การใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์กับต้นกุหลาบ

ข้อแนะนำการใช้ปุ๋ยเคมีหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์กับกุหลาบ

1. ควรจะรดน้ำก่อนทำการใส่ปุ๋ย 1 วัน เพื่อว่าปุ๋ยที่ใส่จะได้แผ่กระจายไปทั่ว ไม่ถูกดูดซึมอยู่มากที่ใดที่หนึ่ง เป็นการป้องกันรากไหม้ เนื่องจากการใส่ปุ๋ย

2. ควรจะพรวนผิวหน้าดินบริเวณแปลงปลูกโคนต้นพอตื้น ๆ หลังจากนั้นจึงจะใส่ปุ๋ย โดยการโรยปุ๋ยให้ห่างจากโคนต้นประมาณ 4 นิ้ว ขนาดที่ใส่คือ ประมาณ 1 ช้อนชาต่อต้น

3. รดน้ำแปลงปลูกให้ทั่วจนปุ๋ยละลายหมด แต่อย่ารดมากจนโชกเพราะปุ๋ยอาจละลายไหลหนีเลยระดับที่รากพืชจะดูดมาใช้ได้

4. สำหรับต้นกุหลาบปลูกใหม่ที่มีการเตรียมดินปลูกไว้อย่างดีแล้วในระยะปีแรกยังไม่ควรเร่งปุ๋ยเคมีให้มากนัก เพราะดินที่เตรียมดีแล้วนั้นจะมีธาตุอาหารเพียงพออยู่แล้ว การใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมอาจทำให้การเจริญของรากหยุดชะงัก แต่ถ้าเป็นแปลงที่คลุมด้วยวัตถุคลุมดิน การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนเล็กน้อยจะช่วยให้การทำงานของบักเตรีในดินดีขึ้น และต้นพืชที่ปลูกจะไม่ได้รับการกระทบกระเทือนจากการขาดธาตุไนไตรเจนเลย

ผลที่เกิดขึ้นหลังจากการใส่ปุ๋ย

เมื่อได้ทำการใส่ปุ๋ยในแปลงกุหลายเป็นระยะเวลานาน ๆ (ราว 6 เดือน ถึง 1 ปี) ดินปลูกซึ่งได้เคยปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่างไว้พอเหมาะแล้ว ก็จะเปลี่ยนความเป็นกรดเป็นด่างไป ส่วนใหญ่จะกลับมามีความเป็นกรดมาก ขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะอินทรีย์วัตถุก็ดี ปุ๋ยอินทรีย์ก็ดี หรือแม้แต่ปุ๋ยเคมี โดยเฉพาะปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต หรือปุ๋ยผสมที่มีแอมโมเนยมซัลเฟตเป็นส่วนผสมนั้น หลังจากการสลายตัวแล้ว จะให้ผลตกค้างที่เป็นกรด ฉะนั้นจึงควรตรวจดิน ดูความเป็นกรด-ด่าง อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เมื่อเห็นว่าจะมีความเป็นกรดหรือด่างเกินไป ควรจัดการปรับดินให้ได้ความเป็นกรดด่างที่พอเหมาะคือ pH 6-6.5

การให้ปุ๋ยทางใบ

การให้ปุ๋ยทางใบไม่ใช่วิธีใหม่สำหรับการให้ปุ๋ยกุหลาบ แต่เพิ่งมีผู้นิยมแพร่หลายขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง อันเป็นผลสืบเนื่องจากที่ได้มีการปรับปรุงคุณภาพของปุ๋ยให้เหมาะสมขึ้น ประกอบกับการประดิษฐ์เครื่องพ่นได้เจริญก้าวหน้าไปมาก ทำให้สะดวกและเป็นผลดีแก่การฉีดพ่นยิ่งขึ้น

วิธีการให้ปุ๋ยทางใบก็คือ จะพ่นปุ๋ยหรือธาตุอาหารพืชลงบนใบพืชเช่นเดียวกับการพ่นยาฆ่าโรคแมลง และอาจผสมปุ๋ยพร้อมกับยาฆ่าแมลงหรือยาฆ่าเชื้อรา และใช้ฉีดพ่นต้นพืชไปพร้อม ๆ กันเลยก็ได้ เมื่อปุ๋ยตกลงบนใบพืช ก็จะถูกนำเข้าไปทางรูหายใจ ซึ่งมีอยู่มากทางท้องใบและสารเหล่านั้นก็จะถูกนำไปเปลี่ยนเป็นอาหารพืชทันที

ข้อที่ควรพิจารณาการให้ปุ๋ยทางใบ

1. จะต้องพ่นปุ๋ยทางใต้ใบให้ทั่ว การพ่นปุ๋ยบนหลังใบ ต้นพืชไม่อาจนำไปใช้ได้ ควรใช้ตัวยาฉาบใบ ผสมลงไปในน้ำปุ๋ยที่ใช้พ่นด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าปุ๋ยเหล่านั้นจะตัดกับใบได้สนิท ผงซักฟอกที่ใช้อยู่ในบ้านก็อาจใช้เป็นตัวยาฉาบใบได้ อัตราส่วนที่ใช้คือ 1 ช้อนชาต่อน้ำ 10 ลิตร

2. จงปฏิบัติตามคำแนะนำเกี่ยวกับอัตราการใช้ปุ๋ยอย่างเคร่งครัด การใช้ปุ๋ยมากกว่าที่แนะนำไว้อาจทำให้ใบเสียหายได้ง่าย

3. ควรมีโปรแกรมการให้ปุยทางใบเช่นเดียวกับการให้ปุ๋ยทางรากและควรจะให้สลับกับการให้ปุ๋ยทางราก

4. การให้ปุ๋ยจะต้องพ่นให้เปียกจนน้ำปุ๋ยที่พ่นไหลหยดทางใบ ต้นพืชจึงจะได้รับปุ๋ยเต็มที่

สำหรับปุ๋ยทางใบที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป ส่วนใหญ่เป็นปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจน ฉะนั้นการให้ปุ๋ยทางใบจึงมักมุ่งการเพิ่มไนโตรเจนให้กับต้นพืช เช่นอาจใช้ปุ๋ยยูเรีย หรือแอมโมเนี่ยมไนเตรท นอกจากนี้ก็อาจให้ในรูปของปุ๋ยผสมเช่นอาจใช้ปุ๋ย ระ-ปิด-โกร (ra-pid-grow) หรือเวลโกร (well-grow) หรือปุ๋ยชนิดอื่นที่มีลักษณะเดียวกันก็ได้