หลักการทั่วไปในการเก็บสมุนไพร


การเก็บสมุนไพรจากพืช ต้องกำหนดเลือกให้ถูกต้องเหมาะสม เพราะการเจริญเติบโตของพืชในระยะต่างๆ กัน จะมีปริมาณของยาหรือสารเคมีต่างๆ ในพืชมากน้อยต่างกัน เป็นผลให้ฤทธิ์ในการรักษาต่างกันไปด้วย เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ ต้องคำนึงถึงหลักการเก็บรักษาและเตรียมสมุนไพร ดังนี้
ระยะเวลาหรือฤดูกาลที่ควรเก็บสมุนไพร
ก. ทั้งต้น(ไม้ล้มลุก) เก็บในระยะที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ มีใบหนาแน่นหรือตอนที่กำลังออกดอก
ข. ใบ  ควรเก็บในระยะที่พืชเจริญเติบโตเต็มที่ มีใบหนาแน่น ก่อนออกดอก หรือกำลังออกดอก
ค. ดอก ควรเก็บในระยะที่ดอกตูม หรือเริ่มบาน
ง. ผลและเมล็ด เก็บในระยะที่ผลแก่เต็มที่จนสุกงอม ถ้าเป็นผลประเภทฉ่ำน้ำ ควรเก็บในตอนเช้าหรือเย็น
จ. รากหรือหัว เก็บตั้งแต่ต้นฤดูหนาวถึงปลายฤดูร้อน
(ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน คือเก็บในระยะที่มีน้ำน้อย)
ฉ. เปลือกต้นหรือเปลือกราก เก็บในฤดูร้อนและฤดูฝน
วิธีการเตรียมพืชแห้ง
เมื่อเก็บมาแล้วเลือกสิ่งแปลกปลอมออก ทำความสะอาด เช่น เปลือกราก เปลือกต้น ล้างหรือขูดผิวนอกออก หั่นเป็นชิ้นตากแดดให้แห้งเก็บเอาไว้ใช้ พวกหัวและรากควรเอาไปนึ่งให้สุกก่อนจึงนำไปตากแห้ง พวกผลควรใช้น้ำร้อนลวกแล้วนำไปตากแห้ง พวกพืชที่มีกลิ่นหอมจำพวกใบและดอก ไม่นำเอาไปตากแดดโดยตรง เพราะกลิ่นหอมจะระเหย และสีดอกจะซีดได้ วิธีที่นิยมคือ แผ่ในกระด้ง หรือตะแกรง หรือผูกปลายกิ่งแขวนห้อยต้นลง ผึ่งไว้ในที่ร่มแห้งมีลมโกรกประมาณ 1-2 สัปดาห์ เก็บใส่ถุงให้มิดชิด หรือทิ้งให้แห้งในตู้เย็น สีและกลิ่นจะคงเดิม
การเก็บรักษาเครื่องยา
ต้องเก็บในภาชนะที่แห้งมีฝาปิดสนิท หรือในถุงผ้า หรือถุงพลาสติครัดปากถุงให้แน่นเพื่อกันมอดและแมลงเข้าไปกัดกิน หมั่นนำออกตากแดด ของที่มีกลิ่นหอมควรเก็บในภาชนะปิดสนิทและไว้ในที่เย็น ถ้าภาชนะเป็นแก้วใสอย่าวางไว้ในที่ที่มีแสงแดดส่องถึง ถ้าจะให้ดีเก็บไว้ในตู้มืด และต้องเขียนฉลากระบุชื่อของสมุนไพรปิดไว้ข้างภาชนะ เสมอ

ที่มา:สำลี  ใจดี, สุนทรี  วิทยานารถไพศาล, รพีพล  ภโววาท, จิราพร  ลิ้มปานานนท์, นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี, วิทิต  วัณนาวิบูล