การเพาะเลี้ยงปลานิล

ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดที่รู้จักกันแพร่หลาย นิยมเลี้ยงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้เพราะปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว มีความแข็งแรง อดทน สามารถทนต่อสภาพแวดล้อมได้ดี ปลาชนิดนี้เป็นปลาที่กินพืชและอาหารได้เกือบทุกชนิด ปลานิลสามารถแพร่ขยายพันธุ์วางไข่ได้ทั้งในบ่อและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป นอกจากนี้ยังเป็นปลาที่มีรสชาติดี สามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เป็นที่นิยมบริโภคของประชาชน ในปัจจุบันนักเลี้ยงปลาจึงหันมาเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพกันมากขึ้นตามลำดับ ปลานิลได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2508 โดยเจ้าฟ้าอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้จัดส่งปลานิลจำนวน 50 ตัว ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ 9 ซม. น้ำหนักประมาณ 14 กรัม มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2508 ในระยะะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินเนื้อที่ประมาณ 10 ตารางเมตร ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต และเมื่อเลี้ยงได้ 5 เดือนเศษ ปรากฎว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สวนหลวงขุดบ่อขึ้นใหม่อีก 6 บ่อ มีเนื้อที่บ่อละประมาณ 70 ตารางเมตร ซึ่งในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายลูกปลาด้วยพระองค์เองจากบ่อเดิม ไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง 6 บ่อ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2508 ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบให้กรมประมงจัดส่งนักวิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตของลูกปลานิลเป็นประจำทุกเดือน เมื่อครบกำหนด เวลาที่เลี้ยงทดลองในบ่อดังกล่าวมาเป็นเวลาประมาณ 1 ปี พบว่าปลานิลมีความเจริญเติบโตได้รวดเร็ว มีน้ำหนักตัวละประมาณครึ่งกิโลกรัม ความยาวประมาณ 1 ฟุต จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานี้แพร่ขยายพันธุ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” และได้พระราชทานปลานิลขนาดความยาว 3-5 ซม. จำนวน 10,000 ตัว ให้แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2509 เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยงในบริเวณเกษตรกลางบางเขน และสถานีประมงต่างๆ อีกจำนวน 14 แห่งทั่วพระราชอาณาจักร

ปัจจุบัน นับได้ว่าปลานิลได้เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนอาหารโปรตีนสำหรับบริโภคของประชาชน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นปลาที่มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดเป็นอันดับสองรองจากการเลี้ยงปลาสลิด จากรายงานสถิติของประมงปี 2528 ปรากฏว่ามีผลผลิตปลานิลทั่วประเทศ 15,110 ตัน มีมูลค่า 187 ล้านบาท และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาชนิดนี้ 20,6000 ราย โดยทำการเลี้ยงในบ่อ 19,175 ราย พื้นที่ 32,300 ไร่ เลี้ยงในนา 960 ราย 115,040 ไร่ สำหรับการเลี้ยงปลานิลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแทบทุกจังหวัด และเลี้ยงกันมาก ในจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย อุบลราชธานี และสกลนครตามลำดับ

เเหล่งกำเนิดและการแพร่กระจาย

ปลานิลเป็นปลาที่ใหญที่สุดในสกุลทิลาเปีย มีความยาว 40-50 ซม. การแพร่กระจายของปลาชนิดนี้มีอยู่กว้างขวางในทวีปเอเชีย แอฟริกา และตะวันออก จัดว่าเป็นปลาที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของแอฟริกา มีการแพร่กระจายของปลานิลมิได้จะมีเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังมีผู้นำเอาไปเลี้ยงในประเทศต่างๆ ของเอเชียตะวันออกกลาง และตะวันออกใกล้ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไต้หวัน และญี่ปุ่น อย่างแพร่หลายด้วย

สำหรับในประเทศไทย ปลานิลสามารถอาศัยอยู่ได้ในแหล่งน้ำจืดทั่วทุกภาคของประเทศ แม้แต่แหล่งน้ำบริเวณชายฝั่งทะเลที่มีน้ำกร่อย ปลานิลก็สามารถเจริญเติบโตได้ดีเช่นเดียวกัน

รูปร่างลักษณะ

รูปร่างลักษณะของปลานิลคล้ายปลาหมอเทศ ริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน บริเวณแก้มมีเกล็ด 4 แถว ลำตัวมีสีเขียวปนน้ำตาลและมีลายพาดขวาง 9-10 แถบ ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่ 1จุด บริเวณปลายอ่อนของครีบหลัง ครีบก้นและครีบหาง มีจุดสีขาวและเส้นสีดำตัดขวางอยู่ทั่วไป

ลักษณะเพศ

ปกติรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมีย จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่อวัยวะที่ใช้จำแนกความแตกต่างของปลานิลตัวผู้และตัวเมียคืออวัยวะเพศ ปลานิลตัวผู้จะมีอวัยวะเพศยื่นยาว มีช่องเปิดเพียงช่องเดียวอยู่ตรงปลาย ทำหน้าที่ขับถ่ายปัสสาวะและน้ำเชื้อ ส่วนปลานิลตัวเมียจะมีอวัยวะเพศยื่นยาวออกมาสั้นกว่าและใหญ่กว่าปลาตัวผู้ จะเห็นได้ชัดในปลาที่มีความยาวตั้งแต่ 10 ซม.ขึ้นไป บนอวัยวะจะมีช่องเปิด 2 ช่อง ช่องแรกอยู่ตรงส่วนปลาย ทำหน้าที่เป็นช่องขับถ่ายปัสสาวะ อีกช่องอยู่ถัดไปทางส่วนหน้าตรงบริเวณกลาง ซึ่งมีขนาดใหญ่และมีสีชมพูเรื่อๆ หรือสีเนื้อ ทำหน้าที่เป็นช่องปล่อยไข่ การผสมนอกจากนี้ยังสังเกตข้อแตกต่างระหว่างปลาตัวผู้และตัวเมียได้อีกทางหนึ่งคือ สีบนลำตัว และใต้คางของปลาตัวผู้จะเข้มกว่าปลาตัวเมียโดยเฉพาะในฤดูผสมพันธุ์

อุปนิสัยและคุณสมบัติบางประการ

ปกติปลานิลชอบอาศัยรวมกันอยู่เป็นฝูงตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง ทะเลสาบที่เป็นแหล่งน้ำจืด ปลาชนิดนี้มีความทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมได้ดี สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิกว้างมาก คือตั้งแต่ 11-42 องศาเซลเซียส เกี่ยวกับความทนทานของปลานิลต่อความเป็นกรดในน้ำ ปลานิลจะเริ่มตายในน้ำที่มี pH ต่ำกว่า 5.5 ส่วนความเค็มของน้ำนั้นปลานิลสามารถจะอยู่ได้อย่างปลอดภัยในน้ำที่มีความเค็มสูงถึง 20 ppt. (ความเค็ม 20 ส่วนในพัน)

อาหารและนิสัยการกินอาหาร

ปลานิลจัดว่าเป็นประเภทปลาที่กินพืชและเนื้อ ชอบกินสาหร่าย แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ ตัวอ่อนของแมลงในน้ำ ตะไคร่น้ำ และซากเน่าเปื่อยของพืช และสัตว์ตามก้นบ่อหรือแหล่งน้ำที่อยู่อาศัย ซึ่งจะเห็นได้ว่าปลานิลกินอาหารได้แทบทุกชนิด

การผสมพันธุ์และวางไข่

ปลานิลสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี โดยใช้เวลา 2-3 เดือน/ครั้ง แต่ถ้าอาหารเพียงพอและเหมาะสมในระยะเวลา 1 ปี จะผสมพันธุ์ได้ 5-6 ครั้ง ขนาดอายุและช่วงการสืบพันธุ์ของปลาแต่ละตัว จะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม และสภาพทางสรีรวิทยาของปลาเอง การวิวัฒนาการของรังไข่และถุงน้ำเชื้อของปลานิล พบว่าปลานิลจะมีไข่และนํ้าเชื้อเมื่อมีความยาว 6.5 ซม.

โดยปกติปลานิลที่ยังโตไม่ได้ขนาดผสมพันธุ์หรือสภาพแวดล้อม ไม่เหมาะสมที่จะวางไข่ ปลาจะรวมกันอยู่เป็นฝูง แต่ภายหลังที่ปลาโตได้ขนาดที่จะสืบพันธุ์ได้ ปลาตัวผู้จะแยกออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรัง โดยเลือกเอาบริเวณเชิงลาดหรือก้นบ่อที่มีระดับนํ้าลึกระหว่าง .50-1 เมตร วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลงโดยที่ตัวของมันจะอยู่ในระดับตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วใช้ปากพร้อมกับการเคลื่อนไหวของลำตัวเขี่ยดินตะกอนออก จากนั้นจะอมดินตะกอนงับเศษสิ่งของต่างๆ ออกไปทิ้งนอกรัง ทำเช่นนี้จนกว่าจะได้รังที่มีลักษณะค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-35 ซม. ลึกประมาณ 3-6 ซม. ความกว้างและลึกของรังไข่ขึ้นอยู่กับขนาดของพ่อปลา หลังจากสร้างรังเสร็จเรียบร้อยแล้ว มันพยายามจะไล่ปลาตัวอื่นๆ ออกไปนอกรัศมีของรังไข่ประมาณ 2-3 เมตร ขณะเดียวกันพ่อปลาที่สร้างรังจะแผ่ครีบหลังและอ้าปากกว้าง ในขณะที่มีปลาตัวเมียว่ายนํ้าเข้ามาใกล้ๆ รัง และเมื่อเลือกตัวเมียได้ถูกใจแล้วก็จะแสดงอาการจับคู่ โดย ว่ายน้ำเคล้าคู่กันไปโดยใช้หางดีดและกัดกันเบาๆ การเคล้าเคลียดังกล่าวจะใช้เวลาไม่นานนัก ปลาตัวผู้ก็จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมียเพื่อเป็นการกระตุ้นเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ซึ่งตัวเมียจะวางไข่ครั้งละ 10-15 ฟอง ปริมาณไข่ที่วางรวมกันแต่ละครั้งมีประมาณ 50-600 ฟอง ทั้งนี่ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา เมื่อปลาวางไข่แต่ละครั้งปลาตัวผู้จะว่ายน้ำไปเหนือไข่พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อลงไป ทำเช่นนี้จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ โดยใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ปลาตัวเมียจะเก็บไข่ที่ได้รับการผสมแล้วอมไว้ในปาก และว่ายออกจากรัง ส่วนปลาตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเคล้าเคลียกับปลาตัวเมียอื่นต่อไป

ลักษณะและความดกของไข่ปลานิล

ไข่ของปลานิลเป็นประเภทไข่จมเมื่อไข่แก่จะมีขนาด 2.0-3.0 มม. พบว่าปลานิล จะมีไขน้อยมาก ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อาจจะมีสาเหตุมาจากอุณหภูมิของนํ้าค่อนข้างต่ำ ปลานิลที่มีความยาวต่ำกว่า 22 ซม.ลงไป รังไข่จะยังไม่เจริญเต็มที่ ส่วนปลานิลที่มีขนาดตั้งแต่ 11 ซม. ขึ้นไป ไข่จะใหญ่และมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 มม. ปริมาณของไข่จะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดความยาวของปลาและความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร

การฟักไข่

ไข่ปลาที่อมไว้ด้วยปลาตัวเมียจะวิวัฒนาการขึ้นตามลำดับโดยปลาจะขยับปากให้น้ำไหลเข้าออกในช่องปากอยู่เสมอ เพื่อช่วยให้ไข่ที่อมไว้ได้รับนํ้าที่สะอาด กับทั้งเป็นการป้องกันศัตรูที่จะมากินไข่ ระยะเวลาที่ปลาตัวเมียใช้ฟักไข่จะแตกต่างกันตามอุณหภูมิของนํ้า โดยในนํ้าที่มีอุณหภูมิ 27 ∘ซ. ไข่จะวิวัฒนาการ เป็นลูกปลาวัยอ่อนภายใน 8 วัน ซึ่งในระยะเวลาดังกล่าวนี้ถุงอาหารยังไม่ยุบ และจะยุบเมื่อลูกปลามีอายุครบ 13-14 วัน นับจากวันที่วางไข่ ในช่วงระยะเวลาที่ลูกปลาฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ ลูกปลานิลวัยอ่อน จะเกาะรวมตัวกันเป็นกลุ่ม จะว่ายวนเวียนอยู่บริเวณหัวของแม่ปลา และเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากเมื่อ

มีภัยหรือถูกรบกวนโดยปลานิลด้วยกันเอง เมื่อถุงอาหารยุบลง ลูกปลานิลจะรีบกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำขนาดเล็กได้ และหลังจาก 3 สัปดาห์ไปแล้ว ลูกปลาก็จะกระจายแตกฝูงไปหากินเลี้ยงตัวเองได้โดยลำพัง

การเพาะพันธุ์ปลานิล

เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่มีลูกดก โดยสามารถวางไข่ได้ตลอดปีในบ่อที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสม และอาหารอุดมสมบูรณ์ การที่จะเพาะปลานิลชนิดนี้ก็ทำได้ง่ายดังได้กล่าวแล้วในเบื้องต้น โดยปกติฟาร์มที่เลี้ยงปลานิลจำหน่ายอยู่แล้ว มักจะใช้วิธีคัดเลือกรวบรวมพันธุ์ปลานิลขนาดต่างๆ ตามที่ต้องการจากบ่อที่เลี้ยงปลานิลไว้จำหน่ายก็เป็นการเพียงพอ เพราะปลาชนิดนี้มีลูกดก มีปัญหาเรื่องปลาแน่นบ่อ ต้องคัด

จับออกเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละครั้งอยู่แล้ว มิฉะนั้นปลานิลที่ปล่อยเลี้ยงในครั้งแรกก็จะไม่เจริญเติบโตเพราะถูกแย่งอาหาร และที่อยู่อาศัยคับแคบ ปริมาณออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดี ส่วนการเพาะพันธุ์ปลานิลจะให้ได้ผลและมีประสิทธิภาพ จะต้องเอาใจใส่และมีการปฏิบัติในด้านต่างๆ การเตรียมบ่อ การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ การตรวจสอบลูกปลา และการอนุบาลลูกปลา สำหรับการเพาะปลานิลอาจทำได้ทั้งในบ่อดิน บ่อปูนซีเมนต์ และกระชังไนลอนตาถี่ ดังวิธีการต่อไปนี้

การตระเตรียมเพาะปลานิล

บ่อดิน บ่อเพาะปลานิลควรเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ตั้งแต่ 50-1,600 ตารางเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้มีระดับสูง 1 เมตร บ่อควรมีเชิงลาดตามความเหมาะสม เพื่อป้องกันดินพังทลาย และมีชานบ่อกว้าง 1-2 เมตร ถ้าเป็นบ่อเก่าก็ควรวิดน้ำและสาดเลนขึ้น ตกแต่งภายในบ่อให้ดินแน่น ใส่โล่ติ๊นกำจัดศัตรูของปลาอัตราส่วนใช้โล่ติ๊นแห้ง 1 กก./ปริมาตรของน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร โรยปูนขาวให้ทั่วปอ 1 กก./พื้นที่บ่อ 10 ม.2 ใส่ปุ๋ยคอกแห้ง 300 กก./ไร่ ตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน จึงเปิดหรือสูบน้ำเข้าบ่อผ่านผ้ากรองหรือตะแกรงตาถี่ ให้มีระดับสูงประมาณ 1 เมตร การใช้บอดินเพาะปลานิลจะมีประสิทธิภาพดีกว่าวิธีอื่น เพราะเป็นบ่อที่มีลักษณะคล้ายคลึงตามธรรมชาติ และการผลิตลูกปลานิลจากบ่อดินจะได้ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำกว่าวิธีอื่น

บ่อปูนซีเมนต์ ก็สามารถใช้ผลิตถูกปลานิลได้ รูปร่างของปอจะเป็นส์เหลี่ยฟพุ่ทั้งนื้เพื้อ’ใ หรือรูปกลมก็ได้ มีความลึกประมาณ 1 เมตร พื้นที่ผิวน้ำตั้งแต่ 10 ตารางเมตรขึ้นไป ทำความสะอาดบ่อและเติมน้ำที่กรองด้วยผ้าไนลอนหรือมุ้งลวดตาถี่ให้มีระดับน้ำสูงประมาณ 80 ซม. ถ้าใช้เครื่องเป่าลมช่วยเพิ่มออกซิเจนในน้ำจะทำให้การเพาะปลานิลด้วยวิธีนี้ได้ผลดีมากขึ้น อนึ่งการเพาะปลานิลด้วยบ่อซีเมนต์ ถ้าจะให้ได้ถูกปลามากก็ต้องใช้บ่อใหญ่ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูง

กระชังไนลอนตาถี่ ขนาดของกระชังที่ใช้ประมาณ 5x8x2 เมตร วางกระชังในบ่อดิน หรือในหนองบึง อ่างเก็บน้ำ ให้ก้นกระชังอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำประมาณ 1 เมตร ใช้หลักไม้ 4 หลัก

ผูกตรงมุม 4 มุม ยึดปากและก้นกระชังให้แน่นเพื่อให้กระชังขึงตึง การเพาะปลานิลด้วยวิธีนี้มีความเหมาะสมที่จะใช้ผลิตลูกปลาในกรณีซึ่งเกษตรกรไม่มีพื้นที่ดินก็สามารถจะเลี้ยงปลาได้โดยใช้กระชังแทนบ่อปลา เพื่อเลี้ยงตามอ่างเก็บน้ำ หนองบึง และลำน้ำต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะในท้องที่จังหวัดต่างๆ ทางภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีแหล่งน้ำที่รัฐบาลได้สร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมากสามารถจะนำมาใช้ประโยชน์ เการเพาะเลี้ยงปลาได้

การคัดเลือกพ่อแม่ปลานิล

ถ้าใช้บ่อดินเป็นบ่อเพาะเมื่อหลังจากปล่อยน้ำเข้าบ่อแล้ว ในกรณีที่ใส่โล่ติ๊นกำจัดศัตรูของปลาต้องใช้เวลาประมาณ 7 วัน เพื่อแช่ให้โล่ติ๊นเน่าสลายตัวไม่เป็นพิษต่อพ่อแม่ปลาที่จะปล่อยลงเพาะ ใช้อวนหรือแหจับพ่อแม่ปลานิลจากบ่อที่เลี้ยงไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ด้วยวิธีแยกเพศ หรือจากบ่อที่เลี้ยงขุนเพื่อส่งตลาดโดยคัดเลือกพ่อแม่ปลานิล จากการสังเกตจากลักษณะภายนอกของปลาที่สมบูรณ์ปราศจากเชื้อโรคและบาดแผล สำหรับพ่อแม่ปลาที่พร้อมจะวางไข่นั้นสังเกตได้จากอวัยวะเพศ ถ้าเป็นปลาตัวเมียจะมีสีชมพูหรือแดงเรื่อ ส่วนปลาตัวผู้ก็สังเกตได้จากสีของตัวปลาที่เข้มสดใส โดยเปรียบกับปลานิลตัวผู้อื่นๆ ที่จับขึ้นมา ขนาดของปลาตัวผู้และตัวเมียควรมีขนาดไล่เลี่ยกัน คือมีความยาวตั้งแต่ 15-25 ซม. น้ำหนักตั้งแต่ 150-200 กรัม

อัตราส่วนที่ปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะ

ปริมาณพ่อแม่ปลาที่จะนำไปปล่อยในบ่อเพาะ 1 ตัว/4 ม.2 หรือไร่ละจำนวน 400 ตัว ปล่อยในอัตราส่วนพ่อปลา 2 ตัว/แม่ปลา 3 ตัว เพราะได้สังเกตจากพฤติกรรมในการผสมพันธุ์ของ ปลาชนิดนี้ ปลาตัวผู้มีสมรรถภาพที่จะผสมพันธุ์กับปลาตัวเมียอื่นๆ ได้อีก ดังนั้น การเพิ่มอัตราส่วนของปลาตัวเมียให้มากขึ้น คาดว่าจะได้ลูกปลานิลเพิ่มขึ้น ส่วนการเพาะปลานิลในกระชังใช้อัตราส่วนของปลา 6 ตัว/ม.2 โดยใช้ตัวผู้ 1 ตัว/ตัวเมีย 3-5 ตัว การเพาะปลานิลแต่ละรุ่นจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน จึงเปลี่ยนพ่อแม่ปลารุ่นใหม่ต่อไป

การให้อาหารและปุ๋ยในบ่อเพาะพันธุ์

มีความจำเป็นที่จะต้องให้อาหารสมทบ หรืออาหารผสม ได้แก่ ปลายข้าว สาหร่าย รำละเอียด ในอัตราส่วน 1:2:3 โดยให้อาหารดังกล่าวแก่พ่อแม่ปลานิลประมาณ 2% ของน้ำหนักตัว ทั้งนี้เพื่อให้ปลานิลใช้เป็นพลังงานซึ่งต้องใช้มากเป็นช่วงการผสมพันธุ์ ส่วนปุ๋ยคอกแห้งก็ต้องใส่ในอัตราส่วนประมาณ 100-200 กก./ไร่/เดือน ทั้งนี้เพื่อเพิ่มพูนอาหารธรรมชาติในบ่อได้แก่ พืชน้ำขนาดเล็ก ไรน้ำ และตัวอ่อน อันจะเป็นประโยชน์ต่อลูกปลานิลวัยอ่อนที่หลังจากถุงอาหารยุบตัวลง และจะต้องดำรงชีวิตอยู่ในปอเพาะดังกล่าวประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จะย้ายไปเลี้ยงในบ่ออนุบาล ถ้าในบ่อขาดอาหารธรรมชาติดังกล่าวผลผลิตลูกปลานิลจะได้น้อย เพราะขาดอาหารที่จำเป็นเบื้องต้นหลังจากถุงอาหารได้ยุบตัวลงใหม่ๆ ก่อนที่ลูกปลานิลจะสามารถกินอาหารสมทบอื่นๆ ได้ อาหารสมทบที่หาได้ง่ายคือรำข้าว ซึ่งควรปรับปรุงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้นโดยใช้ปลาป่น กากถั่ว และวิตามินเป็นส่วนผสม นอกจากนี้แหนเป็ดและสาหร่ายหลายชนิดก็สามารถจะใช้เป็นอาหารเสริมแก่พ่อแม่ปลานิลได้เป็นอย่างดี ในกรณีที่ใช้กระชัง ไนลอนตาถี่เพาะพันธุ์ปลานิลก็ควรให้อาหารสมทบแก่พ่อแม่ปลาอย่างเดียว

การย้ายลูกปลานิลจากบ่อเพาะ

ทำการรวบรวมลูกปลานิลจากบ่อดินที่ใช้เพาะพันธุ์ ภายหลังที่ปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะครั้งแรกประมาณ 3-4 สัปดาห์ และหลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์/ครั้ง ปริมาณของลูกปลานิลจะมีมากหรือน้อย จะสังเกตเห็นฝูงปลาได้ตามขอบบ่อในเวลาเช้าตรู่การรวบรวมต้องใช้อวนตาถี่ พื้นก้นอวนควรกรุด้วยผ้าบาง หรือผ้าป่าน การซ้อนลูกปลานิล ในบ่อเพาะต้องทำด้วยความประณีตและรวดเร็ว มิฉะนั้นลูกปลานิลขนาดเล็กจะตายเพราะความบอบช้ำ หรือต้องติดค้างอยู่ในอวน หรือสวิงที่ใช้ตักปลานานเกินควร ลูกปลานิลที่รวบรวมได้จะต้องนำมาคัดขนาดด้วยตะแกรง ซึ่งมีช่องตาขนาด 1.5, 1.2, 0.9 ซม. ตามลำดับ แล้วนำลูกปลาขนาดเดียวกันไปเลี้ยงในบ่ออนุบาลซึ่งเตรียมไว้แล้ว ในกรณีที่ใช้บ่อปูนซีเมนต์หรือกระชังไนลอนตาถี่เพาะ ต้องรวบรวมลูกปลาวัยอ่อนก่อนที่ถุงอาหารจะยุบลง 1-2 วัน (ประมาณ 21 วัน หลังจากปล่อยพ่อแม่ปลาลงเพาะ) นำไปอนุบาลในบ่อดิน บ่อซีเมนต์ หรือกระชังไนลอนตาถี่

การรวบรวมพันธุ์ปลานิลซึ่งใช้ปฏิบัติกันมากในประเทศอิสราเอล ได้แก่ วิธีปล่อยน้ำให้ไหลลงส่วนใดหรือมุมหนึ่งมุมใดของบ่อเพื่อล่อให้ลูกปลามาเล่นน้ำ โดยใช้อวนหรือเลือกที่มีช่องตาพอที่จะกันไม่ให้ปลาขนาดใหญ่หรือพ่อแม่ปลาเข้ามาในบริเวณนั้น แล้วใช้อวนหรือสวิงช้อนตักเอาลูกปลาออกมาจากอวนหรือเฝือกล้อมอีกทีหนึ่ง

การอนุบาลลูกปลานิล

บ่อดิน บ่อดินควรมีขนาดประมาณ 200ม.2 ถ้าเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจะสะดวกในการจับย้ายลูกปลา น้ำในบ่อควรมีระดับความลึกประมาณ 1 เมตร บ่ออนุบาลปลานิลควรเตรียมไว้ให้มีจำนวนมากพอ เพื่อให้เลี้ยงลูกปลาขนาดเดียวกันที่ย้ายมาจากบ่อเพาะ การเตรียมบ่ออนุบาลควรจัดการล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่นำลูกปลามาเลี้ยง การเตรียมบ่ออนุบาลนั้นปฏิบัติวิธีเดียวกันกับการเตรียมบ่อที่ใช้เพาะปลานิล บ่อขนาดดังกล่าวนี้จะใช้อนุบาลลูกปลานิลขนาด 1-2 ซม. ได้ครั้งละประมาณ 50,000 ตัว การอนุบาลลูกปลานิล นอกจากใช๋ยเพาะอาหารธรรมชาติแล้ว จำเป็นต้องใช้อาหารสมทบ เช่น รำละเอียด กากถั่ว อีกวันละ 2 ครั้ง พร้อมทั้งสังเกตความอุดมสมบูรณ์ของอาหารธรรมชาติจากสีของน้ำ ซึ่งมีสีอ่อน หรือจะใช้ถุงลากแพลงก์ตอน ตรวจดูปริมาณของไรน้ำก็ได้ ถ้ามีปริมาณน้อยก็ควรเติมปุ๋ยคอกลงเสริม ในช่วงระยะเวลา 5-6 สัปดาห์ ลูกปลาจะโตมีขนาด 3-5 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสมจะนำไปเลี้ยงเป็นปลาขนาดใหญ่ หรือจำหน่ายจ่ายแจกต่อไป

นาข้าวใช้เป็นบ่ออนุนาล นาข้าวที่ได้เสริมคันดินให้แน่นเพื่อเก็บกักน้ำให้มีระดับสุงประมาณ 50 ซม. โดยใช้ดินที่ขุดขึ้นโดยรอบคันนาไปเสริม ซึ่งจะมีคูขนาดเล็กโดยรอบพร้อมมีบ่อขนาดเล็กประมาณ 2×5 เมตร ลึก 1 เมตร ในด้านคันนาที่ลาดเอียงต่ำสุดเป็นที่รวบรวมลูกปลาขณะจับ พื้นที่นาดังกล่าวก็จะสามารถจะเป็นนาอนุบาลลูกปลานิลได้หลังจากปกดำข้าว 10 วัน หรือภายหลังที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว สั่วนการให้อาหาร และปุ๋ยก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับบ่ออนุบาล การป้องกันศัตรูของปลานิลในนาข้าว อวนไนลอนตาถี่สูงประมาณ 1 เมตร ทำเป็นรั้วล้อมรอบเพื่อป้องกันศัตรูของปลาจำพวก กบ งู เป็นต้น

บ่อซีเมนต์ บ่ออนุบาลลูกปลานิลและบ่อเพาะปลานิลจะใช้ขนาดเดียวกันก็ได้ ซึ่งจะสามารถใช้บ่ออนุบาลลูกปลาวัยอ่อนได้ตารางเมตรละประมาณ 300 ตัวในเวลา 4-6 สัปดาห์ โดยใช้เครื่องเป่าลมช่วย และเปลี่ยนถ่ายน้ำประมาณครึ่งบ่อสัปดาห์ละครั้ง ให้อาหารสมทบวันละ 3 เวลา เมื่อลูกปลาที่เลี้ยงโตขึ้นมีขนาด 3-5 ซม. ก็สามารถรวบรวมไปจำหน่ายจ่ายแจกได้

กระชังไนลอนตาถี่ ขนาด 3x3x2 เมตร ซึ่งสามารถจะใช้อนุบาลลูกปลาวัยอ่อนได้จำนวนครั้งละ 3,000-5,000 ตัว โดยให้ไข่แดงต้มบดให้ละเอียดวันละ 3-4 ครั้ง หลังจากถุงอาหารของลูกปลายุบตัวลงใหม่ๆ เป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจึงให้รำละเอียด 3 ส่วน ผสมกับปลาป่น บดให้ละเอียดอัตรา 1 ส่วน ติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 4-5 สัปดาห์ ลูกปลาจะโตขึ้นมีขนาด 3-5 ซม. ซึ่งสามารถนำไปเลี้ยงให้เป็นปลาขนาดใหญ่หรือจำหน่ายจ่ายแจกต่อไป

การเลี้ยง

ปลานิลเป็นปลาที่ประชาชนนิยมเลี้ยงกันมากชนิดหนึ่ง ทั้งในรูปแบบการค้าและเลี้ยงไว้บริโภค ในครัวเรือน ทั้งนี้เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย กินอาหารได้แทบทุกชนิด เนื้อมีรสชาติดี ตลาดมีความต้องการสูง ส่วนในเรื่องราคาที่จำหน่ายนั้นค่อนข้างต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับปลาชนิดอื่นๆ เช่น ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย ฯลฯ ดังนั้น การเลี้ยงปลาชนิดนี้เพื่อผลิตจำหน่าย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาในด้านอาหารปลาที่จะนำมาใช้เลี้ยงเป็นหลัก กล่าวคือต้องเป็นอาหารที่หาได้ง่ายราคาต่ำ เพื่อลดต้นทุน การผลิตให้มากที่สุด นอกจากนั้นการเลี้ยงปลาชนิดนี้มีความจำเป็นในด้านการจัดการฟาร์มที่เหมาะสม เพราะปลานิลเป็นปลาที่ออกลูกดก ถ้าปลาในบ่อมีความหนาแน่นมากก็จะไม่เจริญเติบโต ดังนั้น การเลี้ยงที่จะให้ได้ผลิตเป็นที่พอใจ ก็จำเป็นต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิชาการตามประเภทของการเลี้ยงและขั้นตอนต่อไปนี้

บ่อดิน

บ่อที่เลี้ยงปลานิลควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อสะดวกในการจับ เนื้อที่อย่างน้อยประมาณ 200 ตารางเมตร เพราะบ่อขนาดดังกล่าวนี้สามารถจะผลิตปลานิลได้ 125-250 กก./ปี โดยใช้เศษอาหารจากโรงครัว ปุ๋ยคอก อาหารสมทบอื่นๆ ที่หาได้ง่าย เช่น แหนเป็ด สาหร่าย เศษพืชผักต่างๆ ปริมาณปลาที่ที่ผลิตได้ก็เพียงพอสำหรับบริโภคในครอบครัวที่มีจำนวน 5-6 คน ซึ่งจะมีปลาเป็นอาหารโปรตีนบริโภคปีละ และไม่ต่ำกว่า 40 กก. อันเป็นมาตรฐานสากลของการดำรงชีวิตที่ดี

ส่วนการเลี้ยงปลานิลเพื่อการค้าในรูปแบบที่เลี้ยงเดี่ยว ควรใช้บ่อขนาดใหญ่ตั้งแต่ 1/4-3 ไร่ และควรจะมีหลายบ่อเพื่อทยอยจับปลาเป็นรายวัน รายสัปดาห์และรายเดือน เพื่อให้ได้เงินสดมาใช้จ่าย เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับค่าอาหารปลา เงินเดือนคนงานค่าใช้จ่ายอื่นๆ

การขุดบ่อเลี้ยงปลาในปัจจุบันนิยมใช้เครื่องจักรกล เช่น รถแทรกเตอร์ เพราะเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่าใช้แรงงานจากคนขุดเป็นอันมาก นอกจากนี้ยังปฏิบัติได้รวดเร็ว ตลอดจนการสร้างคันดินก็สามารถบดอัดให้แน่น ป้องกันการรั่วซึมของน้ำได้เป็นอย่างดีความลึกของบ่อประมาณ 1 เมตร มีเชิงลาดประมาณ 45 องศา เพื่อป้องกันการพังทลายของดิน และมีชานบ่อกว้างประมาณ 1-2 เมตร ตามขนาดความกว้างยาวของบ่อที่เหมาะสม ถ้าบ่ออยู่ใกล้แหล่งนํ้า เป็นคู คลอง แม่นํ้า หรือในเขตชลประทาน ก็เป็นการสะดวกในการใช้น้ำ ควรสร้างท่อระบายน้ำทิ้งทางก้นบ่ออีกด้านหนึ่ง คือ จัดระบบน้ำเข้า-ออกคนละทาง ทำให้มิต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ แต่ถ้าบ่อนั้นไม่สามารถจะทำท่อชักน้ำและระบายน้ำได้ ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องสูบน้ำ

การเตรียมบ่อ

1. กำจัดวัชพืชและพันธุ์ไม้น้ำต่างๆ เช่น กก หญ้า ผักตบชวาให้หมดในบ่อเก่าที่ขุดไว้มิได้ใช้เลี้ยงปลา โดยนำมากองสุมไว้เพื่อให้แห้งและตายแล้วนำมาใช้เป็นปุ๋ยหมักในขณะที่ปล่อยลงเลี้ยง ถ้าในบ่อมีเลนมากก็จำเป็นต้องสาดเลนขึ้นโดยนำไปเสริมคันดินที่ชำรุด หรือใช้เป็นปุ๋ยแก่พืชผัก ผลไม้ บริเวณใกล้เคียง และควรตกแต่งเชิงลาดและคันดินให้แน่นด้วย

2. กำจัดศัตรู ศัตรูของปลาได้แก่ปลาจำพวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาหมอ ปลาดุก นอกจากนี้ก็มีสัตว์จำพวก กบ เขียด งู เป็นต้น ดังนั้นก่อนที่จะปล่อยปลานิลลงเลี้ยงจึงจำเป็นต้องกำจัดศัตรูดังกล่าวเสียก่อนโดยวิธีระบายน้ำออกให้เหลือน้อยที่สุด ในกรณีที่จะชุบน้ำในบ่อไหนแห้งจะต้องพิจารณาด้วยว่า จะหาน้ำจากที่ใดมาใช้ได้ทันที เมื่อตากบ่อไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าไม่สามารถจะหาน้ำมาได้โดยต้องรอถึงฤดูฝน การกำจัดศัตรูของปลาดังกล่าวอาจใช้โล่ติ๊นสดหรือแห้งประมาณ 1 กก ปริมาณของน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร วิธีใช้คือทุบหรือบดโล่ติ๊นให้ละเอียด นำลงแช่น้ำประมาณ 1-2 ปี๊บ ขยำโล่ติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆ ครั้งจนหมด นำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูพวกปลาจะลอยหัวขึ้นมาภายหลังใส่โล่ติ๊นประมาณ 30 นาที ใช้สวิงจับขึ้นมาใช้บริโภคได้ ที่เหลือตายก้นบ่อจะลอยอืดขึ้นในวันรุ่งขึ้น ถ้ามีปริมาณไม่มากนักก็ไม่จำเป็นต้องเก็บขึ้น ส่วนศัตรูจำพวกกบ เขียด งู จะหนีออกจากบ่อไป และก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยงควรจะทิ้งระยะไว้ประมาณ 7 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวไปหมดเสียก่อน

3. การใส่ปุ๋ย โดยปกติแล้วอุปนิสัยในการกินอาหารของปลานิลจะกินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนพืชและสัตว์ เศษวัสดุเน่าเปื่อยตามก้นบ่อ แหน สาหร่าย ฯลฯ ดังนั้น ในบ่อเลี้ยงปลาควรให้ อาหารธรรมชาติดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยลงไปเพื่อละลายเป็นธาตุอาหารจำพวก NPK ซึ่งพืชน้ำขนาดเล็กจำเป็นใช้ในการปรุงอาหารและเจริญเติบโตโดยกระบวนการแสงสังเคราะห์ ซึ่งเป็นอาหารอันดับต่อไป คือ แพลงก์ตอนสัตว์ได้แก่ไรน้ำ และตัวอ่อนของแมลง ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่มูลวัว ควาย หมู เป็ด ไก่ นอกจากปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์แล้วก็อาจใช้ปุ๋ยหมักจำพวกหญ้าและฟางข้าว ปุ๋ยพืชสดต่างๆ เช่น พืชจำพวกตระกูลถั่ว ต้นสาบเสือ สำหรับการทำปุ๋ยหมักควรกองสุมเป็นชั้นๆ โรยคั่นด้วยปุ๋ยคอกประมาณ 2-5 ชั้น เพื่อเร่งอัตราการเน่าเปื่อยสลายตัวได้ดียิ่งขึ้น

อัตราส่วนการใส่ปุ๋ยคอกในระยะแรก ควรใส่ประมาณ 250-300 กก./ไร่/เดือน ส่วนในระยะหลังควรลดลงเพียงครึ่งหนึ่ง หรือสังเกตจากสีของน้ำในบ่อ ถ้ายังมีสีเขียวอ่อนแสดงว่ามีอาหาร ธรรมชาติเพียงพอ ถ้าสีขาวปราศจากอาหารธรรมชาติก็เพิ่มอัตราส่วนให้มากขึ้น และในกรณีที่หาปุ๋ยคอกไม่ได้ก็อาจใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ NPK สูตร 15 : 15 : 15 ใส่ประมาณ 5 กก./ไร่/เดือน

วิธีใส่ปุ๋ย ถ้าเป็นปุ๋ยคอกควรตากบ่อให้แห้งเสียก่อน เพราะถ้าเป็นปุ๋ยสดแล้วจะทำให้น้ำในบ่อมีแก๊สจำพวกแอมโมเนียละลายอยู่ในน้ำมาก ซึ่งเป็นอันตรายต่อปลา การใส่ปุ๋ยคอกใช้วิธีหว่านลงไปในบ่อให้ละลายน้ำโดยทั่วๆ ไป ส่วนปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยสดนั้นควรกองสุมไว้ตามมุมบ่อ 2-3 แห่ง โดยมีไม้ปักล้อมเป็น

คอกรอบกองปุ๋ยเพื่อป้องกันมิให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวกระจัดกระจาย

บ่อที่มีอาหารธรรมชาติมากหรือน้อยนั้น ถ้าจะให้ทราบผลได้แน่นอน ควรใช้ถุงลากแพลงก์ตอนลากตรวจสอบ หรือจะสังเกตได้จากสีของน้ำ ถ้ามีสีเขียวจะมีอาหารจำพวกพืชเล็กๆ มาก แต่ถ้าในบ่อสีค่อนข้างคล้ำ มักจะมีอาหารจำพวกไรน้ำมาก พวกพืชน้าขนาดเล็กและไรน้ำเหล่านี้นับว่าเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญ และจำเป็นในการเจริญเติบโตของปลานิลที่เลี้ยงเป็นอย่างมาก

อัตราการปล่อยปลา

ปลานิลเป็นปลาที่สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วในบ่อเลี้ยง คือ แม่ปลาตัวหนึ่งจะออกลูกได้ 3-4 ครั้งในเวลา 1 ปี ดังนั้น ในการเลี้ยงปลานิล จำนวนพันธุ์ปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงแบ่งออกได้ 2 วิธี คือ

1. ปล่อยลูกปลาขนาด 3-5 ซม. ครบจำนวนอัตราส่วนต่อพื้นที่ผิวน้ำของบ่อที่มีความลึกประมาณ 1 เมตร และกำหนดระยะเวลาการเลี้ยงที่จะจับปลาจำหน่ายภายในระยะเวลา 6-12 เดือน ซึ่งควรจะปล่อยปลาให้เต็มที่ตามสัดส่วน 3 ตัว/1 ม.2หรือ 5,000 ตัว/ไร่

2. ปล่อยพ่อแม่ปลาขนาด 15-20 ซม.น้ำหนักเฉลี่ยตัวละประมาณ 250-300 กรัม จำนวน 1 คู่/เนื้อที่ผิวน้ำ 8 ตารางเมตร หรือไร่ละ 200 คู่ ในชั่วระยะเวลา 2-3 เดือน จะมีลูกปลาเกิดขึ้น จำนวนมากเกินความต้องการ จึงควรที่จะต้องใช้อวนคัดจับลูกปลาออกเพื่อลดปริมาณลงให้ใกล้เคียงกับอัตราส่วนที่เหมาะสม มิฉะนั้นปลาที่เลี้ยงก็จะไม่เจริญเติบโตอันเนื่องมาจากมีความหนาแน่นมาก ถ้าจะไม่ใช้วิธีจับลูกปลาออกก็อาจจะทำการควบคุมโดยชีววิธี ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งในทางปฏิบัติและเศรษฐกิจ คือ ปล่อยลูกปลาบู่ทรายขนาด 50-100 กรัม หรือลูกปลาช่อนขนาดนิ้วมือ 100 ตัว/ไร่ ภายหลังที่ปล่อยปลานิลลงเลี้ยงด้วยวิธีนี้ 3-4 เดือน ลูกปลาบู่และปลาช่อนดังกล่าวจะกินลูกปลานิลขนาดเล็ก กุ้งฝอย และปลาขนาดเล็กอื่นๆ ที่ไม่ต้องการ ซึ่งจะทำให้ปริมาณอัตราส่วนของปลานิลที่เลี้ยงอยู่ในลักษณะสมดุล มีการเจริญเติบโตดี และเมื่อเก็บเกี่ยวผลในระยะเวลาประมาณ 8-12 เดือน นับตั้งแต่ปล่อยพ่อแม่ปลาลงเลี้ยงก็จะได้ผลิตปลานิลขนาดใหญ่ตามที่ตลาดต้องการ และมีปลาบู่และปลาช่อนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งจำหน่ายได้ราคาดี

การให้อาหาร

ดังได้กล่าวแล้วว่า การใส่ปุ๋ยเป็นการให้อาหารแก่ปลานิลวิธีหนึ่งที่สำคัญมาก เพราะจะได้อาหารธรรมชาติที่มีโปรตีนสูงและราคาถูก แต่เพื่อเป็นการเร่งให้ปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตเร็วขึ้น หรือ ถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงควรให้อาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรทเป็นอาหารสมทบด้วย เช่น รำ ปลายข้าว กากมะพร้าว มันสำปะหลังหั่นต้มให้สุก และเศษเหลือของอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น กากถั่วเหลื่องจากโรงทำเต้าหู้ กากถั่วสิสง อาหารผสมซึ่งมีปลาป่น รำข้าว ปลายข้าว มีจำนวนโปรตีนประมาณ 20% เศษอาหาร เหลือจากโรงครัวหรือภัตตาคาร อาหารประเภทพืชผัก เช่น แหนเป็ด สาหร่าย เป็นต้น อาหารสมทบเหล่านี้ควรเลือกหาชนิดที่มีราคาถูกและหาได้สะดวก ส่วนปริมาณที่ให้ก็ไมควรเกิน 4%ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง หรือจะใช้ความสังเกตจากปลาที่ขึ้นมากินอาหารจากจุดที่ให้เป็นประจำ คือ ถ้ามีปลานิลยังออกันอยู่มากเพื่อรอกินอาหารก็เพิ่มทวีจำนวนอาหารมากขึ้นตามลำดับทุก 1-2 สัปดาห์ ในการให้อาหารสมทบมีข้อพึงควรระวัง คือถ้าปลากินไม่หมด อาหารตกจมก้นบ่อ หรือละลายน้ำไปมากก็จะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นหลายประการ เช่น เสียค่าใช้จ่ายไปโดยเปล่าประโยชน์ ทำให้น้ำเน่าเสียเป็นอันตรายต่อปลาที่เลี้ยง และหรือ ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการสูบถ่าย เปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ เป็นต้น

ผลผลิต

ผลผลิตของปลานิลที่เลี้ยงแบบเดี่ยว จะได้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของปุ๋ยที่ใช้ คุณภาพของอาหารที่ให้ และในด้านการจัดการ ซึ่งพอจะยกตัวอย่างให้ทราบดังต่อไปนี้

1. ใส่ปุ๋ยคอกอย่างเดียวได้ผลผลิตประมาณ 200-300 กก./ไร่/6 เดือน

2. ใส่ปุ๋ยคอก + ปุ๋ยหมักได้ผลผลิตประมาณ 250-350 กก./ไร่/เดือน

3. ใส่ปุ๋ยคอก + ปุ๋ยหมัก + อาหารผสมโปรตีน ประมาณ 20%(รำข้าว ปลายข้าว ปลาป่น) จะได้ผลผลิตประมาณ 650-1,000 กก./ไร่/6 เดือน

สืบเนื่องมาจากลักษณะการปล่อยลูกปลานิลลงเลี้ยง 2 วิธีดังกล่าวข้างต้น โดยวิธีแรกปล่อยลูกปลาขนาด 3-5 ซม. ปลาขนาดดังกล่าวนี้เมื่อเลี้ยงในระยะ 4-5 เดือน ปลานิลบางส่วนจะมีขนาด ตั้งแต่ 11 ซม.ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัยเจริญพันธุ์สามารถวางไข่ได้ และมีลูกปลาเกิดขึ้นหนาแน่นในบ่อ ทำให้ปลาส่วนใหญ่ที่เลี้ยงไว้แต่เดิมไม่โต เพราะถูกแย่งในด้านอาหาร ที่อยู่อาศัย คุณสมบัติของน้ำไม่เหมาะสม คือ ปริมาณของออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ ตลอดจนปริมาณของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มากขึ้น อันเกิดจากการหายใจของปลาจำนวนมากที่อาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่น ฉะนั้น การจัดการที่ดีก็คือ ใช้ควบคุมประชากรปลาโดยชีววิธีดังได้กล่าวแล้ว และอีกวิธีหนึ่งคือ ใช้ข่ายไนลอนขนาดช่องตา 8 ซม. คัดจับปลาที่มีขนาดน้ำหนัก 6-7ตัว/กก.ไปจำหน่ายอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และถ้าสามารถใช้อวนช่องตาขนาด 1 นิ้ว ตีจับคัดเลือกปลาขนาดต่างๆ ออกไปเลี้ยงในบ่ออื่น หรือจำหน่ายคราวละมากๆ ก็ควรปฏิบัติ 1-2 เดือน/ครั้ง เพื่อจัดอัตราส่วนของปริมาณปลาที่เลี้ยงให้อยู่ในลักษณะสมดุล โดยเปิดโอกาสให้ลูกปลาขนาดเล็กสามารถเจริญเติบโตได้เร็วขึ้น การจัดการดังกล่าวนี้จะเป็นการเพิ่มผลผลิตของปลาที่เลี้ยงมากขึ้นอีกประมาณ 20%

นาข้าว

นาข้าวที่อยู่ในเขตชลประทาน เป็นพื้นที่เหมาะสมที่ใช้ในการเลี้ยงปลา เพราะมีน้ำอุดมสมบูรณ์ การเลี้ยงปลานิลในนาข้าวทำได้ 2 วิธี คือ เลี้ยงในระหว่างปลูกข้าว และหลังจากเก็บข้าวแล้ว ถ้าไม่ทำนาครั้งที่สองก็สามารถจะใช้เลี้ยงปลาได้โดยตรง หรือหากจะทำนาครั้งที่สองก็เลี้ยงปลาร่วมกันกับการปลูกข้าวได้อีกครั้งหนึ่ง

กระชังหรือคอก

การเลี้ยงปลานิลในกระชังในรูปแบบการค้า นิยมกันมากในประเทศฟิลิปปินส์ โดยใช้แหล่งน้ำธรรมชาติทั้งบริเวณน้ำกร่อยและน้ำจืดที่มีอาหารธรรมชาติค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ กระชังที่ใช้เลี้ยงจะมีขนาดเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์และความชำนาญของผู้เลี้ยง ซึ่งมีข้อสังเกตว่ากระชัง หรือคอกที่มีขนาดใหญ่ ต้นทุนการสร้างต่อตารางเมตรจะยิ่งถูกลง กระชังส่วนใหญ่ที่ใช้กันโดยทั่วไป จะมีขนาดกว้าง 20 เมตร ยาว 25 เมตร ลึก 5เมตร สำหรับการเลี้ยงปลานิลในกระชังของประเทศฟิลิปปินส์นั้น สามารถจะนำเอามาประยุกต์ใช้ในประเทศไทยตามแหล่งน้ำต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ

-กระชังหรือคอกแบบผูกติดกับที่ สร้างโดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำปักลงในแหล่งน้ำ ถ้ากระชังไม่ใหญ่ ก็ใช้ไม้ไผ่ปัก 4 มุม ของกระชังก็พอ และถ้ากระชังใหญ่ก็ใช้ไม้ไผ่ปักเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม นอกจากนี้ควรมีไม้ไผ่ผูกเป็นแนวนอนหรือผิวน้ำประมาณ 1-2 เมตร เพื่อยืดลำไม้ไผ่ที่ปักลงในดินให้แน่น กระชังตอนบนและล่างควรร้อยเชือกคร่าวเพื่อใช้ยืดตัวกระชังให้ขึงตึง และโดยเฉพาะตรงมุม 4 มุมของกระชัง ทั้งด้านล่างและด้านบน การวางกระชังก็ควรวางให้เป็นกลุ่ม โดยเว้นระยะห่างกันให้น้ำไหลผ่านได้สะดวก อวนที่ใช้ทำกระชังเป็นอวนไนลอนช่องตาแตกต่างกันตามขนาดของปลานิลที่จะเลี้ยงคือขนาดช่องตา 1/4 นิ้ว 8/8 นิ้ว ขนาด 1/2 นิ้ว และอวนตาถี่สำหรับเพาะและเลี้ยงลูกปลาวัยอ่อน

-กระชังแบบลอย ลักษณะของกระชังก็เหมือนกับกระชังโดยทั่วไป แต่ไม่ใช้เสาปักยึดติดอยู่กับที่ ส่วนบนของกระชังผูกติดทุ่นลอย ซึ่งใช้ไม้ไผ่หรือแท่งโฟม มุม 4 มุม ด้านล่างใช้แท่งปูนซิเมนต์ หรือก้อนหินผูกกับเชือกคร่าวถ่วงให้กระชังจม ถ้าเลี้ยงปลาหลายกระชังก็ใช้เชือกผูกโยงติดกันไว้เป็นกลุ่ม

อัตราส่วนของปลาที่เลี้ยงในกระชัง ปลานิลที่เลี้ยงในกระชัง ในหนองบึงที่มีอาหารธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สามารถปล่อยปลาได้หนาแน่น คือ 40-100 ตัว/ม.2 โดยไม่ต้องให้อาหารสมทบ แต่สำหรับประเทศไทยไม่มีแหล่งน้ำใดที่มีอาหารธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น ประเทศฟิลิปปินส่ ดังนั้น การเลี้ยงปลาในกระชังดังกล่าวจึงจำเป็นต้องให้อาหารสมทบที่เหมาะสม เช่น ปลายข้าวหรือมันสำปะหลัง รำข้าว ปลาป่น และพืชผักต่างๆ โดยมีอัตราส่วนของโปรตีนประมาณ 20% วิธีทำอาหารผสมดังกล่าวคือ ต้มเฉพาะปลายข้าว หรือมันสำปะหลังให้สุก แล้วนำมาคลุกเคล้ากับรำ ปลาป่น และพืชผักต่างๆ แล้วปั้นเป็นก้อนเพื่อมิให้ละลายน้ำได้ง่ายก่อนที่ปลาจะกิน ส่วนกระชังหรือคอกปลาที่เลี้ยงในลำแม่น้ำ สามารถจะเพิ่มอัตราส่วนการปล่อยปลาลงเลี้ยงได้ประมาณ 200 ตัว/ม.2

ปลาสกุลเดียวกับปลานิลอีกชนิดหนึ่งคือปลาหมอเทศข้างลาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tilapia zilliiซึ่งกรมประมงได้เคยนำเอามาขยายพันธุ์และปล่อยลงในกว๊านพะเยา จังหวัดพะเยา มาแล้ว ปรากฎว่าเป็นปลาที่มีรสชาติและเจริญเติบโตดี สามารถขยายพันธุ์ได้เร็วเช่นเดียวกันกับปลานิล คือ อุปนิสัยของปลาชนิดนี้จัดว่าเป็นปลาประเภทกินพืชโดยเฉพาะสาหร่ายต่างๆ ในน้ำ ซึ่งในอดีตปลาชนิดนี้ได้ช่วยกำจัดสาหร่ายในกว๊านพะเยาได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงน่าจะพิจารณาหาพันธุ์แท้ของปลาชนิดนี้นำมาขยายพันธุ์เพื่อใช้เลี้ยงในกระชังตามแหล่งน้ำต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะในแหล่งน้ำต่างๆ อยู่ในภูมิภาคนี้มีสาหร่ายขึ้นอยู่หนาแน่น การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปลาหมอเทศข้างลายในกระชัง โดยใช้สาหร่ายหรือวัชพืชในน้ำเป็นอาหาร จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่การส่งเสริมของเกษตรกร การเพิ่มพูนอาหารประเภทโปรตีนแก่ประชาชน และกับทั้งเป็นการกำจัดหรือควบคุมวัชพืชในน้ำ โดยอาศัยหลักชีววิทยา ทำให้แหล่งน้ำคงสภาพถาวรตลอดไป

นอกจากนี้การเลี้ยงปลานิลแบบเดี่ยวที่จะให้ผลผลิตสูงนั้น สามารถ จะทำได้โดยวิธีเลี้ยงแบบแยกเพศหรือการเปลี่ยนเพศปลาที่เลี้ยงให้เป็นเพศผู้ทั้งหมด Mr. Edwards Peter แห่ง AIT ได้ทดลองใช้ฮอร์โมนที่มีชื่อว่า17แอลฟา เมททิล เทสทอสเตอโรน (17 µmethyl testosterone) ผสมในปลาป่นที่บเละเอียดอัตราส่วน 40 มก./ลิตร หรือ 40 ส่วนในล้าน ให้อาหารดังกล่าวแก่ลูกปลานิลวัยอ่อนหลังจากอาหารยุบวันละ 3-4 ครั้ง โดยให้ติดต่อกันเป็นระยะเวลาประมาณ 30 วัน ปรากฎผลเป็นที่น่าพอใจ ลูกปลานิลที่เลี้ยงด้วยอาหารดังกล่าวแล้วเป็นที่นิยมในประเทศไต้หวัน เพราะได้ผลผลิตสูง ระยะเวลาในการเลี้ยงสั้นกว่าการเลี้ยงปลานิลทั้งสองเพศ นอกจากนี้ปลายังโตได้ขนาดที่ตลาดต้องการ จึงจำหน่ายได้ราคาดี ดังนั้นจึงควรที่จะส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงปลานิลด้วยวิธีเปลี่ยนเพศโดยใช้ฮอร์โมนดังกล่าวให้แพร่หลายยิ่งขึ้นต่อไป