การเลี้ยงผึ้งในลักษณะอุตสาหกรรม


ในการเลี้ยงผึ้งแบบอุตสาหกรรมรวมนั้น ผู้เลี้ยงผึ้งอาศัยหลักในการผลิต โดยสร้างสภาพให้เหมือนภายในรังผึ้งที่เอื้อต่อการผลิต กล่าวคือ มีจำนวนผึ้งงานอายุ 5-15 วัน อย่างพอเพียง และมีการทดแทนอย่างสมดุล มีปริมาณอาหารมากพอ โดยเฉพาะเกสรดอกไม้และน้ำหวาน รวมทั้งปราศจากศัตรูรบกวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคและไรผึ้ง
การจัดเรียงคอนผึ้งมี 2 ลักษณะ คือ แบบชั้นเดียว จำนวนคอนในรัง 7-9 คอน และแบบซ้อนชั้น ซึ่งมีจำนวนคอนในรัง 15-18 คอน รายละเอียดของการจัดเรียงคอนทำได้ดังนี้
-การจัดเรียงคอนแบบชั้นเดียว 9 คอน


1. และ 11. คอนเกสรและนํ้าหวาน
2. คอนดักแด้แก่จวนจะออกเป็นตัวโตเต็มวัย
3. คอนว่างสำหรับผึ้งแม่รังไข่หรือราชินีผึ้ง
4. คอนไข่ปนหนอน
5. คอนหนอนปนตัวแก่ (เริ่มเข้าดักแด้)
6. คอนดักแด้แก่
7. ตะแกรงกั้นผึ้งแม่รัง
8. และ 10. คอนดักแด้แก่ที่ออกเป็นตัวโตเต็มวัย
9. คอนที่ใช้ผลิตนมผึ้ง
-การจัดเรียงแบบซ้อนรัง 15-18 คอน การจัดเรียงคอนชั้นล่างจะเรียงไว้ให้ผึ้งแม่รังไข่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเหมือนกับการเรียงคอนในแบบแรก ส่วนการจัดเรียงคอนชั้นบนอาจจะทำได้ดังนี้


คอนที่ 1, 2, 8 และ 9 คอนเกสรและน้ำหวาน
คอนที่ 3, 6 และ 7 คอนดักแด้แก่จัดที่ออกเป็นตัวโตเต็มวัย
คอนที่ 4 คอนหนอนอ่อนปนหนอนแก่ หรือหนอนปนดักแด้
คอนที่ 5 คอนที่ใช้ผลิตนมผึ้ง
อย่างไรก็ตาม การจัดเรียงคอนดังกล่าวข้างต้นไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ขึ้นอยู่กับสภาพของรังซึ่งสามารถจัดปรับได้ตามความเหมาะสม
การจัดการดูแลในเรื่องการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ ผู้เลี้ยงจะต้องศึกษาโดยการเข้ารับการอบรม ต้องเป็นผู้ที่มีความตั้งใจจะเพาะเลี้ยงผึ้งจริงๆ และต้องฝึกหัดจากผู้มีประสบการณ์เสียก่อน หลังจากนั้นก็เตรียมอุปกรณ์ในการเลี้ยงผึ้งให้พร้อมก่อนเข้าตรวจผึ้ง สถานที่จะนำผึ้งมาเลี้ยงต้องมีอาหารสมบูรณ์และไม่มีศัตรูรบกวน นอกจากนี้การจัดเรียงคอนจะต้องมีการเปลี่ยนตำแหน่งอย่างเป็นระบบทุก 5-7 วันด้วย
สำหรับวิธีการเก็บนํ้าผึ้ง จะเพาะเลี้ยงผึ้งจนมีประชากรประมาณ 30,000-60,000 ตัว นำไปตั้งไว้ใกล้แหล่งที่มีเกสรหรือนํ้าหวาน เมื่อผึ้งนำนํ้าหวานเข้ารังจนเต็มหลอดรังและสร้างไขผึ้งปิดหลอดประมาณร้อยละ 80 นำคอนนํ้าผึ้งสลัดตัวผึ้งออก ปาดไขผึ้งที่ปิดหลอดรองออกให้เห็นนํ้าผึ้งทุกหลอด แล้วนำไปใส่เครื่องสลัดนํ้าผึ้ง หมุนประมาณ 3-5 นาที นำคอนผึ้งไปเก็บไว้ที่เดิม ส่วนนํ้าผึ้งที่ได้จะต้องนำมากรองโดยตาข่ายเพื่อกรองเศษไขผึ้งแล้วนำนํ้าผึ้งไปใส่ถังบ่มนํ้าผึ้งทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาที จึงจะบรรจุใส่ขวดเป็นนํ้าผึ้งบริสุทธิ์และนำออกไปจำหน่ายต่อไป
จำนวนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง
จากการสำรวจของกรมส่งเสริมการเกษตรในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า จำนวนเกษตกรที่เลี้ยงผึ้งและจำนวนรังผึ้งเพิ่มขึ้นทุกปี จากจำนวนเกษตรกร 1,545 ราย และรังผึ้ง 49,500 รังในปี 2529 เป็น 2,111 ราย และ 51,741 รัง หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6 และ 4.5 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2524 ซึ่งมีจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งเพียง 482 ราย และจำนวนรังผึ้งเพียง 16,870 รังเท่านั้น นับได้ว่าการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยขยายตัวอย่างมาก อย่างไรก็ตาม อุปสรรคประการสำคัญในการสำรวจจำนวนเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้งและจำนวนรังผึ้งก็คือ เกษตรกรเหล่านี้จะมีการโยกย้ายรังผึ้งไปตามแหล่งอาหารในจังหวัดต่างๆ ในบริเวณภาคเหนือ
สำหรับการสำรวจปริมาณผลิตภัณฑ์ผึ้ง แต่เดิมมีการสำรวจเฉพาะผลผลิตน้ำผึ้งเท่านั้น ในปี 2524 ผลิตนํ้าผึ้งได้เพียง 12,000 กิโลกรัม ขยายเพิ่มขึ้นเป็น 2,310,000 กิโลกรัมในปี 2532 อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ ปริมาณนํ้าผึ้งที่ผลิตได้ในแต่ละปี จะขึ้นอยู่กับปริมาณนํ้าหวานหรือปริมาณของดอกลำไยและลิ้นจี่ ซึ่งนับเป็นแหล่งนํ้าหวาน ที่สำคัญของอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งในปัจจุบัน และนํ้าผึ้งจากลำไยและลิ้นจี่เป็นที่นิยมของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ปัจจุบันผู้เลี้ยงผึ้งพยายามหาแหล่งนํ้าหวานจากพืชอื่นๆ เพื่อเลี้ยงผึ้ง ซึ่งนอกจากจะทำให้ปริมาณนํ้าผึ้งมีเพิ่มขึ้นและสมํ่าเสมอแล้ว ยังจะเป็นการกระจายแหล่งเลี้ยงผึ้งไปยังภาคอื่นๆ นอกจากภาคเหนือตอนบนซึ่งเป็นแหล่งที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน
การลงทุนและผลตอบแทนในการเลี้ยงผึ้ง
การเลี้ยงผึ้งเป็นอาชีพทางการเกษตรอาชีพหนึ่ง ซึ่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (ปี 2530-2534) ได้ให้ความสำคัญว่านํ้าผึ้งจะเป็นสินค้าที่สำคัญประเภทหนึ่งที่สามารถทำรายได้ให้กับประเทศ นอกจากนี้ยังมีการบริโภคภายในประเทศด้วย ทั้งยังสามารถทำการผลิตผลิตภัณฑ์จากผึ้งชนิดอื่นๆ เช่น ไขผึ้ง เกสรผึ้ง และนมผึ้ง ผลประโยชน์ของการขยายตัวของอาชีพการเลี้ยงผึ้งก็คือ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลผลิตพืช โดยการผสมเกสรให้แก่พืชเศรษฐกิจที่สำคัญหลายชนิด ได้แก่ ลำไย ลิ้นจี่ นุ่น งา ทานตะวัน เป็นต้น นับได้ว่าอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งก่อให้เกิดผลประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นอันมาก
ตารางสถิติที่เกี่ยวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้ง


ที่มา : กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
หมายเหตุ : N.A. = ไม่มีข้อมูล (อยู่ในระหว่างการสำรวจจัดเก็บข้อมูล)
สำหรับผู้เลี้ยงผึ้งแล้ว การเลี้ยงผึ้งให้ได้ดีนั้นจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่การศึกษาข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งให้เข้าใจ ทั้งด้านความรู้ความชำนาญ เพื่อให้เกิดประสบการณ์และลู่ทางด้านการตลาด การเริ่มดำเนินการประกอบอาชีพการเลี้ยงผึ้ง เนื่องจากความเสี่ยงในการลงทุนให้น้อยที่สุด ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการควรปฏิบัติดังนี้
ปีที่ 1 ปีที่เริ่มดำเนินการ
1. ต้องศึกษาหาความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ต่างๆ ทุกด้านจากฟาร์มผึ้งต่างๆ ระหว่างการฝึกอบรมจากกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเริ่มดำเนินการอย่างแท้จริง
2. เริ่มดำเนินการเลี้ยงผึ้งในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน ด้วยจำนวนพันธุ์ผึ้ง 20 รัง ขนาดของผึ้งจำนวนรังละ 5 คอน แล้วขยายให้ได้เต็มจำนวน 10 คอนในช่วงเดือนพฤศจิกายน
3. ผลผลิตจะเก็บได้ในช่วงเดือนธันวาคม-กลางเดือนเมษายน ผลผลิตนํ้าผึ้งจะได้ประมาณ 45 กิโลกรัม/รัง/ปี
4. เมื่อสิ้นสุดปีที่ 1 จะมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น และจะสามารถคืนหนี้ได้บางส่วน มีพันธุ์ผึ้งและอุปกรณ์ดำเนินการในปีต่อไป และสามารถตั้งเป้าหมายรวมทั้งขยายกิจการจากพันธุ์ผึ้งที่มีอยู่เดิมโดยลงทุนเฉพาะแต่อุปกรณ์เท่านั้น
ปีที่ 2 และปีต่อๆ ไป เป้าหมายของการดำเนินการ สามารถพิจารณาและกำหนดได้ด้วยตัวเกษตรกรเอง
ในด้านรายได้และรายจ่ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เริ่มตั้งต้นจำนวนผึ้ง 20 รัง และค่อยๆ ขยายการเลี้ยงดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อย่างไรก็ตามรายได้และรายจ่ายที่มีการคำนวณนี้ยังไม่ได้นับรวมรายได้และรายจ่ายจากนมผึ้งไว้ด้วย เนื่องจากการผลิตนมผึ้งไม่สามารถทำได้ทุกฟาร์มที่เลี้ยงผึ้ง เพราะต้องอาศัยแรงงานและเทคนิคความชำนาญเฉพาะ
รายละเอียดของรายได้และรายจ่ายในการเลี้ยงผึ้งในช่วงปีที่ 1-4 มีดังนี้
ปีที่ 1
รายจ่าย รวมทั้งสิ้น                =    .47,510 บาท
รายได้ รวมทั้งสิ้น                =    49,500 บาท
นํ้าผึ้ง 45 กก./ รัง (20 รัง) = 900 กก.    =    49,500 บาท (กก. ละ 55 บาท)
ปีที่ 2
รายจ่าย รวมทั้งสิ้น                =    68,’580 บาท
รายได้ รวมทั้งสิ้น                =    132,780 บาท
นํ้าผึ้ง 45 กก./รัง (50 รัง) = 2,250 กก.    =    123,750 บาท (กก. ละ 55 บาท)
ไขผึ้ง 1 กก./3 รัง 17 กก.            =    1,530 บาท (กก. ละ 90 บาท)
เกสรผึ้ง 5 กก./รัง 10 รัง) = 50 กก.    =    7,500 บาท (กก. ละ 150 บาท)
ปีที่  3
รายจ่าย รวมทั้งสิ้น                    =    152,980 บาท
รายได้ รวมทั้งสิ้น                    =    265,470 บาท
น้ำผึ้ง 45 กก./ รัง (100 รัง) = 4,500 กก.    =    247,500 บาท (กก. ละ 55 บาท)
ไขผึ้ง 1 กก./3 รัง 33 กก.                =    2,970 บาท (กก. ละ 90 บาท)
เกสรผึ้ง 5 กก./รัง (20 รัง) = 100 กก.        =    15,000 บาท (กก. ละ 150 บาท)
ปีที่ 4
รายจ่าย รวมทั้งสิ้น                    =    128,000 บาท
รายได้ รวมทั้งสิ้น                    =    265,470 บาท
นํ้าผึ้ง 45 กก./ รัง (100 รัง) = 4,500 กก.    =    247,500 บาท (กก. ละ 55 บาท)
ไขผึ้ง 1 กก./ 3 รัง 33 กก.                =    2,970 บาท (กก. ละ 90 บาท)
เกสรผึ้ง 5 กก./รัง (20 รัง) = 100 กก.        =    15,000 บาท (กก. ละ 150 บาท)
แนวทางการพัฒนาส่งเสริมการเลี้ยงผึ้ง
แนวทางการพัฒนาส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะ ซึ่งจะต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและประสานกันจึงจะทำให้อุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งขยายตัวและพัฒนาต่อไปอย่างรวดเร็ว ได้แก่
1. การส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงผึ้ง การส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงผึ้งให้กับเกษตรกรและผู้สนใจทั่วไป แบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
1.1 ผู้ที่ยังไม่เคยเลี้ยงผึ้ง ซึ่งก็ยังจำแนกเกษตรกรและผู้สนใจที่ไม่เคยเลี้ยงผึ้งออกเป็น 2 ประเภท คือ
-เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย แต่มีที่ทำกินหรือที่อยู่อาศัยในแหล่งที่ เหมาะสมกับการเลี้ยงผึ้ง มีความสนใจในการเลี้ยงผึ้ง จะได้รับการอบรมการเลี้ยงผึ้งจากศูนย์ส่งเสริมและอนุรักษ์พันธุ์ผึ้ง หน่วยป้องกันและกำจัดศัตรูพืช สำนักงานเกษตรจังหวัด และยังสามารถยืมพันธุ์ผึ้งจากศูนย์อนุรักษ์และขยายพันธุ์ผึ้งไปเลี้ยงขยายพันธุ์รายละไม่เกิน 2 รัง และส่งคืนตามเงื่อนไขที่ศูนย์กำหนด ทั้งนี้เมื่อศูนย์ฯ ได้เริ่มดำเนินการ และมีพันธุ์ผึ้งเพียงพอสำหรับเกษตรกรที่ยากจนยืม นอกจากนั้นยังจะได้รับการดูแลตรวจสอบ และให้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ฯ เป็นครั้งคราวตามความจำเป็นของสภาพความต้องการในการตรวจสอบ
-เกษตรกรหรือผู้สนใจที่มีความสนใจการเลี้ยงผึ้ง และมีรายได้สามารถเลี้ยงผึ้งได้ จะได้รับการฝึกอบรมการเลี้ยงผึ้ง และสนับสนุนให้การตรวจสอบคำแนะนำการเลี้ยง การป้องกันกำจัดศัตรูผึ้งเช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ยากจน ยกเว้นการยืมพันธุ์ผึ้งเท่านั้น
1.2 เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจะได้รับการส่งเสริมในการอบรมความรู้เพิ่มเติม โดยศูนย์ฯ จะเป็นผู้จัดการอบรมทั้งในด้านวิชาการและปฏิบัติการเพื่อให้การผลิตผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนอบรมวิชาความรู้สมัยใหม่ เทคนิคต่างๆ เพื่อปรับปรุงการเลี้ยงการขยายพันธุ์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
1.3 เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งที่ประสบความสำเร็จหรือผู้เลี้ยงผึ้งที่มีกิจการขนาดใหญ่จะได้รับการส่งเสริมความรู้ในการเลี้ยง การผลิตในเชิงการค้า และการผลิตเพื่อการอุตสาหกรรม ตลอดจนการผลิตเพื่อการส่งออกไปตลาดต่างประเทศ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศชาติ
2. ส่งเสิรมการรวมกลุ่มของผู้เลี้ยงผึ้ง การเลี้ยงผึ้งจำเป็นจะต้องมีการรวมกลุ่มเป็นชมรม สมาคม หรือกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ทั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างผู้เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เลี้ยงใหม่ จะได้รับความรู้จากผู้เลี้ยงที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้การเรียนรู้จากประสบการณ์เร็วขึ้นเพื่อร่วมกันยกระดับมาตรฐานในการเลี้ยงผึ้ง นอกจากนี้ ประโยชน์ของการรวมกลุ่มนั้น เกษตรกรจะได้รับความสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ในการส่งเสริมและให้ความรู้ มีอำนาจต่อรองในประโยชน์ของสมาชิก รวมทั้งการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการเลี้ยงผึ้งและการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผึ้ง ตลอดจนการควบคุมการผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้งให้ได้คุณภาพและมาตรฐานตามความต้องการของตลาด
3. ส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ผึ้ง การตลาดของผลิตภัณฑ์ผึ้งนับวันจะเป็นปัญหามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศมีความจำกัดที่ประชาชนส่วนใหญ่บริโภคนํ้าผึ้งในแง่ยารักษาโรคมากกว่าการบริโภคเพื่อเป็นอาหารบำรุงร่างกาย อีกประการหนึ่ง ยังขาดความเข้าใจในการบริโภคผลิตภัณฑ์หลายอย่างจากผึ้ง นโยบายการส่งเสริมการตลาดของผลิตภัณฑ์ผึ้ง ได้แก่
3.1 ส่งเสริมให้มีการบริโภคภายในเพิ่มขึ้น โดยดำเนินการส่งเสริมการบริโภคนํ้าผึ้ง เกสร นมผึ้ง ตรอดจนผลิตภัณฑ์อื่นๆ ให้เพิ่มขึ้น โดยจัดทำโฆษณา แผ่นปลิว รวมทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ เพื่อวางโครงการแก้ปัญหาการตลาดในอนาคต
3.2 ส่งเสริมให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้งให้มีคุณภาพมาตรฐานตามความต้องการของตลาด และส่งเสริมการผลิตให้ถูกหลักอนามัย ตลอดจนการพัฒนาบรรจุหีบห่อ การใช้ภาชนะในการบรรจุให้มีรูปแบบตรงกับความต้องการของตลาด โดยผ่านทางกลุ่มชมรม และสมาคมผู้เลี้ยงผึ้ง
3.3 ส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก โดยการส่งเสริมการผลิตในทางการค้า ขั้นตอนการผลิต พัฒนาการเลี้ยงให้เป็นไปในทางอุตสาหกรรมมากขึ้น ลดต้นทุนในการผลิตเพื่อการส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปอบรมดูงานการเลี้ยงผึ้ง และเข้าสัมมนาการเลี้ยงผึ้งในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งต่อไป
ที่มา:ส่วนวิจัยเกษตรกรรม ฝ่ายวิชาการ ธนาคารกสิกรไทย