การเข้าทำลายพืชของไส้เดือนฝอย

ไส้เดือนฝอยเข้าทำลายพืช โดยการเจาะผ่านด้วยหลอดดูดอาหารทำให้เกิดแผลอันเป็นวิธีกลที่ทำความเสียหายให้เพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่ความเสียหายจะเกิดจากน้ำลาย (saliva) ที่ไส้เดือนฝอยปล่อยเข้าสู่พืชขณะดูดกิน น้ำลายนี้สร้างโดยต่อมต่างๆ แล้วไหลสู่ลำคอ ซึ่งเป็นอวัยวะที่เชื่อมกับลำไส้ของ

ภาพการแทงผ่านผิวรากขนอ่อน (Nicotiana tabacum) ของไส้เดือนฝอย (Trichodorus similis) แสดงการย่อยหลังจากหลอดดูดอาหารเข้าสู่ nucleus และ cytoplasm ของเซล (ที่มา:Endo, 1975)
ระบบการย่อย แล้วน้ำลายจะลงสู่พืชโดยผ่านทางหลอดดูดอาหาร ไส้เดือนฝอยบางชนิดเจาะผนังเซลพืช ปล่อยน้ำลายลงสู่เซล แล้วดูดส่วนต่างๆ ภายในเซลพืชเข้าสู่ไส้เดือนฝอยโดยใช้เวลาอย่างรวดเร็ว ภายในเวลา 2-3 วินาที เท่านั้น แต่บางชนิดใช้เวลานานมาก เพียงการเจาะผ่านผนังเซลอย่างเดียวอาจใช้เวลานานเป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน สำหรับไส้เดือนฝอยเพศเมียที่เป็นปรสิตอยู่ในหรือบนรากอย่างถาวร จะปล่อยน้ำลายลงสู่พืชเป็นครั้งคราว ขณะดูดกินพืชตลอดการเป็นปรสิตพืช
น้ำลายของไส้เดือนฝอยจะช่วยในการเจาะผ่านผนังเซล ไปละลายสารต่างๆ ในเซล ทำให้การย่อยของไส้เดือนฝอยง่ายขึ้น เพราะเอนไซม์ รวมทั้งสารเคมีอื่นๆ ที่ขับปล่อยออกมาจากไส้เดือนฝอยโดยเฉพาะที่ตรวจพบในน้ำลายมี amylase ,invertase, protease, polylacturonase and ß – glucosidase. โดยไปย่อยสารเชื่อมระหว่างเซลส่วนประกอบของผนังเซล ทำให้เซลของเนื้อเยื่อหลุดแยกกัน เซลตาย อาการอื่นๆ จะเป็นการที่เซลมีขนาดใหญ่กว่าปกติ เนื่องจากการแบ่งตัวของเซลหยุดชงักไป เช่นอาการที่เกิดจากไส้เดือนฝอยรากปม (root – knot nematodes) อาการรากกุด เพราะปลายรากไม่เจริญ เกิดจากไส้เดือนฝอยรากกุด (stubby root nematodes) เนื่องจากไส้เดือนฝอยกระตุ้นให้มีการแบ่งเซล ทำให้มีเซลจำนวนมากขึ้นที่ด้านข้างของราก ใกล้กับจุดที่พืชถูกไส้เดือนฝอยเข้าทำลาย
ไส้เดือนฝอยศัตรูพืชยังไม่สามารถจะนำมาเพาะเลี้ยงในอาหาร (in vitro) แด่มีพืชอาศัยได้กว้างขวางมาก อาจเป็นเพราะไส้เดือนฝอยศัตรูพืชไม่ต้องการอาหารที่มีคุณสมบัติเฉพาะมากนักในการเป็นปรสิตไส้เดือนฝอยที่ทำลายราก จะมีผลต่อพืชดังนี้
1. ทำให้รากดูดน้ำ แร่ธาตุ อาหารพืชสู่ลำต้นไม่เพียงพอ ทำให้พืชมีอาการเหี่ยวเฉา และขาดธาตุอาหารที่ใบ
2. แผลที่เกิดจากไส้เดือนฝอยจะเป็นทางให้จุลินทรีย์อื่นๆ ในดินเข้าทำลายซ้ำเติม
3. ช่วยทำให้พืชเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อสาเหตุอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
4. ผลจากปฏิกิริยาของเอนไซม์และสารเคมีอื่นๆ ของไส้เดือนฝอย ต่อพืช
ที่มา:ไพโรจน์  จ๋วงพานิช