กุยช่าย:โรคของกุยช่ายและการป้องกันกำจัด

นิตยา  กันหลง  พัน  อินทร์จันทร์  ลักษณา  วรรณภีร์

กลุ่มงานวิจัยโรคพืชผักและไม้ประดับ

กองโรคพืชและจุลชีววิทยา  กรมวิชาการเกษตร

กุยช่าย เป็นพืชตระกูลเดียวกับหอมหัวใหญ่ หอมแดง หอมแบ่ง และกระเทียม ลักษณะลำต้นเป็นต้นเล็กมีใบแบนยาวคล้ายใบกระเทียม มีกลิ่นฉุน ดอกมีลักษณะเหมือนดอกหอม ทางภาคเหนือเรียกกุยช่ายว่าหอมแป้น ส่วนภาคอีสานเรียกว่าผักแป้น กุยช่ายใช้รับประทานเป็นผักสดหรือนำมาปรุงให้สุกเสียก่อน รับประทานได้ทั้งดอก ต้น (ความจริงคือส่วนของใบ) และใบ ดอกกุยช่ายที่นำมาผัดชอบเรียกกันว่า “ผัดไม้กวาด”

กุยช่ายนับว่าเป็นพืชผักสมุนไพรชนิดหนึ่ง เช่น เดียวกับหอมและกระเทียม มีสรรพคุณทางยา เช่น ดอกและต้นใบเป็นผักใส่ในแกงเลียงมีสรรพคุณเป็นยาประสะน้ำนม เมล็ดทำยาขับพยาธิเส้นด้าย ฯลฯ

สำหรับถิ่นฐานดั้งเดิมของพืชชนิดนี้สันนิษฐานจากชื่อที่เรียกและจากคำบอกเล่าต่อๆกันมาว่ามาจากประเทศจีน ในเมืองไทยพบปลูกมากที่ เขตตลิ่งชัน กทม. และ อ.บางกรวย อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี และตามสวนผักในจังหวัดใกล้ๆ กรุงเทพฯ เช่น ที่ จ.ราชบุรี กาญจนบุรี ปทุมธานี และนครปฐม ปัจจุบันกุยช่าย เป็นพืชผักที่ส่งออกไปยังฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ

การปลูกและการตัดใบขาย

กุยช่ายเป็นพืชที่ปลูกง่าย ขึ้นได้ดีทั้งในดินเหนียว ดินร่วน หรือดินร่วนปนทราย มีอายุเก็บเกี่ยวได้หลายปีและนานกว่าพืชผักชนิดอื่น หากได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องจะสามารถตัดต้น ใบ และดอกขายได้นานถึง ๓-๔ ปี ชาวสวนเก็บดอกกุยช่ายวันเว้นวัน ฤดูฝนมีดอกมากแต่ราคาถูก ผิดกับฤดูหนาว ซึ่งได้ราคาดีแต่มีดอกน้อย

การตัดต้นหรือใบขายมี ๒ แบบ คือ

๑.  ตัดต้นเขียวหรือกุยช่ายไช่ฮวย ซึ่งเมื่อตัดรุ่นแรกไปแล้วต้องเว้นระยะเพื่อใส่ปุ๋ยบำรุงรักษาประมาณ ๒ เดือน จึงทำการตัดรุ่นต่อไปได้

๒.  ตัดต้นขาวหรือกุยช่ายแป๊ะ คือหลังจากตัดต้นเขียวไปแล้ว ชาวสวนจะครอบกุยช่ายด้วยกระถางดินเผาทรงสูง เพื่อให้หน่อที่งอกขึ้นมาใหม่มีสีขาวอมเหลือง หน่อชนิดนี้โตเร็วมาก หลังจากครอบกระถางแล้ว ๑๐ วัน ก็ตัดไปขายได้ และขายได้ราคาสูงกว่าต้นเขียว

เมื่อตัดต้นขาวแล้วต้องปล่อยให้เป็นต้นเขียวอีกสัก ๒ รุ่น แล้วจึงทำเป็นต้นขาวได้ เพราะถ้าทำแต่ต้นขาวอาหารที่สะสมไว้จะถูกใช้จนหมด ไม่มีโอกาสสร้างอาหารเพิ่ม ต้นจะอ่อนแอและตายไปในที่สุด

โรคของกุยช่าย

โรคที่สำคัญซึ่งทำให้ผลผลิตกุยช่ายเสียหายและมีคุณภาพต่ำ คือ

๑.  โรคแอนแทรกโนส  หรือโรคใบเน่า โรคนี้ทำความเสียหายกับพืชผักตระกูลหอมกระเทียมทุกชนิด อาการเริ่มแรกที่ใบกุยช่ายจะมีจุดขาวเล็กๆ ซึ่งต่อมาจะขยายใหญ่ขึ้นเป็นรูปรี ตามความยาวของใบเนื้อเยื่อยุบเป็นแอ่ง ต่ำกว่าร่ะดับผิวใบปกติเล็กน้อย บนแผลจะปรากฎเป็นหยดของเหลวสีส้มอมชมพู ซึ่งเมื่อแห้งแล้วจะเป็นก้อนแข็งหรือตุ่มสีดำเล็กๆ เรียงเป็นวงซ้อนกันหลายชั้น ตุ่มสีดำนี้มีสปอร์หรือหน่วยขยายพันธุ์ของเชื้อราจำนวนมากมาย สามารถแพร่ระบาดไปตามลม ฝน หรือน้ำที่รด จากต้นที่เป็นโรคไปยังต้นที่ไม่เป็นโรค ระยะที่ฝนตกชุกจะพบโรคระบาดรุนแรง ใบจะเน่าเสียหาย ทำให้ต้นเน่ายุบตายเป็นหย่อมๆ หรือตายหมดทั้งแปลง

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา หน่วยขยายพันธุ์ หรือสปอร์ของเชื้อรานอกจากแพร่กระจายโดยลม น้ำ และฝนแล้วยังอาศัยอยู่ในเศษซากพืชที่เป็นโรคตายทับถมกันอยู่ในดิน พร้อมที่จะเข้าทำลายต้นพืชได้ทันทีเมื่อมีสภาพแวดล้อมเหมาะสม

การป้องกันกำจัด

๑.  รักษาแปลงปลูกให้สะอาด เก็บเศษซากพืชที่เป็นโรคนำไปเผาทำลายเสีย อย่าปล่อยให้เน่าเปื่อยทับถมอยู่ในแปลงเพราะจะเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคที่สำคัญ เชื้อราสาเหตุโรคสามารถอยู่ข้ามฤดูในเศษซากพืชที่เป็นโรคนี้รอเข้าทำลายพืชครั้งต่อไปเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม

๒.  ควรมีการปลูกพืชสลับ  โดยใช้พืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลหอมกระเทียมมาปลูกหมุนเวียนกับกุยช่ายเพื่อลดพืชอาศัยของเชื้อรา เมื่อกลับมาปลูกกุยช่ายใหม่จะได้ผลดียิ่งขึ้น

๓.  ควรมีการปรับปรุงดินให้มีสภาพดีขึ้น โดยการใส่ปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เป็นต้น

๔.  รักษาต้นใบที่ยังไม่เป็นโรคให้ปลอดภัยจากการเข้าทำลาย โดยการพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช คือ คาร์เบนดาซิม มีชื่อการค้าหลายชนิด เช่น เบนเลท ๗๕ ซี เดอโรซาล บาวีซาน บาวีสติน มัยซิน ฯลฯ มาเน็บ หรือชื่อการค้าว่าแมนเซด-ดี

สารโปรคลอรัส-แมงกานีส  ซึ่งมีชื่อการค้าว่า ออคเทฟ เป็นสารเคมีที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันกำจัด มีราคาแพงมาก

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ติดต่อกันนาน ๆ อาจเกิดการดื้อยาในพืชได้ จึงควรพ่นสลับกับมาเน็บ โดยพ่นโปรคลอรัส-แมงกานีส เมื่อโรคระบาดรุนแรงมาก ๆ พ่นเพียง ๑-๒ ครั้ง พอโรคทุเลาแล้วให้พ่นสลับด้วยมาเน็บ สัก ๒-๓ ครั้ง ทำเช่นนี้หมุนเวียนกันไปจะลดการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงที่ฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชควรงดการเก็บผลผลิตไปขายตลาด

เนื่องจากใบกุยช่ายมีลักษณะลื่นเป็นมัน การพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชมักจะไม่จับติดใบ จึงควรผสมสารจับใบลงไปพร้อมกับสารป้องกันกำจัดโรคด้วย การพ่นควรพ่นให้ทั่วถึง พ่นให้เป็นละอองละเอียดมากที่สุด การป้องกันกำจัดโรคจึงจะได้ผลดี

๒.  โรคราสนิม

โรคนี้พบระบาดทำความเสียหายอย่างหนักในช่วงฤดูหนาว คือระหว่างเดือนธันวาคม จนถึงเดือนกุมภาพันธุ์ ช่วงเดือนอื่นๆ อาจพบว่ามีโรคราสนิมเกิดขึ้นเช่นเดียวกันแต่อาการไม่รุนแรงนัก

ลักษณะอาการบนใบของกุยช่ายจะพบเป็นจุดนูนมีผงสีเหลืองคล้ายสนิม บนจุดนูนนั้นจะมีหน่วยขยายพันธุ์ของเชื้อราติดอยู่ โดยทั่วไปจะพบสปอร์ของเชื้อราเป็นรูปกลมเซลล์เดียว มีหนามรอบๆ เรียกว่า ยูรีโดสปอร์ ซึ่งสามารถปลิวไปตามลมหรือแพร่กระจายโดยน้ำที่ใช้รด ทำให้โรคระบาดอย่างรวดเร็ว ในบางครั้งเป็นสภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่นอากาศเย็นจัด เชื้อราจะสร้างสปอร์เป็นรูปร่าง ๒ เซลล์ ซึ่งเรียกว่า แทลลิโอสปอร์ ซึ่งสามารถอยู่ข้ามฤดูในเศษซากพืชที่ทับถมอยู่ในดินแล้วเข้าทำลายในปีต่อไป แปลงกุยช่ายที่เป็นโรคราสนิมจะทรุดโทรมมาก ผลผลิตเสียหาย ถ้าไม่ได้รับรักษาอย่างถูกต้อง จะตายในที่สุด

โรคนี้เกิดจากเชื้อรา  ในต่างประเทศพบทำความเสียหายในหอมชนิดต่างๆ และกระเทียมด้วย แต่ในบ้านเรายังไม่พบ ขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้โรคนี้ระบาดไปสู่หอมและกระเทียม

การป้องกันกำจัด

๑.  เก็บเศษใบและต้นพืชที่เป็นโรคไปเผาและทำลาย เพื่อขจัดแหล่งแพร่เชื้อ

๒.  ปรับปรุงดินด้วยปูนขาวและปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อฟื้นฟูสภาพของดินให้อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิม พืชจะเจริญเติบโตได้ดี มีความต้านทานต่อโรค เป็นการช่วยป้องกันโรคทางอ้อม

๓.  ปลูกพืชอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลหอมกระเทียมมาสลับกับกุยช่ายบ้าง เพื่อลดพืชอาศัยของเชื้อราทำให้เชื้อราลดจำนวนลงเรื่อยๆ

๔.  พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืชเพื่อป้องกันไม่ให้โรคลุกลามต่อไป และต้นพืชที่ไม่เป็นโรคปลอดภัยจากโรคโดยการใช้สารป้องกันกำจัดเชื้อรา

อ๊ออกซีตาร์บอกซิน  เช่นที่มีชื่อการค้าว่า แพลนท์แวกซ์ผสมกับสารจับใบ หรือใช้กำมะถันผง ผสมสารจับใบ

การใช้สารอ๊อกซีคาร์บอกซิน ซึ่งเป็นสารประเภทดูดซึม ให้ใช่พ่นประมาณ ๑๔ วัน/ครั้ง ส่วนกำมะถันผงนั้นไม่ควรพ่นในเวลาแดดจัด เพราะจะทำให้ใบไหม้เสียหาย ควรพ่นตอนเช้าหรือตอนบ่ายที่แดดอ่อนจะช่วยทำให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น