การเพาะเมล็ดดอกไม้

ไม้ล้มลุก

เมล็ดของไม้ดอกล้มลุกมีขนาดต่างๆ กัน เมล็ดบานชื่นมีขนาดใหญ่ เมล็ดพีทูเนีย และลิ้นมังกรมีขนาดเล็กมาก เมล็ดที่มีฃนาดเล็กจะให้ดอกช้ากว่า ถ้าไม่อยากคอยระยะการเป็นต้นกล้า ซึ่งกินเวลาประมาณ 2 เดือน ท่านอาจซื้อต้นกล้าจากสวนหรือเนิสเซอรี่ต่างๆ ที่เพาะไว้ขายมีต้นโต ขนาดพร้อมที่จะเอาออกปลูกในแปลงได้ บางแห่งมีต้นโตขนาดกำลังเริ่มออกดอก แต่ควรแน่ใจว่าเมล็ดที่เขาใช้ปลูกมาจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ อย่าเลือกซื้อต้นที่ยืด ผอม ติดโรค เหี่ยว เล็กเกินไปหรือไม่แข็งแรง

เนื่องจากไม้ดอกล้มลุกมีช่วงการเติบโตที่เร็วมาก การปลูกและการดูแลรักษา ถ้าได้ทำอย่างระมัดระวังมาตั้งแต่ต้นจึงจะได้ผลดีเยี่ยม โปรดจำไว้ว่าเมล็ดจากซองเดียวกันถ้าแบ่งครึ่งหนึ่งแล้ว หว่านลงไปในดินที่ไม่ได้เตรียมเลย มันจะงอกเติบโตและให้ดอกได้ อีกครึ่งหนึ่งถ้าหว่านลงไปบนดินที่เตรียมอย่างดี ได้รับน้ำและอาหารธาตุสมบูรณ์สม่ำเสมอ มีการดูแลอย่างใกล้ชิดมาตั้งแต่ต้น จะให้ดอกที่สวยงามกว่า คุ้มค่ากับการเอาใจใส่ราวกับไม่ใช่เมล็ดที่มาจากซองเดียวกัน

การเพาะเมล็ดนั้นจะหว่านในแปลงเพาะกลางแจ้งหรือเพาะในกระบะมีข้อเปรียบเทียบให้เห็นได้คือ

การหว่านในกระบะเพาะ มีข้อได้เปรียบดังนี้

-ผู้ปลูกสามารถปรับปรุงและผสมเครื่องปลูกให้ดีได้ตามใจชอบ

-สามารถย้ายกระบะเพื่อให้ได้แสงหรือร่มได้ตามควร หรือเมื่อฝนตกหนักก็ยกหลบฝนเข้ามาในโรงเรือนได้

-การดูแลทำได้สะดวกกว่า ถ้ามีโรคและแมลงก็เห็นได้ชัดกว่า สามารถปราบได้ง่ายและเร็วกว่า

-เมล็ดที่มีราคาแพง เมล็ดที่มีขนาดเล็กมากๆ หรือเมล็ดที่งอกช้าต้องใช้วิธีนี้เท่านั้น

-ถ้าเป็นฤดูฝนที่ฝนยังตกหนัก และต้องการปลูกไม้ดอกล่วงหน้าเพื่อให้ทันโอกาสพิเศบ สามารถใช้วิธีนี้โดยเพาะในกระบะและวางไว้ในที่มีหลังคากันฝนได้

-เมื่อย้ายออกแปลง สามารถกะระยะปลูกให้สม่ำเสมอได้

การหว่านโดยตรงในแปลงปลูก มีข้อได้เปรียบคือมักให้ดอกเร็วกว่าเพาะในกระบะแล้วย้ายออกแปลง เพราะการย้ายปลูกทำให้ต้นกล้าชะงักการเติบโตไประยะหนึ่ง แต่พืชที่มีเมล็ดเล็กมาก หรือเมล็ดมีราคาแพงใช้วิธีนี้ไม่ได้เพราะสิ้นเปลืองมาก

การกะระยะเวลาในการเพาะเมล็ด ผู้ปลูกควรทราบว่าเมล็ดชนิดนั้นจะให้ดอกในเวลากี่เดือน จะได้กะเวลาเพาะให้ได้ดอกบานทันในช่วงฤดูที่มีอากาศเย็น เช่นในเมืองเชียงใหม่ ปกติฝนจะหยุดตกราวอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกๆ ปี จึงควรเตรียมซื้อเมล็ดไว้ และเพาะในช่วงนั้น จากเมล็ดงอกถึงออกดอกกินเวลาประมาณ 2-4 เดือน และได้ดอกบานประมาณเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศเย็น จะได้ดอกที่สวยงามและบานได้นาน ถ้าเริ่มเพาะปลายเดือนธันวาคม จะได้ดอกบานในช่วงที่มีอากาศร้อนคือ ประมาณเดือนมีนาคมหรือเมษายน ดอกที่ได้มีคุณภาพไม่ดีและเหี่ยวเร็วมาก การกะเวลาในการเพาะเมล็ดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

การเพาะเมล็ด

อุปกรณ์     -กระบะเพาะ

-เครื่องปลูก

-ป้าย

-เมล็ดดอกไม้

-บัวรดน้ำที่มีฝอยละเอียด

-แผ่นกระจกหรือกระเบื้อง

กระบะเพาะหรือกระถางปากกว้าง ลึกประมาณ 4 นิ้วก็พอ กระบะเพาะควรมีขนาด 12X18X 3 นิ้วหรือ 15 X 24 X 3 นิ้ว ทำด้วยไม้ที่มีน้ำหนักเบาและทนทานดี ที่ก้นกระบะอย่าต่อไม้ให้สนิท ควรเว้นระยะเล็กน้อยเพื่อเป็นทางระบายน้ำหรือใช้กระบะพลาสติกแข็งก็ได้

เครื่องปลูก ควรเป็นวัสดุที่โปร่ง เก็บความชื้นได้ดี ระบายน้ำดี มีอาหารพืชบ้าง เพราะเมื่อเมล็ดงอกเป็นต้นกล้าแล้วจะต้องการอาหารเพื่อการเจริญเติบโต ถ้าเพาะเมล็ดลงไปในดินเปล่า ๆ ที่ยังไม่ได้ปรับปรุง ต้นกล้าจะเจริญช้ากว่าที่ขึ้นในดินผสมมากและไม่มีความสม่ำเสมอด้วย

ขอแนะนำให้ใช้ดินร่วน 2 ส่วน ทราย 1 ส่วน และปุ๋ยคอกเก่าๆ หรือปุ๋ยอินทรีย์ 1 ส่วน ทุกอย่างร้อนให้ละเอียดแล้วคลุกให้เข้ากัน

การเพาะเมล็ดขนาดใหญ่ เอาเครื่องปลูกใส่กระบะหรือกระถาง เกลี่ยให้เรียบ ให้ระดับเครื่องปลูกอยู่ต่ำกว่าขอบประมาณครึ่งนิ้วเพื่อเวลารดน้ำจะได้ไม่พาเครื่องปลูกและเมล็ดออกไป ใช้ไม้เล็กๆ ขีดเป็นร่องลึกประมาณ1/8-1/4นิ้ว ระยะระหว่างร่อง 2 นิ้ว แล้วหว่านเมล็ดตามร่องที่เตรียมไว้อย่าหว่าน เมล็ดแน่นเป็นกระจุก กะพอไม่ให้เมล็ดทับกัน ถ้าเมล็ดมีขนาดเล็กมาก เช่น พิทูเนีย ไม่ต้องกลบเมล็ด ถ้าเมล็ดมีขนาดไม่เล็กนักเช่นบานชื่นหรือดาวเรือง ใช้ทราย หรือดินละเอียดกลบบางๆ หรือแช่กระบะในอ่างน้ำ ให้น้ำซึมจากข้างล่างขึ้นไปเพื่อไม่ให้เมล็ดที่หว่านไว้รวนหมด ติดป้ายชื่อเมล็ดที่เพาะ วันที่ที่ปลูก แล้วปิดกระบะด้วยกระเบื้องหรือกระจกที่มีกระดาษหนังสือพิมพ์ชื้นปิดทับข้างบน จุดประสงค์ที่ปิด เพื่อคงความมืดและความชื้นไว้ให้สม่ำเสมอ วางกระบะเพาะไว้ในที่มีอากาศค่อนข้างอุ่นเพื่อเร่งการงอก แต่อย่าให้ได้รับแสงแดดโดยตรงจะทำให้เครื่องปลูกแห้งง่าย และโดยทั่วไปเมล็ดไม่ต้องการแสงในการงอก

หลังจากนั้นรดน้ำกระบะเพาะทุกวันให้ได้รับความชื้นสม่ำเสมอ เมื่อเพาะได้ 3 วัน เปิดดูว่า เมล็ดเริ่มงอกหรือยัง ถ้าเริ่มงอกแล้วเอาสิ่งที่ปิดไว้ออกให้หมด เพราะในระยะนี้ต้นกล้าเริ่มต้องการแสง เพื่อปรุงอาหารแต่อย่าเพิ่งให้ได้รับแสงแดดจัดโดยตรง เมื่อต้นกล้ามีใบจริงได้สัก 2 คู่ ต้องแยกปลูกให้มีระยะห่างประมาณ 1-2 นิ้วในกระบะใหม่ หรือแยกมาปลูกในถ้วยไอศกรีมที่เจาะรูที่ก้นเพื่อระบายนํ้า เมื่อต้นกล้าโตขึ้น มีใบจริง 4-5 คู่ใบ จึงย้ายปลูกในแปลง การย้ายพยายามเอาดินหุ้มรากไปให้มากที่สุด เพื่อต้นกล้าจะไม่กระทบกระเทือนและจะตั้งตัวได้เร็ว ระยะปลูกในแปลงนั้น ถ้าไม้ดอกต้นเตี้ยมากก็ปลูกห่างประมาณ 1 คืบ ถ้าสูงขนาด 1 ฟุต หรือกว่านั้นก็ขยายออกเป็นประมาณ 1 ฟุต พวกที่สูงมากๆ เช่น สูง 2-3 ฟุต ต้องปลูกห่างประมาณ 2 ฟุต มิฉะนั้นต้นจะโตจนใบเหลื่อมทับกัน

การเพาะเมล็ดที่มีขนาดเล็กมาก

ไม้ดอกหลายชนิดเช่นโลบีเลีย พีทูเนีย แอฟริกันไวโอเล็ต กล๊อกซิเนีย และบีโกเนีย มีเมล็ดเล็กมาก เมื่อผู้ปลูกมือใหม่เห็นเมล็ดแล้วอาจตกใจและนึกไม่ออกว่าจะเพาะอย่างไร ปกติพืชที่มีเมล็ดเล็กมักมีจำนวนมากด้วย คือเมื่อดอกโรยแล้วจะติดเมล็ดจำนวนหลายร้อยหรือหลายพันเมล็ดต่อฝัก ธรรมชาติคงให้ไว้ชดเชยเผื่อเมล็ดตกลงไปบนดินแห้งหรือแข็ง หรือถูกดินกลบในสภาพที่ไม่เหมาะสม เสียบ้างก็ยังเหลือบางเมล็ดที่อาจงอกเพื่อสืบพืชพันธุ์ต่อไปได้ แต่สำหรับผู้ปลูกแล้วควรจำไว้ว่าเมล็ดเล็กมักมีเปอร์เซนต์ความงอกน้อยถ้าทิ้งไว้นาน จึงควรรีบเพาะทันทีและเพาะด้วยความระมัดระวัง ดูแลสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมที่สุดเพื่อให้งอกได้มาก พองอกแล้วต้องแยกปลูกอย่างดีเพื่อให้ต้นกล้ามีที่พอจะเติบโตต่อไป การเริ่มต้นที่ดีอาจใช้เวลามากและมีขั้นตอนที่จุกจิก แต่ถ้าปฎิบัติให้ถูกต้องแล้วก็เพียงแต่รอเวลาให้ต้นกล้าโตเท่านั้น

วัสดุเพาะ

ขอแนะนำให้ใช้ดินร่วนหรือใบไม้ที่ผุจนมองไม่เห็นชิ้นส่วนของใบแล้ว : ทราย : ขุยมะพร้าวอย่างละเท่าๆ กัน เครื่องปลูกดังกล่าวจะอมความชื้นได้ดี ทุกอย่างนำมาร่อนผ่านตะแกรง ละเอียดแล้วคลุกเคล้าให้เข้ากันดี

ภาชนะเพาะ

ไม่จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่เพราะจะสิ้นเปลืองวัสดุเพาะไปโดยใช่เหตุ ถาดหรือกล่องพลาสติก ที่มีความสูงเพียง 1-2 นิ้วก็พอแล้ว ขนาดกว้างยาวแล้วแต่จำนวนเมล็ด ถ้าใช้กระถางควรเป็นกระถางขนาดกว้าง 3-5 นิ้วและตื้นมาก กล่องโฟมที่ใส่อาหารสำเร็จล้างให้สะอาดเจาะรูที่ก้น ถ้วยไอศกรีมที่ใช้แล้วล้างสะอาดแล้วเจาะรูที่ก้นก็ใช้ได้ดี ถ้าต้องการเพาะเป็นจำนวนมากจึงจะใช้กระบะเพาะ หรือตะกร้าพลาสติกขนาดใหญ่

เมื่อได้ภาชนะเพาะมาแล้ว บรรจุเครื่องปลูกให้เต็มภาชนะ เกลี่ยตรงบริเวณขอบภาชนะให้ดี แล้วกระแทกภาชนะเบาๆ เพื่อให้ค่อนข้างแน่นก่อนแต่งผิวเครื่องปลูกให้เรียบสนิท ใช้ดินสอทู่ๆ หรือไม้เล็กๆ ขีดทำร่องตื้นๆ เป็นแถวตามความยาวของภาชนะ แล้วหว่านเมล็ดลงไปตามร่อง เมื่อเมล็ดงอกจะเห็นเป็นต้นกล้าเล็ก ๆ ตามแถวเป็นระเบียบดีกว่าหว่านไปโดยไม่มีแถว

การหว่านเมล็ด

วิธีที่ 1 เนื่องจากเมล็ดเล็กมาก ถ้าค่อยๆ เคาะเมล็ดลงทีละน้อยเมล็ดไม่ได้ เมล็ดจะกองลงไปเป็นกระจุก จึงขอแนะนำให้คลุกเมล็ดซองหนึ่งกับทรายละเอียดสักครึ่งช้อนชาแล้วหว่านในกระถางขนาดกว้าง 4 นิ้ว ครั้งแรกหว่านตามแนวนอนให้สม่ำเสมอแล้วจึงหว่านตามแนวตั้งอีกครั้ง ถ้าหว่านได้ทั่วดีจะเห็นเม็ดทรายกระจายทั่วผิวเครื่องปลูก

วิธีที่ 2 ฉีกปากซองเมล็ดออก ถือซองเหนือเครื่องปลูก 1-2 นิ้ว เอียงมุมซองด้านหนึ่งลง แล้วใช้นิ้วมือซ้ายรองด้านล่างซอง มือขวาจับซองเคาะเมล็ดลงช้า ๆ และเบามือให้เมล็ดตกลงบนเครื่องปลูกทีละน้อยเมล็ดที่สุด

วิธีที่ 3 ตัดกระดาษเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสฃนาด 3 X 3 นิ้ว พับทบกลางตามเส้นทแยงมุม ให้เป็นสามเหลี่ยม เอาเมล็ดใส่ลงไปเอียงมุมแหลมด้านล่างลง ใช้นิ้วมือซ้ายรองกระดาษ มือขวาจับกระดาษแล้วค่อยๆ เคาะเมล็ดให้ร่วงลงทีละเมล็ดตามร่องที่ทำไว้หรือจะโรยให้ทั่วภาชนะเพาะก็ได้

วิธีที่ 4 เทเมล็ดจากซองใส่ฝ่ามือซ้ายที่เช็ดแห้งสนิท ใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือของมือขวาหยิบเมล็ดโปรยให้กระจายบนผิวเครื่องปลูก

วิธีที่ 5 เทเมล็ดลงในช้อนแห้งๆ จุ่มปลายดินสอหรือปลายไม้เล็กๆ ให้เปียกนํ้าแตะเมล็ดมาทีละเมล็ดลงบนกระดาษซับหรือกระดาษทิชชูชื้นๆ แล้ววางไว้ในกล่องใสที่ปิดฝา ใช้กระบอกฉีดนํ้า พ่นฝอยรักษาให้กระดาษชื้นอยู่เสมอ เมื่องอกแล้วจึงใช้นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือขวาจับที่ใบเบา ๆ เพื่อยกต้นจากกระดาษที่ใช้เพาะมาปลูกในดินผสมที่เตรียมไว้สำหรับแยกปลูก

วิธีนี้ดัดแปลงมาจากการเพาะเมล็ดบนกระดาษกรองชื้นในเพทริดิชในห้องปฎิบัติการเมล็ดพันธุ์

วิธีที่ 6 คลุกเมล็ดกับวัสดุที่เรียกว่าโพลีเมอร์ซึ่งดูผาดๆ มีลักษณะคล้ายโปรตีนเกษตรซึ่งเมื่อฉีดนํ้าลงไปจะพองตัวอุ้มนํ้าให้เมล็ดงอกได้

การเพาะเมล็ดเล็กมากไม่จำเป็นต้องกลบเมล็ด เพราะเมล็ดเล็กมักต้องการแสงในการงอก และต้องการความชื้นสูงมาก การให้นํ้าควรให้จากข้างล่างภาชนะเพาะโดยหล่อภาชนะเพาะลงในอ่างนํ้าตื้น ๆ ให้นํ้าซึมขึ้นทางก้นภาชนะ เฝ้าดูจนนํ้าเริ่มซึมขึ้นถึงผิวหน้าวัสดุเพาะให้ยกภาชนะขึ้นจากน้ำทันที แล้วพ่นนํ้าเป็นฝอยบนผิววัสดุเพาะอีกครั้งให้ชื้นทั่วถึงกัน ถ้ายกภาชนะเพาะขึ้นช้านํ้าอาจจะเอ่อพาเมล็ดออกไปบ้าง การรดน้ำด้วยบัวรดนํ้าหรือหัวฉีดที่ปลายสายยางอาจให้นํ้าไม่ละเอียดพอทำให้เมล็ดที่เพาะไว้อย่างดีรวนหมด เมื่อให้นํ้าแล้ววางภาชนะเพาะไว้ในที่มีแสงสว่าง อย่าวางไว้ในตู้ทึบหรือในที่มีแสงแดดโดยตรง ตรวจดูภาชนะเพาะทุกวันดูแลให้ผิวของวัสดุเพาะชื้นอยู่เสมอ ถ้าปล่อยให้แห้งจะทำให้งอกช้าหรืออาจไม่งอกเลย

เมื่อตันกล้าเริ่มงอกให้ย้ายภาชนะเพาะมาวางในที่มีแสงมากขึ้นเพื่อให้ต้นกล้าแข็งแรง ต้นไม่ยืดหรือบิด แต่ยังไม่ควรให้ได้รับแสงโดยตรงซึ่งจะทำให้ต้นกล้าแห้งหรือถึงตาย พอต้นกล้าโตขึ้นเริ่มเบียดกันแน่นก็ถึงเวลาย้ายปลูกเพื่อให้มีที่สำหรับเติบโต วัสดุปลูกอาจเป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้เพาะหรือควรเป็นดินผสมอินทรียวัตถุแล้วแต่ชนิดพืช

ต้นกล้าของเมล็ดเล็ก ๆ จะมีขนาดเล็กและแบบบางมาก การย้ายปลูกต้องทำด้วยความใจเย็น และจับต้องต้นกล้าอย่างเบามือ ใช้ซ่อมเล็กๆ หรือไม้แบนๆ มีรอยแยกเป็นรูปตัววีตรงปลายไม้สอดเข้าไปที่ใต้ใบแล้วยกต้นขึ้นอาจง่ายกว่าการใช้นิ้วจับ ไม่ควรจับที่ลำต้นซึ่งแบบบางราวกับเส้นด้ายและชํ้าง่าย ให้ใช้นิ้วโป้งและนิ้วหัวแม่มือจับที่ใบและย้ายทีละ 2-3 ต้นเพื่อรากจะไม่แห้ง ใช้ไม้เล็กๆ หรือดินสอทู่ๆ ทำหลุมลึกพอ ๆ กับความยาวรากรอรับต้นกล้า แซะต้นขึ้นมากะให้รากยืดตรงลงในหลุมแล้วปลูกลงไป เกลี่ยดินให้กระชับรอบต้นเบา ๆ ให้ต้นตั้งตรงอยู่ได้แล้วรดน้ำด้วยหัวที่มีฝอยละเอียด เมื่อย้ายปลูกแล้วให้วางในที่มีแสงมากขึ้นกว่าเดิมแต่ยังไม่ได้รับแสงโดยตรงจนกว่าต้นจะโต

การย้ายต้นกล้าออกแปลง

1. ย้ายต้นกล้าตอนเย็นที่แดดอ่อน เพื่อจะได้ไม่ถูกแสงแดดเผา และได้รับน้ำค้างตลอดคืนนั้นทำให้ฟื้นตัวเร็วขึ้น

2. เตรียมแปลงไว้อย่างดี รดน้ำแปลงให้ดินเย็นเสียก่อนเพื่อเตรียมรับต้นกล้า

3. รดน้ำต้นกล้าในกระบะให้ชุ่มก่อนย้าย

4. เมื่อย้ายต้นตักดินหุ้มรากไปมากๆ เพื่อรากจะกระทบกระเทือนน้อยที่สุด

5. ปลูกในหลุมที่กว้างพอๆ กับกระเปาะดินที่หุ้มรากมา

6. รดน้ำให้ชุ่ม และคลุมดินให้ด้วย

7. ถ้าวันรุ่งขึ้นเห็นต้นกล้าเหี่ยว ต้องบังร่มให้สัก 3-4 วัน พอแข็งแรงดี จึงเอาที่บังออก

การคลุมดินมีจุดประสงค์ดังนี้

1. เพื่อให้ดินชื้นอยู่เสมอเนื่องจากผิวดินไม่ถูกกับแสงแดดจัดโดยตรง เมื่ออากาศร้อนจัดจะช่วยลดอุณหภูมิของดินให้เย็นลง ทำให้ต้นไม้ไม่ร้อนมาก

2. การรดน้ำลงบนดินบ่อยๆ หรือฝนตกแรงบนดินที่ไม่มีอะไรปกคลุมจะทำให้ผิวหน้าดินอัดแน่น วัสดุคลุมดินจึงช่วยรักษาโครงสร้างของดินด้วย

3. ถ้าใช้อินทรียวัตถุคลุมดิน นานไปจะสลายตัวคลุกเคล้ากับดิน ทำให้ดินดีขึ้น

4. ช่วยลดวัชพืชถ้าคลุมหนาพอควร เพราะเมล็ดวัชพืชเมื่องอกแล้วไม่ได้รับแสงจะฝ่อ หรือเติบโตช้ามาก

ตัวอย่างวัสดุคลุมดินได้แก่ปุ๋ยคอกเก่าๆ ซังข้าวโพดสับ กากเมล็ดฝ้าย ฟางข้าว เปลือกถั่ว ฯลฯ วัสดุคลุมดินควรหาได้ง่าย ราคาถูก และเมื่อสลายตัวจะช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุให้แก่พืช ควรคลุมดินให้หนาไม่น้อยกว่า 2-3 นิ้ว

เมื่อย้ายต้นกล้าออกแปลงแล้ว ประมาณ 3-4 วันหลังจากนั้น ดูว่าตั้งตัวดีแล้ว จึงเริ่มให้ปุ๋ยไนโตรเจนเช่น แอมโมเนียมซัลเฟตหรือแอมโมเนียมไนเตรต 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 20 ลิตร และให้ไปเรื่อยๆ ประมาณ 7-10 วันต่อครั้ง ประมาณเดือนหนึ่งหลังจากปลูกจึงให้ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนต่ำ และฟอสฟอรัสกับโพแทสเซียมสูงขึ้น เช่น สูตร 5-10-5 จนดอกเริ่มบานจึงหยุดให้ปุ๋ยได้

สำหรับการให้นํ้า ควรรดน้ำวันละครั้งเป็นอย่างน้อย เมื่อก่อนมีดอกจะรดน้ำถูกใบด้วยก็ได้แต่ไม่จำเป็น แต่เมื่อมีดอกแล้วห้ามรดน้ำถูกดอก ควรให้น้ำบริเวณโคนต้นเท่านั้น เพราะถ้ารดถูกดอก ดอกจะอุ้มน้ำไว้ ดอกไม้บางชนิดมีขนาดใหญ่และหนัก เช่น ดาวเรือง บานชื่น ก้านดอกจะหักง่าย อีกประการหนึ่ง การรดน้ำถูกดอกนั้นเมื่อแดดจัดขึ้น ดอกจะเหี่ยวเร็วมาก

ศัตรู

ไม้ดอกล้มลุกมีศัตรูรบกวนไม่มากนัก ถ้าเป็นโรคแต่น้อยต้นควรถอนทิ้ง แล้วเผาไฟเสีย ถ้าเป็นมากต้นต้องใช้ยากำจัด สาเหตุของโรคอาจเกิดจากเชื้อรา บักเตรีและไวรัส ถ้าเกิดจากบักเตรีต้นจะเหี่ยว เมื่อถอนขึ้นดูจะมีกลิ่นเหม็น ลำต้นขาดออกเป็นช่วงๆ ถ้าเกิดจากเชื้อรา ต้นหรือใบจะเหี่ยว แต่ไม่มีกลิ่นเหม็น ยากำจัดเชื้อราหาซื้อได้ตามร้านขายยากำจัดศัตรูพืช สำหรับยาที่ควบคุมเชื้อบักเตรีมีราคาแพงและถ้าเป็นแล้วรักษายาก ส่วนโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสจะทำให้ใบหรือดอกด่าง มีอาการหงิก ไม่มีทางแก้ไขต้องเผาทำลายเสีย

การกำจัดวัชพืช

การมีวัชพืชขึ้นแซมในแปลงไม้ดอกนอกจากทำให้ไม่น่าดูแล้ววัชพืชยังแย่งน้ำและอาหารจากไม้ดอก จึงต้องกำจัดโดยการขุดแล้วทำลายเสียทั้งต้นและเหง้าที่อยู่ใด้ดิน

การตัดดอกโรย

การปลูกไม้ดอก เมื่อออกดอกแล้วควรหมั่นตัดดอกโรยออกทุกเย็น เพื่อจะได้เห็นแต่ดอกที่เพิ่งบานใหม่ในวันรุ่งขึ้น มองแล้วสบายตา การตัดดอกโรยนอกจากทำให้น่าดูแล้วยังเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดตาดอกใหม่เพิ่มขึ้น ทำให้ได้จำนวนดอกมากขึ้นและบานได้นานกว่าด้วย

เมื่อปลูกไม้ดอกชนิดหนึ่งไปแล้วจนกระทั่งออกดอกเต็มที่ ควรรีบวางแผนเพาะเมล็ดชนิดใหม่โดยกะให้ต้นกล้าโตทันเอาลงแปลงเมื่อเอาชนิดเดิมทิ้ง แปลงดอกไม้จะได้ไม่ว่างนานและมีดอกให้ดูติดต่อกันตลอดปี

ข้อปฎิบัติที่ผิดพลาดในการปลูกไม้ดอกที่รวบรวมได้จากมีดังนี้

1. ปลูกโดยไม่ได้คำนึงถึงฤดูกาล ส่วนมากดอกไม้บานสวยในเดือนมกราคม เมื่อเห็นเขาปลูกสวยดีก็นึกอยากปลูกบ้าง โดยไม่ตระหนักว่าดอกไม้ที่บานนั้นได้ผ่านการเตรียมปลูกมาอย่างดีตั้งแต่สิ้นฤดูฝน ถ้าคิดจะหาเมล็ดมาปลูกเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ กว่าดอกจะบานก็เดือนเมษายน หรือพฤษภาคม ซึ่งมีอากาศร้อนจัดย่อมได้คุณภาพไม่ดี

2. ปลูกไม้ในร่มไว้กลางแดดหรือปลูกไม้ที่ชอบแดดไว้ในร่มโดยไม่ศึกษานิสัยของพืชเสียก่อน

3. ขอเมล็ดดอกไม้จากเพื่อนบ้าน หรือเก็บเมล็ดจากต้นที่เห็นดอกสวย ถ้าเป็นเมล็ดที่ไม่ใช่ลูกผสม F ก็คงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นเมล็ด F₁ ต้นใหม่ที่ได้จะกลายหมด

4. เพาะเมล็ดโดยไม่มีการเตรียมเครื่องปลูก หรือวัสดุเพาะ หว่านเมล็ดลงในดินว่างๆ กลางแจ้ง หว่านจนแน่นเผื่องอกน้อยและไม่ดูแลเรื่องความชื้นให้สม่ำเสมอ

5. ย้ายต้นกล้าตอนเช้าทำให้ได้รับแดดตอนเที่ยงซึ่งร้อนจัด หรือย้ายต้นกล้าตอนบ่ายซึ่งมีแดดจัดมาก ย้ายเมื่อต้นกล้ายังเล็กเกินไป ทำให้ยังไม่แข็งแรงพอกับสภาพกลางแจ้ง หรือการย้ายต้นกล้า ที่โตเกินไปจะทำให้ชะงัก เหี่ยวง่ายและฟื้นตัวยาก

6. ไม่ทราบหรือไม่ใช้ระยะปลูกที่เหมาะสม ทำให้ปลูกชิดหรือห่างเกินไป ไม่ได้ระยะ

7. เมื่อย้ายปลูกแล้ว ต้นกล้าเหี่ยวก็ไม่ช่วยเหลือเพราะนึกว่าคงฟื้นเองได้

8. ปล่อยให้ต้นโตตามยถากรรม รดน้ำให้ถ้าว่างหรือมีเวลาให้ปุ๋ยเมื่อนึกขึ้นได้และให้มากเพื่อชดเชย

9. รดน้ำต้นไม้ในช่วงที่มีแดดจัด และรดน้ำไม่ชุ่มถึงระดับราก

10. ใช้นิ้วรอที่ปลายสายยาง ฉีดน้ำแรงรดถูกดอก หรือรดน้ำที่โคนต้นจนดินกระจุย

11. ปล่อยให้หญ้าขึ้นแซมในแปลงดอกไม้และไม่หมั่นตัดใบหรือดอกเหี่ยวออก

12. ปลูกไม้ดอกหลายชนิดและปลูกเป็นจำนวนมากเกินกำลังจะดูแลให่ดี

ดังนั้น ข้อควรปฎิบัติเพื่อจะปลูกไม้ดอกให้ได้ดีคือ

1. เลือกชนิด สี ความสูง และระยะเวลาในการให้ดอกเสียก่อน เช่น เลือกว่าจะปลูกซัลเวียสีแดง สูง 2 ฟุต ใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจากเพาะเมล็ดจนให้ดอก จะต้องเพาะเมล็ดต้นเดือนตุลาคม และให้ดอกในช่วงที่มีอากาศเย็นประมาณปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป

2. เลือกชื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัทที่ผลิตเมล็ดมีคุณภาพดี คือตรงตามพันธุ์และมีความงอกสูง ปกติเมล็ดไม่งอกถึง 100% ถ้างอกเพียง 70-80% ก็ต้องซื้อเมล็ดเพิ่มเพื่อให้ได้ต้นกล้าเท่าที่ต้องการ ควรซื้อเมล็ดเพิ่มจากที่ต้องการประมาณ 20% จึงจะแน่ใจเพราะในจำนวน 70-80% ที่งอกอาจมีต้นเล็ก และไม่แข็งแรงปนอยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

3. เพาะเมล็ดอย่างดีดูแลอย่างใกล้ชิดแล้วเตรียมแปลงปลูกไว้ให้เรียบร้อยโดยขุดดินตากแดด ใส่ปุ๋ยคอกคลุกลงไปแล้วย่อยดินให้ละเอียดรอไว้

4. เมื่อต้นกล้างอกและโตแข็งแรงพอที่จะเอาไปปลูกในแปลงได้แล้วคือมีใบจริง 3-5 คู่ใบ ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 4-6 อาทิตย์นับจากเพาะเมล็ด ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกแต่ต้นที่แข็งแรงมีขนาดเท่าๆ กันลงปลูกเพื่อจะได้ต้นที่มีขนาดสม่ำเสมอและออกดอกพร้อมกัน

5. ควรย้ายกล้าตอนเย็นในขณะที่แดดอ่อน ถ้าไม่สะดวกให้ย้ายตอนบ่ายที่สามารถย้ายกล้าทั้งหมดให้เสร็จในวันเดียวกัน อย่าย้ายตอนเช้าเพราะเมื่อมีแดดตอนเที่ยงต้นกล้าจะเหี่ยวและฟื้นตัวยาก การย้ายตอนเย็นต้นกล้าจะได้รับน้ำค้างตลอดคืนนั้น และตั้งตัวได้เร็วกว่า

6. เอาต้นกล้าลงปลูกด้วยระยะที่เหมาะ ปกติที่ซองบรรจุเมล็ดจะมีคำแนะนำว่าควรใช้ระยะปลูกเท่าใด อาจใช้หลักง่ายๆ ว่าต้นที่เป็นกอเล็กๆ ใช้ระยะปลูกประมาณ 1 คืบ ต้นสูง 1 ฟุต ปลูกห่าง 2 คืบ ถ้าต้นสูง 50 ซม. ปลูกห่าง 50 ซม. หรือ 1 ศอก

7. ดูแลต้นกล้าให้ตั้งตัวดีเสียในอาทิตย์แรก

8. ถ้ามีต้นที่ตายต้องปลูกซ่อมทันที เพื่อจะได้โตทันกันและออกดอกพร้อมกัน

9. หลังจากย้ายออกแปลงได้ 1 อาทิตย์เริ่มให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น แอมโมเนียมซัลเฟต 1 ช้อนโต๊ะ ละลายในน้ำ 1 ปีบ รดให้เฉพาะตรงโคนต้น กะพอให้ชุ่มระดับราก ซึ่งยังไม่แผ่กว้างนัก และรดให้อีกอาทิตย์ละครั้ง

10. ประมาณเดือนหนึ่งหลังจากปลูก ให้ปุ๋ยผสม NPK เช่น สูตร 10-10-10 หรือ 5-10-5 อาทิตย์ละครั้ง

11. ดูแลโรคและแมลงอย่าให้รบกวน ควรมีโปรแกรมฉีดยาป้องกันโรคและแมลง

12. ถือเป็นหน้าที่ประจำวันว่าต้องรดน้ำให้สม่ำเสมอตั้งแต่แรกปลูกจนกระทั่งหมดดอก ใช้สายน้ำอ่อนๆ หรือมีหัวบัวช่วยตัดความแรงของน้ำ รดช้าๆ ให้ชุ่มบริเวณราก หมั่นตัดใบและดอกเหี่ยวออกเพื่อให้น่าดู รวมทั้งดูแลกำจัดวัชพืชให้ด้วย