กาแฟโรบัสต้า(Robusta Coffee)


กาแฟโรบัสต้า มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าธรรมชาติ อาฟริกา บริเวณเส้นศูนย์สูตรจากระดับความสูง ๑,๕๐๐ เมตร ชาวอาฟริกันในอูกานดาได้ปลูกกันเป็นจำนวนเล็กน้อยโดยใช้เมล็ดที่เก็บมาจากในป่า ก่อนนักสำรวจชาวยุโรปจะค้นพบต้นกาแฟนี้ถูกจำแนกและตั้งชื่อว่าCoffea canephora โดย Pierre ปี ค.ศ. ๑๘๙๗ และแพร่กระจายไปยังกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม โดยได้ชื่อว่า C.robusta ในการค้า คงเรียกว่า กาแฟโรบัสต้า เพื่อให้แตกต่างจากกาแฟอราบิก้า หลังจากนั้นได้ถูกส่งเข้าไปในชวา และพบว่ามีการเจริญเติบโตแข็งแรงดี และมีความต้านทานโรคราสนิมได้อย่างดี ดังนั้น จึงปลูกกันอย่างกว้างขวาง และตั้งแต่ปี คศ.๑๙๐๐ การปลูกกาแฟโรบัสต้าก็ได้แพรหลายทั่วไปในเขตร้อนชื้น ซึ่งสามารถปลูกได้ผลสำเร็จดีในระดับความสูงต่ำกว่าบริเวณที่ไม่เหมาะสำหรับกาแฟอราบิก้า- และโรคราสนิม เป็นปัญหาสำคัญปัจจุบันยังคงเป็นพันธุ์ที่สำคัญที่สุดพันธุ์หนึ่งของอาฟริกา และ เอเซีย แต่มีปลูกกันน้อยมาก ในแหล่งปลูกกาแฟที่กาแฟอราบิก้ายังคงปลูกได้ดี
การใช้ประโยซน์ก็เช่นเดียวกับกาแฟอราบิก้า มีคุณภาพปานกลาง กลิ่น-รส สู้กาแฟอราบิก้าไม่ได้ แต่โดยเหตุที่มีราคาถูกกว่าในการซื้อขายและในการผลิต จำนวนเปอร์เซนต์ที่ใช้ผสมในกาแฟผงจึงมีมากกว่า ปัจจุบันใช้ในอุตสาหกรรมกาแฟผงสำเร็จรูปถึง ๗๐% และ เป็นกาแฟหลักในการทำกาแฟผงชงจึงยังคงปลูกกันมากอยู่อย่างกว้างขวาง ถึงแม้ราคาจะต่ำกว่ากาแฟอราบิก้า แต่ก็เป็นการแน่นอนที่ต้นทุนการผลิตกาแฟโรบัสต้าก็ต่ำกว่าด้วย
สภาพดินฟ้าอากาศ
ดังกล่าวแล้วว่า กาแฟโรบัสต้า ได้มาจากต้นกาแฟในป่า และมีการนำไปปลูกอย่างแพร่หลายยังแหล่งปลูกกาแฟต่างๆ ในระดับความสูงต่างๆ และสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันมาก จึงกล่าวได้ว่า กาแฟโรบัสต้าไม่ได้จำกัดความต้องการสภาพดินฟ้าอากาศเหมือนกาแฟอราบิก้า และยังได้แสดงความสามารถในการปรับตัวได้อย่างกว้างขวางอีกด้วย มีความเหมาะสมที่สุด เมื่อปลูกในระดับความสูงไม่มากนัก แต่ก็สามารถปลูกได้จนถึงระดับความสูง ๑,๕๐๐ เมตร แต่ระดับที่ เหมาะสมในชวา ประมาณ ๓๐๐-๗๐๐ เมตร แต่ก็เจริญได้ดีมาก ที่ระดับความสูง ๑,๒๐๐ เมตร ที่บริเวณทะเลสาบวิคตอเรีย สำหรับประเทศไทยมีปลูกทั่วประเทศไทย แต่มีมากทางภาคใต้ ปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสม คือประมาณ ๗๐”ต่อปี อุณหภูมิ ๑๘๐C-๓๒๐C ต้องการช่วงแห้งแล้งสำหรับการสร้างตาดอกและจะออกดอกเมื่อได้รับน้ำฝนมี ความต้านทานต่อสภาพอากาศที่ไม่เหมาะสมและมีการจัดการต่ำมากกว่ากาแฟอราบิก้า พันธุ์ส่วนมากจะมีความต้านทานโรคราสนิมได้ดี
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
กาแฟโรบัสต้ามีลักษณะเป็นไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็ก อาจสูงถึง ๑๐ เมตร โทมัส (๑๙๔๗) ได้รายงานว่า พบต้นที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ที่บริเวณทะเลสาบวิคตอเรีย
ราก มีรากแก้วลสั้น ระบบรากตื้นและมีรากฝอยหาอาหารเป็นจานวนมาก อยู่บริเวณดินชั้นบนลึก ๖”
ลำต้น แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ ชนิดเจริญสูงขึ้นไปและชนิดเป็นพุ่ม ลักษณะการแตกกิ่ง เหมือนกาแฟอราบิก้า แต่กิ่งข้างหรือกิ่งนอนข้อที่ออกผลแล้วจะไม่ออกอีกผลจะเกิดตามส่วนที่เจริญขึ้นมาใหม่ และ เมื่อออกผลจนสุดปลายกิ่งแล้ว กิ่งจะแห้งตายและร่วงหล่น ทำให้ต้นมี ลักษณะทรงต้นแบบร่ม
ใบ มีขนาดใหญ่กว่ากาแฟอราบิก้า คือ กว้างประมาณ ๕-๑๕ เซนติเมตร ยาว ๑๕-๓๐ เซนติเมตร มีสีเขียวเป็นมัน ใบมักเป็นลอน เส้นกลางใบจะแบน
ดอก เช่นเดียวกับกาแฟอราบิก้าา มีกลิ่นหอมมาก แต่มีการผสม เกสรแบบผสมข้าม ถ้าผสมตัวเองมักเป็นหมัน
ผล ผลอ่อนมีสีเขียว แก่สุกแล้วมีสีแดงเข้ม มีขนาดยาวประมาณ ๐.๘-๑.๕ เซนติเมตร ภายหลังจะแห้งและกลายเป็นสีดำติดอยู่กับข้อจนกว่าจะเก็บเกี่ยว ไม่ร่วงหล่นก่อน ดังนั้น ทำให้สามารถเก็บเกี่ยวได้พร้อมกัน ใช้เวลาจากออกดอกจนถึงเก็บเกี่ยวได้ประมาณ ๙-๑๐ เดือน มีเปลือกและเนื้อบาง จำนวนผลที่มีข้อมีมากกว่ากาแฟอราบิก้า อาจมี ๒๐-๗๐ ผลใน ๑ ข้อ
เมล็ด มีขนาดยาว ๗-๙ มิลลิเมตร แต่โดยเฉลี่ยประมาณ ๘.๕ มิลลิเมตร โดยเหตุที่เปลือกบางและมีเนื้อน้อย อัตราส่วนผลกาแฟต่อสารกาแฟ ประมาณ ๔.๕ : ๑
การงอก เช่นเดียวกับกาแฟอราบิก้า
พันธุ์ของกาแฟโรบัสต้าและพันธุ์ปลูก
การจำแนกพันธุ์ของกาแฟโรบัสต้า มีความสับสนและโดยเหตุที่กาแฟโรบัสต้านั้นมีการผสมเกสรชนิดผสมข้ามและตัวเองเป็นหมัน การจำแนกลักษณะให้แน่ชัดลงไปจึงทำได้ยากดังนั้น จึงจำแนกได้ เป็น ๒ แบบ ของลักษณะการเจริญเติบโต โดยโทมัส (๑๙๔๗)ในอูกานดา


รูปแสดงภาพตัดขวางของเครื่องชงกาแฟแบบ Espresso
๑. ชนิดต้นสูง มีการเจริญเติบโตขึ้นทางสูงมาก ถ้าไม่ตัดยอดต้นอ่อนจะเจริญจนมีลักษณะเป็นตันไม้ขนาดเล็ก และลักษณะนี้นี่เองถูกเรียกว่าพันธุ์โรบัสต้า หมายถึงเจริญเป็นต้นที่แข็งแรงและสมบูรณ์ หรือเป็นพันธุ์ Canephora
๒. ชนิดเป็นพุ่ม มีการเจริญแผ่ออกทางข้างมาก ใบมีขนาดเล็กกว่าทรงพุ่มมีลักษณะเป็นรูปโดม ลักษณะนี้ถูกเรียกว่า เป็นพันธุ์ Nganda
พันธุ์ลูกผสมที่จำเป็นต้องกล่าวในที่นี้ คือ ลูกผสม Congusta หรือ Conuga ในชวา เป็นลูกผสมระหว่าง C. robusta X C. congensis ซึ่งลูกผสมเหล่านี้เหมาะสำหรับพื้นที่ระดับสูงกว่าและความชื้นสูงกว่ากาแฟโรบัสต้าธรรมดา
สำหรับพันธุ์ที่ใช้ปลูกนั้น กาแฟโรบัสต้ามีการกลายพันธุ์โดยลักษณะพันธุกรรมเปลี่ยนไปนั้นน้อยมาก แต่โดยที่กาแฟโรบัสต้ามีการผสมเกสรข้ามต้น ทำให้มีความแปรปรวน ถึงแม้การปลูกจะกระทำโดยเมล็ด แต่ถ้าต้องการสายพันธุ์แท้ ก็ต้องใช้วิธีแยกจากต้นแม่หรือเสียบ กิ่งบนต้นตอที่ต้านทานโรคราสนิมและไส้เดือนฝอย ได้มีการปรับปรุงพันธุ์ปลูกกันมาเป็นเวลานานแล้ว แต่กล่าวโดยย่อได้ว่า เมื่อใช้ต้นแม่ S.A 45 จากชวาเป็นหลัก ในการเปรียบเทียบต้นแม่ L. 147 เจริญ เติบโตแข็งแรงกว่าและ L. 125 มีเมล็ดใหญ่กว่า คือ ยาวถึง ๑๑ มิลลิเมตร ในอินเดียใช้พันธุ์ S. 274 ซึ่งมีขนาดเมล็ดใหญ่มาก
การขยายพันธุ์การปลูกและการปฏิบัติดูแลรักษา
เช่นเดียวกับกาแฟอราบิถ้า ยกเว้นต่อไปนี้
๑. การเลือกพื้นที่ ควรมีระดับความสูงน้อยกว่า    สำหรับปลูกกาแฟอราบิก้าและ หรือมีปัญหาเรื่องการระบาดของโรคราสนิม การจัดการต่ำ หมู่บ้านห้วยตาด นิคมเชียงดาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๙๐๐ เมตร สามารถเจริญเติบโตได้ดีมาก ได้ตรวจสอบความสูงแหล่งปลูกต่างๆ แล้ว ที่นี่สูงที่สุดที่ให้ผลดี
๒. ระยะปลูก ชนิดต้นสูงใช้ระยะ ๓ X ภ เมตร หรือ ๓.๕ X ๓.๕ เมตร ชนิดพุ่ม ๔.๕ X ๔.๕ เมตร
๓. การตัดแต่งกิ่ง ชนิดมีลำต้นเดียวไม่เหมาะสม เพราะการแตกกิ่งข้างกิ่งแขนงไม่ เหมือนกาแฟอราบิก้า หลังการให้ผลผลิต ๒-๓ ปี กิ่งมักจะแห้งตายและหล่น ทำให้ต้นมีลักษณะทรงพุ่มแบบร่ม
๔. ควรตัดแต่งกิ่งแบบให้มีลำต้นหรือกิ่งตั้งหลายกิ่ง ชนิดต้นสูงใช้วิธีเด็ดยอด เหมือนกาแฟอราบิก้า ชนิดเป็นพุ่มให้ใช้วิธีโน้มต้นอ่อน ให้แตกยอดจำนานมากเท่าที่ต้องการ
๔. การเก็บเกี่ยวมักปล่อยให้เมล็ดแห้งคาต้นและทำการเก็บ เกี่ยวครั้งเดียว อาจใช้วิธีเตรียมลานโคนต้นแล้วเขย่าให้ผลกาแฟหล่นลงมาแล้วนำไปตากแดดให้แห้งแล้วทำการกะเทาะเปลือกออก อย่างไรก็ตามการทำสารกาแฟแบบล้างน้ำหรือแบบเปียกก็ยังให้คุณภาพดีกว่า
๖. ปกติให้ผลผลิตมากกว่ากาแฟอราบิก้า เพราะมีจำนวนผลมากกว่า และไม่ต้องการการปฏิบัติดูแลรักษามากเท่ากาแฟอราบิก้า
๗. ต้นที่มีอายุมาก และสูงขึ้นไปมาก ควรทำการโน้มต้นลงมาให้ราบ แล้วยึดไว้ให้เกิดกิ่งตั้งขึ้นไปเจริญเป็นต้นใหม่ เป็นการเปลี่ยนอายุของต้นแก่ให้เป็นต้นอ่อนอีกครั้ง ต้องการให้มีกิ่งตั้งหรือจำนวนต้นเท่าใดก็เด็ดกิ่งตั้งออกให้ได้เท่าที่ต้องการ วิธีการนี้ เรียกว่า Agobiado ซึ่งเป็นภาษาสเปน หรือเรียกกันทั่วไปว่า “Agobio” ในลาตินอเมริกา
โรคและแมลงศัตรู
กาแฟโรบัสต้าไม่ค่อยมีปัญหาโรคและแมลงมากเท่ากาแฟอราบิก้า เพราะส่วนมากจะต้านทานโรคราสนิม ซึ่งเป็นปัญหาในการปลูกกาแฟอราบิก้าได้ดีอยู่แล้วอาจมีปัญหาโรครากเน่า สำหรับแมลงศัตรูนั้นที่สำคัญ คือ แมลงเจาะผลกาแฟ ซึ่งระบาดทำให้ผลผลิตเสียหายได้มากและพบว่าทำลายกาแฟอราบิก้า เช่นกัน การป้องกันกำจัด เช่นเดียวกัน
ผลผลิต
เอกสารเศรษฐกิจการเกษตร ฉบับเลขที่ ๑๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๙ รายงานไว้พอจะยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างดังนี้
กาแฟโรบัสต้าที่อำเภอสิชลฯ จ.นครศรีธรรมราช ปลูกโดยไม่มีร่ม เงา เริ่มให้ผลผลิตปีที่ ๓ สูงสุดในปีที่ ๕ และหมดอายุในปีที่ ๙ ดังนั้น อายุที่เหมาะสมในการปลูกทดแทนทางเศรษฐกิจ คือปีที่ ๗-๘ ดังตารางข้างล่าง


*รายได้คำนวนจากราคาขายปี ๒๕๑๘ ราคา ๒๑ บาท/กก.
** ต้นทุนการผลิต คิดอย่างละเอียดทางเศรษฐศาสตร์ เช่น ค่าเสียโอกาสด้วย เป็นต้น
จากข้อมูลนี้ พอสรุปได้ว่า
๑. ผลผลิตกาแฟโรบัสต้าเฉลี่ยต่ำสุด ๕๓.๓๓ กก./ไร่ สูงสุด ๒๐๙.๕๔ กก./ไร่ เมื่อกาแฟอายุได้ ๕ ปี และเริ่มลดลงจนหมดอายุใน ปีที่ ๙
๒. ช่วงระยะปลูก ๒ ปีแรกขาดทุน เพราะมีแต่การลงทุน ยังไม่สามารถเก็บผลผลิตได้
๓. ต้นทุนการผลิต ๑๓.๗๐ บาท/กก.
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้
๑. ผลกาแฟตากแดดจนแห้งใช้เวลา ๗-๑๕ วัน
๒. กาแฟโรบัสต้าตากแห้งทั้งผล หนักประมาณ ๑๖-๑๗ กก./ถัง
๓. ค่าจ้างเก็บผล (คนงานผู้หญิงและเด็ก ๑๕-๒๐ บาท/วัน) คิดเป็น ๕.- บาท/ถัง
๔. ค่าจ้างสีเอาเปลือกออก ๒.- บาท/ถัง
๕. ค่าจ้างฝัด ๓-๕.- บาท/ถัง
๖. กาแฟที่ผลิตได้ ขายให้พ่อค้าท้องถิ่น ๙๐% อำเภอสิชล ๑๐%
๗. พ่อค้าท้องถิ่นขายให้โรงงานกาแฟต่างจังหวัด ๓๕% โรงงานกาแฟไทย กรุงเทพฯ ๕๕%
๘. อำเภอสิชล ขายผ่านกรมการปกครอง ให้โรงงานกาแฟไทย ๑๐%
๙. รวมกาแฟ ขายให้โรงงานกาแฟต่างจังหวัด ๓๕% โรงงานกาแฟไทย บางนา กรุงเทพฯ ๖๕%
ที่มา:อนันต์  อิสระเสนีย์