การเพาะเลี้ยงไข่น้ำ (ผำ)

ไข่น้ำหรือผำ เป็นพืชประเภทลอยบนผิวน้ำ มีชื่อสามัญว่า Water meal และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Wolffia arrhiza (L) Wimm เป็นพืชในตระกูล Lemnaceae เช่นเดียวกับแหนเป็ด พบมากในประเทศแถบยุโรป แอฟริกากลาง แอฟริกาใต้ ออสเตรเลีย บราซิล อินโดนีเซีย และประเทศไทย ไข่น้ำเป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่น่าสนใจมาก เพราะสามารถใช้เป็นอาหารของคนและสัตว์ได้ ในทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จัดเป็นอาหารธรรมชาติประเภทพืชที่มีคุณค่ามากชนิดหนึ่ง

ชีววิทยาบางประการของไข่น้ำ

การศึกษาชีววิทยาของไข่น้ำพบว่า ไข่น้ำมีอยู่หลายชนิด มีชื่อพื้นเมืองว่า “ผำ” เป็นพันธุ์ไม้ที่มีต้นเล็กที่สุดในโลก เป็นพืชน้ำที่ไม่มีราก มีรูปร่างค่อนข้างกลมหรือยาวรี สีเขียวเป็นมันมีขนาดเส้นศูนย์กลาง 0.5-1.5 มิลลิเมตร ชอบขึ้นในที่อากาศร้อนและแสงแดดมาก ไข่น้ำมักมีตัวเบียฬอาศัยอยู่มาก โดยทั่วไปมักพบในแหล่งน้ำซึ่งมีน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง หรือบ่อเก่าๆ ที่มีใบไม้และมูลสัตว์สะสมอยู่ ในบริเวณใกล้เคียง เมื่อฝนตกน้ำฝนจะชะปุ๋ยแล้วจึงไหลมารวมกันอยู่ในหนอง บึง หรือบ่อ ต่อมาก็จะมีแหนหรือไข่น้ำขึ้น การเจริญเติบโตของไข่น้ำขึ้นอยู่กับอาหารหรือปุ๋ยที่มีอยู่ในน้ำ ไข่น้ำต้องการธาตุอาหารเช่นเดียวกับพืชโดยทั่วไป เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม ไข่น้ำต้องการพลังงานแสงเพื่อการสังเคราะห์แสง โดยปกติไข่น้ำเป็นพืชที่เจริญเติบโตเร็วในช่วงฤดูหนาวต่อกับฤดูร้อน และลดอัตราการเจริญเติบโตลงในฤดูฝน ซึ่งอาจเนื่องจากความเข้มข้นของธาตุอาหารในฤดูฝนยังเจือจางกว่า ประกอบกับในฤดูฝนความเข้มของแสง,น้อยกว่าด้วย

คุณค่าทางโภชนาการ

จากการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการไข่น้ำพบว่า ไข่น้ำแห้งมีความชื้น 20-22% โปรตีน 17.88% ไขมัน 0.20% เถ้า 23.50% กากและคาร์โบไฮเดรต 38.2% และแคลเซียม 0.09%

ในทางการประมง ไขน้ำจัดเป็นอาหารธรรมชาติประเภทพืชที่มีประโยชน์มากเพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และนอกจากจะเป็นอาหารทดของสัตว์น้ำแล้ว ไข่น้ำยังเป็นอาหารที่ดีของสัตว์บก เช่น หมู เป็ด และยิ่งไปกว่านั้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือก็นิยมรับประทานเป็นอาหารโปรดด้วย เพราะเมื่อนำไปใส่ในแกงเผ็ดและแกงพื้นบ้านจะเพิ่มรสชาติให้กับอาหารอย่างดี ไข่น้ำจึงมีชื่อเรียกตามภาษาพื้นบ้านว่า “ผำ”

การแพร่ขยายพันธุ์ไข่น้ำ

ไข่น้ำเป็นไม้ดอกชนิดหนึ่ง ดังนั้น การสืบพันธุ์เชื้อแพร่ขยายพันธุ์จึงเป็นการผสมเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียภายในดอก และมีดอกประมาณเดือนตุลาคมถึงมกราคม หรือจากนั้นจึงเจริญเป็นเม็ดสีเขียวต่อไป

อุปกรณ์และวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อแพร่ขยายพันธุ์

1. อุปกรณ์

-บ่อซีเมนต์

-ไข่น้ำ

-ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ปุ๋ยคอก และรำละเอียด

-กระชอนผ้า

2. วิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อแพร่ขยายพันธุ์

วิธีที่ 1 ใช้ปุ๋ยคอกกับรำละเอียด โดยสถานประมงน้ำจืดจังหวัดสกลนครได้ทำการทดลองในบ่อซีเมนต์ขนาด 3X5 เมตร ลึก 80 ซม. เติมดินลงในบ่อหนา 10 ซม. โรยทับด้วยปุ๋ยคอกในอัตรา 1 กก./ม.2 โรยทับด้วยรำละเอียดพอประมาณ รดน้ำให้ชุ่ม ทิ้งตากแดดให้แห้งประมาณ 10-15 วัน เติมน้ำให้ท่วมประมาณ 10 ซม. จากนั้นใส่ไข่น้ำลงไปประมาณ 1 กก. ทิ้งไว้ 15 วัน เติมน้ำอีก 50-60 ระดับน้ำทั้งหมดประมาณ 60-70 ซม. รักษาระดับน้ำไว้ ไข่น้ำเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตลอดปี

วิธีที่ 2 ใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ใช้บ่อซีเมนต์ขนาด 10 ม.2 เติมดินโคลนก้นบ่อ เติมน้ำ 30 ซม. เติมปุ๋ยคอก 10 กรัม/ม.2 หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ 10 กรัม/ม.2 (ปุ๋ยยูเรียกับปุ๋ยฟอสเฟต) เติมไข่น้ำ 15-20 กรัม/ม.2 เมื่อปริมาณเพิ่มขึ้นจึงเก็บเกี่ยว ระยะเวลา 2 สัปดาห์ จะให้ผลผลิต 800-1,000 กรัม/ม.2