การเลี้ยงปลาสลิด

ปลาสลิดรูปร่างคล้ายปลากระดี่  แต่มีขนาดโตกว่าลำตัวมีสีพื้นที่ค่อนข้างดำ และมีลายดำเป็นริ้ว ๆ พาดขวางลำตัว ตัดกับลายดำ เป็นแถบยาวจากหัวถึงโคนหาง ขนาดใหญ่จะยาวประมาณ 20 ซม. ชอบอยู่ในน้ำนิ่ง เช่น ตามหนองและบึง จึงสามารถที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อ หรือในนาได้

การเตรียมบ่อ บ่อใหม่ ดินมักเป็นกรด ควรใช้ปูนขาวโรยทั่วบ่อในอัตรา 1 ก.ก. ต่อเนื้อที่บ่อ 10 ตารางเมตร และควรมีชานบ่อกว้างประมาณ 1 เมตร ไว้สำหรับเป็นที่อาศัยและเป็นที่วางไข่ของปลา

บ่อเก่า จำเป็นต้องปรับปรุงใหม่  โดยกำจัดวัชพืชออกให้หมด ลอกเลน ตบแต่งคันบ่อและท่อระบายน้ำให้เรียบร้อย แล้วตากบ่อจนแห้ง  โอกาสนี้แสงแดดจะช่วยกำจัดเชื้อโรคและช่วยให้ดินมีคุณสมบัติดีขึ้น

ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง ต้องกำจัดศัตรูได้แก่ พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุก และกบ เขียด งู ให้หมดโดยการระบายน้ำให้แห้ง  เพื่อให้ได้ผลแน่นอน  ควรใช้โล่ติ๊นสาดให้ทั่วบ่อ  ในกรณีที่ไม่สามารถระบายน้ำออกได้หมด ควรใช้โล่ติ๊นสด 1 กก. ต่อปริมาตรน้ำ 100 ลูกบาศก์เมตร ทิ้งไว้ 7-10 วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโล่ติ๊นสลายตัวแล้วจึงปล่อยปลา

การใส่พันธุ์ไม้น้ำ ควรใส่พันธุ์ไม้น้ำ เช่น ผักบุ้ง พังพวย และผักกระเฉด ตามบริเวณชานบ่อ เพื่อจะได้เป็นที่อาศัยและที่วางไข่ของปลาสลิดอีกด้วย

การใส่ปุ๋ย ปุ๋ยอินทรีย์ได้แก่ปุ๋ยคอกที่ตากแห้งแล้ว หรือปุ๋ยหมัก อัตราการใส่ปุ๋ยประมาณ 150-200 ก.ก.ต่อไร่  ระยะแรกนั้นควรใส่ปุ๋ยในขณะที่ตากบ่อก่อนระบายน้ำเข้าระยะหลัง ๆ ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก  จนกระทั่งน้ำมีสีเขียวดี ซึ่งแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติสมบูรณ์

ปุ๋ยอนินทรีย์ หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์  อาจหาซื้อได้ในรูปที่ผสมเสร็จแล้ว  โดยเป็นปุ๋ยที่มีอัตราส่วนผสมของฟอสฟอรัสสูงกว่าส่วนผสมอื่น และใช้ในอัตรา 4 ก.ก. ต่อไร่ต่อเดือน

การเลี้ยง อัตราการปล่อย ประมาณ 5-10 ตัว ต่อเนื้อที่ผิวน้ำ 1 ตารางเมตร

อาหาร อาหารได้แก่ ตะไคร่น้ำ รำละเอียด หรือปลายข้าวต้มปนกับผักบุ้งที่หั่นแล้ว แหนสด และปลวก ให้อาหารวันละ 2 ครั้ง ในเวลาเช้าเย็น ครั้งละประมาณ 4-5% ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง  ถ้าให้มากเกินไป เศษอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำในบ่อเสีย และเป็นอันตรายต่อปลา

การเจริญเติบโต ไข่ปลาสลิด จะเริ่มฟักเป็นตัวภายในระยะ 24 ชัวโมง และไข่จะออกเป็นตัวหมดภายใน 48 ชั่วโมง ลูกปลาที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ มีถุงอาหารติดอยู่ที่ท้องและจะยังไม่กินอาหารจนกว่าจะพ้น 7 วัน  ลูกปลาจะกินอาหารและจะสืบพันธุ์ได้เมื่อปลาอายุได้ 7 เดือน มีความยาว 10 ซม. ขึ้นไป

ศัตรูและโรคพยาธิ ได้แก่พวกปลากินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาดุกและกบ เขียด งู การเลี้ยงปลาแน่นเกินไปหรือไม่ได้ถ่ายเทน้ำ  ทำให้เกิดตัวเห็บที่เกาะติดตามตัวปลา จะดูดเลือดของปลากิน ทำให้ปลาไม่เจริญเติบโต  ถ้ามีไม่มากก็สามารถเก็บทิ้งได้  ถ้าหากมีมากเกินไปก็กำจัดโดยการระบายน้ำสะอาดเข้าในบ่อให้มาก ๆ ก็จะทำให้ตัวเห็บนี้หายไปได้

จากเอกสารคำแนะนำ การเลี้ยงปลาสลิด กรมประมง พ.ศ.2517