การป้องกันกำจัดแมลงในพืชตระกูลกะหล่ำ

การลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงในพืชตระกูลกะหล่ำในเขตจังหวัดพิษณุโลก  โดยการใช้สารสกัดจากใบสะเดาผสมข่า

สะเดา

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ เจริญงอกงามในเขตที่มีอากาศร้อนชื้น จัดอยู่ในวงศ์มาเลียซีอี (Meliaceae) แบ่งออกได้ 2 ชนิดคือ สะเดาอินเดีย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยคม โคนใบเบี้ยว ปลายใบเรียวแหลม ออกดอกเป็นช่อเดี่ยว ๆ บริเวณโคนก้านใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม ออกดอกปีละครั้งในเดือนกุมภาพันธุ์ถึงมีนาคม ผลสุกแก่ประมาณเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม สะเดาอีกชนิดคือสะเดาไทย มีใบโตกว่าสะเดาอินเดีย ใบสีเขียวเข้มหนาและทึบขอบใบหยักน้อยกว่าสะเดาอินเดีย ดอกสีขาว ออกดอกเป็นกระจุกตรงส่วนยอด ออกดอกเดือนธันวาคมถึงมกราคม ผลสุกแก่ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พันธุ์ไม้อีกชนิดหนึ่งที่พบทางภาคใต้มีลักษณะใกล้เคียงกับสะเดาไทยเรียกว่าสะเดาช้างหรือไม้เทียม มีใบย่อยรูปหอก แก้มใบมน ปลายใบค่อนข้างแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย สีเขียวเป็นมัน ดอกเป็นช่อยาว 20-46 เซนติเมตรสีขาวอมเขียวอ่อน  ออกดอกเดือนมีนาคม  ผลสุกแก่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน สะเดาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้สามารถนำส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ใบ เมล็ดใน มาทำการสกัดให้อยู่ในรูปสารละลายเพื่อใช้ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด

ข่า

เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 2-2.5 เมตร  มีลำต้นใต้ดินเรียกว่าเหง้า มีข้อปล้องเห็นได้ชัด ใบเป็นใบเดี่ยวสลับกัน แผ่นใบเป็นรูปหยักปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร  ออกดอกเป็นช่อที่ยอดยาว 15-30 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็กจำนวนมาก ผลกลม หรือรี สีแดงส้ม เมื่อแก่จัดมีสีดำ

องค์ประกอบที่มีคุณสมบัติในการป้องกันกำจัดแมลงในสะเดาและข่า

สะเดาเป็นพืชหนึ่งที่สามารถนำสารสกัดมาใช้ประโยชน์ในเชิงอุตสาหกรรมและใช้ควบคู่แมลงศัตรูพืช มีสารที่สำคัญคือ อะซาดิแรคติน (azadirachtin) ที่มีผลต่อแมลงหลายด้านเช่นลดปริมาณการกินอาหาร ยับยั้งการลอกคราบ มีขบวนการเจริญเติบโตที่ผิดปกติหรือไปมีผลลดลง  โดยทั่วไปแมลงเกือบทุกชนิดจะตอบสนองต่อสารนี้มากที่สุดในระยะที่มีการเปลี่ยนจากตัวอ่อนไปเป็นดักแด้  ประสิทธิภาพของสารสกัดจากสะเดาขึ้นอยู่กับปริมาณและชนิดของลิโมนอยด์(limonoids) ซึ่งเป็นสารทุติยภูมิ (secondary metabolite)ของสะเดา ลิโมนอยด์ที่พบในสะเดาเช่นอะซาดิแรคติน ซาลานิน (salanin) และนิมบิน (nimbin) ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐานทางเคมีคล้ายกัน ส่วนประกอบเหล่านี้พบได้ในทุกส่วนของสะเดา  แต่มีความเข้มข้นสูงที่เมล็ดซึ่งเป็นไปได้ที่สารสกัดที่เตรียมขึ้นมาใช้กันนั้น มีการเปลี่ยนรูปกันไปมาระหว่างกลุ่มลิโมนอยด์ จึงเป็นผลให้สารสกัดจากใบสะเดาที่พบว่ามีอะซาดิแรคตินในปริมาณน้อย มีประสิทธิภาพควบคุมแมลงศัตรูกะหล่ำเท่าเทียมกับสารสกัดจากเมล็ด  ในขณะที่ข่าพบสารออกฤทธิ์ที่มีคุณสมบัติในการไล่แมลง และการใช้สารสกัดจากเหง้าข่าที่ความเข้มข้นสูง ๆ มีผลกำจัดหนอนได้เช่น หนอนกระทู้ผัก

จากคุณสมบัติที่ดีดังกล่าวได้มีการนำสารสกัดจากเมล็ดสะเดามาใช้ประโยชน์ควบคุมแมลงศัตรูพืชได้หลายชนิด  แต่เนื่องจากเกษตรกรสามารถหาเมล็ดได้เพียงฤดูเดียวใน 1 ปี ในปริมาณจำกัด เก็บเมล็ดไว้ได้ไม่นาน คณะผู้วิจัยจึงดำเนินการทดลองใช้สารสกัดจากใบสะเดา เพื่อควบคุมแมลงศัตรูพืชตระกูลกะหล่ำ  โดยมีพืชเป้าหมายคือผักคะน้าและกวางตุ้ง ซึ่งจัดว่าเป็นพืชผักเศรษฐกิจของเกษตรกร ต.บึงพระ อ.เมือง จ.พิษณุโลก

เริ่มทำการทดลองโดยมีสิ่งทดลอง 5 วิธีการคือ สารสกัดจากใบสะเดาด้วยแอลกอฮอล์ความเข้มข้น 10℅ และสารสกัดจากใบสะเดาผสมข่าด้วยแอลกอฮอล์ 10℅+5℅เปรียบเทียบกับการสกัดสะเดาสำเร็จรูป สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่เกษตรกรนิยมใช้และแปลงควบคุมที่พ่นด้วยน้ำเปล่า ทำการทดลองในแปลงเกษตรกรทั้ง 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูร้อน และฤดูฝน(เดือนตุลาคม 2536-กันยายน 2537) ซึ่งสรุปการทดลองได้ดังนี้

ผักคะน้า

1.  ปริมาณหนอนใยผักในฤดูหนาวและฤดูร้อนมีปริมาณหนอนใยผักจากทุกวิธีไม่มีความแตกต่างกัน แต่ในฤดูฝนการใช้สารสกัดจากใบสะเดา ใบสะเดาผสมข่า สารสกัดสะเดาสำเร็จรูป และสารเคมีป้องกันกำจัดแมลง มีประมาณหนอนใยผักไม่มีความแตกต่างกัน (พบจำนวน 1-4 ตัวต่อ 10 ต้น) การพ่นด้วยน้ำเปล่ามีหนอนใยผักมากที่สุดคือ 13 ตัวต่อ 10 ต้น

2.  ผลผลิตคะน้าในฤดูหนาวจากการใช้สารสกัดจากใบสะเดาผสมข่า ในฤดูร้อนและฤดูฝนทั้งจากการใช้สารสกัดใบสะเดา ใบสะเดาผสมข่าเพื่อควบคุมแมลงศัตรูคะน้าส่งผลให้ผลผลิตคะน้าสูงกว่าการใช้สารสะกัดสะเดาสำเร็จรูป และการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง

3.  น้ำหนักต้นในฤดูหนาว จากการใช้สารสกัดจากใบสะเดาผสมข่ามีค่าสูงสุด ไม่มีความแตกต่างจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง  การใช้สารสกัดจากใบสะเดาและสารสกัดสะเดาสำเร็จรูปในผลรองลงมา  น้ำหนักต้นในฤดูร้อนและฤดูฝนในทุกวิธีการไม่มีความแตกต่างกัน

4.  คุณภาพผักในฤดูหนาวจากการใช้สารสกัดใบสะเดาผสมข่า และการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงมีคุณภาพผักดีที่สุด รองลงไปได้แก่การใช้สารสกัดจากใบสะเดา และสารสกัดสะเดาสำเร็จรูป ในฤดูร้อนคุณภาพผักจากทุกวิธีการไม่แตกต่างกัน ในฤดูฝนการใช้สารสกัดใบสะเดาผสมข่า การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงมีคุณภาพผักดีไม่แตกต่างกัน การใช้สารสกัดสะเดาสำเร็จรูปและสารสกัดใบสะเดามีคุณภาพผักรองลงมา การพ่นด้วยน้ำเปล่ามีคุณภาพผักต่ำ

ผักกวางตุ้ง

1.  ปริมาณด้วงหมัดผักในฤดูหนาวจากการใช้สารสกัดจากใบสะเดาผสมข่า และสารสกัดจากใบสะเดามีด้วงหมัดผักจำนวนน้อยเท่ากับ 14 และ 17 ตัวต่อ 10 ต้น ไม่มีความแตกต่าง จากการใช้สารสกัดสะเดาสำเร็จรูปและการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงที่พบ 19 และ 22 ตัว ต่อ 10 ต้น การพ่นด้วยน้ำเปล่ามีด้วงหมัดผักมากที่สุด 28 ตัวต่อ 10 ต้น ในฤดูร้อนและฤดูฝนทุกวิธีการไม่มีความแตกต่างกัน

2.  ผลผลิตของกวางตุ้งทั้ง 3 ฤดูในทุกวิธีไม่มีความแตกต่างกัน

3.  น้ำหนักต้นของกวางตุ้งทั้งฤดูหนาวและฤดูร้อนในทุกวิธีไม่มีความแตกต่างกัน ส่วนในฤดูฝน  การใช้สารสกัดใบสะเดาผสมข่า  การใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงและสารสกัดจากใบสะเดามีน้ำหนักต้นสูงกว่าการใช้สารสกัดสะเดาสำเร็จรูปและการพ่นด้วยน้ำเปล่า

4.  คุณภาพผักกวางตุ้งในฤดูหนาวและฤดูร้อนจากการใช้สารป้องกันกำจัดแมลงทุกวิธี การไม่มีความแตกต่างกัน การพ่นด้วยน้ำเปล่ามีคุณภาพผักต่ำที่สุด ในฤดูฝนการใช้สารสกัดจากใบสะเดาผสมข่า สารเคมีป้องกันกำจัดแมลง สารสกัดจากใบสะเดามีคุณภาพผักดี ไม่มีความแตกต่างกัน  การใช้สารสกัดสะเดาสำเร็จรูปและการพ่นด้วยน้ำเปล่ามีคุณภาพผักต่ำ

จากปริมาณหนอนใยผักในคะน้า ด้วงหมัดผักในกวางตุ้ง ผลผลิตและคุณภาพผักเห็นได้ว่าการใช้สารสกัดจากใบสะเดาทั้งในรูปเดี่ยวและผสมข่ามีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการใช้สารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้ จากผลการทดลองดังกล่าวสามารถใช้เป็นแนวทางให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติในแปลงปลูกได้เพื่อชดเชยการใช้สารสกัดจากเมล็ดสะเดาที่มีข้อจำกัดเรื่องปริมาณ และสามารถผลิตได้เองเมื่อต้องการใช้  เพราะสามารถหาใบสะเดาได้ตลอดทั้งปี อันจะเป็นการลดปริมาณการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดแมลงศัตรูพืชต่อไป

พัชราภรณ์  ตั้งมั่น  ทวี  ตระการสุข  ยรรยง  เฉลิมแสน  ประเทือง  สง่าจิตร  อัครเดช  เลิศอร่ามแสง และสมชาติ  หาญวงษา

สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล  วิทยาเขตพิษณุโลก