การใช้หินฟอสเฟตในการเพาะปลูก

หินฟอสเฟต(Rock Phosphate) เป็นชื่อทางการค้าของแร่ฟอตเฟส (Mineral Phosphate) อันเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการขุดแร่และกระบวนการถลุงแร่ที่มีธาตุฟอสฟอรัสเป็นองค์ประกอบ  ซึ่งจะช่วยกระตุ้นรากพืชให้เจริญเร็วและทำให้พืชตั้งตัวได้เร็วขึ้น  โดยหินฟอสเฟตนี้จะพบมากในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย โมร็อคโก จีน ตูนีเซีย เป็นต้น ประเทศเหล่านี้เพียงแต่ขุดแร่ออกมาและแต่งเพียงเล็กน้อยก็ขายได้ในราคาสูงแล้ว  บางประเทศที่อุตสาหกรรมปุ๋ยเจริญก้าวหน้าก็นำหินฟอสเฟตนั้นมาผลิตเป็นปุ๋ยฟอสเฟตซึ่งราคาสูงขึ้นไปอีก  และเป็นที่ต้องการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก  หินฟอสเฟตจึงเป็นทรัพย์ในดินที่สำคัญของประเทศที่โชคดีเหล่านี้

การใช้หินฟอสเฟตในประเทศไทย

เนื่องจากมีภาวะกดดันทางด้านเศรษฐกิจ  ปุ๋ยมีราคาแพงและหายาก จึงทำให้เกิดกาตื่นตัวค้นหาแหล่งแร่ฟอสเฟตอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2518 เป็นต้นมา  แหล่งแร่หินฟอสเฟตในประเทศไทยที่พบส่วนใหญ่เป็นหินฟอสเฟตที่เกิดจากซากสัตว์และมูลสัตว์ดึกดำบรรพ์ สะสมอยู่ตามแอ่งหินปูนและตามถ้ำบริเวณเทือกเขาหินปูนทั่วไปทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ของประเทศ แหล่งที่มีรายงานว่ามีแร่หินฟอสเฟตมากที่สุดในปัจจุบันก็ได้แก่แหล่งแร่ที่บ้านสบเมย อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน แร่หินฟอสเฟตจากแหล่งนี้มีเปอร์เซ็นต์ฟอสฟอรัสทั้งหมด 38-39℅ นับว่าเป็นหินฟอสเฟตที่มีฟอสเฟตสูงและคุณภาพดีเหมาะสำหรับใช้ทำปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตและดับเบิลซูเปอร์ฟอสเฟตได้  อีกแห่งหนึ่งที่พบว่ามีมากก็คือเขาก๊กม้า อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี แร่ที่นี่มีเปอร์เซ็นต์ฟอสเฟตประมาณ 10-40℅ แหล่งแร่หินฟอสเฟตในประเทศไทยนับว่าน้อยมาก  จึงเหมาะสำหรับนำมาใช้เป็นปุ๋ยชนิดเอามาบดให้ละเอียดและใช้ใส่โดยตรง  หรือไม่ก็นำมาแปรสภาพง่าย ๆ เช่น เผาที่อุณหภูมิสูงหรือทำปฏิกิริยากับกรดกำมะถันทำเป็นปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตแบบโรงงานอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ได้

ชนิดของหินฟอสเฟต

หินฟอสเฟตที่พบในประเทศไทย มี 2 พวก คือ หินฟอสเฟตที่เป็นหินตะกอนกับพวกที่เกิดจากมูลค้างคาว

1.  หินฟอสเฟตที่เป็นหินตะกอน มีในจังหวัดต่าง ๆ แถบภาคเหนือและภาคกลางพวกนี้มีฟอสเฟตทั้งหมดร้อยละ 25-35 แต่ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์มีเพียงร้อยละ 2-5 เท่านั้น ขณะนี้ได้มีผู้ขุดมาบดเป็นผงละเอียดแล้วบรรจุกระสอบขายกันมาก สังเกตดูจะพบว่าปุ๋ยพวกนี้มีฟอสเฟตทั้งหมดสูงมาก แต่ส่วนที่เป็นประโยชน์แก่พืชในขณะนั้นมีเพียงเล็กน้อย

2.  หินฟอสเฟตที่เกิดจากมูลค้างคาว พบตามถ้ำต่าง ๆ ในหลายจังหวัดภาคใต้เช่น กระบี่และพังงา เป็นต้น หินฟอสเฟตพวกนี้มีฟอสเฟตทั้งหมดประมาณร้อยละ 20 แต่ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ประมาณร้อยละ 10-15 หากเปรียบเทียบกับหินฟอสเฟตพวกแรกจะเห็นว่ามีฟอสเฟตทั้งหมดต่ำกว่า แต่ฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์สูงกว่ามาก อย่างไรก็ตามเมื่อใส่ในดินแม้จะเป็นประโยชน์แก่พืชง่ายกว่าแต่ปริมาณฟอสเฟตที่จะสะสมในดินสำรองไว้ให้พืชในฤดูปลูกต่อ ๆ ไปนั้น สู้หินฟอสเฟตจากแถบภาคกลางและภาคเหนือไม่ได้

การใช้หินฟอสเฟตบดกับไม้ยืนต้น

แม้ว่าปุ๋ยฟอสเฟตบดจะละลายได้ยาก และมีฟอสเฟตที่เป็นประโยชน์ต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต แต่ถ้ารู้จักใช้ให้ถูกต้องก็จะได้ผลดีมาก  ขณะนี้หินฟอสเฟตเป็นส่วนผสมของปุ๋ยสูตรที่ใช้กับยางพาราอยู่แล้ว สำหรับไม้ผลอาจใช้หินฟอสเฟตบดเป็นปุ๋ยรองก้นหลุมหรือใส่ประจำปีในกรณีที่ดินมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในระดับปานกลาง หรือใส่ร่วมกับปุ๋ยสูตรต่าง ๆ สำหรับดินที่มีฟอสฟอรัสค่อนข้างต่ำ  ปุ๋ยนี้จะให้ผลดีเฉพาะเมื่อดินเป็นกรด  ส่วนปริมาณที่ใช้กับไม้ผลแต่ละชนิดและไม้ผลอายุต่าง ๆ กันต้องพิจารณาให้เหมาะสม

ประสิทธิภาพของหินฟอสเฟตเมื่อใช้แทนปุ๋ยเคมี

เนื่องจากปุ๋ยหินฟอสเฟตละลายน้ำได้ยากและปลดปล่อยฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ได้น้อยและช้า เพื่อผลิตปุ๋ยฟอสเฟตที่ละลายน้ำได้ง่ายและใช้ได้ดีกับดินทุกสภาพความเป็นกรดด่าง  จึงได้มีการนำเอากรดกำมะถันมาทำปฏิกิริยากับหินฟอสเฟตที่บดละเอียด ผลที่ได้คือ โมโนแคลเซียมฟอสเฟตมีปริมาณฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์หรือละลายน้ำได้ 16-20℅ P2O5 เรียกว่าปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟต หินฟอสเฟตที่ใส่ลงไปโดยตรงในดินส่วนมากจะละลายได้ช้ามาก ขึ้นอยู่กับชนิดของหินฟอสเฟตและความเป็นกรดของดิน ตลอดจนคุณสมบัติและอัตราการกระจายของอนุภาคของหินฟอสเฟต  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตก็มีความสำคัญมากเช่นกัน อาทิ อัตราการชะล้างของฟอสฟอรัสที่ละลายน้ำโดยเฉพาะในดินทรายและปริมาณของดินเหนียวในดินจะมีความสำคัญมาก  เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยากับฟอสฟอรัสส่วนที่ละลายน้ำได้  ซึ่งจะสามารถลดหรือป้องกันการชะล้างฟอสฟอรัสส่วนที่ละลายน้ำได้ดังกล่าวข้างต้นลงไปสู่ชั้นล่างของดินได้ด้วย

การให้หินฟอสเฟตในดินกรดจัด

มีการทดลองใช้หินฟอสเฟตในบริเวณดินกรดจัดแถบภาคกลางของประเทศไทย และประเทศในเขตร้อนอื่น ๆ พบว่าหินฟอสเฟตจะเป็นประโยชน์ต่อพืชมากขึ้นในดินกรดจัด ทั้งนี้เพราะปุ๋ยนี้ละลายในสภาพที่เป็นกรดได้ดี และเมื่อหินฟอสเฟตละลายออกมาจะมีฤทธิ์เป็นด่างเล็กน้อย หินฟอสเฟตจึงเป็นตัวช่วยปรับปรุงดินไปในตัวด้วย กล่าวคือ เมื่อใส่หินฟอสเฟตบด 100 กิโลกรัม จะเกิดฤทธิ์ด่างขึ้นในดินเท่ากับการใส่ปูนประมาณ 10 กิโลกรัม ฤทธิ์ด่างนี้เองจะทำลายกรดในดินบางส่วนลงไปได้ทีละเล็กทีละน้อย

ปริมาณของดินเหนียวกับความเป็นประโยชน์ของหินฟอสเฟต

ความเป็นประโยชน์ของหินฟอสเฟตในดินเหนียวจะลดลงเนื่องจากอาจจะเกิดปฏิกิริยาระหว่างหินฟอสเฟตกับดินเหนียว จากรายงานการทดลองในประเทศออกเตรเลียพบว่าในดินทรายที่มีดินเหนียวปะปนอยู่แม้เพียงเล็กน้อย ก็จะลดความเป็นประโยชน์ของหินฟอสเฟตลงระดับหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับดินทราย

ความเป็นประโยชน์ของหินฟอสเฟตในดินทราย

หินฟอสเฟตจะมีศักยภาพต่อพืชในระดับเดียวกันกับปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตเมื่อใช้ในดินทราย  แต่หินฟอสเฟตจะมีฤทธิ์ตกค้างในดินมากและจะเป็นประโยชน์ต่อพืชในฤดูปลูกต่อไปอีก 2-3 ปี เนื่องจากเป็นปุ๋ยที่มีธาตุอาหารฟอสฟอรัสที่ค่อย ๆ ละลายด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการประหยัดในการใส่ปุ๋ยซูเปอร์ฟอสเฟตในปีหลัง ๆ ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่ดีในยุคที่ปุ๋ยเคมีมีราคาแพง

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการใช้หินฟอสเฟตในดินกรดจัดและในดินอื่น ๆ มาเป็นระยะเวลาพอสมควรแล้วก็ตาม แต่การยอมรับหรือการนำไปใช้ในระดับเกษตรกรยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก แต่ก็คาดว่าในอนาคตจะมีการนำหินฟอสเฟตมาใช้เพิ่มมากขึ้น

ในยุคที่ปุ๋ยเคมีฟอสฟอรัสมีราคาแพงเช่นในปัจจุบัน  การใช้หินฟอสเฟตแทนปุ๋ยเคมีน่าจะช่วยแก้ปัญหาต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้พอสมควรโดยเฉพาะเป็นดินกรดจัดหรือดินทรายที่เป็นกรดจัดและมีการชะล้างสูง ฤทธิ์ตกค้างของหินฟอสเฟตจะทำให้การใช้ปุ๋ยเคมีฟอสฟอรัสในปีต่อ ๆ ไปลดปริมาณลงทำให้ประหยัดเงินได้มากขึ้น

เอกสารอ้างอิง

ยงยุทธิ์  โอสถสภา  การใช้หินฟอสเฟตในการเพาะปลูก คู่มือเกษตรกร ฉบับที่ 2 สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย 187 หน้า

วิทยา  มะเสนา 2531 การใช้หินฟอสเฟตแทนปุ๋ยเคมีฟอสฟอรัส เคหการเกษตร 12 (139) 88-92

สรสิทธิ์  วัทดรทยาน 2533 ปุ๋ยฟอสเฟต เคหการเกษตร 14(5) หน้า 124-127