การเลี้ยงเชื้อเห็ดฟางในปุ๋ยหมัก

การทำเชื้อเห็ดฟางนับว่าง่ายที่สุดในขั้นตอนทั้งหมดของการเพาะเห็ดฟาง และสามารถใช้วัสดุได้มากมายหลายชนิด เชื้อเห็ดฟางจะดีหรือเลวไม่ได้ขึ้นอยู่กับปุ๋ยที่จะใช้มากนัก แต่ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์หรือหัวเชื้อนั่นเอง

วัสดุที่นิยมใช้กันคือ มูลของสัตว์ต่าง ๆ ได้แก่ มูลม้า มูลวัว มูลควาย มูลช้างและมูลของสัตว์บกต่าง ๆ ไส้นุ่น ผักตบชวา (ผักสามหาว) ต้นกล้วย เปลือกเมล็ดบัว เปลือกผลไม้ต่าง ๆ ใบไม้ และต้นข้าวโพด เป็นต้น

ตามอุปนิสัยของเห็ดฟางไม่สามารถย่อยเซลลูโลสหรือกินอาหารที่สลับซับซ้อนมาก ๆ ได้จำเป็นต้องอาศัยเชื้อจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติช่วยย่อยอาหาร โดยผ่านขบวนการหมักก่อน

จุลินทรีย์ที่ช่วยย่อยอาหาร มีอยู่ 2 พวกใหญ่ คือ

1. พวกที่ย่อยอาหารโดยไม่ใช้อากาศ ส่วนมากได้แก่พวกแบคทีเรียต่าง ๆ

2. พวกที่ช่วยย่อยอาหารต่อเนื่องจากพวกแรก ให้อยู่ในรูปที่เห็ดนำไปใช้ ได้ ส่วนมากได้แก่เชื้อรา ดังนั้นการใช้วัสดุดังกล่าวควรทำการหมักก่อนทุกครั้ง

ปุ๋ยหมักที่ได้จากมูลสัตว์ต่าง ๆ มีแร่ธาตุอาหารของเห็ดมากพออยู่แล้ว แต่ถ้าใช้มูลสัตว์อย่างเดียวทำเชื้อเห็ดไม่ดีนักเพราะปุ๋ยจะแน่นเกินไป เส้นใยชอนไชเข้าไปยาก และมูลสัตว์บางอย่างอาจมีเกลือบางชนิดปนอยู่ด้วย ซึ่งถ้ามีมาก ๆ แล้ว เส้นใยอาจเดินช้าได้ ด้วยเหตุนี้การทำปุ๋ยสำหรับทำเชื้อจึงนิยมใช้ปุ๋ยมูลสัตว์หมักรวมกับวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็วเช่น ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วย ฯลฯ เป็นต้น

การหมักปุ๋ย ในระยะแรกให้หมักมูลสัตว์ก่อน แต่ถ้าจะให้คุณภาพของปุ๋ยหมักดียิ่งขึ้นให้เติมพวกเปลือกผลไม้ต่าง ๆ เข้าไปด้วย เช่น เปลือกบัวหรือขุยมะพร้าว หรือขี้เลื่อยก็ได้แต่ต้องแช่น้ำก่อน 1 คืน เติมปริมาณเท่า ๆ กันโดยปริมาตร หรือใช้มูลสัตว์มากกว่าก็ได้ เปลือกผลไม้เหล่านั้นอกจากจะทำให้ปุ๋ยร่วนซุยดีแล้ว สารแทนนินที่อยู่ในเปลือกจะทำให้เชื้อเห็ดอยู่ได้นาน (แก่ช้า) แต่ถ้าไม่มีไม่ใส่ก็ได้ สำหรับมูลไก่ไม่ต้องหมักใช้ผสมวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็วเลย แต่ใช้ประมาณร้อยละ 3-5 โดยน้ำหนักของวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็ว

การหมักมูลสัตว์ ควรตีมูลสัตว์ให้แตกละเอียดเสียก่อนแล้วจึงรดนํ้ามูลสัตว์ให้เปียกผสมเปลือกผลไม้ทำกองไว้ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก แต่อย่าให้ลมปะทะกองปุ๋ยโดยตรง ถ้าลมโกรกมาก ๆ ควรทำฝากันลมสูงประมาณ 1 -1.5 เมตร ทำกองเป็นรูปสามเหลี่ยมสูงประมาณ 50-60 ซม. ส่วนความยาวขึ้นอยู่กับปริมาณของปุ๋ย ตบกองให้แน่นพอสมควร หมักทิ้งไว้ 2-3 วัน (ฤดูร้อนหมัก 2 วัน ฤดูหนาว -ฝน หมัก 3 วัน) จึงทำการกลบกองโดยเอาส่วนที่เคยอยู่ภายในกองออกมาข้างนอก และส่วนที่อยู่ข้างนอกให้เข้าอยู่ภายในกองบ้าง ในการกลบกองครั้งใหม่จะต้องทำให้ปุ๋ยร่วนเสียก่อน ทำกองให้สูงเท่าเดิม แต่อย่ากดปุ๋ยให้แน่นเหมือนระยะแรกหมัก ต่อไปอีก 2-3 วัน จึงทำการกลบกองปุ๋ยใหม่ ปฏิบัติเช่นนี้เรื่อย ๆ โดยกลบกองทุก 2-3 วัน ประมาณ 15-18 วัน หรือกลบกองประมาณ 5-6 ครั้ง ปุ๋ยหมักก็พร้อมที่จะนำมาผสมกับวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็วได้

การผสมวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็ว เช่น ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วยหรือ ฟางที่ตากให้แห้งและสับให้ละเอียด ใช้อัตราส่วนไม่แน่นอน คือ ใช้ได้ตั้งแต่ร้อยละ 5-10 ส่วนโดยปริมาตร เช่น มูลสัตว์หมัก 10 ส่วนต่อไส้นุ่น100 ส่วนโดยปริมาตร เป็นต้น ก่อนที่จะผสมมูลสัตว์จะต้องเอาวัสดุย่อยง่ายสลายเร็วที่จะใช้ชุบนํ้าให้เปียกแล้วผึ่งบาง ๆไว้ประมาณ 4-5 ชม. เกลี่ยบ่อย ๆ เพื่อให้ความชื้นที่มากเกินไประเหยออกไปบ้าง บีบดูจะสังเกตเห็นนํ้าเยิ้มออกมาจากง่ามมือเล็กน้อยจึงนำไปผสมคลุกเคล้ากับมูลสัตว์ แล้วทำเป็นกองเหมือนหมักมูลสัตว์ แต่จะกองไว้แบบหลวม ๆ กลบกองทุกวัน หมักต่อไปประมาณ 3-5 วัน ก็สามารถนำไปทำเชื้อเห็ดได้

ลักษณะของปุ๋ยหมักที่ใช้ได้ ควรมีลักษณะดังนี้

1.  มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นเห็ด

2. ปราศจากกลิ่นแอมโมเนีย (กลิ่นเหม็นฉุน)

3. ความชื้นประมาณร้อยละ 60-65 หรือบีบแล้วนํ้าจะต้องไม่เล็ดออกมา

จากง่ามมือ และมีความรู้สึกชื้นมือ

4. ปุ๋ยหมักจะต้องไม่จับกันเป็นก้อน ควรมีลักษณะร่วนซุย

5. มีสีคลํ้า

6. มีฤทธิ์เป็นกลาง ไม่เป็นกรดหรือด่างมากเกินไป

7. ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่ปุ๋ยหมักที่ใช้ได้

ปุ๋ยหมักที่ใช้ทำเชื้อเห็ดฟางนอกจากจะใช้มูลสัตว์แล้ว ยังอาจใช้ปุ๋ยเคมีแทนปุ๋ยมูลสัตว์ก็ได้ เช่น ใช้ปุ๋ยนาหรือปุ๋ยผสมต่าง ๆ ก็ได้ ใช้ประมาณร้อยละ 1-2 ผสมวัสดุย่อยง่ายสลายเร็ว เช่นไส้นุ่น หรือฟางแห้ง 100 กก. ผสมปุ๋ยน้ำ 1-2 กก. เป็นต้น แล้วทำการหมักต่อไปอีกประมาณ 3-5 วัน ก็ใช้ทำเป็นเชื้อเห็ดฟางได้

อีกวิธีหนึ่งหากไม่สะดวกในการหมักปุ๋ย ให้เติมอาหารสำเร็จรูปลงไปในวัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็วก็ได้ เช่น รำละเอียด ใบกระถินป่น กากถั่วป่น ปุ๋ยยูเรีย และน้ำตาล เป็นต้น ตัวอย่างเช่น ไส้นุ่นหรือฟาง หรือผักตบชวาแห้งที่สับให้ละเอียด 100 กก. ให้เติมรำละเอียดหรือใบกระถินป่น หรือกากถั่วป่น 3-5 กก. (หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย.5-1 กก. ก็ได้) น้ำตาลทรายหรือแป้ง 1-2 กก. เมื่อผสมคลุกเคล้าแล้วเติมน้ำให้มีความชื้นดังได้กล่าวมาแล้ว ก็สามารถนำไปทำเชื้อเห็ดฟางได้เลย

สูตรปุ๋ยหมักต่าง ๆ ที่นิยมทำเป็นการค้าตามฟาร์มต่าง ๆ

สูตรที่  1 มูลม้าผสมเปลือกเมล็ดบัว ครึ่งต่อครึ่งโดยปริมาตร หมักนาน 15-16 วัน โดยกลับกองทุก 3 วัน แล้วผสมไส้นุ่น 5-10 ส่วนโดยปริมาตร หมัก ต่อไปอีก 3-4 วัน โดยกลับกองทุกวัน

สูตรที่ 2 มูลสัตว์สี่เท้าต่าง ๆ หมักผสมกับเปลือกเมล็ดฝ้ายหรือขุยมะพร้าว อัตราส่วนอย่างละเท่า ๆ กัน หมัก 15-16 วัน โดยกลับกองทุกวันแล้วผสมไส้นุ่น หรือผักตบชวา หรือต้นกล้วยสับละเอียดและแห้ง หมักต่อ 3-5 วัน โดยกลับกองทุกวัน

สูตรที่ 3 มูลสัตว์ปีก 1 ส่วนโดยปริมาตรผสมไส้นุ่นหรือผักตบชวาหรือต้นกล้วย หรือใบไม้ฟางแห้งสับให้ละเอียด 10-20 ส่วน โดยปริมาตรหมักประมาณ 3-5 วัน กลับกองทุกวัน

สูตรที่ 4 ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วย ฟางหรือใบไม้แห้งสับละเอียดอย่างใดอย่างหนึ่ง 100 กก. ผสมรำละเอียดหรือกากถั่วป่นที่สกัดเอานํ้ามันออกแล้ว หรือใบกระถินป่น 3-5 กก. หรือใช้ปุ๋ยยูเรีย 0.5-1 กก. แทนก็ได้ แล้วเติมนํ้าตาลทรายหรือแป้งข้าวอะไรก็ได้ 1 -2 กก. สูตรนี้ไม่ต้องหมัก ผสมน้ำประมาณ 60-65 กก. แล้วใช้ได้เลย

การบรรจุภาชนะ บรรจุปุ๋ยในภาชนะสำหรับทำเชื้อเห็ด หลังจากหมักปุ๋ย ได้ที่พร้อมจะทำเชื้อเห็ดฟางแล้ว ภาชนะที่ใส่ เช่น ขวดปากกว้างพร้อมฝาทนร้อน เช่น ขวดแยม ขวดกาแฟ หรือกระป๋องต่าง ๆ พร้อมฝา ถ้าเป็นกระป๋องนมตราหมีได้ยิ่งดี หรือจะใช้ถุงพลาสติคทนร้อนก็ได้เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องนำไปฆ่าเชื้อจุลินทรีย์เสียก่อน และก่อนบรรจุจะต้องตีปุ๋ยให้ร่วนซุย สำหรับขวดปากกว้างหรือกระป๋องให้ใส่ปุ๋ยหมักหลวม ๆ พร้อมทั้งเขย่าไปด้วย ใส่ให้เต็มภาชนะแล้วกดปุ๋ยให้ต่ำกว่าปากภาชนะประมาณ 2-3 เซ็นติเมตร ถ้านึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันจะต้องใช้ผ้าเช็ดบริเวณปากภาชนะให้สะอาดก่อนที่จะปิดฝา แต่ถ้าเป็นหม้อนึ่งแบบลูกทุ่งก็เพียงแต่ไม่ให้เศษปุ๋ยติดปากกระป๋องเป็นใช้ได้ ส่วนการใช้ถุงพลาสติกปัจจุบันนิยมกันมากที่สุด เพราะง่ายและสะดวกในการใช้ ขนาดถุงควรจะเป็นขนาด 18×28 ซม. หรือ 16.5×28 ซม. หนาประมาณ 0.8-0.1 มม.  ถ้านึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน การใส่ปุ๋ยลงในถุงพลาสติกควรพับก้นถุงให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมก่อน แล้วจึงใส่ปุ๋ยหมักลงไปประมาณครึ่งของถุงยกปากถุงกระทุ้งเบา ๆ จากนั้นจึงสวมคอขวด (พลาสติกกันร้อนที่ทำลักษณะคล้ายคอขวด) หรือไม้ไผ่บาง ๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 ซม. สูง 2-3 ซม. ให้พับปากถุงเอายางรัดให้แน่นอุดจุกสำลี หุ้มกระดาษแล้วรัดยางอีกครั้ง  แต่ถ้านึ่งด้วยลังถึงหรือหม้อนึ่งลูกทุ่ง ไม่ต้องพับก้นถุงและใส่คอขวด เพียงแต่เอาปุ๋ยหมักใส่ลงไปในถุงประมาณ 2 ใน 3 ของความสูงแล้วยกมุมปากถุงกระทุ้งเบา ๆ พับปากถุง(ดังรูป) แล้ววางเป็นระเบียบบนตะแกรงที่จะนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ

การนึ่งฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ ดังได้กล่าวมาแล้วว่า เห็ดฟางไม่สามารถย่อย เซลลูโลสและอาหารบางอย่างได้ จำเป็นต้องอาศัยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติช่วยย่อยอาหารก่อน แล้วเห็ดก็จะกินอาหารที่จุลินทรีย์ย่อยแล้ว พร้อมทั้งตัวจุลินทรีย์ที่ตายไปด้วย แต่จุลินทรีย์บางชนิดก็เป็นอันตรายต่อเห็ด ดังนั้น จึงต้องฆ่าจุลินทรีย์ ก่อน

การฆ่าจุลินทรีย์ โดยอาศัยความร้อนจากไอน้ำมี 2 วิธี คือ

1. การนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน ทำเช่นเดียวกันกับการนึ่งอาหารวุ้นหรือ หัวเชื้อ หมายถึง การนึ่งในสภาพสูญญากาศ คือ ไล่อากาศออกให้หมดก่อน และใช้ความดันประมาณ 16-20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว อุณหภูมิในหม้อนึ่งประมาณ 121- 125° ซ. ใช้เวลานาน 1-1 ½  ชม.

2. นึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่ง เป็นที่นิยมกันมากในปัจจุบัน เพราะราคาถูก และมีวิธีการใช้ง่าย ความเสี่ยงเนื่องจากเชื้อเสียก็มีน้อย

หม้อนึ่งลูกทุ่งอาจใช้ลังถึงหรือจะดัดแปลงจากถังจารบีที่มีฝาพร้อมเข็มขัดก็ได้ โดยภายในทำตะแกรงให้สูงกว่ากันประมาณ 10-12 ชม. ส่วนฝาเจาะรู ด้วยตะปู ถ้าเป็นถัง 200 ลิตร เจาะรูด้วยตะปู 3 นิ้ว ถ้าเป็นถัง 50 ลิตร เจาะด้วย ตะปู 2 ½  นิ้ว

ก่อนนึ่ง ใส่นํ้าให้ปริ่มตะแกรง ถ้าภาชนะเป็นถุงพลาสติกต้องทำตะแกรง เป็นชั้น ๆ เพื่อกันไม่ให้ถุงซ้อนกัน แต่ถ้าเป็นขวดหรือกระป๋องซ้อนกันได้เลย ใช้เวลานึ่งประมาณ 1-2 ชม. โดยนับตั้งแต่เปลวไอน้ำพุ่งออกจากรูที่เจาะอย่างแรงสม่ำเสมอ ต้องรักษาเปลวไอนํ้าให้สม่ำเสมอโดยการปรับที่เชื้อเพลิง อย่าให้อ่อนหรือแรงเกินไป หม้อนึ่งลูกทุ่งขนาดนึ่งครั้งละ 1000 ถุงขึ้นไปควรใช้เวลา 3-4 ชม.

การเขี่ยเชื้อเห็ด ถ้าปุ๋ยนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดัน ควรทำการเขี่ยเชื้อในตู้สำหรับเขี่ยเชื้อหรือห้องสำหรับเขี่ยเชื้อเห็ดโดยเฉพาะ แต่ถ้านึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่งสถานที่เขี่ยเชื้อจะเป็นตรงไหนก็ได้ที่สะดวก ลมไม่โกรก ทางที่ดีควรอยู่ต้นลม การเขี่ยเชื้อจะเขี่ยหลังจากปุ๋ยหมักที่อยู่โนภาชนะเย็นแล้ว

ก่อนการเขี่ยเชื้อเห็ดจากหัวเชื้อ เขย่าขวดให้เมล็ดธัญพืชในขวดหัวเชื้อ แตกออกจากกันเสียก่อน จากนั้นจึงเทเมล็ดธัญพืชลงไปอย่างรวดเร็วประมาณ 10-15 เมล็ด แล้วรีบปิดฝา หรือพับถุงอย่างเร็ว

เชื้อเห็ดที่ทำจากเทหัวเชื้อเมล็ดธัญพืชจะไม่นิยมเอาไปเพาะ ทั้งนี้เพราะ เชื้อเห็ดที่ได้จากหัวเชื้อมักเป็นเชื้อเห็ดช่วงแรกของการแยกเชื้อออกจากดอกเห็ด ซึ่งเมื่อนำไปเพาะจะได้ดอกเห็ดดอกโต จำนวนดอกน้อย ผลผลิตตํ่า ดังนั้น จึงนิยมใช้เชื้อเห็ดที่ได้รับการต่อเชื้อจากเชื้อเห็ดในปุ๋ยหมักช่วงถัดไป เพราะเชื้อเห็ดถ้าทำการต่อเชื้อมาเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ขนาดของดอกเห็ดเล็กลง จำนวนดอกมากขึ้น ผลผลิตสูงมาก จนกระทั่งถึงจุด ๆ หนึ่ง ขนาดของดอกเห็ดจะเล็กและฝ่อตายง่าย หรือไม่สามารถเก็บผลผลิตได้ ฉะนั้นในการต่อเชื้อจึงไม่ควรต่อมากเกิน 7-10 ครั้ง และในช่วงที่ควรนำไปใช้เพาะหรือจำหน่ายควรเป็นช่วงที่ 3-7 เพราะจะเป็นช่วงที่ให้ผลผลิตสูงที่สุด

การตักต่อเชื้อจากหัวเชื้อปุ๋ยหมัก ให้คัดเลือกดูลักษณะเส้นใยที่เดินราบ หยาบ ๆ เห็นได้ชัดสีขาว และเจริญเต็มปุ๋ยหมักใหม่ ๆ การตักต่อเชื้อใช้ช้อนโต๊ะ หรือช้อนกาแฟชุบแอลกอฮอล์แล้วตักเอาเชื้อเห็ดจากปุ๋ยหมักที่เตรียมไว้เป็นหัวเชื้อ 1 ช้อน ใส่ลงในภาชนะที่มีปุ๋ยหมักที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้วรีบปิดฝาขวดหรือกระป๋อง หรืออุดจุกสำลีหรือพับปากถุง และให้เขี่ยต่อไปเลยโดยไม่ต้องใช้ช้อนชุบแอลกอฮอล์ใหม่อีก

หมายเหตุ ถ้านึ่งปุ๋ยหมักด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่ง ก่อนทำการเขี่ยเชื้อสามารถเปิดฝาหรือเปิดปากถุงไว้นาน ๆ ได้ เมื่อตักเชื้อเห็ดใส่หมดทุกถุงแล้วค่อยปิดฝาหรือพับปากถุงก็ได้ การพับปากถุงควรใช้ที่เย็บกระดาษเย็บประมาณ 2-3 จุด

การบ่มเชื้อ หลังจากทำการเขี่ยเชื้อเห็ดลงไปแล้ว ควรนำไปไว้ในห้องที่มี อุณหภูมิค่อนข้างสูง ประมาณ 35-38 องศาเซลเซียส ห้องมืดยิ่งดีเส้นใยเห็ดฟาง จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประมาณ 5-7 วัน เส้นใยเห็ดจะเดินเต็มพร้อมที่จะนำไปจำหน่ายได้

ลักษณะของเชื้อเห็ดที่ดี ควรมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ

1. เส้นใยจะเดินราบเป็นสีขาว เส้นหยาบเห็นได้ชัด ไม่ฟู

2. มีกลิ่นหอมคล้ายกลิ่นดอกเห็ดฟาง

3. ไม่มีจุลินทรีย์ที่เป็นอันตรายต่อเชื้อเห็ดฟาง เช่น ราสีเขียว หรือราขาว หรือเป็นขุย สงเกตดูจากสีหรือเส้นใยเห็ดจะไม่เดินเข้าไปในบริเวณนั้น

4. ปุ๋ยหมักที่อยู่บริเวณก้นภาชนะจะต้องไม่เปึยกแฉะ เน่า มีกลิ่นเหม็น

5. เชื้อเห็ดควรมีอายุไม่เกิน 10 วัน นับตั้งแต่เส้นใยเดินเต็มปุ๋ย หรือ สังเกตจากเส้นใยในภาชนะก็ใช้ได้ แต่ถ้าเส้นใยรวมตัวกันแล้วแสดงว่าเชื้อเห็ดแก่เกินไปแล้ว

การเก็บเชื้อเห็ดฟางไว้นาน ๆ ถ้าเป็นอาหารวุ้นควรเก็บไว้ในตู้เย็นชั้นใส่ผักได้นาน 2-3 เดือน แต่หัวเชื้อไม่นิยมเก็บ ส่วนเชื้อเห็ดเก็บไว้ในอุณหภูมิ ประมาณ 15-20 องศาเซลเซียส ได้นานไม่เกิน 10 – 15 วัน แต่ถ้าเก็บในรูปเชื้อ แห้งสามารถเก็บได้ประมาณ 2-3 เดือน

เชื้อเห็ดแห้ง ทำได้โดยหลังจากเชื้อเห็ดเจริญเต็มปุ๋ยหมักแล้ว รอจน กระทั่งเส้นใยเห็ดเปลี่ยนจากสีขาวเป็นสีน้ำตาลอ่อน หรือประมาณ 5-7 วันแล้ว นำมาผึ่งลมจนแห้ง จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งสนิทเก็บไว้ในขวดหรือถุงพลาสติกที่ความชื้นเข้าไปไม่ได้ หากจะนำมาใช้ต้องมาผสมกับไส้นุ่น ฟางสับ หรือผักตบชวาแห้งแล้วสับให้ละเอียด อัตราส่วนเชื้อเห็ดแห้ง 1 ส่วน ต่อวัสดุที่จะใช้ 5-10 ส่วน โดยปริมาตรแล้วใส่ไว้ในตะกร้าแบบหลวม ๆ คลุมด้วยผ้าพลาสติกและคลุมกระสอบทับ ทิ้งไว้ 2 – 3 วัน จึงจะนำไปใช้

จากการค้นคว้าทดลองมา จะเสนอให้ทุกท่านทดลองทำเชื้อเห็ดเอง โดยใช้เทคนิคง่าย ๆ พร้อมทั้งวิธีแก้ปัญหาบางอย่าง ดังนี้

ปัญหาเรื่องหัวเชื้อ

ปัจจุบันผู้ที่ทำหัวเชื้อเห็ดฟางได้มาตรฐานและถูกหลักวิธีมียังไม่เพียงพอ ดังนั้น เราสามารถทำหัวเชื้อเองได้ด้วยวิธีง่าย ๆ คือ เลือกดอกเห็ดตามลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้ว ใช้มีดโกนใหม่คม ๆ ชุบแอลกอฮอล์ลนไฟตัดเอาเนื้อเห็ดที่แกะเป็นสองซีกใหม่ ๆ โดยตัดส่วนที่ไม่เคยสัมผัสกับอากาศมาก่อน ตรงบริเวณโคนของก้านดอกประมาณครึ่งนิ้วก้อย นำไปใส่ในปุ๋ยหมักที่นึ่งฆ่าเชื้อแล้วโดยตรง ไม่ต้องผ่านอาหารวุ้นหรือเมล็ดธัญพืชเลย ถ้าปุ๋ยนั้นนึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่งได้ยิ่งดีโอกาสที่จะได้ประมาณร้อยละ 60-100 และเมื่อเชื้อเห็ดเดินเต็มถุงหรือภาชนะที่ใส่แล้ว ก็สามารถตัดเลือกเอาถุงที่ดีมาเป็นหัวเชื้อต่อใหม่ได้อีก ซึ่งเชื้อเห็ดที่ได้จะแข็งแรงกว่าเอามาจากอาหารวุ้นเสียอีก เพราะเชื้อเห็ดที่เจริญบนวุ้นนาน ๆ เมื่อตัดลงใส่ปุ๋ยหมัก ซึ่งอาหารเลวกว่า เชื้อเห็ดมักเสื่อมลง วิธีนี้ยังสามารถตักต่อได้หลายช่วงอีกด้วย

หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ซื้อเชื้อเห็ดจากแหล่งที่เชื่อถือได้มาเป็นหัวเชื้อได้เลย ไม่จำเป็นต้องเอามาจากเมล็ดธัญพืช คุณภาพจะเหมือนกับต้นตอทุกประการแต่ถ้าตักต่อเรื่อย ๆ เชื้อเห็ดจะอ่อนลง ในการซื้อเชื้อเห็ดไปเป็นหัวเชื่อนั้นให้เลือกซื้อเชื้อเห็ดที่เพาะได้ดอกโต ๆ เพราะลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะของเชื้อเห็ดที่อยู่ในช่วงแรก ๆ

ปัญหาเชื้อแพง

โครงการอบรมการทำเชื้อและเพาะเห็ด พร้อมทั้งประเมินผลการอบรมของกรมวิชาการเกษตร ได้สำรวจต่างจังหวัดที่อยู่ไกลจากแหล่งผลิตเชื้อปรากฏว่าเชื้อนี้ได้ราคาแพงมาก ถุงละ 5 – 7 บาท หรือบางแห่งเชื้อเห็ดกว่าจะไปถึงผู้เพาะก็แก่เกินไป จึงได้พยายามหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และได้ประสพผลสำเร็จโดยวิธีการ “เพิ่มเชื้อ”

การเพิ่มเชื้อ ทำได้ง่าย ๆ คือ ใช้วัสดุที่ย่อยง่ายสลายเร็ว เช่น ไส้นุ่น ผักตบชวา ต้นกล้วย หรือฟางที่สับให้ละเอียดตากแดดให้แห้งสนิทแล้วชุบน้ำ และบีบน้ำออกให้หมาด ๆ 5-10 ส่วนต่อเชื้อเห็ด 1 ส่วนโดยปริมาตร หรือวัสดุ 10 ถุงต่อเชื้อเห็ด 1 ถุง ผสมคลุกเคล้าให้เขากัน แล้วนำไปกองไว้บนฝาพลาสติก หรือใส่ตะกร้าไว้หลวม ๆ สูงประมาณ 15 – 20 ชม. คลุมด้วยผ้าพลาสติกและคลุมด้วยกระสอบอีกชั้น เก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิสูง 3-4 วัน ก็จะได้เชื้อเห็ดมากกว่าเดิมอีก 5-10 เท่าตัว

วิธีนี้ควรระวังคือ เชื้อเห็ดที่จะนำมาเพิ่มจะต้องเป็นเชื้อเห็ดที่ให้ผลผลิตสูง

ข้อดีของการเพิ่มเชื้อ มีดังนี้

1. ได้เชื้อเห็ดมากขึ้น

2. ถึงแม้เชื้อเห็ดที่นำมาเพิ่มจะแก่เกินอายุ แต่เมื่อทำการเพิ่มเชื้อแล้วจะ กลายเป็นเชื้อเห็ดที่แข็งแรงขึ้นได้

3.  ลดอัตราการเสี่ยง คือ ถ้าเชื้อเห็ดตายหรือมีโรคแมลงติดมา หากนำมาเพิ่มเชื้อเส้นใยจะไม่เจริญ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลานำไปเพาะ

4. ทำให้เชื้อเห็ดแห้งกลับมีชีวิตชีวาขึ้นได้

5. มีความแข็งแรงเหมือนกับต้นตอหรือเชื้อเห็ดที่ซื้อมาหรืออาจดีกว่าถ้า เชื้อเห็ดนั้นแก่

ข้อเสียของการเพิ่มเชื้อ คือ หลังจากที่เส้นใยเดินทั่ววัสดุแล้ว ต้อนำไปใช้ไม่ควรเก็บไว้นานเกิน 3-4 วัน หรือนำไปบรรจุในภาชนะเพื่อจำหน่าย ทั้งนี้ เพราะการเพิ่มเชื้อไม่มีการฆ่าเชื้อใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ซื้อควรระวัง

สาเหตุที่มักเกิดปัญหาเป็นประจำในการทำเชื้อเห็ดฟาง

1. เชื้อเห็ดฟางไม่เดิน เพราะ

1.1  อาจเนื่องจากการหมักปุ๋ยไม่ได้ที่ มีกลิ่นแอมโมเนีย ซึ่งแอมโมเนียเป็นพิษต่อเห็ด

1.2 หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์พอ อาจมีเชื้อจุลินทรีย์ติดไปด้วย ซึ่งจะทำลายเชื้อเห็ดก่อนที่จะเดินลามลงในปุ๋ย

1.3 การบรรจุปุ๋ยลงในภาชนะแน่นเกินไป จนอากาศภายในปุ๋ยไม่มี

1.4 ความชื้นสูงเกินไป เส้นใยเห็ดฟางจะเดินช้าหรือแทบไม่เดินเลย นอกจากนี้ถ้านึ่งด้วยหม้อนึ่งลูกทุ่ง หากปุ๋ยมีความชื้นสูงเกินไปมักเสียเนื่องจากเชื้อบักเตรีเน่าเหม็นก้นภาชนะ

1.5 บ่มไว้ในที่มีอุณหภูมิตํ่าเกินไป

2. เชื้อเห็ดเสียเนื่องจากเชื้ออื่นปน เพราะ

2.1 นึ่งไม่ได้ที่ โดยเฉพาะนึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันต้องให้อยู่ในสภาพ สูญญากาศจริง ๆ และความดันต้องไม่ต่ำกว่า 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว และนานอย่างน้อย 1-2 ชม.

2.2  ถ้าใช้หม้อนึ่งแบบลูกทุ่งการเจาะรูอาจจะโตเกินไป หรือใส่เชื้อเพลิงไม่สม่ำเสมอ

2.3 การเขี่ยเชื้อไม่ดีพอ หรืออาจจะเนื่องจากสถานที่เขี่ยเชื้อเป็นที่ หมักหมมของเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ มากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้านึ่งด้วยหม้อนึ่งความดันมักมีโอกาสเสียมากกว่า

2.4 ภาชนะที่บรรจุรั่วหรือซึม

2.5 หมักปุ๋ยไม่ได้ที่ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์บางชนิดเจริญได้ดี เช่น ราร้อน แบททีเรีย

2.6 ปุ๋ยหมักละเอียดเกินไปทำให้แน่นเวลาบรรจุในภาชนะยากต่อการฆ่าเชื้อทำให้เชื้ออื่นเจริญเติบโตแทนเชื้อเห็ด

2.7 หัวเชื้อไม่บริสุทธิ์

3. เส้นใยเดินแล้วหยุดหรือเดินเพียงบาง ๆ เพราะ

3.1 ปุ๋ยหมัก ๆไม่ได้ที่ มีกลิ่นแอมโมเนียหลงเหลืออยู่หรือปุ๋ยหมักเกินกำหนดทำให้อาหารเสื่อม

3.2 อุณหภูมิที่บ่มเชื้อตํ่ากว่า 30 องศาเซลเซียสหรือเกิน 40 องศาเซลเซียส

3.3 ปุ๋ยหมักบรรจุแน่นเกินไปหรือปุ๋ยหมักชื้นมากเกินไป อากาศไม่มี เชื้อเห็ดจะไม่เจริญ

3.4 ปุ๋ยหมักมีส่วนผสมของวัสดุที่มีแทนนินสูงเกินไป เช่น เปลือกเมล็ดบัวหรือขุยมะพร้าว

4. เส้นใยเห็ดมีจุดขาว ๆ เนื่องจากไข่ไร

แสดงว่าทำการตักต่อจากหัวเชื้อที่มาจากปุ๋ยเหมือนกัน แต่ตักต่อมาก เกินไปจนกระทั่งไรมีโอกาสเล็ดลอดเขาไปได้ หรือห้องบ่มเต็มไปด้วยไร ควรฉีดยาสำหรับฆ่าไรรอบห้องบ่มเชื้อ เช่นยา ดีดีวีพี มาลา ไธออน เคลเกน เป็นต้น

5. เส้นใยฟูเฉพาะผิวหน้าปุ๋ย ไม่เดินลงไปในปุ๋ย เพราะ

5.1 บรรจุปุ๋ยแน่นเกินไปและทำการหมักไม่ได้ที่

5.2 ลักษณะประจำพันธุ์ ซึ่งเป็นพันธุ์ออกดอกจำนวนมาก แต่ผล

ผลิตต่ำ

5.3 ปุ๋ยหมักเปียกและบ่มเชื้อไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูงเกินไป ไม่ควรเกิน 38 องศาเซลเซียส

6. มีตัวหนอนอยู่หลังจากเขี่ยเชื้อ

มักพบเสมอ ถ้าใช้ถุงที่อุดจุกสำลีเมื่อนึ่งแล้วเปียกหรือมีความชื้นสูง ดังนั้น ควรใช้สำลีที่ดูดความชื้นได้เลว หรืออาจใช้ใยสังเคราะห์กันไม่ให้แมลงวันขึ้นไข่ลงไป เพราะแมลงวันชนิดนี้เมื่อไข่แล้วจะกลายเป็นตัวหนอนชอนไชลงไปในถุงเลย หากเป็นมากควรฉีดยาฆ่าแมลงที่มีผลตกค้างน้อยบนจุกสำลี เช่น มาลาไธออน เซพวิน เป็นต้น

7.  เชื้อเห็ดรวมตัวกันเป็นดอกแก่เร็ว เพราะ

7.1  เชื้อเห็ดตักต่อหลายช่วงเกินไปทำให้เชื้อเห็ดอ่อน และรวมตัวกัน เป็นดอกเร็วขึ้น ดังนั้นหลังจากเส้นใยเห็ดเดินเต็มแล้ว ควรเก็บไว้ในที่เย็นๆไม่ ให้ถูกแสงแดดได้ยิ่งดี

7.2 เป็นลักษณะประจำพันธุ์ กล่าวคือ พันธุ์ที่มีปลอกหุ้มบางมักมี สีขาว เชื้อแก่เร็วมาก

7.3 การตัดเนื้อ อาจตัดมาจากดอกเห็ดที่ไม่สมบูรณ์