การใช้ออกซินสังเคราะห์

ออกซิน (Auxins)
PGRC ที่จัดอยู่ในกลุ่มออกซิน มีอยู่หลายชนิดและเป็นที่รู้จักกันดีสำหรับเกษตรกรในประเทคไทย สารออกซินชนิดแรกที่ค้นพบคือ IAA (indoI-3-yl acetic acid) ซึ่งเป็นสารที่พืชสร้างขึ้นเอง โดยมีคุณสมบัติเป็นสารเร่งการเจริญเติบโต มีผลกระตุ้นการขยายขนาดของเซลล์ การยืดตัวของเซลล์ และยังมีผลกระตุ้นการเกิดราก การเจริญเติบโตในส่วนต่างๆ ของพืช สรุปได้ว่ากระบวนการต่างๆ หลายอย่างที่เกิดขึ้นในพืชนั้น ออกซินมีส่วนในการควบคุมกระบวนการนั้นๆ ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้มีการสังเคราะห์สารต่างๆ ที่มีคุณสมบัติคล้ายออกซินเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตร สารสังเคราะห์เหล่านี้มีอยู่หลายชนิด แต่ที่นิยมใช้กันทั่วไปมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ได้แก่ NAA (1-naphthylacetic acid) IBA (4-(indol-3-yl) butyric acid) 2,4-D (2,4-dichlorophenoxyacetic acid) และ 4-CPA (4-chlorophenoxyacetic acid) สารเหล่านี้นำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในด้านต่างๆ ดังนี้

1. การเร่งการเกิดรากของกิ่งปักชำหรือกิ่งตอน ออกซินสามารถกระตุ้นการเกิดรากของกิ่งปักชำหรือกิ่งตอนของพืชได้หลายชนิด สารที่นิยมใช้คือ IBA และ NAA   IBA เป็นสารที่มีฤทธิ์ของออกซินค่อนข้างตํ่า เคลื่อนย้ายได้ช้ามาก และสลายตัวได้เร็วพอประมาณ ซึ่งคุณสมบัติ เหล่านี้เหมาะสมที่สุดที่จะใช้ในการเร่งการเกิดราก ส่วน NAA มีฤทธิ์ของออกซินสูงกว่า เคลื่อนที่ภายในกิ่งพืชได้ดีและสลายตัวช้ากว่า ดังนั้นจึงมีโอกาสเป็นพิษต่อกิ่งพืชได้มากกว่า การใช้ IBA แต่ถ้า NAA ความเข้มข้นที่เหมาะสม ก็มีผลเร่งการเกิดรากได้ดีเช่นกัน สารพวก
2,4-D และ 4-CPA เป็นสารที่มีฤทธฺของออกซินสูงมาก ถ้าใช้ในความเข้มข้นที่สูงเกินไปเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้กิ่งพืชหรือต้นพืชตายได้ นอกจากนี้รากพืชที่เกิดจากการใช้สาร 2 ชนิดนี้จะมีลักษณะผิดปกติเช่น รากสั้น หนา และเกิดเป็นกระจุก ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ต้องการ

2. เร่งการเกิดดอก เกษตรกรหลายท่านเข้าใจว่าสารในกลุ่มออกซินนี้เร่งการเกิดดอกของพืชได้ แต่แท้จริงแล้ว ผลของออกซินในข้อนี้ยังค่อนข้างเลื่อนลอย เท่าที่มีงานทดลองสรุปได้แน่ชัดว่าออกซินเร่งการเกิดดอกได้เฉพาะในสับปะรดเท่านั้น การใช้ NAA หรือ IBA สามารถเร่งการเกิดดอกของสับปะรดได้ แต่มีประสิทธิภาพต่ำกว่าการใช้ถ่านก๊าซ (calcium carbide) และ ethephon อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการเกิดดอกของสับปะรดไม่ได้เป็นผลของ NAA หรือ IBA โดยตรง แต่เป็นผลทางอ้อมที่สารดังกล่าวไปกระตุ้นให้ต้นสับปะรดสร้างเอทิลีนขึ้นมา
และเอทิลีนเป็นตัวกระตุ้นให้สับปะรดเกิดดอก สำหรับในประเทศไทยเคยมีการแนะนำให้ใช้ NAA ผสมกับโพแทสเซียมไนเตรท (KNO3) เพื่อฉีดเร่งดอกมะม่วง แต่ยังไม่มีข้อมูลใดๆ ยืนยันว่าวิธีการดังกล่าวใช้ได้ผล

3. เปลี่ยนเพศดอก พืชหลายชนิดที่มีดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ต่างดอกหรือต่างต้นกัน บางชนิดมีทั้งดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในช่อเดียวกันในอัตราส่วนที่แตกต่างกันไป อัตราส่วนเพศดอกมีความสำคัญมากเพราะว่าเกี่ยวข้องกับผลผลิตหรือการติดผล ในกรณีที่มีดอกตัวเมียน้อยเกินไป โอกาสติดผลก็น้อย บางกรณีที่มีแต่ดอกตัวเมียในช่อและไม่มีดอกตัวผู้เลยก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเช่นกัน เนื่องจากไม่มีละอองเกสรตัวผู้มาผสม ดอกตัวเมียที่มีอยู่จึงไม่อาจติดผล กรณีเช่นนี้พบในเงาะ ต้นเงาะแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือต้นตัวผู้ซึ่งมีแต่ดอกตัวผู้และไม่ให้ผลผลิต กับต้นตัวเมียซึ่งมีแต่ดอกกะเทยที่เกสรตัวผู้ไม่ทำงานจึงทำหน้าที่เป็นดอกตัวเมียเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น คือชาวสวนมักตัดต้นตัวผู้ทิ้งเนื่องจากไม่ให้ผลผลิต จึงเหลือแต่ต้นตัวเมียซึ่งไม่มีเกสรตัวผู้มาผสม ทำให้ไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ การใช้สาร NAA ความเข้มข้นประมาณ 80 ถึง 160 มก/ ล พ่นที่ช่อดอกบางส่วนของต้นตัวเมียในระยะดอกตูม มีผลทำให้ดอกเงาะที่ได้รับสารกลายเป็นดอกตัวผู้ได้ และปลดปล่อยละอองเกสรตัวผู้มาผสมกับดอกตัวเมียที่อยู่ข้างเคียง พืชในตระกูลแตง ทั้งหลายเช่นแตงกวา ฟักทอง ก็ตอบสนองต่อการใช้ออกซินเช่นกันโดยมีผลทำให้เกิดดอกตัวเมียได้มากขึ้น

4. เพิ่มการติดผล ออกซินสามารถช่วยให้พืชบางชนิดติดผลได้ดีขึ้น เช่นการใช้ 4-CPA กับมะเขือเทศ การใช้ NAA กับพริก หรือการใช้ 2,4-D กับส้มเขียวหวาน แต่ออกซิน ไม่สามารถช่วยเพิ่มการติดผลในพืชอีกหลายชนิดเช่น มะม่วง ท้อ เป็นที่น่าสังเกตว่าสารออกซินสามารถเพิ่มการติดผลได้เฉพาะในพืชที่มีเมล็ดมากเท่านั้น แต่พืชที่มีเมล็ดเดียวหรือพืชอื่นๆ ส่วนมาก มักจะไม่ตอบสนองต่อออกซินในแง่การติดผล

5. เพิ่มขนาดของผล และป้องกันผลร่วง มีรายงานว่าออกซินอาจช่วยขยายขนาดของผลไม้บางชนิดได้ เช่นการใช้ 4-CPA หรือ NAA กับสับปะรด ผลไม้บางชนิดสามารถใช้ออกซินเพื่อป้องกันผลร่วงก่อนเก็บเกี่ยวได้ เช่น มะม่วง ส้ม องุ่น ลางสาด สารที่นิยมใช้คือ NAA และ 2,4-D

6. ใช้กำจัดวัชพืช ออกซินทุกชนิดถ้าใช้ความเข้มข้นสูงจะสามารถฆ่าพืชได้ ดังนั้น จึงมีการนำสารออกซินมาใช้เป็นยากำจัดวัชพืชอย่างกว้างขวาง สารที่นิยมใช้คือ 2,4-D รองลงมา คือ 4-CPA สารทั้ง 2 ชนิดนี้มีฤทธิ์ของออกซินสูงมากจึงใช้ฆ่าวัชพืชได้ แม้จะใช้ความเข้มข้นไม่สูงมากนักก็ตาม

คุณสมบัติและวิธีการใช้ออกซินสังเคราะห์บางชนิด
1. NAA (l-naphthylacetic acid) เป็นสารที่ใช้กันค่อนข้างกว้างขวางในประเทศไทย เช่นใช้เร่งการเกิดราก กระตุ้นให้ระบบรากเจริญเติบโตดี ป้องกันการร่วงของผลไม้หลายชนิด เปลี่ยนเพศดอกเงาะ ใช้ทารอยแผลหลังตัดแต่งกิ่งเพื่อป้องกันการแตกหน่อ

สาร NAA เป็นสารที่มีราคาค่อนข้างตํ่า ถ้าเป็นสารบริสุทธฺจะเป็นผลึกสีขาว ละลาย ได้ดีในแอลกอฮอล์ แต่ละลายได้น้อยมากในนํ้าหรืออาจเรียกได้ว่าไม่ละลายน้ำ สาร NAA ที่นำมาใช้ทางการเกษตรมักจะอยู่ในรูปเกลือโซเดียม (sodium naphthylacetate) ซึ่งสามารถละลายนํ้าได้ดี และมีการผลิตออกมาจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าต่างๆ กัน เช่น แพลนโนฟิกซ์ (Planofix) โกร-พลัส (Gro-Plus) แพนเทอร์ (Panter) ลิควินอกซ์-สตาร์ท (Liquinox-Start  ) สารเหล่านี้มี NAA เป็นองค์ประกอบสำคัญแต่อาจมีส่วนผสมอื่นแตกต่างกันไปเล็กน้อย บางชนิดผลิตขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเช่นลิควินอกช์-สตาร์ท มีส่วนผสมของวิตามิน บี 1 และสารสกัดจากพืชพวกป่าน (Yucca extract) และมี NAA ผสมในความเข้มข้นตํ่า สารการค้าชนิดนี้ใช้เพื่อกระตุ้นการเจริญของระบบราก โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการย้ายกล้า หรือเปลี่ยนดินปลูก นอกจากนี้ยังมีบางชนิดที่ผสมขึ้นมาในรูปผงเพื่อใช้ในการเร่งรากกิ่งปักชำ โดยเฉพาะได้แก่ ไตรฮอร์โมน (Trihormone) เป็นต้น

การให้สาร NAA แก่พืชส่วนใหญ่มักใช้วิธีฉีดพ่นให้ทางใบ หรือให้สัมผัสกับดอก และผลโดยตรง NAA สามารถซึมผ่านเข้าไปในเนื้อเยื่อ ใบ ดอก หรือผลได้ดี และสามารถเคลื่อนย้ายเข้าไปภายในท่ออาหารซึ่งจะมีการเคลื่อนที่ผ่านไปยังส่วนต่างๆ ได้พร้อมกับอาหารที่พืชสร้างขึ้น ในสภาพที่มีอากาศชื้นและอุณหภูมิสูงจะช่วยส่งเสริมการดูดซึมและการเคลื่อนย้ายภายในพืช

ถึงแม้ว่า NAA จะเป็น PGRC ชนิดหนึ่งแต่ก็จัดว่าเป็นสารพิษเช่นกัน ความเป็นพิษของ NAA ที่มีผลต่อคนหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจัดว่าอยู่ในระดับมีพิษปานกลาง ดังนั้นการใช้สาร NAA ควรทำด้วยความระมัดระวัง โดยยึดหลักความปลอดภัย เช่นเดียวกับการใช้ยาฆ่าแมลง

2. IBA (4-(indol-3-yl)butyric acid) เป็นสารที่เหมาะสมที่สุดในการเร่งรากพืช แต่ IBA เป็นพิษต่อใบพืช ดังนั้นจึงไม่อาจใช้ประโยชน์จาก IBA ในแง่อื่นได้ นอกจากการเร่งรากกิ่งปักชำหรือกิ่งตอนเท่านั้น ราคาของ IBA ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับ NAA ถ้าเป็นสารบริสุทธิ์จะเป็นผลึกสีขาว ละลายได้ดีในแอลกอฮอล์แต่ไม่ละลายน้ำ เมื่อ IBA อยู่ในรูปสาร ละลายจะมีการสลายตัวได้เร็วมาก ดังนั้นสารที่ผลิตขึ้นเป็นการค้าจึงมักผสมในรูปผง ภายใต้ชื่อการค้าต่างๆ กันเช่นเซราดิกซ์ (Seradix) ซึ่งมีความเข้มข้นแตกต่างกัน 3 ระดับ (เบอร์ 1,2 และ 3) รูท-โกร (Root-Gro) การใช้สารเหล่านี้เพื่อการเร่งรากกิ่งปักชำทำได้โดยจุ่มปลาย
กิ่งที่เปียกชื้นลงในผงของสารลึกประมาณ 1 นิ้ว แล้วจึงนำกิ่งนั้นไปปักชำ สาร IBA มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์อยู่ในระดับมีพิษปานกลางเช่นเดียวกับ NAA ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังเช่นกัน

3. 4-CPA (4-chlorophenoxyacetic acid) เป็นสารที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับ NAA และ IBA ส่วนใหญ่มักใช้เพื่อช่วยในการติดผลของมะเขือเทศ แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นคือทำให้ผลกลวงปราศจากวุ้นหุ้มเมล็ด (puffiness) 4-CPA อาจใช้เพื่อขยายขนาดของผลสับปะรด และผลองุ่นได้เช่นกัน ปัจจุบันไม่มีสารชนิดนี้จำหน่ายในประเทศไทยในรูปสารเคมีการเกษตร แต่หาซื้อได้ในรูปสารบริสุทธฺตามร้านเคมีภัณฑ์บางแห่ง 4-CPA ที่อยู่ในรูปสารบริสุทธฺมีลักษณะเป็นผลึกสีขาวละลายได้ดีในแอลกอฮอล์แต่ไม่ละลายในนํ้า

4. 2,4-D (2,4-dichlorophenoxyacetic acid) ใช้กันมากในวงการสารกำจัดวัชพืช เนื่องจากสารนี้แสดงฤทธิ์ของออกซินสูงมาก ดังนั้นเมื่อใช้ในความเข้มข้นสูงๆ จึงสามารถฆ่าพืชได้ 2,4-D ผลิตขึ้นมาใช้เป็นยากำจัดวัชพืชภายใต้ชื่อการค้าต่างๆ กันมากมาย ถ้าเป็นสารบริสุทธิ์มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวและละลายได้ดีในแอลกอฮอล์ แต่ไม่ละลายนํ้า ยกเว้นสารที่อยู่ในรูปเกลือ การใช้ 2,4-D ความเข้มข้นตํ่าๆ อาจช่วยในการติดผลของส้มบางชนิดได้ 2,4-D เป็นสารที่มีพิษปานกลาง จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวัง

ที่มา:พีรเดช  ทองอำไพ