การสกัดน้ำมันงาหรืออีดงาแบบพื้นบ้านของคนไทยใหญ่

คำว่า “อีด” นี้มาจากภาษาไทยใหญ่ ที่แปลว่าการสกัดหรือการบีบน้ำมัน จากเมล็ดงา หรือเมล็ดถั่ว

1.  นำเมล็ดงาที่คัดเลือกและทำความสะอาดดีแล้วมาตากแดด 1 แดด (ใช้เมล็ดงา 15 กิโลกรัมต่อ 1 ครก)

2.  นำน้ำสะอาดต้มสุกมาคลุกเคล้ากับเมล็ดงาให้ทั่วกัน (ใช้น้ำ 1-2 กระป๋องนม ขึ้นอยู่กับงาเก่างาใหม่)

3.  นำมาใส่ลงไปในครก เริ่มทำการบดงาโดยการใช้วัวเดินลากไม้และคานให้สากหมุนบดงาในครกไปเรื่อย ๆ และต้องหมั่นคอยพลิกกลับเมล็ดงาให้ลงไปในครกตลอดเวลาผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง เมล็ดงาจะแตก ให้เริ่มเติมน้ำต้มสุกลงไปทีละน้อย 3-4 นาที เติมครั้งจนกว่าน้ำมันงาเริ่มซึมออกมาก็ให้หยุดเติม (จะใช้น้ำประมาณ 3-4 กระป๋องนม)

4.  บดต่อไปเรื่อย ๆ กากงาจะไปติดข้างครก น้ำมันงาจะซึมขึ้นมาเป็นฟองสีขาว ยังใช้ไม่ได้ บดต่อไปจนน้ำมันหมดฟอง แล้วจึงใช้ผ้าขาวบางซับน้ำมันงาขึ้นมาจนหมด แล้วบิดกรองเก็บไว้ในภาชนะ(ตักไม่ได้ติดสาก)

5.  จากนั้นให้เขี่ยกากงาข้าง ๆ ลงไปในครกให้หมดแล้วบดต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่ากากงาจะแห้งถึงจะได้ที่ น้ำมันงาที่เหลืออยู่จะไปรวมกันอยู่ที่เบ้าก้นครกให้เอาสากออก

6.  ตักเอาน้ำมันงาไปกรองให้สะอาดด้วยผ้าขาวบางใส่ในถังที่ 1 พักทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นนำน้ำมันงาไปกรองให้สะอาดใส่ไว้ในถังที่ 2 นาน 10 วัน จะมีตะกอนละเอียดที่ไม่สามารถกรองได้ตกอยู่ก้นถัง

7.  จากนั้นให้ตักเฉพาะน้ำมันงาจากถังที่ 2 มาใส่ในถังที่ 3 นาน 15 วัน เพื่อพักให้ตกตะกอนอีกครั้งหนึ่ง

8.  จากนั้นนำน้ำมันงา สะอาดดีแล้วมากรอกใส่ขวดติดสติ๊กเกอร์เพื่อนำไปจำหน่ายต่อไป (1 ครกจะได้น้ำมันงาประมาณ 5-6 ขวดสุราแม่โขง)

การอีดน้ำมันด้วยวิธีการนี้สามารถใช้กับเมล็ดพืชน้ำมันชนิดอื่น ๆที่ไม่แข็งมากนักได้ด้วยเช่นกัน เช่น ถั่วลิสง ทานตะวัน ถั่วเหลือง เป็นต้น กระบวนการอีดงาแบบพื้นบ้านจะใช้เวลาอีดประมาณ 3 ชั่วโมง และทุก 1 ชั่วโมง จะเปลี่ยนวัวครั้งหนึ่ง เพื่อพักกินน้ำกินหญ้า