนทุเรียน นายสำเภา  ท้วมแสง  ที่อ.บางกรวย นนทบุรี  ที่นี่เราได้พบต้นทุเรียนที่เจ้าของทำค้ำยันไว้อีก Mr. O’Rourke จึงได้ถามถึงวัตถุประสงค์ของการทำค้ำยัน  ซึ่งก็ได้ความสอดคล้องกันทั้ง 2 แห่ง คือ เพื่อให้ต้านทานลมได้ดี และต้นสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีรากมากและแข็งแรง  เนื่องจากเพิ่มโคนขึ้นอีก 1 โคน และโคน(ต้น) ที่ใช้ค้ำยันนั้นเพราะจากเมล็ด ผู้ถามเองไม่อาจลงความเห็นไปทางใดทางหนึ่งได้แน่นอนเป็นแต่เพียงให้ความเห็นว่าในส้มเขียวหวานนั้นมีเปอร์เซ็นต์ของต้นอ่อนที่มิได้เกิดจากการผสมระหว่างไข่ตัวเมีย และเชื้อตัวผู้ (Nucellar seedling) อยู่สูงมาก  ดังนั้นส่วนมากของต้นอ่อนส้มเขียวหวานจึงมีลักษณะทางพันธุกรรมคล้ายคลึงกับกิ่งตอนของต้นแม่ พูดให้สั้นเข้าก็คือว่า กิ่งตอนส้มเขียวหวานกับต้นที่เพาะจากเมล็ดนั้นมีลักษณะต่าง ๆ คล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก  ดังนั้นการค้ำยันอาจจะไม่ได้รับประโยชน์มากเท่าที่ชาวสวนคิด อย่างไรก็ตาม Mr. O’Rourke ยังได้มีจดหมายสอบถามไปตามแหล่งต่าง ๆ ที่คิดว่าจะให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ได้ และในเวลาต่อมาก็ได้รับตอบจากหลายแหล่งด้วยกัน ข้าพเจ้าจะขอประมวลข้อความคิดเห็นของผู้ทรงคุณเหล่านั้นไว้ดังนี้

จดหมายฉบับแรกเป็นของ Mr.S.H. Cameren แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย  ซึ่งมีใจความพอสรุปได้ว่า

“ในระหว่างจำพวกส้มต่าง ๆ นั้น โดยปกติต้นอ่อนที่มิได้เกิดจากการผสมเชื้อมักจะแข็งแรงกว่าต้นพ่อแม่ แต่ความแข็งแรงนี้จะไม่ถ่ายทอดไปยังกิ่งแม่ (Scion) ฉะนั้นข้าพเจ้าจะประหลาดใจยิ่งถ้าหากชาวสวนส้มในเมืองไทยได้รับผลตอบแทนจากการค้ำยันคุ้มค่าแรงงานที่เสียไป”

จากข้อสังเกตุของ Dr.F.F. Halma มีใจความสำคัญพอสรุปได้ว่าส้มติดเปลือก (Oranges) และมะนาวใหญ่ (Lemon) นั้นต้นที่ได้จากการติดตาและที่ได้จากกิ่งตอน หรือตัดชำ จากต้นแม่เดียวกัน  ไม่ค่อยแตกต่างกันหรือถ้าแตกต่างกันก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

Dr. K.P. Betters ให้ความเห็นว่าโดยทั่วไปการปลูกค้ำยันต้นไม้ที่สมบูรณ์อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ชนิดใดก็ตาม จะได้รับผลตอบแทนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนมากจะเห็นได้ว่ากิ่งตัดชำของพวกส้มจะเติบโต ให้ผลผลิตให้คุณภาพผลและอื่น ๆ เกือบ ๆ จะคล้ายคลึงกับต้นที่ได้จากการติดตาจากต้นแม่เดียวกัน  โดยมีพันธุ์ส้มนั้นเองเป็นต้นตอ

ท่านผู้นี้ยังเปรียบเทียบให้เห็นว่าส้ม Navel orange ที่ตัดชำมาก็คล้ายคลึงกับต้นที่ติดตาบนต้นตอ Sweet orange หรือส้ม velencia ปลูกจากตัดชำก็เหมือนกับต้นที่ติดตาบนต้นตอ Sweet orange ส้มโอผลเล้ก (grape fruit) ก็เหมือนกัน คือ ต้นที่ปลูกจากกิ่งตัดชำก็จะมีผลคล้ายคลึงกับต้นที่ติดตาบนตอมันเอง ทั้งนี้ย่อมแสดงว่าต้นส้มที่ตัดชำมากับต้นที่เกิดจากการติดตามิได้แตกต่างกันมากเลย นอกจากนี้ Dr.K.P.Betters ยังแสดงความคิดเห็นต่อไปอีกว่าในบางกรณีกิ่งตัดชำยังแตกกิ่งก้านสาขาออกไปมากกว่าต้นติดตาเล็กน้อยด้วย  ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะระบบราก  เพราะต้นส้มที่มีระบบรากแผ่กระจาย เช่นพวกที่ติดตาบนต้นตอ Rough lemon หรือ Sweet orange ก็มักจะมียอดแตกสาขาดีตามไปด้วย  ถ้าติดตาบนต้นตอที่มีระบบรากเป็นพวกรากแล้ว (tap root type) ยอดก็มีลักษณะไปในทางทรงชะลูดหรือทรงตั้งด้วย

“โดยทั่ว ๆ ไปต้นไม้ที่ขยายพันธุ์ด้วยกิ่งตอน หรือด้วยการตัดชำมักจะมีรากออกรอบ ๆ แกนที่ควั่นแต่ไม่มีรากแก้ว อย่างไรก็ตาม การตัดชำโดยทำรอยตัดให้ได้มุม 45°หรือตัดเฉียงรากจะแตกออกน้อย เพราะรากจะงอกออกตามส่วนล่างสุดของรอยตัด  และยาวออกคล้ายเป็นรากแก้วโดยธรรมชาติ  กิ่งตัดชำในลักษณะนี้ทรงต้นจะไม่แพร่กระจายเหมือนกับต้นที่รากเจริญออกมามากมายจากปุ่มข้าวสุก (Callus) ส้มเขียวหวานมีระบบรากคล้ายพวกรากแก้วจึงอาจจะเป็นไปได้ว่าในดินบางชนิด ระบบรากแก้วนี้อาจจะหากินไม่เหมือนรากกิ่งตอน ในกรณีนี้การค้ำยันอาจจะทำให้แข็งแรงขึ้นได้  แต่ข้าพเจ้าคิดว่าควรจะลองทำให้แง่การทดลองไม่ควรทำเป็นการค้า”

ต่อมาเป็นความเห็นของ Dr.A.F.Camp สถานีทดลองส้ม มหาวิทยาลัยฟลอริดา Lake Alfred, Florida มีดังนี้

“ปัจจุบันนี้เชื่อกันว่าที่ต้นอ่อนที่เกิดจากเมล้ด (Seedling) ของส้มแข็งแรงกว่าต้นแม่นั้น  เพราะว่าต้นอ่อนไม่มีโรควิสา (virus) ซึ่งอาจจะมีอยู่ในต้นแม่  โรควิสาส่วนมากจะไม่ถ่ายทอดไปยังต้นอ่อน ไม่ว่าต้นอ่อนนั้นจะเกิดจากการผสมเชื้อ (gametic seedling) หรือไม่ก็ตาม”

“ถ้าหากส้มเขียวหวานมีโรควิสา ซึ่งทำให้ความเจริญเติบโตและผลผลิตลดลงแล้ว  การใช้เมล็ดปลูกจะทำให้ได้ต้นที่แข็งแรงกว่าต้นพ่อ ต้นแม่เป็นแน่  แต่ถ้าไม่มีปัญหาเรื่องโรควิสาแล้ว การค้ำยันก็ไม่น่าจะทำให้เกิดความแตกต่างอย่างใด ดังนั้นการเพิ่มความแข็งแรงให้กับต้นที่ไม่มีโรคโดยใช้ต้นอ่อนค้ำยันจะไม่เกิดประโยชน์อย่างใด อย่างไรก็ดี เราได้เคยทดลองเกี่ยวกับระบบรากของต้นไม้มาบ้างแล้ว และปรากฎว่าต้นไม้ที่ปลูกจากกิ่งตอนหรือกิ่งตัดชำ (cutting) มักมีระบบรากไม่สู้ดี  เมื่อเติบโตเป็นไม้ใหญ่ขึ้นแล้วรากต่าง ๆ มักจะคงอยู่เป็นกลุ่มก้อนไม่ขยายออกไป และขาดรากแก้วขาดรากแขนงใหญ่ ๆ ข้าพเจ้าจึงคิดว่าการค้ำยันน่าจะให้ผลไปในทางทำให้มีระบบรากดีขึ้น และเป็นการช่วยกรองโรควิสาด้วย

ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าจากจดหมายทั้งสามฉบับนี้ไม่มีฉบับใดให้คำตอบที่แน่นอน ทั้งนี้เนื่องจากว่าเป็นการแสดงความคิดเห็นของแต่ละท่านเท่านั้น  ที่สำคัญยิ่งก็คือว่า ปัญหาปลีกย่อยทางด้านเกษตรนั้นยากที่จะตอบให้แน่นอนโดยเด็ดขาดได้  คำตอบแต่ละคำตอบก็มักจะใช้ได้เฉพาะแห่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อประมวลความคิดเห็นของนักเกษตรทั้ง 4 ท่านที่กล่าวมาแล้วนี้ ก็จะได้ความเห็นที่ตรงกันดังนี้คือ

1.  ส้มที่เพาะจากเมล็ดแข็งแรงกว่าต้นพ่อต้นแม่

2.  การค้ำยันจะให้ผลไม่คุ้มค่าใช้จ่ายที่เสียไป (เพราะค่าแรงงานที่อเมริกาสูงมาก) จึงควรทำเป็นการทดลองมากกว่าการค้า

3.  การค้ำยันต้นที่สมบูรณ์และปราศจากโรคภัยจะได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย

4.  ต้นส้มที่ปลูกจากกิ่งตัดชำหรือจากกิ่งตอนนั้นความเจริญเติบโตของต้นส้ม การให้ผลผลิตและคุณภาพปรากฎว่ามีผลเกือบคล้ายคลึงกับต้นที่ติดตามา  โดยใช้สัมพันธุ์เดียวกันเป็นต้นตอ

5.  ไม่ปรากฎว่ามีความแตกต่างระหว่างต้นค้ำยันกับต้นกิ่งตอนที่ปราศจากโรคด้วยกัน

เมื่อนำเอาสภาพดินฟ้าอาการและการปฏิบัติงานสวนของเจ้าของจดหมายตอบ(อเมริกา) มาเปรียบเทียบกับสภาพของเมืองไทยแล้วข้าพเจ้ามีความเห็นดังนี้

การค้ำยันจะให้ผลดีเลวประการใดนั้นมีสิ่งที่ควรนำมาคิดหลายอย่างเช่นค้ำยันกับต้นไม้อะไร ดินมีลักษณะเช่นใด การให้น้ำดีเลวอย่างไร การปลูกเป็นระบบไหน ชาวสวนเมืองไทยมักจะเล็งผลเลิศจากการค้ำยันมากเกินไป และคิดกันง่าย ๆ ว่า 2 โคนย่อมดีกว่าโคนเดียว 3 โคนย่อมดีกว่า 2 โคน เพราะหาอาหารเลี้ยงเพียงยอดเดียวเท่านั้น แต่หาได้คิดกันไม่ว่า รากไม่สามารถผลิตน้ำตาลได้เอง แต่จำเป็นต้องอาศัยน้ำตาลที่ผลิตจากใบเพื่อนำไปใช้สำหรับเจริญเติบโต  ดังนั้นรากจะยาวขึ้นหรือเพิ่มจำนวนโดยอิสระของมันเองไม่ได้ ถ้าต้องการเพิ่มรากก็จำเป็นต้องเพิ่มใบ(ยอด) เสียก่อน  จากนี้จะเห็นว่าน้ำตาลจากยอดเดียวควรจะเลี้ยงโคน ๆ เดียว ไม่ใช่เลี้ยง 2-3 โคน ปัจจุบันเท่าที่ข้าพเจ้าทราบชาวสวนมีการปลูกค้ำยันไม้ผลอยู่ 3 ชนิด คือค้ำยันส้ม ค้ำยันทุเรียน และค้ำยันลำไย ข้าพเจ้าจะลองแบ่งการทำสวนออกเป็น 3 แบบดังนี้

1.  การทำสวนแบบยกร่องในที่ราบลุ่มภาคกลางเช่นที่จังหวัดพระนคร ธนบุรี นนทบุรี

2.  การทำสวนพื้นราบในที่ดินทราย และมีการให้น้ำดี

3.  การทำสวนพื้นราบในที่ดินทราย แต่ไม่มีการให้น้ำ

การค้ำยันในสวนแบบที่ 1

ไม่น่าจะให้ผลแตกต่างจากกิ่งตอน นอกจากมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปลี่ยนโคน หรือเปลี่ยนราก สมมติว่าในสวนที่ปลูกส้มเขียวหวานจากกิ่งตอนไว้  เมื่อถึงระยะหนึ่งรากจะแผ่กระจายไปถึงแคมร่องชนกับน้ำพอดี และไม่สามารถไปไกลกว่านั้นได้  ถึงแม้จะใช้ต้นส้มเขียวหวานค้ำยันตั้งแต่เล็กรากก็ไม่สามารถไปไกลกว่านี้ได้เช่นกัน เพราะถูกจำกัดไว้ด้วยระดับน้ำ  ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับปลูกต้นไม้ในกระถาง จะค้ำยันหรือไม่ค้ำยันรากก็มีอยู่เท่ากัน แต่ถ้าในท้องถิ่นนั้นส้มเขียวหวานเป็นโรครากเน่าง่ายกว่าส้มพันธุ์อื่น การค้ำยันกิ่งตอนโดยใช้ส้มพันธุ์อื่นที่มีความต้านต้านต่อโรครากเน่าก็จะได้ประโยชน์มาก เพราะต่อไปรากของส้มที่ใช้ค้ำยันนั้นจะทำหน้าที่แทนรากส้มเขียวหวาน นี่คือการเปลี่ยนโคน หรือเปลี่ยนราก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ส้มเขียวหวาน กิ่งตอนนั้นได้กลายเป็นทาบกิ่งหรือติดตาบนต้นตออื่นเสียแล้ว  โดยเหตุนี้สิ่งสำคัญที่สุดของการค้ำยันกิ่งส้มแบบนี้ก็คือ จะต้องแน่ใจว่าต้นตอที่ใช้ค้ำยันนั้นมีลักษณะตามที่เราต้องการ เช่นมีความต้านทานโรคและอื่น ๆ ได้ มิฉะนั้นก็ไม่น่าจะได้ประโยชน์จากการค้ำยันอย่างที่หวังไว้

สำหรับการค้ำยันทุเรียนในสวนแบบที่ 1  นี้ ถ้าหากค้ำยันต้นที่สมบูรณ์อยู่แล้ว จะไม่ได้ผลเหมือนกับค้ำยันต้นที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2503 ข้าพเจ้าได้ไปศึกษาผลการค้ำยันทุเรียนที่สวนของนายสำเภา  ท้วมแสงอีกครั้งหนึ่ง สรุปผลได้ว่า การค้ำยันต้นสมบูรณ์นั้นไม่ว่าจะใช้ต้นตอพันธุ์เดียวกับต้นแม่หรือไม่ก็ตาม เมื่อต้นโตขึ้นจะให้ผลไม่แตกต่างจากกิ่งตอนมากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากประการแรก ทุเรียนอาจไม่มีโรควิสา (virus) ที่เป็นเหตุให้ต้นแม่อ่อนแอมาก  ประการที่ 2  ทั้งรากของกิ่งตอนและกิ่งตอนค้ำยัน ก็ถูกจำกัดด้วยความกว้างของพื้นร่อง และระดับน้ำในที่สุดความแตกต่างจะมีอย้างในด้านทรงต้น  ข้าพเจ้าเห็นว่า กิ่งตอนค้ำยันอาจให้ผลดีกว่ากิ่งตอนที่ไม่ค้ำยันในระยะแรก ๆ เพราะกิ่งตอนค้ำยันนั้นที่แท้ก็คือทุเรียนกิ่งทาบนั่นเอง  แต่เมื่อต้นโตเต็มที่แล้วก็จะไม่ต่างกันนัก ประการสุดท้ายจากการศึกษาระบบรากของทุเรียนกิ่งตอนกับทุเรียนกิ่งทาบอายุประมาณ 8 ปีเท่ากัน ที่สถานีกสิกรรมบางกอกน้อย  ได้ปรากฎแก่ข้าพเจ้าว่าระบบรากของทุเรียนที่เกิดจากกิ่งตอนแทบจะไม่แตกต่างจากต้นที่ปลูกด้วยกิ่งทาบเท่าใดและความแตกต่างนี้อาจแก้ไขได้ด้วยการปฏิบัติสวน เพราะเหตุนี้ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ในสวนแบบที่ 1 นี้ ทุเรียนที่เกิดจากกิ่งตอน กิ่งทาบ หรือติดตา และทุเรียนกิ่งตอนที่มีค้ำยันมีระบบรากคล้ายคลึงกันทั้งสิ้น

การค้ำยันในสวนแบบที่ 2

คือสวนแบบพื้นราบดินทราย การให้น้ำดี กิ่งตอนที่สมบูรณ์ดีอยู่แล้ว ถึงจะค้ำยันในสวนแบบนี้ ก็ไม่น่าจะให้ผลต่างกับกิ่งตอนสมบูรณ์ที่ไม่ค้ำยันเท่าใดนัก ทั้งนี้เพราะว่าการให้น้ำดีนั้นทำให้ความชื้นในดินทั้งชั้นบนและชั้นล่างสม่ำเสมอกันตลอดปี กิ่งค้ำยันจึงไม่ได้ประโยชน์จากความชื้นในดินชั้นล่างในฤดูแล้ง ในสภาพเช่นนี้ กิ่งตอนกิ่งตัดชำ กิ่งตอนค้ำยันไว้แต่ตอนต้น หรือกิ่งทาบที่ปราศจากโรค ก็ควรจะให้ผลคล้ายคลึงกัน ดังที่ Dr.K.P.Betters กล่าวไว้แต่ตอนต้น

การค้ำยันในสวนแบบที่ 3

คือสวนแบบพื้นราบดินทราย และไม่มีน้ำจะรดให้ในฤดูแล้ง การค้ำยันกิ่งตอนในสภาพเช่นนี้ น่าจะให้ผลดีกว่าที่ไม่ค้ำยัน เพราะรากหาอาหาร (รากแขนง รากฝอย รากขนอ่อน) ของกิ่งตอนเดินอยู่ตื้นกว่ารากหาอาหารของกิ่งตอนค้ำยัน  ดังนั้นในฤดูแล้งรากกิ่งตอนจะหาน้ำและอาหารได้จากดินชั้นบนแต่ส่วนเดียว แต่ถ้าได้ปลูกค้ำยัน ระบบรากของตอ (เพราะจากเมล็ด) ซึ่งเดินลึกกว่าดังกล่าวแล้ว จะดูดน้ำจากดินชั้นที่ลึกลงไปมากเป็นประโยชน์แก่ต้นในฤดูแล้งได้

เมื่อกล่าวโดยสรุปแล้วจะได้ดังนี้

1.  ปลูกด้วยกิ่งตอนแล้วทำค้ำยันผลที่ได้ก็คือคล้ายคลึงกับการปลูกด้วยกิ่งทาบ หรือติดตานั่นเอง

2.  ด้วยผลตามข้อ 1 ต้นตอที่จะใช้ค้ำยันจึงควรเป็นพันธุ์ที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีคุณสมบัติเหมาะที่จะอยู่ร่วมกับต้นที่จะถูกค้ำยัน

3.  การค้ำยันควรจะเพ่งเล็งไปในแง่ของการจัดให้รากที่เข้าไปค้ำยันมีความต้านทานโรค และอื่น ๆ ไม่ใช่ในแง่ของการเพิ่มกำลังดูดน้ำและอาหาร หรือต้านทานพายุ ดังนั้นจึงไม่ควรถือว่าต้นตอไม่ว่าพันธุ์ใดเป็นใช้ค้ำได้ทั้งนั้น

4.  การค้ำยันส้มไม่ควรใช้ต้นตอพันธุ์เดียวกับต้นแม่

5.  การค้ำยันต้นที่สมบูรณ์แล้วจะไม่ได้ประโยชน์

6.  การค้ำยันมิใช่เป็นการเพิ่มรากเพราะยอดกับรากย่อมต้องสัมพันธ์กันอยู่เสมอ

7.  การค้ำยันส้มควรทำเพื่อต้องการป้องกันต้นแม่ที่บริสุทธิ์ของท่านมิให้ติดโรคหรือเป็นโรคได้ง่าย สมมติว่ารอบ ๆ ไร่ส้มเขียวหวานกิ่งตอนของท่านมีโรควิสาบางอย่างหรือพวกไส้เดือนฝอยทำลายส้มเขียวหวาน แต่ส้มเขียวหวานของท่านยังบริสุทธิ์อยู่  ท่านอาจป้องกันการลุกลามของโรคได้  โดยการค้ำยันด้วยต้นตอ ที่ได้พิสูจน์แล้วว่ามีความต้านทานต่อโรคหรือไส้เดือนฝอยนั้น

8.  การค้ำยันจะได้ผลมากน้อยเพียงใดหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้ว

ที่พูดมาตั้งแต่ต้นจนถึงเดี๋ยวนี้ล้วนแต่ใช้ความสังเกตประกอบความเห็นทั้งนั้น  เพราะไม่มีการทดลองที่แน่นอน ดังนั้นสำหรับผู้ที่ได้กระทำการค้ำยันไปแล้วใช่ว่าท่านได้กระทำในสิ่งที่ไม่สมควรก็หาไม่ แต่ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นก็เพียงเพื่อช่วยเป็นแนวทางให้ผู้ที่กำลังคิดจะกระทำการค้ำยันในโอกาสต่อไปได้เฉลียวใจบ้าง อย่าได้เล็งผลเลิศจากการค้ำยันมากจนมองข้ามข้อเท็จจริงอื่น ๆ ไปเสีย เพื่อการตัดสินใจของท่านจะได้รับผลดียิ่งขึ้น

เรื่อง:ไพโรจน์  ผลประสิทธิ์