การผลิตไม้ดอกกระถางของกองสวนสาธารณะ

ที่มา:วันเพ็ญ เชาวนปรีชา, สุจิตรา ตันติสุวรรณา จิราภรณ์ กัลยาณพงศ์

นักวิชาการเกษตร 5 กองสวนสาธารณะ สำนักสวัสดิการสังคม

ปัจจุบันการประดับตกแต่งต้นไม้ในอาคารสถานที่ราชการ งานพระราชพิธีและงานพิธีต่าง ๆ เช่น งานวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ งานปีใหม่ งานสงกรานต์ งานต้อนรับผู้นำประเทศต่าง ๆ และการประดับตกแต่งต้นไม้ตามเกาะกลางถนนสายสำคัญ เช่น ถนนราชดำเนินตลอดสาย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และบริเวณสี่แยกไฟแดงที่สำคัญ ๆ นั้น ผู้บริหารของ กรุงเทพมหานครมีนโยบายให้ใช้ไม้ดอกทั้งหมดในการประดับตกแต่ง ด้วยเหตุนี้ กองสวนสาธารณะซึ่งเป็นหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ การผลิตไม้ดอกกระถางเพื่อใช้ในงานดังกล่าวประดับในงานพระราชพิธี งานพิธี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ ของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 5 ธ้นวาคม 2530 ที่ผ่านมา ซึ่งกองสวนสาธารณะได้ประดับตกแต่ง ถนนราชดำเนินตลอดสายด้วยไม้ดอกจำนวนนับแสนกระถาง และวันสำคัญที่สุดอีกวันหนึ่ง คือวันพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2531กรุงเทพมหานครมีนโยบายที่จะดำเนินการประดับตกแต่งเช่นเดียวกับวันที่ 5 ธันวาคม 2530 ดังนั้นกองสวนสาธารณะจึงได้ดำเนินการเตรียมไม้ดอกกระถางเพื่อใช้ประดับตกแต่งถนนราชดำเนินตลอดสาย อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ ปะรำพิธีต่าง ๆ จำนวนนับแสนกระถางเช่นเดียวกัน

การวางแผน

เริ่มแรกของการผลิตไม้ดอกกระถาง คือ ต้องทราบชนิดของไม้ดอก จำนวนที่จะใช้ และที่สำคัญคือต้องหาเมล็ดพันธุ์ของไม้ดอกที่จะใช้ให้ได้ในปริมาณที่มากพอ ควรนำเมล็ดพันธุ์ที่หาได้นั้นมาทดลองความงอก จดบันทึกอายุตั้งแต่เพาะเมล็ด-ออกดอก ความคงทนต่อโรคแมลงและสภาพแวดล้อมมีมากน้อยแค่ไหน จะได้เผื่อเปอร์เซ็นต์การอยู่รอดได้ถูกต้อง อย่าลืมว่าเมล็ดไม้ดอกชนิดเดียวกัน แต่เพาะในฤดูกาลต่างกัน และการบำรุงรักษาที่ต่างกันอาจมีผลต่อการเจริญเติบโต และการออกดอก ด้วยเหตุนี้ผู้ปลูกจะต้องลองเพาะปลูก และสังเกตการเจริญเติบโต และจดบันทึกไว้ด้วยตัวเอง เมื่อถึงเวลาที่จะเพาะปลูกจริง ๆ โอกาสที่จะผิดพลาดก็จะน้อยลง อย่างไรก็ตามวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการเพาะปลูกบำรุงรักษาโดยทั่ว ๆ ไป อาจกล่าวได้พอเป็นหลักใหญ่ ๆ ได้ดังต่อไปนี้

วัสดุอุปกรณ์

1. วัสดุเพาะเมล็ด ใช้ทรายหยาบ และขุยมะพร้าว

2. กระบะ หรือตะกร้าพลาสติกที่ใช้เพาะเมล็ดพันธุ์ไม้

3. ถุงพลาสติก ขนาด 4″ x.4″

4. กระถาง ขนาด 8″- 10″

5. ดินผสม (ดินร่วน : ปุ๋ย กทม. : ทราย: ขุยมะพร้าว = 2 : 1 : 1 : 1)

6. ยาป้องกันกำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี

7. วัสดุอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น วัสดุพรางแสง, พลาสติก ใช้ในการป้องกันแสงแดดจัด หรือลมพายุฝน ซึ่งจะทำให้กล้าไม้ได้รับอันตรายได้

วิธีการผลิต

1. การเพาะเมล็ด นำทรายหยาบและขุยมะพร้าวมาร่อนในตะแกรง แล้วนำมาคลุกเคล้าผสมกัน ในอัตราส่วนทราย : ขุยมะพร้าว = 1:1 หรือ 1 : 2 (ในกรณีที่อากาศร้อนแห้งแล้ง) ผสมนํ้าเล็กน้อย เพื่อให้วัสดุเพาะชื้นพอสมควร เมื่อเวลารดนํ้าวัสดุจะดูดซึมนํ้าได้ดี บรรจุลงในกระบะเพาะเมล็ด ซึ่งถ้าเป็นตะกร้าพลาสติก ต้องใช้กระดาษรองก้นตะกร้าก่อน ถ้าเป็นกระบะทึบจะมีรูระบายนํ้า ให้ใช้ขุยมะพร้าวหยาบ ๆ อุดรูระบายนํ้า บรรจุส่วนผสมวัสดุเพาะเมล็ดลงไปประมาณ 1 ใน 2 ของความสูงของกระบะ หรือตะกร้าเพาะเมล็ด เกลี่ยผิวหน้าให้เรียบและสมํ่าเสมอโดยตลอด ใช้สันไม้หนาประมาณ ½  ซม. ความยาวเท่ากับกระบะเพาะ กดลงบนผิวหน้าวัสดุเพาะเบา ๆ ให้เป็นร่องลึกประมาณไม่เกิน ¼  ซม. หรือให้เห็นเป็นรอยร่องเท่านั้น แต่ละร่องห่างกันประมาณ 2 ซม. นำเมล็ดพันธุ์ไม้หยอดลงตามร่อง โดยระวังอย่าให้เมล็ดซ้อน หรือจับเป็นกลุ่ม เพื่อต้นกล้าที่งอกจะได้ขึ้นเรียงกันสมํ่าเสมอ ไม่ซ้อนกันแน่นเกินไป ซึ่งจะทำให้เน่าง่าย หรือห่างกันเกินไปก็จะทำให้เสียเนื้อที่เพาะเมล็ดโดยเปล่าประโยชน์ เสร็จจากหยอดเมล็ดแล้วกลบเมล็ดด้วยวัสดุเพาะ ตบเบา ๆ ลงบนผิวหน้าวัสดุเพาะ ใช้บัวรดนํ้าขนาดเล็กหัวบัวละเอียดรดให้ชุ่ม นำกระบะที่เพาะแล้วไปวางไว้ในที่ร่ม แสงแดดส่องไม่ถึงแต่ให้มีแสงสว่างเพียงพอ รดนํ้าอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ถ้าอากาศร้อนมากให้รดวันละ 2-3 ครั้ง โดยสังเกตดู ไม่ให้ผิวหน้ากระบะแห้ง หลังจากนั้นเมื่อเมล็ดเริ่มงอก นำกระบะออกรับแสงแดดได้โดยให้แสงแดดเฉพาะตอนช่วงเช้า เมื่อต้นกล้าอายุได้ประมาณ 3-5 วัน จึงนำกระบะออกรับแสงแดดเต็มที่

2. การย้ายปลูก หลังจากต้นกล้าอายุได้ 1 สัปดาห์ นำต้นกล้าย้ายปลูกในถุงพลาสติกขนาด 4” X 4” วัสดุที่ใช้ปลูกคือ ดินผสม ซึ่งเป็นส่วนผสมของดิน : ทราย : ขุยมะพร้าว : ปุ๋ย กทม. ในอัตราส่วน 2: 1 : 1 : 1 หลังจากย้ายต้นกล้าลงปลูกในถุงพลาสติก ขนาด 4” X 4” ประมาณ 2-3 สัปดาห์ เมื่อต้นกล้ามีความสูง 15 ซม. ให้ย้ายลงปลูกในกระถางขนาด 10” ใช่ดินผสม (ดินร่วน : ปุ๋ย กทม. : ทราย : ขุยมะพร้าว = 2 : 1 : 1 : 1) จำนวนไม้ดอกที่จะปลูกในกระถาง ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ดอก เช่น ดาวเรือง ใช้ 1 ต้นต่อ 1 กระถาง หงอนไก่ใช้ 3 ต้นต่อ 1 กระถาง บานชื่น 1 ต้นต่อ 1 กระถาง เป็นต้น

3. การดูแลรักษา ไม้ดอกในถุงพลาสติก เมื่อย้ายปลูกจากกระบะเพาะเมล็ดแล้ว นำมาวางไว้กลางแจ้งแสงแดดส่องถึงตลอดวัน ให้น้ำวันละ 1-2 ครั้ง ฉีดยา 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ต้องคอยหมั่นตรวจดูยอดอ่อน เนื่องจากแมลงมักจะชอบเข้าทำลายยอดอ่อน โดยเฉพาะต้นหงอนไก่ต้องระวังแมลงเข้าทำลายยอดอ่อน เพราะดอกจะเจริญเติบโตจากส่วนยอด บางครั้งอาจจะพบว่าต้นเหี่ยวเฉาจากยอดลงมา เนื่องจากไส้เดือนฝอยที่มีอยู่ในดินทำลายต้น กรณีนี้ต้องใช้ยาป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอย หรืออาจใช้ยาเทมมิคหยอดลงในดิน ก็สามารถทำลายไส้เดือนฝอยได้ การให้ปุ๋ยในช่วงระยะเวลาหลังจากย้ายต้นกล้าลงในถุงพลาสติกขนาด 4” X 4”” แล้ว ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 30-20-10 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ถ้าเห็นว่าใบมีลักษณะค่อนข้างเหลืองออกแดงก็ให้ใส่ปุ๋ย 2 ครั้ง ต่อสัปดาห์ การดูแลรักษาในช่วงที่ย้ายลงปลูกในกระถางขนาด 10 นิ้ว ก็เช่นเดียวกัน แต่การให้ ปุ๋ยใช้สูตร 15-30-15 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ใส่ปุ๋ยจนกระทั่งถึงกำหนดวันใช้งาน

ปัญหาและอุปสรรค

1. เมล็ดพันธุ์ที่ใช้ ต้องมีเปอร์เซ็นต์ความงอกสูง และแน่นอน สามารถเพาะให้ได้ปริมาณมาก ๆ ตามต้องการในครั้งเดียว ถ้าเพาะแล้วต้นกล้างอกไม่ เพียงพอต้องเพาะใหม่เป็นหลายรุ่นจะทำให้ต้นกล้าโตไม่สม่ำเสมอ เมื่อถึงเวลาออกดอกจะไม่พร้อมกันไม่สามารถใช้งานในคราวเดียวกันได้ บางครั้งเมล็ด พันธุ์ที่สั่งซื้อหรือที่เก็บจากต้นที่ปลูกไว้เดิมไม่สมบูรณ์ เมล็ดลีบ เมล็ดกลายพันธุ์ ความงอกไม่สมํ่าเสมอ มีลำต้นแคระแกร็น ทรงพุ่มไม่สวย ฉะนั้นจึงต้องเพาะเมล็ดพันธุ์ให้มีจำนวนมากเกินจำนวนที่ต้องการ เพื่อคัดเลือกใช้เฉพาะต้นที่สมบูรณ์เท่านั้น

2. โรค และ แมลง ไม้ดอกส่วนใหญ่ต้องการนํ้าและปุ๋ยเพื่อการเจริญเติบโตสูง ซึ่งมีผลทำให้ต้น และใบอวบนํ้า โรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย โรคโคนเน่ามักพบตั้งแต่ระยะเพาะกล้า เมื่อโตขึ้นก็อาจพบแมลงกัดกินใบ และยอดอ่อน ซึ่งเป็นที่เกิดของดอกแทบทุกฤดูกาล โดยเฉพาะในฤดูหนาว เมื่อมีนํ้าค้างเกาะตามใบแมลงชอบที่จะวางไข่บนยอดอ่อนของต้น ในช่วงระยะดังกล่าว ซึ่งควรฉีดพ่นยาป้องกันและกำจัดโรคและแมลงเป็นระยะๆ ทุก 7-14 วัน นอกจากนี้ยังอาจพบโรคที่เกิดจาก virus หรือ mycoplasma ซึ่งยังไม่มียาที่จะใช้ป้องกันหรือกำจัดได้ ต้องรีบถอนทิ้งทำลายทันที

3. การรดนํ้าไม้ดอกกระถาง การรดนํ้าที่ถูกต้อง สำหรับไม้ดอกกระถางคือ ต้องรดโคนต้น และต้องพยายามไม่ให้ถูกดอก เพราะจะทำให้ดอกโรยเร็ว และเน่าได้ และในขณะรดโคนต้นต้องค่อย ๆ รด เพราะความแรงของนํ้าจะทำให้ดินกระจายและแน่นทำให้ต้นเอน และรากลอยได้ แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ ไม่สามารถจะรดนํ้าด้วยวิธีดังกล่าวได้เนื่องจากแรงงานไม่เพียงพอ การรดนํ้าจึงต้องรดทั้งต้น

4. การพรวนดิน การรดนํ้าแรงเกินไป จะทำให้หน้าดินอัดแน่น การระบายนํ้าและอากาศไม่ดี ทำให้ต้นไม้แคระแกร็น จำเป็นต้องพรวนดินบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น

5. สภาพแวดล้อม มีความสำคัญต่อการผลิตไม้ดอกกระถางมาก โดยเฉพาะในขณะที่เป็นต้นกล้า ถ้าฝนตกหนักจะทำให้ต้นกล้าเสียหายหมด ในขณะเดียวกันในระยะดอกบาน ถ้าฤดูฝนก็จะทำให้ดอกชํ้าและเน่าได้ ตามปกติฤดูหนาวเป็นฤดูที่เหมาะต่อการทำไม้ดอก เนื่องจากอากาศเย็นทำให้ไม้ดอกมีสีสดใส แต่อย่างไรก็ตาม การเพาะก็จะเริ่มทำในปลายฤดูฝน เพื่อจะได้ออกดอกในฤดูหนาว ระยะเพาะกล้าจึงต้องระมัดระวังเรื่องฝนไว้ด้วย

6. ความละเอียดรอบคอบของผู้ปฎิบัติงาน การทำไม้ดอกต้องการผู้ดูแลที่มีความละเอียดและชำนาญงาน เพื่อมิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับการรดนํ้าไม่สมํ่าเสมอ การพรวนดิน การฉีดพ่นยาป้องกันโรคและแมลงไม่ทั่วถึงในทุก ๆ ส่วนของต้น การให้ปุ๋ยมากหรือน้อยเกินไป และจะต้องหมั่นตรวจสอบสังเกตการเจริญเติบโตทุกระยะ หากพบอาการผิดปกติ จะได้รีบแก้ไขได้ทันท่วงที