การเพาะเลี้ยงปลาตะเพียนขาว

ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาพื้นเมืองและเป็นปลาที่คนไทยโดยทั่วไปรู้จักทั่วทุกภาคของประเทศ ปลาตะเพียนขาวมีชื่อสามัญหรือภาษาอังกฤษว่า Tawes หรือ Java carp มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Puntius gonionotus (Bleeker) ในด้านโภชนาการนั้นเป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่คนไทยทั้งในเมือง และชนบท เป็นปลาที่สามารถนำมาเลี้ยงและเพาะขยายพันธุ์ได้ง่าย จึงเป็นปลาพื้นเมืองที่ได้รับการคัดเลือก ให้ส่งเสริมในการเพาะเลี้ยงชนิดหนึ่ง

การเพาะเลี้ยงปลาตะเพียนขาวได้ทำเป็นครั้งแรกก่อนปี 2503 ที่สถานีประมง (บึงบอระเพ็ด) นครสวรรค์ และต่อมาได้พัฒนาในการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้ทั้งวิธีเลียนแบบธรรมชาติและผสมเทียม จนสามารถเผยแพร่ จำหน่าย จ่ายแจกได้ที่สถานประมงจังหวัดเชียงใหม่ และสถานีประมงสถาบันอื่นๆ ตลอด

แหล่งกำเนิดและการแพร่

ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่แถบแหลมอินโดจีน ชวา ไทย สุมาตรา อินเดีย ปากีสถาน ขณะนี้ยังมีชุกชุมในถิ่นดังกล่าว

สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ อันได้แก่ แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึงต่างๆ ทั่วทุกภาคของประเทศ กล่าวว่า สำหรับในประเทศไทยนั้น หากจะค้นไปถึงว่าปลาชนิดนี้ประชาชนรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยใด เชื่อกันว่าปลาชนิดนี้มีอยู่คู่กับแม่น้ำ ลำคลอง ในแถบภูมิภาคนี้นานหนักหนาแล้ว นับตั้งแต่สมัยสุโขทัย หรืออาจจะก่อนกว่านั้น เพราะมีลายของถ้วยชามเครื่องเคลือบปรากฎเป็นรูปปลา ตะเพียนขาวให้เห็นอยู่กลาดเกลื่อน แต่ชื่อ “ตะเพียน” ที่ใช้เรียกขานกันเพิ่งจะมาพบเป็นหลักฐานในสมัย อยุธยาตอนปลาย จากพงศาวดารฉบับกรมพระปรมานุชิตชิโนรส และฉบับพระหัตถเลขามีข้อความต้องกันอยู่ว่า สมเด็จพระเจ้าท้ายสระชอบเสวยปลาตะเพียนถึงกับตั้งกำหนดโทษแก่คนที่กินปลาตะเพียนว่า จะต้องถูกปรับถึง 5 ตำลึง

รูปร่างลักษณะ

ปลาตะเพียนขาวมีลักษณะลำตัวแบนข้าง หัวเล็ก ปากเล็ก ริมฝีปากบาง ขอบส่วนหลังโค้งยกสูงขึ้น ความยาวจากสุดหัวจรดปลายหาง 2.5 เท่าของความสูง จะงอยปากแหลม มีหนวดเส้นเล็กๆ 2 คู่ต้นของครีบหลังอยู่ตรงกันข้ามกับเกล็ดที่สิบของเส้นข้างตัว เกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวมี 29-31 เกล็ด ลำตัวมีสีเงิน ส่วนหลังมีสีคล้ำ ส่วนท้องสีขาว ที่โคนของเกล็ดมีสีเทาจนเกือบดำ ปลาตะเพียนขาวขนาดโตเต็มที่มีลำตัวยาวสูงสุดถึง 50 ซม. ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีความยาวกว่า 32.5 ซม.

ลักษณะเพศ

การตรวจลักษณะความแตกต่างระหว่างตัวผู้และตัวเมียจากลักษณะภายนอก มี 3 วิธี คือ

1. ดูจากครีบท้องของตัวผู้ เมื่อจับครีบท้องให้แนบขนานไปกับท้องไปทางครีบทวารแล้วจะยาวจรดถึงโคนฐาน ครีบทวารด้านหน้าหรือเลยฐานครีบทวารเล็กน้อย ส่วนตัวเมียครีบท้องจะยาวไม่ไม่ถึง โคนครีบทวาร

2. โดยใช้มือสัมผัสเกล็ดที่ลำตัวหรือส่วนแก้มจะรู้สึกสากมือสำหรับตัวผู้และถ้าเป็นตัวเมียจะรู้สึกมีเมือกลื่นเช่นเดียวกับพวกปลาไน ปลากระแห ปลาจีน

3. ลักษณะแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่นั้น ส่วนท้องจะอูม ส่วนท้องจะมีสีเหลืองเรื่อ ๆ และกว้างกว่าตัวผู้ เมื่อเอามือจับจะนิ่ม ช่องเพศมีสีแดงเรื่อๆ และรูก้นกว้างกว่าปกติ มองจากส่วนหลังของปลาจะเห็นท้องยื่นออกมาทางด้านข้างทั้งสองข้าง ส่วนตัวผู้ส่วนท้องจะแข็งเมื่อเอามือลูบส่วนท้องเบาๆ จะมีน้ำเชื้อสีขาวข้นไหลออกมา

อุปนิสัยและคุณสมบัติบางประการ

ความเป็นอยู่  .

ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาที่หลบซ่อนอยู่ตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง ที่มีกระแสน้ำไหลอ่อนๆ หรือน้ำนิ่ง เป็นปลาที่ทนต่อสิ่งเปลี่ยนแปลงและสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพสิ่งแวดล้อมได้ดี ไม่อยู่รวมกันเป็นฝูง นอกจากเวลาสืบพันธุ์และวางไข่

ปลาชนดนี่สามารถเจริญเติบโตในน้ำกร่อยที่มีความเค็มไม่เกิน 7 ส่วนพัน อุณหภูมิเหมาะสม สำหรับปลาชนิดนี้อยู่ระหว่าง 25-33°C อุณหภูมิต่ำสุดของปลาชนิดนี้พออยู่ได้ราว 15°C

นิสัยการกินอาหาร

1. ระบบการกินอาหาร ได้เคยมีการตรวจสอบระบบการกินอาหารของปลาตะเพียนขาวขนาด 12.5-25.5 ซม. พบว่ามีฟันในลำคอ (Pharyngeal teeth) เป็นชนิดกัดบดแบบสามแถว มีซี่เหงือกสั้นๆ อยู่ห่างกันพอประมาณ ท่อทางเดินอาหารกระเพาะอาหารไม่มีลักษณะแตกต่างจากลำไส้ ลำไส้มีผนังบางๆ ยาวขดเป็นม้วนยาว 2.02-2.73 เท่าของความยาวสุดของลำตัว

2. นิสัยการกินอาหาร กล่าวกันว่าลูกปลาตะเพียนขาววัยอ่อนกินสาหร่ายเซลล์เดียวและแพลงก์ตอนสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังพบว่าลูกปลาตะเพียนขาวที่มีอายุขนาด 32 ตัวจะเริ่มเปลี่ยนนิสัยการกินอาหารมากินใบสาหร่ายหางกระรอกคือ จะเปลี่ยนนิสัยการกินอาหารจากกินพวกแพลงก์ตอนทั้งพืช และสัตว์มาเป็นกินพืช ส่วนพวกปลาขนาด 3-5 นิ้ว กินพวกพืชชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่

3. ระยะเวลาการกินอาหาร ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาหากินกลางวัน โดยได้พบว่าระหว่างเวลา 08.00-16.00 น. พบว่าในกระเพาะอาหารมีอาหารเต็ม 100%

อาหาร

ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาที่สามารถกินอาหารได้กว้างหลายชนิด ทั้งพืชและสัตว์ชนิดของอาหารสามารถจำแนกได้ ดังนี้คือ

1. พวกพีชื เริ่มจากพืชชั้นต่ำ พวกพืชเซลล์เดียว สาหร่ายน้ำเงินเขียว สาหร่ายเขียว พวกไดอะตอม ฯลฯ พืชชั้นสูง เช่น แหนแดง แหนเป็ด สาหร่ายพุงชะโด ผักบุ้ง พืชบก เช่น ใบมันเทศ ใบมันสำปะหลัง พวกผักกินใบต่างๆ ใบกระถิน ใบแค หญ้า ฯลฯ

2. พวกสัตว์ เริ่มจากพวกโปรโตซัว โรติเฟอร์ พวกหนอน ไรน้ำ กุ้งฝอย แมลง หอย ลูกปลา ฯลฯ

การสืบพันธุ์และการวางไข่

ได้มีรายงานจากคนหลายคนกล่าวเป็นทำนองเดียวกันว่า ปลาตะเพียนขาววางไข่ในฤดูฝน และพอจะสรุปได้ว่าประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม

1. นิสัยในการวางไข่และผสมพันธุ์ในธรรมชาติ ปลาตะเพียนขาวจะว่ายทวนน้ำขึ้นไปวางไข่ต้นน้ำลำธาร ชอบวางไข่บริเวณฝั่งของลำธารเล็กๆ ที่ไหลรวมกับลำธารใหญ่ซึ่งมีสภาพเป็นโคลน การ ผสมพันธุ์วางไข่นั้นพ่อแม่ปลาจะรวมกันเป็นฝูงใหญ่ พ่อแม่ปลาจะวางไข่ในระยะเวลาฝนเริ่มตกและหลังจากฝนตก 2-3 ครั้ง ปลาก็จะวางไข่หมด

จากการสังเกตการผสมพันธุ์วางไข่ของพ่อแม่ปลาตะเพียนขาวที่เร่งให้รังไข่สุกด้วยฮอร์โมน พบว่า ปลาตัวผู้จะมีการแข่งขันแย่งปลาตัวเมีย ตัวผู้ที่แข็งแรงหรือโตกว่าจะขับตัวผู้อื่นๆ ให้หนีห่างจากตัวเมีย ดังนั้น ตัวผู้ที่แข็งแรงที่สุดจึงมีโอกาสที่จะผสมพันธุ์ได้ก่อนตัวผู้อื่นๆ

ได้มีผู้เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้หลายคนได้กล่าวถึงว่า ปลาตะเพียนขาวจะวางไข่เป็นระยะเวลาห่างกัน 2 ชั่วโมง จนหมดท้องบ้าง 5-10 นาที หมดท้องบ้าง และได้มีบางคนกล่าวว่าแม่ปลาจะไม่วางไข่ ทีเดียวหมดท้อง

2. พฤติกรรมของการผสมพันธุ์และวางไข่ของปลาตะเพียนขาวที่แม่โจ้ ว่าปลาจะเริ่มผสมพันธุ์และวางไข่กันประมาณ 18.00 น. เศษ แต่ส่วนมากจะพบในเวลา 4 ทุ่มเศษขึ้นไป ตามธรรมชาติเมื่อถึงเวลาที่ปลาจะผสมพันธุ์ ปลาจะมารวมตรงนํ้าไหล และเริ่มส่งเสียงฮือๆ (humming noise) ประมาณ 30 นาที แล้วหยุดประมาณ 1 นาที แล้วส่งเสียงอีกสลับกันไปมาเช่นนี้ประมาณ 30-45 นาที จากนี้ก็จะร้องถี่เข้าและดังขึ้นอีก 2-3 นาที แล้วการผสมพันธุ์ก็จะเริ่มขึ้น ขณะผสมพันธุ์ปลาจะร้องฮือๆ ควบคู่กันไปจนสิ้นสุดการผสมพันธุ์พฤติกรรมส่งเสียงร้องในเวลาผสมพันธุ์ได้กล่าวในเอกสารคู่มือการเลี้ยงปลาในองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติเช่นกัน

การส่งเสียงฮือๆ ของปลาตะเพียนขาวนี้ได้สันนิษฐานว่าปลาปล่อยลมออกจากกระเพาะลมให้ผ่านหลอดคออย่างเร็วจนเกิดเสียงขึ้นได้ เพราะกระเพาะลมตอนหน้ามี pneumatic duct ไปเปิดที่หลอดคอ

3. ลักษณะของไข่ ได้มีผู้กล่าวถึงลักษณะขนาด สีของไข่ปลาตะเพียนขาวพอจะสรุปได้ คือ เป็นไข่มีลักษณะกลมเล็กเมื่อออกมาใหม่ๆ ก่อนพองนํ้าจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ระหว่าง 0.5-0.8 มม. และเมื่อพองน้ำเต็มที่แล้ว ไข่จะมีขนาด 2.5-3.5 มม. สีของไข่มีสีเขียวครามอ่อนๆ บ้างก็ว่าเป็นสีเทา และบางคนก็บอกว่ามีเหลืองแกมเขียวอ่อนๆ

ไข่ปลาตะเพียนขาวเป็นไข่ไม่ติด เมื่อพองน้ำแล้วเป็นไข่ประเภทครึ่งลอยครึ่งจม กล่าวคือ ถ้าน้ำนิ่งไข่จะจม ถ้ามีกระแสน้ำช่วยพยุงไข่ก็จะลอยตัว

4. ความดกของไข่ ความดกของไข่ปลาตะเพียนขาวมีความแตกต่างกันมากซึ่งอาจขึ้นอยู่กับอายุ ขนาดและวิธีการเลี้ยงแม่ปลา

5. การฟักไข่ ระยะเวลาการฟักออกเป็นตัวและระยะถุงอาหารยุบหมดนั้นขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำที่ใช้ฟักไข่ ถ้าอุณหภูมิตํ่าก็จะฟักออกเป็นตัวช้า และถ้าอุณหภูมิสูงก็จะฟักเป็นตัวเร็วขึ้น เช่น ไข่ปลาจะฟักออกเป็นตัวภายหลังจากได้รับการผสมแล้ว 12 ชั่วโมง 25 นาที และถุงอาหารจะเหลือน้อยเป็นส่วนสุดท้ายใช้เวลา 18 ชั่วโมง 25 นาที ที่อุณหภูมิของน้ำ 25°ซ. และถ้าที่อุณหภูมิของน้ำ 26-31 °ซ. ไข่ปลาจะฟักออกเป็นตัว 8.30-11.50 ชั่วโมง ลูกปลาจะเริ่มกินอาหารเมื่ออายุได้ 2 วัน ตามหลักฐานและข้อมูลทั่วๆ ไปพบว่าไข่ปลาจะฟักออกเป็นตัวตั้งแต่ 8-12 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 26-30°ซ. และเมื่ออายุครบ 2 วัน ถุงอาหารจะยุบและเริ่มกินอาหาร

อายุและการเจริญเติบโต

1. อายุและขนาดของลูกปลา ได้มีการศึกษาอายุและขนาดของลูกปลาตะเพียนขาว ที่ไดรับจากการผสมเทียมด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนพบว่าลูกปลาตะเพียนขาว เมื่อฟักออกมาใหม่ๆ จะมีขนาดยาวสุด ประมาณ 3 มม. เมื่ออายุ 2 สัปดาห์ จะมีความยาว 1.2 ซม. และอายุ 1 เดือน มีความยาว 1.5 ซม. เมื่อนำลูกปลาตะเพียนขาวขนาด 1.5 ซม. จำนวน 30,000 ตัว ปล่อยลงในบ่อดินซึ่งมีเนื้อที่ผิวน้ำประมาณ 150 ตารางเมตร เป็นเวลา 1 เดือน มีผลให้ปลาตะเพียนขาวเติบโตระหว่าง 3.5-9.5 ซม. และหนัก 4-16 กรัม

โดยทั่วไปลูกปลาที่มีอายุ 1 เดือน ที่เลี้ยงไว้ในบ่ออนุบาลตามสถานประมงน้ำจืดของกรมประมง จะมีความยาว 2.0-3.5 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่จำหน่ายให้ประชาชนซื้อไปทำการเลี้ยง ขนาดของลูกปลาอาจโตเร็ว แตกต่างจากนี้บ้าง หากมีการให้อาหารที่มีคุณภาพ มีสิ่งแวดล้อมและการเอาใจใส่ที่ดีกว่า

2. อายุและขนาดของปลาเต็มวัยได้พบว่าปลาที่เลี้ยงในบ่อของสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดเชียงใหม่ อายุ 8 เดือน เริ่มจะมีไข่และน้ำเชื้ออ่อน หลังจากขุนด้วยอาหารจำพวกกากถั่วสิสงต้มผสมรำและผัก เป็นเวลา 2 เดือน หรือปลายเดือนพฤษภาคม (อายุ 10 เดือน) ก็ผสมพันธุ์และวางไข่ สำหรับปลาตะเพียนขาวที่พบในธรรมชาติ เช่น ในเขื่อนอุบลรัตน์ จะมีไข่ครั้งแรกเมื่อมีขนาด 20.4 ซม.

3. ขนาดปลาที่เหมาะสมในการนำมาเพาะพันธุ์ แม้ปลาตะเพียนขาวจะเป็นพ่อ-แม่พันธุ์ได้ ตั้งแต่อายุยังน้อยก็ตาม แต่เมื่อนำมาทดลองเพาะพันธุ์ปรากฎว่า แม่ปลาขนาดหนัก 100 กรัม ให้ไข่ที่ฟักออกเป็นตัวแล้ว ลูกปลาจะไม่แข็งแรง อัตรารอดตายต่ำ แม่ปลาที่ดีควรมีน้ำหนักตั้งแต่ 200 กรัมขึ้นไป ลูกปลาที่ได้จะมีอัตรารอดตายสูง นอกจากนั้นยังมีข้อสังเกตที่ควรจดจำก็คือ การเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาว ควรเริ่มเพาะได้ราวต้นเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม หลังจากนั้นถัดไป 3 เดือน คือ พฤศจิกายน ธันวาคม และมกราคม ไม่สามารทำการเพาะได้เนื่องจากอุณหภูมิต่ำเพราะเข้าฤดูหนาว

เกี่ยวกับความสามารถในการสร้างรังไข่ใหม่ หลังจากการเพาะพันธุ์หนแรกแล้ว ต่อมาอีกประมาณ 2 เดือน ก็สามารถนำแม่ปลาตัวเก่ามาเพาะได้อีก นอกจากนั้นก่อนที่จะทำการเพาะพันธุ์ปลารวม 4 เดือน ควรเริ่มขุนอาหารพ่อ-แม่ปลา คือ ราวเดือนตุลาคมแม่ปลาจะเริ่มสร้างรังไข่ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พอถึงเดือนกุมภาพันธ์ก็สามารถนำปลามาเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งรวมเวลาแม่ปลาตั้งท้องประมาณ 3 เดือน ได้มีเอกสารคู่มือการเลี้ยงปลาขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ซึ่งกล่าวถึงปลาตะเพียนขาวว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ทุกๆ 4 เดือน และจะลดเวลาลงได้เป็นทุกๆ 3 เดือน ถ้าแม่ปลาได้รับการเลี้ยงดูดี แม่ปลาตัวหนึ่งๆ จะเพาะพันธุ์ได้สูงสุดถึง 5 ครั้ง ส่วนปลาตัวผู้สามารถนำมาผสมพันธุ์ได้อีกหลังจากที่เพาะแล้วประมาณ 50 วัน

การเพาะพันธุ์

ได้มีการเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาวในบ่อครั้งแรกในประเทศไทยที่สถานีประมง (บึงบอระเพ็ด) จังหวัดนครสวรรค์ ก่อนปี 2503 ต่อมาได้พัฒนาจนถึงขั้นเพาะพันธุ์ออกจำหน่ายได้ที่สถานีประมงจังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นก็ได้มีการพัฒนาการเพาะพันธุ์แบบช่วยธรรมชาติ โดยการฉีดฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง และถึงขั้นการผสมเทียมตามลำดับ จนกระทั่งแพร่หลายไปทั่วทุกสถานีประมงและฟาร์มเอกชนทั่วไป การเพาะพันธุ์ปลาตะเพียนขาวนั้นอาจแบ่งออกเป็นขั้นตอนต่างๆ คือ

การคัดปลาเพื่อเลี้ยงทำพ่อแม่พันธุ์

ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาในการคัดพันธุ์ปลาตะเพียนขาวให้เป็นพันธุ์หนึ่งพันธุ์ใดโดยเฉพาะ ดังนั้นในการคัดปลาเพื่อเลี้ยงทำพ่อแม่พันธุ์ ส่วนใหญ่จะคัดเลือกโดยวิธีดูจากลักษณะภายนอกทั่วๆ ไป เช่น

-ต้องเป็นปลาที่มีอัตราส่วนสัมพันธ์ของร่างกายถูกต้องตามลักษณะ

-จะต้องเป็นปลาที่เจริญเติบโตเร็วในครอก

-จะต้องเป็นปลาที่มีความสมบูรณ์แข็งแรงและสดใส

-จะต้องเป็นปลาที่ไม่มีบาดแผลตามลำตัวหรือส่วนใดขาดหาย หรือพิการ

-ต้องเป็นปลาที่ไม่มีโรคเบียดเบียน

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์

การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาตะเพียนขาว เพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการได้พ่อแม่พันธุ์ที่ดีนั้นย่อมมีผลกระทบกระเทือนที่จะได้ปริมาณลูกปลาที่รอดตายสูง โตเร็ว และ

แม้กระทั่งลดค่าใช่จ่ายในการเลี้ยงลงได้ด้วย

ในการเลี้ยงปลาเพื่อให้ได้พ่อแม่พันธุ์ที่ดีนั้น มีปัจจัยสำคัญที่ควรกล่าวถึง คือ

1. บ่อ แม้จะยังไม่มีการทดลองว่าบ่อขนาดเท่าใดจะพอเหมาะในการเลี้ยงปลาตะเพียนขาว แต่ก็มีแนวทางที่จะพิจารณาว่าบ่อขนาดเท่าใด จำนวนเท่าใดจะเหมาะสม เช่น

-ความสะดวกในการจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาทำการเพาะพันธุ์แต่ละครั้ง

-บ่อขนาดใหญ่ที่เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์มาก หากจับบ่อยครั้งพ่อแม่พันธุ์อาจได้รับความกระทบกระเทือน บอบช้ำ ส่งผลถึงการเพาะพันธุ์ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

-หากบ่อกว้างมากจะยังผลให้ต้องใช้แรงงานในการจับมากได้มีผู้ให้ความเห็นพอจะสรุปได้ ดังนี้

1. บ่อพ่อแม่ปลาควรมีขนาด 800-8,000 ม.2 และความลึก 1.5-2.5 เมตร

2. ถ้าต้องการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์จำนวนมากเพื่อใช้ในการเพาะพันธุ์ ไม่ควรเลี้ยงรวมกันในบ่อใหญ่ แต่ควรแยกเลี้ยงในบ่อเล็กหลายๆ บ่อ

3. จำนวนบ่อมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับปริมาณพ่อแม่พันธุ์เป็นเกณฑ์ และควรพิจารณาปริมาณจำนวนตัวผู้ซึ่งปกติใช้จำนวนมากกว่าตัวเมียคือ ประมาณ 2:1 อยู่แล้วเนื้อที่ที่จะเลี้ยงและจำนวนบ่อทั้งหมด คำนวณจาก 4 ม.2/ตัว

4. จากเอกสารการปรับปรุงแหล่งประมงน้ำลึก ใช้บ่อขนาด 27 X 100 X 1.5 ม. เป็นบ่อพ่อแม่พันธุ์

5. บ่อพ่อแม่พันธุ์ขนาดควรจะเล็กใหญ่เท่าใดนั้น ควรพิจารณาจากขนาดของกิจการ ชนิดของปลา ความสะดวกในการจับมาเพาะพันธุ์ ฯลฯ ส่วนความลึกของบ่อนั้นควรอยู่ในระหว่าง 1.5-2.5 ม.

2. น้ำและการถ่ายเทน้ำ ในบ่อเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลาควรได้มีการนำน้ำที่มีคุณสมบัติมาใช้ นอกจากนี้การถ่ายเทน้ำปอยๆ จะช่วยกระตุ้นให้อวัยวะสืบพันธุ์เติบโตเร็วขึ้น และการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์กับความถี่ในการถ่ายเทน้ำ นอกจากนี้การลดและเพิ่มระดับน้ำตามจังหวะที่เหมาะสม ก็เป็นการช่วยให้อวัยวะสืบพันธุ์เติบโตเร็วขึ้นเช่นเดียวกับน้ำฝน น้ำท่วม และกระแสน้ำ ย่อมมีอิทธิพลต่อการเจริญของอวัยวะสืบพันธุ์ไปพร้อมกันด้วย

เกี่ยวกับการส่งน้ำเข้าบ่อและระบายน้ำออกนั้น มีข้อที่น่าสังเกตและการพิจารณาได้ เช่น หากเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ในบ่อเดียวกัน ปลาอาจผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และในจังหวะที่มีการถ่ายเทน้ำเข้าบ่อ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์แยกบ่อกันจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้หากมีบ่อเพียงพอ

3. ความหนาแน่นของปลาหรืออัตราปล่อยปลาทุกชนิด ถ้าปล่อยลงบ่อเลี้ยงจนหนาแน่นเกินไป จะทำให้การเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์ไม่ดี เนื่องจากปลาจะกลั่นและปลดปล่อยสารต่างๆ ลงน้ำ สารดังกล่าวมีคุณสมบัติช่วยระงับมิให้มีการสืบพันธุ์วางไข่ขึ้น ปัจจัยที่เกิดขึ้นภายในตัวปลาที่เกี่ยวกับสารที่ถูกขับจากฮอร์โมนแอนโดรไครน์ (endrocrine secretion) โดยเฉพาะต่อมใต้สมองที่ช่วยกระตุ้นให้ไข่แก่ และน้ำเชื้อดีจนวางไข่ และมีน้ำเชื้อดีก็ต้องได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายนอกด้วย บทบาทของสเตอโร ฮอร์โมน (stero hormones) ที่ผลิตจากปลาเพศผู้แล้วปล่อยลงไปในน้ำจะกระตุ้นให้ปลาเพศเมียไข่แก่และวางไข่

อัตราการปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ที่เลี้ยงในบ่อ เพื่อเตรียมใช้ในการผสมพันธุ์นั้น ได้มีผู้ไห้ความเห็นที่แตกต่างกัน เช่น ในเนื้อที่ 1 ไร่ ควรปล่อย

-8 ม.2/ตัว

-3-4 ม.2/ตัว

เห็นว่าการพิจารณาปริมาณปลาที่จะปล่อยเพื่อเลี้ยงเป็นพ่อ-แม่พันธุ์นั้น ควรจะพิจารณาจาก

-สภาพของบ่อและระบบของน้ำที่ใช้เลี้ยง

-ขนาดหรือน้ำหนักของปลาที่ปล่อย

-อาหาร

อย่างไรก็ตาม ได้มีโอกาสได้กล่าวถึงอัตราการปล่อยพันธุ์ปลาจีนและพันธุ์ปลาอินเดียลงในบ่อพ่อ-แม่พันธุ์นั้น ปล่อยในอัตรา 1,000-3,000 กก./เฮกแตร์ หรือระดับ 1,000 กก./เฮกแตร์ เป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุด (ประมาณ 10 ม.2/กก.) ซึ่งการคำนวณน้ำหนักของปลาพ่อ-แม่พันธุ์ที่จะปล่อยลงบ่อต่อเนื้อที่นี้น่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า