การเก็บรักษามังคุดในสภาพควบคุมบรรยากาศ

มังคุดนอกจากจะเป็นไม้ผลที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคภายในประเทศแล้วยังมีรายงานว่าความต้องการมังคุดของตลาดต่างประเทศสูงขึ้นทุกปี  ตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และยุโรป  แต่การส่งออกมังคุดนั้นก็ยังประสบกับปัญหาคุณภาพของมังคุดหลังการเก็บเกี่ยวแม้มังคุดจะมีเปลือกหนาแต่ก็เป็นผลไม้ที่ชอกช้ำง่าย  ดังนั้นนอกจากจะต้องเก็บเกี่ยวอย่างระมัดระวังแล้ว  การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวก็ต้องกระทำอย่างนุ่มนวล  จึงจะได้มังคุดที่มีคุณภาพดี สามารถเก็บรักษาได้นาน ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวเพื่อส่งไปยังตลาดที่อยู่ห่างไกลคือ ระยะที่เริ่มมีการเปลี่ยนสีที่เรียกว่าเริ่มเป็นสายเลือด  เนื่องจากมังคุดมีอายุวางจำหน่ายค่อนข้างสั้น ในการส่งออกจึงใช้การขนส่งทางอากาศ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นเพื่อเป็นการยืดอายุการเก็บรักษามังคุดให้นานขึ้นเพื่อประโยชน์ต่อการส่งออกมังคุดไปยังต่างประเทศที่ต้องใช้เวลานานในการเดินทางโดยทางเรือ จึงได้ทำการทดลองเก็บรักษามังคุดในสภาพบรรยากาศควบคุม  โดยให้มีความเข้มข้นของออกซิเจนลดลงจากปกติและเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับที่สูงขึ้น

ทดลองเก็บมังคุดในห้องเย็นอุณหภูมิ 15°c  โดยเก็บมังคุดระดับความแก่ต่าง ๆ ในภาชนะที่มีการควบคุมบรรยากาศคือใช้ออกซิเจนความเข้มข้น 21, 5 และ 10℅ โดยเติมคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 0,5 และ 10℅ ในแต่ละความเข้มข้นของออกซิเจน ขณะเดียวกันเก็บมังคุดขณะเป็นสายเลือดในห้องเย็นอุณหภูมิ 15°c โดยเก็บในภาชนะที่มีการควบคุมบรรยากาศ โดยใช้ออกซิเจนความเข้มข้นต่ำกว่า 5℅ คือ 1,2 และ 3℅ (และ 21℅ เป็นคอนโทรล) ผสมคาร์บอนไดออกไซด์เข้มข้น 0,5 และ 10℅ เช่นเดิม

จากการทดลองได้ข้อสรุปว่าควรเก็บเกี่ยวมังคุดในขณะที่ยังเป็นสายเลือดในการเก็บรักษาที่ระดับความเข้มข้นออกซิเจน 2-5℅ผสมกับคาร์บอนไดออกไซด์ความเข้มข้น 5 หรือ 10℅ สามารถชะลอการเปลี่ยนสีผิว รักษาความสดของกลีบเลี้ยงและขั้วผลของมังคุดและยืดอายุการเก็บรักษาได้นานไม่น้อยกว่า 4 สัปดาห์ สำหรับที่ระดับความเข้มข้นของออกซิเจน 1℅ มีผลทำให้มังคุดเกิดกลิ่นหมักในขณะที่ผลมังคุดที่เก็บรักษาในความเข้มข้น 2-5℅ ออกซิเจนนั้นไม่มีความผิดปกติของกลิ่นและรสชาติแต่อย่างใดทุกระดับคาร์บอนไดออกไซด์

เบญจมาส  รัตนชินทรและคณะ ศูนย์วิจัยพืชสวนจันทบุรี

สถาบันวิจัยพืชสวน