การเลี้ยงปลาดุก

ปลากดุกเป็นปลาที่คนไทยนิยมรับประทานเป็นอาหารประจำวันมาช้านาน และถือว่าเป็นปลาที่เนื้อมีรสดีชนิดหนึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ปลาดุกเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายโตเร็วและอดทนต่อสิ่งแวดล้อม  สะดวกต่อการขนส่งในระยะทางไกล

ปลาดุกที่เลี้ยงกันอย่างแพร่หลายมีอยู่ 2 ชนิดคือปลาดุกอุยและปลาดุกด้าน ปลาดุกด้านมีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงกว่าปลาดุกอุย  จึงจะเสนอวิธีการเลี้ยงปลาดุกด้านในโอกาสนี้

ปลาดุกเป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ตัวยาวเรียว ครีบหลังยาวไม่มีกระโดง ครีบท้องยาวเกือบถึงโคนหาง มีหนวดคู่ มีอวัยวะช่วยในการหายใจ  ซึ่งช่วยให้ปลาดุกทนสามารถอยู่พ้นน้ำได้นาน ปลาดุกด้านมีกระดูกท้ายทอยแหลมกว่าของปลาดุกอุย

ขนาดของบ่อ บ่อควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เนื้อที่ประมาณ 400-800 รารางเมตร ลึกประมาณ 1 เมตร และมีชานบ่อ ปลาดุกเป็นปลาที่ชอบหนีจึงควรหาวัสดุล้อมรอบบ่อ อาจจะเป็นตาข่ายหรือไม้รวกขัดให้แน่นก็ได้ ขนาดบ่อดังกล่าวใช้เลี้ยงตั้งแต่ลูกปลาวัยอ่อน จนถึงปลาขนาดใหญ่

การเตรียมบ่อ

บ่อใหม่ หากเป็น่บ่อที่ขุดใหม่ ดินมักเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโดยทั่วบ่อในอัตรา 1 ก.ก. ต่อเนื้อที่ 10 ตารางเมตร

บ่อเก่า จำเป็นต้องปรับปรุงบ่อ  โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด ลอกเลน ตบแต่งคันบ่อและท่อระบายน้ำให้เรียบร้อย แล้วตากบ่อจนแห้ง โอกาสนี้แสงแดดจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้ดินมีคุสมบัติดีขึ้น

ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง ต้องกำจัดศัตรู ได้แก พวกปลากินเนื้อ เช่นปลาช่อน ปลาชะโด กบและเขียดออกให้หมดโดยการระบายน้ำออกให้แห้ง  เพื่อให้ผลแน่นอน  ควรใช้โล่ติ๊นสาดให้ทั่วบ่อ ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้หมด ควรใช้โล่ติ๊นสด 1 ก.ก.ต่อน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร ทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวแล้วจึงปล่อยปลา

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยอินทรีย์  ได้แก่ปุ๋ยคอกที่ตากแห้งแล้วหรือปุ๋ยหมัก อัตราการใส่ปุ๋ยประมาณ 150-200 ก.ก.ต่อไร่  ระยะแรกนั้นควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้า ระยะหลัง ๆ ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก จนกระทั่งน้ำมีสีเขียวดี ซึ่งแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์

ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกว่าปุ๋ยเคมี  อาจหาซื้อได้ในรูปที่ผสมเสร็จแล้ว  โดยเป็นปุ๋ยที่มีอัตราส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูงกว่าส่วนผสมอื่นและใช้ในอัตรา 4 ก.ก.ต่อไร่ต่อเดือน

การเลี้ยง-อัตราการปล่อย ปล่อย 100-150 ตัวต่อเนื้อที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตรเป็นปลาขนาด 7-10 ซ.ม.

อาหาร ลูกปลาจะกินไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง ต่อจากนั้นก็ให้อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ได้แก่

1.  อาหารจำพวกแมลง เช่น ปลวก ลูกน้ำ ไรน้ำ ฯลฯ

2.  เนื้อสัตว์ เช่น เศษเนื้อวัว ควาย ปลา ไส้เป็ด ไส้ไก่ เลือดและเครื่องใน

3.  เนื้อกุ้ง หอย และปูต่าง ๆ

4.  เนื้อสัตว์จำพวก กบ เขียด และอื่น ๆ ตามแต่จะหาได้และเหมาะสม

อาหารจำพวกเนื้อสัตว์เหล่านี้จะต้องนำมาสับให้ละเอียดเสียก่อน อย่าให้อาหารมากเกินไป ปลาอาจกินไม่หมด น้ำจะเน่าเสียได้ง่ายและปลาอาจตายได้ ฉะนั้นควรถ่ายน้ำบ่อยๆ

หลักการให้อาหารแก่ปลา คือ 5 เปอร์เซนต์ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยงทั้งหมด

โดยทั่วไปปลาดุกชอบกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์มากกว่าประเภทพืช และประเภทแป้ง ควรให้อาหารประเภทเนื้อสัตว์ 30-40 เปอร์เซนต์ของอาหารประเภทพืชและแป้ง

การให้อาหารควรให้ในแป้น และหลาย ๆ แห่งในบ่อเดียวกัน

การเจริญเติบโต ปลาดุกเลี้ยงประมาณ 3-5 เดือน  จะมีน้ำหนักประมาณ 5 ตัวต่อ 1 ก.ก.  โดยการให้อาหารอย่างถูกต้องตามที่ได้แนะนำไว้

จากเอกสารคำแนะนำการเลี้ยงปลาดุก กรมประมง พ.ศ.2517