หลักวิชาในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

ในการเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นชนิดใด ปัญหาแรกที่จะต้องคิดก็คือเรื่องพันธุ์สัตว์น้ำ (ลูกปลาขนาดต่างๆ) ที่จะนำมาเลี้ยง ปัญหาดังกล่าวอาจแก้ไขได้ 2 วิธี คือ

1. การรวบรวมพันธุ์สัตว์น้ำจากธรรมชาติ

เป็นวิธีการที่ทำมาตั้งแต่ดั้งเดิมโดยวิธีการต่างๆ ในการจับและรวบรวม เช่น การจับลูกปลาสวาย และพันธุ์ปลาดุกด้านในประเทศไทย การจับลูกปลานวลจันทร์ทะเล การจับลูกกุ้งกุลาดำ ในฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย การจับปลายี่สกเทศและนวลจันทร์เทศในอินเดีย เป็นต้น ในการจับจะใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น การใช้สวิง อวนตาถี่ และเครื่องมือจับแบบพื้นเมืองทั่วๆ ไป วิธีรวบรวมพันธุ์ดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน คือ

-ไม่สามารถที่จะกำหนดเวลา และไม่สามารถจะขยายกิจการเลี้ยงให้เป็นอุตสาหกรรมได้ เพราะปริมาณปลาที่รวบรวมได้มีจำนวนไม่แน่นอน และเวลาที่จะได้ก็ไม่แน่นอน หรือคลาดเคลื่อนจากการกำหนดเวลาได้

-ลูกสัตว์น้ำที่รวบรวมได้จากธรรมชาตินั้น อาจจะมีลูกสัตว์น้ำชนิดอื่นปะปนเข้ามาด้วย ทำให้มีปัญหาคือ อาจเป็นศัตรูโดยตรง คือกินสัตว์น้ำที่เราเลี้ยงหรือแย่งอาหาร ทำให้สัตว์น้ำที่เลี้ยงมีอัตราการรอดต่ำหรือเติบโตช้ากว่าที่ควร

-สัตว์น้ำที่รวบรวมจากธรรมชาตินั้น อาจโตช้าหรือโตเร็วไม่แน่นอน เพราะอาจมาจากพ่อแม่พันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แตกต่างกัน

-ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูง เพราะความไม่แน่นอนในการจัดหาพันธุ์

2. การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ

ในปัจจุบันการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำได้พัฒนาขึ้นมา เพราะว่ามีความต้องการพันธุ์ที่จะนำลงปล่อยเลี้ยงสูงมาก ได้มีการนำเอาวิทยาการสมัยใหม่มาทำการพัฒนาการเพาะพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์สัตว์น้ำทั้งปริมาณและคุณภาพสูง และเพียงพอกับความต้องการ การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำสามารถทำได้ 2 วิธี คือ

-การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแบบธรรมชาติ

-การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแบบผสมเทียม

การผสมพันธุ์สัตว์น้ำทั้ง 2 วิธีดังกล่าวมานั้น มีขั้นตอนของการผสมพันธุ์เหมือนกันกล่าวคือ น้ำเชื้อของตัวผู้จะผสมกับไข่ของตัวเมีย (ดูแผนภูมแสดง) จะแตกต่างกันก็แต่วิธีการเท่านั้น ไข่ของสัตว์น้ำ เมื่อผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้แล้วจะวิวัฒนาการไปตามขั้นตอนจนกระทั่งฟักออกเป็นตัว ระยะเวลาของการฟักออกเป็นตัวขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและชนิดของสัตว์น้ำ ที่อุณหภูมิสูงไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะวิวัฒนาการและฟักออกเป็นตัวเร็วขึ้นกว่าอุณหภูมิต่ำ

แผนภูมิแสดงให้เห็นถึงวิวัฒนาการผลิตน้ำเชื้อและไข่ของปลาที่สมบูรณ์เต็มที่ ตลอดจนขั้นตอนในการผสมพันธุ์จนกระทั่งฟักออกเป็นตัว

การวิวัฒนาการของอวัยวะเพศภายในตลอดจนรูปร่างและอื่น ๆ

เพื่อให้มีความเข้าใจถึงหลักวิชาขั้นพื้นฐานของการวิวัฒนาการของอวัยวะเพศภายในของปลา อันได้แก่ รังไข่ (ovaries) และอัณฑะ (testis) และหรืออวัยวะที่ไม่อาจทำหน้าที่ทางใดได้ชัดแจ้งหรือถาวร อาจเรียกว่า กะเทย(hermaphroditism) นั้น จะขอกล่าวตามลำดับดังนี้คือ

1. รังไข่ (ovary)

รังไข่เป็นอวัยวะของปลาเพศเมีย ประกอบด้วย ovarian follicle เป็นจำนวนมาก การเรียงตัวของ follicle แตกต่างกันไปตามชนิดปลา ovarian follicle จะเกิดใหม่เป็นชุดๆ ตามระยะเวลา ไข่เมื่อยังอ่อนอยู่จะไม่มี yolk ต่อเมื่อไข่เจริญขึ้น yolk ก็เจริญขึ้นมาโดยลำดับ ไข่ชุดหนึ่งๆ ที่เจริญในรุ่นเดียวกันจะแก่และวางไข่ออกมาพร้อมๆ กันเมื่อครบกำหนดและรับการกระตุ้นให้ปล่อยไข่ออกมา การเกิด yolk และการเจริญถึงขั้นแก่ของ yolk กับ neucleus จะแตกต่างตามจังหวะและจำนวนครั้งในการวางไข่ เช่น ถ้าวางไข่ออกมาครั้งเดียวหมดทั้งรัง ขนาดของไข่จะโตเท่าๆ กัน และแก่พร้อมๆ กัน แต่ถ้าเป็นปลาที่วางไข่ได้หลายครั้งในรอบปี ไข่จะมีหลายชุด ถ้าผ่ารังไข่ดู จะเห็นความแตกต่างของเม็ดไข่แต่ละชุดได้ชัดเจน

1.1 การผลิตไข่

การผลิตไข่ของปลาจะเป็นไปตามฤดูกาล ปลาที่ผสมพันธุ์วางไข่ในหน้าฝนจะเริ่มสร้างไข่ในปลายฤดูหนาวหรือระหว่างฤดูร้อน เมื่อย่างเข้าฤดูฝนไข่จะแก่และวางไข่ในฤดูดังกล่าว ช่วงการเจริญเติบโตของไข่ จะยาวหรือสั้นขึ้นอยู่กับชนิดปลา นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกอีกหลายปัจจัย เช่น แสง อุณหภูมิ คุณสมบัติของน้ำ และความอุดมของอาหารที่มีคุณค่า ภายหลังปลาวางไข่แล้ว รังไข่จะอยู่ในระยะฟักไปตลอดจนกว่าจะถึงกำหนดเริ่มเจริญใหม่ สำหรับปลาที่วางไข่ได้ฤดูกาลละหลายๆ ครั้ง หรือปีละหลายๆ ครั้ง รังไข่จะทำหน้าที่อยู่ตลอดเวลา เพราะไข่ในรังไข่แก่ไม่เท่ากัน แบ่งเจริญเป็นชุดๆ และเปลี่ยนขั้นการเจริญเติบโตแทนที่ไข่ที่ถูกปล่อยออกไปเป็นระยะๆ เป็นดังนี้ตลอดจนกว่ารังไข่จะเสื่อมไปตามกาลเวลา

1.2 ชั้นการเจริญเติบโตของรังไข่

ชั้นที่ 1 Virgin :

รังไข่มีขนาดเล็กมาก แนบติดกับกระดูกสันหลัง โปร่งแสงเล็กน้อย สีเนื้อ ยังมองไม่เห็นเม็ดไข่ด้วยตาเปล่า

ชั้นที่ 2 Maturing virgin :

รังไข่มีความโปร่งแสงขึ้นเล็กน้อย สีเนื้อเข้มข้น ความยาวประมาณครึ่งหนึ้งของช่องท้อง อาจมองเห็นเม็ดไข่ได้ด้วยเลนซ์ กิจกรรมของ alkaline phosphatate (AKP) ตํ่ามาก

ชั้นที่ 3 Developed ovary reddis-white :

รังไข่มีสีแดง-ส้ม-ขาว มองเห็นเม็ดไข่ได้ชัดขึ้น แต่ไข่มีลักษณะขุ่น ส่วนประกอบที่สำคัญของไข่แดงมีโปรตีนกับไขมัน จะรวมกับฟอสฟอรัสเพื่อเปลี่ยนเป็นสารประกอบ ฟอสฟอรัส สัดส่วนของฟอสฟอรัสต่อหน่วยน้ำหนักของรังไข่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย รังไข่มี ความยาวประมาณ 2 ใน 3 ของความยาวช่องท้อง ขนาดของไข่แดงเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมของ AKP

ชั้นที่ 4 Developing :

รังไข่ยังคงขุ่น มีเส้นโลหิตฝอยมาเลี้ยงมากขึ้น มองเห็นชัด รังไข่เติบโตขยายออกทางด้านข้างมากขึ้น กินเนื้อที่ประมาณครึ่งหนึ่งของช่องท้อง ปริมาณของฟอสฟอรัสเพิ่มขึ้น อีกประมาณ 20% และสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของไข่แดง กิจกรรมของ AKP สูงสุด และ acid phosphatase (ACP) เพิ่มขึ้นใน follicle และสัมพันธ์กับการ decompose ของสารภายใน oocytes

ชั้นที่ 5 Gravid :

รังไข่เติบโตเต็มช่องท้อง ไข่กลมและโปร่งแสง สีแตกต่างกันตามชนิดปลา เช่น สีเหลืองซีด เทา เทา-ดำ หรือน้ำตาล ( golden brown) และ เทา-เขียว (greenish grey)

ชั้นที่ 6 Spawning :

ไข่ปลาจะเรียงตัวกันอย่างหลวมๆ ภายในรังไข่ เพียงรีดเบาๆ จะมีเม็ดไข่หลุดออกมาจาก urogenital aperture เม็ดไข่มีความโปร่งแสงมากขึ้น ยกเว้นไข่ปลาบางชนิดอาจขุ่น หรือทึบ(opaque)

ชั้นที่ 7 Spent:

รังไข่มีส่วนเหลือตกค้างอยู่บ้าง มีสีแดงเข้ม

ชั้นที่ 8 Resting :

รังไข่ว่างเปล่า มีสีแดง

1.3 การเกิดของไข่ (oogenesis)

1.4 รูปร่างกายนอกของไข่ (External morphology of egg)

รูปร่างของไข่

ไข่ปลามีรูปร่างภายนอกแตกต่างกันมากมาย มีทั้งกลม รี และอื่นๆ นอกจากนี้ผิวไข่ยังมีทั้ง เรียบ ขรุขระ และมีขน มากบ้างน้อยบ้างตามลักษณะทางอนุกรมวิธานของปลาด้วย สำหรับรูปร่างพอแปงออกได้ ดังนี้

1. มีปุ่ม (knob) ปุ่มที่เกิดตามผิวไข่ปลาอาจมีทั้งทางด้าน animal pole และทางด้าน vegetal pole หรือด้านใดด้านหนึ่ง

2. เปลือก (surface configuration of the egg cases)

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง (diameter) ไข่ปลามีเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่เล็กกว่า 500 ไมครอน ไปจนถึง 9,000 ไมครอน

รูปร่าง (shape) รูปร่างภายนอกของไข่มีแตกต่างกันมากมาย เช่น

กลม (spherical)

รูปไข่(ovoid)

รูปสี่เหลี่ยมปริมาตร (box-shaped)

รูปรี (illiptical)

รูปหยาดน้ำตา (teardrop-shaped)

รูปกรวย (cone-shaped)

รูปยาวคล้ายไส้กรอก (sausage-shaped)

จำนวนชั้นของเยื่อหุ้ม (number of membranes)

ลักษณะเปลือก (surface of cases)

เรียบ (smooth)

ขรุขระ (sculptured)

คล้ายตาข่าย (reticulated)

ปุ่มงอนหรือเส้นขน (horn and/or-tendrils) ตามเปลือกนอก

มีจำนวน 2 เส้น

มีจำนวน 4 เส้น

มีมากกว่า 4 เส้น

ตำแหน่งของเส้นขนที่มีตามเปลือกนอกของไข่

มีที่ animal pole

มีที vegetal pole

มีรอบเปลือกไข่

ไข่แดง (yolk)

ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไข่แดง

รูปร่าง

ความใสและทึบ (optical properties)

-โปร่งใส (translucency)

-โปร่งแสง (transparency)

-ทึบ (opacity)

ประเภทของการแบ่งตัว (type of segmentation)

ไม่มีการแบ่งตัวในไข่แดง

มีบ้างเป็นบางส่วน

มีการแบ่งตัวชัดเจน

ก้อนนํ้ามัน (Oil globules)

จำนวน

ขนาด

ตำแหน่ง

จุดสี (pigmentation)

บนตัวอ่อน (embryo)

บนก้อนน้ำมัน (oil drops)

บนไข่แดง (yolk)

ประเภทของไข่

ไข่ปลาแบ่งตามการลอยตัวออกเป็น 3 ประเภท คือ

1. ไข่ลอย (floating of pelagic) ไข่ประเภทนี้ลอยอยู่ตามผิวน้ำ ได้แก่ ไข่ปลาแรด ปลาสลิด ปลากัด ปลาหมอตาล ปลากระดี่นาง ปลากระดี่หม้อ ปลาช่อน และปลาเสือตอ เป็นต้น

2. ไข่ครึ่งลอยครึ่งจม (semibouyant) ไข่ประเภทนี้ เมื่อถูกปล่อยออกจากแม่ปลาใหม่ๆ จะจมน้ำ ต่อมาไข่ค่อยๆ ดูดน้ำเข้าไปภายใน ทำให้ไข่ขยายขนาดโตขึ้น ประมาณว่าใช้เวลา 20-30 นาที ไข่จะเป่งเต็มที่ และมีความถ่วงจำเพาะใกล้เคียงกับน้ำ กล่าวคือ เมื่อน้ำนิ่งจะจม ต่อเมื่อน้ำไหลจะล่องลอยไปตาม กระแสน้ำ ได้แก่ ไข่ปลาทรงเครื่อง ปลากาแดง ปลากาดำ ปลาตะเพียนขาว ปลาสร้อยนกเขา ปลายี่สก ปลาจีน และปลายี่สกเทศ เป็นต้น

3. ไข่จม (demersal) ไข่ประเภทนี้ เมื่อปล่อยออกจากแม่ปลาใหม่ๆ จะจมน้ำทันที มี 2 กลุ่มด้วยกัน คือ

3.1 ไม่ติดกับวัตถุอื่น (non-adhesive) ได้แก่ ไข่ปลาหมอเทศและปลานิล เป็นต้น

3.2 ติดกับวัตถุอื่น (adhesive) ได้แก่ ไข่ปลาไน ปลาบู่ทราย ปลาสวาย ปลาดุกด้าน ปลากราย ปลาแก้มช้ำ ปลาตะเพียนข้างลาย ปลาซิวหนวดยาว ปลาทอง ปลาปอมปาดัว ปลาออสคาร์ และปลาแขยงหิน เป็นต้น ไข่แดงประเภทนี้แปงได้ 2 พวก ตามลักษณะการติด คือ

3.2.1 ลักษณะการติด

-ติดกันเป็นเม็ดๆ

-ติดกันเป็นแผ่น

-ติดกันเป็นก้อนตะปุ่มตะป่ำ

3.2.2 วัตถุที่ติด

-ติดกับสัตว์อื่น

-ติดกับรากพันธุ์ไม้น้ำ

-ติดกับใบของพันธุ์ไม้น้ำ

-ติดตามหลัก

-ติดกับก้อนหิน

2. อัณฑะ (testis)

อัณฑะเป็นอวัยวะของปลาเพศผู้ ปลาพวก Cyclostome มีอัณฑะในสภาพไร้ท่อ มีรูปร่างกลมเป็นก้อน (cyst-like units) ภายในมีเนื้อเยื่อ (spermatogenic) ที่เจริญเปลี่ยนแปลงเป็นถุงเก็บ (spermatozoa) ต่อเมื่อก้อนถุงดังกล่าวได้รับการเสียดสีหรือกระแทกเบาๆ sperm จะถูกปล่อยเข้าสู่ช่องท้อง (peritoneal cavity) ในปลาพวกมีอัณฑะประกอบด้วยท่อ เกิดจากถุงดังกล่าวเปลี่ยนไปเป็นพู (lobe) หรือท่อหลายๆ ท่อประกอบกัน ในปลาทั่วไป พูต่างๆ ของอัณฑะเชื่อมโยงกันสลับซับซ้อนมาก ท่อต่างๆ เหล่านั้นจะรวมกันเป็นอวัยวะ ผนังต่าง ๆ เป็นเนื้อเยื่อยืดหดได้ แต่ไม่เป็นกล้ามเนื้อ พูต่างๆ มีทางเปิดไปสู่ท่อ sperm (spermatic duct) มีความยาวมาก

พูต่างๆ ของอัณฑะมี cyst เป็นจำนวนมาก มี germ cell ที่แก่อยู่ภายใน มองเห็นความแตกต่างได้ชัดตามฤดูกาล และชั้นการเจริญเติบโตของแต่ละ cyst ในอัณฑะจะมี sperm ที่เจริญอยู่ในชั้นเดียวกัน spermatogenesis ที่เกิดขึ้นอาจไม่เรียงลำดับจาก Cortex ถึงส่วน medulla ก็ได้

2.1 ส่วนประกอบของอัณฑะ

2.1.1 Tunica albugines เป็นเซลล์อยู่รอบนอกสุดของอัณฑะ ทำหน้าที่ห่อหุ้ม

2.1.2 Seminiferous tubule หรือ cyst (Pobular or tubular units) เป็นที่สร้างเชื้อ ประกอบด้วย

(1) เยื่อหุ้ม (basement membrane) มีเซลล์ลักษณะเป็นเส้นใย (fibrous cell) อยู่รอบนอกท่อ

(2) การเกิดเชื้อตัวผู้ (spermatogenesis) มีเซลล์เจริญตามวัย ดังนี้

-Spermatogonia เป็นเซลล์เรียงชั้นเดียว อยู่ติดกับ basement membrane เป็นต้นกำเนิดของเชื้อตัวผู้ มีนิวเคลียสเป็นรูปไข่

-Primary spermatocyte เป็นเซลล์ที่แบ่งตัวจาก spermatogonia อยู่ถัดจาก spermatogonia เข้าไป

-Spermatid อยู่เป็นกลุ่มเรียงกันสี่หรือห้าแถว ถัดจาก primary spermatocyte นิวเคลียสมีรูปร่างกลม

-Developing spermatozoa คือ spermatid ที่กำลังเจริญเปลี่ยนขั้นใกล้จะเต็มวัย

-Mature spermatozoa เป็นเชื้อตัวผู้ที่เจริญเต็มวัยพร้อมที่จะออกจากอัณฑะ ฟักอยู่เต็มช่องทางเดิน (lumen) และตามท่อส่งเชื้อตัวผู้ (spermatic duct)

(3) Interstitial cell เป็นเซลล์ที่กระจัดกระจายอยู่ ทำหน้าที่ขับฮอร์โมน

2.2 การเกิดของเชื้อตัวผู้(spermatogenesis)

2.3 ขั้นการเจริญเติบโตของอัณฑะ

การเจริญเติบโตของอัณฑะปลาทั่วไปไม่ค่อยแตกต่างกัน แต่ช่วงการเจริญเติบโตอาจแตกต่างกันตามชนิดปลา แบ่งเป็นชั้นๆ ได้ดังนี้

ชั้นที่ 1 Virgin :

อัณฑะมีความเล็กมาก อยู่ใกล้และแนบติดกับกระดูกสันหลัง โปร่งแสงเล็กน้อย ขุ่น ไม่มีสี ยังไม่มีน้ำเชื้อ เส้นโลหิตมีสีแดงชัด

ชั้นที่ 2 Maturing virgin :

อัณฑะมีความโปร่งแสงมากขึ้น ขุ่น มีความยาวและขนาดเพิ่มขึ้น มีสีเนื้อ-แดง มองเห็นเส้นเลือดชัด ยังไม่มีน้ำเชื้อ

ชั้นที่ 3 Developed testis reddis-white :

อัณฑะขยายขนาดโตขึ้น มีความยาวประมาณ 2 ใน 3 ของช่องท้องมีสีแดง-ขาว-ขุ่น ยังไม่มีน้ำเชื้อ เส้นโลหิตขยายขนาดโตขึ้น

ชั้นที่ 4 Developing :

อัณฑะขุ่น มีเส้นโลหิตฝอยมาเลี้ยงมากขึ้น ขยายขนาดทางส่วนกว้างมากขึ้น

ชั้นที่ 5 Gravid :

อัณฑะขยายขนาดโตขึ้น มีสีขาวหรือสีครีม นิ่มขึ้น และมีน้ำเชื้อหลวมๆ อยู่ภายใน

ชั้นที่ 6 Spawning (discharging) :

น้ำเชื้อในอัณฑะจะไหลพุ่งออกมาง่ายมาก เมื่อรีดเบาๆ หรือกระแทกส่วนท้อง หรือเมื่อปลาดิ้น เกร็ง-บิดกล้ามเนื้อ น้ำเชื้ออาจไหลออกมาได้ มีสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนม หรือสีครีม หรือขาว หรือแดง-ชมพู แล้วแต่ชนิดและสภาพปลา

ชั้นที่ 7 Spent:

อัณฑะเหี่ยว ขนาดเล็กลง มีส่วนเหลืออยู่ในอัณฑะบ้าง แต่พร้อมที่จะเจริญต่อไปได้ ปลาบางชนิดอัณฑะจะเหี่ยวเฉพาะส่วนปลายเท่านั้น ส่วนต้นและส่วนกลางยังคงเต่งตึงอยู่ สีครีม

ชั้นที่ 8 Resting :

อัณฑะมีขนาดเล็กลง มีสีแดง-ส้ม ไม่มีส่วนเหลืออยู่เลย แต่พร้อมที่จะเจริญต่อไปได้ อัณฑะจะอยู่ในชั้นนี้ หรือชั้นที่ 7 สั้นมาก ปลาบางชนิดจะไม่มีคุณสมบัติในชั้นที่ 3 ตอนต้น และชั้นที่ 8 กล่าวคือ มีคุณสมบัติคล้ายคลึงชั้นที่ 7 ตอนท้าย เพราะ mature sperm เท่านั้นที่ถูกปลดปล่อยออกไป sperm ที่อยู่ในชั้น young และ intermediate จะเจริญไป แทนตามลำดับ

การเพาพันธุ์สัตร์น้ำแบบธรรมชาติ

การเพาะพันธุ์สัตว์น้ำแบบธรรมชาติมีข้อเสียหลายอย่าง ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม สัตว์น้ำหรือจำพวกปลาบางชนิดยังคงต้องมีวิธีการเพาะพันธุ์แบบธรรมชาติหรือเลียนแบบธรรมชาติอยู่ เช่น การเพาะปลานิล และการเพาะพันธุ์ปลาไน เป็นต้น การเพาะพันธุ์แบบธรรมชาตินี้จะไม่เน้นหนักถึงวิธีการเพาะในเอกสารตอนนี้

การเพาะพันธุ์โดยวิธีผสมเทียม

การผสมเทียมได้เเก่การหาวิธีการที่จะทำให้ปลาวางไข่โดยการฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง หรือจากฮอร์โมนสกัดเข้าไปในตัวปลา เพื่อที่จะกระตุ้นให้ไข่และน้ำเชื้อพัฒนาการขึ้นมาถึงขั้นที่จะทำการรีดไข่มาทำการผสมกันได้ แล้วนำไข่ที่ได้จะทำการผสมน้ำเชื้อดีแล้วไปทำการเพาะฟักต่อไป

การผสมเทียมนี้จะเน้นหนักเฉพาะการผสมเทียมปลาน้ำจืดเท่านั้น

การผสมเทียมพันธุ์ปลาเป็นวิทยาการใหม่แขนงหนึ่ง ซึ่งประสบความจำเจอย่างมากในการแก้ปัญหาการผลิตพันธุ์ปลาในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม วิธีการผสมเทียมนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสียสำหรับเปรียบเทียบให้ผู้จะดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาได้ทราบไว้ คือ

ข้อดี ข้อเสีย
ลูกปลาที่ได้รับเป็นชนิดเดียวกัน จะต้องมีต่อมใต้สมองหรือฮอร์โมนสังเคราะห์เพียงพอ
สามารถที่จะคัดพันธุ์ได้ จะต้องมีพ่อแม่พันธุ์ที่ดี
สามารถเพาะได้ก่อนตามฤดูกาล วิธีการปฏิบัติยุ่งยากสลับซับซ้อน
สามารถที่จะเพาะลูกปลาได้ตามความต้องการ จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ที่ดี
ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
ประหยัดพื้นที่ในการเพาะฟัก
สามารถที่จะผสมข้ามพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดี
ในแง่ปรับปรุงพันธุกรรมสามารถทำได้ง่าย

การผสมเทียมปลาในประเทศไทยได้ริเริ่มในปี 2494 โดยทดลองผสมเทียมปลาสวาย และได้ประสพผลสำเร็จอย่างจริงจังในปี 2509 หลังจากนั้นได้มีการทดลองผสมเทียมปลาชนิดต่างๆ มาโดยตลอด

ในการผสมเทียมปลาน้ำจืดนั้น มีหลักการปัจจัยพื้นฐาน และขั้นตอนของการดำเนินการ ดังต่อไปนี้

การจัดหาพ่อแม่พันธุ์และการคัดเลือก

1. พ่อแม่พันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติจากตลาดสดหรือบ่อเอกชน

-จากแหล่งนํ้าธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรือหนอง บึง การจัดหาด้วยวิธีนื้ อาจต้องติดต่อกับชาวประมงที่มีอาชีพจับปลาโดยตรง เมื่อทำการจับและคัดพ่อแม่พันธุ์ตามขนาดและลักษณะที่ต้องการ แล้วนำมาส่งหรือต้องไปรับมาในลักษณะที่มีชีวิตและไม่บอบช้ำ เพื่อที่จะนำมาเลี้ยงหรือทำการเพาะพันธุ์ต่อไป การจัดหาวิธีนี้ใช้กับการจัดหาพ่อแม่ปลาตะเพียน สวาย ยี่สก ฯลฯ

-จากตลาดสด โดยการติดต่อกับผู้ค้าปลาสดมีชีวิตตามตลาดสด เพื่อคัดเลือกพ่อแม่ปลาตามขนาดและลักษณะที่ต้องการ การจัดหาพ่อแม่พันธุ์แบบนี้ ได้แก่ พ่อแม่พันธุ์ปลาดุกอุย ดุกด้าน ฯลฯ

-จากบ่อเลี้ยงเอกชนที่เลี้ยงปลาเป็นอาชีพ โดยการติดต่อกับเอกชนหรือเจ้าของฟาร์มที่จับปลาขายหรือส่งตลาดเป็นประจำ การจัดหาพ่อแม่พันธุ์แบบนี้จะสะดวกและง่ายในทางปฏิบัติมาก พ่อแม่ปลาที่ได้มาอาจต้องมาทำการเลี้ยงต่ออีกระยะหนึ่งก่อนนำไปทำการผสมพันธุ์

2. พ่อแม่พันธุ์ที่ได้จากการเลี้ยง

พ่อแม่ของปลาที่ถูกคัดเลือกมาเลี้ยงในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และในกระชังนั้น ต้องเป็นปลาทู มีลักษณะรูปร่างสมบูรณ์ดีแล้ว ยังต้องมีอายุ ขนาด และอัตราการปล่อยที่เหมาะสมตามที่แสดงไว้ในตารางที่ 20

3. การคัดเลึอกพ่อแม่พันธุ์

พ่อแม่ปลาที่นำมาใช้ในการผสมเทียมควรเป็นปลาที่มีความสมบูรณ์ทางเพศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญมากในการผสมเทียม เพราะการใช้ฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นให้ปลาวางไข่นั้นจะใช้กับปลาที่มีไข่แก่และนํ้าเชื้อสมบูรณ์ การฉีดฮอร์โมนกับปลาที่มีไข่ไม่แก่และน้ำเชื้อไม่สมบูรณ์เท่ากับเป็นการบังคับให้ปลาวางไข่ ซึ่งจะได้ผลไม่ดีนัก ไข่ที่ออกมาจะมีอัตราการฟักออกเป็นตัวต่ำหรึอไม่เป็นตัวเลย ปลาตัวเมียที่มีไข่แก่ จะสังเกตได้จากส่วนที่โป่งออก หากเป็นพวกปลามีเกล็ด รอยซ้อนของเกล็ดจะแยกจากกันเห็นชัด ช่องเพศขยายโตขึ้น และมีสีชมพูปนแดง เมื่อเอามือแตะส่วนท้องจะรู้สึกนิ่ม และเมื่อยกเอาส่วนหัวของปลาขึ้น จะสังเกตได้ชัดว่ารังไข่จะเคลื่อนย้ายมาที่อวัยวะเพศ ส่วนปลาเพศผู้ที่มีน้ำเชื้อสมบูรณ์นั้น จะสังเกตได้จากบริเวณแก้มและเกล็ด ตามลำตัวสาก ปลาบางชนิด เช่น ปลาสวาย จะสังเกตเห็นจากลักษณะภายนอกว่าปลาตัวเมียมีสีขาวเงินสวย เป็นต้น ส่วนปลาตัวผู้ที่มีน้ำเชื้อสมบูรณ์นั้น ช่องเพศสีแดงอ่อน รูปรี และมีส่วนของอวัยวะเพศยื่นยาวออกมา ตัวผู้ที่มีน้ำเชื้อสมบูรณ์เมื่อเอามือลูบส่วนท้องเบาๆ จะมีนํ้าเชื้อสีขาวขุ่นคล้ายนํ้านมไหลออกมา สำหรับการสังเกตปลาเพศผู้-เมียของปลาโดยทั่วไปพอสรุปได้ ดังนี้

เพศผู้ เพศเมีย
บริเวณแก้มและลำตัวจะสาก เช่น ปลาไน ปลาตะเพียน-เฉา ลื่น ไม่สาก
ลำตัวจะยาวเรียว ยาวขนาดปลาทั่วไป ลำตัวจะกว้าง
สีสันสวยงาม เช่น ปลานิล สีไม่สวยงาม
ส่วนท้องจะไม่อูมและไม่นิ่มเหมือนปลาทั่วไป ส่วนท้องจะอูมและนิ่ม
ติ่งอวัยวะเพศจะเรียวแหลม เช่น ปลาดุก ปลาสวาย อวัยวะเพศจะกลมมนหรือวงรี ใหญ่กว่าเพศผู้
อวัยวะเพศยื่นยาวออกมา เช่น ปลาฉลาด ไม่มี
เมื่อเอามือแตะส่วนท้องจะมีน้ำเชื้อ มีลักษณะสีขาวขุ่นไหลออกมา ปกติทั่วไปแล้วไข่จะไม่ไหลออกมา

4. ชนิดของฮอร์โมน

ฮอร์โมนที่ใช้ผสมเทียมปลานั้นมีอยู่ 2 ชนิดคือ ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง (pituitary gland) ของปลา และฮอร์โมนสกัด หรือชื่อย่อว่า H.C.G. หรือ C.G. ซึ่งมาจากคำเต็มว่า Human Chorionic Go­nadotropin และนอกจากนั้นยังมีฮอร์โมนซึ่งมีส่วนผสมระหว่างฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองและฮอร์โมนสกัด

ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลา ซึ่งฮอร์โมนนั้นจะเก็บจากปลาที่โตเต็มวัย คือปลาที่โตจนมีไข่และมีน้ำเชื้อ ควรที่จะเก็บจากปลาที่มีความสมบูรณ์ทางเพศเต็มที่ โดยเฉพาะเก็บในฤดูวางไข่ เพราะต่อมใต้สมองของปลาในฤดูวางไข่จะมีฮอร์โมนมากเต็มที่ และมีประสิทธิภาพดีกว่าต่อมของปลาในฤดูอื่นๆ

ชนิดของปลาที่นำมาเก็บต่อมใต้สมองซึ่งมีฮอร์โมนนั้น จากประสบการณ์ของนักวิชาการ พบว่าต่อมใต้สมองที่ได้จากปลาไนเป็นต่อมที่ดีสามารถนำมาฉีดเร่งได้ผลกับปลาชนิดอื่นๆ ที่สามารถเพาะได้ทุกชนิด แต่บางครั้งเกิดการขาดแคลนปลาไนที่จะนำมาเก็บต่อม จึงได้มีการศึกษาทดลองดูว่าต่อมใต้สมองของปลาชนิดใดบ้างที่มีประสิทธิภาพดีเช่นต่อมของปลาไน ปรากฎว่าต่อมใต้สมองจากปลาอื่นๆ ในฤดูวางไข่ เช่น ปลายี่สกเทศ ปลาสวาย ปลากินหญ้าหรือปลาเฉา ปลาหัวโตหรือปลาซ่ง ปลาเกล็ดเงินหรือ ปลาลิ่น สามารถนำมาใช้ได้ดีเช่นเดียวกับต่อมของปลาไน

ลักษณะและหน้าที่ของต่อมใต้สมอง ปลามีต่อมใต้สมองซึ่งเป็นต่อมไม่มีท่อช่วยในการปรับระบบสืบพันธุ์ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม ในระบบต่อมไร้ท่อของปลา ต่อมใต้สมองจะพัฒนาสมบูรณ์มากกว่าต่อมอื่นๆ และจะเป็นศูนย์กลางของต่อมไร้ท่อเหมือนกับสัตว์ชั้นสูง ต่อมใต้สมอง จะอยู่ทางด้าน Ventral Diencephalon และจะรวมกับส่วน Tuber Cinoreum ของ Hypothalamus ต่อมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นต่อมโดยเฉพาะจะติดต่อโดยตรงกับส่วนของ Diencephalon อีกส่วนหนึ่งคือส่วนของประสาท (Neurohypophysis) ส่วนที่เป็นต่อมโดยตรงจะแบ่งออกเป็น 3 ตอนคือต่อมใต้สมองส่วนหน้า (pro-adenohypophysis) ต่อมใต้สมองส่วนกลาง (meso-adenohypophysis) และต่อมใต้สมองส่วนท้าย (meta-adenohypophysis)

หน้าที่ของต่อมใต้สมอง ต่อมใต้สมองส่วนกลางจะมี basic cell ซงผสิตฮอร์โมนที่สำคัญ 2 ชนิด คือ Follicle Stimulating Hormone หรือ FSH ทำหน้าที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่ (Ovarian Follicles ในตัวเมีย และ Seminigerous Tubes ในตัวผู้ ส่วนฮอร์โมนอกชนิดหนึ่งคือ Luteinizing Hormone หรือ LH ทำหน้าที่ช่วยให้เกิด corpus luteum ในตัวเมีย คือทำให้เกิดน้ำเมือกและไข่หลุดง่ายจากรังไข่ ฮอร์โมนสองชนิดนี้จะช่วยให้ไข่แก่เต็มที่และหลุดออกจากฝักไข่ สามารถรีดออกมาผสมกับน้ำเชื้อได้

ฮอร์โมนสกัด ในเรื่องของฮอร์โมนสกัดหรือฮอร์โมนสังเคราะห์นั้น บางครั้งนำไปใช้ร่วมกับฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลาเพื่อไปช่วยกระตุ้นให้ไข่ปลาหลุดจากฝักไข่ ในปัจจุบันไม่นิยมใช้กันมากนัก เพราะมีราคาแพง และปลาส่วนใหญ่ใช้เฉพาะต่อมใต้สมองอย่างเดียวก็พอแล้ว ฮอร์โมนสกัดดังกล่าว มีหน่วยย่อเรียกว่า I.U. (International Unit) จะบรรจุในขวดแก้วใสหรือบาง และที่ข้างขวดจะเขียนปริมาณ ที่มีอยู่ เช่น 2,500 I.U., 5,000 I.U., 1 0,000 I.U. ฯลฯ

HCG หรือฮอร์โมนสกัดนี้ได้มาจาก

1. เนื้อเยื่อของรกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งพบว่าการเพิ่มหรือลดปริมาณจะสอดคล้องกับการเจริญเติบโตและการเสื่อมของเนื้อเยื่อของรก

2. ในปัสสาวะหญิงมีครรภ์ สามารถสกัดได้ในระยะเริ่มแรกของการตั้งครรภ์ 2-3 สัปดาห์ หลังจากการผสมของไข่และน้ำเชื้อ ฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ปริมาณสูงสุดคือในระยะ 50-70 วัน หลังจากมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย

ปัจจุบันเนื่องจากการสั่งซื้อฮอร์โมนสังเคราะห์ หรือฮอร์โมนสกัดจากต่างประเทศนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วเป็นการสิ้นเปลือง นักวิชาการของกรมประมงพยายามค้นคิดกรรมวิธีต่างๆ ที่จะนำมาใช้ในการผสมเทียม เช่น หาวิธีสกัดฮอร์โมนจากปัสสาวะหญิงมีครรภ์ เป็นต้น และได้ทดลองประสพความสำเร็จมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับปลาดุกอุย

นอกจากฮอร์โมนสกัดทั้ง 2 อย่างดังกล่าวแล้ว ได้มีการคิดค้นและพัฒนาเกี่ยวกับฮอร์โมนสกัดหรือสังเคราะห์ด้วยวิธีการและแบบต่างๆ กันไปอีกมาก แต่จะขอเน้นหนักเฉพาะส่วนที่ทำง่าย และไม่ซับซ้อนดังกล่าวแล้วเท่านั้น

5. ระบบการทำงานของฮอร์โมนต่อมใต้สมอง

การศึกษาเกี่ยวกับระบบทำงานของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลา ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ได้มีการค้นคิดและใช้ประโยชน์ของฮอร์โมนแบบต่างๆ เพื่อช่วยให้การผสมพันธุ์ปลา ตลอดจนการผลิตพันธุ์ปลาให้มีทั้งคุณภาพและปริมาณสูงขึ้น แต่เมื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นฐานถึงระบบการทำงานของฮอร์โมนดังกล่าว ภาณุ เทวรัตน์มณีกุล (2522) ได้เขียนสรุประบบการทำงานของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองของปลา ตลอดจนเขียนแผนภูมิ โดยย่อไว้ (ดูรูปที่ 6 ประกอบ)

สิ่งแวดล้อมและปัจจัยภายนอกต่างๆ เช่น แสง อุณหภูมิ กระแสน้ำและการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในแม่น้ำจะกระตุ้นระบบประสาทบริเวณข้างลำตัว ผิวหนัง ตา และบริเวณอื่นๆ ผ่านเข้าสู่ระบบประสาทส่วนกลาง (Central Nervous System) หรือ CNS ของปลา จากระบบประสาทส่วนกลาง ก็จะผ่านเข้าสู่ Hypothalamus ซึ่งจะมีฮอร์โมนทำหน้าที่ควบคุมต่อมใต้สมองของปลา โดยจะหลั่งฮอร์โมน พวก Inhibitory Factor (IF) เพื่อยับยั้งการหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง หรืออาจจะหลั่งฮอร์โมนพวก Releasing Factor (RF) เพื่อกระตุ้นต่อมให้หลั่งฮอร์โมนซึ่งฮอร์โมนที่หลั่งจากต่อมใต้สมองนี้จะไปกระตุ้นรังไข่ โดยผ่านไปตามกระแสเลือด ฮอร์โมนที่สำคัญที่หลั่งจากต่อมใต้สมอง คือ Gonadotropic Hormones จะไปกระตุ้นรังไข่ของปลา ตามธรรมชาติแล้วรังไข่จะค่อยๆ พัฒนาอย่างช้าๆ จากขั้น 1-4 ซึ่งอาจกินเวลา 2-3 เดือน จากขั้น 4-5 จนถึงขั้นวางไข่จะเร็วมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมที่จะกระตุ้น และปริมาณ ฮอร์โมนที่ฉีดเข้าไปว่ามีจำนวนมากน้อยเท่าใด และได้มีการค้นพบว่าปลาบางชนิดมี Gonadotropic Hormone อยู่ 2 ชนิด เช่น ปลาไหล ปลาทอง ปลาบางชนิดก็จะมีฮอร์โมนนี้อยู่ชนิดเดียว เช่น ปลาจีน ปลาดุก Witschi (1955) ได้พบว่าต่อมใต้สมองของปลาไนประกอบด้วย Luteinzing Hormone (LH) เป็นส่วนมาก ซึ่งเหมือนกับที่พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม Fontain (1976) พบว่าต่อมใต้สมองของปลาทุกชนิดจะแสดงผลไม่เท่ากัน จะแตกต่างกันไปตามชนิดและการจำแนกชนิดของสัตว์ทางชีววิทยา ดังนั้นการใช้ต่อมใต้สมองจึงควรมีการทดสอบดูว่ามีผลอย่างไรต่อปลาชนิดนั้น ต่อมประกอบด้วยฮอร์โมนหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีสัดส่วนแตกต่างกันออกไป และอาจจะไม่มีผลต่อการกระตุ้นการเจริญเติบโต และวางไข่ของปลาก็ได้

6. วิธีเก็บต่อมใต้สมอง

ให้นำปลาที่จะเก็บต่อมใต้สมองมาชั่งน้ำหนักและจดบันทึกไว้ ผ่าเปิดหัวกะโหลกออก แล้วใช้ปากคีบดึงส่วนของมันสมองออก (ดูรูปที่ 6 ประกอบ) ปลาบางชนิด เช่น ปลาสวาย เมื่อดึงส่วนมันสมองออก ต่อมจะติดกับส่วนของมันสมองซึ่งอยู่ใกล้กับจุดดำปลาบางชนิด เช่น ปลาจีน เมื่อดึงส่วนของมันสมองออกจะเห็นต่อมใต้สมองมีลักษณะเป็นเม็ดกลมขาวเด่นชัดมาก ใช้ปากคีบค่อยๆ ดึงเอาต่อมออกมา พยายามอย่าให้แตก เพราะถ้าแตกแล้วจะทำให้ต่อมไม่สมบูรณ์ ซึ่งอาจจะทำให้การผสมเทียมไม่ประสพความสำเร็จ

ในการเก็บรักษาต่อมในหลักการทั่วๆ ไปแล้ว การที่จะนำปลามาเก็บต่อมสดเพื่อใช้ในการผสมเทียมโดยตรงนั้น ไม่สะดวกเท่าที่ควร ดังนั้น จึงควรเก็บรักษาต่อมโดยการแช่ในน้ำยาอาซีโตนหรือ แอลกอฮอล์ เป็นวิธีที่เหมาะสมสะดวกที่สุด

8. ตำแหน่งที่จะทำการฉีดฮอร์โมน

ในการฉีดฮอร์โมนนั้นจะทำการฉีดเข้าบริเวณกล้ามเนื้อของปลา ซึ่งทั้งหมดมี 4 ตำแหน่ง ด้วยกันคือ

(1) ตรงบริเวณใต้ครีบหลังเหนือเส้นข้างตัว

(2) โคนครีบหู

(3) บริเวณช่องท้อง

(4) โคนครีบหาง

(ดูภาพแสดงตำแหน่งในการฉีดฮอร์โมนเข้ากล้ามเนื้อปลาประกอบ)

9. วิธีฉีดฮอร์โมนและช่วงเวลาของการฉีด

ปริมาณฮอร์โมนที่ใช้ในการฉีดแตกต่างกันตามชนิดของปลา ปลาบางชนิดต้องการน้อย ปลาบางชนิดต้องการมาก ปลาบางชนิดฉีดเพียงครั้งเดียว ปลาบางชนิดต้องฉีดถึง 2 ครั้ง ซึ่งขั้นตอนดังกล่าว ทั้งวิธีการและช่วงเวลาในการฉีด พอจะสรุปได้ดังนี้

9.1 ก่อนทำการฉีดฮอร์โมนจะต้องชั่งน้ำหนักแม่ปลาเสียก่อน เพื่อที่จะได้คำนวณโดสที่จะฉีดได้ถูกต้อง ในทางปฎิบัติการที่จะชั่งน้ำหนักแม่ปลาแต่ละตัวนั้นทำให้เสียเวลามาก ดังนั้น จึงได้ดัดแปลงทำให้ง่ายเข้าคือ คัดปลาพวกที่มีน้ำหนักใกล้เคียงกันให้อยู่เป็นชุดๆ แล้วชั่งนํ้าหนักรวมกัน จากนั้นก็คำนวณ โดสที่จะฉีด เช่น การผสมเทียมปลาตะเพียน 50 ตัว เราก็จัดแม่ปลาซึ่งมีน้ำหนักใกล้เคียงกันออกเป็น 2 ชุดๆ ละ 30 ตัว และชุดละ 20 ตัว จึงทำการชั่งน้ำหนักรวมของปลาแต่ละชุด สมมุติว่าชุดแรกหนัก 10 กก. ชุดที่ 2 หนัก 5 กก. ในการผสมเทียมปลาตะเพียนทั่วๆ ไปแล้วฉีด 2 โดส และฉีดครั้งเดียว

9.2 เวลาและช่วงเวลาในการฉีดนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกำหนดให้แน่นอนล่วงหน้า โดยเราจะต้องกำหนดให้แน่นอนเสียก่อนว่า จะทำการรีดไข่และผสมน้ำเชื้อเวลาใดที่เราสะดวก เช่น ต้องการรีดไข่ผสมน้ำเชื้อปลายี่สกเทศ ตอนเย็นเวลา 19.00 น. เราก็จะต้องฉีดแม่ปลาครั้งแรกเมื่อเวลา 07.00 น. และฉีดครั้งที่ 2 เวลา 13.00 น. ห่างกัน 6 ชั่วโมง และหลังจากฉีดครั้งที่ 2 แล้ว 6 ชั่วโมงจึงจะทำการรีดไข่ได้ คือประมาณ 19.00 น. เป็นต้น

9.3 ในการเตรียมฉีดชุดแรก คือ ชุดที่มีน้ำหนัก 10 กก. นำต่อมปลาที่เก็บจากปลาที่เราเก็บต่อมรวมน้ำหนัก 20 กก. มาบดรวมกันในโกร่งที่บดต่อม และสมมุติว่าต้องการจะฉีดตัวละ 1 ซี.ซี. จากนั้น จึงใช้เข็มดูดสารละลายขึ้นมาแล้วแบ่งฉีดเข้าตัวละ 1 ซีซี. จนครบ 30 ตัว หลอดฉีดยา (ไซริงส์) ที่ใช้ควรมีขนาดความจุตั้งแต่ 1-5 ซี.ซี. และใช้เข็มฉีดยาเบอร์ 20-21 ความยาว 1.5 นิ้ว สำหรับฉีดปลาขนาดใหญ่ และเขีมฉีดยาเบอร์ 22-23 ความยาว 1 นิ้ว สำหรับปลาขนาดเล็ก

9.4 ในการฉีดชุดที่ 2 ก็ดำเนินการเช่นชุดแรก แต่มีการเว้นระยะเวลาในการฉีดครั้งที่ 2 กับ ครั้งที่ 1 มากบ้างน้อยบ้าง แล้วแต่ชนิดของปลา หลังจากการฉีดครั้งที่ 2 แล้ว ก็เป็นระยะเวลาที่คอยให้ไข่แก่พอ หรือน้ำเชื้อสมบูรณ์พอที่จะรีดออกผสมเทียมในขั้นต่อไป

10. การผสมไข่กับน้ำเชื้อ

มีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีผสมแห้ง และวิธีผสมเปียก วิธีผสมแห้งเป็นวิธีที่นิยมกันทั่วไป เพราะให้อัตราการฟักเป็นตัวสูง ส่วนวิธีเปียกนั้นต้องอาศัยความรวดเร็ว (ดูรูปที่ 7)

วิธีผสมแห้ง คือการรีดไข่ลงในภาชนะรองรับที่แห้งสนิท และก่อนที่จะทำการรีดไข่ปลา ควรจะเช็ดตัวปลาให้แห้งเสียก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่ตัวปลาไหลหยดลงไปทำความสกปรกไข่ที่รีดออกมา เมื่อรีดไข่ปลาลงในภาชนะแล้ว จึงรีดนํ้าเชื้อผสม ปกติแล้วใช้ไม่มากนัก จากนั้นจึงใช้ขนไก่คนให้นํ้าเชื้อผสมกับไข่ให้ทั่วประมาณ 1-2 นาที จึงใส่น้ำสะอาดลงไปแล้วใช้ขนไก่คนอีก 1-2 นาที จึงรินน้ำล้างไข่ทิ้งแล้วใส่น้ำใหม่ลงอีกจากนั้นจึงนำไปเทลงในอุปกรณ์การเพาะฟักไข่ปลาต่อไป

วิธีผสมเปียก คือการรีดไข่ลงในภาชนะที่มีน้ำอยู่แล้ว จึงรีดน้ำเชื้อลงไปเสร็จแล้วจึงใช้ขนไก่คนผสมทันที เพราะถ้าช้าน้ำเชื้อจะผสมไม่ได้เต็มที่ แล้วจึงนำเอาไข่ไปใส่ในอุปกรณ์การเพาะฟักปลาต่อไป

ในการรีดไข่และรีดน้ำเชื้อปลานั้น ปลาบางชนิดจะดิ้นแรงมาก ทำให้การทำงานไม่สะดวก ไข่หรือน้ำเชื้ออาจหลุดเรี่ยราดกระจัดกระจาย หรือปลาอาจหลุดมือในทางปฏิบัติอาจใช้ยาสลบเพื่อทำให้ปลาหยุดนิ่งหรือเชื่องช้า ยาสลบที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือควินาดีน หรือ MS 222 ปริมาณการใช้อาจใช้น้ำในบ่อประมาณ 5-10 หยดต่อน้ำ 5 ลิตร หรือตามความเข้มข้นที่ระบุไว้ในสลากยา ปลาที่สลบเมื่อรีดไข่แล้ว นำไปปล่อยลงน้ำในบ่อประมาณ 5-10 นาที ก็จะฟื้นว่ายน้ำได้เป็นปกติ

ปัจจัยที่กระทบต่อการผสมของไข่และน้ำเชื้อ

มีปัจจัยอยู่หลายประการที่มีผลกระทบให้การผสมของไข่และน้ำเชื้อติดดี หรือเป็นอุปสรรคต่อการผสมติด ซึ่งพอจะสรุปได้ดังต่อไปนี้

ปัจจัยที่ส่งเสริมให้มีการผสมติด ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการผสมติด
ขั้นการเจริญของไข่แก่ถึงสุดยอดพร้อมที่จะผสมได้ ไข่ที่ปล่อยออกมาเป็นหมัน
ไข่ที่ถูกเร่งให้แก่ตามกำหนด ไม่รอและทิ้งไว้จนงอม ทำให้ pH และความถ่วงจำเพาะลดลง ไข่ที่ถูกเร่งให้หลุดออกจากขั้วอยู่ในสภาพที่แก่ไม่พอ
ปริมาณของน้ำเชื้อตัวผู้ (milt) ที่ถูกปล่อยออกมีมากพอ น้ำเชื้อที่ถูกปล่อยออกมามีน้ำปัสสาวะปนออกมามาก ทำให้ตัวอสุจิมีน้อยเมื่อเทียบปริมาณเท่ากัน
ปริมาณของตัวอสุจิมีมากต่อปริมาตร (หนึ่งหยดกว่า 40 ล้านตัว) ปริมาณของตัวอสุจิมีน้อยกว่าปกติ และมีตัวอสุจิที่ยังอ่อนสูง
เปอร์เซ็นต์ของตัวอสุจิ ตามปกติมีเกินกว่า 65%
ตัวอสุจิมีชีวิตยาวนาน อายุของตัวอสุจิสั้น