การส่งเสริมการเกษตร

การส่งเสริมเกษตรคืออะไร

การส่งเสริมการเกษตร คือ การเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับแหล่งวิทยาการเพื่อที่จะกระจายความรู้ใหม่ๆ และหลักการที่ดีไปสู่เกษตรกร และทำให้เกษตรกรเหล่านี้ได้นำวิทยาการแผนใหม่ไปใช้ในฟาร์มของตน

การส่งเสริมการเกษตร เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการเรียนการสอนและการค้นคว้าวิจัย กล่าวคือผลของการค้นคว้าวิจัยทางเกษตรกรรมจะไม่มีประโยชน์อย่างแท้จริง ถ้าไม่ได้นำผลเหล่านี้ไปมอบให้แก่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติความสัมพนธ์ระหว่างการส่งเสริมเกษตรกับการค้นคว้าวิจัยพอสรุปเป็นแผนผังได้ดังนี้

ลักษณะของงานส่งเสริมการเกษตร

1. งานส่งเสริมการเกษตรเป็นแบบของการศึกษานอกโรงเรียนที่รัฐหรือเอกชน ก็สามารถทำได้

2. การส่งเสริมการเกษตรเป็นการติดต่อสองทางกลับไปกลับมาระหว่าง สถาบันกับเกษตรกร โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเป็นตัวก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

3. ควรเริ่มด้วยสภาพที่เป็นอยู่จริง ๆ ของเกษตรกร และเรื่องที่จะส่งเสริมนั้นจะต้องเป็นความต้องการที่แท้จริงของเขาด้วย

4. เกษตรกรต้องมีโอกาสเรียนรู้ด้วยการกระทำของจริง

5. เป็นการติดต่อกับคนในชนบทเป็นส่วนใหญ่ และเป็นการปฏิบัติงานกับสมาชิกทุกคนในครอบครัวโดยไม่จำกัดเพศและอายุ

6. ใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นจุดเริ่มต้น

7. มีวิธีปฏิบัติงานที่ต่อเนื่องกัน

8. มีวิธีดำเนินงานที่เป็นประชาธิปไตย

9. เป็นการสร้างผู้นำในท้องถิ่น

10. มีโครงการหรือแผนปฏิบัติงานที่แน่นอนและรู้ว่าจะประสานงานกับใครบ้าง

11. มีการติดตามผลงานหลังการปฏิบัติ

12. มีการรายงานผล เพื่อวางแผนปรับปรุงในปีต่อ ๆ ไป

บทบาทและหน้าที่ของนักส่งเสริมหรือพัฒนากร

นักส่งเสริมเกษตรเป็นนักพัฒนาคนหนึ่ง ที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความรู้ใหม่ ๆ เพื่อไปช่วยในการเพิ่มผลผลิตของเขา ดังนั้นนักส่งเสริมเกษตรจึงมีบทบาทดังนี้

1. เป็นผู้นำทางวิชาการ และเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หมายความว่าเขาจะต้องมีความรู้และมีหูตากว้างไกล

2. เป็นผู้ประสานงานทางวิชาการและการปฏิบัติ กล่าวคือนักส่งเสริมจะต้องประสาน เชื่อมโยงระหว่างสถาบัน(นักวิชาการ) กับเกษตรกรผู้ปฏิบัติ

3. เป็นผู้แก้ปัญหาของชุมชน กล่าวคือนักส่งเสริมซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับเกษตรกร ย่อมจะรู้ปัญหาของชุมชน เขาจะต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วย

4. เป็นผู้เชื่อมโยงบุคคลและองค์การต่างๆ เข้าด้วยกัน กล่าวคือในการทำงานในท้องถิ่น เขาย่อมจะพบกับบุคคลหลายฝ่าย นอกจากเขาจะเชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการกับเกษตรกรแล้วเขาจะต้องประสานงานกับบุคคลและหน่วยงานอื่นๆ ด้วย

ลักษณะของนักส่งเสริมที่พึงประสงค์

เนื่องจากงานส่งเสริมการเกษตรเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลหลายประเภท ใครที่จะเป็นนักส่งเสริมหรือพัฒนากรที่ดีควรจะได้พิจารณาตัวเอง และเสริมสร้างให้มีคุณลักษณะดังนี้ไว้ด้วยคือ

1. ต้องมีความรู้ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติในสาขาวิชาของตนอย่างดี

2. รู้หลักการถ่ายทอคความรู้ คือการฝึกอบรม การเรียน การสอน และการแนะนำต่างๆได้ดี ดังนั้นจึงต้องรู้ในเรื่องหลักการติดต่ออสื่อสาร การใช้โสตทัศนูปกรณ์ หลักจิตวิทยาและสังคมชนบทด้วย

3. เป็นผู้ที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี และชอบงานที่ให้บริการแก่ประชาชน

4. เป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม และชอบดัดแปลงแก้ไขสิ่งต่าง ๆ

5. เป็นผู้ที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สอนให้เกษตรกรทำปุ๋ยจากเศษพืชต่าง ๆ ทำแก๊สจากมูลสัตว์เป็นต้น

6. เป็นผู้ที่กระตุ้นให้เกษตรกรรู้จักปัญหา และแก้ไขปัญหาโดยทั่วของเขาเอง หรือโดยการทำงานเป็นกลุ่ม

7. เป็นผู้สื่อสารระหว่างเกษตรกรในชุมชนกับโลกภายนอก

8. ต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมสุข ร่วมทุกข์ กับเกษตรกรด้วยความสุจริตใจ อดทน และหนักแน่น

หลักของการติดต่อสื่อสาร

ในการส่งเสริมการเกษตร นักส่งเสริมควรจะเข้าใจถึงองค์ประกอบของการติดต่อสื่อสารด้วย เพื่อให้การทำงานของเขามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการสื่อความหมาย เราจะพบแหล่งข่าวหรือผู้สื่อข่าว (source and Sender) และจะมีตัวข่าวหรือข้อมูล (Message)ข่าวนี้จะผ่านไปตามวิถีหรือวิธีต่าง ๆ (channels) เช่น น.ส.พ, วิทยุ ฯลฯ ไปยังผู้รับข่าว (Receiver) นักส่งเสริมจึงเป็นทั้งแหล่งข่าวและผู้สื่อข่าวที่จะต้องเตรียมข่าวให้ถูกต้องเหมาะสม ตรงกับความต้องการของผู้รับข่าว และใช้วิธีการที่ดีเพื่อให้ข่าวนั้น ๆ ได้ถึงไปยังเกษตรกรจำนวนมากโดยที่หวังว่าเกษตรกรจะคล้อยตามและยอมรับข่าว (วิทยาการแผนใหม่) ไปปฏิบัติบ้าง

องค์ประกอบที่สำคัญมากอย่างหนึ่งข้างต้นนี้ ก็คือผู้รับข่าวหรือเกษตรกร ซึ่งนักส่งเสริมบางท่านอาจจะลืมพิจารณาไป เช่น นักส่งเสริมบางคนเมื่อได้รับมอบหมายให้ไปบรรยาย เรื่องการปลูกมะพร้าว หรือการติดตาเปลี่ยนยอด (ยางพารา) ให้เกษตรกรฟัง เขาก็เตรียมเรื่องที่ยุ่งยากซับซ้อนไปบรรยายเป็นชั่วโมงๆ โดยไม่คำนึงถึงตัวผู้ฟังเลย ก็ทำให้ผู้ฟังเบื่อ และไม่ยอมรับเรื่องที่นักส่งเสริมพูด อย่างนี้ก็จะเกิดการสูญเปล่าขึ้นได้ นักส่งเสริมที่ดีต้องศึกษากลุ่มผู้ฟัง(ผู้รับข่าว) ในประเด็นต่อไปนี้

1. กลุ่มผู้ฟังเป็นใคร ดูว่าเขาเป็นชาวสวนมะพร้าว หรือชาวสวนยาง เขาปลูกมะพร้าวหรือยางมานานกี่ปี เขามีประสบการณ์ หรือความรู้เรื่องมะพร้าวหรือยางเพียงใด เพื่อจะได้เตรียมเรื่องให้เหมาะสม

2. ปัญหาของผู้ฟัง เช่นดูว่าชาวสวนยางกลุ่มนี้มีปัญหาอะไร มีปัญหาเรื่องโรคใบร่วง หรืออย่างไร โรคนี้จะแก้ได้ด้วยวิธีใด วิธีนั้นๆ จะปฏิบัติได้ไหมในชุมชนนั้นๆ

3. ดูว่าเขามีความต้องการอะไร สมมุติว่าเขาต้องการแก้ปัญหาเรื่องโรคใบร่วงของยาง นักส่งเสริมจะต้องพูดถึงวิธีแก้ปัญหาโรคใบร่วง ไม่ใช่จะพูดอ้อนวอนให้เขาปลูกมะพร้าวถ่ายเดียว

4. ต้องศึกษาอายุของผู้ฟัง เพราะการพูดให้เด็กและผู้ใหญ่ฟังไม่เหมือนกัน

5. ดูเพศของผู้ฟัง เพราะเรื่องที่จะพูดให้ผู้หญิงหรือผู้ชายฟังอาจมีเกล็ดย่อยแตกต่างกัน

6. พิจารณาการศึกษาของผู้ฟัง เพราะถ้าผู้ฟังมีการศึกษาต่ำนักส่งเสริมต้องใช้ภาษาง่าย ๆ และต้องเตรียมอุปกรณ์อื่น ๆ มาเสนอประกอบด้วย

7. ดูลัทธิศาสนาของผู้ฟัง เช่นถ้าผู้ฟังเป็นชาวไทยมุสลิมเราอาจต้องใช้ภาษา และเทคนิคที่ไม่เหมือนชาวไทยพุทธ

8. ดูจำนวนของผู้ฟัง เพราะถ้าผู้ฟังน้อยอาจใช้วิธีสาธิตปฏิบัติ แต่ถ้าผู้ฟังมากอาจต้องใช้วิธีบรรยาย

9. ดูฐานะทางเศรษฐกิจของผู้ฟัง ตามปกติเกษตรที่มีฐานะดีจะยอมรับวิทยาการแผนใหม่ได้ง่าย การส่งเสริมก็สะดวกยิ่งขึ้น

10. ดูปัจจัยอื่นๆ เช่น ภาวะการตลาด สภาพของดินฟ้าอากาศ ผู้นำในท้องถิ่น และจำนวนของเจ้าหน้าที่ส่งเสริมเอง ว่าจะเอื้ออำนวยให้การส่งเสริมเรื่องนั้น ๆ ได้ผลดีเพียงใด

นอกจากนี้นักส่งเสริมต้องเข้าใจจิตวิทยาและการเรียนรู้ของเกษตรกรด้วย ตามปกติเราถือว่าการส่งเสริมการเกษตรเป็นการศึกษานอกโรงเรียน หรือการส่งเสริมเกษตรเป็นแบบหนึ่งของการศึกษาผู้ใหญ่ (Adult Education) ดังนั้นนักส่งเสริมที่ดีจะต้องคำนึงถึงหลักของการเรียนรู้ ของผู้ใหญ่ดังนี้ด้วย

หลักของการเรียนรู้และการสอนผู้ใหญ่

1. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีเมื่อเขามีความต้องการที่จะเรียน ดังนั้นนักส่งเสริมต้องคอยยั่วยุ และชี้ให้เขาเห็นประโยชน์ของการเรียน และต้องให้ผู้ใหญ่เกิดความต้องการที่จะเรียนขึ้นเอง อย่าบังคับให้เขาเรียนในสิ่งที่นักส่งเสริมคิคว่าดี

2. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีและเรียนเฉพาะสิ่งที่เขามีความจำเป็น ดังนั้นเรื่องที่จะเรียนจะต้องเป็นปัญหาของผู้เรียน หากผู้เรียนยังแยกแยะปัญหาไม่ออก นักส่งเสริมก็ค้นหาปัญหา หรือทำการสำรวจหาปัญหาของเกษตรกรขึ้นมาเสียก่อน

3. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีที่สุดเมื่อเขารู้จุดมุ่งหมายของการเรียนที่ชัดเจน เช่นรู้ว่าเมื่อเรียน แล้วจะติดตาเขียวเป็น ตอนไก่เป็น

4. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีที่สุด เมื่อเขาได้รับผลตอบแทนหรือประโยชน์จากการเรียน เรื่องนั้น ๆ ในระยะเวลาอันสมควร ดังนั้นนักส่งเสริมต้องหาวิธีการสอนที่สามารถจะโชว์ผลการเรียนให้เกษตรกรได้เห็นอย่างรวดเร็ว

5. ผู้ใหญ่เรียนรู้โดยการกระทำ ดังนั้นนักส่งเสริมต้องเปิดโอกาสให้ผู้ใหญ่ได้ทดลอง ปฏิบัติมาก ๆ จะเป็นวิธีการเรียนที่ได้ผลที่สุด

6. เรื่องหรือหัวข้อที่ผู้ใหญ่จะเรียนต้องเป็นปัญหาสำคัญ ๆ และต้องเป็นความจริง

7. ผู้ใหญ่จะเรียนได้ดีเมื่อเรื่องนั้นสอดคล้องกับประสบการณ์ของเขา เช่น ถ้าเขามีความรู้เรื่องการเพาะเห็ดฟางมาบ้าง จะทำให้การเรียนเรื่องการเพาะเห็ดเปาฮื้อได้ผลดีขึ้น

8. ผู้ใหญ่จะเรียนได้อย่างดียิ่งในบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เป็นกันเอง ดังนั้นนักส่งเสริมจะต้องพยายามสร้างบรรยากาศของความเป็นพี่น้อง มิตรสหาย ฯลฯ เพื่อให้ผู้ใหญ่เรียนได้ดีขึ้น

9. การสอนผู้ใหญ่ควรใช้วิธีการสอนหลายๆอย่าง เช่นการบรรยายคู่กับสาธิต ใช้โสฅอุปกรณ์ประกอบ แล้วให้ทดลองปฏิบัติด้วยตัวเกษตรกรเอง หากยังมีเวลาก็ควรพาไปทัศนาจรดูไร่นา หรือกลุ่มเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จแล้ว

10. ผู้ใหญ่ต้องการแนะแนว ต้องการคำแนะนำไม่ใช่คะแนนหรือการสอบไล่ ดังนั้น นักส่งเสริมต้องคอยแนะนำและบอกให้เขาทราบว่า เขาทำถูกหรือผิดอย่างไร ผู้ใหญ่ต้องการยกย่องชมเชย หากจำเป็นต้องตำหนิจะต้องทำกันสองต่อสองด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มแบบญาติมิตร

เทคนิคในการส่งเสริมการเกษตร

สำหรับเทคนิคในการติดต่อแนะนำหรือการสอนประชาชนเป็นเรื่องที่นักส่งเสริมจะต้องสนใจให้มาก เพระขณะนี้เราพบว่านักส่งเสริมเป็นจำนวนมากมีอายุน้อย รุ่นราวคราวเดียวกับลูกหลานของเกษตรกร ดังนั้นการที่นักส่งเสริมผู้เยาว์จะไปทำงานกับชาวบ้านอาวุโส หรือติดต่องาน กับส่วนราชการอื่น ๆ ควรใช้หลักมนุษยสัมพันธ์บางประการเช่น

1. เข้าเยี่ยมคำนับผู้บังคับบัญชาในท้องถิ่น เช่นนายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือนายกเทศมนตรี

2. ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ร่วมงานทราบตั้งแต่ชั้นผู้น้อยขึ้นไป

3. พบปะผู้นำในท้องถิ่น พระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ พ่อค้า ประชาชน

4. ทำความรู้จักกับสถาบันวิชาการในท้องถิ่น เช่นโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัย สถานีทดลองต่าง ๆ

5. พบปะรู้จักกับสื่อมวลชนในท้องถิ่น เช่น นสพ.-วารสาร, วิทยุ, โทรทัศน์, หนังตะลุง ลิเก ฯลฯ

6. ในการแนะนำหรือสอนผู้อาวุโส ควรใช้หลักของการสอนพระคือ จงไหว้ หรือพนมมือไว้ข้างหน้า พอจะสอนหรือขอร้องให้เขาทำอะไร ก็ไหว้เสียทีหนึ่งรับรอง ว่าได้ผลแน่

7. ในการพูดต่อหน้าชุมชน หรือพบปะเกษตรกรเป็นรายบุคคลควร“ยิ้ม”ไว้เสมอ รับรองว่าจะชนะใจคนแน่ ๆ

8. อย่ากินเหล้าเมายากับชาวบ้านจนเสียบุคคลิก

9. อย่าก่อเรื่องชู้สาว หรือหลอกลวงลูกสาวชาวบ้าน

10. ควรฝึกอุดมการณ์ 4ร และ 4ส ดังนี้คือ ริเริ่ม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทุกข์ เสียสละ สุจริต เสมอภาค และสามัคคี

วิธีการส่งเสริมการเกษตร

เทคนิคและวิธีการส่งเสริมเกษตร มีมากมายหลายชนิด นักส่งเสริมที่ดีจะต้องเข้าใจพื้นฐานของผู้ฟัง และเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีอย่างถูกต้อง ให้เหมาะกับการเรียนของผู้ฟัง วิธีการส่งเสริมพอจะแยกออกเป็นพวกใหญ่ ๆได้ 2 ประเภทคือ

ก. แบ่งตามลักษณะการใช้ (use) ได้เเก่

1. การติดต่อสื่อสารแบบรายบุคคล (individual Contacts) เช่น

-เจ้าหน้าที่ไปพบเกษตรกรที่บ้าน (Farm Visit)

-เกษตรกรไปพบเจ้าหน้าที่ที่สำนัก (office Call)

-การติดต่อระหว่างกันทางโทรศัพท์

-การติดต่อกันทางจดหมาย

-การสาธิตให้ดูผล

2. การติดต่อสื่อสารแบบกลุ่ม (Group Contacts) เช่น

-การสาธิตวิธีทำในเรื่องต่าง ๆ

-การประชุมต่าง ๆ

-การบรรยาย

-การอบรมสัมมนา

-การประชุมอภิปราย

-การประชุมดูผลของการสาธิต

-การทัศนศึกษา

-การสอนการเรียนในโรงเรียน

-การบประชุมอื่น ๆ

3. การติดต่อสื่อสารแบบมวลชน  (Mass Contacts)

-การทำป้ายประกาศ แจ้งความ

-เอกสารใบปลิว

-หนังสือเวียน

-หนังสือพิมพ์ วารสารต่าง ๆ

-ภาพโฆษณา ( Posters)

-การจัดนิทรรศการ

-วิทยุกระจายเสียง

-โทรทัศน์

ข. แบ่งตามรูปร่างของอุปกรณ์ (Form) ได้แก่

1. การติดต่อสื่อสารแบบใช้ข้อความ (written Materials) เช่น

-ป้ายประกาศ แจ้งความ

-เอกสารใบปลิว

-บทความทางหนังสือพิมพ์

-จดหมายส่วนตัว

-จดหมายเวียน

2. การติดต่อสื่อสารแบบใช้ภาษาพูด (spoken Words) เช่น

– การประชุมสัมมนาต่าง ๆ

-เจ้าหน้าที่ไปพบเกษตรกรที่บ้าน

-เกษตรกรไปพบเจ้าหน้าที่

-โทรศัพท์

-วิทยุ

3. การติดต่อสื่อสารแบบใช้โสตทัศนูปกรณ์ (Visuals) เช่น

-แผนภูมิ แผนผัง ตารางต่าง ๆ

-ภาพยนตร์ สไลด์ ฟิล์มสตริฟ เทปโทรทัศน์ ฯลฯ

-การจัดนิทรรศการ

-ภาพโฆษณา (โปสเตอร์)

-การให้ดูผลสาธิต

4. การติดต่อแบบใช้ภาษาพูดควบคู่กับโสตอุปกรณ์ เช่น

-การสาธิตวิธีทำ

-การประชุมให้ดูผลสาธิต

-การประชุมต่าง ๆ ที่ใช้โสตอุปกรณ์ช่วย

-รายการทางโทรทัศน์ต่าง ๆ

หมายเหตุ การส่งเสริมเกษตร โดยวิธีใด ๆ ก็ตามดังกล่าวมาแล้วข้างต้นนี้ ยังมีผลทางอ้อมที่จะทำให้เกษตรกรข้างเคียงได้รับประโยชน์ไปด้วย กล่าวคือ เกษตรกรข้างเคียงอาจจะยอมรับ ปฏิบัติวิทยาการแผนใหม่ด้วยทั้ง ๆ ที่ตัวเองไม่ได้รับฟังจากปากของนักส่งเสริมโดยตรง แต่ทว่า เขาเหล่านั้นได้สนทนากับเพื่อนเกษตรกรด้วยกัน

นักส่งเสริมเกษตรที่จะต้องเลือกใช้วิธีการส่งเสริมให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง เวลาสถานที่ อุปกรณ์ กลุ่มเป้าหมาย โดยถือหลักง่าย ๆ ว่าถ้าคนฟังมีมาก แต่มีเวลาน้อย เรื่องที่จะพูดก็ยาว จงใช้วิธีการบรรยาย แต่ถ้าคนฟังมีน้อย และมีเวลามาก ควรใช้การส่งเสริมแบบกลุ่มเช่น ประชุมอภิปราย สาธิต ปฏิบัต ฝึกในไร่ ฯลฯ ในการที่นักส่งเสริมจะเลือกใช้วิธีหนึ่งวิธีใด ก็ขอให้นึกถึงหลักความจริงเกี่ยวกับการจำของมนุษย์ว่า

การอ่าน เพียงครั้งเดียว มนุษย์จะจำได้ 10%

การฟัง เพียงครั้งเดียว มนุษย์จะจำได้ 20%

การเห็น เพียงครั้งเดียว มนุษย์จะจำได้ 30%

การฟังและเห็นคู่กัน มนุษย์จะจำได้ 60%

หลักเกณฑ์ในการเลือกใช้วิธีส่งเสริม

ก. ดูนโยบายทั่ว ๆ ไปของราชการ เช่น ความจำเป็นรีบด่วนของเรื่องที่จะ ส่งเสริม ปัญหาของเกษตรกร จำนวนของเกษตรกร จำนวนของเจ้าหน้าที่ เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ในระหว่างเดือนมีนาคม เป็นระยะที่หนูออกทำลายข้าวในนาอย่างหนัก การส่งเสริมแนะนำเรื่องการปราบหนูนา อาจจะขอให้ระดมกำลังกันทำอย่างรวดเร็ว โดยใช้การประชุม สาธิต การแถลงข่าวทางน.ส.พ. วิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนการใช้โสตอุปกรณ์ช่วยด้วย

ข. เลือกวิธีส่งเสริมโดยดูกลุ่มเป้าหมาย เช่น

1. แม่บ้านที่มีลูกมาก งานยุ่งย่อมจะไม่มีเวลาไปนั่งประชุม ดังนั้นจึงควรใช้จดหมายเวียน เอกสารสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ต่าง ๆ

2. ชนกลุ่มน้อย เช่นชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ตลอดจนชาวไทยมุสลิม ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างออกไปอาจต้องใช้ภาษาและผู้นำของเขาเอง

3. เกษตรกรที่มีการศึกษาต่ำยากจนและอยู่ในที่ทุรกันดาร ควรใช้วิธีการไปเยี่ยมเยียน การให้ดูผลสาธิต และการใช้เอกสารสิ่งพิมพ์ที่ง่าย ๆ

4. วิทยุ โทรทัศน์ น.ส.พ.และการจัดนิทรรศการ เหมาะสำหรับเกษตรกรที่ทำเป็นงานอดิเรก และผู้ที่อยู่ใกล้ ๆ หรือผู้ที่อยู่ในเมือง

5. คนที่มีการศึกษาดี และรักก้าวหน้า ควรใช้วิธีการประชุมอภิปราย การสาธิตวิธีทำและเอกสารต่าง ๆ

ค. เลือกวิธีส่งเสริมโดยดูเนื้อหาของเรื่องที่จะส่งเสริม เช่น

1. ถ้าวิธีใหม่ที่กำลังส่งเสริมนั้นเป็นวิธีที่ง่ายหรือคล้ายๆ กับของเก่า ควรใช้น.ส.พ. วิทยุ จดหมายเวียนก็ได้ แต่ถ้าเรื่องนั้นยากซับซ้อน ควรใช้การติดต่อเป็นราย บุคคลหรือเอกสารสิ่งพิมพ์

2. ถ้าเรื่องนั้นเป็นของใหม่ และเพิ่งเริ่มทำการส่งเสริมเป็นครั้งแรก ควรแนะนำส่งเสริมโดยใช้การสาธิตวิธีการเยี่ยมเยียนที่บ้านเกษตรกร และการให้ดูผลสาธิต

3. ถ้าเนื้อเรื่องนั้นต้องการให้เกิดทักษะในตัวผู้ชม ก็ควรใช้การสาธิตวิธี และการแสดงทางโทรทัศน์

ง. เลือกวิธีส่งเสริมโดยดูวิธีการสอน

1. การที่นักส่งเสริมไปเยี่ยมบ้านของเกษตรกร จะสร้างความสัมพันธ์อย่างดีเยี่ยมทำให้ เจ้าหน้าที่รู้ปัญหาของเกษตรกร ควรใช้กับเกษตรกรที่หัวดื้อ หรือไม่ค่อยสนใจต่อของใหม่ ๆ

2. เมื่อเกษตรกรไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่ จะประหยัดเงินของทางราชการ แต่เรื่องนี้ต้องกระตุ้นให้เขาปฏิบัติ เพราะปกติเกษตรกรจะไม่ค่อยไปหาเจ้าหน้าที่

3. การติดต่อทางโทรศัพท์ สะดวกดีให้ประโยชน์เหมือนการเยี่ยมเยียน แต่ทว่าใช้กันน้อย เพราะเกษตรกรไม่มีโทรศัพท์

4. การติดต่อทางจดหมายอาจใช้ได้ ถ้าผู้รับผู้ส่งเป็นคนขยันเขียน

5. การสาธิตวิธี มีประโยชน์ที่สุดในการสอนทักษะภาคปฏิบัติ

6. การสาธิตผลลัพธ์ มีประโยชน์ในการอวดผลสำเร็จให้เกษตรกรเชื่อถือ แต่ทว่าลงทุนแพงมาก

7. การประชุมต่างๆ ช่วยในการกระจายข่าวโดยการบรรยายและอภิปราย สมาชิกได้ เรียนพร้อมๆ กัน และลดต้นทุนของการไปเยี่ยมเป็นรายตัว

8. โสตอุปกรณ์ ช่วยในการจำ เสริมสร้างความเข้าใจ ดึงดูดผู้ฟัง และทำให้การเสนอเรื่องเป็นขั้นตอนดี

9. เอกสารสิ่งพิมพ์ ป้ายประกาศต่าง ๆ ช่วยแสดงตัวเลขข้อมูลต่าง ๆ เพื่อการอ้างอิง เหมาะที่จะใช้เสริมพวกภาพยนตร์ สไลด์ วิทยุและโทรทัศน์

10. บทความในหนังสือพิมพ์ดีเพราะถึงชนกลุ่มใหญ่ ลงทุนไม่แพง

11. จดหมายเวียน ช่วยในการส่งข่าวเฉพาะเรื่องไปยังเกษตรกรเฉพาะคน

12. วิทยุ เป็นวิธีส่งเสริมที่รวดเร็วที่สุด ใช้เพื่อการประกาศข่าวสารสำหรับชนหมู่มาก และใช้ในการออกคำสั่งคำเตือน ข่าวโรคระบาด อุทกภัยวาตะภัยต่าง ๆ

13. โทรทัศน์ ทำให้ผู้ชมได้เห็นไอ้ฟังสิ่งของที่จะแสดง เหมาะสมกับชาวเมือง แต่อาจไม่ถึงคนในชนบทไกล ๆ

14. งานนิทรรศการและงานออนร้าน ช่วยในการเผยแพร่โฆษณา มากกว่าที่จะสอนวิทยาการแผนใหม่แก่ผู้ชม

ประสิทธิภาพของวิธีต่าง ๆ

จากผลของการศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของวิธีการส่งเสริมต่างๆ เหล่านี้ในสหรัฐอเมริกา พบว่าการส่งเสริมแบบรายบุคคลจะทำให้เกษตรกรปฏิบัติตาม 25% การส่งเสริมแบบกลุ่มเกษตรกรจะปฏิบัติตาม 33% แต่เกษตรกรเพียง 23% จะปฏิบัติ่ตามคำแนะนำจากสื่อมวลชน อย่างไรก็ดีเกษตรกร 19% จะปฏิบัติตามเพื่อนบ้านข้างเคียง

เมื่อพูดถึงวิธีต่าง ๆ โดยเฉพาะแล้ว จะพบว่า การสาธิตวิธีทำ (Method Demon stration) เป็นวิธีที่ดีที่สุด ส่วนการใช้โทรศัพฑ์เป็นวิธีที่ไม่ดีเลย ดังตารางต่อไปนี้

วิธีการส่งเสริม                                                                      % เกษตรกรปฏิบัติตาม

1. การสาธิตวิธี                                                                18.2

2. การประชุมต่างๆ                                                         14.6

3. เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเกษตรกร                                         10.8

4. บทความ สารคดีใน น.ส.พ.                                          9.7

5. ป้ายประกาศ แจ้งความ                                                8.5

6. เกษตรกรไปเยี่ยมเจ้าหน้าที่                                          6.5

7. การสาธิตผล                                                                6.1

8. จดหมายเวียน                                                              3.0

9. วิทยุ                                                                            1.2

10. การโต้ตอบทางจดหมาย                                            1.1

11. การจัดนิทรรศการและปิดโปสเตอร์ต่างๆ                    0.9

12. การติดต่อทางโทรศัพท์                                              0.3

13. ผลทางอ้อม (คือเกษตรกรสนทนาและเลียนแบบกัน)  19.0

รวม   100.0%

การเริ่มต้นโครงการส่งเสริมการเกษตร

งานส่งเสริมต้องเริ่มต้นจากปัญหา และความต้องการของเกษตรกรดังนั้นในการส่งเสริมในเรื่องใด ๆควรพิจารณาหลักการดังนี้

1. ระบุปัญหาต่างๆ ให้หมดแล้วจัดอันดับหาตัวปัญหาที่สำคัญที่สุด ควรเริ่มจากปัญหาที่ง่ายก่อน

2. เลือกสถานที่ดำเนินการ เพื่อจะอวดผลงานของการแก้ปัญหานั้นๆ

3. วางแผนแก้ปัญหานั้น ๆ

-ติดต่อผู้นำในท้องถิ่น

-ช่วยชาวบ้านให้เขาช่วยตัวเอง แนะนำตามหลักวิชาการ

-ไม่มีการบังคับ ดำเนินตามหลักประชาธิปไตย

-ทำแผนปฏิบัติงาน และเริ่มแก้ปัญหา

4. ทำรายงานและประเมินผล หาข้อบกพร่องเพื่อการปรับปรุงโครงการต่อไป

การยอมรับวิทยาการแผนใหม่โดยเกษตรกร

กระบวนหรือวิธีการยอมรับวิทยาการแผนใหม่โดยเกษตรกรเป็นเป้าหมายอันสุดท้าย ที่นักส่งเสริมการเกษตรต้องการจะเห็นการยอมรับวิทยาการแผนใหม่ของเกษตรกรมีอยู่ 5 ขั้นคือ

1. ขั้นเรียนรู้ถึงวิทยาการใหม่ ( Awareness ) ในระยะนี้นักส่งเสริมควรใช้สื่อมวลชนให้มาก ตลอดจนเพื่อนบ้านข้างเคียง เจ้าหน้าที่และคนเดินตลาด เพื่อกระตุ้นให้ตื่นตัวและรู้จักกับของใหม่ ๆ

2. ขั้นเกิดความสนใจ (interest) ในระยะนี้เกษตรกรจะมีความสนใจในวิทยาการแล้ว และพยายามจะหาข่าวเพิ่มเติม ดังนั้นนักส่งเสริมควรใช้สื่อสารแบบมวลชนให้เพื่อน เจ้าหนัาที่ และคนเดินตลาดไปกระตุ้นให้เกิดความสนใจยิ่งขึ้น

3. ขั้นไตร่ตรองและประเมินผล (Evaluation) ในระยะนี้เกษตรกรจะชั่งใจไตร่ตรองดูว่าวิทยาการใหม่ ๆ นี้จะดีหรือเลวอย่างไร ในช่วงนี้นักส่งเสริมควรใช้เพื่อนบ้าน และเจ้าหน้าที่ตลอดจนคนเดินตลาดไปติดต่อกระตุ้นให้เกษตรกรเห็นชอบในวิทยาการใหม่ ๆ

4. ขั้นทดลอง (Trial) ในระยะนี้เกษตรกรจะทดลองทำดูเพียงเล็กน้อย หากเพื่อนฝูงว่าดีก็จะทำตามมากขึ้น ดังนั้นเราควรส่งเพื่อนของเขา หรือเจ้าหน้าที่ ตลอดจนคนเดินตลาดไปสนับสนุน เพื่อกระตุ้นให้เขายอมรับของใหม่ ๆ

5. ขั้นยอมรับปฏิบัติตาม (Adoption) เป็นระยะที่เกษตรกรมั่นใจแล้วว่า วิทยาการแผนใหม่นี้ดีแน่ เขาก็จะยอมรับและปฏิบัติตาม เพื่อนและนักส่งเสริมตลอดจนสื่อมวลชน และคนเดินตลาดก็ยังมีความสำคัญมาก ที่จะกระตุ้นให้เขาปฏิบัติตามคำแนะนำใหม่ ๆ นี้

ตามปรกติในกระบวนการยอมรับวิทยาการแผนใหม่นี้จะมีเกษ่ตรกรอยู่ 6 กลุ่มด้วยกันคือ

ก. พวกหัวใจสู้ ซึ่งจะยอมรับและปฏิบัติทันที มีอยู่ 2.5%

ข. พวกขอดูท่าที ซึ่งรีรอจะยอมรับแต่ไม่กล้าเสี่ยง มีอยู่ 13.5%

ค. พวกเบิ่งตาลังเล เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ไม่มั่นใจ มีอยู่ 34.0%

ง. พวกหันเหหัวดื้อ ไม่แน่ใจ หัวดื้อและเฉย ๆ มีอยู่ 34.0%

จ. พวกงอมือ จั่บเจ่า ไม่ค่อยมีความรู้ เฉื่อยชา มีอยู่ 13.5%

ฉ. พวกไม่เอาไหนเลย การศึกษาต่ำ ยากจนเฉื่อยชา มีอยู่ 2.5%

ดังนั้นในการส่งเสริมเกษตร นักส่งเสริมต้องพยายามค้นหาผู้นำการเปลี่ยนแปลง และพวกหัวไวใจสู้ให้พบ แล้วใช้บุคคลเหล่านี้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในชุมชนนั้น ๆ

ปัจจัยที่ควบคุมการยอมรับวิทยาการแผนใหม่

ก. นักส่งเสริมจะทำให้เกษตรกรยอมรับวิทยาการแผนใหม่ได้เร็วถ้านักส่งเสริมมีลักษณะดังนี้

-มีความรู้จริง ทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฏิบัติ

-มีความสามารถในการถ่ายทอด

-มีการวางตัวดี ท่าทาง และทัศนคฅิต่องานดี

-เลือกเครื่องมือสื่อสารดี

ข. เกษตรกรจะยอมรับวิทยาการแผนใหม่ได้เร็วขึ้น ถ้าเกษ่ตรกรมีลักษณะดังนี้

-มีอายุน้อย เป็นคนทันสมัย

-มีการศึกษาดี และมีฐานะทางเศรษฐกิจมั่นคง

-มีการติดต่อกับเจ้าหน้าที่เกษตรอยู่เสมอ

-มีเนื้อที่ทำการเกษตรมาก

-มีความสามารถในการรับข่าวดี

-มีเพื่อนข้างเคียงซึ่งรักความก้าวหน้า

ค. เกษตรกรจะยอมรับวิทยาการแผนใหม่ได้เร็ว ถ้าวิทยาการนั้นมักษณะดังนี้

-ไม่ขัดต่อสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน

-เหมาะกับสังคมและความต้องการของเกษตรกร

-ปฏิบัติง่ายเป็นประจำวัน

-ให้ความพอใจและมีผลตอบแทนสูง

ง. เกษตรกรจะยอมรับวิทยาการแผนใหม่ได้เร็ว ถ้าวิธีการส่งเสริมมีลักษณะดังนี้

-เหมาะกับบุคคลและโอกาส

-เป็นการสาธิต และปฏิบัติ

-ใช้เทคนิคหลายอย่างประกอบกัน

จ. เกษตรกรจะยอมรับวิทยาการแผนใหม่ได้เร็ว ถ้าสิ่งแวดล้อมอื่นๆ สนับสนุนดีเช่น

-มีสถาบันการเงินพอเพียง เช่น ธกส. ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพฯ

-มีสถาบันตลาดดี เช่น สหกรณ์ องค์การตลาดฯ

-มีสถานีทดลอง ศูนย์วิจัย โรงเรียนและมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้ ๆ