กุหลาบ:การป้องกันโรคใบด่างของกุหลาบ

สุรภี  กีรติยะอังกูร  กลุ่มงานไวรัสวิทยา กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

กุหลาบ เป็นไม้ตัดดอกที่มีความสวยงามมากเป็นอันดับหนึ่งจนได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งดอกไม้ ถึงแม้กุหลาบจะเป็นไม้ตัดดอกที่ให้ผลตอบแทนได้คุ้มกับการทำธุรกิจ เป็นพืชที่ปลูกได้ไม่ยากนัก แต่ก็ไม่ง่ายเสียทีเดียว เพราะมีทั้งโรคและแมลงคอยรบกวนสร้างความเสียหายให้กับทั้งต้นใบและดอก ซึ่งด้านแมลงนั้นได้แก่ เพลี้ยไฟ ไร และหนอน หรือแม้แต่เชื้อราและแบคทีเรียนั้นสามารถถูกควบคุมได้ด้วยการจัดการปลูกและการใช้ยาที่เหมาะสม แต่สำหรับโรคใบด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคใบด่างหลายชนิดด้วยกัน สำหรับโรคใบด่างบนกุหลาบยังไม่ได้มีการศึกษาว่าเป็นไวรัสชนิดใด และเป็นที่ทราบกันดีว่าโรคไวรัสนั้นไม่สามารถใช้ยาในการป้องกันกำจัดหรือรักษาได้แต่ก็ไม่ยากเลยในการที่จะป้องกันการติดโรคในสวนของเกษตรกรเอง ซึ่งจะขอแนะนำไว้ในการป้องกันกำจัด

ลักษณะและความสำคัญของโรค

โรคใบด่างของกุหลาบ เป็นได้กับกุหลาบทุกพันธุ์แม้แต่พันธุ์ป่า แต่จะให้อาการรุนแรงที่แตกต่างกัน ความเสียหายจะเกิดกับพันธุ์ที่อ่อนแอต่อไวรัสชนิดนี้เช่น พันธุ์แยงกี้ แองเจลเฟช เป็นต้น ซึ่งมีอาการของโรครุนแรงโดยต้นแคระแกรน ใบด่างชัดเจน เป็นทั้งแบบวงแหวน และเส้นหรือแถบเหลือง และบิดเบี้ยวผิดรูปร่าง กลีบดอกขาดแหว่งไม่สมบูรณ์ ถ้าดอกสีเข้มจะมีดอกด่าง ใบกุหลาบพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรค จะมีอาการด่างไม่ชัดเจน จะเห็นอาการด่างชัดเจนในช่วงใบอ่อนเท่านั้น เช่น พันธุ์มาสเตอร์พีช

ในกุหลาบพันธุ์ป่าที่นำมาเป็นต้นตอจะค่อนข้างทนทานต่อโรค แต่เชื้อไวรัสจะเกิดการถ่ายทอดไปยังกุหลาบพันธุ์ที่นำมาติดตาหรือทาบกิ่งบนต้นตอที่เป็นโรคนั้น เป็นการขยายโรคไปยังกิ่งพันธุ์ดังนั้นควรระมัดระวังในการใช้ตอพันธุ์ป่า ควรคัดเลือกต้นตอที่ปราศจากไวรัสเป็นการป้องกันโรคไวรัสของกุหลาบที่ได้ผลที่สุด

เชื้อสาเหตุและการแพร่ระบาด

โรคใบด่างของกุหลาบเกิดจากเชื้อไวรัสสองขนาด ที่มีรูปร่างกลม ถ่ายทอดได้โดยการติดตา ทาบกิ่ง ต้นปกติจะแสดงอาการหลังจากทาบกิ่งแล้ว 1 เดือน โรคนี้ถ่ายทอดโดยการสัมผัสได้ยาก ยังไม่พบว่าโรคนี้ถ่ายทอดโดยการใช้มีดหรือกรรไกรตัดแต่งกิ่งปนกับต้นเป็นโรค

การป้องกันกำจัด

ไม่ใช้ต้นตอป่าหรือพันธุ์กุหลาบเป็นโรคมาขยายพันธุ์ โดยตรวจดูอาการบนใบดอกและใบอ่อน ซึ่งมีข้อสังเกตในการดูอาการด่างที่เกิดจากเชื้อไวรัสกับอาการด่างที่เกิดจากเพลี้ยไฟ ดังนี้

1.  อาการด่างของเพลี้ยไฟจะเกิดด่างรุนแรง ใบมักบิดงอเป็นคลื่น ตลอดทั้งต้นและเป็นทุกต้นทั้งแปลง และมักเกิดในขณะสภาพอากาศแห้งแล้ง ส่วนอาการด่างของไวรัสในแต่ละพันธุ์จะมีความรุนแรงแตกต่างกัน และด่างออกปนเหลือง

2.  พลิกดูหลังใบจะพบร่องรอยการดูดกินของเพลี้ยไฟ เป็นรอยไหม้คล้ายสีสนิมใบกร้านกรอบ และจะพบตัวเพลี้ยไฟขนาดเล็กด้วย ในส่วนอาการด่างของไวรัส หลังใบจะไม่มีร่องรอยไหม้ ใบไม่กร้านกระด้าง หลังใบปกติ

3.  ถ้าอาการด่างเกิดจากเพลี้ยไฟ ภายหลังจากใช้สารเคมีพ่นกำจัดเพลี้ยไฟทุกๆ 7 วัน ในช่วงที่เกิดแมลงระบาดมาก ใบอ่อนที่แตกมาใหม่จะไม่มีอาการด่าง แต่อาการด่างเกิดจากไวรัส ใบอ่อนที่แตกใหม่จะยังคงแสดงอาการอย่างชัดเจนเช่นเดิม

ข้อสังเกต

จากการสำรวจแหล่งปลูกกุหลาบในเขตภาคกลาง พบว่าสวนที่ใช้กิ่งชำของกุหลาบพันธุ์ปลูกไม่พบอาการด่างของโรคไวรัส แต่แปลงที่ใช้ตอป่าเป็นต้นตอจะพบอาการด่างของโรคไวรัสบนกุหลาบเกือบทุกพันธุ์ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าตอป่าที่นำมาใช้ขยายพันธุ์นั้นติดเชื้อไวรัสมาก่อน โดยที่เกษตรกรไม่ทราบ เพราะอาการด่างของโรคไวรัสบนตอป่ามักมีอาการไม่ชัดเจนยากแก่การสังเกต แต่จะแสดงอาการชัดเจนบนกุหลาบพันธุ์อ่อนแอ

ดังนั้นต้นตอป่าควรได้รับการตรวจสอบก่อนขยายพันธุ์ไปใช้ ถ้าต้องการข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคไวรัสของกุหลาบ สามารถติดต่อผ่านคลินิคพืช กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร โทร.579-4857 หรือ 579-9588