กาแฟ:กาแฟดีที่ลำทับ

กาแฟคืออะไรไม่ต้องอธิบายกันแล้ว แต่คำว่าลำทับ ขอบอกว่าเป็นอำเภอตั้งใหม่ในจังหวัดกระบี่ที่เป็นรอยต่อติดกับนครศรีธรรมราช  แหล่งนี้เคยเป็นป่าทึบป่าแกตั้งแต่ดั้งเดิม  แต่พอเพิ่มเปิดป่ามาทำสวนกาแฟสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา  โดยชาวระโนดจากสงขลาเป็นผู้บุกเบิกก็กลายเป็นชุมชนที่มีฐานะ  โชคดีที่แหล่งนี้มีสภาพแวดล้อมพอเหมาะพอเจาะเฉพาะกาแฟ  เพราะดินระบายน้ำดี สีแดง  เนื้อดินร่วนเหนียว ดินลึกเกิน 4 เมตร อากาศไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป แถมฝนฟ้ายังเป็นใจให้ฝนตกตามฤดูกาล แล้วทำไมล่ะ กาแฟจะไม่งามตามใจนึก ชาวบ้านจึงชักชวนกันมาหาพื้นที่ปลูกกาแฟที่นี่จนเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ประมาณ 3 หมื่นไร่

นายสุโบ๊ะ  สมหวัง แห่งตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ จังหวัดกระบี่ เล่าให้ฟังว่าชื่อเสียงของกาแฟลำทับขจรกระจายกันไปไกล ดึงดูดใจให้บริษัทรับซื้อยักษ์ใหญ่เนสท์เล่ บอนด์คอฟฟี่ และไทยคอม  เข้าไปให้ราคาที่น่าพอใจแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องราคารับซื้อ  แต่พอรัฐออกโควต้าประกันราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 32 บาท ก็เกิดปัญหาประท้วงกันบ้าง  เพราะพ่อค้ารับซื้อคือผู้ดำเนินการแทนรัฐเสียเอง  ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ผู้เล่าไม่อยากจะบอกความจริง แต่โชคดีที่บริษัทรับซื้อยักษ์ใหญ่ไม่ตุกติก รายได้ที่เคยทำให้เชื่อใจก็ไม่มีปัญหา แต่พวกพ่อค้าที่รับซื้อหลังบริษัทที่ถอยไปแล้วนี้แหละตัวลูกเล่นที่น่ากลัว  อย่ามัวแต่ประท้วงเพื่อประกันราคาอยู่เลย ให้หาทางแก้ไขกันเองดีกว่า  พอรัฐเข้ามาแทรกแซงก็จะมีพวกแอบแฝงเข้ามาดังปัญหาราคาข้าวที่เป็นข่าวอนาถใจ

ชาวลำทับรู้ดีว่าจะปลูกกาแฟอย่างไรจึงจะให้ผลผลิตดี เริ่มตั้งแต่การขุดหลุมปลูก โดยขุดหลุมเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูปากกว้างหน้าจอบ กันแคบกว่าเล็กน้อย และลึกสองช่วงของหน้าจอบ  ส่วนความยาวนั้นประมาณ 1 ศอก  รู้ไหมทำไมต้องขุดหลุมเช่นนี้ เพื่อที่จะวางต้นกล้าให้ยอดบนสุดต่ำกว่าปากหลุมสัก 2-3 นิ้ว เพื่อหลบแดด วางปลูกกลางหลุมเพื่อที่จะหยอดปุ๋ยเคมี 20-0-0 ที่ซอกก้นหลุมทั้งสองด้าน หลังปลูก 30 วัน แต่ต้องไม่ลืมหยอดฟูราดาน 3 จี พร้อมปลูกมิฉะนั้นแมลงกินใบหมด  แนวหลุมปลูกต้องวางขวางแสงตะวัน ต้นกล้าที่ปลูกใหม่จะได้หลบแดดตอนเช้า ตอนบ่ายจะโดนแดดบ้างก็ตอนเที่ยงเท่านั้น ต้นกล้าจึงจะมีโอกาสรอดตายสูงโดยไม่ต้องทำร่มให้จะกลบหลุมในปีต่อมาพร้อมกับการตัดแต่งกิ่ง แขนง และการผลิดอก

ชาวบ้านที่นี่รู้ดีว่า ควรจะเก็บแขนงไว้เพียงสองแขนงเท่านั้น รวมกับต้นแม่เป็น 3 ต้น  แต่ต้องเก็บแขนงล่างเอาไว้  เมื่อกลบปากหลุมแขนงจะถูกกลบอยู่ใต้ดิน  แล้วมันก็จะโตทันต้นแม่  และรากแผ่ยึดดิน  ช่วยให้แขนงแข็งแรงคล้ายต้นจริง  ยามฝนตกลมแรงขณะติดลูก แขนงจะไม่ฉีกแยกแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ มิฉะนั้นจะต้องหาไม้มาค้ำทำให้สิ้นเปลืองไปเปล่า ๆ บางรายรู้ไม่เท่ากัน  ดันไปเลี้ยงแขนงบน พอติดดอกออกผลก็กลับยากจนไปกว่าเดิม

ไม่ต้องเล่าถึงการดูแลรักษา  ชาวสวนเขาใส่ปุ๋ยกันเต็มที่เพื่อที่จะให้งาม กาแฟเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยมากแต่ก็ได้รายได้ดีพอที่จะหาปุ๋ยที่มีคุณภาพมาใช้ได้คุ้มค่าตามคำแนะนำของทางราชการ

การตัดแต่งกิ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นเพื่อจะริดแขนงที่แทงออกมาใหม่จากลำต้น เพราะจะเจริญเติบโตมาแย่งน้ำ และอาหารโดยใช่เหตุ  ชาวสวนจะหมั่นเดินตรวจและใช้เคียวเล็กด้ามยาวกระตุกให้ขาด กาแฟที่นี่มีปัญหาแมลงศัตรูรบกวน ระยะแรกปลูกเท่านั้น  พออายุมากขึ้นแทบจะไม่มีแมลงรบกวน  แม้แต่แพะ ซึ่งเป็นสัตว์ที่กินพืชแทบทุกชนิด ก็ไม่คิดจะกิน  เลยไม่มีปัญหาการจับแพะเหมือนที่อื่น  กาแฟต้นสมบูรณ์ดีมีโอกาสที่จะได้ผลสดถึง 5 ปีบ และเมื่อผ่านการตากและกระเทาะเปลือกจะได้เมล็ดหรือสารกาแฟในสภาพพร้อมขายประมาณ 15 กิโลกรัม  กาแฟเกรดชั้นดีต้องมีเมล็ดสมบูรณ์ สีเมล็ดสม่ำเสมอไม่มีเมล็ดสีดำ เพราะไปเก็บลูกอ่อนติดมา ความชื้นต่ำถ้าใช้ฟันกัดแล้วเมล็ดแบนก็ยังมีความชื้นสูง  เมล็ดต้องแตกถึงจะแห้งใช้ได้

ชาวสวนบางรายหัวใส  ใครจะผลิตกาแฟผงออกมาขายเองหรือไม่ก็กินกันในครัวเรือน  โดยเข้าร่วมโครงการฝึกเสริมอาชีพ  รายใดที่หัวไวก็รับเทคนิคมาก และดัดแปลงบ้างเพื่อเพิ่มคุณภาพ  เขาเอาเมล็ดกาแฟชั้นดีมาคั่วเสียก่อน  โดยคุมไฟให้พอดีไม่แรง ไม่อ่อนเกินไป คั่วไปเรื่อย ๆ จนกว่าเมล็กจะสุกเข้าที่  แรกเริ่มจะมีควันโขมง  นาน ๆ ไปก็จะจางลงจนแทบจะไม่มีควัน  นั่นหมายความว่าน่าจะสุกพอดี หักเมล็ดในดูเป็นสีน้ำตาลซึ่งเป็นสีกาแฟ  ต่อมาก็ถึงเวลาเคี่ยวน้ำตาล โดยใช้น้ำตาลทรายแดง 1.5 กิโลกรัมผสมกับน้ำตาลทรายขาว 1 กิโลกรัม ต่อเมล็ดกาแฟ 1 กิโลกรัม  ตอนนี้แหละสูตรใครสูตรมัน  แต่ที่ลำทับใช้สูตรดังที่ได้กล่าวมา เคี่ยวน้ำตาลก็ต้องคุมให้ปานกลางเช่นกัน ตอนแรกก็มีฟองใหญ่ผุดขึ้นมา เคี่ยวไปเรื่อย ๆ ฟองก็จะเล็กลงเล็กลง น้ำตาลจะงวดเข้าจนเหนียวหนึบรู้สึกตึงมือ  จะเข้าที่ก็ให้ลองใช้ทัพพีสาวขึ้นมาเป็นยวงแล้วกรอบหักเปราะ  ก็นำแกแฟที่คั่วแล้วใส่ลงไปทันที คั่วต่อไปให้เคล้ากันสนิท แล้วก็นำไปเทลงในถาดที่ทาน้ำมันพืชบาง ๆ เพื่อมิให้ติดถาด รอจนเย็นแล้วไปตำในครกตำข้าวก็ได้  จะบดด้วยเครื่องบดก็ได้  เป็นการสิ้นสุดกระบวนการผลิต  ขออย่างเดียวอย่าคั่วจนไหม้จะได้รสชาติที่ผิดแปลกไปไม่เหมือนรสกาแฟตามธรรมชาติ กาแฟที่นี่จะมีกลิ่นหอมชวนดื่ม  แม้แต่อยู่ในถุงที่ปิดสนิทก็ยังได้กลิ่น

นอกจากนี้ยังมีปลูกทุเรียนแซมกาแฟ โดยกาแฟ 2 แถวกว้าง 8 เมตร ปลูกทุเรียนแซมหลังปลูกกาแฟ 1ปี ใช้ระยะปลูก 8×8 เมตรตามปกติ ไม่ต้องให้ปุ๋ยทุเรียน เพราะจะใช้ผลพลอยได้จากปุ๋ยกาแฟ อีก 5 ปีต่อมา  ก็จะได้ทั้งผลผลิตกาแฟกับทุเรียน คิดดูเอาซิ ถึงราคากาแฟแปรปรวนอย่างไรก็ไม่สนใจ  ไหนจะได้กาแฟผง ไหนจะได้ผลผลิตทุเรียนเสริม  และกาแฟเองก็ปลูกได้นานประมาณสิบปีแล้วรื้อปลูกใหม่  คิดแล้วทันใจกว่าตัดตอให้แตกใหม่ เพราะเพียง 2 ปีก็เก็บขายได้สบายใจไม่วิตกกังวล เกือบลืมไปทางใต้เขาปลูกกาแฟโรบัสต้ากัน โดยใช้เป็นพันธุ์หลักผสมกับพันธุ์อาราบิกาที่ปลูกทางเหนือเพื่อที่เสริมกลิ่นเท่านั้น จึงใครอยากให้คนที่สนใจลงไปเยือนเราที่ลำทับ แล้วจะทราบว่ากาแฟดีต้องที่ลำทับ