การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า

อาจารย์สำเนา  ฤทธิ์นุช วิทยาลัยเกษตรและเทคโนลียีชัยนาท

เห็ดฟาง เป็นเห็ดที่ขึ้นได้ดีในธรรมชาติ เป็นเห็ดที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี ขึ้นได้ดีในวัสดุที่เป็นผลผลิตจากไร่นา สวนผลไม้ วัชพืชต่าง ๆ ได้แก่ ฟางข้าว เปลือกถั่วเหลือง เปลือกถั่วเขียว ต้นกล้วย ผักตบชวา จอกหูหนู ต้นข้าวโพด เปลือกฝักข้าวโพด ระแง้ข้าวฟ่าง ตลอดจนเศษหญ้าแห้งทั่วไป และผลผลิตที่เป็นส่วนเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมบางชนิด เช่น ขี้ฝ้าย กากเปลือกมันสำปะหลัง และชานอ้อย คนไทยมีความคุ้นเคย การประกอบอาหารด้วยเห็ดฟางอย่างมากมายหลายชนิด ได้แก่ ต้มยำเห็ดฟาง ผัดเห็ดฟาง แกงเผ็ดเห็ดฟาง และใช้เป็นส่วนประกอบกับอาหารประเภทอื่น ๆ ได้อย่างลงตัว นอกจากนี้เห็ดฟางยังแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมได้ดีมาก ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือ เห็ดฟางแช่น้ำเกลืออัดกระป๋อง และเห็ดฟางแห้ง เป็นต้น

เห็ดฟาง ยังเป็นสมุนไพรรักษาและป้องกันโรคได้หลายชนิด เช่น ช่วยเพิ่มภูมิป้องกันโรคติดต่อ ช่วยสมานแผล รักษาโรคลักปิดลักเปิด บรรเทาอาการเส้นเลือดฝอยแตกใต้ผิวหนัง รักษาโรคเหงือก มีสาร Volvatioxin ซึ่งขัดขวางกระบวนการสันดาปของเซลล์มะเร็งบางชนิด ปกติการบริโภคเห็ดฟางควรทำให้สุกมาก ๆ เพื่อร่างกายจะย่อยได้ง่ายและดูดซึมไปใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้น

การส่งเสริมการเพาะเห็ดฟางในประเทศไทยมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง เนื่องจากเห็ดฟางเพาะได้ง่าย มีวัสดุเหลือจากการเกษตรสามารถใช้เพาะเห็ดฟางได้อย่างมากมาย ปัจจัยการเพาะเห็ดได้รับความสนใจจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนเป็นอย่างมาก จึงคาดหวังว่า ถ้ามีการส่งเสริมและสนับสนุนที่ดีแล้ว เห็ดฟางจะมีความสำคัญมากขึ้นในอนาคตเพื่อเพิ่มแหล่งอาหารให้กับประชากร และทำรายได้ให้กับประเทศไม่แพ้พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ อย่างแน่นอน

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า เป็นนวัตกรรมใหม่ในการพัฒนาวิธีเพาะเห็ดฟางที่ง่ายต่อการปฏิบัติ ใช้เทคโนโลยีที่ไม่ยุ่งยาก สะอาดปลอดภัย ต้นทุนการผลิตต่ำ ให้ผลตอบแทนสูงมาก ใช้วัสดุเพาะที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ปลอดจากสารเคมีที่เป็นอันตรายทั้งผู้เพาะเห็ดฟางและผู้บริโภคเห็ดฟาง สามารถเพาะได้ในระดับครอบครัวจนถึงทำเป็นการค้าได้ และสามารถเพาะได้ตลอดทั้งปี ที่สำคัญผลผลิตเห็ดฟางต้องมีปริมาณและ

คุณภาพตามที่ตลาดต้องการทุกประการ

การเพาะเห็ดฟางตะกร้า

ในปัจจุบันตลาดมีความต้องการเห็ดฟางในปริมาณที่มากขึ้นทุก ๆ ปี เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางไม่สามารถที่จะผลิตเห็ดฟางให้เพียงพอกับความต้องการดังกล่าวได้ เนื่องจากการทำฟาร์มเพาะเห็ดฟางที่ผ่านมามีการลงทุนที่สูงมาก มีการจัดการที่ยุ่งยากและซับซ้อน ผลผลิตไม่แน่นอน เกษตรกรไม่สามารถวางแผนการผลิตและควบคุมคุณภาพของผลผลิตเห็ดฟางได้

การเพาะเห็ดฟางตะกร้า เป็นการศึกษาค้นคว้าวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการเพาะเห็ดฟางให้สะดวกรวดเร็ว ง่าย ใช้วัสดุที่ทิ้งแล้ว ลดการเสี่ยง ต้นทุนต่ำมาก วางแผนการผลิตได้อย่างแน่นอน ควบคุมคุณภาพของดอกเห็ดฟางได้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและมีความปลอดภัยทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค การศึกษาและวิจัยดังกล่าวผู้เขียนได้ทดลองจนได้ผลเป็นที่พอใจและได้เผยแพร่โดยสื่อมวลชนไปบางส่วนจนเป็นที่ยอมรับในหมู่เกษตรกรผู้เพาะเห็ดอย่างกว้างขวาง

วัสดุ-อุปกรณ์ที่ใช้ในการเพาะเห็ดฟาง

1.  ตะกร้าพลาสติก(ตะกร้าใส่ผลไม้ เป็นตะกร้าทรงสูง เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ½ ฟุต สูง 1 ½ ฟุต ตาห่าง 1 ½ นิ้ว ก้นตะกร้าไม่ทึบ เพื่อให้ระบายน้ำได้

2.  วัสดุเพาะ ได้แก่ ฟางข้าว เปลือกถั่วเหลือง ชานอ้อย และก้อนเชื้อเห็ดที่เพาะจากขี้เลื่อยยางพาราที่ทิ้งแล้ว (เห็ดนางรม เห็ดนางฟ้า เห็ดเป๋าฮื้อหรือเห็ดหูหนู) โดยคัดเลือกก้อนเชื้อที่หมดสภาพหรือหมดอายุแล้วไม่มีเชื้อราและศัตรูเห็ดทำลาย

3.  เชื้อเห็ดฟางที่ดี โดยเลือกเชื้อเห็ดที่ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป เป็นเชื้อเห็ดที่เชื่อถือได้ จะเป็นแบบหัวเชื้อถุง(spown) 1 ถุง ทำได้ 3 ตะกร้า หรือ เชื้อถุง (อีแปะ) 1 ถุงทำได้ 1 ตะกร้าก็ได้

4.  พลาสติกคลุมเห็ดฟาง เป็นพลาสติกผืนใหญ่ ชนิดใสหรือสีก็ได้ ขนาดกว้าง 4×4 เมตร หรือใช้ถุงปุ๋ยชำแหระเย็บติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ก็ได้ หรือเป็นพลาสติกใสกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร (มีขายเป็นม้วน)

5.  ในกรณีทำเป็นโรงเรือน (โรงเรือนขนาดเล็ก ๆ) ควรทำด้วยเหล็กแป๊บขนาด 4 หุน หลังคาโค้งมนหรือหน้าจั่ว ขนาดหน้ากว้าง 1x2x2 เมตร ทำชั้นสูงจากพื้นดิน 20 ซม. สำหรับวางตะกร้าซ้อนกันได้ 3-5 ชั้น คลุมด้วยพลาสติกถึงพื้นดิน เจาะรูระบายความร้อนตรงหน้าจั่ว 2 รู(ปิดเปิดได้)

6.  อาหารเสริม เป็นวัสดุที่ย่อยง่าย สะอาด เก็บความชื้นได้ดี เป็นแหล่งอาหารและพลังงาน อาหารเสริมที่หาได้ง่าย และให้ผลผลิตสูง คือ ผักตบชวาสดหั่น (ควรหั่นเฉียงเป็นปากฉลาม) ขนาด 1-2 ซม. ใช้ทั้งต้นใบและราก จะให้ผลผลิตสูงมาก หรือไส้นุ่นชุบน้ำหมาด ๆ เป็นอาหารเสริมก็ได้ นอกจากนี้อาจใช้แป้งข้าวสาลี รำละเอียด หรืออาหารเสริมเห็ดฟางสำเร็จรูปที่มีขายในท้องตลาดนำมาคลุกเชื้อเห็ดฟางก่อนเพาะก็ได้วัสดุ-อุปกรณ์ อำนวยความสะดวกอื่น ๆ เช่น บัวรดน้ำ เกรียงไม้(สำหรับอัดวัสดุเพาะ) ไม้ทุบก้อนเชื้อเห็ด มีด ไม้ไผ่แฝก หญ้าคาหรือกระสอบป่านพรางแสง

วิธีการเพาะเห็ดฟางตะกร้า

จัดเตรียมวัสดุ-อุปกรณ์

1.  การเตรียมพื้นที่ อยู่กลางแจ้ง หรือในร่มก็ได้ ถ้าอยู่กลางแจ้งต้องพลางแสงด้วย จัดทำความสะอาดและปรับพื้นที่ให้เรียบบริเวณที่ตั้งตะกร้า ต้องเป็นพื้นที่ที่มีความชื้น ป้องกันปลวกมด และแมลงโดยการโรยปูนขาวก่อนวางตะกร้าเห็ดฟาง 2-3 วัน หรืออาจทำขาตั้งรองรับตะกร้าสูงประมาณ 20 ซม. ในกรณีใช้โรงเรือน ต้องเตรียมพื้นที่สำหรับตั้งโรงเรียนให้มั่นคง

2.  จัดเตรียมวัสดุเพาะ ถ้าเป็นก้อนเชื้อเห็ดที่ทิ้งแล้วให้เลือกก้อนเชื้อที่ไม่มีเชื้อราหรือแมลงระบาด นำมาทุบแยกถุงพลาสติกออกทุบให้ขี้เลื่อยละเอียดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าละเอียดมากจะทำให้เส้นใยไม่ค่อยเดินหรืออาจใช้เครื่องตีก็ได้ การใช้ฟางข้าวต้องไม่พ่นสารเคมีกำจัดเชื้อรามาก่อน เปลือกถั่วเหลืองและเปลือกถั่วเขียวควรแช่น้ำก่อนเพาะ 1 คืน

3.  จัดเตรียมอาหารเสริม ควรจัดเตรียมให้พร้อมและใช้ทันที การใช้ผักตบชวาสดต้องทำความสะอาดต้นผักตบชวาก่อน โดยล้างน้ำให้สะอาดกำจัดก้านใบที่เน่าเสียทิ้งไป ผักตบชวาที่ดีควรขึ้นอยู่ในน้ำไหลจะดีกว่าในน้ำนิ่ง การใช้ไส้นุ่นให้แช่น้ำให้ชุ่มประมาณ 15 นาที(ข้อเสียของไส้นุ่นจะมีเมล็ดงอกมาก) การใช้มูลไก่แห้งผสมกับดินร่วน จะใช้ในอัตราส่วนขี้ไก่แห้ง 1 ส่วนต่อดินร่วน 3 ส่วน นำไปใช้ได้ทันที

4.  น้ำที่ใช้เป็นน้ำสะอาด เช่น น้ำบ่อ หนอง คลอง บึง หรือน้ำบาดาล ถ้าใช้น้ำประปาห้ามผสมคลอรีนหรือแกว่งสารส้มโดยเด็ดขาด(จะทำลายเส้นใยเห็ดฟาง)

5.  จัดเตรียมภาชนะสำหรับเพาะ เช่น ตะกร้าที่ใช้แล้วต้องทำความสะอาดและตากแดดก่อน

6.  เตรียมเชื้อเห็ดฟาง ชนิดเชื้อแม่(spown) ใช้อัตราส่วน 1 ถุงต่อ 3 ตะกร้า ชนิดแบบอีแป๊ะ 1 ถุง ต่อ 1 ตะกร้า

การเลือกเชื้อเห็ดฟาง

ลักษณะของเชื้อเห็ดฟางที่ดี มีข้อสังเกตดังนี้

1.  มีเส้นใยเป็นสีขาวออกนวบเล็กน้อย ลักษณะหยาบไม่ฟูเจริญออกมาจากจุดที่เขี่ยเชื้อไว้ และเจริญออกมาอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งถุง หนาแน่นพอสมควร

2.  มีกลิ่นหอมคล้ายเห็ดฟาง ไม่มีกลิ่นเหม็น หรือกลิ่นอย่างอื่น

3.  ไม่มีเชื้ออย่างอื่นปะปน เช่น ราสีเขียว ราขาว หรือแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็นหรือเชื้อเห็ดเจริญเว้นเป็นจุด ๆ

4.  ไม่มีไข่หรือตัวหนอนของแมลงเกิดขึ้นอยู่ในถุงเชื้อเห็ดฟาง

5.  เมื่อฉีกถุงดูจะพบว่าก้อนวัสดุทำเชื้อเห็ดยังเกาะตัวกันเป็นก้อน ไม่แตกแสดงว่าเส้นใยเห็ดฟางกินวัสดุได้ทั่วถึง

6.  ไม่มีน้ำแฉะที่ก้นถุง ซึ่งจะทำให้เชื้อเจริญไม่เต็มถุง

7.  มีดอกเห็ดฟางขนาดเล็ก ๆ ขึ้นในถุงเล็กน้อย

การเก็บรักษาเชื้อเห็ดฟาง

เมื่อเชื้อเห็ดเจริญเต็มถุงแล้ว แสดงว่าเชื้อเห็ดฟางอยู่ในระยะกำลังเหมาะสม ควรนำไปใช้ทันที หากจำเป็นจะต้องเก็บควรเก็บในห้องมืด ที่อุณหภูมิ 18-20 องศาเซลเซียส หรือนำเอาไปวางไว้กับพื้นห้องที่เย็น ๆ แล้วเอาผ้าดำคลุมไว้ การเก็บเชื้อเห็ดฟางจะเก็บได้นานมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและวิธีการเก็บ เช่น ความอ่อนแก่ของเชื้อเห็ด

ข้อสังเกตุ  ถ้าเส้นใยเห็ดรวมตัวกันเป็นดอกภายในถุงเห็ดและมีสีน้ำตาลเกิดขึ้นแล้ว แสดงว่าเชื้อเริ่มแก่ จะต้องรีบนำเอาไปใช้ก่อนที่ดอกเห็ดจะฝ่อตายไป เชื้อเห็ดที่แก่เกินไปแล้ว ไม่ควรนำมาใช้อีก เพราะจะทำให้ผลผลิตต่ำมาก หัวเชื้อเห็ดฟางที่เรียกว่าเชื้อแม่ (spown) จะเก็บได้นานกว่าเชื้อแบบอีแป๊ะ ห้ามนำเชื้อเห็ดฟางไปเก็บไว้ในตู้เย็นโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เชื้อเห็ดฟางเป็นหมัน

วิธีการเพาะเห็ดฟางตะกร้า

มีขั้นตอนปฏิบัติ ดังนี้

1. นำวัสดุเพาะ เช่น ขี้เลื่อยที่ทิ้งแล้ว เปลือกถั่วเหลืองที่จัดเตรียมไว้ ใส่ลงในตะกร้า สูงจากก้นตะกร้า 1 ฝ่ามือ (2-3 นิ้ว) ใช้เกรียงไม้กดขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะและให้ชิดของตะกร้าให้มากที่สุด

2.  โรยอาหารเสริมที่เตรียมไว้ลงบนขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะ ให้ชิดข้างตะกร้ากว้าง 2-3 นิ้ว โดยรอบข้างตะกร้าหนาประมาณเล็กน้อย (1-2 ซม.)

3.  นำเชื้อเห็ดฟาง (อีแป๊ะ) 1 ถุง แบ่งเป็น 3 ส่วน นำไปคลุกเคล้าแป้งข้าวสาลีเล็กน้อย นำส่วนที่ 1 โรยบนอาหารเสริมโดยรอบหรือวางเป็นจุด ๆ ห่างกัน 5-10 ซม. นำขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะทับลงในตะกร้าหนา 1 ฝ่ามือ (2-3 นิ้ว) ใช้เกรียงไม้กดให้แน่นพอสมควร เรียกว่าชั้นที่ 1

4.  ทำชั้นที่ 2 โดยโรยอาหารเสริมและโรยเชื้อเห็ดฟางส่วนที่ 2 ทำเหมือนชั้นที่ 1 เรียกว่าชั้นที่ 2

5.  โรยอาหารเสริมเต็มผิวด้านหน้าของขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะ และนำเชื้อส่วนที่ 3 วางเป็นจุด ๆ บนอาหารเสริมจนทั่ว หลังจากนั้นนำขี้เลื่อยหรือวัสดุเพาะทับชั้นบนหนา 1-2 ซม. กดด้วยเกรียงไม้ให้แน่น เมื่อเพาะเสร็จแล้ววัสดุที่เพาะเห็ดฟางในตะกร้าจะอยู่ต่ำกว่าปากตะกร้าประมาณ 2-3 นิ้ว (ระวังอย่าทำแต่ละชั้นหนาเกินไปจะทำให้วัสดุเพาะล้นตะกร้าเกินไป)

6.  นำไปรดน้ำให้ชุ่มประมาณ  2 ลิตร(ห้ามใช้น้ำที่มีคลอรีน) และนำตะกร้าไปวางบนพื้นใช้ไม้ไผ่โค้งและคลุมด้วยพลาสติก หรือจะนำเข้าไปเพาะในโรงเรือนที่เตรียมไว้

7.  การดูแลรักษา ต้องควบคุมอุณหภูมิภายในกระโจมหรือโรงเรือนให้อยู่ในระดับ 37-40 องศาเซลเซียส ในช่วง 1-4 วันแรก (ในฤดูร้อนและฤดูฝน) แต่ถ้าในฤดูหนาวใช้เวลา 7-8 วัน ควรใช้เทอร์โมมิเตอร์แขวนไว้ในโรงเรือนและต้องตรวจสอบตลอดเวลา

8.  เมื่อถึงวันที่ 4 ในฤดูร้อนและฤดูฝน หรือวันที่ 7 ในฤดูหนาวแล้ว ให้เปิดพลาสติกหรือโรงเรือนอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้เกิดการถ่ายเทของออกซิเจน เพื่อให้เส้นใยเห็ดสร้างจุดกำเนิดดอก ถ้าวัสดุเพาะแห้งเกินไปให้รดน้ำตัดเส้นใยได้เล็กน้อย แต่ถ้าไม่แห้งไม่ต้องรดน้ำ

9.  หลังเปิดทิ้งให้อากาศถ่ายเท 2-3 ชั่วโมงแล้ว ให้ปิดพลาสติกอย่างเดิม (ในตะกร้าพลาสติกต้องใช้ไม้โค้งก่อนปิดพลาสติกเพื่อไม่ให้น้ำหยดลงในตะกร้า)และควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 28-32 องศาเซลเซียส ในระหว่างวันที่ 5-8 ถ้าอากาศร้อนให้ทำช่องระบายอากาศบ้างเล็กน้อย หรือใช้วัสดุพรางแสงคลุม หรือรดน้ำรอบ ๆ กระโจมหรือโรงเรือน เพื่อลดอุณหภูมิ

10. ในวันที่ 6-7 จะมีการรวมตัวของเป็นดอกเล็ก ๆ จำนวนมากมาย ห้ามเปิดพลาสติกหรือโรงเรือนบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้ดอกเห็ดฝ่อ

11. ประมาณ วันที่ 8-9 ในฤดูร้อนหรือวันที่ 12-15 ในฤดูหนาว ดอกเห็ดฟางจะมีขนาดโตขึ้นและจะทำการเก็บเกี่ยวได้ต่อไป

12.  วิธีเก็บเกี่ยว ใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้จับดอกเห็ดฟางที่ได้ขนาดแล้วหมุนเล็กน้อย ดอกเห็ดฟางจะหลุดออกมาโดยง่าย หรือใช้มีดคัทเตอร์ขนาดเล็กตัดชิดโคนดอกเห็ด ถ้าดอกเห็ดเกิดเป็นกลุ่มให้เก็บทั้งกลุ่ม ทำด้วยความประณีต อย่าให้กระทบกระเทือนดอกที่ยังเล็กอยู่

13.  หลังเก็บดอกเสร็จแล้ว ให้ปิดพลาสติกหรือโรงเรือนตามเดิมจะเก็บผลผลิตได้ 2-5 ครั้ง ผลผลิตเฉลี่ย 1 กก./ตะกร้าขึ้นอยู่กับวัสดุที่เพาะ

หมายเหตุ

1.  ในวันที่ตัดเส้นใยเห็ดฟาง อาจใช้กลูโคส 1 ช้อนกาแฟ ผสมน้ำ 1 ลิตร รดพร้อมกับการตัดเส้นใย

2.  การคลุมพลาสติก ถ้าพลาสติกใสดอกเห็ดจะมีสีดำ พลาสติกสีเข้มดอกเห็ดจะมีสีขาว

3.  บริเวณพื้นที่ซึ่งวางตะกร้าเพาะเห็ดฟางต้องมีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลรักษาการเพาะเห็ดฟางตะกร้า

การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า โดยใช้วัสดุชนิดต่าง ๆ เช่น ก้อนเชื้อเห็ดที่ทิ้งแล้ว ตอซังข้าว และชานอ้อย ไม่ต้องดูแลมากนัก เพียงแต่ต้องหมั่นสังเกตและควบคุมอุณหภูมิให้ใกล้เคียงตามที่กำหนด แต่ถ้าเป็นวัสดุบางชนิดต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ เปลือกและซังข้าวโพด เปลือกถั่วเขียว เปลือกถั่วเหลือง ต้องแช่น้ำก่อนนำมาเพาะ 1 คืน และต้องรดน้ำตัดเส้นใยในวันที่ 4 ของการเพาะ เนื่องจากวัสดุดังกล่าวเก็บรักษาความชื้นได้ไม่ดี การปฏิบัติอื่น ๆจะเหมือนกันดังนี้

1.  หลังจากคลุมพลาสติก หรือนำตะกร้าไปบ่มเส้นใยในโรงเรือน แล้ว 3-4 วันแรก เส้นใยเห็ดฟางจะเริ่มเจริญเติบโตต้องรักษาระดับอุณหภูมิภายในให้อยู่ระหว่าง 37-40 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนเกินไปให้ระบายความร้อน เพราะจะทำให้เส้นใยฟูมากและเห็ดฟางจะไม่สร้างจุดกำเนิดดอก จะต้องเปิดหรือเจาะพลาสติกระบายอากาศเล็กน้อย ถ้าอุณหภูมิต่ำมาก ๆ เส้นใยจะเจริญเติบโตช้าหรือไม่เจริญเลย

2.  การเจริญเติบโตในระยะเส้นใยของเห็ดฟางไม่ต้องการแสงควรปิดด้วยวัสดุพรางแสงหรือพลาสติกที่มีสีขุ่น หรือทึบแสง ได้จะทำให้เส้นใยเจริญได้ดียิ่งขึ้น

3.  ในวันที่ 4-5 (ในฤดูร้อน) และวันที่ 8-9 (ในฤดูหนาว) ให้สังเกตเส้นใยจะเจริญเห็นได้ชัดเจน มีลักษณะฟูคล้ายใยแมลงมุมเต็มพื้นที่ในตะกร้า ให้เปิดโรงเรือนหรือพลาสติกที่คลุมออกเพื่อให้ออกซิเจนถ่ายเทอย่างน้อย 2-3 ชั่วโมง การปฏิบัติดังกล่าวเป็นการกระตุ้นให้เส้นใยรวมตัวเป็นดอกเห็ดให้มากขึ้น ถ้าอากาศไม่ถ่ายเทหรือขาดออกซิเจน เส้นใยจะไม่รวมตัวเป็นดอกเห็ด ควรเปิดพลาสติกตอนเย็นจะดีที่สุด อย่าให้ถูกแดดจัด

4.  ในกรณีที่วัสดุในตะกร้าแห้งให้ใช้บัวชนิดฝอยรดน้ำได้เล็กน้อย เพื่อเพิ่มความชื้นและตัดเส้นใย อย่ารดน้ำแฉะเกินไปจะทำให้เส้นใยตาย และไม่ควรใช้น้ำที่ผสมคลอรีน เพราะคลอรีนจะไปฆ่าเส้นใยของเชื้อเห็ด แต่ถ้าสภาพในตะกร้าอยู่ในลักษณะพอดี ไม่จำเป็นต้องรดน้ำเลย

5.  เมื่อเปิดพลาสติกหรือโรงเรือน จนได้กำหนดเวลาแล้ว ให้ปิดพลาสติกหรือโรงเรือนให้เหมือนเดิม พรางแสงบ้างเล็กน้อย

6.  ต้องควบคุมระดับอุณหภูมิให้อยู่ในระดับ 28-32 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิสูงกว่าที่กำหนดจะทำให้เห็ดไม่ค่อยออกดอก และดอกจะฝ่อ ให้เปิดช่องระบายอากาศ ใช้วัสดุพรางแสงมากขึ้นและรดน้ำรอบ ๆ กระโจมหรือโรงเรือนเพื่อเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิ

7.  ในวันที่ 6-7 (ในฤดูร้อน) และวันที่ 12-13 (ในฤดูหนาว) จะเกิดการรวมตัวของเส้นใยเป็นจุดขาว ๆ นั้นคือดอกเห็ดขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากมาย ข้อควรระวังคือ อย่าให้อุณหภูมิสูงจัด ดอกเห็ดจะฝ่อ ห้ามรดน้ำในตะกร้าขณะเห็ดออกดอกโดยเด็ดขาด และอย่าเปิดโรงเรือนหรือเปิดพลาสติก

8.  ประมาณวันที่ 8 (ในฤดูร้อน) และวันที่ 14 หรือ 15 (ในฤดูหนาว) ดอกเห็ดจะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ ให้เลือกเก็บเฉพาะดอกที่เก็บได้ ถ้าดอกเกิดเป็นกลุ่มให้เก็บทั้งกลุ่ม เก็บอย่างประณีต อย่าให้กระทบกระเทือนดอกอื่น ๆ จะเก็บผลผลิตได้ 2-6 ครั้งหรือมากกว่า

9.  เมื่อเก็บผลผลิตแล้ว ให้ปิดโรงเรือนหรือพลาสติกไว้อย่างเดิม จะเก็บผลผลิตได้อีกในวันรุ่งขึ้น ข้อควรระวัง อย่าเก็บด้วยความรุนแรง อย่าให้ถูกดอกอื่นที่ยังไม่เก็บ จะทำให้ดอกเห็ดฝ่อได้ และห้ามรดน้ำโดยเด็ดขาด

10. เมื่อเก็บผลผลิตหมดแล้ว ให้นำวัสดุที่เพาะเห็ดฟางไปทำปุ๋ยหมักหรือนำไปผสมกับขี้เลื่อยยางพาราอีก 1 ส่วน เพาะเห็ดเป๋าฮื้อได้ ทำความสะอาดตะกร้าตากแดดให้แห้ง สามารถเพาะเห็ดฟางใหม่ได้ทันที โดยใช้พื้นที่และโรงเรือนเดิมได้เลย

ศัตรูของการเพาะเห็ดฟางตะกร้า

1.  โรคและแมลงศัตรูเห็ดฟาง

1.  มดและปลวก มดจะเข้าทำรังหรือทำลายเชื้อเห็ด ส่วนปลวกจะเข้ากัดกินเส้นใยเห็ด วัสดุเพาะป้องกันโดยใช้น้ำท่วมพื้นที่ก่อนเพาะเห็ด 1 สัปดาห์ หว่านเกลือแกงหรือผงซักฟอกเล็กน้อย และรักษาความสะอาดบริเวณเพาะหรือใช้วัสดุรองก้นตะกร้าให้สูงจากพื้นดินประมาณ 20 ซม. เช่น ใช้เหล็กทำเป็นขาตั้ง ใช้ต้นกล้วยสดรองก้นตะกร้า เป็นต้น นอกจากนี้ในกรณีที่มีปัญหารุนแรงจะเพาะบนพื้นซีเมนต์ก็ได้

2.  ไร  พบทั่วไปจะกัดกินเส้นใยเห็ด ทำให้ผลผลิตลดลงและทำให้เกิดความรำคาญแก่ผู้เพาะเห็ดเป็นศัตรูสำคัญในการเพาะเห็ด เกิดจากการนำวัสดุที่ไม่สะอาดมาเพาะ เช่น ฟางข้าวค้างปี ติดมากับก้อนเชื้อเห็ดที่ทิ้งแล้ว การเพาะเห็ดหลาย ๆ รุ่นซ้ำที่เดิม และไม่รักษาความสะอาดป้องกันกำจัดโดยเลือกวัสดุที่ใหม่และสะอาด ถ้ามีไรระบาดรุนแรงให้หยุดเพาะเห็ดชั่วคราว ทำความสะอาดภาชนะและพื้นที่ตลอดจนเผาทำลายเศาวัสดุที่เป็นแหล่งอาศัยให้หมด

3.  วัชพืช  หมายถึง เห็ดที่ไม่ต้องการให้เกิดขึ้นในขณะที่เพาะเห็ดฟาง พบทั่วไปมี 2 ชนิดคือ เห็ดหมึกหรือเห็ดขี้ม้าและเห็ดถั่ว จะพบมากเมื่ออากาศร้อนเกินไป แต่ในบางครั้งพบเห็ดนางรม นางฟ้าหรือเห็ดเป๋าฮื้อเจริญขึ้นมาจากวัสดุที่ใช้เพาะเห็ดฟางด้วยวัชเห็ด จะทำให้ผลผลิตเห็ดฟางลดลง การป้องกัน จะต้องเลือกวัสดุเพาะที่สะอาด แห้งและใหม่ไม่ควรเก็บไว้นานเกินไป

4.  เชื้อรา  จะแย่งน้ำและอาหารจากเส้นใยเห็ดและดอกเห็ด บางชนิดทำให้เกิดโรคและอาการผิดปกติแก่ดอกเห็ดผลผลิตลดลงอย่างมาก บางครั้งทำให้เห็ดฟางไม่สามารถเจริญเติบโตและไม่มีผลผลิตเลย นอกจากนี้ยังทำให้วัสดุเพาะเห็ดหมดอายุเร็วกว่าปกติ ได้แก่

–  ราเม็ดผักกาด  พบมากในช่วงที่อากาศร้อนจัด และวัสดุเพาะไม่สะอาดหรือไม่แห้งสนิทหรือติดมากับวัสดุที่เปียกฝนในธรรมชาติ ลักษณะเป็นตุ่มหรือเม็ดเล็ก ๆ กระจายทั่วไปบนวัสดุเพาะ

–  ราเขียว  จะมีลักษณะเป็นกลุ่มเส้นใยสีเขียวชัดเจน เกิดกับวัสดุเพาะที่มีเชื้อของราเขียว จะเกิดมากช่วงที่มีความชื้นสูงและอากาศร้อนอบอ้าว เกิดจากวัสดุเพาะที่มีเชื้อราเขียวเจริญอยู่หรือติดมากับเชื้อเห็ดฟาง

–  ราขาวฟู  มีลักษณะเป็นเส้นใยสีขาวฟูมาก พบทั่วไปทั้งด้านข้างและด้านบนของตะกร้า เกิดจากวัสดุเพาะที่มีเชื้อราขาวฟูเจริญอยู่หรือติดมากับเชื้อเห็ดฟาง พบวันแรกหรือวันที่ 2 ของการเก็บผลผลิตทำให้เห็ดฟางเสียหายตุ่มดอกเห็ดฝ่อ

–  ราขาวนวล  มีลักษณะเป็นกลุ่มของเส้นใยที่เจริญปกคลุมดอกเห็ดสีขาวนวล สาเหตุการเกิดเหมือนกันกับราเขียว พบทั่วไปทั้งด้านบนและด้านข้างตะกร้า ดอกเห็ดจะผิดปกติหรือฝ่อไม่ได้ผลผลิต

การป้องกันกำจัดเชื้อรา

1.  เลือกวัสดุเพาะที่สะอาด และแห้งสนิท

2.  เลือกเชื้อเห็ดฟางที่ดี ไม่มีเชื้อราปน

3.  ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้เหมาะสม

2.  ศัตรูอื่น ๆ

ได้แก่ สัตว์เลี้ยง(สุนัข) ไก่ หนู แมลงสาบ คางคก กิ้งกือ หอยทาก ศัตรูเหล่านี้ อาจจะทำลายเห็ดฟางที่เพาะได้ เช่น ขุดคุ้ย กัดกิน และสร้างความรำคาญ เป็นต้น

การป้องกัน ควรเพาะในสถานที่ที่มีสิ่งป้องกันมิดชิด รักษาความสะอาดและเฝ้าระวังอยู่เสมอ

การเก็บผลผลิตเห็ดฟางและการตลาด

หลังจากเพาะเห็ดฟางตะกร้าได้ประมาณ 8 วัน (ในฤดูร้อน) หรือ 12 วัน (ในฤดูหนาว) เห็ดฟางจะออกดอกและมีขนาดของดอกพร้อมที่จะเก็บได้แล้วบางส่วน ดอกที่ยังเก็บผลผลิตไม่ได้บางส่วน

ลักษณะของดอกเห็ดฟางที่ตาลาดต้องการคือ

1.  ดอกกระดุม เป็นดอกเห็ดฟางที่มีลักษณะกลมคล้ายกระดุมมีคุณภาพดีที่สุด ราคาสูง ผู้บริโภคมีความนิยมมากที่สุดและตลาดต้องการมากที่สุด ดอกเห็ดฟางชนิดนี้สามารถนำไปแปรรูปอัดกระป๋องหรือนำไปทำเห็ดดองได้ดีมาก

2.  ดอกรูปไข่ มีลักษณะคล้ายไข่ไก่ มีขนาดโตกว่าดอกกระดุม น้ำหนักเบากว่า คุณภาพรองลงมาจากดอกกระดุม ราคาปานกลาง ตลาดมีความต้องการสูง

3.  ดอกบาน เป็นดอกเห็ดที่แตกออกจากปลอกหุ้มแล้ว มีอายุมากและน้ำหนักเบา คุณภาพของดอกไม่ดี ราคาจะต่ำลงมาก ตลาดจะไม่ต้องการเห็ดฟางประเภทนี้

วิธีเก็บเห็ดฟางตะกร้า

เมื่อดอกเห็ดฟางได้ขนาดที่จะต้องเก็บแล้ว ควรเก็บตอนเช้ามืดหรือในตอนเช้าจะดีที่สุด วิธีเก็บให้ใช้หัวแม่มือและนิ้วชี้จับบริเวณโคนดอกเห็ดแล้วค่อย ๆบิดเบา ๆ ดอกเห็ดจะหลุดออกมา หรือใช้มีดคัทเตอร์ตัดโคนดอกเห็ดให้ชิดกับวัสดุเพาะมากที่สุด ใส่ตะกร้าพลาสติกอย่าให้ทับกันมากนัก ในกรณีที่ดอกเห็ดมีหลายขนาด ควรแยกขนาดในช่วงนี้จะทำให้การจัดการขั้นต่อไปรวดเร็วขึ้น

การเก็บรักษาเห็ดฟางไว้เพื่อการบริโภค

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าเห็ดฟางเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่เน่าเสียได้ง่าย ไม่สามารถที่จะเก็บดอกเห็ดสดไว้ได้นานวัน การเก็บดอกเห็ดฟางไว้บริโภค ที่นิยมปฏิบัติและได้ผลดีคือ ให้นำดอกเห็ดฟางไม่ควรเกิน 1-2 กก. ห่อด้วยกระดาษ(กระดาษหนังสือพิมพ์) แล้วใส่ถุงพลาสติกเก็บในช่องแช่ผักในตู้เย็น จะเก็บได้นาน 1-2 วัน ถ้าต้องการเก็บดอกเห็ดฟางจำนวนมากให้แบ่งเป็นห่อ ๆ ตามน้ำหนักที่ระบุ และปฏิบัติเช่นเดียวกัน