การพ่นสารเคมี:ข้อควรระวังเพื่อความปลอดภัย


ในสภาพปัจจุบัน ประสบการณ์บอกให้ทราบว่าเกษตรกรมักละเลยไม่ปฏิบัติเรื่องต่อไปนี้คือ
-ไม่ปฏิบัติตามข้อแนะนำที่ระบุไว้อย่างเฉพาะเจาะจง ที่ฉลากข้างกล่องหรือขวดบรรจุสารเคมี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็มักจะใช้ยาเข้มข้นเกินไป หรือเจือจางเกินไปกว่าที่ควรจะต้องใช้ยาให้ถูกต้อง
-ไม่ผสมสารเคมีอย่างถูกต้อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีที่เป็นผงป ทำให้ความเข้มข้นของส่วนผสมที่ใช้พ่นไม่สม่ำเสมอ อาจเข้มข้นเป็นบางแห่ง หรือเจือจางเกินไปเป็นบางแห่ง ดังนั้นเมื่อเกษตรกรพ่นยาบางส่วนของพืชผักที่เข้มข้นเกินก็ได้รับสารเคมีในระดับที่เป็นอันตราย
-ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่คุ้มกันยาเคมีได้ดีพอ หรือมิฉะนั้นก็ไม่ระมัดระวังตัวเองดีนักในการพ่นยา (เช่นหลังจากพ่นยาเสร็จก็ไม่อาบน้ำล้างตัวให้สะอาด
-ไม่มีการพ่นยาทั้งบนหลังใบและใต้ใบพืช เมื่อใช้ยาประเภทสัมผัส (ซึ่งอาจเป็นยากำจัดรา หรือยาห่าเพลี้ยและแมลงก็ตาม) ดังนั้นทำให้ฤทธิ์ของยาที่จะปราบศัตรูพืชน้อยลงไป
เมื่อเป็นเช่นนี้ นักส่งเสริมควรจะพยายามแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติให้ถูกต้อง
ข้อปฏิบัติเมื่อจะใช้สารเคมีนี้เกษตรกรจะต้อง
-สวมใส่เสื้อผ้าที่ป้องกันสารเคมีได้ดี กล่าวคือ ใส่กางเกงขายาว ใส่เสื้อแขนยาว ใส่รองเท้า หมวก และใส่ถุงมือ ทั้งนี้เพื่อจะลดโอกาสที่สารเคมีจะสัมผัสผิวหนัง
-พ่นยาเมื่อลมสงบหรือยู่เหนือลมขณะพ่นยา
-หลังพ่นยาต้องอาบน้ำให้ทั่วร่างกาย
-ผสมยาเคมีให้ดี เพราะสารเคมีบางชนิดอาจจะไม่ค่อยละลาย และอาจแขวนลอยในน้ำ (คือไม่ผสมกับน้ำ) ทำให้น้ำยาที่พ่นไม่เข้มข้นเท่าที่ควร
-ล้างเครื่องพ่นยาให้ทั่วหลังการพ่นยาทุกครั้ง เพราะอาจมีสารเคมีตกค้าง ติดอยู่ภายในเครื่องพ่นยา
– ใช้เครื่องพ่นยาที่พ่นยาฆ่าหญ้า คนละเครื่องต่างหากจากที่ใช้พ่นยาฆ่าแมลง หรือยากันรา
การพ่นยานั้น ควรทำในช่วงคล้อยบ่ายมากๆ (ประมาณ 3 โมงเย็น) เป็นต้นไป เพราะฤทธิ์ของสารเคมีจะอยู่ได้นานจนกว่าจะระเหยไป ทั้งช่วยให้พืชดูดซึมสารเคมี (โดยเฉพาะประเภทดูดซึม) ได้เป็นช่วงเวลานาน การพ่นยาขณะมีแสงแดดกล้า อาจทำให้ใบพืชไหม้ ไม่ควรพ่นยาขณะที่มีฝนตก ในบรรดาสารเคมีทั้งหลาย ยาฆ่าหญ้ามีอันตรายสูงสุด ยาฆ่าแมลงรองลงมาโดยมีพิษมากกว่ายากันรา
มีสารเคมีหลายชนิดที่ถูกห้ามใช้ในตลาดโลกหลายแห่ง และถูกห้ามไม่ให้ใช้กับพืชบางชนิด แต่ก็ยังมีจำหน่ายในประเทศไทย เช่น สารแคปทาโฟล (ชื่อการค้า เช่น ไดโฟลาแทน) ดีดีที ยาปฏิชีวนะ (ใช้ในผลไม้และผัก) และสารที่มีดลหะหนักเป็นส่วนผสม นักส่งเสริมพึงควรแนะนำให้เกษตรกรใช้ยาที่ปลอดภัยทดแทน อย่าใช้ยาอันตรายดังกล่าวข้างต้น มีเอกสารอ้างอิงที่มีประโยชน์มากในเรื่องนี้ ซึ่งองค์การสหประชาชาติ สำนักงานกรุงเทพฯ ได้ผลิตออกมาคือหนังสือชื่อ ARSAP/DIRAD, Regional Agro-Pesticide Index Vol.  Thailand and the Philippines. 1987 Edition. ซึ่งหนังสือนี้จะมีข้อมูลที่ทันสมัยเกี่ยวกับ ยาปราบศัตรูพืชที่มีจำหน่ายในประเทศไทย ผู้สนใจหนังสือดังกล่าว ขอได้ที่ ARSAP, Agriculture Division, Economic and Social Commission for Asia and the Pacific, United Nation Building, Bangkok 10200.

(แหล่งข้อมูล ดร.นุชนารถ จงเลขา)
ที่มา:ภาควิชาส่งเสริมและเผยแพร่การเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่