การเพาะเลี้ยงปลาดุก

ปลาดุกเป็นปลาพื้นเมืองของไทย ในประเทศไทยมีพันธุ์ปลาจำพวกปลาดุกอยู่ 5 ชนิด แต่ที่รู้จักกันแพร่หลายมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus) และปลาดุกอุย (C. macrocephalus) ปัจจุบัน ปลาทั้งสองชนิดสามารถจะผลิตขึ้นได้จากการเพาะเลี้ยง และมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ มีผู้เลี้ยงปลาดุกทั่วประเทศรวม 2,550 ราย (สถิติของกรมประมง ปี 2528) จำนวน 3,400 บ่อ รวมพื้นที่ 4,490 ไร่ ปริมาณปลาดุกที่ผลิตได้ปีละ 6,300 ตัน คิดเป็นมูลค่า 190 ล้านบาท

แหล่งที่เลี้ยงปลาดุกที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา และปทุมธานี ส่วนในจังหวัดอื่นๆ นับว่ายังมีน้อย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผลผลิตปลาดุกจากการเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 38 ตัน/ปี มีมูลค่าประมาณ 1,564,000 บาท สาเหตุที่การเลี้ยงปลาดุกยังไม่แพร่หลาย ในจังหวัดต่างๆ ก็เพราะการเลี้ยงปลาชนิดนี้แต่เดิมมีปัญหาเรื่องพันธุ์ปลาที่ขาดแคลน และอาหารปลา ซึ่งต้องใช้ปลาเป็ดสดจากการประมงอวนลากเป็นหลัก ดังนั้น สถานที่หรื่อบ่อที่ใช้เลี้ยงปลาจึงจำเป็นต้องตั้งอยู่ใกล้ชายทะเล เพื่อสะดวกในการจัดหาอาหารปลาดังกล่าว ปัจจุบันนักวิชาการของกรมประมงได้แก้ปัญหาในเรื่องพันธุ์ปลาดุกที่ขาดแคลนได้สำเร็จ สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตจำหน่ายขึ้นได้เป็น จำนวนปีละนับร้อยล้านตัว แทนที่จะต้องอาศัยวิธีการรวบรวมจากธรรมชาติดังแต่ก่อน ส่วนการเพาะปลาดุกอุยด้วยวิธีผสมเทียมก็ได้รับการพัฒนายิ่งขึ้น จนสามารถผลิตพันธุ์ปลาดุกอุยได้มากขึ้นตามลำดับ และพร้อมนี้ก็ได้นำความรู้ในด้านวิชาการไปส่งเสริมและถ่ายทอดแก่เกษตรกรผู้เพาะปลาจำหน่าย ซึ่งบัดนี้ มีฟาร์มเพาะพันธุ์ปลาดุกด้วยวิธีการผสมเทียมมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่มีความประสงค์จะเลี้ยงปลาชนิดนี้

ส่วนในด้านอาหารของปลาดุก สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติก็ได้ทำการทดลองค้นคว้าและประสบความสำเร็จ สามารถปรับปรุงสูตรอาหารสำเร็จรูปที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงปลาดุกขนาดเล็กและ ขนาดใหญ่ขึ้นได้โดยใช้วัสดุที่หาได้ง่ายและราคาถูกกับทั้งสะดวกในการขนส่ง ตลอดจนการเก็บรักษ โดยรักษาคุณภาพไว้ได้นานวัน ดังนั้น การเลี้ยงปลาดุกทั้งสองชนิดดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเผยแพร่ไปในท้องที่จังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ห่างไกลจากทะเล โดยเฉพาะจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปลาดุกมีราคาแพง ประชาชนมีความต้องการจะนำไปเลี้ยงเพื่อจำหน่ายและบริโภคเป็นอันมาก ส่วนปัญหาที่คดว่าจะเป็นอุปสรรค อาทิ การขาดแคลนน้ำนั้นก็มิได้เป็นปัญหาแต่ประการใด เพราะสามารถใช้ช่วง ระยะเวลาในฤดูฝนที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ 3-4 เดือน ก็เป็นการเพียงพอที่จะทำการเลี้ยงปลาดุกให้มีขนาดโตได้ตามที่ตลาดต้องการ ส่วนพื้นที่ซึ่งอยู่ในเขตชลประทานนั้นสามารถจะเลี้ยงปลาดุกในบ่อและในนาได้ตลอดปี นอกจากนี้ปลาดุกยังมีความอดทน และเลี้ยงได้ในความหนาแน่นสูง โดยใช้พื้นที่ในการขุดบ่อไม่มากนัก การลงทุนในด้านนี้จึงต่ำ ส่วนอาหารปลาอาจจะต้องใช้อาหารสำเร็จรูป และหาทางลดปริมาณการใช้ลงด้วยการเพาะหนอน ไส้เดือน หรือการเลี้ยงปลาดุกแบบผสมผสานกับการเลี้ยงปศุสัตว์ อนึ่งแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีจำนวนมากในภาคนี้ก็สามารถจะพิจารณาใช้ในการเลี้ยงปลาดุกในกระชังได้ สำหรับรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงปลาดุกจะได้กล่าวต่อไป

ชีวประวัติของปลาดุก

1. ถิ่นที่อยู่อาศัย ปลาดุกอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไปแม้แต่ในหนองน้ำที่มีน้ำเพียงเล็กน้อยก็ยังพบปลาดุก ทั้งนี้เพราะปลาดุกมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจ จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาวะของน้ำที่มีออกซิเจนเพียงเล็กน้อย ถึงแม้ในน้ำที่ค่อนข้างกร่อยในเขตชลประทานบริเวณชายทะเลปลาดุกก็สามารถอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ปลาดุกยังมีถิ่นที่อยู่อาศัยในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ทุกประเทศ

2. รูปร่างและลักษณะ ลำตัวยาว ไม่มีเกล็ด ครีบท้องยาว ไม่มีกระโดง ครีบท้องยาวเกือบถึงโคนหาง ครีบหางแบน มีหนวด 4 คู่ ส่วนหัวแบน ตาขนาดเล็กอยู่ด้านบนของหัว ปลาดุกด้านมีสีตัวเทาปนดำ ส่วนปลาดุกอุยมีสีผิวค่อนข้างเหลือง มีจุดประตามด้านข้างของลำตัว ส่วนข้อแตกต่างระหว่างปลาดุกด้านและปลาดุกอุยที่แจ้งชัดก็คือ ส่วนปลายของกระดูกท้ายทอยของปลาดุกด้านแหลมกว่า ปลาดุกอุย ซึ่งมีลักษณะป้านสั้น

3. ลักษณะเพศ ในช่วงนอกฤดูผสมพันธุ์ (พ.ย.-ม.ค.) จะสังเกตความแตกต่างของปลาเพศผู้ และเพศเมียจากลักษณะของอวัยวะเพศได้ค่อนข้างยาก ส่วนในฤดูผสมพันธุ์อวัยวะเพศของปลาดุกจะ พัฒนาขึ้นจนสังเกตความแตกต่างได้อย่างเด่นชัด คือ เมอจับปลาหงายท้องขึ้นจะเห็นอวัยวะเพศตรงส่วนล่างของตัวปลาใกล้กับทวารซึ่งมีสีแดงได้อย่างชัดเจน ปลาเพศผู้มีลักษณะเรียวยาวและปลายแหลม ส่วนปลาเพศเมียจะมีอวัยวะเพศค่อนข้างกลมอยู่ทางตอนใต้ทวารและมีขนาดสั้นกว่า นอกจากนี้ปลาตัวเมียในช่วงฤดูผสมพันธุ์จะสังเกตได้ง่ายเมื่อมองจากด้านบนของตัวปลาจะมีส่วนท้องป่องออกมาทั้งสองข้าง ส่วนปลาเพศผู้จะมีลำตัวเรียวยาว

4. นิสัยในการกินอาหาร ปลาดุกที่อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติกินอาหารจำพวกลูกกุ้งฝอย แมลง และตัวอ่อนของแมลงในนา นอกจากนี้ปลาดุกยังชอบกินอาหารโปรตีนที่เน่าเปื่อย บางท่านจึงจัดปลาดุกไว้เป็นประเภทที่กินของเน่าเปื่อย (scavenger) แต่เมื่อนำปลาดุกมาเลี้ยงก็สามารถฝึกหัดให้ปลากินอาหารผสม เช่น รำข้าว ปลายข้าว กากถั่ว ปลาป่น หรืออาหารประเภทเนื้อเช่น ปลาเป็ด ไส้ปลาทู ไส้ไก่ และอาหารสำเร็จรูป ปลาดุกมีนิสัยชอบขึ้นมากินอาหารที่ใกล้ผิวน้ำ

5. ฤดูวางไข่ โดยธรรมชาติปลาดุกเริ่มวางไข่ตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-ตุลาคม และจะวางไข่มากในช่วงฤดูฝนระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ซึ่งแต่ละภาคจะมีความแตกต่างกันบ้างตามสภาวะของลมฟ้าอากาศ แม่ปลาจะวางไข่ปีหนึ่งประมาณ 3-4 ครั้งๆ ละ 3,000-15,000 ฟอง ความมากน้อยของไข่ขึ้นอยู่กับขนาดของปลา ส่วนพฤติกรรมในการผสมพันธุ์และวางไข่ของปลาดุกทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกัน ดังนี้

-การวางไข่ของปลาดุกด้าน ปลาดุกด้านเป็นปลาที่จับคู่ผสมพันธุ์กันโดยปลาตัวผู้จะขุดหลุมหรือโพรงดินลักษณะกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 ซม. ลึกประมาณ 10 ซม. ในแหล่งน้ำธรรมชาติ หลุมซึ่งเป็นที่วางไข่จะอยู่ชายฝั่งต่ำกว่าระดับผิวน้ำประมาณ 50 ซม. ไข่ของปลาดุกด้านเป็นไข่จม มีสีเหลืองอ่อน มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.3-1.6 มม. ปลาจะวางไข่อยู่บนพื้นก้นหลุมหรือโพรงดิน ไข่ปลาจะฟักเป็นตัวภายในเวลาประมาณ 25 ชั่วโมง ภายใต้อุณหภูมิของน้ำประมาณ 27 องศาเซลเซียส พ่อแม่ปลาจะเฝ้าดูแลไข่และลูกปลาในหลุมประมาณ 7-10 วัน ในช่วงนี้ลูกปลาจะเกาะกลุ่มกันอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ปลา จากการสังเกตเมื่อเอามือล้วงลงไปในหลุมลูกปลาดุกวัยอ่อนดังกล่าว จะพบว่ามีลูกปลาดุกมาเกาะพันและดูดไซ้ที่บริเวณมือ จึงสันนิษฐานว่าลูกปลาดุกวัยอ่อนหลังจากถุงไข่แดงยุบ จะต้องกินเมือกปลาก่อนที่จะกินอาหารธรรมชาติ

-การวางไข่ของปลาดุกอุย ปลาชนิดนี้มักจะวางไข่ในที่ตื้นๆ ตามท้องนาและทุ่งหญ้า ที่มีน้ำขังในระดับน้ำลึกประมาณ 20 ซม. โดยพ่อแม่ปลาจะกัดหญ้าหรือโคนต้นข้าวกล้าให้เป็นช่องว่าง และคุ้ยดินบริเวณนั้นให้เป็นแอ่งค่อนข้างกลม สีน้ำตาลเป็นเงาใส ภายหลังปลาวางไข่แล้ว ปลาตัวผู้จะไล่ตัวเมียออกนอกรัง และเฝ้ารักษาไข่อย่างใกล้ชิด ไข่จะฟักเป็นตัวประมาณ 25-30 ชั่วโมง ภายใต้อุณหภูมิของนํ้าประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นอีก 3-4 วัน ลูกปลาดุกก็จะละทิ้งรังไข่ออกไปหาอาหารกินตามธรรมชาติ

การเพาะพันธุ์

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในหมู่นักเพาะเลี้ยงปลาโดยทั่วไปแล้วว่า การที่จะผลิตลูกปลาชนิดใดให้ได้มากและประหยัดเงินค่าใช้จ่าย ตลอดจนการใช้พื้นที่ไม่มากนัก จะต้องกระทำโดยวิธีผสมเทียม ตามที่ได้กำหนดการและเหตุผลที่จำเป็นจะต้องนำเอาวิธีการผสมเทียมมาปฏิบัติในการเพาะปลาบางชนิด ที่ไม่วางไข่ในบ่อไว้แล้ว และสำหรับการเพาะพันธุ์ปลาดุกด้านและปลาดุกอุยนั้นใช้วิธีแตกต่างกันกล่าวคือ การเพาะปลาดุกด้านใช้วิธีเลียนแบบธรรมชาติซึ่งได้ผลดี ส่วนการเพาะปลาดุกอุยใช้วิธีผสมเทียม ดังรายละเอียดและการเพาะปลาดุกแต่ละชนิด ดังต่อไปนี้

1. การเพาะปลาดุกด้านด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ มีขั้นตอนต่างๆ คือ เริ่มตั้งแต่การสร้างบ่อ การเลี้ยงดูพ่อแม่ปลา การรวบรวมลูกปลาที่ได้จากการเพาะฟัก ตลอดจนการอนุบาลลูกปลา ดังนั้นการเพาะฟักปลาดุกด้านมีข้อพึงปฏิบัติ ดังนี้

-การเลือกสถานที่ สถานที่จะใช้เพาะพันธุ์ปลาดุกด้านนั้นจำเป็นต้องเลือกเป็นพิเศษ เนื่องจากการเพาะปลูกชนิดนี้จำเป็นต้องใช้ปริมาณน้ำมากจึงจะสามารถปฏิบัติได้เกือบทั้งปี เพราะจะต้อง มีการถ่ายเทน้ำบ่อยๆ ดังนั้น สถานที่หรือบ่อเพาะปลาควรอยู่ใกล้คลองชลประทาน หรือแม่น้ำ ลำธาร พอที่จะชักน้ำเข้ามาโดยไม่ต้องสูบหรือสูบขึ้นมาใช้ได้ตามต้องการ ลักษณะของดินที่ทำบ่อเพาะฟักควรเป็นดินเหนียว สามารถเก็บกักน้ำได้ดี มีความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง pH 6.5 – 8.5

-บ่อเลี้ยงพ่อแม่ปลา โดยปกติบ่อที่เลี้ยงพ่อแม่ปลาดุกจะใช้บ่อขนาดเดียวกับบ่อที่เลี้ยงปลาดุกขุนส่งตลาด คือ ขนาด 200-400 ม.2 น้ำลึกประมาณ 1.5 เมตร ถ้าเป็นฟาร์มที่เพาะปลาดุกจำหน่ายก็จำเป็นต้องมีหลายบ่อ พ่อแม่ปลาดุกที่จะคัดไว้ทำพันธุ์ควรเป็นปลาที่มีอายุอย่างน้อย 8 เดือน มีความยาวประมาณ 25 ซม. น้ำหนัก 200 กรัมขึ้นไป อัตราส่วนที่ปล่อยลงเลี้ยงประมาณ 10 ตัว/ม.2 สำหรับปลาดุกอุยควรเลี้ยงด้วยวิธีแยกเพศในบ่อดินขนาด 200 ม.2 หรือบ่อซีเมนต์ขนาด 50 ม.2 ก็ใช้ได้ ให้อาหารสำเร็จรูปที่มีโปรตีนสูงประมาณ 40% หรือปลาเป็ดบด 90% ผสมรำข้าว 10% เพื่อให้อาหารเหนียว เมื่อโยนให้ปลากินจะได้ไม่ละลายน้ำได้ง่าย อาหารที่ให้วันละ 1-2 %ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง มีข้อควรระวังในเรื่องของการให้อาหารปลาดุกพ่อแม่ปลา คือ ถ้าให้มากปลาจะอ้วนมีไขมันในช่องท้องมากซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ไข่ในฝักเจริญเติบโตไม่ได้เต็มที่ เมื่อนำไปเพาะด้วยวิธีผสมเทียม็มีไข่เสียเป็นจำนวนมาก

-บ่อเพาะพันธุ์ สำหรับในภาคกลางที่จังหวัดฉะเชิงเทรามีฟาร์มเพาะปลาดุกด้านจำนวนมาก นิยมใช้บ่อเพาะมีเนื้อที่ตั้งแต่ 4-20 ไร่ ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าของฟาร์มและแหล่งทำเลที่เอื้ออำนวยและปัจจัยอื่นๆ ดังได้กล่าวในเบื้องต้น สำหรับขนาดของบ่อเพาะพันธุ์ปลาดุกด้านที่ควรจะนำไปประยุกต์ใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขั้นต้นนี้ควรเพาะด้วยบ่อขนาด 1-3 ไร่ก่อน เมื่อเกษตรกรมีความชำนาญมากขึ้น และหรือมีผู้ซื้อลูกปลาชนิดนี้มากขึ้นก็สามารถเพิ่มขนาดและจำนวนบ่อให้มากขึ้นได้ตามต้องการรูปร่างของบ่อเพาะพันธุ์ควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งสามารถจะดัดแปลงจากนาข้าวโดยขุดดินเป็นคูโดยรอบภายในกว้าง 3 เมตร ลึก 1.25 เมตร นำดินที่ขุดขึ้นมาไปทำคันหรือเสริมคันนาเดิมให้หนาแน่นและสูงขึ้นสามารถเก็บกักน้ำได้สูงจากพื้นนาประมาณ 60 ซม. บนพื้นนาปล่อยให้หญ้าขึ้นสูงตามธรรมชาติประมาณ 5 ซม. โดยทั่วไปแล้วขุด หลุมมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 ซม. ลึก 20 ซม. จากพื้นนาแต่ละหลุมห่างกันประมาณ 3-4 เมตร โดยเฉลี่ยแล้วในบ่อเพาะเนื้อที่ 1 ไร่ จะขุดหลุมได้ประมาณ 100-120 หลุม ภายในคูไม่ต้องขุดหลุม คูนี้มีไว้เพื่อสะดวกในการรวบรวมลูกปลาในขณะที่สูบน้ำออกเพื่อจับลูกปลาที่ตกค้าง และเลี้ยงพ่อแม่ปลาเมื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนของระบบการเพาะฟักปลาดุก

-อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์ โดยปกติตามธรรมชาติแล้วปลาดุกจะจับคู่ผสมพันธุ์กัน ดังนั้น การเพาะพันธุ์ก็มีความจำเป็นที่จะต้องจัดอัตราส่วนระหว่างปลาตัวผู้และตัวเมียให้เท่ากัน แต่การ ปฏิบัติทำได้ยาก เพราะปลาดุกมีเงี่ยง และจะยักแทงเจ็บปวด ดังนั้นการเพาะปลาชนิดนี้จึงใช้วิธีคำนวณ โดยถือน้ำหนักเป็นเกณฑ์ โดยคัดเลือกพ่อแม่ปลาลักษณะสมบูรณ์ที่มีน้ำหนักตัวละ 150-200 กรัม จำนวน 100 กก./เนื้อที่ของบ่อเพาะ 1 ไร่ ที่เตรยมไว้ โดยสูบน้ำหรือปล่อยน้ำเข้าบ่อใหม่ๆ ผ่านท่อและตะแกรงตาถี่ป้องกันศัตรูให้มีระดับน้ำสูง 50-60 ซม. จากพื้นบ่อสำหรับจำนวนพ่อแม่ปลาที่มีขนาดดังกล่าว คำนวณแล้ว ะมีจำนวน 250-375 คู่/พื้นที่บ่อเพาะ 1 ไร่

-การรวบรวมลูกปลาดุกจากบ่อเพาะ พ่อแม่ปลาดุกจะผสมพันธุ์และวางไข่ในหลุม ที่ได้เตรียมไว้ประมาณ 3 วัน หลังจากที่ปล่อยปลาลงเพาะไข่ปลาจะฟักเป็นตัวภายในหลุม โดยพ่อแม่ปลา จะดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด ลูกปลาจะรวมกลุ่มกันอยู่กับพ่อแม่ปลาภายในหลุมประมาณ 7 วัน ดังนั้นภายใน 9-10 วันหลังจากปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะ ก็ต้องเริ่มรวบรวมลูกปลาจากหลุมไข่ทันที มิฉะนั้นลูกปลาจะแตกฝูงและรวบรวมได้ยากการจับลูกปลาใช้วิธีเดินไปตามหลุมที่ขุดไว้ โดยใช้มือแหย่ลงไปในหลุม ถ้าหลุมใดมีลูกปลามาเกาะพันมือ และลูกปลาโตตามที่ต้องการก็ใช้กระชอนไนลอนตาถี่กลมขนาดพอดีที่จะช้อนลูกปลาภายในหลุม นำลูกปลาที่ช้อนได้ใส่ชามกะละมังพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 นิ้ว ที่ลอยน้ำไว้ เมื่อได้ลูกปลามากพอสมควรแล้วก็นำไปปล่อยเลี้ยงไว้ในกระชังไนลอน ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ลึก 1 เมตร ซึ่งแขวนลอยอยู่ในคูหรือร่องของบ่อเพาะการรวบรวมลูกปลานี้จะต้องปฏิบัติในตอนเช้า เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดด

-การเตรียมเพาะครั้งต่อไป เมื่อช้อนจับลูกปลาออกจากหลุมหมดแล้ว ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์หลังจากปล่อยพ่อแม่ลงเพาะ ในการเพาะครั้งต่อไปก็จะต้องสูบน้ำหรือระบายน้ำจากบ่อให้เหลือน้ำเฉพาะที่ขังในคูเท่านั้น พ่อแม่ปลาจะมารวมกันอยู่ในคู ในระยะนี้จะต้องเริ่มให้อาหารพ่อแม่ปลาโดยเลือกดูด้านที่อยู่ต่ำสุดเป็นที่ให้อาหารสัก 2-3 แห่ง และหากในบ่อมีหญ้าขึ้นสูงและหนาแน่นก็จำเป็นต้องตัดทิ้ง มิฉะนั้นหญ้าจะเน่าทำให้น้ำเสีย เนื่องมาจากการสลายตัวของอินทรียวัตถุโดยการกระทำของแบคทีเรีย ทำให้เกิดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์และไฮโดรเจนซัลไฟด์ ซึ่งเป็นเหตุให้ปลาไม่วางไข่ ภายหลังที่สูบหรือปล่อยน้ำเข้าบ่อเพาะในครั้งต่อไป

เมื่อเลี้ยงพ่อแม่ปลาในคูเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จะต้องวิดน้ำในคูให้แห้ง รวบรวมพ่อแม่ปลาไปไว้ในส่วนที่ลึกของคู แล้วทำการรวบรวมลูกปลาดุกที่ตกค้างอยู่ในคู่ให้หมด โกยเลนขึ้น เพื่อกำจัดสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่ก้นคู อันประกอบด้วยเศษอาหารเหลือบูดเน่าประกอบด้วยแก๊สไอโดรเจนซัลไฟด์ นอกจากนี้ศัตรูของปลา เช่น ปลาช่อน กบ เขียด งู ก็จะต้องกำจัดให้หมดสิ้น หลังจากนั้นก็สูบ หรือปล่อยน้ำเข้าบ่อให้ท่วมสูงจากพื้นนาประมาณ 60 ซม. แล้วดำเนินการรวบรวมลูกปลาดุกตามกำหนดวันเวลาดังที่ได้ปฎิบัติในการเพาะครั้งแรก

การเพาะปลาดุกด้านด้วยวิธีนี้ในเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ จะได้ลูกปลาครั้งละประมาณ 2-3 แสนตัว และจะต้องเปลี่ยนพ่อแม่ปลาใหม่ภายหลังที่ใช้เพาะติดต่อกันประมาณ 3 ครั้ง ในระยะเวลา 1ปี จะสามารถเพาะปลาได้ในบ่อเดียวกันนี้ประมาณ 10 ครั้ง

2. การเพาะปลาดุกอุยด้วยวิธีผสมเทียม ซึ่งปฎิบัติได้ผลดีกว่าการเพาะด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ โดยมีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้

-พ่อแม่พันธุ์และการคัดเลือก พ่อแม่พันธุ์ปลาที่จะนำมาใช้ผสมเทียม ควรมีขนาดตั้งแต่ 200-250 กรัม โดยการคัดเลือกจากบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ รวบรวมจากแหล่งน้ำธรรมชาติหรือจากตลาด การคัดเลือกพ่อแม่ปลาดุกอุยเพื่อใช้เพาะด้วยวิธีผสมเทียมมีความสำคัญมาก โดยจะต้องพิจารณาเลือกพ่อแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่และน้ำเชื้อแก่ โดยสังเกตได้จากความสมบูรณ์ของปลา อวัยวะเพศที่มีสีแดงคล้ำ และถ้าเป็นแม่ปลาก็จะต้องมีท้องป่องออกมาทั้งสองข้างลำตัว ท้องนิ่ม และฝักไข่ย้อยไปทางส่วนท้ายของลำตัว

-การเตรียมพ่อแม่พันธุ์ อัตราส่วนที่ต้องใช้ในการผสมเทียม คือ ใช้ปลาตัวผู้ 5-6 ตัว/ปลาตัวเมีย 10 ตัว โดยคัดขังแยกกันไว้คนละถังหรือกระชังที่มีฝาปิด พ่อแม่ปลาที่จะใช้เพาะจะต้องคัดขนาดไล่เลี่ยกันไว้เป็นชุดๆ เช่น ขนาด 200-220 กรัม ขนาด 230-250 กรัม และจะต้องชั่งและนับจำนวนปลาของแต่ละชุดว่ามีกี่ตัว ใส่ถังกลมใส่น้ำเล็กน้อยมีฝาปิดไว้เพื่อสะดวกในการจับนำมาใช้ฉีดฮอร์โมน และทราบน้ำหนักของปลารวมแต่ละชุด เพื่อนำไปคำนวณปริมาณฮอร์โมนที่จะนำมาใช้ฉีดแต่ละครั้งตามโดสที่ต้องการ

อนึ่ง มีข้อสังเกตจากประสบการณ์ว่าถ้าไม่ได้คัดขนาดและเตรียมพ่อแม่ปลาไว้เป็นชุดดังกล่าวแล้ว เมื่อทำการฉีดฮอร์โมนคละกันไประหว่างปลาขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่มีความแตกต่างกันมาก จะมีปัญหาเรื่องเวลาที่กำหนดไว้ในการรีดไข่และน้ำเชื้อผสมเทียม ทั้งนี้เพราะปลาตัวเมียขนาดเล็กไข่จะสุกได้ที่เร็วกว่าปลาตัวโต เมื่อทำการรีดผสมเทียมพร้อมกับปลาตัวโต ไข่ของปลาตัวเมียขนาดเล็กก็มักจะผสมไข่ติดจำนวนมาก

-อุปกรณ์ที่ใช้ไนการฉีดฮอร์โมนนั้น มีอุปกรณ์เช่นเดียวกับอุปกรณ์ฉีดฮอร์โมนในการผสมเทียมกับปลาชนิดอื่น ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

-การเตรียมฮอร์โมน ฮอร์โมนที่นำมาใช้เพาะปลาดุกอุยนี้ ในปัจจุบันนี้นิยมใช้จากต่อมใต้สมองสดของปลาจีนซึ่งได้ผลดี จัดหาได้ง่าย และราคาถูก ส่วนฮอร์โมนสกัดจากปั๋สสาวะหญิงมีครรภ์นั้นแม้ว่าจะใช้ได้ผลดี แต่ในทางปฏิบัติและเตรียมการยังมีความยุ่งยากสำหรับเกษตรกร เพื่อความสะดวกในการที่จะต้องใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองปลา ควรใช้วิธีเก็บรวบรวมต่อมไว้ให้มีจำนวนมากพอและสะดวกในการที่จะนำมาใช้ โดยการเก็บรักษาต่อมใต้สมองสดไว้ในน้ำยาแอลกอฮอล์ขาวที่มีความบริสุทธิ์ 100% ชนิดกินได้ หรือน้ำยาอาซีโตนไว้ในตู้รักษาอุณหภูมิหรือตู้เย็นที่ใชักันโดยทั่วไป ต่อม ที่เก็บไว้นี้จะมีลักษณะเป็นต่อมแห้ง ซึ่งมีคุณภาพดีเท่าเทียมกับต่อมสด

-ปริมาณและอัตรการใช้ มีหลักเกณฑ์การใช้เป็นหน่วยน้ำหนักเป็นมิลลิกรัมของต่อมใต้สมองที่จะนำไปใช้ฉีดยาซึ่งให้ผลได้แน่นอน แต่เหมาะสำหรับใช้ปฏิบัติในทางวิชาการเท่านั้น อีกวิธีหนึ่งคือการเปรียบเทียบเป็นหน่วยน้ำหนักของปลาที่จะฉีดกับน้ำหนักของปลาที่จะเก็บต่อม โดยทั่วไปมักนิยมใช้วิธีหลัง โดยกำหนดหน่วยขึ้นเรียกว่าโดส โดยถือว่าฮอร์โมน 1 โดส คือ น้ำหนักของปลาที่เก็บต่อมมาใช้มีน้ำหนักเท่ากับปลาที่จะฉีด ซึ่งเป็นหลักและมาตรฐานที่นักเพาะเลี้ยงปลายอมรับและใช้กันทั่วไป สำหรับการเพาะปลาดุกอุย ปลาตัวเมียจะต้องได้รับการฉีดฮอร์โมน 2 ครั้ง ครั้งแรกใช้ฮอร์โมน 1 โดส ครั้งที่สองใช้ฮอร์โมน 2 โดส และระยะเวลาที่ฉีดครั้งแรกและครั้งที่สองห่างกัน 12-16 ชั่วโมง ส่วนปลาตัวผู้ฉีด 0.5 โดส เพียงครั้งเดียว ภายหลังที่ฉีดปลาตัวเมียครั้งแรกแล้ว 6-10 ชั่วโมง และมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะกะหรือกำหนดเวลาที่จะรีดไข่ปลาผสมเทียมให้ตรงกับเวลาเช้าหรือเวลาเย็น เพื่อให้ไข่ที่รีดออกมาอยู่ในสภาวะอุณหภูมิต่ำ

โดยปกติการเพาะปลาดุกอุยแต่ละครั้งนั้น จะต้องใช้แม่ปลาตั้งแต่ 2 กก. (แม่ปลา 10 ตัว) ขึ้นไป จึงจะมีผลคุ้มค่าและเวลาที่เสียไป โดยเฉลี่ยแล้วแม่ปลา 1 ตัว จะรีดไข่ได้ 10,000-15,000 ฟอง ไข่ฟักเป็นตัวประมาณ 80%

สำหรับการคำนวณอัตราของฮอร์โมนที่จะใช้กับปลาตัวเมียจากตัวอย่างที่ได้ปฏิบัติในการเพาะปลาชนิดนี้ สมมุติว่าใช้ปลา 2 กก. ซึ่งมีแม่ปลาน้ำหนักตัวละ 200 กรัม จำนวน 10 ตัว ต้องใช้ต่อมใต้สมองของปลาสดที่เก็บต่อม 2 กก. เพื่อจะได้สารละลายฮอร์โมนเท่ากับ 1 โดส โดยนำเอาต่อมใต้สมองมาบดให้ละเอียดด้วยเครื่องบดฮอร์โมนซึ่งเป็นหลอดแก้วและมีแท่งแก้วสำหรับบด บดให้ ละเอียดแล้วเติมน้ำกลั่นลงไป 1 ซีซี เพื่อนำไปฉีดปลาดุกตัวละ 1/2 ซีซี จนครบ 10 ตัว โดยมิให้มีน้ำยาเหลือหรือขาด และก่อนที่จะนำไปฉีด ต้องใช้แท่งแก้วบดคนให้น้ำยาผสมผสานกันอย่างดี แล้วจึงใช้เข็มฉีดยาพร้อมกระบอกขนาด 5-10 ซีซี ดูดน้ำยาจากหลอดบดต่อม

การฉีดฮอร์โมนครั้งที่สอง เว้นระยะห่างจากการฉีดครั้งแรก 12-16 ชั่วโมง การฉีดครั้งนี้จะต้องเพิ่มฮอร์โมนที่ใช้เป็น 2 โดส การเตรียมฮอร์โมนสำหรับฉีดก็ปฏิบัติเช่นเดียวกันกับครั้งแรก แต่เพิ่มน้ำหนักปลาที่เก็บต่อมใต้สมองนำมาใช้เป็น 2 เท่าของครั้งแรก หลังจากฉีดครั้งที่สองแล้ว 6-8 ชั่วโมง จึงทำการตรวจปลาเพื่อกำหนดเวลารีดไข่อันเหมาะสม

สำหรับปลาดุกอุยตัวผู้ไม่สามารถจะรีดน้ำเชื้อออกมาได้ ซึ่งแตกต่างกับปลาชนิดอื่นๆ ในบางครั้งถ้าสภาพของปลาไม่สมบูรณ์ก็ต้องใช้ฮอร์โมนขนาด 0.5 โดส ฉีดเร่งให้น้ำเชื้อแก่และพัฒนาขึ้นภายหลังจากฉีดปลาตัวเมียแล้ว 6-10 ชั่วโมง

ถ้าใช้ฮอร์โมนสกัดจากปัสสาวะหญิงมีครรภ์ต้องฉีด 2 ครั้งเช่นเดียวกัน อัตราส่วนของฮอร์โมนที่ใช้ทั้งหมด 6,000 IU/น้ำหนักปลาดุกอุยตัวเมีย 1 กก. (ปลาดุก 5-6 ตัว) โดยทำการฉีดครั้งแรก 10% คือฉีดตัวละ 100 IU ส่วนฮอร์โมนที่เหลืออีก 90% หรือ 5,400 IU ก็นำไปฉีดเฉลี่ยแก่ปลาทุกตัวในครั้งที่สอง ซึ่งเว้นระยะเวลาห่างกันกับการฉีดครั้งแรก 6 ชั่วโมง หลังจากการฉีดครั้งที่สองแล้ว ประมาณ 12 ชั่วโมง จึงทำการตรวจปลาเพื่อกำหนดเวลาที่เหมาะสมทำการฉีดไข่ต่อไป

-การฉีดฮอร์โมน เนื่องจากปลาดุกอุยเป็นปลาขนาดเล็ก ตำแหน่งที่เหมาะสมคือการฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณเหนือเส้นข้างตัว ตรงใต้ฐานของครีบหลังโดยจับปลาที่จะฉีดวางไว้บนโต๊ะที่มี ผ้าขนหนูชุบน้ำรองรับไว้ และใช้ผ้าขาวชุบน้ำหมาดๆ คลุมตัวปลา แล้วจับให้มั่นทางหัวและหางปลาเพื่อกันมิให้ปลาตื่นเวลาฉีด ในการนี้อาจจะใช้ยาสลบเล็กน้อยแช่ปลาก่อนนำมาฉีดก็ได้ ใช้เข็มฉีดยาและกระบอกฉีดที่บรรจุสารละลายฮอร์โมนค่อยๆ แทงเฉียงประมาณ 45° ของตัวปลา ระวังอย่าให้ปลายเข็มฉีดยาแทงถูกกระดูกสันหลัง แล้วค่อยๆ เดินน้ำยาเข้าตัวปลาอย่างช้าๆ จนครบ 1/2 ซีซี ตามต้องการ เมื่อจะดึงเข็มออกใช้มืออุดกดตรงรอยเข็มสักครู่ เพื่อกันมิให้น้ำยาไหลออกจากตัวปลา

-การผสมไข่และน้ำเชื้อ  การผสมเทียมปลาดุกอุยใช้กรรมวิธีแบบผสมเปียก (Wet method) โดยก่อนที่จะถึงเวลารีดไข่ปลาเพื่อผสมเทียมจะต้องเตรียมอุปกรณ์ที่จะใช้ในการผสมเทียมให้พร้อม เช่น กะละมังพลาสติกขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 นิ้ว ขนไก่ที่แห้งสนิท ผ้าขนหนูแห้ง น้ำสะอาด หรือน้ำเกลือเข้มข้น 0.7 % ประมาณ 5 ลิตร อุปกรณ์เหล่านี้จะเตรียมไว้มากน้อยขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่ใช้ ในการผสมเทียมแต่ละครั้งเมื่อได้เวลาที่กำหนดไว้หรือสังเกตเห็นว่าในภาชนะที่ขังปลาไว้มีไข่ไหลติดอยู่บ้างแล้ว ให้ใช้สวิงจับแม่ปลาขึ้นมาพร้อมกับใช้ผ้าขนหนูแห้งเช็ดซับน้ำที่บริเวณท้องและลำตัวของปลาให้แห้ง ใช้มือซ้ายจับบริเวณส่วนหาง และมือขวาจับบริเวณส่วนท้องให้กระชับ โดยให้ส่วนหางอยู่ต่ำกว่าส่วนหัว ในขณะเดียวกันก็ใช้นิ้วมือข้างขวาค่อยๆ บีบรีดจากบริเวณส่วนท้องตอนบนลงมา ซึ่งไข่จะไหลออกมาเมื่อโดนแรงบีบรีด เอากะละมังพลาสติกที่เตรียมไว้รองรับไข่ที่ไหลออกมา โดยปกติจะรีดไข่ผสมน้ำเชื้อใช้แม่ปลา 3-5 ตัว สำหรับน้ำเชื้อของปลาดุกจะต้องใช้สวิงจับปลาขึ้นมาแล้วใช้มีดผ่าท้อง ภายในช่องท้องตัวผู้จะเห็นถุงน้ำเชื้อสีขาวอมชมพู มีอยู่ 2 พู ใช้ปากคีบดึงถุงน้ำเชื้อทั้ง 2 พูออกมา ถ้ารีดไข่ปลาตัวเมีย 5 ตัว ก็ต้องใช้น้ำเชื้อจากปลาตัวผู้ 3 ตัว โดยนำเอาถุงน้ำเชื้อมาห่อรวมในผ้าขาวหรือกระชอนไนลอนตาถี่ แล้วทำการบีบขยี้เพื่อให้น้ำเชื้อแตกออกจากถุงน้ำเชื้อ พร้อมกับใช้น้ำเกลอ 0.7%หรือน้ำที่สะอาดเทราดลงไปที่ห่อดังกล่าว เพื่อชะล้างน้ำเชื้อที่บีบขยี้ออกมาให้ไหลลงบนไข่ปลาในกะละมัง พร้อมทั้งใช้ขนไก่คนให้ทั่วโดยใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที สำหรับปริมาณน้ำที่เทราดหรือใช้ผสมไข่กับน้ำเชื้อนั้นเพียงเล็กน้อย กะพอดีกับที่จะให้ท่วมไข่ และสามารถใช้ขนไก่คนไข่ผสมกับน้ำเชื้อสะดวก แล้วจึงเทน้ำที่ใช้ผสมไข่ครั้งแรกทิ้ง หลังจากการผสมประมาณ 3 นาที เติมน้ำที่สะอาดเพื่อล้างไข่ 1-2 ครั้ง จึงนำไข่ไปเพาะฟักต่อไป

3. การเพาะฟัก มีอุปกรณ์ต่างๆ ดังต่อไปนี้

-บ่อฟักซึ่งใช้สำหรับใส่กระชังอวนเปลเพื่อฟักไข่ ควรเป็นบ่อซีเมนต์ขนาด 10-15 ม.2 ลึกประมาณ 1 เมตร ขนาดและจำนวนของบ่อขึ้นอยู่กับปริมาณไข่ที่จะนำมาใช้ฟักจากการผสมเทียม บ่อฟัก ควรมีหลังคาคลุมเพื่อป้องกันแดดและฝนด้วย

-กระชังอวนเปลเพาะฟัก ทำด้วยผ้าไนลอนขนาดกว้าง 1 ม. ยาว 1.5 เมตร ลึก 45 ซม. อวนเปล 1 กระชัง จะใช้เพาะไข่ปลาดุกอุยได้ 1-2 แม่ และในบ่อฟักซีเมนต์ 2x5x1 เมตร จะสามารถใส่กระชังอวนเปลสำหรับเพาะไข่ได้ 5 กระชัง

-น้ำและระบบน้ำ น้ำที่ใช้เพาะไข่ปลาดุกควรเป็นน้ำที่กรองหรือทำให้ตกตะกอนแล้ว มีปริมาณพอที่จะสูบเปลี่ยนถ่ายจากบ่อเพาะฟักได้วันละ 1/3 ของบ่อตลอดระยะเวลาที่ใช้ในการเพาะฟัก 3-5 วัน และจะได้ผลดียิ่งขึ้นถ้าใช้เครื่องสูบน้ำชนิด submersible pump ขนาด  1/2 – 1 H.P. ตั้งไว้ใต้น้ำในบ่อฟัก สูบน้ำผ่านท่อเอสลอน ปล่อยให้ไหลลงกระชังตอนบนทุกกระชัง เพื่อให้น้ำไหลเวียนตลอดระยะการเพาะฟัก

-การใช้เครื่องเป่าลมช่วยในการเพาะฟักในทางปฎิบัติ สำหรับฟักไข่ปลาดุกไม่จำเป็น เพราะก่อให้เกิดปัญหาที่ทำให้ของเสียจากไข่ปลาที่ฟักให้เป็นตัว และเปลือกไข่ฟุ้งกระจายไปสัมผัสกับไข่ดี

เมื่อได้เตรียมอุปกรณ์ที่ใช้เพาะฟักเรียบร้อยแล้ว ก็นำไข่ที่ได้ทำการผสมเทียมไปโรยในกระบะ ที่วางแช่ไว้ในอวนเปล พยายามกระจายไข่ให้ทั่วกระบะอย่าให้ไข่กองทับกัน โดยใช้มือกวนน้ำแกว่งไปมา เมื่อโรยไข่ลงไป

หลังจากฟักไข่ 5-6 ชั่วโมง จะสังเกตลักษณะของไข่ดีและไข่เสียได้อย่างชัดเจน คือ ไข่ดีจะมีลักษณะสีเหลืองเหลือบแกมเทาเป็นมันแวววาว ส่วนไข่เสียจะมีลักษณะเป็นสีขาว น้ำในอวนเปลที่ใช้ฟัก ไข่จะมีกลิ่นคาวและเกิดเป็นฟองมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องควบคุมระบบน้ำที่ใช้อย่างใกล้ชิด และใช้ความประณีต ในการถ่ายเทเปลี่ยนน้ำตามความเหมาะสม โดยมิให้กระเทือนต่อไข่ปลาที่กำลังฟักเพื่อให้น้ำที่ใช้ในการเพาะฟักอยู่ในสภาพที่ดีตลอดเวลา

ภายใต้อุณหภูมิของน้ำระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ไข่จะฟักเป็นตัวในเวลา 20-30 ชั่วโมง และจะต้องระมัดระวังอย่าให้น้ำที่ใช้เพาะฟักมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 32 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้ไข่เสียมาก เมื่อลูกปลาฟักเป็นตัวหมดแล้วให้เก็บกระบะที่ใช้สำหรับให้ไข่ปลาติดออก ลูกปลาที่เพิ่งออกจากไข่จะเกาะเป็นกลุ่มอยู่ตามก้นกระชังในลักษณะหงายท้อง ทำให้เห็นถุงไข่อยู่ข้างบน และส่วนหางกระดิกอยู่ไปมา หลังจากลูกปลาฟักเป็นตัวประมาณ 40 ชั่วโมง ลูกปลาที่แข็งแรงจะสามารถว่ายน้ำได้ โดยว่ายขึ้นและลงระหว่างผิวน้ำกับพื้นก้นกระชัง หรือเกาะอยู่ข้างๆ กระชัง ในช่วง 48 ชั่วโมง ลูกปลาจะไม่ต้องการกินอาหาร ทั้งนี้เนื่องจากในถุงไข่ยังมีอาหารสำรองอยู่ ภายหลังที่ถุงอาหารยุบตัวลง ถ้าจะให้อาหารแก่ลูกปลาที่เพาะในกระชัง ควรทำการเปลี่ยนกระชังที่ใช้เพาะใหม่ เพราะกระชังเดิมมีสิ่งปฏิกูลจากไข่เสียเกาะอยู่เป็นคราบ ที่ก้นและข้างกระชัง เป็นอุปสรรคต่อระบบของน้ำที่ถ่ายเทไม่ได้ทั่วถึงประการหนึ่ง และเป็นปัญหาของเชื้อโรค ที่จะติดตามมาด้วย วิธีการเปลี่ยนกระชังก็ทำได้ง่าย โดยค่อยๆ ยกกระชังลูกปลาขึ้นให้ปลารวมอยู่ที่มุมกระชัง แล้วใช้กะละมังตักออกไปใส่กระชังใหม่ต่อไป

การอนุบาลลูกปลา

การอนุบาลลูกปลาดุกด้านและปลาดุกอุยทำได้หลายวิธี เช่น อนุบาลในกระชังบ่อปูนซีเมนต์และบ่อดิน

1. กระชังที่ใช้อนุบาลลูกปลาดุก ถ้าเป็นลูกปลาดุกด้านก็ใช้ชนิดและขนาดเดียวกับที่ใช้รวบรวมลูกปลาจากบ่อเพาะด้วยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ ส่วนกระชังอนุบาลลูกปลาดุกอุยก็ใช้ขนาดเดียวกันกับที่ใช้เพาะฟักไข่ อาหารที่ให้ลูกปลาดุกในกระชัง ควรใช้ไข่แดงจากไข่ไก่ที่ต้มสุกแล้ว นำมาบดให้ละเอียดในถ้วย แล้วเติมน้ำเล็กน้อย ใช้ช้อนคนให้ทั่วแล้วนำไปกรองด้วยผ้าบางไนลอน เมื่อจะนำไปใช้ก็เติมน้ำลงไปอีก 4-5 เท่า ใช้ช้อนตักสาดให้ลูกปลาในกระชังวันละ 4 ครั้ง การให้ไข่แดงเป็นอาหารไม่ควรเกิน 2 วัน เพราะ มิฉะนั้นจะทำให้น้ำเสีย เป็นสาเหตุให้ลูกปลาตาย อาหารที่ดีที่สุดของลูกปลาดุกวัยอ่อนคือ ลูกไรเป็นๆ ซึ่งจะไม่ทำให้น้ำเสีย และลูกปลาแข็งแรงและโตเร็ว อนิ่ง การอนุบาลลูกปลาดุกในกระชังซึ่งมีความหนาแน่นสูงนั้น ควรใช้ปฏิบัติในระยะเวลาสั้นๆ และมีจุดประสงค์เพียงเพื่อให้ลูกปลาโตขึ้น แข็งแรงพอที่จะนำไปอนุบาลในที่อื่นต่อไป

2. การอนุบาลในบ่อซีเมนต์

-บ่อซีเมนต์ขนาดเล็กหรือถังส้วมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ม. สูง 50 ซม. สถานที่ตั้งบ่อซีเมนต์ดังกล่าวจะต้องมีหลังคาคลุมเพื่อป้องกันแดดและฝนได้ เติมน้ำในบ่อให้สูงประมาณ 30 ซม. ปล่อย ลูกปลาดุกในอัตราส่วน 500-600 ตัว/ม.2 ให้อาหารประเภทไรแดงและเสริมด้วยอาหารสำเร็จรูป ปั้นเป็นก้อนให้วันละ 2 ครั้งในตอนเช้าก่อนที่จะให้อาหาร ต้องใช้สายยางดูดของเสียและเศษเหลือของอาหารจากก้นปอ พร้อมทั้งดูดนํ้าทิ้งประมาณ 1/3 ของบ่อ และเติมน้ำใหม่ให้เท่าระดับเดิม แล้วจึงให้อาหาร ปฏิบัติเช่นนี้ทุกๆ วัน จนกว่าลูกปลาจะโตได้ขนาด 2-3 ซม.โดยใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 2-3 สัปดาห์ ซึ่งหลังจากนี้ก็สามารถจะนำลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อดินเพื่อเลี้ยงขุนเป็นปลาใหม่ หรือทำการลำเลียงขนส่งด้วยระยะทางไกลๆ ได้

-ปอซีเมนต์ขนาด 20-60 ม.2 ควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าสร้างลอยบนพื้นดิน มีความสูงประมาณ 60 ซม. พื้นก้นบ่อเรียบและลาดเอียงเล็กน้อยไปทางหัวหรือท้ายบ่อ เพื่อสะดวกในการระบายน้ำรวบรวมลูกปลา การระบายนํ้าเข้าออกทำเป็นแบบใช้ท่อที่มีลิ้นปิดเปิดได้ ขนาดของท่อและลิ้นปิดเปิดใหญ่หรือเล็กขึ้นอยู่กับขนาดของบ่อ ตัวบ่อดังกล่าวไม่จำเป็นต้องมีหลังคาปกคลุม การอนุบาลลูก ปลาดุกในบ่อซีเมนต์ขนาดใหญ่มีวิธีการปฏิบัติดังนี้

วันที่ 1 เตรียมบ่อโดยทำความสะอาดบ่อ พร้อมทั้งเติมนํ้าลงในบ่อให้สูงประมาณ 5-7 ซม. แล้วใช้อาหารสำเร็จรูปซึ่งเป็นอาหารไก่หรือหมูชนิดเม็ดหรืออาหารสูตรของสถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติ ในอัตราส่วนอาหาร 120 กรัม/ม.2 โดยหว่านให้ทั่วบ่อ ทิ้งค้างไว้ 1 คืน

วันที่ 2 เติมน้ำให้สูงขึ้นเป็น 30 ซม. แล้วนำไรแดงที่มีชีวิตปล่อยลงในบ่อดังกล่าว อัตราส่วนไรแดง 100 กรัม/เนื้อที่บ่อ 10 ม.2

วันที่ 3-4 ไรแดงจะขยายพันธุ์ในบ่อนี้ และจะขยายทวีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว สังเกตได้ตามขอบบ่อที่มีไรแดงเกาะเป็นกลุ่มก้อน

วันที่ 5 นำลูกปลาดุกที่รวบรวมหรืออนุบาลไว้ในกระชังชั่วคราว นำมาปล่อยในอัตรส่วน 250-300 ตัว/ม.2

วันที่ 6 ให้อาหารเสริมซึ่งมีส่วนผสมของปลาป่น กากถั่ว รำละเอียด แป้งเหนียว และวิตามิน-แร่ธาตุ นำมาผสมน้ำปั้นเป็นก้อนโยนให้ปลากินทั่วบ่อหรือจะใช้ปลาสดผสมรำละเอียดบดให้ละเอียดในอัตรา 9 : 1 แทนก็ได้

ภายหลังจากวันที่ 6 แล้ว ทุกๆ 3 วัน ต้องเตืมน้าพในบ่อให้สูงขึ้นครั้งละประมาณ 5 ซม. ระหว่างการเลี้ยงไม่ต้องดูดสิ่งปฏิกูลก้นปอทิ้ง เมื่อครบ 2 สัปดาห์ ลูกปลาจะโตได้ขนาด 4-5 ซม. และมีอัตรารอดตายสูง จึงนับได้ว่าเป็นวิธีที่ดี ประหยัดเวลาและแรงงาน แต่มีข้อเสียในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสร้างบ่อซีเมนต์ค่อนข้างสูงแต่คุ้มค่าในระยะยาว

3. การอนุบาลในบ่อดินหรือนาข้าว เหมาะสมที่จะนำไปปฏิบัติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะใช้ต้นทุนต่ำ บ่อที่ใช้ควรเป็นบ่อดินหรือนาข้าวขนาด 100-200 ม.2 ที่สามารถเก็บกักน้ำให้สูงได้ ประมาณ 60-80 ซม. สำหรับนาข้าวที่ใช้อนุบาลลูกปลาดุกควรขุดคูโดยรอบภายในเช่นเดียวกับที่ใช้เลี้ยงปลา เพื่อให้ลูกปลามารวมตัวกันอยู่ในขณะที่ลดระดับน้ำจับปลา ส่วนบ่อดินควรจะขุดคูด้านใดด้านหนึ่งโดยเลือกจากทางด้านที่เอียงลาดต่ำให้มีขนาดกว้าง 1 เมตร ลึก 20 ซม. จากพื้นก้นบ่อ เพื่อใช้ประโยชน์ในการรวบรวมลูกปลาเช่นเดียวกัน

การเตรียมบ่อดินหรือนาข้าวเพื่ออนุบาลลูกปลา ควรปฏิบัติดังนี้

-ตากบ่อให้แห้งโดยใช้เวลา 2-3 วัน

-ใส่ปูนขาวอัตรา 100-150 กก./ไร่

-ใส่ปุ๋ยคอกแห้งอัตรา 200-250 กก./ไร่

-เติมน้ำเข้าบ่อให้มีระดับสูง 30 ซม. จากพื้น ทิ้งไว้ 5-7 วัน

-เติมเชื้อไรแดง 3-5 กก./ไร่

อัตราส่วนที่ปล่อยลูกปลาลงเลี้ยงอนุบาล หลังจากที่สังเกตเห็นลูกไรเกิดขึ้นตามขอบบ่อพอสมควร โดยปกติจะหลังจากปล่อยเชื้อไรแดงแล้ว 2 วัน จึงปล่อยลูกปลาดุกลงเลี้ยงในอัตราส่วน 250-300 ตัว/ม.2 และทุกๆ 3 วัน เพิ่มปริมาณนํ้าให้มีระดับสูงขึ้น 5 ซม. เริ่มหัดให้ลูกปลากินอาหารเสริม ภายหลังจากปล่อยปลา 1 วัน โดยเลือกที่ 2-3 จุดในบ่อเป็นที่ให้อาหารเป็นประจำ สำหรับในภาคอีสานไม่

มีปลาเป็ดสด ดังนั้น จึงควรให้อาหารสำเร็จรูปปั้นเป็นก้อนโดยให้กินวันละน้อยก่อน และค่อยๆ เพิ่มจำนวนอาหาร เมื่อมีปลามากให้อาหารมากขึ้น หลังจากเลี้ยงลูกปลาในบ่ออนุบาลดังกล่าว 2-3 สัปดาห์ ลูกปลาจะ โตขึ้นเป็นขนาด 4-6 ซม. เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งลูกปลาขนาดดังกล่าวนี้เหมาะสมที่จะทำการคัดจับนำไปเลี้ยงเป็นปลาขุนส่งตลาด หรือจำหน่ายให้แก่ผู้ซื้อไปเลี้ยงเป็นปลาใหญ่ได้แล้ว การคัดจับทำได้โดยใช้อวนตาถี่ ลากจากด้านหนึ่งของบ่อไปยังอีกด้านหนึ่งเพียงครั้งเดียว เพื่อป้องกันลูกปลาบอบช้ำจากการตีอวน และเมื่อจะตีอวนครั้งต่อไป ควรเว้นระยะไปสัก 2-3 วัน เมื่อลูกปลามีน้อยและรวบรวมด้วยอวนไม่ได้จำนวนมาก ถ้าสามารถระบายน้ำออกทางท่อได้โดยที่ปลายท่อมีกระชังรูปสี่เหลี่ยมขนาด 1×10.5 เมตร รองรับอยู่ในคูระบายน้ำ ลูกปลาที่เหลืออยู่ในบ่อก็จะไหลออกมาจากบ่อ ผ่านท่อลงกระชังจนหมด แต่ถ้าไม่มีท่อระบายน้ำดังกล่าว ก็ใช้เครื่องสูบวิดน้ำให้น้ำแห้งจากพื้นบ่อหรือน้ำที่อนุบาลลูกปลา และทำการรวบรวมลูกปลาที่ตกค้างอยู่ในคูที่ขุดไว้ได้สะดวก

ปริมาณอาหารสำเร็จรูปผสมน้ำประมาณ 40% ขยำปั้นเป็นก้อนให้ปลากิน

วันที่ กรัม/10,000 ตัว สูตรอาหารสำเร็จรูป โดยน้ำหนัก
1 – 2 120 ปลาป่น 56
3-6 150 รำละเอียด 12
7-12 180 กากถั่วลิสงป่น 12
13 – 15 200 แป้งเหนียว 14
16 – 18 250 น้ำมันปลา

วิตามินและแร่ธาตุ

สารเหนียว

รวม

4

1.6

0.4

100.0

การเลี้ยงเป็นปลาใหญ่

การเลี้ยงปลาดุกด้านหรือปลาดุกอุยเพื่อเป็นปลาขนาดใหญ่ สำหรับจำหน่ายในท้องตลาด ใช้วิธีเลี้ยงคล้ายกัน โดยสามารถเลี้ยงได้ทั้งในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ และกระชังส่วนการที่จะพิจารณาเลี้ยงปลาดุกด้วยวิธีใดนั้นจะต้องพิจารณาโดยรอบคอบ โดยเฉพาะการเลี้ยงปลาชนิดนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีข้อจำกัดจากสภาพแวดล้อมอยู่หลายประการ อาทิ อาหารปลาต้องใช้อาหารสำเร็จรูปซึ่งมีราคาแพง พันธุ์ปลาที่ขาดแคลน ดินและน้ำบางแห่งขาดความอุดมสมบูรณ์ ส่วนข้อดีของปลาดุกคือ เป็นพันธุ์ปลาที่มี ความอดทนต่อสภาวะของน้ำที่เลว และในน้ำที่มีออกซิเจนเพียงเล็กน้อยก็สามารถอยู่ได้ เพราะมีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจ จึงสามารถเลี้ยงได้ในบ่อเล็กๆ และมีความหนาแน่นสูง กินอาหารที่มีโปรตีนสูง และโตเร็ว สิ่งที่เอื้ออำนวยสำคัญก็คือ ราคาที่จำหน่ายปลาได้สูงในท้องตลาด ดังนั้น ถึงแม้ว่าผู้เลี้ยงจะให้อาหารสำเร็จรูปก็คุ้มทุนและมีกำไรมาก สำหรับปลาดุกอุยราคาจำหน่ายจะสูงกว่าปลาดุกด้านถึง 20-30% เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดีกว่า และประชาชนนิยมบริโภค ตลาดมีความต้องการสูง ดังนั้น ในภูมิภาคนี้จึง เหมาะสมที่จะส่งเสริมให้มีการเลี้ยงปลาชนิดนี้มากขึ้น

สำหรับปัญหาเรื่องขาดแคลนปลาดุกอุยก็สามารถจะแก้ไขได้ในปัจจุบัน เพราะการเพาะปลาดุกอุยทำได้ง่ายด้วยวิธีผสมเทียม ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น

บ่อดินหรือนาข้าวที่ดัดแปลงเป็นบ่อเลี้ยงปลาดุกอุย เนื้อที่ของบ่อหรือนาข้าวที่ใช้เลี้ยงปลาดุกอุยไม่ต้องใช้ขนาดใหญ่ เพราะปลาดุกอุยสามารถจะเลี้ยงได้ในความหนาแน่นสูง ดังนั้น พื้นที่ของบ่อที่ เหมาะสมคือ 200-400 ม.2 สามารถเก็บกักน้ำได้ 80-100 ซม. ฟาร์มขนาดเล็กควรมีบ่อเลี้ยงปลาดุก 4-6 บ่อ เพื่อหมุนเวียนจับปลาจำหน่ายมีรายได้หลักเพียงพอต่อธุรกิจการเลี้ยงปลาชนิดนี้ ส่วนทำเลที่ตั้งของบ่อควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง เขตชลประทาน หรือเลี้ยงในช่วงฤดูฝนที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะการเลี้ยงปลาชนิดนี้ถึงแม้จะใช้บ่อเล็กแต่ก็ต้องใช้น้ำมากเพื่อถ่ายเทเปลี่ยน

อัตราส่วนที่ปล่อยปลา เมื่อเตรียมบ่อพร้อมแล้วก็ชุบน้ำเข้าบ่อให้มีระดับน้ำลึกประมาณ 60 ซม. ปล่อยลูกปลาดุกอุยขนาด 3-5 ซม. จากบ่ออนุบาล หรือจัดซื้อหามาประมาณ 20-25 ตัว/พื้นที่ผิว

1 ม.2 และถ้าเป็นปลาขนาด 5-7 ซม. ควรปล่อย 15-20 ตัว/ม.2 เวลาที่ควรปล่อยปลาคือ เวลาเช้าหรือเย็น หรือในเวลากลางวันที่ไม่มีแดดจัด

การใส่ยากำจัดเชื้อโรคและป้องกันโรค เนื่องจากลูกปลาดุกมีเชื้อโรคติดมา และบ่อที่เคยใช้เลี้ยงปลามาแล้วก็มักจะมีเชื้อโรคหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อปลาที่นำมาเลี้ยงใหม่ ดังนั้น เมื่อปล่อยลูกปลาดุกลงเลี้ยงแล้ว จะต้องใช้น้ำยาฟอร์มาลีนสาดให้ทั่วบ่อ ให้มีความเข้มข้นของฟอร์มาลิน 4 ส่วนในล้าน คือ ปริมาตรของน้ำในบ่อ 1 ลูกบาศก์เมตร ใช้น้ำยาฟอร์มาลิน 40 ลูกบาศก์เซนติเมตร เช่น ถ้าน้ำในบ่อมี 100 ลูกบาศก์เมตร จะต้องใช้น้ำยาฟอร์มาลิน 4 ลิตร เป็นต้น ในเย็นวันที่ปล่อยปลา ไม่ต้องให้อาหารปลา และในวันรุ่งขึ้นจึงเริ่มให้อาหารปลา และเพิ่มระดับน้ำในบ่อขึ้นอีก 10 ซม. หลังจากการเลี้ยงปลามา 2 สัปดาห์ ต้องใส่น้ำยาฟอร์มาลินที่มีความเข้มข้นเดิมซ้ำอีกครั้ง เพื่อกำจัดพยาธิที่เกาะอยู่ตามเหงือกและครีบปลา และใส่ซ้ำอีกครั้งหลังจากใส่ครั้งที่ 2 เป็นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน การที่ต้องใส่น้ำยาฟอร์มาลินซ้ำใน ครั้งที่ 2 และ 3 นั้น เป็นการป้องกันโรคมิให้เกิดขึ้นแก่ปลาดุกที่เลี้ยง ซึ่งปฏิบัติได้ผลดีในการเลี้ยงปลาชนิดนี้

อาหารและการให้อาหาร ดังได้กล่าวแล้วว่า การเลี้ยงปลาชนิดนี้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งไม่มีอาหารจำพวกปลาเป็ดสด ไส้ไก่ และปลาทูสด จากโรงงานอุตสาหกรรม จึงจำเป็นที่จะใช้อาหาร สำเร็จรูปที่ผสมขึ้น หรือซื้อจากบริษัทที่ผลิตอาหารจำหน่ายมาใช้แทน สำหรับสูตรอาหารที่ใช้ก็ใช้สูตรเดียวกันกับอาหารสำเร็จรูปที่ใช้อนุบาลลูกปลาซึ่งได้เสนอไว้แล้วในเบื้องต้น การให้อาหารในช่วงแรก ของการเลี้ยงปลาเล็ก ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในช่วงนี้จะกินเวลานาน 30-40 วัน ส่วนปริมาณของลูกปลาดุกที่เลี้ยงจำนวน 10,000 ตัว ได้กำหนดไว้เป็นหลักซึ่งผู้เลี้ยงจำเป็นต้องคำนวณปรับใช้ตามความเหมาะสมต่อไป

ตารางแสดงปริมาณอาหารที่ให้ต่อวันของลูกปลาขนาดประมาณ 3 ซม.ขึ้นไป

อาทิตย์            (กิโลกรัม/10,000 ตัว)

1                                      5.0

2                                      6.0

3                                      7.5

4                                      9.0

5                                      11.0

6                                      13.0

7                                      15.0

8                                      17.0

9                                      20.0

10                                    23.0

11                                    26.0

12                                    29.0

13                                    33.0

14                                    37.0

15                                    41.0

16                                    45.0

จากตารางอาหารที่กำหนดให้ ผู้เลี้ยงจะต้องคอยสังเกตการกินอาหารของปลาด้วย ทั้งนี้ในบางช่วงที่มีฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน หรืออากาศมืดครึ้มปลาจะกินอาหารน้อยลง ทำให้อาหารเหลือและเป็นเหตุให้น้ำเสีย ซึ่งในกรณีนี้ผู้เลี้ยงต้องลดปริมาณอาหารลง และค่อยๆ เพิ่มอาหารเข้าสู่ระดับเดิมเมื่อสภาพของอากาศเป็นปกติ

อนึ่ง จากประสบการณ์ของผู้เลี้ยงปลาดุกอุยและนักวิชาการพบว่า สูตรอาหารดังกล่าวจะมีอัตราแลกเนื้อ (F/C) ประมาณ 2 : 1 และช่วงระยะเวลาในการเลี้ยงต่อครั้งประมาณ 120 วัน มีผลผลิต 4-6 ตัน/ไร่/ปี