การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง

ปลากะพงขาวเป็นปลาน้ำกร่อยขนาดใหญ่ อาศัยอยู่ตามปากแม่น้ำที่ติดต่อถึงทะเล และยังสามารถแพร่เข้าไปอยู่ได้ในแม่น้ำลำคลองแหล่งน้ำจืด  ฉะนั้นในท้องที่บางแห่งจึงเรียกปลาชนิดนี้ว่า “กะพงน้ำจืด” ปลากะพงขาวมีลักษณะตัวยาวและแบนข้าง ปากกว้างมีฟันเล็กละเอียด ริมฝีปากล่างยื่นยาวกว่าริมฝีปากบนเล็กน้อย กระดูกแก้มที่ขอบเป็นหยักละเอียด และที่มุมเป็นหนามแหลม ลำตัวตอนบนเป็นสีฟ้าอมเขียว ด้านข้างและส่วนท้องสีขาวเงิน ครีบหางสีเหลืองดำ

การเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง  มีความเหมาะสมกับสภาพท้องที่ตามแหล่งน้ำตื้น เช่น แม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง แหล่งน้ำกร่อยในทะเลสาบ และทะเลชายฝั่ง  ซึ่งสามารถดัดแปลงเป็นที่เลี้ยงปลาได้สะดวกและลงทุนน้อย  แต่สามารถเลี้ยงปลาได้หนาแน่นเป็นจำนวนมากและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคภัยต่าง ๆ  จากการทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง  ปรากฏว่าเป็นปลาที่มีความอดทน  สามารถปรับตัวอยู่ได้ทั้งน้ำจืดน้ำเค็ม  สามารถฝึกให้เชื่องและเลี้ยงรวมฝูงได้ดี  เติบโตเร็วและให้ผลผลิตสูง เนื้อปลากะพงขาวมีรสชาดดีเป็นที่นิยมบริโภค จึงเป็นปลาที่มีราคาแพง ก.ก.ละ 40-50 บาท สามารถทำรายได้ให้แก่ผู้เลี้ยงพอสมควร  ดังนั้นการเลี้ยงปลากะพงขาวสามารถประกอบเป็นอาชีพได้เป็นอย่างดี

การรวบรวมลูกปลากะพงขาว

ลูกปลากะพงขาวขนาดเล็กมักเข้ามาอาศัยตามแหล่งน้ำตื้นตามบริเวณชายฝั่ง  และเข้าไปอาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำคลองหนองบึง หรือแม้กระทั่งในขาข้าวที่มีสายน้ำติดต่อเมื่อน้ำทะเลท่วมถึงตามจังหวัดชายทะเลทั่วไป  ทั้งในท้องที่ทางฝั่งอ่าวไทยและท้องที่ฝรั่งมหาสมุทรอินเดีย ระยะเวลาที่ปรากฎมีความชุกชุมลูกปลาเป็นจำนวนมากคือ ระยะตอนต้นฤดูฝน ซึ่งทางฝั่งอ่าวไทยสามารถรวบรวมได้จำนวนมากในระหว่างเดือนตุลาคม-มกราคม และทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย  ในระหว่างเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

ลักษณะเด่นของลูกปลากะพงขาวขนาดเล็ก  จะมีแถบสีน้ำตาลอ่อนหนึ่งแถบพาดตามแนวสันหลังจากปลายปากบน ถึงตอนต้นของครีบหลังอันแรก ลูกปลาขนาดเล็กความยาวไม่เกิน 3 ซ.ม.  ที่ด้านข้างลำตัวสีน้ำตาลอ่อนจะมีลายสีดำพาดขวาง  ในลูกปลาที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ลำตัวจะเป็นสีดำล้วน ๆ

การรวบรวมลูกปลาใช้อวนตาถี่ ขนาดตา 5 มิลลิเมตร  ลากจับลูกปลาตามแอ่งน้ำขนาดความยาวของอวนขึ้นอยู่กับขนาดพื้นที่จับลูกปลา ส่วนมากใช้อวนยาว 2-3 เมตร ลึก 1.5 เมตรก็พอ  ลูกปลาที่รวบรวมได้มักคละขนาดกันคือ มีความยาว 1-15 ซ.ม. แต่ถ้าทำการรวบรวมตอนต้น ๆ ฤดู  ส่วนใหญ่จะได้ลูกปลาขนาดเล็กมีความยาวประมาณ 6 ซ.ม.

สำหรับการซื้อหาพันธุ์ปลาก็สามารถสั่งจอง พันธุ์ปลาได้จากสถานีประมงทะเลบางแห่งหรือที่กรมประมงได้อีกทางหนึ่ง

การอนุบาลลูกปลา

1.  บ่ออนุบาล  ควรเป็นบ่อซิเมนต์รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 3-5 ตารางเมตร มีความลึก 50 ซ.ม. ใช้อนุบาลปลาขนาดยาว 3 ซ.ม. ได้จำนวน 300-500 ตัว สำหรับลูกปลาที่มีขนาดเล็กหรือโตกว่านี้  จำนวนลูกปลาที่อนุบาลจะต้องมากขึ้นหรือลดลงได้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตามการอนุบาลลูกปลาในบ่อดินจะได้รับผลดี

2.  น้ำที่ใช้อนุบาลลูกปลาควรใสสะอาดมีความเค็มใกล้เคียงน้ำในแหล่งจับลูกปลา  ไม่ควรอนุบาลลูกปลากะพงในน้ำจืดล้วน ๆ แต่ควรใส่เกลือแกงลง 1 ช้อนโต๊ะในน้ำจืด 1 ลิตร(ความเค็ม 10-12 ส่วนในพัน) การใช้เครื่องปั้มอากาศจำเป็นอย่างยิ่งต่อการอนุบาลปลาจำนวนมากในบ่อซีเมนต์  เพื่อเพิ่มปริมาณอ๊อกซิเจนในน้ำให้เพียงพอกับความต้องการหายใจของลูกปลา การเปลี่ยนน้ำบ่อย ๆ หรือจะใช้ระบบน้ำหมุนเวียนกรองจนสะอาดนำกลับมาใช้  รวมทั้งการขจัดเศษอาหารและสิ่งขับถ่ายออกจากบ่อจะทำให้ลูกปลาเติบโตเร็วขึ้น

3.  อาหารที่ใช้เลี้ยงลูกปลา  สำหรับลูกปลาที่มีขนาดเล็กกว่า 1.50 ซ.ม. ให้กินไรแดงหรือกุ้งเคยขนาดเล็กแต่ถ้าลูกปลาที่มีความยาวกว่านี้ ใช้เนื้อปลาหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้กินวัน 2-3 ครั้ง  โดยแต่ละครั้งให้กินอย่างเพียงพอ  แต่ก็ไม่ควรให้จนอาหารเหลือตกค้างอยู่ในบ่อ  ซึ่งจะเป็นเหตุให้น้ำเสียและเป็นช่องทางให้เกิดโรคกับลูกปลาได้

4.  การกินกันเองจะพบบ่อย ๆ  ในระยะแรกที่ลูกปลายังไม่เคยชินกับอาหารที่เราฝึกให้กิน เพราะโดยนิสัยตามธรรมชาติปลากะพงขาวจะกินเหยื่อที่มีชีวิต  ดังนั้นเวลาหิวลูกปลาโตกว่าก็จะกินตัวเล็กกว่าเป็นอาหารจึงจำเป้นต้องคอยแยกลูกปลาที่มีขนาดเล็กที่โตช้า หรือขนาดใหญ่ที่โตเร็วไปรวมไว้กับปลาที่มีขนาดเดียวกัน  มิฉะนั้นแล้วลูกปลาจะเหลือรอดน้อย เมื่ออนุบาลลูกปลาจนได้ขนาด 10 ซ.ม.ก็สามารถปล่อยลงเลี้ยงในกระชังต่อไปได้

อุปกรณ์ในการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง

1.  การเลือกทำเลในการติดตั้งกระชังเลี้ยงปลา

เป็นแหล่งที่มีระดับความลึกของน้ำอย่างน้อย 1 เมตร  มีกระแสน้ำไหลผ่านสะดวก

เป็นแหล่งที่มีเครื่องกำบังคลื่นลมตามธรรมชาติได้ดีเพื่อให้กระชังปลอดภัยจากการถูกทำลายของคลื่นลม เช่นบริเวณที่ลึกเข้าไปในทะเลสาป ปากแม่น้ำ ลำคลอง และอ่าวปิดบางแห่ง

เป็นแหล่งที่อยู่ห่างไกลจากโรงงานอุตสาหกรรม อันเป็นเหตุให้เกิดน้ำเสีย ซึ่งเป็นพิษเป็นภัยต่อปลาที่เลี้ยงและผู้บริโภคเนื้อปลา

แหล่งที่วางกระชังควรอยู่ห่างจากเส้นทางสัญจรทางน้ำ เพื่อให้กระชังปลอดภัยจากการถูกเรือชน อันเป็นเหตุให้กระชังเสียหาย ปลาหนีออกจากกระชังได้ ปราศจากเสียงรบกวน

2.  วัสดุที่ใช้ในการเลี้ยงปลา

กระชังไนล่อนขนาดกว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร ลึก 2.50 เมตร ประกอบด้วยเนื้ออวนเบอร์ 15 มีขนาดตา 2.0-2.5 ซ.ม.  สามารถปล่อยปลาลงเลี้ยงได้ 300 ตัว ต้นทุนของกระชังขนาดดังกล่าวคิดเป็นเงินกระชังละ 1600-1800 บาท ใช้ได้นาน 3-4 ปี

อาหารที่ใช้เลี้ยง เป็นพวกเศษปลาเบ็ดเตล็ดราคาถูก ประมาณกิโลกรัมละ 1.50-2 บาท  โดยสับเป็นชิ้นพอเหมาะกับขนาดปลาที่เลี้ยง

3.  การดูแลรักษา

เมื่ออนุบาลลูกปลาได้ขนาดประมาณ 10 ซ.ม. จึงนำปลาปล่อยลงเลี้ยงในกระชังที่วางเตรียมไว้  โดยให้อาหารในเวลาที่มีน้ำขึ้นเต็มที่ โยนให้กินคราวละน้อย ๆ ให้กินอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึงจนกว่าปลาจะหยุดกิน ไม่ควรให้อาหารมากเกินความจำเป็น เพราะอาหารจะเหลือตกค้างอยู่ในกระชังกลับเป็นเหยื่อล่อปูและสัตว์น้ำอื่น ๆ เข้ามาทำลายกระชัง อันเป็นเหตุให้ปลาหนีออกจากกระชังไปได้ ผู้เลี้ยงจะต้องหมั่นลงตรวจกระชัง เพื่อป้องกันการสูญหายของปลาในกระชัง

4.  ผลผลิตการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง

จากผลการทดลองเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชังของสถานีประมงสงขลา  พบว่าเมื่อเลี้ยงปลาในกระชังครบ 1 ปี จะให้ผลผลิต 300-500 กิโลกรัม ต่อพื้นที่กระชัง 100 ตรม.โดยมีอัตราการรอดตายประมาณ 90%และในการเลี้ยงปลากะพงขาวเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารที่ใช้เลี้ยงกับการเปลี่ยนแปลงเป็นเนื้อของปลาจะได้เนื้อ 1 กิโลกรัมต่ออาหารที่ให้ 7-10 ก.ก.

จากเอกสารคำแนะนำการเลี้ยงปลากะพงขาวในกระชัง กรมประมง 2519