การเพาะเลี้ยงไรแดงในบ่อซีเมนต์

1. อุปกรณ์

บ่อผลิต ลักษณะของบ่อซีเมนต์ถ้าเป็นการลงทุนใหม่ บ่อซีเมนต์ที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไรแดงที่เหมาะสมควรมีลักษณะเป็นรูปไข่ แต่ถ้ามีบ่อซิเมนต์สี่เหลี่ยมอยู่แล้วก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน พื้นก้นบ่อและข้างบ่อของบ่อไรแดงควรฉาบและขัดมันให้เรียบร้อยเพื่อประโยชน์ในการหมุนเวียนของน้ำเป็นการป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียว เพราะถ้าไม่มีการหมุนเวียนของน้ำแล้ว จะทำให้นํ้าเขียวตกตะกอนได้ง่ายแล้วน้ำเขียวจะตาย และทำให้ผลผลิตของไรแดงน้อยลง บ่อซีเมนต์ที่ใช้ในการเพาะไรแดงควรมีทางน้ำเข้าและทางน้ำออกเอาไว้เพื่อสะดวกในการเพาะ การล้าง และการเก็บเกี่ยวไรแดง

ขนาดบ่อซีเมนต์ ขนาดของบ่อเพาะไรแดงจะขึ้นอยู่กับความต้องการผลผลิตของไรแดง แต่ในด้านความสูงของบ่อควรจะมีความสูงประมาณ 60 ซม.

เครื่องเป่าลม ในบ่อเพาะที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 30-50 ม2 จำเป็นที่จะต้องมีเครื่องเป่าลมหรือเครื่องให้อากาศไว้ในบ่อเพาะ เครื่องเป่าลมจะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของน้ำและเพิ่มออกซิเจน ในบ่อเพาะ จะเป็นการป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียวแล้ว ยังช่วยเร่งการขยายพันธุ์การเจริญเติบโตของน้ำเขียวให้เร็วขึ้น และลดความเป็นพิษของน้ำที่มีต่อไรแดง

เครื่องเป่าลมสำหรับการเพาะไรแดงนั้นอาจประกอบขึ้นมาเอง โดยซื้อมอเตอร์ ขนาด 1/4 แรงม้า มาประกอบเข้ากับเครื่องเป่าลมแอร์รถยนต์เก่า ซึ่งหาซื้อได้ในราคาถูกตามร้านขายเครื่องยนต์เก่า ค่าใช้จ่ายในการประกอบเครื่องเป่าลมนี้จะตกเครื่องละไม่เกินหนึ่งพันบาท

จากเครื่องเป่าลม ใช้ท่อเอสลอนต่อวางไปตามจุดที่ต้องการจากนั้นก็ต่อท่อแยก ซึ่งมีวาล์วสำหรับปิดเปิดให้ลมผ่านเข้าไปในท่อเอสลอน เจาะรูพรุนวางในบ่อ

ผ้ากรอง ในการกรองน้ำลงในบ่อเพาะทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นน้ำบาดาล น้ำคลอง น้ำประปา และน้ำเขียวที่เป็นเชื้อเริ่มต้น ควรผ่านผ้ากรองขนาด 69 ไมครอนหรือต่ำกว่าก็ได้ เพื่อเป็นการป้องกันสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และศัตรูของไรแดง

น้ำเขียว (Chlorella sp.) เป็นพืชน้ำขนาดเล็ก 2.5-3.5 ไมครอน มีโปรตีนสูงประมาณ 64.15% เพาะพันธุ์โดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์โดยใช้เวลาการเพาะ เริ่มต้นให้น้ำเขียวประมาณ 2-3 วัน

ไรแดง หัวเชื้อไรแดงใช้สำหรับแพร่ขยายพันธุ์ต่อไป ควรหาไรแดงที่แข็งแรงสภาพดี มีสีแดงเรื่อๆ และไม่ควรมีไรน้ำชนิดอื่นๆ ปะปนมาด้วย

วัสดุที่ใช้ในการเพาะไรแดง

อามิ-อามิ เป็นกากของการทำผงชูรส หรือที่เรียกกันว่า G.M.L. (Glutamic Mother Liquid) ซึ่งประกอบด้วยแร่ธาตุไนโตรเจน 4.2% และฟอสฟอรัส 0.2% การใช้ควรใช้ทั้งน้ำและตะกอนร่วมกันในกรณีถ้าอามิ-อามิ เกิดการตกตะกอนมาก ควรลดระดับปริมาณที่ใช้ลงเพื่อป้องกันการเน่าเสียของน้ำในบ่อไรแดง

รำหรือกากถั่วและปลาป่น เมื่อเกิดการย่อยสลายจะก่อให้เกิดแบคทีเรียและเป็นปุ๋ย NPK ต่างๆ พร้อมสารอื่นๆ อีกหลายชนิด สามารถทำให้น้ำเขียวยิ่งขึ้น

ปุ๋ยวิทยาศาสตร์

-ปุ๋ยนา                             สูตร 16-20-0

-ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟต       สูตร 0-46-0

-ปุ๋ยยูเรียหรือปุ๋ยน้ำตาล   สูตร 46- 0-0

ในการใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ทุกครั้ง ควรทำการละลายน้ำให้หมดเพื่อป้องกันการตกค้างของปุ๋ยในบ่อเพาะไรแดง

ปูนขาว การใช้ปูนขาวในบ่อเพาะไรแดงก็เพื่อเป็นการปรับระดับความเป็นกรด เป็นด่างของน้ำ และช่วยในการเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำเพื่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของน้ำเขียวให้เร็วขึ้น การใช้ปูนขาวควรละลายน้ำก่อนแล้วค่อยใส่ลงในบ่อเพาะไรแดง

ปูนขาวที่มีขายอยู่ในท้องตลาดทั่วไป โดยปกติจะมีอยู่หลายประเภท เช่น

1. ปูนเผา หรือ Calcium oxide (CaO)

2. ปูนเปียก หรือ Calcium hydroxide [Ca (OH)2]

3. หินปูน หรือ CaCO 3

4. ปูนมาร์ล

ปูนต่างๆ เหล่านี้จะมีประสิทธิภาพเรียงลำดับจากมากมาหาน้อย โดยปูนเผาจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

2. การเพาะไรแดง

การเพาะไรแดงนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 วิธี คือ แบบไม่ต่อเนื่องและแบบต่อเนื่อง

-การเพาะแบบไม่ต่อเนื่อง คือการเพาะไรแดงแบบการเก็บเกี่ยวเพียงครั้งเดียว การเพาะแบบนี้จำเป็นที่จะต้องมีบ่ออย่างน้อย 4 ปอ เพื่อใช้ในการหมุนเวียนให้ได้ผลผลิตทุกวัน การเพาะแบบไม่ต่อเนื่องจะให้ปริมาณไรแดงที่แน่นอนและจำนวนมาก ไม่ต้องคำนึงในด้านศัตรูมากนัก เพราะว่าเป็นการเพาะในช่วงระยะสั้น

-การเพาะแบบต่อเนื่อง คือการเพาะไรแดงแบบเก็บเกี่ยวผลผลิตไรแดงหลายวัน ภายในบ่อเดียวกัน การเพาะแบบนี้ต้องมีบ่ออย่างน้อย 4 บ่อ การเพาะแบบต่อเนื่องจะต้องคำนึงถึงศัตรูของไรแดงและสภาวะแวดล้อมในบ่อเพาะไรแดง เนื่องจากการเติมพวกอินทรียสารต่างๆ หรือการเติมน้ำเขียวลงในบ่อ ควรมีการถ่ายเทน้ำและเพิ่มน้ำสะอาดลงในบ่อเพื่อเป็นการลดความเป็นพิษของแอมโมเนียและสารพิษอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในบ่อ

สูตรที่ใช้ในการเพาะไรแดงในบ่อ 50 ม.2 ระดับความสูงของน้ำ 20 ซม. ปริมาณน้ำ 10 ตัน หรือ 10,000 ลิตร

สูตรที่ 1 อามิ-อามิ 5 ลิตร, NPK (16-20-0) 2 กก., รำ 5 กก., ปูนขาว 3 กก., ผลผลิตของไรแดงที่ได้ต่อบ่อ 11-13 กก.

สูตรที่ 2 อามิ-อามิ 30 ลิตร, NPK (16-20-0) 0.5 กก., KNO3 1 กก. (โปแตสเซียมไนเตรต), P2O5 (ซุปเปอร์ฟอสเฟต) สูตร 0-46-0 130 กรัม, ปูนขาว 3 กก., ผลผลิตของไรแดงที่ได้ต่อบ่อ 12-13 กก.

สูตรที่ 3 อามิ-อามิ 5 ลิตร, KNO3 (โปแตสเซียมไนเตรต) 0.5 กก., ยูเรีย (46-0-0) 0.5กก., NPK (16-20-0) 1 กก., รำ 5 กก., ปูนขาว 3 กก., ผลผลิตของไรแดงที่ได้ต่อบ่อ 11-12 กก.

ในกรณีที่ไม่ใช้อามิ-อามิ ให้ใช้รำละเอียดหรือกากถั่วหนัก 3-5 กก. แทนสูตรดังกล่าวมาแล้วก็ได้

สูตรต่างๆ ที่กล่าวมานี้ สถานีฯ ได้เริ่มการเพาะเลี้ยงไรแดงตั้งแต่ปี 2527-2529 โดยไม่ได้ใช้เครื่องพ่นอากาศหรือกังหันนํ้าแต่อย่างไร ผลผลิตที่ได้ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก สำหรับการเพาะแบบต่อเนื่องผลผลิตจะได้เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

ขั้นตอนการเพาะไรแดง

1. แบบการเพาะไม่ต่อเนื่อง

-ทำความสะอาดบ่อซีเมนต์ แล้วตากปอทิ้งไว้ 1 วัน

-ทำการเปิดน้ำลงปอพร้อมละลายปุ๋ยลงในบ่อโดยใช้สูตรใดสูตรหนึ่ง เปิดน้ำให้มีระดับความสูง 20 ซม.

-ทำการเติมนํ้าเขียวลงในบ่อประมาณ 1-2 ตัน (1,000-2,000 ลิตร) ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 วัน ในระหว่างนี้ควรเดินคนปอยๆ เพื่อป้องกันการตกตะกอน

-หลังจากน้ำเขียวเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทำการลงเชื้อไรแดงประมาณ 1.5- 2 กก. ทิ้งไว้ประมาณ 3 วัน ไรแดงจะขยายพันธุ์ขึ้นและสามารถเก็บเกี่ยวไรแดงได้ประมาณ 12 กก. ใช้เวลาทำการเพาะไรแดงประมาณ 7 วัน

2. แบบการเพาะต่อเนื่อง

เมื่อดำเนินขั้นตอนถึงข้อ 1.4 ในการเก็บเกี่ยวจะทำการเก็บไรแดงมาใช้เพียง 1/2 ของไรแดงที่เกิดขึ้นในบ่อประมาณ 5-6 กก.

ลดระดับน้ำลงให้เหลือประมาณ 110 ซม. แล้วทำการเติมน้ำสะอาดและน้ำเขียวอย่างละ 5 ซม. ทำเช่นนี้ทุกวันจนกว่าสภาวะแวดล้อมในบ่อไรแดงไม่เหมาะสมหรือผลผลิตไรแดงลดลง จึงทำการล้างบ่อแล้วเริ่มทำการเพาะใหม่

ผลผลิตของไรแดงแบบการเพาะต่อเนื่อง จะสามารถเก็บเกี่ยวไรแดงได้ประมาณ 25 กก. ภายในระยะเวลา 12 วัน

การเพาะไรแดงในปัจจุบัน

ปุ๋ยที่ใช้ในการเพาะไรแดงในบ่อขนาด 10 X 5 เมตร ความลึกของบ่อ 60 ซม. ระดับน้ำเพิ่มเป็นระยะ ดังนี้

รายการ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะที่ 3
ปุ๋ย ระดับน้ำ 30 ซม. ระดับน้ำ 37.5 ซม. ระดับน้ำ 45 ซม.
อามิ-อามิ 20 ลิตร 10 ลิตร 10 ลิตร
ปุ๋ยนา 16-20-0 1 กก. 0.5 กก. 0.5 กก.
ยูเรีย 46-0-0 5 กก. 2.5 กก. 2.5 กก.
ฟอสเฟต 0-46-0 260 กรัม 160 กรัม 160 กรัม
ปูนขาว 3 กก. 1.5 กก. 1.5 กก.

 

1. เตรียมบ่อขนาด 10 X 5 เมตร ความลึก 60 ซม. โดยทำความสะอาดพื้นบ่อ ตากบ่อ พร้อมทั้งติดตั้งท่ออากาศให้เรียบร้อย

2. ทำการเติมน้ำและปุ๋ยพร้อมทั้งใส่น้ำเขียวประมาณ 1-2 ตัน ตามตารางในการใส่ปุ๋ยและน้ำในแต่ละชุดจะแบ่งออก 3 ระยะ โดยแต่ละระยะจะต่างกัน 3 วัน

3. ทำการเติมเชื้อไรแดงในบ่อที่เตรียมไว้บ่อละ 3-5 กก. หลังจากเติมปุ๋ยในระยะที่ 3 ได้ 3 วัน

4. หลังจากเติมเชื้อไรแดง 4-5 วัน สังเกตว่าน้ำจะเป็นสีแดงทั้งหมดบ่อและพบน้ำเขียวเหลือน้อย ก็จะทำการเก็บเกี่ยวได้

5. ผลผลิตที่ได้จากการทดลองตั้งแต่เริ่มต้นจนเก็บเกี่ยว ใช้เวลาประมาณ 12-14 วัน ในบ่อที่ใส่ปุ๋ยตามระยะเวลาดังกล่าวจะได้ผลผลิตสูงมาก ประมาณ 42-45 กก. ส่วนในบ่อที่ไม่มีเครื่องเป่า อากาศผลผลิตจะได้น้อยลงได้ผลผลิต 35-41 กก.

ปัญหา วิธีการแก้ไข และเทคนิคที่ควรทราบ

1. การเตรียมน้ำลงในบ่อเพาะไรแดง ควรกรองน้ำด้วยผ้ากรองน้ำทุกครั้ง เพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในแหล่งน้ำที่นำมาเพาะไรแดง

2. น้ำเขียวที่จะนำลงบ่อเพาะไรแดง ควรกรองด้วยถุงกรองแพลงก์ตอนเพื่อป้องกันสิ่งมีชีวิตที่ติดมากับน้ำเขียว

3. การเพาะไรแดงโดยการใช้ปุ๋ยมูลสัตว์หรืออาหารเม็ดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้ผลผลิตไรแดงสูง อีกทั้งการเติมอาหารพวกอินทรียสารจะทำให้เกิดการเน่า น้ำเสียได้ง่าย และผลผลิตไรแดงจะไม่แน่นอน การเพาะน้ำเขียวนอกจากจะเป็นอาหารไรแดงแล้ว ยังช่วยรักษาระบบนิเวศนวิทยาในการอยู่ร่วมกันของไรแดง ทำให้เกิดผลผลิตไรแดงสูงได้

4. การเพาะไรแดง ปัจจัยที่คำนึงปัจจัยแรกก็คือ อาหาร น้ำเขียว ซึ่งนับว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมต่อการใช้เลี้ยงไรแดง คงสภาพอยู่ได้นานไม่เน่าเสีย เจริญเติบโตได้รวดเร็วด้วยปุ๋ยชนิดต่างๆ การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับปุ๋ยอนินทรีย์จะทำให้น้ำเขียวมีการเจริญเติบโตได้ดี และคงสภาพอยู่ได้นาน

5. การเพิ่มระดับน้ำและปุ๋ย ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งในการเพิ่มผลผลิตของไรแดง เนื่องจากการเพิ่มน้ำและปุ๋ยจะเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำเขียวให้มากขึ้นก็จะทำให้ไรแดงมีผลผลิตสูงขึ้น ฉะนั้นในการเพาะเลี้ยงไรแดง ถ้ามีการจัดการเรื่องระบบและวิธีการใช้น้ำ รวมทั้งเพิ่มปริมาณปุ๋ยและชนิดของปุ๋ยให้เหมาะสมขึ้นก็สามารถจะทำให้การเพาะเลี้ยงไรแดงได้ผลผลิตที่สูงขึ้นกว่าปัจจุบัน

6. การใช้ออกซิเจนโดยทั่วไป สิ่งที่มีชีวิตจำเป็นต้องใช้ออกซิเจนในขบวนการสร้างพลังงาน ฉะนั้นในการเพิ่มออกซิเจนโดยใช้ปั๊มลมลงในบ่อเพาะเลี้ยงไรแดง นอกจากช่วยให้ไรแดงมีการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้แบคทีเรียที่อยู่ในบ่อทำการย่อยอินทรียสารได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการทำให้น้ำเขียวมีการเจริญเติบโตได้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยป้องกันการตกตะกอนของน้ำเขียวได้ ดังนั้นในการเพิ่มออกซิเจนลงในบ่อเพาะเลี้ยงไรแดง ก็จะมีส่วนให้ไรแดงมีผลผลิตสูงขึ้น

7. การหมุนเวียนน้ำ การหมุนเวียนน้ำที่เป็นปัจจัยอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเพาะน้ำเขียว และไรเเดงโดยตรง โดยจะช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนและยังช่วยไม่ให้น้ำเขียวตกตะกอนเกิดการสูญเปล่า นอกจากนี้ยังช่วยให้ปุ๋ยที่ตกตะกอนทับถมกันอยู่กระจายฟุ้งขึ้นมา เพื่อเป็นประโยชน์โดยตรงต่อน้ำเขียวซึ่งจะมีผลทำให้ผลผลิตของไรแดงสูงขึ้น

8. แสงแดด แสงแดดนับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดและควบคุมได้ยากที่สุด แสงแดดจะมีผลต่อปริมาณความหนาแน่นของน้ำเขียว และระยะเวลาที่ใช้ในการเพาะไรแดงโดยตรง ในการเพาะไรแดง ถ้าทำการเพาะในช่วงที่มีแดดจัดจะทำให้ผลผลิตของไรแดงสูงขึ้น และระยะเวลาสั้นกว่าการเพาะในช่วงที่มีแดดไม่จัดหรือไม่มีแสงแดด

9. อุณหภูมิ อุณหภูมิจะเป็นปัจจัยธรรมชาติอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งสามารถควบคุมได้ยาก จะมีผลต่อผลผลิตของไรแดง โดยเฉพาะเมื่ออุณหภูมิต่ำที่จะทำให้ผลผลิตของไรแดงต่ำ และอุณหภูมิสูงถึงสุดที่ เหมาะสมที่จะทำให้ผลผลิตของไรแดงสูงขึ้น ระยะเวลาในการเพาะไรแดงที่จะเร็วขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้การเพาะไรแดงใช้เวลาน้อยลง แต่ได้ผลผลิตสูงขึ้น

10. ศัตรูของไรแดงที่นับว่าเป็นปัจจัยอันหนึ่ง ที่จะเป็นตัวกำหนดปริมาณของไรแดงในบ่อโรติเฟอร์นับว่าเป็นศัตรูชนิดหนึ่งของไรแดง เพราะว่าโรติเฟอร์จะแย่งกินอาหารของไรแดง และจะเข้าเกาะตามตัวของไรแดง จึงควรระมัดระวังทุกขั้นตอนในการป้องกันโรติเฟอร์

11. จากการทดลองที่ผ่านมาเมื่อคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและผลผลิตที่ได้จากการเพาะเลี้ยงไรแดงทำให้มั่นใจว่าสามารถนำวีธีการดังกล่าวไปเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อมในครอบครัวได้