กำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัยในสวนไม้ผลแบบยกร่อง

มานะ  สุวรรณรักษ์ (กองวัตถุมีพิษการเกษตร กรมวิชาการเกษตร)

คำนำ

ประเทศไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ด้วยผลไม้นานาชนิด ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกสู่ตลาดให้ซื้อหาบริโภคได้ตลอดทั้งปี

มะม่วงเป็นพืชที่ปลูกกันมากที่สุดทั้งในรูปแบบเพื่อบริโภคเองและการค้า โดยบางบ้านที่พอมีเนื้อที่ว่างอยู่บ้างก็จะปลูกมะม่วง ๑-๒ ต้น หรือมากกว่านั้น เพื่อไว้บริโภคเอง สำหรับมะม่วงที่ปลูกเป็นการค้ามีพื้นที่ที่ปลูกทุกภาคของประเทศรวมกันแล้วถึง ๑,๐๓๘,๔๒๙ ไร่ แหล่งปลูกที่สำคัญคือ ฉะเชิงเทรา สระบุรี ราชบุรี นครปฐม และจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผลไม้อีกประเภทคือส้ม ซึ่งมีทั้งส้มโอ และส้มเขียวหวาน ส้มโอเป็นผลไม้ที่สามารถเก็บไว้ได้นานจึงคาดว่ามีอนาคตการส่งออกที่ดีมาก พื้นที่ปลูกจึงเพิ่มมากขึ้นทุกปี หรือประมาณ ๗๘,๒๖๑ ไร่ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘/๒๙ แหล่งปลูกที่สำคัญคือจังหวัด นครปฐม ชัยนาท ปราจีนบุรี ฯลฯ

สำหรับส้มเขียวหวานเป็นผลไม้ที่มีคุณค่าสูงทางโภชนาการ ทำให้ความต้องการส้มเขียวหวานมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ แหล่งปลูกสำคัญคือ จังหวัดปทุมธานี มีพื้นที่ปลูก ๙๒,๒๙๕ ไร่ ให้ผลผลิต ๒๔,๑๗๗ ต้น เป้าหมายการผลิตทั้งประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๖ กำหนดเป้าหมายว่าในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ จะมีพื้นที่ปลูกส้มเขียวหวานถึง ๓๐๙,๘๕๘ ไร่

การทำสวนผลไม้ดังกล่าว จะต้องดูแลรักษาให้ไม้ผลออกดอกติดผลตามกำหนดช่วงอายุ ปัญหาสำคัญของชาวสวนคือ การป้องกันและกำจัดโรคแมลงศัตรูพืช ซึ่งมีอยู่มากมายหลายชนิด โดยที่เกษตรกรไม่อาจหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นการใช้สารกำจัดศัตรูพืช เพราะเห็นผลเร็วและได้ผลคุ้มค่า ปัจจุบันชาวสวนใช้สารกำจัดศัตรูพืชกันมากจนอาจกล่าวได้ว่าเกินความจำเป็น ทำให้แมลงบางชนิดสร้างความต้านทาน ต้องเปลี่ยนชนิดของสารและเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้น เพื่อให้พิษการกำจัดมีมากขึ้น เหล่านี้ล้วนเป็นการสะสมพิษให้กับธรรมชาติ โดยเฉพาะมนุษย์และสัตว์ที่อยู่ในแหล่งปลูก ต้องแปดเปื้อนกับพิษของสารกำจัดศัตรูพืชอยู่ทุกวัน ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม

การแสวงหาแนวทางเพื่อลดการใช้สารที่มีพิษร้ายแรงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องโดยเฉพาะตัวเกษตรกรเองควรให้ความสนใจศึกษาหาความรู้

ผลกระทบของสารกำจัดศัตรูพืชที่มีต่อการทำสวนแบบยกร่อง

รูปแบบการสร้างสวนในประเทศไทยมี ๒ แบบ คือ

๑.  การทำสวนแบบที่ดอนหรือปลูกแบบสภาพไร่ เช่น สวนทางภาคอีสาน ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคใต้

๒.  การทำสวนแบบที่สอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำสวนในที่ลุ่มภาคกลาง มีการยกร่อง ขนาดร่องปลูกกว้าง ๕-๖ เมตร ความยาวแล้วแต่พื้นที่สวน อาจจะยาว ๓๐-๔๐-๑๐๐ เมตร หรือมากกว่า ร่องปลูกล้อมรอบด้วยร่องน้ำขนาดกว้างประมาณ ๒ เมตร น้ำในร่องจะมีแทบตลอดปี ยกเว้นช่วงที่ทำการลอกท้องร่องต้องระบายน้ำร่องน้ำนั้นใช้ประโยชน์ได้หลายประการ เช่น เลี้ยงปลา หรือบางแห่งอาจเลี้ยงกุ้งเพื่อบริโภคในครัวเรือน หรือขายเพิ่มรายได้

การทำสวนแบบยกร่อง จะพบเห็นในแหล่งปลูกรอบ ๆ และไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร เช่น จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร และราชบุรี ชาวสวนในพื้นที่เหล่านี้ส่วนมากอาศัยน้ำจากคูคลองซึ่งมักเชื่อมโยงถึงกันกับร่องน้ำในสวน

ถ้าไม่มีการระมัดระวังเกี่ยวกับสารกำจัดศัตรูพืชที่ถูกชะล้างลงไปในน้ำและเกิดการสะสมพิษในร่างกายจนถึงจุดที่ร่างกายไม่อาจทนทานได้ซึ่งอาจจะปรากฎอาการโรคต่าง ๆ ที่เป็นผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตมนุษย์

สำหรับสัตว์เลี้ยงเช่น ปลา กุ้ง ก็ได้รับอันตรายจากสารกำจัดศัตรูพืชด้วยเช่นกัน พิษจะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณและประเภทของสารประกอบนั้น ๆ

ปัญหาที่เกิดและแนวทางแก้ไข

ผลกระทบต่อการใช้สารกำจัดศัตรูพืชผิดประเภทและเกินความจำเป็นจนเกิดปรากฎการณ์หลายอย่าง โดยเฉพาะผลกระทบที่ทำให้สิ่งแวดล้อมเสีย เกษตรกรขาดภูมิต้านทานโรค เจ็บป่วยเป็นประจำ ทำให้ประชาชนทั่วไปเริ่มตระหนักถึงพิษภัยอันตราย

ผู้เขียนได้มีโอกาสพบปะสนทนากับเกษตรกรผู้ทำสวนผลไม้แบบยกร่องในแถบรอบ ๆ กรุงเทพมหานคร ชาวสวนมักปรารภเสมอว่า เมื่อมีการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชคราวใดมักทำให้ปลาในท้องร่องตายลอยเป็นแพอยู่เสมอ ๆ ควรจะทำอย่างไรจึงจะปลอดภัยต่อปลา และหากปลาไม่ตายจะรู้ได้อย่างไรว่าปลานั้นจะนำมาบริโภคได้

ทำไมชาวสวนจึงวิตกกังวลมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ คำตอบก็คือว่า ผลพลอยได้จากการเลี้ยงปลาในท้องร่องสามารถนำมาเป็นค่าบำรุงรักษาต้นไม้ได้อย่างดีทีเดียว

ในแต่ละปีชาวสวนต้องลอกท้องร่องหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เพื่อเอาดินและปุ๋ยที่ถูกชะล้างลงไปในท้องร่องกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก ดินเลนในท้องร่องมีประโยชน์เป็นปุ๋ยเสริมบำรุงดิน ต้นไม้เจริญงอกงามออกดอกให้ผลในปีต่อไป ค่าลอกท้องร่องไร่ละประมาณ ๒,๐๐๐ บาท

ชาวสวนมะม่วงบางรายซึ่งปลูกแบบยกร่อง รู้จักเลือกใช้สารกำจัดแมลงและโรคที่ปลอดภัยต่อปลา ทำให้สามารถขายปลาได้เงินพอเพียงเป็นค่าบำรุงรักษาสวนตลอดทั้งปี จากการดูแลอย่างดีจะสามารถขายผลผลิตมะม่วงทั้งในและนอกฤดูเป็นรายได้สุทธิเกินกว่าไร่ละ ๓๐,๐๐๐ บาท ความสำเร็จเกิดจากเกษตรกรเหล่านี้มีความรู้เกี่ยวกับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนในการกระตุ้นการออกดอก โดยเฉพาะสารกำจัดศัตรูพืชจะใช้เท่าที่จำเป็นและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เลือกใช้เฉพาะสารกำจัดศัตรูพืชที่มีพิษน้อยต่อคนและสัตว์ เช่น พวกที่มีแอลดี ๕๐ (LD 50) เป็นตัวเลขสูง ๆ จะปลอดภัย

การพ่นสารกำจัดแมลงและสารป้องกันกำจัดโรค(สารป้องกันเชื้อรา)ของมะม่วง

การพ่นสารกำจัดแมลงและป้องกันกำจัดโรคของมะม่วงควรคำนึงถึงช่วงการเจริญเติบโตของมะม่วงในรอบปี ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

ระยะที่ ๑. มะม่วงแตกใบอ่อน

ใช้คาร์บาริล มีชื่อการค้าว่าเซฟวิน ๘๕ คาร์โบน๊อก ๘๕ เอสวิน ๘๕ อัตรา ๖๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตร

การป้องกันกำจัดเชื้อรา  ได้มีผู้ทดลองใช้กำมะถันผงอัตรา ๒๐-๓๐ กรัม ผสมน้ำ ๒๐ ลิต พบว่าสามารถป้องกันโรคพืชและกำจัดพวกแมงมุมเช่นเดียวกับบอร์โดมิกซ์เจอร์ ซึ่งป้องกันโรคได้กว้างขวางหลายชนิดและยังไล่แมลงได้ แต่บอร์โดมิกซ์เจอร์ค่อนข้างไม่ปลอดภัยต่อปลาในร่องน้ำ

ระยะที่ ๒. ใบอ่อนเจริญเต็มที่ เป็นช่วงที่อาจมีหนอนปลอก ด้วงงวงกัดใบ หนอนผีเสื้อ ด้วยปีกแข็ง

ใช้คาร์บาริล ๖๐ กรัมผลมน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นให้ทั่ว ถ้ามีโรคยางไหลใช้เบโนมิล ชื่อการค้า เบนเลท และฟันดาโซล ผสมน้ำให้ข้นใช้ป้ายแผลที่เฉือนหรือจะใช้บอร์โดมิกซ์เจอร์ผสมข้น ๆ ป้ายก็ได้และมีราคาถูกกว่าเบโนมิล

ระยะที่ ๓. เริ่มแตกตาดอก  จะมีเพลี้ยจักจั่น เพลี้ยไฟ หนอนเจาะยอด

ใช้คาร์โบซัลแฟน ชื่อการค้าว่าพอสซ์ อัตรา ๓๐-๕๐ ซีซีต่อน้ำ ๒๐ ลิตร หากมีเพลี้ยไฟควรพ่นซ้ำห่างกัน ๗-๑๐ วัน สารกำจัดแมลงชนิดนี้ถ้าละอองถูกตัวปลาจะทำให้ปลาตายได้ ดังนั้นร่องน้ำที่ตื้นระบายน้ำไม่ได้ต้องระมัดระวังหรือไม่ควรใช้ แต่ถ้าร่องน้ำลึกกว้างถ่ายเทน้ำได้ จะปลอดภัยกว่า

ระยะที่ ๔ ผลมะม่วงโตขนาดปานกลาง  อาจจะพบเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง แมลงวันผลไม้ เพลี้ยไฟ เพลี้ยจักจั่น

ใช้คาร์บาริล ๖๐ กรัมต่อน้ำ ๒๐ ลิตรพ่น การป้องกันโรคควรใช้กำมะถันผงชนิดละลายน้ำ หรือใช้โปรปิเน็บอัตรา ๔๐ กรัมผสมน้ำ ๒๐ ลิตร พ่นทุก ๗-๑๐ วัน

โรคแมลงศัตรูส้มและการพ่นสารกำจัดศัตรูส้ม

แหล่งปลูกส้มขนาดใหญ่ ที่มีการปลูกแบบยกร่องอยู่ในท้องที่จังหวัดปทุมธานี ไม่ว่าจะเป็นส้มเขียวหวานหรือส้มโอ ขณะที่ต้นส้มยังเล็กต้องหมั่นคอยดูแลรักษาให้น้ำ ตรวจตราการทำลายของโรคแมลง เมื่อปรากฎการระบาดก็จะได้ทำการป้องกันและกำจัดได้อย่างทันเวลา ปริมาณการใช้สารกำจัดแมลงในระยะแรก ๆ จะใช้น้อยกว่าเมื่อส้มเริ่มติดดอกออกผลแล้ว เช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ เกษตรกรจะต้องศึกษารายละเอียดของสารกำจัดศัตรูพืชและชนิดโดยคำนึงถึงความปลอดภัยตัวเกษตรกรเองและสัตว์น้ำในท้องร่องสวน

สำหรับข้อแนะนำเกี่ยวกับโรคแมลงศัตรูส้มและการพ่นสารกำจัดมีดังนี้

๑. แมลงศัตรูส้มมีหลายชนิด เช่น หนอนชอนใบ หนอนเจาะลำต้น มวนหวาน หนอนเจาะผลและเพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง

ใช้คาร์บาริล อัตรา ๖๐ กรัมผสมน้ำ ๒๐ ลิตรเพื่อกำจัดมวนหวาน และใช้คาร์โบซัลแฟนเพื่อกำจัดหนอนชอนใบ สารกำจัดแมลงทั้ง ๒ ชนิดอยู่ในกลุ่มคาร์บาเมท แมลงสร้างความต้านทานช้า มีอันตรายน้อยกว่าสารกำจัดแมลงชนิดอื่น ๆ เช่น เมโธมิล ซึ่งมีชื่อการค้าว่าแลนเนท เมธาวิน นิวดริน ฯลฯ

๒. โรคสำคัญของส้ม  เช่น โรคแอนแทรกโนส โรคแคงเคอร์(โรคขี้กลาก) โรคใบร่วง โรคผลเน่า และโรคแคงเคอร์ของลำต้น และโรคราอื่น ๆ

เกษตรกรควรขยันตรวจตราดูแลรักษาความสะอาดบริเวณต้นส้ม ตัดแต่งกิ่งให้ถูกวิธี กิ่งก้านใดมีอาการเป็นโรคต้องตัดทิ้งและเผาให้หมด ผลส้มที่ร่วงหล่นต้องเก็บเผาหรือฝังทำลายให้หมดโดยเร็ว ให้น้ำและปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอและพอเพียงกับความต้องการของต้นส้ม

เกษตรกรต้องขวนขวายศึกษาเรียนรู้ด้วยการสังเกตอาการโรคอย่างละเอียด และป้องกันให้ถูกวิธี จะทำให้ลดปริมาณการใช้สารป้องกันโรคและเชื้อราได้อย่างมากอย่างไรก็ตามการปลูกส้มก็หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ต้องมีการใช้สารเคมีป้องกันโรค ซึ่งก็ควรเลือกใช้ประเภทที่มีความเป็นพิษต่ำ ๆ

สำหรับโรคแคงเคอร์หรือโรคขี้กลากส้ม รวมทั้งโรคราอื่น ๆ ใช้ค๊อปเปอร์อ๊อกซี่คลอไรด์ ชื่อการค้าว่าคูปราวิต อัตรา ๒๐-๓๐ กรัม ผสมน้ำ ๒๐ ลิตร ถ้าเป็นโรคเน่าใช้จุนสี ๒๐ กรัม + ปูนขาว ๒๐ กรัม ผสมน้ำ ๑ ลิตรทาแผล

การพ่นสารกำจัดโรคแมลงนั้นช่วงที่ต้นส้มมีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ต้องใช้ปริมาณสารเคมีมากขึ้นจึงจะพ่นคลุมได้ทั่วถึง โอกาสที่น้ำยาจะถูกชะพาลงสู่ร่องน้ำย่อมเป็นไปได้มาก จึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพื่อลดอันตรายที่จะทำให้เกิดพิษต่อปลา

อาจจะเปลี่ยนไปใช้สารสกัดจากพืชที่มีคุณสมบัติไล่แมลงหรือไม่เป็นที่พึงปรารถนาของแมลง เช่น น้ำสกัดจากตะไคร้หอม ข่าแก่ และใบสะเดา

มีข่าวทางโทรทัศน์เมื่อไม่นานมานี้ว่า เกษตรกรผู้ปลูกส้ม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานีใช้ใบสะเดาแก่ ตะไคร้หอม และข่าแก่ อย่างละ ๔ กิโลกรัม เข้าเครื่องบดแช่น้ำ ๔๐ ลิตร(๒ ปีบ) ทิ้งไว้ ๑ คืน กรองกากออก น้ำที่ได้จะมีความเข้มข้นเรียกว่าน้ำหัวเชื้อ นำไปผสมน้ำอัตราส่วน ๑:๗๐ ผสมสารจับใบ พ่นทุก ๗ วัน จะป้องกันหนอนชอนใบและหนอนเจาะลำต้นส้ม นับเป็นวิธีปฏิบัติที่ดีและสามารถลดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัด

ผู้เขียนมีความเห็นว่าถ้าจะให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ ในแต่ละแหล่งปลูก ทุกสวนต้องปฏิบัติพร้อม ๆ กัน พืชแต่ละอย่างควรแยกหมักต่างหากไม่ควรหมักรวมกัน สัดส่วนที่ผสมจะใช้ความเข้มข้นเท่าใดชาวสวนควรใช้ความสังเกตด้วยตนเอง ขั้นแรกให้ใช้ความเข้มข้นต่ำก่อน เมื่อพ่นแล้วมีแมลงรบกวนมากน้อยเพียงใดจึงค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้น

จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำงานด้านวิเคราะห์วัตถุมีพิษและคลุกคลีกับการใช้สารกำจัดศัตรูพืชมาเป็นเวลานาน มีความเห็นว่า สารกำจัดแมลงเอ็นโดซัลแฟนชื่อการค้า ธีโอดาน และซัลฟูดาน สารในกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟต เช่น เมวินฟอส ชื่อการค้า ฟอสดริน ทานาฟอน ฯลฯ รวมทั้งไดโครโตฟอส ชื่อการค้า ไบดริน สารเหล่านี้มีความเป็นพิษรุนแรงต่อคนและสัตว์ และพบว่าถ้าพ่นลงในน้ำจะเป็นอันตรายต่อปลา ส่วนไซเพอร์เมทริน ชื่อการค้าริพคอร์ด ซิมบุช มาแต็ง แม้จะมีค่าความเป็นพิษน้อย แต่ก็ต้องระมัดระวังเพราะเป็นอันตรายต่อปลาเช่นกัน

การเลือกใช้สารกำจัดวัชพืช

ปัจจุบันชาวสวนนิยมใช้สารกำจัดวัชพืชอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีประสิทธิภาพการกำจัดดีกว่าการใช้แรงงาน โดยเฉพาะวัชพืชหลายฤดูเช่น หญ้าคา หญ้าชันกาด และวัชพืชฤดูเดียวอีกหลายชนิด

สารกำจัดวัชพืชที่แนะนำให้ใช้ในสวนผลไม้ทั่วไปมีหลายชนิด เช่น

–         ไกลโฟเสท ชือการค้า ราวด์อัพ คลีนอัพ คาวบอย สป๊าก ฯลฯ

–         พาราขวัท ชื่อการค้า กรัมม๊อกโซน กล๊าซโซน ฯลฯ

–         กลูโฟสิเนต แอมมอเนียม ชื่อการค้า บาสต้า

–         ไดยูรอน ชื่อการค้า คาร์แมกซ์ ไดร๊อกซ์ ๘๐ ยูริส รอนฟิกซ์ วาแทกซ์ ๘๐ สัมมิรอน ฯลฯ

–         อ๊อกซีฟลูออร์เฟน ชื่อการค้า โกล ๒ อี

–         แอทราซิน ชื่อการค้า เกสาพริม เมบาซิน ฯลฯ

การควบคุมวัชพืชในสวนผลไม้ ในฤดูฝนวัชพืชเจริญเติบโตรวดเร็ว ถ้าจะใช้เครื่องยนต์แบบสะพายหลังหรือใช้แรงงานคนตัดก็ต้องทำบ่อยครั้ง บางช่วงที่ลงไปปฏิบัติงานไม่ได้ เพราะฝนตกหนัก สภาพเช่นนี้สารกำจัดวัชพืชจะมีประโยชน์มากกว่า

การเลือกชนิดของสารกำจัดวัชพืชใช้ในสวนแบบยกร่องจะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยต่อสัตว์น้ำในท้องร่อง ควรเลือกชนิดที่ระบุว่าไม่เป็นอันตรายต่อปลา เช่น ไกลโฟเสท เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทพ่นไปที่ใบวัชพืช แล้วฤทธิ์จะถูกดูดเข้าไปทำลายต้นวัชพืช และส่วนของต้นหรือหัวใต้ดิน จึงใช้กำจัดหญ้าคาและหญ้าซันกาดได้ดี แนะนำให้ใช้ไกลโฟเสทกำจัดวัชพืชน้ำประเภทที่ชูต้นและใบอยู่เหนือผิวน้ำ เช่น ผักตบชวา จะถูกดูดยึดโดยอนุภาคของดิน มีความปลอดภัยต่อปลาและสัตว์น้ำ แต่ก็ไม่ควรจะพ่นให้ลงบนผิวน้ำ ควรพ่นโดยตรงไปที่วัชพืช และใช้หัวพ่นที่ใช้ปริมาณน้ำไร่ละ ๔๐-๖๐ ลิตร

พาราขวัท  เป็นสารกำจัดวัชพืชที่ระบุว่ามีความเป็นพิษต่อปลาน้อยมาก สามารถถูกดูดยึดโดยอนุภาคดิน จะเสื่อมฤทธิ์ ถ้าผสมกับน้ำขุ่น ๆ หรือน้ำที่มีตะกอน

กลูโฟสิเนต แอมมอเนียม เป็นสารกำจัดวัชพืชค่อนข้างใหม่ที่เกษตรกรกำลังนิยมใช้เพราะเห็นผลเร็วกว่าไกลโฟเสท แต่ประสิทธิภาพการกำจัดหญ้าคาจะด้อยกว่ากำจัดวัชพืชใบกว้างได้ดี ไม่เป็นอันตรายต่อปลา

ไดยูรอน  เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทใช้ก่อนวัชพืชงอกหรือวัชพืชเพิ่งจะเริ่มงอก ความสามารถละลายน้ำได้น้อยถูกชะล้างได้ค่อนข้างยาก จึงมักอยู่ติดผิวหน้าดินในระดับไม่เกิน ๑ นิ้ว ไม่พบรายงานว่าทำให้เกิดเป็นพิษต่อปลา

อ๊อกซิฟลูออร์เฟน  เป็นสารกำจัดวัชพืชประเภทใช้ก่อนวัชพืชงอก โดยมากแนะนำให้ผสมกับพาราขวัท เพื่อผลในการคุมการงอกของเมล็ดวัชพืช ถ้าจะนำมาใช้กับสวนปลูกแบบยกร่อง ต้องระมัดระวังเพราะเป็นอันตรายต่อปลา

อนึ่ง  ชาวสวนผลไม้ไม่ควรนำสารกำจัดวัชพืช ๒, ๔-ดี ไปใช้อย่างเด็ดขาด เพราะมีความเป็นพิษรุนแรงกับพืชปลูก สำหรับดาลาพอน แม้ว่าจะกำจัดหญ้าคาได้ดีแต่ก็ถูกชะล้างได้ง่าย จึงไม่ควรนำไปใช้กำจัดวัชพืชในบริเวณโคนต้นหรือรัศมีรากพืช เพราะรากพืชปลูกจะดูดน้ำยาไปสะสมไว้ในต้นจนเป็นพิษในภายหน้าได้

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการพ่นสารกำจัดศัตรูพืช

๑.  สารกำจัดแมลงและโรค ควรใช้เครื่องพ่นแยกต่างหากจากเครื่องพ่นสารกำจัดวัชพืช

๒.  ช่วงที่ต้นไม้ผลมีขนาดเล็ก การพ่นสารกำจัดแมลงและโรคควรใช้เครื่องพ่นแบบสะพายหลังและโยกด้วยมือจะดีกว่าการใช้เครื่องพ่นแบบเครื่องยนต์ เพราะจะช่วยลดการฟุ้งกระจายของสารเหล่านี้

๓.  ไม่ควรผสมสารกำจัดศัตรูพืชหลายชนิด เพื่อพ่นในคราวเดียวกัน เช่น ผสมปุ๋ยยูเรียร่วมกับสารกำจัดแมลงหรือสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการกำจัดลดลง ไม่ควรผสมสารกำจัดไร แมงมุมและโรคพืชร่วมกับฮอร์โมนพืชในถังผสมยาเดียวกัน ทำให้เกิดปฏิกิริยาขัดแย้ง สารบางอย่างอาจหมดสภาพการทำลายโรคแมลง ทำให้การกำจัดไม่ได้ผล เกิดการสะสม สารกำจัดโรคแมลงเป็นอันตรายต่อปลาในร่องน้ำ

๔.  ควรปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากข้างภาชนะบรรจุอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ปริมาณเกินอัตราที่กำหนด เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อพืชปลูกและมีพิษสะสมในพืชผลมากเกินไป โดยเฉพาะจะถูกชะพาลงในร่องน้ำเป็นอันตรายต่อปลา

๕.  หลังจากเสร็จการพ่นสารกำจัดศัตรูพืชแล้วควรละเว้นการล้างภาชนะและอุปกรณ์การพ่นสารในร่องน้ำ ควรจัดหาที่ทิ้งน้ำเปื้อนสารเหล่านี้ให้ห่างไกล และทำความสะอาดเครื่องมือทุกครั้งหลังปฏิบัติงานเสร็จ

๖.  ควรสวมใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด มีหน้ากาก สวมรองเท้าเพื่อป้องกันสารเคมีสัมผัสร่างกายผู้ปฏิบัติงาน

สรุป

ปัญหาสำคัญในการป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะในสวนมะม่วงและสวนส้มที่ปลูกแบบยกร่อง ซึ่งเกษตรกรเจ้าของสวนสามารถหารายได้จากการเลี้ยงสัตว์น้ำในร่องสวน เมื่อขาดความรู้ความเข้าใจและขาดการแนะนำจากผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์จึงมักปรากฎความเสียหายอยู่เสมอ

เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับข้อมูลวิธีใช้สารกำจัดวัชพืชจากร้านค้าผู้ขายผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็ไม่ค่อยมีความรู้อย่างถูกต้องเช่นกัน บางแห่งก็ขายผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพปริมาณและชนิดไม่ตรงกับระบุในฉลาก

ผู้เขียนได้เคยมีส่วนรับรู้และต้องตรวจวิเคราะห์สารกำจัดศัตรูพืชปลอม ทำให้พืชปลูกตายเกิดการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และผู้เขียนต้องไปเป็นพยานในศาลเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเรียกร้องความยุติธรรมนับว่ายังเป็นโชคของเกษตรกรที่ผลการตรวจวิเคราะห์สามารถยืนยันข้อเท็จจริงจนทำให้เจ้าของผลิตภัณฑ์ต้องชดใช้ค่าเสียหาย ซึ่งบางคดีมีมูลค่านับล้านบาท

ดังนั้น การรู้จักเลือกใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกชนิด นอกจากจะเกิดความปลอดภัยต่อพืชปลูก สัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง แล้วยังช่วยเพิ่มพูนรายได้แก่เกษตรกรโดยตรง ประการสำคัญที่สุดคือ เกษตรกรมีสุขภาพดี เพราะสิ่งแวดล้อมไม่เป็นพิษ ปลอดภัยจากการบริโภคอาหารที่ไม่มีสารพิษเจือปน ผลผลิตจากมะม่วงและส้มก็จะเป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศมากยิ่งขึ้น