การเลือกที่ปลูกมะละกอและการใช้มะละกอเพื่อสุขภาพการเลือกที่ปลูกมะละกอและการใช้มะละกอเพื่อสุขภาพ

มะละกอ เป็นไม้ผลที่ชอบดินร่วนปนดินทราย ดินเหนียวปนดินร่วน ดินร่วนระบายน้ำดี ไม่ชอบน้ำขังมีอินทรีย์วัตถุมาก และควรมีหน้าดินลึกไม่น้อยกว่า 1 เมตร ช่วง pH ที่เหมาะสมคือ 5.5-7 มะละกอไม่ทนดินเกลือและไม่ทนลม  แหล่งปลูกจึงควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมแรง หรือควรมีแนวไม้กันลมโดยรอบด้วย ถ้าหลีกเลี่ยงในการเลือกพื้นที่ที่มีลมแรงไม่ได้

มะละกอจะเจริญเติบโตได้ดี ถ้าได้รับแสงแดดเต็มที่ มะละกอมีก้านใบยาวและกลุ่มใบจะมีมากที่ยอด จึงมิควรปลูกมะละกอให้ชิดกันเกินไป จะทำให้ลำบากในการป้องกัน กำจัดศัตรูของมะละกอ ระยะปลูกที่เหมาะสมคือ 4×3 เมตร หรือ 3×3 เมตร และ 2.5×3 เมตร แหล่งปลูกมะละกอควรอยู่ใกล้เมืองหรือทางคมนาคมสะดวก เนื่องจากมะละกอผิวบาง ทำให้ชอกช้ำในการขนส่งได้ง่ายกว่าผลไม้อื่น ๆ

การเตรียมแปลงปลูก

1.  ไถพื้นที่ปราบวัชพืช 2 ครั้ง ครั้งแรกด้วยไถ 3 ผาน หรือ 4 ผาน ครั้งที่ 2 ให้ย่อยดินให้เล็กด้วยผ่าน 7

2.  วัดระยะแปลงปลูกตามความต้องการโดยควรให้มีหลักเล็ก ๆ ปักห่างจากหลักหลุมปลูกอีก 2 หลัก โดยให้หลักปักห่างจากหลักหลุมปลูกข้างละ 50 ซม.

การเตรียมต้นกล้ามะละกอ

มะละกอไม่เหมาะที่จะหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกเลย เนื่องจากเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาในขั้นแรกมาก  เพราะพื้นที่กว้างขวางและต้นกล้าที่งอกใหม่ ๆ ต้องการการเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด การเตรียมต้นกล้ามะละกอให้แข็งแรงก่อน แล้วจึงย้ายปลูกลงแปลงปลูก จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมกว่าการหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยตรง การเตรียมต้นกล้ามะละกออาจใช้วิธีต่าง ๆ ได้ 2 แบบ คือ

1.  เพาะเมล็ดลงถุง

2.  เพาะเมล็ดลงแปลงเพาะ แล้วย้ายลงถุง

1.  การเพาะเมล็ดลงถุง การเพาะเมล็ดลงถุงโดยตรงนั้น จะทำให้สะดวก โดยเตรียมดินผสมที่เพาะเมล็ด ให้ร่วนโปร่งโดยใช้ดิน 3 ส่วน ปุ๋ยคอก 1 ส่วน และอินทรีย์วัตถุ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน ปุ๋ยคอกนั้นควรเป็นปุ๋ยคอกเก่า ที่สลายตัว ไม่ร้อนและอินทรีย์วัตถุอาจเป็นเศษหญ้าสับ แกลบหรือถ่าน แกลบหรือเปลือกถั่ว แล้วแต่จะหาอะไรได้ในท้องถิ่น เอาดินผสมกรอกใส่ถุงขนาด 5×8 นิ้วที่เจาะรูระบายน้ำเรียบร้อยแล้วประมาณ 4 รู ตั้งเรียงไว้กลางแจ้ง ในบริเวณที่สามารถให้น้ำได้อย่างสม่ำเสมอทุกวัน หลังจากนั้นฝังเมล็ดมะละกอลงไปใต้ดิน ให้ลึกประมาณครึ่งเซนติเมตร ถุงละ 2 เมล็ด รดน้ำให้ชุ่มทุกเช้าเย็น 10-14 วัน เมล็ดจะเริ่มงอกหลังจากนั้นให้เลือกกล้าต้นที่แข็งแรงเอาไว้ ถอนต้นที่อ่อนแอออกเมื่อต้นมะละกอมีใบจริง 2-3 ใบ ในการเพาะเมล็ดนี้ ควรฉีดพ่นยาป้องกันกำจัดราพวกแมนโดเซบผสมยาป้องกันแมลงประเภทโมโนโตรโตฟอสและยาจับใบ  ครั้งแรกเมื่อต้นกล้าเริ่มงอกและหลังจากนั้นทุก 10 วัน จนย้ายกล้าปลูกลงแปลงปลูก  ซึ่งจะย้ายกล้าปลูก เมื่อเพาะเมล็ดได้ 45-60 วัน ในระหว่างกล้าเจริญเติบโตอาจเร่งให้เร็วขึ้นโดยใช้ปุ๋ยทางใบ สูตร 21-21-21 ที่มีอาหารธาตุรองฉีดพ่นหลังจากถอนแยกต้น เหลือต้นเดียวแล้วทุก 7 วัน โดยใช้อัตรา 2 ช้อนแกง น้ำ 20 ลิตรผสมยาจับใบด้วย

2.  เพราะเมล็ดแปลงเพาะหรือกะบะเพาะแล้วจึงย้ายลงถุง โดยเตรียมแปลงกว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 3-5 เมตร โดยให้ความยาวแปลงอยู่ในแนวเหนือใต้ ย่อยดินให้เล็กผสมปุ๋ยคอก ประมาณตารางเมตรละ 2 กิโลกรัม คลุกเคล้ากับดินที่ย่อยแล้วให้เข้ากันขึ้นเป็นรูปแปลงสูงจากระดับดินเดิม 15 ซม.  แล้วใช้ไม้ขีดทำแถว ตามความกว้างของแปลงลึกประมาณ 1 ซม. ให้แถวห่างกัน 25 ซม. จากนั้น โรยเมล็ดมะละกอในช่องแถวให้ห่างกันพอประมาณ จนตลอดแปลง หลังจากนั้นจึงรดน้ำให้ชุ่ม ผสมด้วยยาฆ่าแมลงเพื่อกันมดคาบเมล็ด(อาจใช้เซฟวิน 85 หรือ S-85ก็ได้) และรดน้ำให้ชุ่มทุกวันเช้า-เย็น เมื่อต้นกล้ามีใบจริงได้ 2-3 ใบ (21-25 วันหลังจากเพาะ) ย้ายกล้าลงถุงพลาสติกขนาด 5×8 นิ้ว ถุงละ 1 ต้น ตั้งเรียงไว้ที่ร่มมีแสง 50% ฉีดพ่นยาป้องกันโรคแมลง และให้ปุ๋ยเช่นเดียวกับการเพาะเมล็ดลงถุงโดยตรง การเพาะเมล็ดลงแปลงหรือกะบะพลาสติก ก็ปฏิบัติคล้าย ๆกัน โดยเอากระดาษหนังสือพิมพ์รองก้นตะกร้าพลาสติก แล้วใส่ดินผสมเช่นเดียวกับที่เตรียมสำหรับเพาะในถุงลง ไปเกลี่ยดินผิวหน้าให้เรียบ ทำแถวเพาะห่างกันประมาณ 10 ซม. นำเมล็ดมะละกอหยอดลงไป รดน้ำผสมยากันมดให้ชุ่ม แล้วรดน้ำให้ชุ่มทุกวันเช้า-เย็น กล้ามีใบจริงแล้วย้ายลงถุงต่อไป และเมื่อกล้าในถุงแข็งแรงดีแล้ว ก็นำไปปลูกได้ ระยะเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ด ถึงย้ายลงปลูกในแปลงได้ใช้เวลา 45-60 วัน ระยะที่เหมาะที่สุดสำหรับการเพาะกล้ามะละกอก็คือในช่วงกลางมกราคม และจะย้ายกล้าปลูกได้กลางมีนาคมจะเริ่มเก็บผลได้ตั้งแต่ตุลาคมเป็นต้นไป  ซึ่งมีผลไม้อื่นในตลาดน้อยทำให้จำหน่ายได้ราคาสูง

นอกจากการใช้เนื้อ ของผลมะละกอประกอบเป็นอาหารคาว และหวานแล้ว ยังมีชาวมาเลเซียและอินโดนีเซีย ใช้ดอกมะละกอทำขนมหวาน ใช้ใบอ่อนรับประทานเป็นผัก (ถ้าใบมีรสขมก็ต้มน้ำทิ้งเสียก่อน) ไส้ของต้นก็ใช้ทำเป็นอาหาร และเมล็ดมะละกอซึ่งมีกลิ่นรสคล้ายเครื่องเทศ ก็ใช้เพิ่มรสอาหารได้ ส่วนยางมะละกอ ก็ใช้ทำให้เนื้อเปื่อยง่ายขึ้นได้อีกด้วย

การใช้มะละกอเพื่อสุขภาพ

1.  แก้แผลเรื้อรัง มะละกอดิบสามารถใช้รักษาแผลเรื้อรังได้โดยใช้มะละกอดิบตำละเอียด พอกบนแผล ใช้ผ้าสะอาดพันหรือปิดแผล เปลี่ยนวันละ 3 ครั้ง(เช้า กลางวัน เย็น) ทุกวันจนกว่าแผลจะหาย (ท่านอาจจะแบ่งมะละกอดิบจากที่ใช้ทำส้มตำก็ได้ แต่อย่าใช้ครกที่ใช้ทำส้มตำตำก็แล้วกัน) อย่างไรก็ตาม การใช้มะละกอดิบรักษาแผลเรื้อรังนี้ อาจไม่ได้ผลดีสำหรับผู้ที่แพ้ยางมะละกอ เพราะจะทำให้เกิดอันตรายแทนที่จะได้ผลดี เพื่อป้องกันอันตรายดังกล่าว จึงควรทดสอบการแพ้ยางมะละกอเสียก่อน โดยใช้ยางมะละกอทาที่เนื้ออ่อนที่ข้อพับแขน ถ้าเกิดผื่นสีแดงและรู้สึกปวดแสบปวดร้อนมากภายใน 5 นาที ก็แสดงว่าแพ้ก็ไม่ควรใช้ นอกจากการใช้มะละกอดิบแล้ว ท่านอาจใช้ยางจากใบมะละกอแทนก็ได้เช่นกัน

2.  ขับพยาธิ พยาธิที่มีอยู่ในร่างกายมนุษย์มีหลายชนิดทั้งตัวกลมและตัวแบน  ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะแย่งอาหารที่บริโภค  การขับพยาธิอาจทำได้ดังนี้คือ

2.1  คั่วเมล็ดมะละกอ ที่สุกสดหรือแห้ง เพื่อให้บดได้ง่ายแต่อย่าให้ไหม้พอเหลือง ๆ ก็ใช้ได้ บดให้ละเอียดละลายน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อม รับประทานครั้งละ 2 ช้อนกาแฟก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 3-5 วัน(ถ้าเป็นเด็กให้ลดขนาดลง)

2.2  ใช้ยางมะละกอสด 1 ช้อนแกงผสมกับไข่ไก่ 1 ฟอง ตีให้เข้ากันแล้วทอดให้สุก(ก็ไข่เจียวธรรมดา ๆ นี่ละ) รับประทานให้หมดก่อนอาหารเช้าประมาณ 2 ชม.เพียงครั้งเดียว รสชาติอร่อยดี (มีขมนิดหน่อย) มีผลทำให้พยาธิตายและร่างกายจะถ่ายออกมา

2.3  ใช้เป็นเครื่องสำอางค์ มะละกอสุกใช้เป็นอาหารประเภทผลไม้ที่นิยมกันมากแต่คุณสมบัติที่มีคนรู้จักกันน้อยก็คือ ใช้ถูตัวเป็นสบู่เมื่ออาบน้ำ ซึ่งผลปรากฎว่า มีผลทำให้ผิวหนังเนียน หรืออาจใช้ใบมะละกอถูตัวแทนสบู่ก็ได้จะช่วยลบจุดด่างดำบนผิวหนัง(เฉพาะคนที่ไม่แพ้ยางมะละกอเท่านั้นที่มีสิทธิ์)

2.4  ยาบำรุงผิว เนื่องจากมะละกอสุกเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางอาหารสูงคือมะละกอสุก 100 กรัม มีวิตามิน เอ. 4,354 หน่วยสากล วิตามินซี. 78 มิลลิกรัม และเหล็ก 2.5 มิลลิกรัม (มะละกอดิบมีวิตามินเอ.เพียง 120 หน่วยสากล วิตามินซี. 44 มิลลิกรัมและเหล็กเพียง 0.3 มิลลิกรัม) การกินมะละกอสุกทุกวันหรือบ่อย ๆ จะทำให้ผิวหนังนุ่มนวลก็คือเป็นยาบำรุงผิวได้เหมือนกัน

2.5  กลากเกลื้อน โรคผิวหนังประเภทกลากเกลื้อนทำให้เกิดความรำคาญ แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรง แต่ก็เป็นที่รังเกียจของสังคม อาจรักษาได้โดยใช้ยางมะละกอที่ได้จากต้นหรือใบหรือมะละกอดิบทาวันละ 1-2 ครั้งติดต่อกัน 3-7 วัน ตอนทาใหม่ ๆ จะรู้สึกดึงผิวหนังแสบหรือเจ็บบ้าง พอยาแห้งก็จะหายแสบ ต่อมาประมาณ 10 วัน ผิวหนังก็จะลอกและโรคที่จะหายไปด้วย และยังได้พบว่าคนอินเดียใช้มะละกอสุกทางผิวหนังแก้กลาก และโรคเรื้อนกวางได้ผลดี

นอกจากคุณสมบัติของมะละกอดังกล่าวแล้ว มะละกอยังมีคุณสมบัติอื่นอีกมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติจะพบว่าสิ่งที่มีประโยชน์ก็จะมีโทษควบคู่กันไป มะละกอก็เช่นกันคือมีความเป็นพิษ ผลการศึกษาพบว่า สารปาเปนที่มีในยางมะละกอทำให้ผิวหนังคัน และพอง นอกจากนั้นยังพบว่ายางมะละกอมีฤทธิ์ทำให้หนูทดลองเกิดอาการแพ้สูง และมีพิษต่อลูกอ่อนในท้องทำให้สมองของตัวอ่อนผิดปกติ และยางมะละกอก็ทำให้ตาบวมแดงได้ ถ้าเข้าตาและยังมีการทดลองพบว่า เม็ดมะละกอทำให้หนูเป็นหมัน ซึ่งในอินเดียใช้เมล็ดมะละกอเป็นยาแท้งลูกอย่างแรง ดังนั้นยางมะละกอจึงถือว่าเป็นสารที่เป็นอันตรายต้องห้าม สำหรับคนที่แพ้ หญิงมีครรภ์ คนที่กระเพาะอาหารและลำไส้เป็นแผล และห้ามมิให้รับประทานยางมะละกอพร้อมยาละลายเลือด อย่างไรก็ตามปรากฎว่ามะละกอสุกมีพิษน้อยมาก เพราะถึงแม้จะรับประทานมะละกอสุกมาก ๆ จนตัวเหลืองก็ไม่เกิดพิษแก่ร่างกาย

มะละกอเป็นพืชที่มีประโยชน์แก่มนุษย์มากทั้งเป็นอาหารคาว และขนมหรือผลไม้รวมทั้งยังมีคุณสมบัติเป็นยารักษาโรคอีกหลายประการ แต่การใช้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะบางกรณีก็เกิดเป็นพิษแก่ผู้ใช้ได้ ดังนั้นการใช้มะละกอเป็นอาหารหรือยาจำเป็นต้องศึกษาการใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อให้ได้ประโยชน์ตามต้องการ