การให้ปุ๋ยพืชผักแต่ละประเภท

ผักแต่ละประเภทแต่ละช่วงเวลาต้องการธาตุอาหารต่างกัน ธาตุอาหารหลักที่ผักต้องการมีอยู่ 3 ตัวคือ ไนโตรเจน, ฟอสฟอรัส และโปแตสเซียม การใส่ปุ๋ยให้พืชผักอย่างถูกต้องและเหมาะสมจริง ๆ ต้องประกอบด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

1. ควรวิเคราะห์ดูความอุดมสมบูรณ์ของดินเสียก่อนที่จะใส่ปุยหรือปรับปรุงดิน

2.พืชผักที่ใช้ใบและลำต้นเป็นอาหาร ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์ลงไปคลุกเคล้าด้วยหลังจากหว่านเมล็ดแล้วประมาณ 15-20 วัน จึงใส่ปุ๋ยสูตร 20-11-11 อัตราประมาณ 50 กก./ไร่ (เนื่องจากธาตุไนโตรเจนเมื่อใส่ลงไปใน ดินแล้วจะสูญเสียได้ง่าย เช่น ละลายไปกับนํ้า หรือระเหยกลายเป็นก๊าซไป จึงควรใช้ปุ๋ยสูตรที่มีไนโตรเจนสูงกว่าโปแตสเซียมและฟอสฟอรัส) หลังจากปลูกแล้วประมาณ 40-45 วัน จึงใส่ปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) อีกประมาณ 10-15 กก./ไร่ ก็เห็นว่าพืชผักที่ปลูกไม่งาม (ใส่ปุ๋ยยูเรียประหยัดกว่าใส่ปุ๋ยแอมโมเนียมซัลเฟต สูตร 20-0-0 ถึงเท่าตัว)

3.ถ้าเป็นผักที่ต้องเพาะกล้าก่อนแล้วจึงย้ายปลูก เช่น กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี บร๊อคโคลี่ ดินสำหรับการเพาะกล้าต้องร่วนซุย ไม่มีวัชพืช  ยกแปลงเพาะ ขนาด 1×5 หรือ 1×10 เมตร ใส่ปุ๋ยคอกประมาณ 5 หรือ 10 ปีบ ใช้ปุ๋ยเคมีสูตร15-15-15 ประมาณ 2 กำมือ คลุกเคล้ากับดินให้สม่ำเสมอทั่วแปลงก่อนโรยเมล็ดพันธุ์ เมื่อถึงระยะย้ายกล้าลงแปลงปลูก ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยอินทรีย์คลุกเคล้าผสมทับดิน ใส่ปุ๋ยสูตร 20-11-11 อัตราประมาณ 50 กก./ไร่ หลังจากปลูกแล้วถ้าเป็นผักไม่งามจึงใส่ปุ๋ยยูเรียอีก 10-15 กก./ไร่

4.ถ้าเป็นผักที่ใช้ผลเป็นอาหาร เช่น มะเขือเทศ มะเขือเปราะ ก่อนปลูก ใส่ปุ๋ยอินทรีย์อย่างน้อย 2 ต้น/ไร่และใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 อัตรา 50-80 ก.ก./ไร่ ก่อนปลูกหรือหลังจากย้ายกล้าปลูกแล้วประมาณ 7-10 วันก็ได้ ถ้าเป็นผักไม่ค่อยงามหรือเมื่อเริ่มออกดอกก็ใส่ปุ๋ยยูเรียลงไปอีกไม่เกิน 20 กก./ไร่

การให้ปุ๋ยทางใบ นอกจากปุ๋ยที่ให้กับพืชทางดินแล้ว ยังมีปุ๋ยที่ฉีดพ่นให้ทางใบอีกด้วย และเป็นที่นิยมของชาวสวนกันมาก บริษัทต่าง ๆ พากันผลิตออกจำหน่าย และส่วนใหญ่แล้วปุ๋ยนํ้าพวกนี้มีราคาแพงหากเกษตรกรให้ปุ๋ยทางดินแล้ว และฉีดพ่นปุ๋ยนํ้าทางใบด้วย จะทำให้ต้องเปลืองเงินลงทุนมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยนํ้ากับพืชก็สามารถหลีกเลี่ยงการซื้อปุ๋ยนํ้าที่ขายตามท้องตลาดได้ด้วย การใช้ ปุ๋ยยูเรีย (45% N) ละลายนํ้าในอัตรา 2 ช้อนแกงต่อน้ำ 20 ลิตร หรือละลายลงไปในถังฉีดยา ฉีดพ่นพร้อมกับยาป้องกันกำจัดศัตรูพืชผัก ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายและ เวลาได้มาก ปุ๋ยน้ำที่ขายโดยทั่วไปมักจะบอกว่ามีธาตุอาหารปริมาณน้อยหลายชนิด เช่น ธาตุเหล็ก สังกะสี โบรอน และแมงกานีส ถ้าหน้าดินมีความสมบูรณ์พอเพียงอยู่แล้วการใส่ธาตุอาหารจำนวนน้อยลงไปก็ไม่จำเป็นเลย

สำหรับการจะให้ปุ๋ยให้ถูกต้องจริง ๆ ให้ได้ผลสมตามความมุ่งหมาย เกษตรกรจะต้องพิจารณาว่าผักแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารแบบไหน สังเกตดูการ เจริญเติบโตของพืชผัก และการให้ปุ๋ยควรคำนึงถึงราคาของพืชผักด้วยว่าจะให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการใช้ปุ๋ยหรือไม่

ธาตุอาหารที่จำเป็นสำหรับพืชผักและหลักในการสังเกตการขาดธาตุอาหารของ พืช

ไนโตรเจน พืชผักชนิดที่ปลูกเพื่อกินใบและต้น ได้แก่ ผักตระกูลกะหล่ำและผักกาด ต่าง ๆ ต้องการธาตุไนโตรเจนสูงเพื่อใช้สร้างการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและเพื่อให้ต้นและใบมีลักษณะอ่อน, กรอบ, มีเสี้ยนน้อย ข้อที่ควรระวังก็คือ ถ้าให้ปุ๋ยไนโตรเจนมากขึ้นก็ควรจะเพิ่มปุ๋ยฟอสเฟตและโปแตสเซียมให้เพียงพอด้วยเช่นกัน ปุ๋ยสูตรที่แนะนำให้ใช้คือ 20-11-11 เพราะธาตุไนโตรเจนสลายตัวในดินเรียกว่าธาตุอื่น พืชผักที่กินผลต้องการไนโตรเจนน้อยกว่าพวกแรก ควรให้ในระยะแรกของการเจริญเติบโตอย่างเพียงพอ

อาการขาดธาตุไนโตรเจนของผักคือ กิ่งก้านลีบเล็ก ตั้งตรงและแข็งกระด้าง ใบมีขนาดเล็กกว่าปกติ สีเขียวจะซีดลงหรือเหลือง มักพบในแหล่งดินทรายในเขตที่มีฝนตกชุก

ฟอสฟอรัส มีความสำคัญในการช่วยให้พืชตั้งตัวได้เร็วขึ้นในช่วงแรก ๆ ของการ เจริญเติบโต ช่วยให้ผักแก่และเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้นและมีรสดีขึ้น

อาการของผักที่ขาดธาตุฟอสฟอรัสคือ รากจะไม่เจริญเติบโตตามปกติ กิ่งลีบเล็ก และมีข้อสั้นใบและต้นมีสีเขียวแก่หรือม่วง พืชแก่ช้ากว่าปกติมักพบในดินกรวด ดินเปียกแฉะ อาจขาดธาตุนี้ชั่วคราว

โปแตสเซียม เป็นธาตุที่มีความสำคัญอย่างมากต่อขบวนการสังเคราะห์และการเคลื่อน ย้ายแป้งในพืชโดยเฉพาะพืชผักประเภทหัวต้องการโปแตสเซียมสูงมากกว่าพืชผัก ประเภทอื่น พืชผักที่กินใบและต้นต้องการโปแตสเซียมไม่น้อยไปกว่าไนโตรเจน เพราะ โปแตสเซียมทำให้คุณภาพของผักดีขึ้น เช่น ช่วยให้ต้นกะหล่ำปลีห่อปลีได้ดี ปลีมีน้ำหนักมาก เนื้อแน่น เป็นเงาน่ารับประทาน ปรุงอาหารได้อร่อยกว่าผักที่ขาดโปแตสเซียม พืชผักประเภทกินใบที่ได้รับปุ๋ยโปแตสเซียมเต็มที่ เมื่อตัดส่งตลาดจะไม่เหี่ยวเฉาง่าย  มีการสูญเสียน้ำหนักระหว่างการขนส่งน้อย พืชผักประเภทหัวและราก เช่น หอมก็ต้องการโปแตสเซียมสูงมาก มีผลต่อปริมาณน้ำตาลในหัวหอม มีน้ำหนัก และเนื้อแน่นเก็บได้นานโดยไม่งอกหน่อ

อาการที่พืชขาดโปแตสเซียมคือ ขอบใบจะมีสีซีด ระหว่างเส้นใบจะมีจุดสีน้ำตาลแห้ง อาการจะเริ่มที่ใบแก่ก่อน พืชผักที่บริโภคหัวจะมีแป้งน้อยเนื้อฟ่าม ลำต้นหักล้มง่าย พบในแหล่งดินทรายที่มีการชะล้างธาตุอาหาร

แคลเซียม ตามแปลงผักทั่วไปที่นิยมใส่ปูนขาวมักจะไม่ขาดธาตุนี้ เพราะแคลเซียม เป็นธาตุที่เป็นส่วนประกอบของหินปูน เปลือกหอยและแร่อื่น ๆ แคลเซียมทำให้ลำต้นของพืชผักแข็งแรง พบว่ามีปริมาณมากในบริเวณที่กำลังเจริญเติบโตคือบริเวณยอดและราก พืชผักต้องการแคลเซียมในระยะเจริญเติบโตและระยะออกดอก, สร้างเมล็ดโดยแคลเซียมจะมีส่วนในการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษาคาร์โบไฮเดรทและโปรตีนในพืช เพื่อนำไปใช้ในการสร้างผลและเมล็ดต่อไป

ธาตุแคลเซียมถ้ามีมากเกินไปจะมีผลทำให้พืชดูดดึงเอาโปแตสเซียมไปใช้ได้น้อยและอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณภาพของผลผลิตไม่ดีเท่าที่ควร อาการของพืชผักที่ขาดธาตุแคลเซียมคือ ที่ปลายกิ่งส่วนยอด หรือใบที่อยู่ใกล้ ๆ กับยอดหรือส่วนปลายรากจะแห้งตาย ใบอ่อนจะบิดเบี้ยวปลายใบม้วน งอเข้าไปยังลำต้น ขอบใบขาดเป็นรั่ว ๆ และหยักไม่เรียบ ต่อไปขอบใบจะแห้งยอดอ่อนจะตาย ในมะเขือเทศจะเกิดอาการต้นเน่า คึ่นช่ายเกิดอาการไส้ดำ พืชหัวหลายชนิดยอดจะตาย แครอทก้านใบจะฉีกขาด และเป็นโพรงในราก พบในแหล่งที่ดินเป็นกรด ดินที่มีโปแตสเซียมสูงมาก ดินที่ขาดน้ำแห้งแล้งมากหรือดินทรายที่มีฝนตกชุก

แมกนีเซียม เป็นส่วนประกอบของส่วนที่เป็นคลอโรฟิลล์ จึงพบอยู่ในส่วนที่เป็นสีเขียวของพืชเป็นส่วนใหญ่ มีหน้าที่เกี่ยวกับการดูดอาหารของพืช และเคลื่อนย้ายธาตุอาหาร อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอสฟอรัส

พืชผักที่ขาดแมกนีเซียม ใบล่างจะมีสีเหลืองแต่เส้นใบยังคงมีสีเขียว ต่อไปจะเปลี่ยนเป็นสีขาวและสีนํ้าตาลแล้วก็ตาย อาจจะมีจุดขาวกระจายไปทั่วใบแก่ และใบเปราะง่าย พบในแหล่งดินกรดดินที่มีโปแตสเซียมสูงมาก ดินทรายที่มีการชะล้าง

กำมะถัน กำมะถันพบกระจายทั่วไปทั้งต้นพวกพืชตระกูลถั่ว หอม กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง กระเทียม ต้องการกำมะถันมากเพื่อเพิ่มกลิ่นเละรสชาติให้ดีขึ้น กำมะถัน มีผลทางอ้อมต่อการสร้างส่วนที่เป็นสีเขียวของพืช การใส่ปุ๋ยในรูปซัลเฟตหรือปุ๋ยที่มีกำมะถันอยู่ด้วยมักจะไม่ขาดกำมะถันหรืออาจจะใส่กำมะถันโดยตรงในรูปกำมะถัน ผงละลายน้ำรองในแปลงผัก หรือใส่ปุ๋ยคอก-ปุ๋ยหมัก-ปุ๋ยพืชสด

อาการที่ขาดกำมะถันของพืช คือ ใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนหรือเหลืองคล้าย ๆ กับอาการขาดธาตุไนโตรเจน แต่จะต่างกันตรงที่ขาดธาตุไนโตรเจนจะเริ่มจากใบล่าง แต่ขาดกำมะถันจะเริ่มจากยอดอ่อนก่อนใบล่างยังปกติ ยังมีอาการรุนแรง ใบล่างจะมีอาการเช่นกัน ใบจะมีขนาดเล็กลง ยอดชะงักการเจริญเติบโต ลำต้นลีบเล็ก เนื้อในแข็งรากยาวผิดปกติ ใบล่างจะหนาและกระด้าง ลำต้นเกิดสีเขียวเหลือง ในพืชตระกูลถั่วใบอ่อนจะมีสีเขียวอ่อนถึงสีเหลืองรวมทั้งเส้นใบ พบบริเวณดินหยาบที่ถูกชะล้าง

แมงกานีส พืชต้องการแมงกานีสเพียงเล็กน้อย แมงกานีสมีบทบาทในการสังเคราะห์แสง ทำงานร่วมกับธาตุอื่น ๆ เช่น เหล็ก แคลเซียม แมกนีเซียม

อาการที่ขาดแมงกานีสคือ ใบพืชออกสีเหลือง ๆ เส้นใบยังเขียวอยู่เป็นปกติ มักเกิดกับใบอ่อนก่อนต้นจะโตช้าใบไม่สมบูรณ์ ในสภาพดินเป็นกรดจัดถ้ามี แมงกานีสมากจะเกิดพิษแก่ต้นพืช แต่ถ้าดินเป็นด่างหรือใส่ปูนขาวมากเกินไปมัก ขาดธาตุแมงกานีส พืชที่แสดงอาการขาดธาตุแมงกานีสให้ฉีดพ่นอาหารเสริมที่ประกอบ ด้วยธาตุแมงกานีสทางใบ

เหล็ก มีหน้าที่ช่วยสร้างคลอโรฟิลล์ ดูดธาตุอาหารอื่น ๆ กระตุ้นการหายใจของพืช

พืชที่ขาดธาตุเหล็กจะเห็นว่า ใบอ่อนเป็นสีเหลืองซีด ๆ หรือขาวแก้ไขโดยการฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบ พบในแหล่งที่ดินมีค่าพีเอชสูงกว่า 6.7

สังกะสี มีหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมนพืชที่ควบคุมการเจริญเติบโต

อาการของพืชที่ขาดสังกะสี คือ จะเกิดสีเหลืองระหว่างเส้นใบ ขอบใบไหม้มีจุดน้ำตาลแดง ลำต้นยืดยาวช้า และใบเล็กแคบ พบในดินที่ใส่ปุ๋ยฟอสฟอรัสมาก แก้ไขโดยการฉีดพ่นอาหารเสริมทางใบ

ทองแดง มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสีเขียว เป็นองค์ประกอบของโปรตีน ช่วยการหายใจและทำให้พืชได้ใช้เหล็กมากขึ้น

อาการของพืชที่ขาดทองแดง คือ ใบพืชมีสีเขียวจัดในระยะแรก ต่อมาจะค่อย ๆเหลืองลง  จนในที่สุดชะงัดการเจริญเติบโต พบในแหล่งดินทรายที่เป็นกรดและถูกชะล้างมาก แก้ไขเช่นเดียวกับการขาดธาตุสังกะสี

โบรอน ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายน้ำตาล การดูดดึงธาตุแคลเซียมของราก และช่วยให้พืชใช้ธาตุไนโตรเจนได้มากขึ้น

อาการที่เกิดจากธาตุโบรอน  คือ  ยอดหรือส่วนอ่อนที่สุดชะงักการเจริญเติบโต กิ่งก้านสั้นและแข็งกระด้าง  เกิดจุดสีน้ำตาลหรือดำในส่วนต่าง ๆของพืชโดยเฉพาะพืชที่ให้หัวที่ราก กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก กะหล่ำปม และผักกาดต่าง ๆ ชาวบ้านเรียกว่าโรคโอกึนหรือโอเก็ง

คลอรีน มีความสำคัญต่อขบวนการสังเคราะห์แสงและทำให้พืชแก่เร็วขึ้น

พืชที่ขาดธาตุคลอรีน ใบจะเหี่ยวและเหลืองใบมีสีบรอนซ์ ผักกาดหอมเป็นพืชที่ไวต่อการขาดคลอรีนมาก  แต่ถ้ามีมากเกินไปทำให้ขอบใบแห้งและใบเหลืองก่อนกำหนด