การออกดอกของมังคุด

การเปลี่ยนแปลงของยอดอ่อนกับอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการออกดอกของมังคุด

การศึกษาปรากฎการณ์ในรอบปี (phonological cycle) เป็นสิ่งจำเป็น  เพื่อให้เข้าใจถึงการเจริญเติบโตของใบ การออกดอก และติดผลของมังคุด ทั้งนี้เพื่อนำมาปรับใช้กับการจัดการเพื่อให้ต้นมังคุดมีความอุดมสมบูรณ์ และออกดอกติดผลได้ดี  รวมทั้งการบังคับให้ต้นมังคุดออกดอกเพื่อให้ได้ผลผลิตนอกฤดูกาล  หรือขยายเวลาการผลิตออกไป  นอกจากนั้นยังต้องศึกษาปัจจัยทางสภาพแวดล้อมหรือภูมิอากาศที่ชักนำให้ต้นมังคุดที่สมบูรณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงของปลายยอดจากระยะเติบโตทางลำต้นและใบไปเป็นระยะให้ดอกและผล  นอกจากนี้การศึกษาถึงสารเคมีที่ใช้บังคับให้มังคุดเกิดการชักนำให้เกิดตาดอกก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษาต่อไป

ในการศึกษาทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาอิทธิพลของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของปลายยอดของมังคุดโดยทดลองกับมังคุดที่มีอายุประมาณ 16-17 ปี ซึ่งสรุปได้ดังนี้

1.  การพัฒนาของมังคุดในรอบปี  พบว่ามังคุดมีการแตกใบอ่อน 2 ชุด ชุดแรกเริ่มเดือนกรกฎาคมจนถึง 100℅ในกลางเดือนสิงหาคมและแตกใบอ่อนชุดที่ 2 เริ่มต้นเดือนกันยายนจนถึง 100℅ในกลางเดือนกันยายน

การชักนำให้เกิดตาดอกของมังคุดเริ่มต้นเดือนพฤศจิกายน  ยังผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาและรูปร่างของปลายยอด จากระยะการเจริญเติบโตของลำต้น และใบไปเป็นระยะออกดอกและผลในกลางเดือนพฤศจิกายน  จากนั้นตาดอกเริ่มโผล่เห็นเป็นดอกตูมสีม่วงแดงในต้นเดือนธันวาคมจนเห็นชัดทั่ว ๆ ไป เมื่อเกิดดอก 70℅ ในช่วงกลางจนถึงปลายเดือนธันวาคมและดอกมังคุดจะเริ่มบานจนถึง 100℅ ในกลางเดือนมกราคม มังคุดเริ่มติดผลและเจริญเติบโตจนถึงเก็บเกี่ยวในเดือนพฤษภาคม

2.  ความสัมพันธ์ระหว่างสภาพแวดล้อมกับการชักนำให้เกิดตาดอกที่อุณหภูมิต่ำสุด ความยาวของวันและปริมาณน้ำฝนต่างก็มีความสัมพันธ์กับเปอร์เซ็นต์การชักนำให้เกิดตาดอกของมังคุด  จากการวิเคราะห์พบว่าอุณหภูมิต่ำสุด 21 องศาเซลเซียส มังคุดจะเริ่มเกิดการชักนำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยา  และรูปร่างของปลายยอดจากระยะเจริญเป็นลำต้นและใบไปเป็นระยะให้ดอกและผล ดังนั้นควรเลือกปลูกมังคุดในที่ซึ่งมีอุณหภูมิต่ำสุดในเดือนพฤศจิกายนไม่เกิน 21 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุดที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียสจะทำให้เปอร์เซ็นต์การชักนำให้เกิดตาดอกเพิ่มขึ้นหรือลดลงประมาณ 10.5℅ ดังนั้นการที่จะบังคับให้มังคุดออกเร็วขึ้นด้วยสารเคมีหรือปัจจัยอื่น ๆ ควรทำเมื่อใบมังคุดชุดที่ 2 เป็นใบเพสลาด(ระยะกลางถึงปลายเดือนกันยายน) ทั้งนี้สำหรับมังคุดที่ปลูกที่ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรีหรือบริเวณใกล้เคียง การชักนำให้เกิดตาดอกของมังคุดโดยอิทธิพลสภาพแวดล้อมหรือภูมิอากาศจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

ผลการทดลองนี้สามารถใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์ฮอร์โมนพืชที่ชักนำให้เกิดตาดอกของมังคุดโดยการเก็บใบอ่อนหรือยอดของมังคุดของใบชุดที่ 2  มาวิเคราะห์ปริมาณฮอร์โมน

ยุวดี  มานะเกษม

สาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช  สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี